อับดุลกอดีร อัล ญีลานี และมูซา อัลกาซิม (2985)

หลังจากได้รับประทานอาหารเช้าแล้วเราได้ไปยังบาบุสเชค และยังได้เห็นสถานที่ซึ่งข้าพเจ้าต้องการจะไปเยี่ยมเยียนมานานแล้ว ข้าพเจ้าได้วิ่งเข้าไปยังที่นั่นเหมือนกับคนที่กระหายจะไปดูท่าน และต้องการจะไปอยู่บนตักของท่าน

ข้าพเจ้าเข้าไปปะปนกับหมู่ชนที่มาเยี่ยมเยียนจำนวนมาก ซึ่งรวมตัวกันรอบ ๆ ที่่นั่นเหมือนกับผู้ไปแสวงบุญยังบัยตุลลอฮฺ ผู้มาเยี่ยมเยียนบางคนได้โยนลูกกวาดลงไป ข้าพเจ้าได้เก็บขึ้นมา ๒ เม็ด โดยได้กินเม็ดหนึ่งเพื่อเป็นสิริมงคล อีกเม็ดหนึ่งเก็บไว้ในกระเป๋าเป็นที่ระลึก ข้าพเจ้าได้นมาซที่นั่น และขอพรรวมทั้งได้ดื่มน้ำดุจดังได้ดื่มน้ำซัมซัม

ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้เพื่อนของข้าพเจ้ารอคอยจนกระทั่งข้าพเจ้าเขียนจดหมายลงบนโปสการ์ดเสร็จ เพื่อส่งไปให้เพื่อนยังประเทศตูนิเซีย เพื่อแสดงให้เขาเห็นสถานที่ซึ่ง เชคอับดุล กอดีร เคยอยู่ ภายใต้โดมสีเขียว ข้าพเจ้าต้องการพิสูจน์ให้ญาติ และเพื่อนของข้าพเจ้าในตูนิเซียได้รู้สภาพอันสูงส่งของข้าพเจ้าที่ได้มาถึงที่นี่ ซึ่งพวกเขาไม่สามารถจะมาถึงได้

เราได้รับประทานอาหารกลางวัน ณ ใจกลางเมืองหลวง แล้วเพื่อนของข้าพเจ้าก็พาข้าพเจ้าไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า อัลกาซิมียะฮ์ ข้าพเจ้าพึ่งรู้ชื่อนี้ เมื่อเพื่อนของข้าพเจ้าบอกกับคนขับแท็กซี่ให้พาไปที่นั่น เมื่อไปถึง อัลกาซิมียะฮ์แล้ว เราก็เข้าร่วมอยู่กับฝูงชนเป็นจำนวนมาก ทั้งเด็กผู้ใหญ่ ผู้ชายและผู้หญิงเดินมุ่งสุ่ทิศทางเดียวกันทั้งสิ้น ทุกคนถือสิ่งของติดมือไปด้วย ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเวลาไปบำเพ็ญหัจญ์ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าพวกเขาจะไปไหนกัน จนกระทั่งข้าพเจ้าเห็นแสงไฟสว่างมาจากโดม และมีนาร (หออะซานเพื่อเรียกคนมานมาซ) สีทอง ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่านั่นคือ มัสญิดชาวชีอะ์ฮ เพราะข้าพเจ้ารู้มาแต่ก่อนว่า พวกเขาได้ตกแต่งมัสญิดของเขาด้วยทองและเงิน ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามของศาสนาอิสลาม ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจนัก เมื่อเข้าไปในมัสญิดนั้น แต่ข้าพเจ้าต้องเคารพต่อความรู้สึกของเพื่อนของข้าพเจ้า และตามเขาไปเพราะไม่มีทางเลือก

เมื่อเราเข้าไปยังประตูแรก ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่ามีคนแก่บางคนจับประตูนั้นและจูบ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงหันไปเอาใจใส่กับแผ่นป้ายเสีย แผ่นป้ายนั้นเขียนมีใจความว่า “สตรีที่มิได้ปกปิดร่างกายอย่างมิดชิ ห้ามเข้า” พร้อมทั้งมีคำกล่าวของท่านอิมามอะลีว่า “วันหนึ่งจะมาถึง ซึ่งเราจะเห็นสตรีทั้งหลายสวมใส่เสื้อผ้าที่บางมาก แม้กระทั่งเปลือยร่างกายก็มี...”

