บทที่ 2 การบิดเบือนอาชูรอ

หนึ่งในบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับอาชูรอคือ ปัญหาเรื่องการบิดเบือนต่างๆ ที่เกิดในวันอาชูรอ แน่นอน การวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่บิดเบือนเหล่านั้นจะช่วยให้เรารอดพ้นจากภยันตรายอันใหญ่หลวงทางวิชาการ และความเชื่อที่ผิดพลาดได้

1. ความหมายของคำว่า บิดเบือน (ตะฮฺรีฟ)

คำว่า ตะฮฺรีฟ ตามความหมายของพจนานุกรมหมายถึง การบิดเบือน การเบี่ยงเบน หรือการทำให้ของสิ่งหนึ่งคดเคี้ยวหรือหักงอไปจากแนวทางหลักของมัน

โดยทั่วไปแล้ว การบิดเบือน มักจะเกิดกับปัญหาและเหตุการณ์ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แน่นอน การบิดเบือนนั้นมีปัจจัยหลายอย่างเป็นองค์ประกอบสำคัญ ดังนั้น เป็นความจำเป็นสำหรับผู้ที่จงรักภักดีและผู้ที่ปกป้องอิมามะฮฺ และวิลายะฮฺอะฮฺลุลบัยตฺ ที่จะต้องรับทราบและรู้จักปัจจัยเหล่านั้นเพื่อรักษาอุดมการณ์ของอาชูรอให้ศักดิ์สิทธิ์สืบต่อไป

2. ปัจจัยของการบิดเบือน

2.1 บางครั้งศัตรูผู้ต่อต้านขบวนการ ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะทำลายความจริงและเป้าหมายที่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดทำลายมรรคผลให้สูญเสียไป

2.2 บางครั้งผู้ที่จงรักภักดีแต่ขาดการหยั่งคิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ใช้ความรู้สึกนึกคิดของตนและความรักความผูกพันที่มีอยู่ สร้างเรื่องราวให้ใหญ่โตเกินความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หรือบางครั้งสร้างเรืองราวให้ใหญ่โตจนกระทั่งสติปัญญาไม่อาจรับได้

2.3 บางครั้งกาลเวลาที่ผ่านมาอย่างยาวนาน การล้มหายตายจากไปของผู้พบเห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง หรือความจำที่ผิดพลาดของผู้จดจำเหตุการณ์และมีการเล่าต่อแบบผิดพลาด หรือการสูญหายไปของหลักฐาน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ความจริงต้องสูญเสียไป

2.4 อีกด้านหนึ่งการร้องไห้โอดครวญ หรือการแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์อาชูรอ ซึ่งในทัศนะของนักปราชญ์และหมู่มวลมิตรของศาสนาแล้วเป็นที่ยอมรับ สิ่งนี้เองเป็นเหตุให้มีการสร้างเรื่องราวที่บิดเบือน และโกหกของบางคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อให้ผู้คนร้องไห้หรือแสดงความเสียใจกันมากๆ

3. ประเภทของการบิดเบือน

ประเภทของการบิดเบือนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ

ประเภทที่หนึ่ง การบิดเบือนทางด้านคำและอักษร หมายถึงการทำให้ฮะดีซมากหรือน้อยลง หรืออาจเป็นการเพิ่มจำนวนฮะดีซหรือเรื่องราวที่แต่งขึ้น แล้วนำไปเสริมในประวัติศาสตร์แห่งความเป็นจริง (เช่น เรื่องราวของอาชูรอ) หรือในอีกความหมายหนึ่งเรียกว่า การบิดเบือนที่อยู่ในกรอบครรลอง

ประการที่สอง การบิดเบือนด้านความหมาย หมายถึงการให้การเปลี่ยนแปลง หรือการเปลี่ยนรูปโฉมของเป้าหมาย แนวความคิดต่างๆ ของความเป็นจริง หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณที่อยู่เหนือความเป็นจริงของเรื่องนั้นให้เป็นอย่างอื่น

การบิดเบือนนั้น เป็นไปได้ว่าบางครั้งอาจเกิดจากฝีมือของมิตร หรือศัตรูที่มีต่ออุดมการณ์นั้น ขณะที่ความเป็นจริงแห่งอาชูรอนั้นเป็นความบิดเบือนด้านความหมายโดยฝีมือของมิตร ส่วนการบิดเบือนด้านคำและลายลักษณ์อักษรนั้นเกิดจากฝีมือของมิตรและศัตรูร่วมมือกัน

