อัลกุรอานกับการนำทาง

มนุษย์ชาติทั้งหมดต่างได้รับทางนำจากอัล-กุรอาน

เนื่องจากอัล-กุรอานถูกประทานลงมาเพื่อนำทางมนุษยชาติ มนุษย์ทุกคนที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้สามารถจะได้รับแสงสว่างจากทางนำแห่งอัล-กุรอาน   สำหรับการเข้าใจในสารธรรมแห่งคัมภีร์ไม่จำเป็นต้องใช้วัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่เฉพาะแต่อย่างใด

สรุปแล้วก็คือ การเป็นชนชาวอาหรับหรือไม่ใช่ชนชาวอาหรับ   มิได้เป็นเงื่อนไขในการเข้าใจในสารธรรมแห่งอัล-กุรอานแต่อย่างใด

تَبَارَكَ الَّذِي نَزَّلَ الْفُرْقَانَ عَلَى عَبْدِهِ لِيَكُونَ لِلْعَالَمِينَ نَذِيرًا

“ความจำเริญยิ่งแด่พระองค์ ผู้ทรงประทานสิ่งจำแนกความจริงและความเท็จ (อัล-กุรอาน) แก่บ่าวของพระองค์(มุฮัมมัด) เพื่อเขาจะได้เป็นผู้ตักเตือนแก่ชาวโลกทั้งมวล” (อัล-ฟุรกอน โองการที่ 1)

ใช่แล้ว  ! บ้างก็สามารถเข้าถึงสารธรรมแห่งคัมภีร์ได้ง่ายและบ้างก็สามารถเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก 

وَلَقَدْ يَسَّرْنَا الْقُرْآنَ لِلذِّكْرِ فَهَلْ مِنْ مُدَّكِرٍ

 “และโดยแน่นอน เราได้ทำให้อัลกุรอานนี้เป็นที่เข้าใจง่ายแก่การรำลึก แล้วมีผู้ใดบ้างที่รับข้อตักเตือนนั้น” (ซูเราะฮฺ อัลกอมัร โองการที่ 17)

ภาษาของอัล-กุรอานคือภาษาสากล

 หากคัมภีร์เล่มหนึ่งต้องการที่จะนำทางชาวโลกทั้งมวล จำเป็นอย่างยิ่งที่คัมภีร์เล่มนั้นต้องใช้ภาษาสากลที่ชาวโลกทั้งหมดสามารถเข้าใจได้ โดยที่จะต้องไม่มีผู้ใดสามารถที่จะหาข้อแก้ตัวได้ว่า   ไม่สามารถเข้าใจในภาษาหรือไม่เข้าใจในวัฒนธรรมแห่งคัมภีร์นั้นได้  ภาษาเดียวเท่านั้นที่ชาวโลกทั้งหมดใช้กันอย่างถ้วนหน้า นั่นก็คือ “ภาษาแห่งธรรมชาติดั้งเดิม” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมกันในมนุษยชาติทั้งหมด โดยที่แต่ละคนต่างรู้จักและได้สัมผัสกับภาษานี้กันเป็นอย่างดี และไม่มีผู้ใดสามารถหาข้อแก้ตัวได้ว่าเขาไม่คุ้นเคยและไม่รู้จักกับภาษานี้ ซึ่งมันคือธรรมชาติดั้งเดิมที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง

فَأَقِمْ وَجْهَكَ لِلدِّينِ حَنِيفًا فِطْرَةَ اللَّهِ الَّتِي فَطَرَ النَّاسَ عَلَيْهَا لا تَبْدِيلَ لِخَلْقِ اللَّهِ ذَلِكَ الدِّينُ الْقَيِّمُ

“ดังนั้น เจ้าจงผินหน้าของเจ้าสู่ศาสนาที่เที่ยงแท้ (โดยเป็น) ธรรมชาติดั้งเดิมของอัลลฮฺ ซึ่งพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาให้อยู่บนนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการสร้างของอัลลฮฺ นั่นคือศาสนาอันเที่ยงตรง...” (ซูเราะฮฺ อัรรูม โองการที่ 30)