เมื่อเราไปถึงที่ฝังศพ เพื่อนของข้าพเจ้าได้กล่าวคำขออนุญาตเข้าไปยังที่นั่น ส่วนข้าพเจ้าเอาใจใส่อยู่กับการมองดูประตู และประหลาดใจกับตัวอักษรอัล-กุรอานสีทองประกอบอยู่บนประตูนั้น เพื่อนของข้าพเจ้าเข้าไปก่อน ข้าพเจ้าจึงเดินตามไป หัวใจของข้าพเจ้านั้นเต็มไปด้วยความคิดเกี่ยวกับนิยายปรัมปราที่เคยอ่านมาในอดีตซึ่งประณามฝ่ายชีอะฮฺ

ภายในบริเวณหลุมฝังศพ ข้าพเจ้าได้เห็นสิ่งแกะสลักและการตกแต่ง ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจมาก และมีความรู้สึกดุจดังว่าข้าพเจ้าอยู่ในโลกซึ่งไม่เคยรู้จัก และไม่คุ้นเคยมาก่อน บางครั้งบางคราว ข้าพเจ้ามองดูอย่างขยะแขยง เมื่อประชาชนเดินวนเวียนรอบหลุมฝังศพนั้น บางคนร้องไห้และจูบรั้วเหล็ก ประตู และมุมประตู ขณะที่คนอื่น ๆ นมาซอยู่ใกล้ ๆ หลุมฝังศพนั้น

รายงานบางวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ที่ว่า “อัลทรงสาปแช่งยิว และคริสต์ ที่ทำให้สถานที่ฝังศพของบรรดาวะลีย์เป็นที่นมาซ” เกิดขึ้นในหัวใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงเดินหนีเพื่อนของข้าพเจ้าไป ขณะที่เพื่อนของข้าพเจ้าเข้าไปแล้วเขาเริ่มทำนมาซ และร้องไห้ ข้าพเจ้าได้อ่านป้าย ซึ่งเขียนขึ้นให้ผู้ไปเยี่ยมเยียนอ่าน แต่ข้าพเจ้าไม่รู้จักมาก่อน ข้าพเจ้าได้ไปยังมุมหนึ่ง ซึ่งมีบทแรกของอัล-กุรอานปรากฏอยู่ พร้อมด้วยคำอ้อนวอนให้อัล (ซบ.) มีความเมตตาต่อผู้ที่อยู่ในสถานที่ฝังศพ มีใจความว่า “โอ้ อัลลอฮฺ หากว่าผู้ตายนี้เป็นมุสลิม ขอพระองค์ได้โปรดเมตตาเขา เพราะพระองค์ทรงรู้จักเขาดีกว่าข้าพเจ้า”

เพื่อนของข้าพเจ้าเข้ามาใกล้ข้าพเจ้า พลางกระซิบว่า “หากคุณต้องการสิ่งใดแล้ว คุณควรขอจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ณ ที่นี้ เพราะเราเรียกที่นี้ว่า ประตูแห่งความปรารถนา” ข้าพเจ้ามิได้เอาใจใส่ต่อคำพูดของเขานัก ขอให้พระเจ้าจงยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้ากำลังมองไปยังชายแก่หลายคนที่มีผ้าโพกศีรษะสีขาวและดำ มีร่องรอยแห่งการสักการบูชาอัลลอฮฺ ที่หน้าผาก มีเครายาว ซึ่งมีกลิ่นหอมทำให้ดูสง่างามและน่าเกรงขาม

ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่า เมื่อคนหนึ่งเข้าไปยังสถานที่ฝังศพแล้ว เขาจะเริ่มร้องไห้ทันที ข้าพเจ้าจึงถามตนเองว่า “เป็นไปได้ไหมว่า น้ำตาเหล่านั้นไม่ใช่น้ำตาที่แท้จริง เป็นไปได้ไหมว่า บุคคลเหล่านั้นไม่ใช่ผู้เสียใจที่แท้จริง”

ข้าพเจ้าออกมาจากที่นั่น ด้วยความประหลาดใจในสิ่งที่ได้พบเห็น ขณะเดียวกันเพื่อนของข้าพเจ้าก็เดินถอยหลังออกมาอันเป็นเครื่องหมายแห่งการแสดงความเคารพ เขาจะไม่หันหลังให้หลุมฝังศพเลย

