บทเรียนด้านจริยธรรมในการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมาม (อ.)

การยืนหยัดต่อสู้ในวันอาชูรอมิได้เป็นการเคลื่อนไหวในระบบทหารเท่านั้น ทว่าเป็นการปฏิวัติหนึ่งที่มีวิสัยทัศน์ต่างๆ มากมาย และหนึ่งในวิสัยทัศน์นั้นคือ บทเรียนแห่งการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ด้านจริยธรรม ซึ่งในการต่อสู้ท่านและสหายของท่านได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าวนั้น

ประเด็นด้านจริยธรรมในการยืนหยัดของท่านอิมาม (อ.) ถือว่าเป็นแบบอย่างสำหรับบรรดาผู้ปฏิบัติตามท่านทุกคนตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ดังนั้น ตรงนี้จึงขอวิเคราะห์เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ด้านการยืนหยัดของท่านอิมาม (อ.) ในวันอาชูรอ

1. การเอาใจใส่ต่อมารยาทอันดีงาม

ประเด็นดังกล่าวนี้โปรดพิจารณาตัวอย่างสักสองสามตัวอย่าง

1.1 ขณะที่อิมาม (อ.) เดินทางออกจากมะดีนะฮฺ ท่านได้แสดงมารยาทอันดีงามโดยอันดับแรกก่อนออกเดินทาง ท่านได้ไปกล่าวอำลาหลุมพระศพของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ)[1] และในตอนกลางคืนท่านได้ไปเยี่ยมหลุมพระศพของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) มารดาของท่าน ท่านได้นมาซและกล่าวอำลาท่านหญิง เช่นเดียวกันท่านได้นมาซข้างๆ หลุมพระศพของท่านอิมามฮะซัน (อ.) และกล่าวอำลาท่านอิมาม (อ.)[2]

1.2 เมื่อมีผู้กล่าวดูถูกเหยียดหยามท่านอิมาม (อ.) ในวันอาชูรอ ท่านมิได้สาปแช่งเขาแต่ท่านได้กล่าวร้องเรียนต่อพระเจ้า[3] ซึ่งจะเห็นว่าท่านอิมาม (อ.) จะไม่กล่าวสิ่งใดขัดแย้งกับมารยาทอันดีงามของตน

1.3 เมื่อท่านอิมาม (อ.) ต้องการกล่าวอำลาเหล่าประชาชน ท่านกล่าวว่า ขอความสันติพึงมีแด่พวกท่าน[4] เช่นเดียวกันขณะที่ท่านกำลังจะชะฮีดท่านได้กล่าวสลามเพื่อเป็นการอำลา[5]

ในตอนท้ายของจดหมายที่ท่านส่งถึงชาวกูฟะฮฺ ท่านได้ลงท้ายว่า วัสลาม[6]

1.4 ขณะที่ท่านอิมาม (อ.) ได้เผชิญหน้ากับกองทัพของโฮร เมื่อได้เวลานมาซซุฮฺริท่านเกรงว่าพวกเขาจะอับอาย ท่านจึงได้กล่าวกับเขาด้วยมารยาทอันดีงามว่า โอ้ บุตรของยะซีด (โฮร) ท่านไม่นมาซร่วมกับสหายของท่านดอกหรือ เพื่อว่าฉันจะได้นมาซร่วมกับสหายของฉันบ้าง

โฮร ได้แสดงมารยาทอันดีงามโดยตอบคำพูดของท่านอิมามว่า ขอให้ท่านเริ่มนมาซพร้อมกับสหายของท่านเถิด เพื่อว่าเราจะได้ปฏิบัติตามท่าน และชนทั้งสองกลุ่มได้นมาซซุฮฺริร่วมกันโดยมีท่านอิมาม (อ.) เป็นผู้นำนมาซ[7]

1.5 เมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้เข้าไปในห้องประชุมของวะลีดผู้ปกครองมะดีนะฮฺ อันดับแรกท่านได้กล่าวสลามแก่พวกเขา และถามถึงสารทุกข์สุกดิบของมุอาวิยะฮฺ เมื่อพวกเขาได้กล่าวว่ามุอาวิยะฮฺเสียชีวิตไปแล้ว ท่านได้กล่าวว่า แท้จริงเราเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และพวกเราทุกคนต้องกลับคืนสู่พระองค์

