อะมีรุลมุอฺมินีนตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาสดา (ซ็อล ฯ)

ตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ชีอะฮฺสิบสองอิมาม หมายถึงกลุ่มชนที่เชื่อว่าภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อำนาจการปกครองเป็นของท่านอิมามอะลี (อ.) กับอีกสิบเอ็ดอิมาม ซึ่งเป็นบุตรของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ)

ความเชื่อดังกล่าวมิได้เป็นความเชื่อที่ปราศจากเหตุผล หรือไร้แหล่งที่มา ทว่าเหตุผลของเรื่องดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนดุจดังแสงพระอาทิตย์ในตอนกลางวัน ซึ่งไม่เป็นที่สงสัยใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านญาบีรฺ บิน อับดุลลอฮฺ ศ่อฮาบะฮฺชั้นแนวหน้าของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)พูดว่า “วันหนึ่งเมื่อโองการที่กล่าวว่า เป็นวาญิบต้องปฏิบัติตามอัลลอฮฺ รอซูล และอูลิลอัมริ ได้ถูกประทานลงมา ฉันได้ถามท่านศาสดา ว่าอัลลอฮฺ และศาสดานั้นเป็นที่ชัดเจน แต่ทว่าอูลิลอัมรินั้นพวกเราไม่ทราบว่าเป็นใคร

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ أَطِيعُواْ اللّهَ وَأَطِيعُواْ الرَّسُولَ وَأُوْلِي الأَمْرِ مِنكُمْ

“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังรอซูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้า” (นิซาอ์ / ๕๙)

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)กล่าวว่า “พวกเขาคืออิมามและเป็นตัวแทนของฉัน คนแรกของพวกเขาคืออะลี บิน อบีฎอลิบ หลังจากเขาคือ ฮะซัน, ฮุซัยนฺ บุตรของอะลี, อะลี บุตรของฮุซัยนฺบุตรของอะลี,ซึ่งในคัมภีร์เตารอตเรียกเขาว่า บากิรฺ ซึ่งเจ้าโอ้ญาบีรฺ เจ้าจะมีชีวิตอยู่จนถึงยุคของเขา และจงบอกเขาด้วยว่าฉันได้ฝากสลามมายังเขา คนต่อไปคือ ญะอฺฟัรฺ บุตรของมุฮัมมัด อัซซอดิก, มูซา บุตรของญะอฺฟัรฺ, อะลี บุตรของมูซา, มุฮัมมัด บุตรของอะลี, อะลี บุตรของมุฮัมมัด, ฮะซัน บุตรของอะลี, และบุตรของฮะซันเป็นอิมามสุดท้าย ซึ่งชื่อ และฉายานามของเขาตรงกับฉัน[1]

ผู้นำคนแรก

ไม่มีสังคมใดบนโลกนี้สามารถอยู่โดยปราศจากผู้นำได้อย่างเด็ดขาดไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม คุณลักษณะของผู้นำสังคมที่ดีประการหนึ่งคือต้องเป็นห่วงเป็นใยสังคมคิดที่จะพัฒนาและทำให้สังคมพบกับความก้าวหน้าและดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ขณะเดียวกันเขาก็ต้องคิดหาหนทางป้องกันไม่ให้สังคมพบกับความพินาศ อำนาจ ภาระหน้าที่รับผิดชอบ ความรู้ การคาดเดาเหตุการณ์ ถือว่าเป็นอีกประการหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้นำ เพราะนอกจากการทำหน้าที่บริหารที่ดีแล้วเขายังต้องรู้จักการวางแผนการณ์สำหรับอนาคตของสังคม เพื่อทำให้สังคมนั้นมีความเจริญก้าวหน้า มีการพัฒนาทั้งทางโลกและทางธรรม

ด้วยกับมูลฐานสำคัญดังกล่าวนั้นจะพบว่า ผู้นำที่มีจิตวิญญาณแม้แต่การเดินทางช่วงสั้นๆ เขาก็จะมอบหมายหน้าที่การบริหารสังคมให้กับตัวแทนเป็นผู้ดูแลช่วงที่เขาไม่อยู่ และสิ่งนี้ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำโดยทั่วไป ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้จัดการโรงเรียน หรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งก่อนเดินทางไปที่อื่นเขาจะสั่งเสียให้ตัวแทนคอยดูแลกิจการแทนเขาอันเป็นการบ่งบอกถึงความรับผิดชอบอย่างสูงในหน้าที่นั้น