 สัญลักษณ์ของการมีวัฒนธรรมร่วมกันต่ออัลกุรอานสามารถรับรู้ได้จากการที่ท่าน ซัลมาน ฟาระซี (ชาวเปอร์เซีย), ท่านศุฮัยบ์ รูมี(ชาวโรม) , ท่านบิลาล ฮะบะชี(ชาวเอธิโอเปีย) ,ท่านอุวัยซ์ กอรอนีและท่านอัมมาร อะรอบี (ชาวอาหรับ) มีศรัทธาต่อท่านศาสดามุฮัมมัด บิน อับดุลลอฮฺ (ซ็อล ฯ) ผู้ที่ป่าวประกาศคำขวัญว่า “ ฉันถูกแต่งตั้งมาสู่ชนผิวดำ , ชนผิวขาวและชนผิวแดง” (บิฮารุลอันวาร เล่ม 38 หน้าที่ 221) เนื่องจากแก่นแท้ของวะฮ์ยูนั้นคือความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่ง ณ. ตรงนั้นความหลากหลายทั้งหมดคือสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวสำหรับพระองค์ ภาษาที่หลากหลาย , เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ และอื่น ๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่มีความหลากหลายทางภายนอกเท่านั้น  แต่สำหรับธรรมชาติดั้งเดิมแล้วทั้งหมดคือสิ่งที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว

ผู้ที่ยึดติดอยู่กับสีผิว, เชื้อชาติ , สำเนียง , ภาษาและอื่น ๆ   พวกเขาคือผู้ที่หลงลืมตัวตนที่แท้จริง เปรียบดังที่ พืชผักและสัตว์ทั้งหลายมีความแตกต่างกันเพียงแค่สีและคุณลักษณะต่าง ๆ เท่านั้น หาได้มีความแตกต่างกันในความเป็นสิ่งมีชีวิตไม่    เฉพาะบ่าวที่แท้จริงของพระองค์เท่านั้นที่ยอมจำนนในธรรมชาติดั้งเดิมแห่งวะฮ์ยูแล้วเดินตามทางนั้นอย่างมุ่งมั่นเพื่อให้ไปถึงยังเป้าหมาย ถึงจะมีความแตกต่างกันในความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง เพราะ “ คุณค่าของทุก ๆ สิ่งอยู่ที่ความดีของมัน” (บิฮารุลอันวาร เล่ม 1 หน้า 165) และผู้ที่ให้คุณค่าแก่มนุษย์นั้นก็คือพระผู้สร้างที่หยั่งรู้ถึงความเร้นลับทั้งมวล

أَلا يَعْلَمُ مَنْ خَلَقَ وَهُوَ اللَّطِيفُ الْخَبِيرُ

 “พระผู้ทรงสร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือ ? พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนผู้ทรงตระหนักยิ่ง” (ซูเราะฮฺ อัลมุลก์ โองการที่ 14)

 และได้ตรัสไว้เกี่ยวกับการตรวจสอบมวลบ่าวที่ภักดิ์ดีต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า

وَمِنَ الْجِبَالِ جُدَدٌ بِيضٌ وَحُمْرٌ مُخْتَلِفٌ أَلْوَانُهَا وَغَرَابِيبُ سُودٌ (٢٧)وَمِنَ النَّاسِ وَالدَّوَابِّ وَالأنْعَامِ مُخْتَلِفٌ أَلْوَانُهُ كَذَلِكَ إِنَّمَا يَخْشَى اللَّهَ مِنْ عِبَادِهِ الْعُلَمَاءُ إِنَّ اللَّهَ عَزِيزٌ غَفُورٌ

“และในหมู่ภูเขาทั้งหลายมีชนิดต่าง ๆ ขาวและแดง หลากหลายสี และสีดำสนิท และในหมู่มนุษย์ และสัตว์ และปศุสัตว์ ก็มีหลากหลายสีเช่นเดียวกัน แท้จริง บรรดาผู้ที่มีความรู้จากปวงบ่าวของพระองค์เท่านั้นที่เกรงกลัวอัลลฮฺ แท้จริงอัลลฮฺ นั้นเป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงอภัยเสมอ” (ซูเราะฮฺ ฟาฏิร โองการที่ 27-28)

 ความเกรงกลัวต่ออัลลฮฺจากบรรดาผู้ที่มีความรู้ ก็ได้รับมาจากธรรมชาติดั้งเดิมนั่นเอง จึงทำให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของสรรพสิ่ง