บทเรียนด้านจริยธรรม

การยึดมั่นต่อเจตนารมณ์และการตัดสินใจ

เมื่อวะลีดผู้ปกครองมะดีนะฮฺได้ขอร้องท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ให้มอบสัตยาบันแก่ยะซีด ท่านอิมาม (อ.) ได้เดินทางไปเยี่ยมพระศพของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน และท่านได้ตะวัซซุลต่อพระศพ[1] และท่านได้วิงวอนขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ในที่สุดท่านตัดสินใจว่าต้องเดินทางออกจากนครมะดีนะฮฺ และไม่ให้สัตยาบันกับยะซีด เมื่อท่านตัดสินใจเช่นนั้นแล้วไม่เปลี่ยนใจหรือเกิดความลังเลใจแต่อย่างใด ทว่าท่านคิดว่าสิ่งที่ท่านได้ตัดสินใจลงไปคือความถูกต้อง และคิดอยู่เสมอว่านั่นเป็นหน้าที่ของท่าน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงปฏิบัติหน้าที่ของท่านด้วยความมั่นใจและประณีตเป็นพิเศษ

ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวกับมุฮัมมัด ฮะนะฟียฺ น้องชายของท่านขณะที่จะเดินทางออกจากมะดีนะฮฺว่า โอ้ น้องชายของพี่ๆ ขอสาบานด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺว่า มาตรแม้นว่าโลกนี้จะไม่มีที่พักพิงสำหรับพี่อีกต่อไป พี่ก็จะไม่ให้สัตยาบันแก่ยะซีดบุตรของมะอาวิยะฮฺเด็ดขาด[2]

หลังจากนั้นถึงแม้ว่าจะมีผู้คนมากมายกล่าวแนะนำท่านว่าอย่าออกไปจากมะดีนะฮฺเลย และให้เลิกล้มความตั้งใจที่จะเดินทางไปกูฟะฮฺ ทว่าท่านอิมามปฏิเสธไม่ยอมรับคำแนะนำ ซึ่งบางคนที่ให้คำแนะนำแก่ท่านอิมาม (อ.) ได้แก่

1.       อับดุลลอฮฺ บุตรของอุมัร

2.       อับดุลลอฮฺ บุตรของซุเบร

3.       อับดุลลอฮฺ บุตรของอับบาส

4.       อุมเราะฮฺ บุตรของอับดุรเราะฮฺมาน

5.       เอาซาอียฺ

6.       มุฮัมมัด บุตรของฮะนะฟียฺ (น้องชายท่านอิมามฮุซัยนฺ)

7.       อุมัร บุตรของอับดุรเราะฮฺมาน

8.       วากิดียฺ

9.       ซุรรอเราะฮฺ

10.   อบูวากิฮฺ เลช (ซึ่งได้สาบานต่ออิมามว่าอย่าออกไปจากมะดีนะฮฺ)

11.   อับดุลลอฮฺ บุตรของญะอฺฟัร (ซึ่งส่งจดหมายมาถึงท่านอิมาม)

12.   อัมมะริบนะสะอีด (ผู้ปกครองมักกะฮฺ) ซึ่งได้สัญญาว่าจะให้ความปลอดภัยแก่อิมาม (อ.)

13.   ยะฮฺยา บุตรของสะอีด อับดุลลอฮฺ บุตรของญะอฺฟัร ผู้ถือจดหมายของอัมมะริบนิสะอีด (เจ้าเมืองมักกะฮฺ

14.   ฟัรซะดัก (นักกวีผู้มีชื่อเสียง)

15.   อับดุลลอฮฺ บุตรของมะฏีอ์

16.   อุมมุซัลมะฮฺ

17.   ฏูรมาฮ์ บุตรของอะดี

18.   ญาบิร บุตรของอับดุลลอฮฺ (ได้แนะดำให้อิมามมอบสัตยาบันกับยะซีด)

19.   อับดุลลอฮฺ บุตรของอัดวียฺ

20.   มะซูร บุตรของมัคเราะมะฮฺ

21.   อบีบักรฺ บุตรของ อับดุรเราะฮฺมาน[3]