ข้าพเจ้าถามเขาว่า “นั่นเป็นสถานที่ฝังศพของใครกัน” เขาตอบว่า “อิมามมูซา อัลกาซิม” ข้าพเจ้าถามต่อไปว่า “เขาเป็นใครกัน” เขาตอบว่า “การสรรเสริญจงมีแด่อัลลอฮฺ คุณซึ่งเป็นชาวซุนนี ทิ้งเนื้อแต่เอาเปลือกไว้”

ข้าพเจ้าได้ตอบเขาอย่างโกรธเคืองว่า “คุณหมายความว่าอย่างไรที่ว่าทิ้งเนื้อ แต่เอาเปลือกไว้”นั้น

เขาปลอบใจข้าพเจ้าพลางกล่าวว่า “โอ้พี่น้องของผมตั้งแต่คุณมาอิรัก คุณไม่เคยหยุดพูดเกี่ยวกับ อับดุล กอดีร อัลญีลานี เลย ใครกันคืออับดุลกอดีร อัลญีลานี อะไรที่ทำให้คุณสนใจเขามากนั้น” ข้าพเจ้าจึงตอบเขาอย่างภาคภูมิใจว่า “เขาเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และหากว่าจะมีศาสดาหลังจากท่านศาสดามุฮัมมัดแล้ว ศาสดานั้นต้องเป็นอับดุลกอดีร อัลญีลานี อย่างแน่นอน ขออัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงพอพระทัยในตัวเขาด้วย” เขาตอบว่า “โอ้คุณสะมาวี คุณรู้ประวัติศาสตร์อิสลามหรือเปล่า” ข้าพเจ้าได้ตอบไปอย่างไม่รอช้าว่า “รู้ซิ” ความจริงแล้วสิ่งที่ข้าพเจ้ารู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อิสลามนั้นน้อยเหลือเกิน เพราะว่าครูของเราห้ามมิให้เรียน เขาอ้างว่ามันเป็นประวัติศาสตร์อันมืดทึบไม่ควรแก่การศึกษา

ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า เมื่อครูสอนฝึกพูดภาษาอาหรับของเรา ซึ่งสอนคำปราศรัยเชคชะกียะฮ์ จากหนังสือ “นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ”ซึ่งแต่งโดยท่านอิมามอะลี (อ.) ข้าพเจ้ารู้สึกงงทันที และนักศึกษาคนอื่น ๆ ก็งงเช่นเดียวกัน เมื่ออ่านหนังสือนั้น แต่ข้าพเจ้ากล้าถามคำถามต่อนี้ว่า “เหล่านี้นะเป็นคำพูดของท่านอิมามอะลีจริงหรือ” ครูตอบว่าแน่นอน ใครเล่าจะมีคำพูดที่สละสลวยคมคายยิ่งไปกว่าท่านอิมามอีกเล่า ถ้าหากไม่ใช่คำพูดของท่านแล้ว ไฉนเล่าผู้คงแก่เรียนอย่างเชคมุฮัมมัดอับดุฮ์ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาสูงสุด (มุฟตีย์) แห่งอียิปต์จึงได้เอาใจใส่กับคำแปลของมันเล่า” จากนั้นข้าพเจ้าจึงได้พูดว่า “ท่านอิมามอะลีกล่าวหาอะบูบักร์ และอุมัรว่า ทั้งสองได้แย่งชิงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺไปจากท่าน ไม่ใช่หรือ”

ครูข้าพเจ้าโกรธเคืองข้าพเจ้ามาก และได้ประณามข้าพเจ้าอย่างแรง และขู่ว่าจะไล่ข้าพเจ้าออกจากห้องเรียนโดยพูดว่า “เราสอนหลักการใช้ภาษาอาหรับไม่ใช่สอนวิชาประวัติศาสตร์ เราไม่สนใจกับเหตุการณ์ของประวัติศาสตร์อันมืดมิด และการนองเลือดระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง และเมื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงล้างบาปของพวกเราจนสะอาดจากเลือดแล้ว ก็ขอให้เราทำความสะอาดลิ้นของเรา โดยไม่ประณามกันและกันจะไม่ดีหรือ”

