ฮะดีซที่บ่งชี้ถึงหลักความเชื่อ ๕ ประการ

คำถาม : โปรดอธิบายฮะดีซที่บ่งชี้ถึงหลักความเชื่อ ๕ ประการของชีอะฮฺเพื่อความเข้าใจด้วย

คำตอบ :รากฐานของศาสนาอิสลาม ประกอบด้วยหลายสิ่งด้วยกันกล่าวคือ หลักความเชื่ออันเป็นพื้นฐานสำคัญของศาสนาซึ่งเรียกว่า หลักความศรัทธา การปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาซึ่งเรียกว่าหลักปฏิบัติ ซึ่ง ๒ ประการดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นแก่นที่สำคัญอย่างยิ่งของศาสนา ส่วนความรู้อื่่น ๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับฮะดีซ ฟิกฮฺ และตับซีรจัดอยู่ในเรื่องของหลักปฏิบัติ

อันดับแรกสิ่งที่จำเป็นคือ การมีความเชื่อมั่นไม่สงสัยต่อหลักความเชื่อ หลังจากนั้นคือการนำไปสู่การปฏิบัติ หลักความเชื่อตามหลักการของชีอะฮฺประกอบด้วย

๑.เตาฮีด หมายถึง ความเป็นเอกะของพระผู้เป้นเจ้า

๒.นุบูวัต หมายถึง มีความเชื่อต่อบรรดาศาสดาที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานลงมาสั่งสอนมนุษย์

๓.มะอาด หมายถึง การฟื้นคืนชีพ และการย้อนกลับของทุกสรรพสิ่งไปสู่พระองค์เพือสอบสวนคุณงามความดีและความชั่ว และเพื่อตอบแทนผลรางวัลและการลงโทษการกระทำเหล่านั้น

ซึ่งทั้ง ๓ ประการเป็นรากหลักของความเชื่อตามคำสอนของอิสลาม โดยไม่มีความขัดแย้งทั้งชีอะฮฺ และซุนียฺ ส่วนหลักความเชื่ออีก ๒ ประการต่อไปนี้เป็นหลักความเชื่อประจำนิกาย (ชีอะฮฺ) โดยเฉพาะได้แก่ ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า และอิมามะฮฺ ซึ่งหลักความเชื่อทั้ง ๒ ประการดังกล่าวนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากหลักความเชื่อ ๓ ประการที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจาก ความยุติธรรม เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่เป็นจริงที่สมบูรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า เพราะทั้งความรู้และอำนาจล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นเอกะทั้งสิ้น ซึ่งความเป็นเอกะนั้นครอบคลุมเหนือคุณลักษณะเหล่านี้

บางท่านอาจคิดว่าหลักความเชื่อทั้ง ๒ ได้แยกออกจากหลักความเชื่อหลัก ๓ ประการ ซึ่งในความเป็นจริงประมาณปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ ๓ ระหว่างแนวคิดที่เป็นอะชาอิเราะฮฺ และมุอฺตะซิละฮฺซึ่งทั้งสองเป็นแนวคิดหนึ่งของนิกายซุนียฺ และชีอะฮฺอิมามมียะฮฺต่างมีความขัดแย้งกัน

อะชาอิเราะฮฺ ไม่สามารถพิสูจน์ความยุติธรรมและการกำหนดสภาวะของพระผู้เป็นเจ้าได้ จึงได้ปฏิเสธความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ส่วนชีอะฮฺและมุอฺตะซิละฮฺนั้นเชื่อในความยุติธรรมของพระองค์ ดังนั้น จะเห็นว่าความยุติธรรมเป็นหนึ่งในหลักความเชื่อของอิสลาม