สิ่งควรพิจารณาคือ ความสมบูรณ์ในประเด็นของการบิดเบือนนั้นยังมีอีกมากมายไม่อาจกล่าวได้ทั้งหมดในที่นี้ ซึ่งต้องอาศัยการเขียนเป็นหนังสือหรือตำราต่างหาก แต่ในที่นี้จะกล่าวแค่พอเป็นสังเขปดังนี้

ก. การบิดเบือนต่างด้านคำและอักษร

ความเป็นจริงแห่งอาชูรอนั้น จะเห็นว่ามีการบิดเบือนด้านคำและอักษรเกิดขึ้นอย่างมากมาย ตัวอย่างเช่น

การสร้างข่าว รายงาน และเรื่องราวเกี่ยวกับอาชูรอ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างประกอบดังต่อไปนี้

1. การจัดพิธีนิกะฮฺ  (แต่งงาน) ระหว่างท่านกอซิมกับบุตรีคนหนึ่งของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ซึ่งพิจารณาจากภายนอกจะพบว่าเป็นเรื่องที่มีการเล่าขานกันอย่างมาก แต่ไม่เกินสมัยของกอจอรียะฮฺ[1]

แน่นอน สิ่งที่ปรากฏในประวัติรายงานของอิสลามมีเพียงแค่การอ่านคุฏบะฮฺนิกะฮฺเท่านั้น แต่กระนั้นสิ่งนี้ก็มิได้ถูกบันทึกไว้ในตำราที่เชื่อได้แม้แต่เล่มเดียว[2]

2. ท่านหญิงลัยลาอยู่ในกัรบะลาอฺด้วย ซึ่งท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ได้สั่งให้นางกลับไปในค่ายที่พักและทำทรงผมให้ยุ่งเหยิงเป็นกระเซิง

3. กองทัพของอุมะริบสะอัดมีจำนวนทหารถึง 700,000 คน ทว่าบางรายงานกล่าวว่า 1,600,000 คน (ซึ่งบันทึกอยู่ในอัสรอรุชะฮาดะฮฺ)[3]

4. วันอาชูรอยาวนานถึง 72 ชั่วโมง

5. สหายคนหนึ่งของอิมาม (อ.) เข้าโจมตีศัตรูเพียงครั้งเดียวสามารถสังหารศัตรูตายถึง 10,000 คน[4]

6. บรรดาเชลยเดินทางออกจากเมืองชามโดยผ่านกัรบะลาอฺ[5]

ข. การบิดเบือนด้านความหมาย

1. ความบิดเบือนที่เกิดจากน้ำมือของศัตรู

บรรดาศัตรูที่เป็นปรปักษ์กับขบวนการอาชูรอ (วงศ์วานของบนีอุมัยยะฮฺและผู้จงรักภักดี) พยายามใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อชนิดผิดๆ เพื่อเบี่ยงเบนเป้าหมายและอุดมการณ์ของอาชูรอให้หลงทางออกไป และเพื่อต้องการทำลายล้างบุคลิกภาพของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) และเหล่าบรรดาสหายของท่าน โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดบทบาทผลสะท้อนของขบวนการในหมู่ประชาชนให้น้อยลงไป ซึ่งตรงนี้จะขอหยิบยกบางประเด็นขึ้นมากล่าว[6]

1.1 หลังจากชะฮาดัตท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) อิบนิซิยาด ได้สร้างข่าวลือขึ้นว่าอัลลอฮฺ ทรงประสงค์ที่จะสังหารฮุซัยนฺและสหายของเขา

หมายความว่า เขาต้องการสนับสนุนและโฆษณาแนวความคิดชนิดสุดโต่ง เพื่อให้ยะซีดรอดพ้นความผิด แต่ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้ต่อสู้กับแนวความคิดและการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว ท่านกล่าวว่า ประชาชนได้สังหารพี่ชายของฉันอะลีบุตรของฮุซัยนฺ (อะลีอักบัร)[7]

1.2 การโฆษณาชวนเชื่อแบบบิดเบือนอีกประการหนึ่งของศัตรูคือ กล่าวหาว่าท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) เป็นพวกนอกรีด (หมายถึงออกนอกศาสนา)

ด้วยเหตุนี้เอง เคาลียฺ เมื่อนางได้ถามสามีของนางว่า นี่เป็นศีรษะของฮุซัยนฺ แล้วฮุซัยนฺเป็นใครกันหรือ เขาตอบว่า ฮุซัยนฺเป็นพวกนอกรีด ซึ่งอุบัยดิลลาฮฺได้ขับเขาออกจากศาสนาไป[8]