ข้าพเจ้ายังไม่พอใจกับการให้เหตุผลนั้น และยังขุ่นเคือง ต่อครูสอนหลักการใช้ภาษาอหรับอย่างไม่มีความหมายแก่เราอยู่อีก ข้าพเจ้าพยายามหลายครั้งหลายคราว ที่จะศึกษาประวัติศาสตร์อิสลาม แต่ข้าพเจ้าไม่มีหนังสืออ้างอิงที่เพียงพอ และไม่มีความสามารถที่จะซื้อหนังสือได้ และข้าพเจ้าก็ไม่พบผู้คงแก่เรียนของเราที่สนใจในวิชานี้ด้วย ดูเหมือนพวกเขาทั้งหลายนั้นตกลงใจที่จะลืมเรื่องเหล่านั้นโดยไม่หันไปมองมันอีกเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีผู้ใด ที่มีหนังสือประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์สักเล่มหนึ่งอยู่เลย

เมื่อเพื่อนของข้าพเจ้าถามข้าพเจ้าเกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์อิสลาม ข้าพเจ้าเพียงต้องการที่จะคัดค้านเขาเท่านั้น ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงตอบเขาไปในทางยอมรับ แต่ก็เหมือนกับตอบเขาว่า “มันเป็นประวัติศาสตร์อันมืดมนเต็มไปด้วยการจลาจล เล่ห์เหลี่ยมและความขัดแย้ง” เขาพูดต่อไปว่า “คุณทราบไหมว่า อับดุลกอดีร อัลญีลานี เกิดเมื่อไร”ข้าพเจ้าตอบว่า “ราวศตวรรษที่หกและเจ็ด”

เขาพูดว่า “กี่ศตวรรษแล้วที่ผ่านไประหว่างเขากับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ข้าพเจ้าตอบว่า “หกศตวรรษ” เขาพูดว่า “ถ้าหากว่าในหนึ่งศตวรรษที่มี ๒ ชั่วคน ก็คงมี ๑๒ ชั่วคน เป็นอย่างน้อย ระหว่างอับดุลกอดีร อัลญีลานี กับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)”

ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วย แล้วเขากล่าวว่า “นี่คือ มูซา บุตรของญะอฟัร บุตรของมุฮัมมัด บุตรของอะลี บุตรของฮุเซน บุตรของฟาฏิมะฮฺ อัซซะฮฺรอ ดังนั้น ระหว่างอิมามูซา อัลกาซิม (อ.) และบรรพบุรุษของท่านสืบต่อไปถึงท่านศาสดามุฮัมมัดมีเพียง ๔ ชั่วคนเท่านั้น ตามความเป็นจริงแล้ว ท่านเกิดในฮิจเราะฮฺที่สอง เพราะฉะนั้น ใครกันเล่าที่ใกล้กับท่านศาสดามุฮัมมัดกว่ากัน มูซาหรืออับดุลกอดีร”

โดยไม่ต้องคิด ข้าพเจ้าตอบว่า “แน่นอน มูซา ใกล้กว่า แต่ทำไม เราจึงไม่รู้จักเขา หรือได้ยินประชาชนอ้างชื่อเขาเลย”

เขาตอบว่า “นั่นแหละคือจุดที่ต้องการ และนั่นแหละคือเหตุผลที่ผมได้พูดไว้แล้ว ขอให้ผมทบทวนความเดิมว่า คุณได้ละทิ้งเนื้อและเอาเปลือกไว้ ดังนั้น อย่าได้ประณามผมเลย ผมขออภัยด้วย”

เราเดินไปคุยกันไป บางครั้งเราก็หยุด จนกระทั่งเราได้มาถึงสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งมีครูและนักศึกษากำลังอภิปรายความคิด และทฤษฎีกันอยู่ ขณะที่เรานั่งที่นั่น ข้าพเจ้าสังเกตเห็นเพื่อนของข้าพเจ้ามองหาใครคนหนึ่งอยู่ ดุจดังว่าเขาได้นัดหมายกับใครคนหนึ่งไว้ก่อน

มีชายคนหนึ่งเดินมาหาเรา และทักทายเราแล้วเริ่มพูดกับเพื่อนของข้าพเจ้า จากการสนทนาข้าพเจ้าเข้าใจว่า เขาเป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน ในไม่ช้าเพื่อนอีกคนหนึ่งก็เข้ามายังที่นั่น เพื่อนของข้าพเจ้าจึงพูดว่า “ผมมาที่นี่เพื่อแนะนำคุณให้รู้จักกับผู้รู้วิชาประวัติศาสตร์ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแบกแดด ซึ่งวิทยานิพนธ์ของเขาเกี่ยวกับอับดุล กอดีร อัลญีลานี คงจะเป็นประโยชน์ต่อคุณ หากว่า อัลลอฮฺทรงช่วย เพราะว่าผมเองไม่ใช่ผู้ชำนาญพิเศษในวิชาประวัติศาสตร์”

