ภาคที่ 3 บทเรียนต่างๆ และการอบรม (บทเรียนทั้งหวานชื่นและขื่นขม)

·  บทที่ 1 ปัจจัยทีก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนชาวกูฟะฮฺกับท่านอิมาม (อ.)

·  บทที่ 2 การบิดเบือนอาชูรอ

·  บทที่ 3 การลงโทษเหล่าทรราชที่เป็นปรปักษ์กับท่านอิมาม (อ.)

·  บทที่ 4 ผลรางวัลของการช่วยเหลือวิลายะฮฺ

·  บทที่ 5 ตัวการที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือท่านอิมาม (อ.) (บุคคลที่ไม่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือท่านอิมาม (อ.))

·  บทที่ 6 บุคคลที่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือท่านอิมาม (อ.)

 

บทที่ 1 ปัจจัยทีก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนชาวกูฟะฮฺกับท่านอิมาม (อ.)

ประชาชนชาวกูฟะฮฺเป็นผู้เชิญชวนท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ให้มาสั่งสอนชาวกูฟะฮฺ แต่หลังจากนั้นพวกเขาได้เป็นปรปักษ์กับท่าน ฉะนั้น การวิเคราะห์ถึงสาเหตุและปัจจัย ที่ทำให้พวกเขาแสดงตนเป็นปรปักษ์กับท่านอิมามเป็นสิ่งที่มีความสลักสำคัญ และเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่สำหรับบุคคลที่เจริญรอยตามท่านอิมาม (อ.) เพื่อว่าวันหนึ่งเขาอาจเป็นหัวหน้าขบวนการยืนหยัดต่อสู้เพื่อสัจธรรม จะได้สามารถขจัดปัจจัยสำคัญด้งกล่าวให้หมดไป อีกทั้งหามาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดปัจจัยเหล่านั้นอีก เท่ากับเป็นการปลดอาวุธของศัตรูไปโดยปริยาย และสุดท้ายโฉมหน้าของสัจธรรมก็จะปรากฏขึ้น ประชาชนจะได้ไม่หลงทาง และไม่ยืนเป็นปรปักษ์กับสัจธรรมอีกต่อไป ทว่าพวกเขาจะหันมาปกป้องสัจธรรม

ก. ปัจจัยภายใน

1. ความลุ่มหลง

ได้มีการตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าว่าถ้าสามารถจัดการอิมามฮุซัยนฺ (อ.) อุมะริบนิสะอัดจะได้เป็นเจ้าเมืองเรย์ (ส่วนหนึ่งของศูนย์กลางอิหร่านในสมัยนั้น)  ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงไม่พร้อมจะโอนเอียงเข้าข้างอิมาม (อ.) ไม่ว่าท่านจะโน้มน้าวเขาอย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ยอมตีตัวออกห่างจากยะซีดเพื่อเข้าช่วยเหลือท่านอิมาม[1] (แม้ว่าในวันข้างหน้าอาจไม่ได้ปกครองเมืองเรย์ก็ตาม)

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวแก่ฟัรซะดักว่า ประชาชนได้ตกเป็นทาสของโลกไปเสียแล้ว (ตกเป็นทาสของเงินทอง)[2]

ประชาชนชาวกูฟะฮฺได้ตกเป็นทาสของโลกไปเรียบร้อยแล้ว คำพูดของท่านอิมาม (อ.) บ่งบอกให้เห็นถึงความลุ่มหลงของประชาชนที่มีต่อโลก

2. ความปรารถนากระทำบาปและความอิสระอันไร้ขอบเขต

การปกครองที่ยุติธรรมและอิสลามนั้นถือว่าเป็นความจำเริญสำหรับประชาชาติ ขณะเดียวกันจะเงื่อนไขและขอบเขตจำกัดสำหรับการวางตัวของประชาชน  ด้วยเหตุนี้เอง จะเห็นว่ามีชนกลุ่มหนึ่งที่ถวิลหาความต่ำทราม (ทั้งด้านทรัพย์สิน วัฒนธรรม และจริยธรรม) และต้องการความเป็นอิสระชนิดไร้ขอบเขตไม่ปรารถนาที่จะมีการจัดตั้งการปกครองลักษณะเช่นนี้

ฉะนั้น ในสุนทรพจน์ของท่านอิมาม (อ.) ตอนหนึ่งกล่าวถึงปัจจัยที่ชาวกูฟะฮฺยอมถอดถอนสัตยาบันจากท่าน ก็เนื่องมาจากพวกเขาถวิลหาความต่ำทราม

