การชี้นำไปสู่คำสั่งหมายถึงอะไร

อิมามนอกจากจะทำหน้าที่สอนสั่งอหฺกามและการชี้นำภายนอกแล้ว ยังมีวิลายะฮฺและฮิดายะฮฺด้านในอีกต่างหาก หมายถึงท่านจะนำจิตวิญญาณ (ด้านใน) แก่บุคคลที่มีคุณสมบัติและความสามารถไปสู่ความสมบูรณ์ ซึ่งการชี้นำประเภทนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของพลังอีมาน จิต และตำแหน่งอันทรงเกียรติต่างๆ ด้านใน เรียกการชี้นำประเภทนี้ว่า การชี้นำไปสู่คำสั่ง (ยะดีบิอัมรินา)

การชี้นำจิตวิญญาณด้านใน เป็นตำแหน่งที่สูงส่งอย่างยิ่ง บรรดาศาสดาทั้งหลายจะได้รับตำแหน่งดังกล่าวหลังจากได้เป็นศาสดาแล้ว เช่นเรื่องราวของท่านศาสดา อิบรอฮีม (อ.) หลังจากท่านได้รับเลือกให้เป็นศาสดาเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงได้รับตำแหน่งอิมาม และการเป็นผู้ชี้นำจิตวิญญาณ อัล-กุรอานกล่าวว่า

إِنِّي جَاعِلُكَ لِلنَّاسِ إِمَامًا

“พระองค์ตรัสว่า แท้จริงข้าจะให้เจ้าเป็นผู้นำมนุษยชาติ” (บะเกาะเราะฮฺ/ ๑๒๔)

อิมามคือบุคคลที่ถึงยังตำแหน่งวิลายะฮฺ และการชี้นำไปสู่คำสั่ง ท่านจึงสามารถทำในสิ่งที่บุคคลธรรมดาคาดไม่ถึง และไม่คิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นไปได้

อัล-กุรอานได้ยืนยันไว้ดังเช่นเรื่องราวของท่าน อาศิฟ บิน บัรฺคัยยา ผู้เป็นสหายของท่านศาสดาสุลัยมาน (อ.) สามารถนำเอาบังลังก์ของกษัตริย์สะบาอ์ มาให้ท่านศาสดาสุลัยมานก่อนกระพริบตา ทำไมท่านจึงสามารถทำได้ ? เนื่องจากว่าท่านสามารถควบคุมโลกในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือไปจากมิติที่เป็นธรรมชาติและล่วงรู้แก่นแท้บางสิ่งของโลกนี้เท่านั้น ขณะที่บรรดาอิมามมะอฺซูม (อ.) อยู่ในตำแหน่งที่สูงส่งกว่าอาศิฟหลายขั้น และเป็นผู้มีความรู้ทั้งหมด อัล-กุรอาน กล่าวว่า مَنْ عِنْدَهُ عِلْمُ الكِتَاب ประวัติศาสตร์ และหะดีษได้ทำการบันทึกความจริงที่ว่าบรรดาอิมามนั้น อยู่ในฐานะของผู้ชี้นำจิตวิญญาณ และมีวิลายะฮฺบาตินีอยู่ในครอบครอง เป็นความสัจจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้

บรรดาอิมาม (อ.) เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะของผู้ที่มีคุณธรรมสูงส่ง มีพลังจิตที่ดึงดูดคนอื่นความรู้และความประพฤติของท่านเป็นสิ่งที่กินใจประชาชนมากที่สุด ดังนั้นท่านจึงสามารถนำพามนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ได้อย่างง่ายดาย ดังตัวอย่างของสานุศิษย์บางท่านของอิมาม (อ.)

๑. บุรุษจากดามัสกัส

อะลี บิน คอลิด (ซัยดีมัซฮับ) หมายถึงกลุ่มชนที่ยอมรับการเป็นอิมามแค่ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) หลังจากนั้นไม่ยอมรับอิมามท่านใดเป็นอิมามอีก วันหนึ่งเขาได้พบกับท่านอิมามญะวาด (อ.) อิมามท่านที่ ๙ ของชีอะฮฺอิมามียะฮฺ พวกเขากล่าวว่า ข้าพเจ้าอยู่ที่เมืองสะมิรอ (เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งในอิรัก) ได้มีข่าวมาถึงฉันว่า ได้นำตัวชายคนหนึ่งมาจากดามัสกัสและถูกกักกันบริเวณอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากเขาได้กล่าวอ้าง การเป็นศาสดา ฉันได้ไปพบกับเขา และถามไถ่เขาว่าเป็นใครมาจากไหน ทำไมจึงถูกจับกุมตัว