เราได้ดื่มน้ำส้มคั้นแช่เย็นกัน จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์นั้นมาถึง ข้าพเจ้าได้ถูกแนะนำให้รู้จักกับเขา แล้วเพื่อนของข้าพเจ้าได้ขอร้องให้เขาแสดงความคิดเห็นทางประวัติศาสตร์ย่อ ๆ เกี่ยวกับอับดุลกอดีร อัลญีลานี ให้ข้าพเจ้าฟัง หลังจากนั้นเราได้ดื่มน้ำผลไม้อีก นักประวัติศาสตร์ได้ถามถึงชื่อของข้าพเจ้า ประเทศของข้าพเจ้าและงานที่ข้าพเจ้าทำ และขอร้องให้ข้าพเจ้าพูดให้เขาฟังถึงชื่อเสียงของอับดุลกอดีร อัลญีลานี ในเมืองตูนิส

ข้าพเจ้าได้เล่าให้เขาฟังถึงเรื่องราวอันมากมายในด้านนั้น และได้บอกแก่เขาว่า ประชาชนคิดว่า อับดุลกอดีรได้แบกศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ไว้บนคอของเขาในคืน ที่ท่านศาสดามุฮัมมัดเดินทางขึ้นสู่ฟากฟ้า เนื่องจากญิบรออีลมาช้า เพราะกลัวถูกเผา ศาสดามุฮัมมัดจึงพูดกับอับดุลกอดีร อัลญีลานีว่า “เท้าของข้าพเจ้าอยู่บนคอของเจ้า และเท้าของเจ้าจะอยู่บนคอของวะลีย์ทั้งหลาย จวบกระทั่งถึงวันแห่งการตัดสิน”

นักประวัติศาสตร์นั้นหัวเราะเมื่อได้ฟังสิ่งที่ข้าพเจ้าพูด แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาหัวเราะเรื่องนั้น หรือที่ครูชาวตูนิเซียยืนอยู่ต่อหน้าเขา

หลังจากได้มีการอภิปรายสั้น ๆ เกี่ยวกับวะลีย์ทั้งหลาย และเรื่องราวเกี่ยวกับประชาชนที่เคร่งครัดทางศาสนา เขาบอกให้ข้าพเจ้าฟังว่า เขาทำวิจัยมาแล้ว ๗ ปี ในระหว่างนั้นเขาได้เดินทางไปยังเมืองลาโฮร ประเทศปากีสถาน และไปยังประเทศตุรกี อียิปต์ อังกฤษ และทุก ๆ แห่งที่ต้นฉบับการวิจัยอ้างถึงเกี่ยวกับ อับดุลกอดีร อัลญีลานี และพิจารณาหลักฐาน และถ่ายรูปหลักฐานไว้ครบ แต่ไม่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า อับดุลกอดีร อัลญีลานี เป็นผู้สืบสายสกุลมาจากท่านศาสดาแต่อย่างใดเลย สิ่งที่เขาพบก็คือคำโคลงบทหนึ่งอ้างถึงบุตรหลานของเขาคนหนึ่งกล่าวว่า “.....และบรรพบุรุษของข้าพเจ้าคือท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)” บางทีการแปลของผู้คงแก่เรียนบางคนอาจหมายถึง คำกล่าวของท่านศาสดาที่ว่า “ข้าพเจ้าเป็นบรรพบุรุษของผู้ที่เคร่งครัดศาสนาทุกคน”ก็ได้

เขายังแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบถึงผลการวิจัยทางประวัติศาสตร์ในเร็ว ๆ นี้ว่า อับดุลกอดีร อัลญีลานี มิได้มีเผ่าพันธุ์มาจากอาหรับ แต่มาจากเปอร์เซียโดยมาจากเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในประเทศอิหร่าน ชื่อว่าญีลาน และย้ายไปอยู่นครแบกแดด ที่นั่นเขาศึกษาเล่าเรียน และสอนศาสนาเป็นบางครั้งบางคราว ยามที่ศีลธรรมเสื่อมทราม เขาเป็นผู้เกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้ายิ่งนัก และประชาชนชอบเขามาก ดังนั้น เมื่อเขาเสียชีวิตลง พวกเขาจึงได้ตั้งแนวทางซูฟี กอดิรียะฮ์ขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเขา เช่นเดียวกับผู้ดำเนินตามรอยครูซูฟีอื่น ๆนักวิจัยผู้นั้นกล่าวเสริมว่า “โดยแท้จริงแล้ว ชาวอาหรับนั้นอยู่ในสภาพโศกเศร้าเกี่ยวกับสภาพการณ์เช่นนี้”