وتركتم بيعتنا رغبة فى الفساد[3]

3. ความหวาดกลัว

ประชาชนบางกลุ่มไม่กล้าที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ และไม่ยอมช่วยเหลือท่านอิมาม (อ.) เนื่องจากหวาดกลัวต่ออำนาจการปกครองของพวกบนีอุมัยยะฮฺ ทว่าบางคนได้แสดงตนเป็นปรปักษ์กับท่านอิมาม (อ.) ด้วยซ้ำไป เช่น อุมะริบนิสะอัด เขาได้หาข้ออ้างมาปฏิเสธคำเชิญชวนของท่านอิมาม (อ.) เพราะกลัวว่าทรัพย์สินและครอบครัวของตนจะได้รับอันตรายหรือเกิดความเสียหายได้[4]

ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นเพียงข้ออ้าง แต่ความหวาดกลัวก็ครอบคลุมอยู่เหนือสังคมและเป็นสิ่งที่อยู่เคียงข้างกับผู้ปกครองที่กดขี่ตลอดเวลา

4. ความอคติที่มีต่อท่านอิมามอะลี (อ.)

มีประเด็นที่ชัดเจนอยู่หลายประเด็นที่บ่งบอกถึงการเป็นปรปักษ์ของประชาชนที่มีต่อท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ความอคติที่มีต่อท่านอิมามอะลี (อ.)

4.1 ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) กล่าวในสุนทรพจน์ว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ชาวกูฟะฮฺถอดถอนสัตยาบันไปจากท่านคือ ความอคติที่มีต่อสงครามอะฮฺซาบ เนื่องจากในสงครามดังกล่าวท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ฟัน อุมะริบนะอันดุลวุฮฺ เพียงครั้งเดียวถึงกับเสียชีวิต

ضلة لطواغيت الامة و بقية الاحزاب[5]

4.2  เมื่ออิมามฮุซัยนฺ (อ.) ได้ร้องถามประชาชนในวันอาชูรอว่า เพราะเหตุใดพวกเจ้าจึงมาสู้รบกับข้า ข้าละทิ้งสัจธรรมความจริงกระนั้นหรือ หรือว่าข้าเปลี่ยนแปลงแบบฉบับ (ซุนนะฮฺ) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)  หรือว่าข้าเปลี่ยนแปลงพระบัญญัติของพระเจ้า

พวกเขาตอบว่า เนื่องจากพวกเรามีความแค้นและเป็นศัตรูกับบิดาท่าน และพวกเราต้องการล้างแค้นแทนสงครามบัรดฺ และสงครามฮุนัยนฺ พวกเราจึงต่อสู้กับท่าน[6]

5. ความโง่เขลาเบาปัญญา

ประชาชนบางกลุ่มไม่มีข้อมูลหรือไม่ได้รับรู้ถึงสภาพสังคมและการเมืองในยุคนั้น พวกเขาได้หันหน้าไปพึ่งสิ่งอื่นที่ไม่มีความเหมาะสมกับศาสนาและโลกของพวกเขาแม้แต่น้อย

ประชาชนชาวกูฟะฮฺบางกลุ่มเป็นเช่นนั้น ซึ่งท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ได้กล่าวในสุนทรพจน์ตอนหนึ่งถึงสาเหตุที่ชาวกูฟะฮฺถอดถอนสัตยาบันไปจากท่าน ก็เนื่องจากความโง่เขลาเบาปัญญา และการไม่รู้ข่าวสารบ้านเมือง[7]

6. การบริโภคสิ่งฮะรอม

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวถึงสาเหตุที่ประชาชนหลงผิดและการไม่ได้รับทางนำของพวกเขาว่า ..

ملئت بطونكم من الحرام فطبع على قلوبكم[8]

ท้องของพวกเจ้าเต็มไปด้วยอาหารที่ฮะรอม (ไม่อนุมัติ) และสุดท้ายหัวใจของพวกเจ้าก็ถูกลงตราไว้

แน่นอน การกินอาหารที่ฮะรอมมีผลโดยตรงกับจิตใจและร่างกายของมนุษย์ ในลักษณะที่ว่ามนุษย์จะไม่ยอมสิโรราบหรือยอมจำนนต่อสัจธรรมความจริง และในบางครั้งเขาจะแสดงตนเป็นปรปักษ์กับความจริงเสียด้วยซ้ำไป

7. การครอบงำของชัยฏอนมารร้าย

ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ได้กล่าวสุนทรพจน์แก่ทหารของยะซีดในเช้าของวันอาชูรอว่า ..