หมายเหตุ สาเหตุที่ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ไม่ยอมรับคำแนะนำของพวกเขาได้อธิบายไปแล้วในบทก่อนหน้านี้

13. การให้ความสำคัญต่อคำปรึกษาหารือและความคิดของบุคคลอื่น

13.1 เมื่อมุฮัมมัด ฮะนะฟียะฮฺ น้องชายของท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวคำแนะนำแก่ท่านว่าอย่าเดินทางไปอีรัก ท่านกล่าวว่า ในสิ่งที่เจ้าแนะนำข้าจะนำไปพิจารณา[4]

ในอีกที่หนึ่งท่านอิมาม (อ.) กล่าวขอบคุณเขาในคำแนะนำ

13.2 อุมะริบนิ อับดุรเราะฮฺมาน บุตรของฮาริซ ได้เดินทางมาพบท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) และกล่าวว่า ฉันได้เดินทางมาเพื่อแนะนำท่าน ถ้าหากท่านยอมรับคำแนะนำของฉัน ฉันยินดีที่จะกล่าวสิ่งนั้น

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า เจ้าจงพูดมาเถิด ข้ายินดีรับฟังคำแนะนำของเจ้า เขากล่าวว่า ท่านจงอย่าเดินทางไปอีรัก เพราะประชาชนที่นั่นเขาตกเป็นทาสของเงิน (ดิรฮัรและดินาร) ไปหมดแล้ว

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า ขออัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตอบแทนผลรางวัลแก่เจ้าไม่ว่าข้าจะยอมรับคำของเจ้าหรือไม่ก็ตาม ในทัศนะของข้าเจ้าคือบุคคลที่มีความดีงามและมีความสูงส่ง[5]

หมายเหตุ ประเด็นสำคัญดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าท่านอิมาม (อ.) ได้ให้ความสำคัญต่อบุคคลอื่น และการให้คำปรึกษาหารือของพวกเขา และท่านได้แสดงมารยาทอันดีงามต่อพวกเขา ถึงแม้ว่าคำพูดของพวกเขาบางคนไม่มีเหตุผลที่จะโน้มนำไปสู่การยอมรับแม้แต่น้อยก็ตาม

13.2 แม้ว่าบางครั้งศัตรูจะกล่าวแนะนำแก่ท่าน ท่านจะอดทนรับฟังคำพูดของพวกเขา เช่น ขณะที่อยู่ในมะดีนะฮ มัรวานกล่าวแก่ท่านว่า ฉันขอแนะนำท่านว่า ซี่งอิมาม (อ.) ยินดีรับฟังคำพูดของเขาถึงแม้ว่าท่านจะไม่ยอมรับคำพูดของเขาก็ตาม[6] เนื่องจากเขาได้ขอร้องให้ท่านอิมามให้สัตยาบันกับยะซีด

13.4 เมื่ออบูบักรฺ บุตรของอับดุรเราะฮฺมานเดินทางมาพบท่านอิมาม (อ.) หลังจากนั้นเขาได้กล่าวแนะนำท่าน และท่านก็ได้กล่าวขอบคุณเขา[7]

14. การต่อสู้กับผู้กดขี่และการไม่ยอมรับความต้อยต่ำ

โปรดศึกษาอีกครั้งในบทการเมือง (การกดขี่และการไม่ยอมรับความตกต่ำ) และความเป็นอิสระชน

15. การยอมรับความช่วยเหลือแต่มิใช่ยอมรับจากทุกคน

ท่านอิมาม (อ.) เมื่อไม่มีบุคคลเข้าร่วมกองคาราวานกับท่าน ท่านจะเผชิญหน้ากับพวกเขา และบางครั้งท่านพยายามชี้นำและโน้มน้าวให้พวกเขาเข้าร่วมกับท่าน อีกทั้งได้เสนอผลประโยชน์บางประการและความช่วยเหลือแก่พวกเขา (ดังเช่นการยอมรับการช่วยเหลือของโฮรและซุเฮร)

แต่บางครั้งท่านปฏิเสธความช่วยเหลือของบางคน เช่น เมื่อท่านมาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่งต่อหน้าของอับดุลลอฮฺ บุตรของโฮรญะอฺฟี[8] ท่านได้เผชิญหน้ากับเขาและเขาได้ยื่นข้อเสนอแก่ท่านอิมามว่า เขายินดีที่จะมอบม้าและดาบแก่ท่าน ทว่าท่านอิมาม (อ.) ปฏิเสธข้อเสนอของเขา[9]