1.6 เมื่ออุมะริบนะอีด ผู้ปกครองมักกะฮฺได้ส่งจดหมายถึงท่านอิมาม (อ.) และได้ให้หลักประกันความปลอดภัยแก่ท่าน แต่ท่านอิมาม (อ.) ปฏิเสธไม่ยอมรับ ขณะเดียวกันท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวขอบคุณเขาในลักษณะหนึ่งพร้อมกับกล่าวว่า ถ้าหากท่านมีจุดประสงค์ที่จะกระทำดีกับฉันด้วยสื่อของจดหมายฉบับนี้แล้วละก็ ขอให้ท่านได้รับรางวัลความดีงามทั้งโลกนี้และโลกหน้า[8]

1.7 ขณะที่อยู่ในกัรบะลาอฺ เมื่อชิมซ์ได้ก้าวออกมาด้านหน้าและส่งเสียงเรียกท่านอับบาส และอับดุลลอฮฺบุตรของญะอฺฟัร (ลูกผู้น้องของท่านอิมาม) ออกมาพร้อมหยิบยื่นความปลอดภัยแก่พวกเขา (และเชิญพวกเขาเข้าร่วมกองทัพฝ่ายศัตรู

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า จงตอบสลามเขาไปแม้ว่าพวกเขาจะผู้ฝ่าฝืนก็ตาม ทว่าพวกเขาเป็นญาติกับพวกเจ้า[9] หมายถึงท่านได้แสดงมารยาทอันดีงามต่อหน้าศัตรู

1.8 เมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้ส่งเรียกน้องชายของท่าน (อับบาส) ท่านกล่าวว่า โอ้ อับบาสน้องรักของพี่ ชีวิตของพี่ขอพลีเพื่อเจ้า ขึ้นมาเถิด[10]

2. ความยุติธรรม

ท่านอิมาม (อ.) ได้แสดงความยุติธรรมต่อหน้ามิตรสหายและศัตรู และท่านพยายามรักษาความยุติธรรมนั้นไว้อย่างดีงาม ซึ่งจะขอกล่าวสักสองสามประการ

2.1 เมื่อมิกดารียฺ ฮุลละฮฺ ผู้ปกครองเมืองเยเมนได้ส่งทรัพย์สินไปให้ยะซีด ระหว่างทางท่านอิมาม (อ.) ได้ยึดทรัพย์สินเหล่านั้นมอบให้แก่กองคลังของอิสลาม และท่านได้กล่าวแก่เจ้าของอูฐว่า  ข้าจะไม่บังคับผู้ใด หากใครปรารถนาร่วมเดินทางไปอิรักพร้อมกับพวกเรา ข้าจะจ่ายค่าจ้างและจะให้เกียรติเขาอย่างดี แต่ถ้าผู้ใดไม่ปรารถนาก็สามารถแยกกับเราได้ ณ ที่นี้ และที่เดินทางมาจนถึงที่นี้ข้ายินดีจ่ายค่าแรงเพื่อเป็นการตอบแทนให้[11]

ซึ่งเจ้าของอูฐบางคนได้เดินกลับไปและบางคนได้ร่วมเดินทางไปพรัอมกับท่านอิมาม (อ.)

2.2 ขณะเดินทางท่านอิมาม (อ.) ได้เอาใจใส่ดูแลบุคคลที่อ่อนแอ ดังจะเห็นว่าขณะเดินทางออกจากมะดีนะฮฺ ท่านได้ส่งบรรดาเด็กๆ และสตรีขึ้นหลังพาหนะก่อน[12]

3. ความรักและความผูกพันที่มีต่อสหายและอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.)

ท่านอิมาม (อ.) รักและสงสารสหายและศัตรูของท่าน ซึ่งท่านได้แสดงความรักและความสงสารพวกเขาไว้ในหลายประเด็นด้วยกันดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

3.1 ท่านอิมาม (อ.) ได้เขียนจดหมายถึงมุสลิมบุตรของอะกีล (บุตรของอา) โดยเขียนว่า โอ้ น้องชายที่รัก ซึ่งท่านได้กล่าวถึงเกียรติยศของมุสลิมดังนี้ว่า เจ้าเป็นบุตรของอาของข้า เจ้าเป็นผู้ซื่อสัตย์ และรักในคำมั่นสัญญา[13]