พวกเจ้าต้องการสังหารครอบครัวของท่านศาสดาหรือ (ขณะที่พวกเจ้ามีอีมาน (ศรัทธา) ต่อท่าน) ประหนึ่งว่าชัยฏอนได้ครอบงำพวกเจ้าเสียแล้ว และมันได้ทำให้พวกเจ้าลืมเลือนที่จะรำลึกถึงพระเจ้า

لقد استحوذ عليکم الشيطان

8. ความลืมเลือน

การไม่มีข้อมูลหรือการไม่รับรู้ถึงสภาพแวดล้อมของสังคมและการเมืองในยุคสมัยของตนคือ ปัจจัยสำคัญที่จะนำพามนุษย์ไปสู่ความลืมเลือนและการหลงกลในเล่ห์เพทุบายต่างๆ

แน่นอน บางครั้งการโฆษณาชวนเชื่อของศัตรูนั้นใหญ่โตน่าเชื่อถือ สร้างความลืมเลือนให้แก่ประชาชนจนหมดสิ้น เล่ห์เพทุบายเหล่านั้นได้ครอบงำตัวตนของเขา จนทำให้เขาหันกลับมาเป็นผู้ทำลายสัจธรรมอย่างไม่รู้ตัว ถึงขนาดที่ว่าพวกเขาได้เนียต (ตั้งเจตนา) เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระเจ้าโดยการทำสงครามกับอิมามมะอฺซูม (อ.) และหมู่มวลมิตรของพระองค์

ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน ซัจญาด (อ.) กล่าวถึงความจริงแห่งกัรบะลาอฺและอาชูรอว่า ไม่มีวันใดจะเหมือนกับวันของฮุซัยนฺ (อ.) (วันอาชูรอ) อีกแล้ว ประชาชนจำนวน 30,000 คน คิดว่าพวกตนเป็นมุสลิมพวกเขาเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระเจ้าด้วยการหลั่งเลือดบริสุทธิ์ของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.)

کل يتقرب الي الله عزوجل بدمه و هو بالله يذکرهم فلا يتعظون[9]

เหตุการณ์อันข่มขื่นนั้นเป็นบทเรียนราคาแพงด้านสังคมแก่พวกเราว่า จงอย่าเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อของศัตรู และจงอย่าแยกตัวออกจากวิลายะฮฺและอิมามะฮฺ เนื่องจากการละทิ้งอิมามะฮฺนั้นจะทำให้มนุษย์ติดกับดักหลงการโฆษณาชวนเชื่อของศัตรู ประหนึ่งได้วางยาพิษให้แก่ตัวเองในลักษณะที่ว่าตนได้ถูกบดจนละเอียดเป็นผุยผง และแทนที่จะเป็นผู้สนับสนุนสัจธรรมความจริงกลับกลายเป็นผู้ทำลายล้างสัจธรรม หมายถึงแทนที่จะเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระเจ้าโดยการช่วยเหลืออิมาม (อ.) แต่กลับต้องมาเป็นศัตรูผู้พิชิตอิมาม มองเห็นการกระทำที่เลวและต่ำทรามอันเป็นความโกรธกริ้วที่สุด เป็นการกระทำที่ดีที่สุด และคิดว่านั่นเป็นสื่อที่จะทำให้ตนใกลัชิดกับพระเจ้ามากที่สุด แน่นอน ประเด็นดังกล่าวนี้มีที่มาที่ไปของตัวมันซึ่งเป็นความจำเป็นของทุกสังคมที่จะต้องวิเคราะห์วิจัยถึงสาเหตุ และทำการเยียวยารักษาโดยการขุดรากถอนโคนทิ้งไป เพื่อป้องกันมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก

ตัวอย่าง การเปลี่ยนแปลงคุณค่าหรือการลดสีสันของคุณค่าเหล่านั้น เหมือนกับการต่อสู้ดิ้นรน (ญิฮาด) และความศรัทธาที่มีต่อวิลายะฮฺ การหลงกลของสังคมในเล่ห์เพทุบายของศัตรู เนืองจากการไม่รับรู้ข่าวสารข้อมูลหรือการไม่มีข้อมูลเพียงพอของสังคม ทั้งหมดเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง

9. การฝ่าฝืน

ชาวกูฟะฮฺบางกลุ่มเขียนจดหมายลอกลวงท่านอิมาม (อ.) หมายถึงพวกเขาต้องการใช้จดหมายเหล่านั้นเป็นสื่อหลอกลวงอิมาม (อ.) ให้เข้ามาติดกับดักของพวกเขา เพื่อถอดถอนสัตยาบันจากอิมาม (อ.) หรือเพื่อสังหารท่านเสีย ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงแสดงท่าทีเป็นมิตรกับยะซีดมาโดยตลอด

คำพูดของท่านอิมาม (อ.) ในค่ำของวันอาชูรอบ่งบอกถึงประเด็นดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า

ماکانت کتب من کتب الي فيما اظن- الا مکيدة بي و تقربا الي ابن معاوية

ข้าคิดว่าจดหมายเหล่านี้ ที่ชาวกูฟะฮฺส่งถึงข้าเป็นเพียงกลลวงที่ส่งให้ข้าเท่านั้น เพื่อว่าพวกเขาจะได้เข้าใกล้ยะซีดมากขึ้น[10]

เช่นกันท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวร้องเรียนประชาชนชาวกูฟะฮฺไว้ 2 ประเด็น กล่าวคือ ประชาชนได้ตกเป็นทาสของโลกไปเสียแล้ว (ทาสเงินตรา)

والدين لعق علي السنتهم يحوطونه ما درت معاشيم

ส่วนศาสนาก็เป็นเพียงคำพูด (ลมปาก) ของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาจะยึดมั่นในศาสนาก็ต่อเมือสิ่งนั้นยังประโยชน์กับการดำรงชีพของพวกเขา

فاذا محصوا بالبلاء قل الديانون

เมื่อใดก็ตามถ้าพวกเขาถูกทดสอบด้วยความยากลำบาก พวกเขาก็จะละทิ้งศาสนา[11]

คำพูดของท่านอิมาม (อ.) บ่งบอกให้เห็นว่าประชาชนชาวกูฟะฮฺเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความประพฤติเยี่ยงพวกหน้าไหว้หลังหลอก (มุนาฟิกีน) เป็นพวกฝ่าฝืน

ข. สาเหตุภายนอก

1. การโฆษณาชวนเชื่อของศัตรู

ทุกวันนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่าแผนการโฆษณาชวนเชื่อและการใช้สื่อด้านต่างๆ ทางการเมืองนั้น ก็เพื่อสร้างมิตรหรือไม่ก็ก่อให้เกิดศัตรู ซึ่งศัตรูได้เลือกใช้วิธีการนี้จัดการกับท่านอิมาม (อ.) ดังตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้

1.1 มัรวานได้กล่าวกับท่านอิมาม (อ.) ในนครมะดีนะฮฺว่า พวกเราได้พูดถึงบุตรของอะลี มากมาย[12]

ในอีกที่หนึ่งกล่าวว่า บุตรของอบูตุรอบ (อะลี) คือศัตรูตัวฉกาจและเป็นสนิมใจของอบูซุฟยาน (มุอาวิยะฮฺ) มาโดยตลอด[13]

แน่นอน ท่านอิมาม (อ.) ได้ตอบโต้มัรวานอย่างรุนแรง ท่านเรียกมัรวาน เจ้าสกปรก

1.2  เมื่อท่านอิมาม (อ.) กล่าวสุนทรพจน์แก่กองทัพของฝ่ายศัตรู พวกเขาได้ส่งเสียงแซ่วไปหมดว่า พวกเราไม่เข้าใจว่าท่านพูดอะไร[14]

พวกเขากล่าวว่า เขา (อิมาม) ไม่ใช่ผู้เคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว[15]

สิ่งที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อสหายผู้ซื่อสัตย์ของท่านอิมาม (อ.) เช่น ฮะบีบ บุตรของมะซอเฮร ได้ออกไปสู่สนามรบท่านได้ประกาศเผยแพร่ต่อหน้าศัตรู แต่พวกเขาตอบโต้อย่างรุนแรงว่า เจ้ามิใช่หรือที่แสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้าแบบพวกฝ่าฝืนถึง 70 ครั้ง ด้วยกัน[16]

1.3 หนึ่งในการโฆษณาชวนชื่อของศัตรูคือ การปฏิเสธความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กับท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.)

