บทที่ 3 การลงโทษผู้เป็นปรปักษ์กับท่านอิมาม (อ.) (กลุ่มชนที่ไม่ช่วยเหลือ)

เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนในสังคมที่จะต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามวิลายะฮฺและอิมามะฮฺ และต้องให้ความช่วยเหลือท่านเหล่านั้น ฉะนั้น บุคคลใดที่ไม่เชื่อฟังปฏิบัติตาม หรือเฉยเมยต่อการช่วยเหลือบรรดาอิมาม (อ.) เขาจะต้องได้รับโทษทัณฑ์อย่างแสนสาหัส 2 ประการ

ก. โทษทัณฑ์แห่งปรโลกหน้า (ห่างไกลจากความเมตตาของพระเจ้าและถูกจองจำในไฟนรก)

ข. โทษทัณฑ์และการเผชิญกับอุปสรรคปัญหาต่างๆ ทางโลก

สิ่งที่กำลังจะกล่าวถึงคือ การลงโทษประเภทที่สอง (การลงโทษทางโลก) ซึ่งสามารถพบได้จากคำกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ในหลายๆ ประเด็นที่อิมาม (อ.) ได้กล่าวถึงสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น

1. ความตกต่ำทางโลก

นิยามดังกล่าวข้างต้นส่วนใหญ่เคยรับรู้แล้วจากคำกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ที่กล่าวเตือนสติบรรดาผู้ปฏิเสธที่ตั้งต้นเป็นปรปักษ์กับอิมามว่า การสังหารข้าจะเป็นสาเหตุทำให้พวกเจ้าตกต่ำ และพวกเจ้าจะได้รับโทษทัณฑ์อันแสนสาหัส

เช่นครั้งหนึ่งระหว่างทางไปกัรบะลาอฺท่านอิมาม (อ.) กล่าวแก่ อบาฮิรัมว่า ...

ข้าขอสาบานด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺว่า ข้าจะถูกสังหารแต่อัลลอฮฺจะนำความตกต่ำอย่างที่สุด มาปกครองประชาชนเหล่านั้น พระองค์จะลงดาบฟาดฟันบนพวกเขา บุคคลที่ขึ้นมาปกครองพวกเขา เขาจะนำแต่ความต่ำทรามมาสู่พวกเขา[1]

บางทีสิ่งนี้อาจเป็นแบบอย่างของพระเจ้าก็ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ประชาชนไม่ช่วยเหลือบรรดาอิมามของตน หรือทำชะฮีดท่านเหล่าชะตาชีวิตของตนจะเปลี่ยนไป อีกทั้งจะไม่ได้รับเกียรติยศอันใดจากพระเจ้า และพวกเขาจะได้รับความตกต่ำและถูกอธรรม

2. จิตวิญญาณได้รับความเสียหาย (ไม่พบกับความสมบูรณ์และไม่เติบโต)

ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ได้ส่งจดหมายไปยังเหล่าผู้นำแห่งกูฟะฮฺว่า... ใครก็ตามถอดถอนสัตยาบันเท่ากับเขาได้อธรรมตนเอง และใครก็ตามที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพันธะสัญญาและสัตยาบันของตน เท่ากับเขาได้ทำลายผลประโยชน์ของตนเอง[2]

ทำนองเดียวกันในค่ำของวันอาชูรอหลังจากอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า ข้าตักเตือนพวกเขาแล้ว แต่พวกเขาไม่ฟังคำพูดของข้า ท่านได้อ่านโองการนี้

وَمَا ظَلَمُونَا وَلَكِن كَانُواْ أَنفُسَهُمْ يَظْلِمُونَ

พวกเขามิได้อธรรมเรา ทว่าพวกเขาได้อธรรมตัวเอง[3] บันทึกอยู่ในเมาซูอะฮฺ หน้า 400

3. การลงโทษในโลกนี้

มีประชาชนมากมายที่ประพฤติปฏิบัติสิ่งไม่ดีและก่อความชั่วร้ายต่างๆ ในวันอาชูรอ ณ แผ่นดินกัรบะลาอฺ พวกเขาได้รับการล้างแค้นจากพระเจ้าอย่างสาสมบนโลกนี้ ซึ่งจะขอกล่าวถึงสักสองสามประการ