3.2 โฮร ในฐานะแม่ทัพฝ่ายศัตรูเป็นบุคคลแรกที่กลับใจเข้าร่วมกับกองคาราวานของท่านอิมาม (อ.) เมื่อเขาได้กล่าวลุแก่โทษ และคำลุแก่โทษของเขาได้ถูกตอบรับ ขณะที่เขาจะชะฮีดท่านอิมาม (อ.) ได้เอาศีรษะของโฮรมาวางไว้บนตักของท่าน และใช่ฝ่ามือของท่านปราดเช็ดเลือดที่เปื้อนเกรอะกังบนใบหน้าของโฮร ท่านอิมามได้ร้องไห้หลั่งน้ำตาออกมาและเอามือลูบไร้ไปบนใบหน้าของโฮร[14]

3.3 เมื่อมีผู้ส่งข่าวการเป็นชะฮีดของเกสบุตรของ มุสะฮัร ซัยดาวียฺ ผู้ที่สาส์นของท่านอิมาม (อ.) ไปยังกูฟะฮฺ ให้ท่านอิมามได้รับทราบ ท่านอิมาม (อ.) ได้ร้องไห้เสียใจและดุอาอฺให้เขา[15]

3.4 เมื่อท่านอิมาม (อ.) สนทนากับกอซิมบุตรชายของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ท่านได้กล่าวอย่างมีเมตาสงสารต่อเขาอย่างมากว่า โอ้ บุตรชายของฉันความตายในทัศนะของเจ้าเป็นอย่างไรหรือ

กอซิมตอบว่า ความตายสำหรับฉันหวานชื่นยิ่งกว่าน้ำผึ้งเสียอีก

หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า อาของเจ้าพลีทุกอย่างเพื่อเจ้า[16]

3.5 การร่ำไห้เคียงข้างบ่าวชาวเติกร์

อัสลัม บุตรของอัรมร์ บ่าวชาวเติกร์คนหนึ่ง เขาเป็นนักกอรีอัล-กุรอาน และมีความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมภาษาอาหรับ ขณะที่เขากำลังจะชะฮีดท่านอิมาม (อ.) ได้นั่งอยู่เหนือศีรษะของเขา ท่านร่ำไห้และเอาใบหน้าของท่านคลุกเคล้ากับใบหน้าของเขา ขณะนั้นทาสชาวเติกร์ได้ลืมตาขึ้นเมื่อเห็นท่านอิมามนั่งอยู่เหนือศีรษะของเขา เขาได้ยิ้มอย่างชื่นหมื่นและแล้วดวงวิญญาณของเขาได้ล่องลอยไปสู่พระเจ้า[17]

فجاؤه الحسين فبكى و وضع خده على خده وفتح عينه و راه فتبسم ثم صار الى ربّه

3.6 บางครั้งท่านอิมาม (อ.) ได้สวมใส่อาภรณ์แห่งชะฮาดัตให้กับเหล่าสหายด้วยมือของท่าน[18]

3.7 อิมาม (อ.) อยู่เคียงข้างทาสผิวดำ

ทาสผิวดำคนหนึ่งของท่านอบูซัรได้ร่วมขบวนไปพร้อมกับกองคาราวานของท่านอิมาม (อ.) โดยมุ่งหน้าไปยังกัรบะลาอฺ ท่านอิมามได้มอบความเป็นอิสระแก่เขาและกล่าวว่า ถ้าหากเจ้าต้องการกลับก็สามารถเดินทางกลับได้ ทว่าเขาปฏิเสธที่จะเดินทางกลับและได้ตอบว่า ฉันขอสาบานด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺว่า ฉันจะไม่ขอแยกไปจากท่านเด็ดขาดจนกว่าเลือดของคนดำคนนี้จะได้ผสมกับเลือดของท่าน

ขณะที่เขากำลังจะชะฮีดท่านอิมาม (อ.) ได้ไปอยู่เคียงข้างเหนือศีรษะของเขา และอ่านดุอาอฺแก่เขาว่า

اللَّهمّ بيض وجهه وطيب ريحه واحشره مع الابرار وعرف بينه وبين محمد وآل محمد

โอ้ อัลลอฮฺ โปรดทำให้ใบหน้าของเขาขาวนวล และทำให้กลิ่นกลายของเขาหอมกรุ่นและโปรดนำเขาไปรวมกับบรรดาผู้กระทำดีทั้งหลาย และในวันกิยามะฮฺโปรดให้เขาได้รู้จัก (อยู่รวม) กับมุฮัมมัดและลูกหลานของท่านด้วยเถิด[19]

3.8 ท่านอิมาม (อ.) รักและสงสารเหล่าบรรดาสหายของท่านอย่างยิ่ง ดังนั้น ขณะที่บางคนปรารถนาออกไปสู้การสู้รบท่านอิมาม (อ.) ได้ดุอาอฺให้เขา[20]