หมายเหตุ รายงานบางบทกล่าวว่าเขาคือ บุรุษขี้ขโมยซึ่งการที่อิมาม (อ.) โน้มน้าวให้เขาทำการลุแก่โทษ นั่นเป็นหลักประกันที่ยืนยันให้เห็นว่าคำกล่าวอ้างที่กล่าวว่า เขาเป็นขี้ขโมยนั้นเป็นความจริง

แน่นอน อาจเป็นไปได้ว่าการปฏิเสธความช่วยเหลือของเขาก็เนื่องจากว่า เขาเป็นขโมยนั่นเอง หรืออาจเป็นเพราะว่าเขาไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือท่านอิมามต่อสู้ ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมาม (อ.) จึงปฏเสธเขา

16. การโน้มน้าวไปสู่ความกล้าหาญ

ท่านอิมาม (อ.) เป็นผู้ที่มีมารยาทอันดีงามและความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ จึงเป็นสาเหตุทำให้ท่านสามารถโน้มน้าวบุคคลอื่นที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดให้เข้ามาเป็นพรรคพวกของตน และทำการชี้นำพวกเขาเหล่านั้น ด้วยความดึงดูดของพระเจ้าที่มีอยู่ในตัว ท่านจึงสามารถโน้มน้าว โฮร ให้เข้าร่วมกองคาราวานกับท่าน อิมาม (อ.) ได้ใช้ความเป็นอิสระชนเรียกร้องและโน้มน้าวบุคคลอื่น

17. ความอดทนและการยืนหยัด

ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงความอดทนและความอดกลั้นไว้ในหลายที่ด้วยกัน อีกทั้งได้เชิญชวนให้ลูกหลานของท่านอดทนอดกลั้นต่อเหตุการณ์ร้ายที่จะเกิดขึ้น[10]

อิมาม (อ.) ได้สอนให้ประชาชาติรับรู้ถึงความอดทนอดกลั้น ซึ่งท่านได้กล่าวว่าการเผชิญหน้ากับศัตรูนั้น สิ่งเดียวที่จะสามารถทำได้ดีที่สุดคือ ความอดทนอดกลั้นและการไม่ยอมรับความตกต่ำเหล่านั้น จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิตท่านได้กล่าวว่า

صبرا على قضائک يا رب لا اله سواك

ข้าขออดทนต่อการลิขิตของพระองค์ โอ้ พระผู้อภิบาลของข้าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์

صبرا على حكمك يا غياث من لا غياث له

ข้าขออดทนต่อการตัดสินของพระองค์ โอ้ ผู้ให้การช่วยเหลือ โดยไม่มีผู้ช่วยเหลือคนใด[11]

ความอดทนของท่านอิมาม (อ.) ได้ดำเนินไปจนถึงขั้นที่ว่า ท่านเกือบจะชะฮีดเพราะความกระหาย แต่กระนั้นท่านก็ไม่ยอมก้มหัวให้ศัตรู[12] ทว่าจนถึงวินาทีสุดท้ายท่านยังส่งรอยยิ้มให้แก่ศัตรู[13]

18. ความบริสุทธิ์ในการยืนหยัดต่อสู้

1. ความบริสุทธิ์ใจคือเป้าหมาย

เป้าหมายของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) คือการปกป้องอิสลามให้รอดพ้นจากการทำลายล้าง และการทำให้พระนามแห่งอัลลอฮฺมีความสูงส่ง พร้อมกับฟื้นฟูและปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และสุดท้ายคือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประชาชาติ การปฏิบัติในข้อบังคับของพระเจ้า หมายถึงการออกห่างจากการกดขี่ข่มเหงของศัตรูในแง่ของ การกำชับความดีงามและการห้ามปรามความชั่วร้าย

แน่นอนท่านอิมาม (อ.) มิได้มีเป้าหมายทางอารมณ์หรืออำนาจฝ่ายต่ำแม้แต่น้อย

เป้าหมายของท่านอิมาม (อ.) คือการเชื่อฟังปฏิบัติตามและความรักที่มีต่อพระเจ้า ท่านกล่าวว่า