ศาสดาเป็นผู้ห่วงใยสังคมมาตลอด

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ถือว่าเป็นผู้นำแห่งโลกอิสลาม ท่านได้ถือปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกัน ในทุกๆที่ แม้ว่าอิสลามจะเพิ่งเข้าไปก็ตามท่านศาสดาจะมีการวางแผนในการจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง

ทุกๆ ครั้งที่ท่านศาสดาได้จัดตั้งทัพเพื่อออกสงครามท่านจะทำการแต่งตั้งแม่ทัพ และในบางครั้งท่านจะแต่งตั้งแม่ทัพสำรองถึงสองสามคนด้วยกัน เพื่อว่าแม่ทัพคนหนึ่งตายอีกคนจะได้ขึ้นมาแทนที่มิเช่นนั้นแล้วกองทัพจะปราศจากแม่ทัพ

ขณะที่อยู่ที่มะดีนะฮฺหากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องการเดินทาง ท่านจะทำการแต่งตั้งตัวแทนเอาไว้เพื่อทำหน้าที่ดูแลกิจการภายในเมืองขณะที่ท่านไม่อยู่[2]

ชีอะฮฺพูดว่า ด้วยกับเหตุผลดังกล่าวนั้นเป็นไปได้อย่างไรก่อนที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)จะจากไปท่านไม่ได้แต่งตั้งตัวแทนเอาไว้ ลองพิจารณาสมมติฐานดังต่อไปนี้ให้ละเอียด

หลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เป็นวะฟาดไปแล้วสังคมอิสลามไม่ต้องการผู้นำดอกหรือ

หรือว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่เห็นความสำคัญของสังคมอิสลาม ภายหลังจากการวะฟาดของท่าน

หรือว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่เคยห่วงใยสังคมเลยว่าจะเป็นเช่นไร

หรือว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คิดว่าผู้นำภายหลังจากท่านไม่มีความสำคัญ

หรือว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แต่งตั้งตัวแทนไว้แล้วแต่มุสลิมไม่สนใจ

ด้วยกับความคิดและสติปัญญาที่ชาญฉลาด ตามความเป็นจริงแล้ว สมมติฐานข้อใดมีความเป็นไปได้มากที่สุด

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ผู้มีความเมตตาแก่มวลประชาโลกทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมวลผู้ศรัทธา ขณะที่ท่านมีชีวิตท่านได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหน้าที่อันยิ่งใหญ่หากท่านต้องเดินทาง หรือไปทำสงครามท่านจะแต่งตั้งตัวแทนไว้ทุกครั้ง ฉะนั้นเป็นไปได้อย่างไร สำหรับภารกิจอันยิ่งใหญ่ซึ่งบ่งบอกถึงความอยู่รอดของสังคมอิสลามก่อนที่ท่านจะจากไป ท่านจะไม่ทำการแต่งตั้งแทนไว้หรือ

ชีอะฮฺอิมามียะฮฺ นั้นมีความเชื่อมั่นไม่สงสัยจากหลักฐานทั้งอัล-กุรอานและฮะดีซของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่กล่าวไว้ในวาระต่างๆ ว่าท่านได้ทำการแต่งตั้งตัวแทนไว้ก่อนที่ท่านจะดับขันธ์ อย่างแน่นอนอาทิเช่น อายะฮฺวิลายะฮฺ ฮะดีซเฆาะดีร ฮะดีซสะฟีนะฮฺ ฮะดีซษะก่อลัยนฺ ฮะดีซฮัก ฮะดีซมันซิลัต ฮะดีซดะอฺวัตอะชีเราะฮฺ และฮะดีซอื่นๆ อีกมากมาย และเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีนักค้นคว้าเขียนหนังสือเอาไว้หลายเล่มด้วยกันทั้งสุนีและชีอะฮฺ ซึ่ง ณ ที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะฮะดีษเฆาะดีรเท่านั้นเพื่อให้พิจารณาและตัดสินความถูกต้องด้วยจิตใจที่เป็นธรรม

ฮะดีซแห่งประวัติศาสตร์เฆาะดีรฺ

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ได้เดินทางไปทำหัจญ์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ฮ.ศ. ที่ ๑๐ และเนื่องจากเป็นหัจญ์ครั้งสุดท้ายจึงเรียกหัจญ์นี้ว่า หัจญะตุลวะดา มีผู้เดินทางไปประกอบหัจญ์ในครั้งนี้ร่วมกับท่านศาสดาประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน

และยังได้มีมุสลิมที่อาศัยอยู่ในมักกะฮฺเข้าร่วมพิธีหัจญ์ครั้งด้วยเช่นกัน เมื่อเสร็จพิธีหัจญ์ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ได้เดินทางกลับมะดีนะฮฺ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๘ ซุลหิจญ์พอดี เมื่อมาถึงยังสถานที่นามว่า เฆาะดีรฺคุม โองการนี้ได้ถูกประทานลงมาพอดี

يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنزِلَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ وَإِن لَّمْ تَفْعَلْ فَمَا بَلَّغْتَ رِسَالَتَهُ وَاللّهُ يَعْصِمُكَ مِنَ النَّاسِ إِنَّ اللّهَ لاَ يَهْدِي الْقَوْمَ الْكَافِرِينَ

“โอ้ เราะซูลเอ๋ย จงประกาศสิ่งที่ถูกประทานลงมายังเจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้า และถ้าเจ้ามิได้ปฏิบัติ เท่ากับเจ้าไม่เคยประกาศสาส์นของพระองค์เลย และอัลลอฮฺจะทรงคุ้มกันเจ้าจากมนุษย์ แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงชี้นำกลุ่มชนที่ปฏิเสธ” (มาอิดะฮฺ / ๖๗)

จากขั้นตอนดังกล่าวจะเห็นว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมีพระบัญชามายังท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญนั้น โดยมีภารกิจที่ทำมาก่อนหน้านั้นเป็นหลักประกันหมายถึงถ้าหากท่านศาสดาไม่ประกาศสิ่งที่ถูกประทานลงมายังท่านออกไปการงานที่ท่านทำมาตลอด ๒๓ ปีถือว่าเป็นโมฆะทันที

เมื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ได้มีพระบัญชาลงมา ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้สั่งให้กองคาราวานหยุดลง มีคำสั่งให้พวกที่เดินทางล่วงไปข้างหน้ากลับมา และคอยพวกที่ยังเดินทางมาไม่ถึงให้มาสมทบ พวกเขาได้รอฟังข่าวสำคัญจากท่านศาสดาในตอนกลางวันท่ามกลางพื้นทะเลทรายที่ร้อนระอุ ปราศจากร่มเงาและแอ่งน้ำ ขณะที่รอคอยอยู่นั้นเสียงอะซานได้ดังขึ้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) พร้อมกับประชาชนได้ร่วมกันทำนมาซ เมื่อนมาซเสร็จท่านได้สั่งให้ทำมิมบัรฺ และท่านได้ขึ้นไปยืนบนนั้นเพื่อกล่าวสุนทรพจน์

หลังจากกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺแล้ว ท่านได้กล่าวว่า ฉันและท่านทั้งหลายต่างมีภาระรับผิดชอบด้วยกันทั้งสิ้น[3]

พวกท่านจะพูดว่าอย่างไร

พวกเขาตอบว่า พวกเราขอยืนยันว่าท่านได้ทำการเชิญชวนพวกเรา ท่านได้อุตสาหะอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของท่าน ขออัลลอฮฺโปรดประทานรางวัลที่ยิ่งใหญ่แก่ท่าน

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวต่อว่า พวกท่านจะไม่ปฏิญาณถึงความเป็นเอกะของอัลลอฮฺ และการเป็นบ่าวและศาสดาของมุฮัมมัดดอกหรือ

พวกท่านจะไม่ยืนยันหรือว่าสวรรค์และนรกนั้นมีจริง ความตายและการฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺนั้นมีจริง

พวกเขากล่าวว่า พวกเราขอยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้มีจริง

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ขออัลลอฮฺทรงเป็นพยานสำหรับคำกล่าวยืนยันเหล่านี้ หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า

โอ้ประชาชนเอ๋ย ฉันจะได้พบกับพวกท่านอีกครั้ง ณ สระน้ำเกาษัรฺ พวกท่านจงจำไว้ให้ดีว่า ฉันได้ฝากสิ่งหนักสองสิ่งไว้ในหมู่ของพวกท่าน และฉันจะถามพวกท่านว่า ได้ทำอะไรกับทั้งสองนั้น

พวกเขาถามว่า โอ้ท่านศาสดาแห่งอัลลอฮฺ สองสิ่งนั้นคืออะไร

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) “สองสิ่งนั้นได้แก่คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และอหฺลุลบัยตฺของฉัน อัลลอฮฺทรงแจ้งกับฉันว่าสองสิ่งนี้จะไม่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำเกาษัรฺ และพวกท่านจงอย่าล้ำหน้า และล้าหลังจากทั้งสองนั้น เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้พวกท่านพบกับความพินาศ”