ส่วนอิมามะฮฺ เป็นตำแหน่งที่สืบทอดมาจากตำแหน่งนุบูวัต (นอกเสียจากว่าวะฮฺยูไม่ได้ถูกประทานลงมาที่อิมาม) ตำแหน่งอิมามถือว่าเป็นหนึ่งในพินัยกรรมสำคัญของบรรดาศาสดา ซึ่งอยู่ในพันธะของการเป็นศาสดาทั่วไปและศาสดาผู้ถือสาส์นของพระผู้เป็นเจ้า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนเมื่อความตายได้ย่ำกายมาถึงสิ่งสำคัญที่มองเห็นคือ การสรรหาตัวแทนเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของตนเอง ฉะนั้น บรรดาศาสดาก็เช่นเดียวกันเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง ท่านจึงได้เลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติพร้อมตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นตัวแทน เป็นผู้นำแนวทางและประชาชาติสืบต่อไป ซึ่งการเลือกตัวแทนของศาสดาไม่ได้จำกัดอยู่แค่บรรดาศาสดาที่ถือสาส์ของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แม้แต่ศาสดาทั่วไปก็ปฏิบัติเช่นนั้นเหมือนกัน เช่น ศาสดาอาดัม (อ.) ศาสดาดาวูด (อ.) และศาสดาสุลัยมาน (อ.) ต่างได้เลือกตัวแทนของท่านไว้ทั้งสิ้น ซึ่งการเลือกตัวแทนเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์นอกจากเป็นสิ่งสำคัญที่ยืนยันให้เห็นถึง การปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ของท่านแล้ว ยังเป้นการขจัดข้อสงสัยและความคลางแคลงใจต่าง ๆ ที่มีต่อหลักการและคำสอนของศาสนาแก่ผู้ปฏิบัติอีกต่างหาก

นิกายซุนียฺไม่ถือว่าการแต่งตั้งตัวแทนเป็นหลักการของศาสนา กล่าวว่าหน้าที่ของเราเกี่ยวกับเรื่องนี้โองการที่ ๕๙ ซูเราะฮฺนิซาฮฺได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้ว

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ أَطِيعُواْ اللّهَ وَأَطِيعُواْ الرَّسُولَوَأُوْلِي الأَمْرِ مِنكُمْ

ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังเราะซูลและผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้า

เป็นหน้าที่ของมุสลิมทั้งหลายที่ต้องปฏิบัติตามบุคคลที่เป็น ผู้นำภารกิจของบรรดามุสลิม หลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ส่วนชีอะฮฺนั้นนอกจากจะมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ที่ยืนยันถึงการแต่งตั้งของอัลลอฮฺ (ซบ.) แล้วยังกล่าวยืนยันอีกว่า ถ้าอัลลอฮฺ (ซบ) ประสงค์ให้การปฏิบัติตามผู้นำสังคมเป็นวาญิบสำหรับทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นมะอฺซูมถือว่าขัดแย้งกับความเป็นจริง เนื่องจากมนุษย์ที่ไม่ใช่มะอฺซูมมักออกคำสั่งให้คนอื่นทำบาปเสมอ ดังที่เห็นได้จากผู้นำสังคมก่อนหน้าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

ดังนั้น ถ้าประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำถือว่าได้ทำบาปกับอัลลอฮฺ (ซบ.) แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำ ถือว่าขัดคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซบ.) ดังนั้น เมื่อเป็นวาญิบต้องปฏิบัติตามผู้นำ (อูลิลอัมริมินกุม) ผู้นำจำเป็นต้องเป็นมะอฺซูม เพราะมิเช่นนั้นแล้วคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซบ.) ไร้สาระ

นอกจากอัล-กุรอานแล้วยังมีฮะดีซที่เชื่อมั่นได้ในความถูกต้อง ทั้งชีอะฮฺและซุนียฺได้รายงานไว้กล่าวว่า

من مات و لم يعرف امام زمانه مات ميتة جاهلية

ใครก็ตามตายโดยไม่รู้จักอิมามแห่งยุคสมัยของตน ถือว่าตายอย่างคนโง่เขลา (ญาฮิล) (บิฮารุลอันวาร เล่ม ๒๓ หน้า ๘๙, มุซนัดอะฮฺมัด ฮันบัล เล่ม ๔ หน้าที่ ๙๖, มัจมะอุซซะวาอิด เล่ม ๕ หน้า ๒๑๘, มุซนัดอะบีดาวูด หน้า ๒๕๙) จากฮะดีซดังกล่าวทำให้รู้ว่า การรู้และการยอมรับจักอิมามคือความจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนและเป็นเงื่อนไขหลักของอิสลาม เหมือนกับการรู้จักและยอมรับอัลลอฮฺ (ซบ.) และเราะซูลของพระองค์เป็นเงื่อนไขของศาสนาอิสลาม แน่นอิมาม ณ ที่นี้หมายถึง

-บุคคลที่เราะซูลกล่าวว่า การรู้จักเขาเป็นเงื่อนไขของอิสลาม

-บุคคลที่การปฏิบัติตามเขาแล้วถือว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ

-บุคคลที่การปฏิบัติตามเขาเท่าเทียมกับการปฏิบัติตามอัลลอฮฺและเราัะซูล