3.9 หลังจากชะฮาดัตอะลีอักบัร ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า โลกได้หายนะแล้วหลังการเป็นชะฮีดของเจ้า[21]

3.10 ขณะที่ท่านอบุลฟัฏลฺกำลังจะชะฮีด ท่านอิมาม (อ.) ได้ร่ำไห้อย่างหนัก[22] และได้นำศีรษะของเขาวางไว้บนตักของท่าน ท่านได้ใช้มือปราดเช็ดเลือดที่เปื้อนอยู่บนใบหน้าของท่าน และนำร่างของเขากลับไปยังค่ายที่พัก[23]

หมายเหตุ การร้องไห้รำลึกถึงบรรดาชุฮะดาแห่งกัรบะลาอฺ เป็นสื่อที่แสดงให้เห็นถึงความรักและความผูกพันที่มีต่อบรรดาท่านเหล่านั้น เท่ากับเป็นการปลดปล่อยและระบายความโศกเศร้าให้ลดน้อยลงไป ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่ามิใช่อิมาม (อ.) เท่านั้นที่มองว่าการร้องไห้มิได้บ่งบอกถึงความอ่อนแอของบุคคล ทว่าตัวของท่านเองก็ร่ำไห้แสดงความเสียใจด้วยเช่นกัน

3.11 ท่านอิมาม (อ.) เท่าที่เป็นไปได้ท่านจะลงโทษบุคคลที่สังหารเหล่าสหายของท่าน ดังที่ท่านได้เข้าไปโจมตีบุคคลที่สังหารกอซิม และอับดุลลอฮฺ บุตรชายของท่านอิมามฮะซัน (อ.)[24]

4. ความซื่อตรงต่อสหาย (มิได้ปิดบังภารกิจอันใด)

ท่านอิมาม (อ.) มิเคยปิดบังการกระทำอันใดแก่สหายของท่านแม้แต่นิดเดียว ท่านจะพูดความจริงและตรงไปตรงมาโดยตลอด

สำหรับตัวอย่างในประเด็นนี้ จะเห็นว่าในค่ำวันอาชูรอท่านอิมามได้เจ้งข่าวการเป็นชะฮีดของเหล่าสหายทุกคนในวันอาชูรอ เพื่อประกาศให้พวกเขาได้รู้ตัวและจะได้ตัดสินใจอย่างอิสระชนว่าจะอยู่หรือไปจากท่านอิมาม[25]

ในประเด็นดังกล่าวนี้ได้อธิบายไปแล้วตอนบทเรียนสำหรับกองทัพ ซึ่งท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวถึงกองหทารอย่างตรงไปตรงมาแก่เหล่าสหาย

5. การให้ความสำคัญต่อนมาซ

โปรดกลับไปศึกษาในบทของบทเรียนเกี่ยวกับการแสดงความเคารพภักดี

6. การรับใช้คนอนาถาและเด็กกำพร้า

หลังจากท่านอิมาม (อ.) ได้ชะฮีดแล้วมีผู้พบว่า บนหลังของท่านมีร่องรอยของการแบกหามของหนัก เขาจึงถามท่านอิมามซัจญาด (อ.) ว่าร่องรอยเหล่านั้นคืออะไร ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า เป็นร่องรอยของการแบกหาม เนืองจากท่านอิมาม (อ.) ได้ขนเสบียงอาหารไปแจกจ่ายให้คนยากจนและเด็กกำพร้า[26]

ประเด็นสำคัญที่สมควรพิจารณาคือ ท่านอิมาม (อ.) พยายามแจกจ่ายอาหารแก่เด็กกำพร้าด้วยมือของท่านเอง ทั้งที่ท่านสามารถใช้ว่ายวานคนอื่นก็ได้

7. ความรักต่อการเจริญพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน

ในตอนบ่ายของวันตาซูอาต (วันที่ 9 มุฮัรรอม) เมื่อกองทัพศัตรูตัดสินใจว่าจะเข้าโจมตีกองคาราวานของท่านอิมาม (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวกับอับบาสว่า ถ้าเจ้าสามารถทำให้การสู้รบล่าช้าออกไปได้จะเป็นการดีไม่น้อย เพื่อว่าในค่ำคืนนี้พวกเราจะได้นมาซ เจริญพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน อ่านดุอาอฺ และกล่าวลุแก่โทษต่อพระเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงทราบดีว่าข้ารักนมาซ การอ่านอัล-กุรอาน การวิงวอนมากมาย และรักที่จะขอลุแก่โทษต่อพระองค์[27]