الهي وسيدى وددت ان اقتل واحيي ستعين مرة فى طاعتك و محبتك

โอ้ อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่และตายถึง 70 ครั้ง บนการเชื่อฟังปฏิบัติตามและความรักที่มีต่อพระองค์[14]

ท่านอิมาม (อ.) ได้ปฏิบัติหน้าที่ของท่านด้วยความอดทนอดกลั้น (ไม่ว่าประชาชาติจะยอมรับหรือให้การช่วยเหลือหรือไม่ก็ตาม) ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ในพินัยกรรมส่วนตัวว่า บุคคลใดยอมรับข้าเท่ากับเขาได้ยอมรับสัจธรรม ดังนั้น อัลลอฮฺ คือผู้ทรงทรงสัจจริงยิ่ง และบุคคลใดที่ปฏิเสธคำเชิญชวนของข้า ข้าจะอดทนอดกลั้นจนกว่าอัลลอฮฺจะตัดสินระหว่างข้ากับชนผู้ปฏิเสธด้วยความยุติธรรม ซึ่งพระองค์คือผู้พิพากษาที่ดีที่สุด[15]

2. การมอบหมายภารกิจต่ออัลลอฮฺ และการยอมจำนนต่อสัจธรรม

2.1 ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ขณะที่อยู่ระหว่างไปกูฟะฮฺท่านกล่าวแก่ ฟัรซะดัก นักกวีที่มีชื่อเสียงว่า ถ้ามาตรแม้นว่าความประสงค์ของพระเจ้าเป็นเช่นนั้น ข้าก็ปรารถนาจะให้เกิดเช่นนั้น ดังนั้น ขอขอบคุณต่อพระองค์ แต่ถ้าทรงลิขิตสิ่งอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ บุคคลที่เจตจำนงของเขาสัจจริง และความยำเกรงในพระเจ้าคือแบบอย่างสำหรับเขาแล้วละก็ สิ่งนั้นจะไม่ห่างไกลไปทางไหนทั้งสิ้น[16]

2.2 ท่านอิมาม (อ.) กล่าวสุนทรพจน์ขณะที่ท่านเดินทางออกจากมักกะฮฺเพื่อมุ่งหน้าไปยังกูฟะฮฺว่า

رضي الله رضانا اهل البيت

ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ คือ ความพอใจของเราอะฮฺลุลบัยตฺ

نصبر على بلائه

พวกเราขออดทนต่อการทดสอบของพระองค์[17]

2.3 ท่านอิมาม (อ.) กล่าวสุนทรพจน์ในตอนเช้าของวันอาชูรอว่า

اللهم انت ثقتي في کل کرب

โอ้ อัลลอฮฺพระองคือผู้ทรงแก้ไขทุกปัญหาความทุกข์ยากและเป็นที่เชื่อมั่นสำหรับข้าพระองค์[18]

2.4 เมื่อเหล่าสหายของท่านได้ชะฮีดหมดท่านต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง ท่านได้กล่าวประโยคหนึ่งซ้ำกันหลายๆ ครั้งว่า

لاحول و لا قوة الا بالله العلي العظيم

ไม่มีการเคลื่อนไหวและพลังอันใด นอกจากโดยอัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งและทรงยิ่งใหญ่[19]

3. รัศมีอันเรืองรองของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.)

แม้ว่าท่านอิมาม (อ.) หลงเหลืออยู่ตามลำพังและการสู้รบได้หนักเป็นทวีคูณ ทว่าการเปล่งรัศมีของท่านกลับผุดผ่องยิ่งกว่าเดิม[20]

จนกระทั่งว่าเหล่าศัตรูเองก็สารภาพยอมรับในประเด็นดังกล่าวโดย ฮิลาล บุตรของนาฟิอฺ กล่าวว่า ฉันกับสหายของอุมะริบนะสะอัดได้ยืนอยู่บริเวณนั้น พวกเราได้เห็นรัศมีความสวยงามและความเคร่งขึมของเขา ทำให้พวกเราลังเลที่จะสังหารเขา[21]

19. แบบอย่างของความกล้าหาญ

19.1 ความกล้าหาญของอิมามฮุซัยนฺ (อ.)