ความเดือดดาลกับพวกวะฮาบีย์ ได้เกิดขึ้นในหัวใจของข้าพเจ้า ข้้าพเจ้าจึงพูดว่า “เพราะฉะนั้นท่านดอกเตอร์ ท่านจึงได้ยึดถือลัทธิวะฮาบีย์ใช่ไหม เพราะพวกเขายึดถือว่า ไม่มีวะลีย์” เขาตอบว่า “เปล่า ผมไม่ใช่ผู้ยึดถือลัทธิวะฮาบีย์ เป็นที่น่าเสียใจที่มุสลิมทั้งหลายมักพูดเกินจริงเสมอ และมีความเห็นที่รุนแรง พวกเขานับถือทั้งเรื่องนิทาน และเรื่องนิยายปรัมปรา ซึ่งไม่มีพื้นฐานมาจากเหตุผลหรือกฎหมาย หรือมิฉะนั้นเขาก็ปฏิเสธเสียทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งอภินิหารของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และรายงานของท่าน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ตรงกับแนวความคิดของพวกเขา”

ตัวอย่างเช่น ชาวซูฟี เชื่อถือในความเป็นไปได้ของเชค อับดุลกอดีร อัลญีลานี ว่าท่านอยู่ในนครแบกแดด และอยู่ในนครตูนิสในเวลาเดียวกัน คือท่านสามารถรักษาคนไข้ในนครตูนิส และในขณะเดียวกันก็ได้ช่วยคนตกน้ำในแม่น้ำไทกรีสแห่งนครแบกแดดได้ด้วย นี้เป็นสิ่งเกินความจริง ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงปฏิกิริยาต่อความคิดของพวกซูฟี พวกวะฮาบีย์ จึงปฏิเสธเสียทุกอย่าง และกล่าวว่า แม้แต่การขอพรต่อท่านศาสดาก็เป็นการตั้งภาคีด้วย นี่นับว่ามากเกินไป แต่เราเหมือนกับที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ที่ทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอานว่า

“และเช่นนั้นแหละ เราได้สร้างเจ้าเป้นประชาชาติสายกลางเพื่อว่า เจ้าทั้งหลายจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษยชาติ” (บทที่ ๒ โองการที่ ๑๔๓)

ข้าพเจ้าชอบสิ่งที่เขาพูดเป็นอย่างมาก และขอบคุณเขา ทั้งยังแสดงความเชื่อมั่นในสิ่งที่เขานำมาหักล้าง เขาเปิดกระเป๋าเดินทางออก หยิบเอาหนังสือเล่มหนึ่งออกมาให้ข้าพเจ้าเป็นของขวัญ เป็นหนังสือเกี่ยวกับอับดุลกอดีร อัลญีลานี เขายังเชิญข้าพเจ้าให้ไปบ้านของเขาแต่ข้าพเจ้าปฏิเสธ ดังนั้น เราจึงคุยกันถึงเรื่องเมืองตูนิสและแอฟริกาเหนือจนกระทั่งเพื่อนของข้าพเจ้ากลับมา หลังจากนั้นเราจึงกลับไปยังที่พักหลังจากใช้เวลาทั้งวันเยี่ยมเยียนเพื่อน ๆ และอภิปรายกัน

ข้าพเจ้ารู้สึกเหนื่อยเมื่อยล้าเป็นที่สุด จึงได้เข้านอน มาตื่นขึ้นเอาเวลาเช้าตรู่ และเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของอับดุลกอดีร ในตอนนั้นเป็นเวลาที่เพื่อนของข้าพเจ้าตื่นขึ้นแล้ว และข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่มนั้นไปได้ครึ่งหนึ่ง เขาเรียกข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารเช้าหลายครั้ง แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธเพราะติดใจอ่านหนังสืออยู่ เมื่ออ่านหนังสือนั้นจบแล้วข้าพเจ้าจึงลงไปหาเขา ข้าพเจ้าอยู่ในสภาพความสงสัยเรื่อยมาจนกระทั่งออกจากอิรัก