1.4 แม่ทัพศัตรูฝ่ายตรงข้าม เชื่อว่าอิมาม (อ.) เป็นพวกบูชาไฟพวกเขาจึงถือว่าอิมามเป็นผู้ประกาศเผยแพร่การบูชาไฟ[17] พวกเขาต้องการขยายการโฆษณาสิ่งนี้ให้แพร่ออกไปในหมู่ประชาชน เพื่อให้ใบหน้าที่เปล่งรัศมีของท่านอิมามเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับประชาชน

1.5 ชาวกูฟะฮฺ ปฏิเสธว่าไม่ได้เขียนจดหมายเชิญชวนท่านอิมาม (อ.) และปฏิเสธไม่ยอมรับท่านอิมาม [18] ทว่าท่านอิมาม (อ.) ได้นำจดหมายของพวกเขามาทิ้งไปบนพื้นต่อหน้าพวกเขา ทำให้พวกเขาไม่อาจพูดสิ่งใดได้ แผนการโฆษณาของพวกเขาถูกทำลายทิ้งโดยสิ้นเชิง

1.6 เมื่อท่านอิมาม (อ.) ต้องการกล่าวสุนทรพจน์กับพวกเขา พวกเขาไม่ฟังจะส่งเสียงดังและเอะอะโวยวายตลอด ท่านอิมาม (อ.) ต้องเชิญให้พวกเขาเงียบ แต่พวกเขาก็ไม่เงียบยังคงดื้อรั้นเหมือนเดิม

1.7 กองทัพฝ่ายศัตรูได้แต่งเรื่องความหิวกระหายของอุสมานขึ้นมา เพื่อนำมาเป็นข้ออ้างทับถมท่านอิมาม (อ.)[19]

1.8  บางครั้งกองทัพฝ่ายศัตรูได้กล่าวดูถูกเหยียดหยามท่านอิมาม (อ.)  แต่ท่านอิมาม (อ.) กลับตอบโต้พวกเขาด้วยมารยาทอันดีงาม มากที่สุดที่ท่านอิมามได้สาปแช่งพวกเขา[20]

1.9  อุมะริบนะ ฮัจญาจญ์ เป็นทหารคนหนึ่งในกองทัพฝ่ายศัตรู ได้ส่งเสียงตะโกนออกมาว่า โอ้ ชาวกูฟะฮฺเอ๋ย พวกเจ้าจงรักษาความสามัคคีในหมู่คณะเอาไว้ พวกเจ้าจงแสดงความภักดี และจงอย่าได้เคลือบแคลงสงสัยหรือลังเลใจในการสังหารบุคคลที่ออกนอกศาสนา และเป็นศัตรูกับอิมามมุสลิมีน[21]

หมายถึงว่า ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ออกนอกศาสนาไปแล้วและเป็นปฏิปักษ์กับอิมามของบรรดามุสลิมทั้งหลาย

1.10 พวกเขาโฆษณาว่าท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) คือผู้สังหารเหล่าบรรดาชุฮะดาทั้งหลาย[22]

ทั้งที่ฝ่ายศัตรูเป็นผู้บุกโจมตีเข้าทำร้ายกองคาราวานของท่านอิมาม (อ.) และสังหารเหล่าสหายของท่าน แต่พวกเขาปลิ้นปล้อนกล่าวหาว่า ท่านอิมาม (อ.) เป็นผู้สังหาร

1.11 กองทัพฝ่ายอธรรมชาวกูฟะฮฺถือว่าพวกตนเป็นพลพรรคของพระเจ้า และเป็นผู้ถูกเชิญชวนให้เข้าสู่สรวงสวรรค์[23]

1.12 การโฆษณาชวนเชื่ออีกประการหนึ่งของศัตรูคือ พวกเขากล่าวหาว่าท่านอิมาม (อ.) คือตัวการสำคัญในการต่อต้านความเป็นเอกภาพของมุสลิม ด้วยเหตุนี้เอง อุมะริบนะสะอีด ผู้ปกครองมักกะฮฺ จึงได้เขียนจดหมายส่งถึงท่านอิมามว่า ฉันคิดว่าท่านคือผู้สร้างความแตกแยกในหมู่มุสลิม ผู้ถือจดหมายของเขาจึงได้กล่าวกับท่านอิมาม (อ.) ว่า ท่านไม่เกรงกลัวอัลลอฮฺบ้างหรือ (การที่ท่านปลีกตัวออกจากสังคมมุสลิม)[24]