ในเวลานั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ได้จับมือของท่านอะลี (อ.) ชูขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้เห็น และได้ทำการประกาศแต่งตั้งให้ท่านอะลีเป็นผู้นำ ณ บัดนั้นว่า

اَيُّها النَّاس مَنْ اَولَى النَّاس بِالمُؤمِنِينَ مِنْ انْسُهِم

โอ้ ประชาชนเอ๋ย ใครคือผู้ที่ประเสริฐกว่าบรรดาผู้ศรัทธา และชีวิตของพวกเขา

ตอบว่า อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์เป็นผู้รู้ดี

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อัลลอฮฺทรงเป็นผู้ปกครองฉัน และฉันคือผู้ปกครองของมวลผู้ศรัทธาทั้งหลาย และฉันคือผู้ที่ถูกเลือกสรรให้ดีกว่ามวลผู้ศรัทธาทั้งหลาย ดังนั้น

من كنت مولاه فهذا على مولاه...

“ใครก็ตามที่ฉันเป็นผู้ปกครองเขา ดังนั้นอะลีก็เป็นผู้ปกครองเขาด้วย”[4]

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)กล่าวต่ออีกว่า “โอ้ อัลลอฮฺ โปรดรักผู้ที่รักเขา และโปรดเป็นศัตรูกับผู้ที่เป็นศัตรูกับเขา โปรดช่วยเหลือผู้ที่ช่วยเหลือเขา และโปรดลงโทษผู้ที่ประพฤติไม่ดีกับเขา โอ้พวกท่านทั้งหลายจงฟังไว้ สำหรับพวกที่อยู่ ณ ที่นี้จงประกาศให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ให้รับทราบโดยถ้วนหน้ากัน”

ประชาชนยังไม่ทันที่จะแยกย้ายกันออกไป อัลลอฮฺ ทรงประทานโองการลงมาว่า

الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الإِسْلاَمَ دِينًا

“วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์สำหรับพวกเจ้าแล้ว และฉันได้ทำให้ความโปรดปรานของฉันบริบูรณ์แก่พวกเจ้า และฉันได้พึงพอใจให้อิสลามเป็นศาสนาสำหรับพวกเจ้าแล้ว” (มาอิดะฮฺ / ๓)

หลังจากนั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ได้กล่าวตักบีรฺ อัลลอฮุอักบัรฺ ศาสนาของอัลลอฮฺ ได้สมบูรณ์แล้วพระองค์ทรงพึงพอพระทัยกับการเผยแพร่สาส์นของฉัน และการแต่งตั้งให้ อะลี เป็นผู้นำภายหลังจากฉัน

หลังจากการแต่งตั้งท่านอะลี เรียบร้อยแล้วประชาชนต่างเข้าไปแสดงความยินดีกับท่านอะลี (อ.) ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่าคนกลุ่มแรกที่เข้าไปแสดงความยินดีกับท่านอิมามอะลี (อ.) คือบรรดาเศาะฮาบะฮฺ ได้แก่ท่านอบูบักรฺ และท่านอุมัรฺทั้งสองได้กล่าวกับท่านอิมามอะลีว่า

بَخٍّ بَخٍّ لَكَ يا على اَصْبَحْتَ مَولاَىَ وَمَولَى كَلِّ مُؤْمِنٍ وَ مُؤْمِنَةٍ

“ขอแสดงความยินดีด้วย โอ้ อะลี ท่านได้กลายเป็นผู้ปกครองของฉัน และของผู้ศรัทธาชายและหญิงทุกคนไปแล้ว”[5]



[1] มุนตะเคาะบุล อะษัรฺ หน้าที่ ๑๐๑ คัดลอกมาจาก กิฟายะตุลอะษัรฺ ผู้เขียนได้รายงานฮะดีซไว้ในหนังสือ หมวดดังกล่าว จากรายงานของสุนีและชีอะฮฺ ๕๐ ฮะดีซด้วยกัน ซึ่งฮะดีซทั้งหมดเหล่านั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ได้กล่าวถึงนามของอิมามทั้งสิบสองท่านเอาไว้”

[2] หนังสือประวัติศาสตร์ส่วนมากจะบันทึกเรื่องนี้เอาไว้เช่น ซีเราะฮฺ อิบนิฮิชามเป็นต้น

[3] ภาระของท่านศาสดาคือเผยแพร่สาส์น ส่วนภาระของคนอื่นคือการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาและศาสดา

[4] ท่านอิมามอหฺมัด หันบัล ได้กล่าวประโยคนี้ซ้ำกันถึง ๔ ครั้ง

[5] อัล-เฆาะดีรฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๙๒๑๑