1.3 พวกเขาได้แนะนำว่าฮุซัยนฺทำตนเป็นปรปักษ์กับอิมามของมวลมุสลิม ด้วยเหตุนี้ อุมะริบนิฮัจญาจญ์ ในวันอาชูรอจึงได้ร้องตะโกนขึ้นว่า โอ้ ชาวกูฟะฮฺเอ๋ย จงสามัคคีกันไว้และจงเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้นำมุสลิม และจงอย่าเคลือบแคลงสงสัยหรือลังเลใจที่จะสังหารบุคคลที่ออกนอกศาสนา และเป็นศัตรูกับอิมามของมวลมุสลิม[9]

1.4 อิมามฮุซัยนฺ (อ.) ถูกแนะนำว่าเป็นตัวการสร้างความแตกแยกในหมู่มุสลิม ด้วยเหตุนี้ อุมะริบนิสะอีด เจ้าเมืองมักกะฮฺ จึงได้ส่งจดหมายเตือนสติอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ว่า ขอให้ท่านอย่าเป็นผู้สร้างความแตกแยกในหมู่มุสลิม มิหนำซ้ำผู้ถือจดหมายของเขายังได้กล่าวกับอิมามอีกว่า ท่านไม่กลัวพระเจ้าดอกหรือที่ปลีกตัวมาจากสังคมมุสลิม และสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในหมู่พวกเขา[10]

2. การบิดเบือนความหมายโดยน้ำมือของเหล่าสหาย

บางครั้งเหล่าสหายที่จงรักภักดีต่อวิลายะฮฺ ได้พูดออกไปแบบใช้ความรู้สึกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งคำพูดเหล่านั้นได้กลายเป็นสาเหตุทำให้ขบวนการแห่งอาชูรอผิดเพี้ยนออกจากเป้าหมายหลัก หรือทำให้ผู้อื่นมองไม่เห็นภาพจริงของท่านอิมาม (อ.) และเหล่าสหายของท่าน ทำให้ความคิดของผู้ได้ยินเรื่องราวจดจำเฉพาะภาพลวงตาและภาพปลอมของท่านอิมาม (อ.) ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วผู้พูดอาจมิได้มีเจตนาดังกล่าวก็ตาม ซึ่งจะขอกล่าวถึงบางประเด็นเหล่านั้น กล่าวคือ

2.1 ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ได้ยอมพลีเพื่อล้างบาปในความผิดของประชาชาติ

ท่านชะฮีดมุรตะฏอมะเฏาะฮะรียฺ กล่าวว่าประเด็นดังกล่าวได้ถูกบิดเบือนไปเนื่องจากว่า เรื่องราวแห่งกัรบะลาอฺเป็นกรณีพิเศษที่เกิดจากการออกคำสั่งลับๆ โดยเฉพาะเจาะจงเพื่อให้ความผิดบาปของประชาชาติถูกลบล้าง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นของพวกคริสต์ที่นำมาเผยแพร่ในหมู่มุสลิม

แนวความคิดเช่นนี้เป็นสาเหตุทำให้ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) กลายเป็นสิ่งอาถรรพ์ เสมือนป้อมปราการที่คอยล้างบาปให้กับประชาชน[11]

ขณะที่อิมาม (อ.) ได้ยืนหยัดต่อสู้กับการปกครองที่กดขี่ ผู้อธรรมที่ก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน และห้ามปรามความชั่วร้ายที่เกิดขึ้น

ความบิดเบือนมีเป้าหมายอยู่ที่การยืนหยัดของท่านอิมาม (อ.) อันเนื่องจากพวกเขาได้แนะนำว่า การยืนหยัดของท่านอิมามไม่ออกลอกเรียนแบบ และปฏิบัติตามได้นั่นเอง หมายถึงไม่มีผู้ใดมีความสามารถ (ถ้ามิได้รับคำสั่งโดยตรงจากพระเจ้า) นำมาเป็นแบบอย่างในการต่อสู้กับผู้อธรรม และอบายมุขบนโลกนี้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแนวความคิดทางศาสนาให้กลายเป็นปัญหาเฉพาะเจาะจงส่วนตัว

2.2 ได้มอบฉายานาม ซัยนุลอาบิดีนป่วย แก่ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ขณะที่ท่านอิมามป่วยอยู่ในช่วงหนึ่งตามความเหมาะสมอันเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งมิได้ป่วยตลอดชีวิต

2.3 จัดพิธีกรรมรำลึกถึงอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ให้เป็นไปในลักษณะที่ว่างเปล่าจากการขบคิดถึงปัญหาการกดขี่ และความอธรรมให้กลายเป็นความเคยชินที่ขาดมิได้ และบางครั้งได้ต่อเติมพิธีกรรมในลักษณะที่ว่าหลักการ (ชัรอียฺ) ก็ไม่สนับสนุนให้กระทำ