2. ข้ออ้างเพื่อล้างแค้นแทนความกระหายของอุสมาน

เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ว่าการกระทำบางอย่างที่เลวทรามและเป็นไปเพื่อต่อต้านความเป็นมนุษย์ ต้องอาศัยข้อกล่าวอ้างต่างๆ นานา เช่น การสังหารเด็กๆ ในสงคราม หรือการทิ้งระเบิดเคมีใส่ฝูงชนที่มิใช่ทหาร หรือการทำชะฮาดัตผู้คนด้วยความหิวกระหาย โดยการขัดขวางไม่ให้มีการลำเลียงน้ำไปส่งให้เด็กๆ เป็นต้น

การกักกันน้ำเพื่อไม่ให้ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) และเหล่าสหายได้ดื่มกิน บรรดาศัตรูได้อ้างว่าครั้นเมื่อชาวมะดนะฮฺสังหารอุสมาน พวกเขาก็ปิดกั้นน้ำไม่ให้อุสมานได้ดื่มกินเช่นกัน ดังนั้น พวกเราต้องการล้างแค้นแทนความหิวกระหายของอุสมานจากฮุซัยนฺและเหล่าสหาย พวกเขาได้อ้างถึงข้อกล่าวอ้างนี้หลายต่อหลายครั้ง[25] เพื่อเป็นการตอกย้ำให้เหล่าทหารของพวกเขากล้าปฏิบัติการสิ่งที่มิใช่การกระทำของมนุษย์ เป็นการโฆษณาเพื่อทำลายท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.)

ประเด็นดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นอุทาหรณ์และเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับพวกเราที่ว่า อย่าพยายามหาข้ออ้างให้ศัตรูมาทำร้ายเรา เพราะศัตรูจะใช้สิ่งนั้นต่อต้านและทำลายเราในที่สุด หรืออย่างน้อยพวกเขาจะใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ

แน่นอนว่า ข้อกล่าวอ้างข้างต้นเป็นที่ชัดเจน เนื่องจากท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารอุสมานแม้แต่น้อย ทว่าศัตรูได้ใช้ประโยชน์จากความโง่เขลาเบาปัญญาของประชาชน ด้วยเหตุนี้ อุบัยดิลลาฮฺ บุตรของซิยาด (เจ้าเมืองกูฟะฮฺ) จึงได้เขียนจดหมายถึง อุมะริบนะสะอัด (แม่ทัพกองทหารฝ่ายศัตรู) ว่า เจ้าจงกันฮุซัยนฺให้ห่างไปจากน้ำ ดังเช่นที่อุสมานได้ห่างไกลจากน้ำเวลาสังหารเขา[26]

ค. แนวทางการแก้ไข

โดยปกติแล้วการรักษาอาการป่วยไข้ทั้งหมดคือ การติดตามหาสาเหตุของอาการป่วยนั้นซึ่งเรียกว่า สาธารณสุขหรือพลานามัย ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นหลังจากมีการติดเชื้อหรือหลังการแพร่เชื้อ  ดังนั้น ถ้าเราสามารถขจัดรากเหง้าหรือสามารถขุดรากถอนโคนของปัจจัยนั้นได้  แน่นอน เราก็จะสามารถป้องกันมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย หรือสามารถป้องกันให้ฮุซัยนฺแห่งการเวลาดำรงสืบต่อไปได้ ซึ่งแนวทางต่างๆ เหล่านั้นมีมากมายแต่จะขออธิบายเฉพาะแนวทางที่จำเป็นเท่านั้น กล่าวคือ

1. การต่อสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำ หมายถึงการป้องกันมิให้สังคมส่วนรวมเปรอะเปื้อนความสกปรกโสมมของอบายมุขต่างๆ ความต่ำทรามของศีลธรรม ด้วยการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว ซึ่งสิ่งนี้สามารถป้องกัน ความละโมบ ความลุ่มหลงต่อโลก การบริโภคสิ่งฮะรอม ความคลั่งไคล้ในความอิสระชนิดไร้ขอบเขตและเงื่อนไข แน่นอน ว่าเบื้องต้นหน้าที่นี้เป็นของบรรดาผู้รู้และนักปราชญ์ทั้งหลาย ทว่าเป็นของประชาชนทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน

2. การทำให้สังคมเข้าใจข่าวสารข้อมูลกฎเกณฑ์และระเบียบของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมโลกอยู่ในปัจจุบัน การทำให้มุสลิมทั้งหลายรู้จักการแยกแยะระหว่างมิตรกับศัตรู เพื่อจะได้สามารถป้องกันตัวเองให้ออกห่างจากความโง่เขลาเบาปัญญา  และเล่ห์เพทุบายของประชาชนและศัตรู ซึ่งอีกด้านหนึ่งวิธีนี้จะช่วยลดบทบาทและเป็นการทำลายแผนการ และการโฆษณาชวนเชื่อของศัตรูได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อโฆษณาต่างๆ

3. การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอิมามะฮฺกับประชาชนด้วยการพบปะสังสรรค์ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับฐานภาพและความเชื่อเรื่องอิมาม ตลอดจนการทำให้ประชาชนสนใจในตำแหน่งของอิมาม ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยป้องกันมิให้ประชาชนเกิดความอคติ

4. การรู้จักสถานภาพที่หวั่นไหวที่สุดและเป้าหมายของศัตรูในการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อป้องกันหรือทำลายแผนการเหล่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

5. ผู้ศรัทธาจะต้องไม่เปิดโอกาสให้ศัตรูได้ใช้ข้ออ้างเผยแพร่หรือทำการโฆษณาชวนเชื่อ ดังเช่น เรื่องความกระหายของอุสมาน

6. การทำความรู้จักกับบุคคลในท้องที่ทั้งผู้ศรัทธา และผู้สับปลับปลิ้นปล้อนตลอดจนนโยบายหรือเล่ห์เหลี่ยมของพวกเขา หลังจากนั้นแนะนำเล่ห์เหลี่ยมของเขาให้สังคมหรือผู้นำสังคมได้เข้าใจ

7. สนับสนุนส่งเสริมการทำงานของหน่วยงานที่รณรงค์ด้านความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสาเหตุทำให้ศาสนาหยั่งรากลึกลงไปในหัวใจของพวกเขา และพวกเขาจะไม่ประพฤติสิ่งที่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนา

แน่นอน การถอดถอนศาสนาออกจากลิ้นหรือลมปากของผู้คน โดยหยั่งรากลึกลงไปในหัวใจของประชาชน สิ่งนี้จะเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาซื่อสัตย์ต่อศาสนาและความเลื่อมใสศรัทธา ตลอดจนผู้นำศาสนาของพวกเขามากยิ่งขึ้น

8. ให้การสนับสนุนกลุ่มนักต่อสู้หรือนักประกอบกิจกรรมด้านศาสนาในสังคม พยายามทำให้องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรหลักของสังคม เมื่อประชาชนยอมรับและเกิดความผูกพันต่อไปพวกเขาก็จะไม่มีอคติหรือคิดไม่ดีกับสังคมอีกต่อไป



[1] เมาซูอะฮฺ หน้า 387
[2] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 195 ,เมาซูอะฮฺ หน้า 373
[3] เมาซูอะฮฺ หน้า 497 รายงานมาจากแหล่งอ้างอิงหลากหลาย
[4] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 378, 64
[5] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 497
[6]  อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 492 รายงานจากแหล่งอ้างอิงหลากหลาย
[7] ดังปรากฏในบทซิเราะฮฺ อัรบะอีนของท่านอิมามฮุซัยนฺ ซึ่งได้ชี้แจงเหตุผลของการยืนหยัดว่า ท่านต้องการช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากความโง่เขลา และความหลงผิด
[8] เมาซูอะฮฺ หน้า 422
[9] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 297
[10] เมาซูอะฮฺ หน้า 397
[11] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 195 เมาซูอะฮฺ หน้า 373
[12] เมาซูอะฮฺ หน้า 285
[13] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 285
[14] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 17,416,420
[15] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 420
[16] อ้างแล้วเล่มเดิม
[17] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า455, 456
[18] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า320, 357
[19] อะมาลีซะดูก หน้า 135 อัลอะวาลัม เล่ม 17 หน้า 167 เล่ามาจากเมาซูอะฮฺ หน้า426
[20] เมาซูอะฮฺ หน้า 436
[21] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 441
[22] เมาซูอะฮฺ หน้า 442
[23] อ้างแล้ว หน้า 390
[24] อ้างแล้ว หน้า 330
[25] เมาซูอะฮฺ หน้า 426
[26] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 315