บทบาทความกล้าหาญของท่านอิมาม (อ.) ทั้งในด้านการเมือง สังคม และสงคราม เป็นหนึ่งในแบบอย่างอันเป็นเอกเทศที่มิอาจหาที่เปรียบเปรยได้ เช่น ขณะที่ท่านร่วมประชุมกับวะลีดผู้ปกครองมะดีนะฮฺ ท่านได้กล่าวตอบคำขู่บำราบของมัรวานด้วยความกล้าหาญชาญชัยว่า เจ้าไม่ต้องเอาความตายมาขู่กรรโชกคนเยียงข้า

ในสนามรบท่านอิมาม (อ.) ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญชาญชัยชนิดที่ไม่มีผู้เปรียบเปรย ดังเหตุการณ์แห่งอาชูรอที่ได้ถูกบันไว้

ขณะที่ท่านอิมาม (อ.) กำลังต่อสู้อยู่นั้นท่านได้สังหารทหารฝ่ายศัตรูไปเป็นจำนวนไม่น้อย อีกทั้งฟันพวกเขาจนได้รับบาดเจ็บไปอีกจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นอุมะริบนิสะอัด แม่ทัพของฝ่ายศัตรูได้ร้องตะโกนว่า ความหายนะจงประสบแก่พวกเจ้า เจ้าไม่รู้ดอกหรือว่ากำลังสู้รบอยู่กับใคร เขาคือบุตรแห่งราชสีห์แห่งสงคราม ฉะนั้น พวกเจ้าจงเอาม้าห้อมล้อมเขาและเข้าจู่โจมทุกด้าน ในเวลานั้นเองได้มีทหารจำนวน 4000 คน ยิงธนูเข้าใส่ท่านอิมาม (อ.)[22]

การสู้รบอย่างกล้าหาญชาญชัยของท่านอิมาม (อ.) ขณะที่เหลือท่านอยู่เพียงคนเดียว ท่านทราบเป็นอย่างดีว่าท่านต้องถูกทำชะฮีดอย่างแน่นอน ท่านจึงได้ต่อสู้จนเลือดหยดสุดท้ายโดยไม่เคยหันหลังให้ศัตรูแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งความกล้าหาญชาญชัยของท่านอิมาม (อ.) ถือว่าเป็นบทเรียนอันสำคัญสำหรับกองทัพอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาชีอะฮฺผู้เชื่อฟังปฏิบัติตามท่าน ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าในวันอาชูรอเมื่อมีผู้ยืนข้อเสนอให้ท่านอิมาม (อ.) มอบสัตยาบันแก่ยะซีด ท่านกล่าวว่า ข้าจะไม่ให้สัตยาบันภายใต้ความต่ำทรามอย่างเด็ดขาด[23]

19.2 ความกล้าหาญของเหล่าสหาย

ความกล้าหาญของเหล่าสหายของท่านอิมาม (อ.) นั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องอรรถาธิบายให้เยื้อนเยื้ออีกต่อไป เพราะคำพูดของพวกเขาในค่ำของวันอาชูรอได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของพวกเขาอย่างแท้จริง ความกล้าหาญของพวกเขาในหมู่ประชาชาติถือได้ว่าเป็นอุทาหรณ์อันดีงาม ดังจะเห็นว่าพวกเขามีจำนวนแค่ 70 กว่าคนเท่านั้น ทว่าสามารถยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพจำนวนมหึมาของศัตรูได้อย่างองอาจ พวกเขาสู้รบเยี่ยงชายชาติทหารจนกระทั่งชะฮีดเป็นคนสุดท้าย ซึ่งความกล้าหาญของเหล่าสหายนั้น เพียงพอแล้วที่ได้ถูกบันทึกไว้ในตำราประวัติศาสตร์ทั้งฝ่ายชีอะฮฺและสุนียฺ ซึ่งเราจะไม่พบในตำราเหล่านั้นแม้แต่เล่มเดียวว่า สหายของท่านอิมามกลัวศัตรูและได้หลบหนีไป