8. ความเป็นอิสระชน

โปรดย้อนไปศึกษาในหัวข้อความเป็นอิสระชน

9. ความละอาย (การปกป้องเหล่าสตรี)

โปรดย้อนไปศึกษาในหัวข้อความเป็นอิสระชน

10. การถวิลหาการเป็นชะฮีด

ประเด็นดังกล่าวนี้โปรดศึกษาหัวข้อการเอารัดเอาเปรียบ และการกดขี่ ตลอดจนการไม่ยอมรับความตกต่ำ (บทเรียนด้านการเมือง) ความเสียสละ และการยืนหยัดของท่านอิมาม (อ.) รวมไปถึงความกล้าหาญของท่าน

11. การให้คำชี้นำแก่ประชาชนในทุกสภานการ

11.1 ท่านอิมาม (อ.) จะกล่าวอ้างถึงฮะดีซอยู่ตลอดเวลา และจะทำการชี้นำประชาชนเสมอแม้ในช่วงที่กำลังสู้รบอยู่นั้น ท่านก็จะอ้างฮะดีซของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)[28] 

11.2 ขณะที่กองคาราวานของท่านอิมาม (อ.) ได้มาหยุดอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่งนามว่า ซะอฺละบะ มีชายคนหนึ่งได้มาถามความหมายของโองการที่ว่า

يَوْمَ نَدْعُو كُلَّ أُنَاسٍ بِإِمَامِهِمْ[29]

ซึ่งท่านอิมาม (อ.) ได้อธิบายแก่เขาโดยละเอียด ขณะเดียวกันเมื่อฟัรซะดุก ได้ถามท่านเกี่ยวกับบทบัญญัติของฮัจญฺ และการนะซัร ท่านก็ได้อธิบายแก่เขาด้วยความขันติอย่างยิ่ง[30]

นี่คือความประพฤติที่แท้จริงของท่านอิมาม (อ.) ซึ่งได้สอนเราว่าไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม เรามีหน้าที่สอนสั่งความรู้แก่บุคคลอื่นที่ถวิลหาความรู้ หรือบุคคลที่ไม่มีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ หรือบุคคลที่หลงลืมที่จะศึกษา

11.3 ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวสุนทรพจน์อย่างเผ็ดร้อนเพื่อชี้นำเหล่าสหายและทหารของศัตรู ซึ่งส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์กล่าวว่า ข้าได้เดินทางมาที่นี่ตามคำเชิญของจดหมายที่พวกเจ้าส่งไปเชิญข้า ดังนั้น ถ้าพวกเจ้ายังยึดมั่นคำพูดและพันธะสัญญาที่เจ้าให้ไว้แก่ข้าละก็ ข้าจะเข้าไปในเมืองของพวกเจ้า แต่ถ้าพวกเจ้าลำบากใจข้าก็จะกลับไปยังเมืองที่ข้าอำลาจากมา[31]



[1] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 312, เมาซูอะฮฺ หน้า 288
[2]  เมาซูอะฮฺ หน้า 296
[3] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 500, 503
[4] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 336
[5] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 491
[6] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 332
[7]  อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 355
[8] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 332
[9] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 390
[10]  อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 391
[11] ตารีคฏ็อบรียฺ เล่ม 3 หน้า 296 อัลเอรชาด หน้า 219 มักตัลคอรัซมียฺ เล่ม 1 หน้า 230 อัลกามิลฟิลตารีค เล่ม 2 หน้า 547 ลุฮูฟ หน้า 30 บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 367 อะอฺยานุชชีอะฮฺ เล่ม 1 หน้า 594 โดยเล่ามาจากเมาซูอะฮฺ หน้า 335
[12] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 313
[13] เมาซูอะฮฺ หน้า 312
[14] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า440
[15]  อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 378
[16]  อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 402
[17]  อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 457 อ้างอิงมาจากแหล่งอ้างอิงหลากหลาย
[18] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 476
[19] เมาซูอะฮฺ หน้า 451
[20] อ้างแล้ว หน้า450
[21] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 463
[22] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 472
[23] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 474

 
[24] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 465
[25] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 289
[26] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 190
[27]  เมาซูอะฮฺ หน้า 392 อ้างอิงมาจากแหล่างอ้างอิงหลากหลาย
[28] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 297
[29] อัล-กุรอาน บทอัลอิสรอ โองการที่ 71
[30] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 313
[31] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 355,357