3.1 อิบนุสะลีมกัลบียฺ เป็นคนชั่วที่มีจิตใจต่ำทรามเขาได้ตัดนิ้วมือของท่านอิมาม (อ.) เพื่อเอาแหวนของท่าน บั้นปลายสุดท้ายเขาถูกมุคตารตัดมือและตัดเท้าจนหมดสิ้น[4]

3.2 ทหารจำนวน 10 คนที่ได้รับคำสั่งจากอุมะริบนิสะอัด ให้นำม้าเหยียบย่ำไปบนเรือนร่างของท่านอิมาม (อ.) พวกเขาได้ถูกมุคตารจับเป็นเชลย และถูกทรมานด้วยการจับนอนค่ำขึงพืดกับเหล็กโดยให้ม้าเหยียบย่ำไปบนเรือนร่างจนกระทั่งสิ้นใจตาย[5]

3.3  ซินาน บุตรของอนัส ซึ่งบางรายงานกล่าวว่าเขาเป็นคนทำชะฮีดท่านอิมาม (อ.)  เมื่อเขากลับไปถึงยังกูฟะฮฺ อิบนุซิยาด ได้หาข้ออ้างเพื่อจับกุมตัวเขาและนำเขาไปประหารชีวิต[6]

4. คำสาปแช่งของอิมาม (อ.)

บุคคลที่ได้รับการสาปแช่งจากท่านอิมาม (อ.) ชะตาชีวิตของเขาย่อมไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน และในที่สุดแล้วเขาต้องได้รับการลงโทษอย่างแสนสาหัส ซึ่งท่านอิมาม (อ.) ได้สาปแช่งศัตรูบางคนเอาไว้[7]

ชายคนหนึ่งได้ยิงธนูเข้าใส่ท่านอิมาม (อ.) ท่านได้สาปแช่งเขาว่าขอให้อัลลอฮฺอย่าทำให้เจ้าหายกระหายน้ำเด็ดขาด ซึงหลังจากเหตุการณ์กัรบะลาอฺผ่านไป เขารู้สึกกระหายน้ำ แต่ดื่มน้ำเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มจนกระทั่งต้องกระโดดลงไปแช่ในแม่น้ำยุเฟรติส

5. การถูกลงโทษในนรกของกลุ่มชนที่นิ่งเฉย

ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) กล่าวแก่กลุ่มชนที่มีข้ออ้างและไม่มีข้ออ้าง ซึ่งพวกเขาไม่อาจช่วยเหลืออิมามได้ว่า เจ้าจงไปในที่ๆ ไม่ได้ยินเสียงของข้า และไม่เห็นการสังหารข้า ข้าขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า วันนี้ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงของข้าแล้วแต่เขาไม่ยอมช่วยเหลือข้า อัลลอฮฺ จะคะมำหน้าของเขาลงสู่ไฟนรก[8]

แน่นอน ผลทางจิตวิทยาและสังคมของกลุ่มชนที่เฝ้ามองดู และมองเห็นการถูกสังหารอย่างกดขี่เป็นเรืองปกติธรรมดา นิ่งเฉยไม่เข้าข้างฝ่ายใดพวกเขาก็คือกลุ่มชนที่ท่านอิมาม (อ.) ปรามาสว่าจะถูกคะมำหน้าลงสู่ก้นเหวของไฟนรกนั่นเอง



[1] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 314
[2] เมาซูอะฮฺ หน้า 377
[3] อัล-กุรอานบทอัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 57
[4] ลุฮูฤ หน้า 56
[5] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 59
[6] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 322
[7] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 319
[8] เมาซูอะฮฺ หน้า 379