แน่นอน การจัดพิธีกรรมรำลึกถึงท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) มีผลบุญมากมาย แต่ต้องไม่ลืมว่าการจัดพิธีกรรมและการร่ำไห้เพื่ออิมาม (อ.) นั้น มีเป้าหมายเพื่อปลุกระดมให้บรรดาชีอะฮฺผู้จงรักภักดีต่ออะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) นำอิมามไปเป็นแบบอย่างในการต่อสู้กับผู้อธรรม อบายมุข และความเสียหายทั้งหลายบนหน้าแผ่นดิน ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเป็นผลก็ต่อเมื่อ ทำให้ประชาชนเข้าใจในเป้าหมายการต่อสู้ของท่านอิมาม (อ.) ในการจัดพิธีกรรมและการอ่านบทรำพันถึงท่านอิมาม หมายถึง เป็นหน้าที่ของนักปราชญ์และผู้รู้ทั้งหลาย ที่ต้องเชิญชวนประชาชนให้คบคิด และใคร่ครวญต่อวิสัยทัศน์การยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมาม มิใช่จัดพิธีกรรมเพราะเป็นความรู้สึกเคยชินที่จะต้องจัดในแต่ละปี

4. แนวทางแก้ไข

สำหรับการป้องกันมิให้เกิดความบิดเบือนในอาชูรอ หรือการรักษาความบิดเบือนที่เกิดขึ้นสามารถกระทำได้ดังนี้

4.1 ตอบโต้การเผยแพร่และการโฆษณาชวนเชื่อของศัตรู ในลักษณะของการวิเคราะห์วิจัยประวัติศาสตร์ของบรรดาเคาะลิฟะฮฺและบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) สร้างความเข้าใจอันชัดเจนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ยังมืดมิดอยู่ เพื่อลบล้างความโกหกทังหลายที่พวกเขาก่อขึ้น

4.2 ทำการวิเคราะห์วิจัยรายงาน และสายสืบของรายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กัรบะลาอฺ ในมุมมองของวิชาการด้านสายรายงาน และประวัติศาสตร์ และต้องพร้อมใจกันทำลายรายงานที่ถูกสร้างขึ้น หรือรายงานที่มีสายสืบอ่อนแอ อันไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงในการจัดพิธีกรรม และถูกบันทึกอยู่ในตำราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชูรอ

4.3 การสร้างความเข้าใจแก่บรรดานิสิตนักศึกษาในสังคม ถึงเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่แท้จริงในการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมาม (อ.) พร้อมกับสร้างความกระจ่างกับความโกหก และความบิดเบือนที่เกิดกับประเด็นดังกล่าว

ด้วยความหวังที่ว่าวันหนึ่งสังคมจะได้สามารถตอบคำถามแก่บรรดาเยาวชน และชนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาซึ่งพวกเขาต้องการเหตุผลและความจริงได้อย่างถูกต้อง ความบิดเบือนต่างๆ และสิ่งที่อุปโลกน์ขึ้นเป็นองค์เสริมในพิธีกรรมจะได้หมดไปจากสังคม ต่อไปสังคมจะได้พบกับอิมามะฮฺ วิลายะฮฺ ความถูกต้อง และสาระความสัจจริงทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับอาชูรอ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนความรักที่มีต่อบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ให้มีมากยิ่งขึ้น และจะได้เป็นประทีปนำทางแก่ยุวชนในรุ่นต่อไปได้อย่างถูกต้อง



[1] เมาซูอะฮฺ หน้า 436, ฮัมมอเซะฮฺฮุซัยนี เล่ม 3 หน้า 245, 255
[2] เมาซูอะฮฺ หน้า 8- 465 เล่ามาจากมุนตะค็อบบุ เฏาะรีฮียฺ หน้า 365 อัสรอรุชชะฮาดะฮฺ หน้า 306 มะอาลี อัซซิบฏัยนิ เล่ม 1 หน้า 457 มะดีนะตุลมะอาญิซ เล่ม 3 หน้า 166
[3] อัมมอเซะฮฺฮุซัยนี เล่ม 3 หน้า 265
[4] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า5 - 245
[5] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 263 และศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ลุลุมัรญาน เขียนโดย ฮัจญฺ เชค มุฮัมมัด บากิร บีรญันดียฺ
[6] ลุฮูฟ หน้า 70
[7] อ้างแล้วเล่มเดิม
[8] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 5 - 254
[9] เมาซูอะฮฺ หน้า 441
[10] ฮัมมอเซะฮฺฮุซัยนี เล่ม 3 หน้า 330
[11] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 256