ในหมู่สหายของท่านอิมาม (อ.) เราจะเห็นได้ว่ามีหลายคนได้ร้องไห้วอนอ้อนท่านอิมาม เพื่อให้อนุญาตพวกเขาออกไปสู้รบกับศัตรู และมีหลายคนที่ร้องไห้อ้อนวอนเพื่อจูบมือและเท้าของท่านอิมาม[24]

19.3 ความกล้าหาญของท่านหญิงซัยนับ

ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ในฐานะของผู้ช่วยเหลือท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ท่านได้ยอมตนเป็นหัวหน้าที่คอยคุ้มครองบรรดาเชลยและผู้เจ็บป่วย ท่านเป็นผู้ปกป้องและพิทักษ์พวกเขา ความกล้าหาญของท่านหญิงนอกจากจะเป็นผู้พิทักษ์บรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ที่ถูกจับเป็นเชลยแล้ว ท่านยังเป็นผู้ถือสาส์นแห่งอาชูรอให้เป็นมรดกตกทอดมาถึงมวลมุสลิมในรุ่นหลัง ด้วยความอดทนอดกลั้นและความกล้าหาญอย่างสมบูรณ์แบบ ขณะที่ท่านถูกจับเป็นเชลยท่านยังสามารถกล่าวสุนทรพจน์ในห้องประชุมต่อหน้าอุบัยดิลลาอฮฺบุตรของซิยาด และยะซีดแห่งเมืองชามได้อย่างองอาจ[25]

19.4 ความกล้าหาญของอิมามซัจญาด

ท่านอิมามซัจญาด (อ.) เป็นหนึ่งในบุคคลที่อยู่ในกัรบะลาอฺหลังจากอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ได้ชะฮีดไปแล้ว ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในห้องประชุมต่อหน้าอุบัยดิลลาอฮฺ บุตรของซิยาด และท่านได้ตอบโต้พวกเขาด้วยความกล้าหาญและพลังอำนาจทั้งหมด เมื่ออุบัยดิลลาอฮฺ ได้เอาความตายมาขู่บำราบ ท่านอิมาม (อ.) ได้ตอบว่า พวกเจ้าหาญกล้าเอาความตายมาขู่บำราบข้าหรือ เจ้าไม่รู้ดอกหรือว่าชะฮาดัตคือเกียรติยศสำหรับพวกเรา การสังหารคือแบบอย่างของพวกเรา[26]

اما علمت ان القتل لنا عادة و كرامتنا الشهادة

เช่นเดียวกันในห้องประชุมของยะซีดบุตรของมุอาวิยะฮฺ ท่านอิมา (อ.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ประณามยะซีดอย่างรุนแรง และท่านยังได้ห้ามปรามพวกเขามิให้ดูถูกเหยียดหยามเกียรติยศของท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.)[27]



[1] เมาซูอะฮฺ เล่ม 287 บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 288
[2] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 289
[3]  อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 307, 324,320,326,327,322,331,330,332,328,341,292,263,293,302,288
[4] เมาซูอะฮฺ หน้า 289, 329
[5] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 322
[6] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 284
[7] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 288, 289
[8] ชื่อของเขาในบิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 351 บันทึกว่า อับดุลลอฮฺ อัรโฮรรุ อัลฮะนะฟียฺ บางทีอาจเป็นคนๆ เดียวกันก็ได้
[9] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า315 เมาซูอะฮฺ หน้า 365,368
[10] เมาซูอะฮฺ หน้า 490
[11] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 510 เล่ามาจากแหล่งอ้างอิงหลากหลาย
[12] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 510
[13] บิฮารุลอันวาร เล่ม 45 หน้า 56 อะวาลัม เล่ม 17 หน้า 300 โดยเล่ามาจากเมาซูอะฮฺ หน้า 510
[14] เมาซูอะฮฺ หน้า 482
[15] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า291
[16] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 336
[17] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 328
[18] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 414
[19] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 485 
[20] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 297,298
[21] เมาซูอะฮฺ หน้า 513
[22] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 503
[23]  บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 191
[24] เมาซูอะฮฺ หน้า 464
[25]  ลุฮูฟ หน้า 64, 70, 79
[26] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 71
[27] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 84