ตอบว่า ขณะที่อยู่ที่ซีเรียฉันได้ไปยังสถานที่หนึ่งที่กล่าวว่าศีรษะของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) และบรรดาชะฮีดอื่นๆได้หยุดพักที่นั่น ฉันได้หยุดพักทำอิบาดะฮฺที่นั้นเช่นกัน แต่อยู่มาคืนหนึ่งฉันได้พบชายคนหนึ่งยืนอยู่ตรงหน้าและพูดกับฉันว่า จงลุกขึ้น..ฉันได้ลุกขึ้นและต้องการเดินคุยกับเขาสักเล็กน้อย แต่รู้สึกตัวอีกครั้งพบว่าฉันได้มาอยู่ที่มัสญิดกูฟะฮฺเสียแล้ว ชายคนนั้นได้ทำนมาซและฉันก็ทำนมาซพร้อมกับเขา เมื่อเสร็จฉันต้องการลุกขึ้นเดินแต่ยังไม่ทันได้ออกเดิน พบว่าตัวเองได้มาอยู่ที่มัสญิดนบี (ซ็อล ฯ)ชายคนนั้นได้กล่าวสลามกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)และเราทั้งสองคนได้ทำนมาซ เมื่อออกจากมัสญิดนบีขณะที่เดินอยู่นั้น พบว่าตัวเองได้มาอยู่ที่มักกะฮฺ ฉันได้ทำฏ่อวาฟ เมื่อเสร็จพิธีแล้วฉันได้ออกมาด้านนอกในช่วงเวลาเพียงนิดเดียวนั้นฉันพบว่า ตัวเองได้กลับมาที่ซีเรียอีกครั้ง และชายคนดังกล่าวก็ได้หายตัวไป

เวลาได้ผ่านไปประมาณปีเศษฉันได้พบกับชายคนดังกล่าวอีก ฉันดีใจมากและเขาได้พาฉันเดินทางเหมือนเดิมอีกครั้ง ขณะที่ฉันกับเขาจะจากกันฉันได้พูดกับเขาว่า ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ขอให้ท่านบอกฉันที่ว่าท่านนั้นเป็นใคร? เขาได้กล่าวกับฉันว่า ฉันคือมุฮัมมัด บิน อะลี บินมูซา บิน ญะอฺฟัรฺ (อิมามท่านที่ ๙ นั่นเอง)

ชายผู้นั้นได้พูดต่ออีกว่า ฉันได้พบกับใครฉันจะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับฉันให้เขาฟัง จนกระทั่งเรื่องได้มาเข้าหูของ อับดุลมาลิก เขาได้มีคำสั่งให้จับกุมตัวฉัน ในข้อหากล่าวอ้างการเป็นศาสดา ฉันได้บอกกับเขาว่า ฉันจะเขียนรายละเอียดทั้งหมดส่งให้ มุฮัมมัด บิน อับดุลมาลิก พวกเขาได้อนุญาตให้ฉันเขียน และฉันได้เขียนรายละเอียดเหล่านั้น แต่อับดุลมาลิกได้ตอบจดหมายของฉันว่า ให้บอกกับเขาว่า ถ้าเป็นความจริงเจ้าก็จงออกไปจากเรือนจำเหมือนกับที่เจ้าได้เดินทางในคืนนั้น ฉันเป็นกังวลมากกับคำตอบดังกล่าว พอถึงเวลาเช้าฉันได้ไปที่เรือนจำพบว่ามีคนมากมายเดินเข้าออกเรือนจำ ฉันได้ถามว่าเกิดอะไรขึ้นหรือ ? ได้รับคำตอบว่า ชายคนที่กล่าวอ้างการเป็นศาสดา ได้หายตัวไปจากเรือนจำ ไม่รู้ว่าเขาออกไปทางไหน ดำดินหรือบินไปในอากาศ ?

อะลี บิน คอลิด พูดว่าหลังจากที่ได้เห็นเรื่องราวดังกล่าว ฉันได้ออกจากมัซฮับซัยดียะฮฺสู่มัซฮับชีอะฮฺอิมามียะฮฺทันที[1]

๒. มัยษัม ตัมมารฺ

ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ซื้อทาสคนหนึ่งและได้ปล่อยให้เป็นอิสระ ท่านได้ถามว่า เธอชื่ออะไร ? ตอบว่า ซาลิม

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า แต่ฉันได้ยินจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่านามจริงของท่านคือ มัยษัม

เขาได้ตอบว่า ใช่ท่านพูดถูกต้องแล้ว นามของฉันคือมัยษัม

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า เธอจงใช้ชื่อที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตั้งให้ ส่วนอีกชื่อหนึ่งไม่ต้องใช้

ท่านอิมาม (อ.) ได้ซื้อทาสคนดังกล่าวและได้ปล่อยให้เป็นอิสระ แต่ทว่าด้วยจิตเมตตาที่ท่านอิมามได้มีกับเขา เป็นเหตุทำให้เขาไม่ยอมไปจากอิมาม เขาได้อยู่กับท่านอิมามจนตายจากกัน ในความรู้สึกของเขา เขาได้เป็นหนี้บุญคุณท่านอิมามชนิดที่ไม่มีวันชดใช้ได้หมดสิ้น

ท่านมัยษัมผู้ได้รับอิสรภาพ มีความสามารถพิเศษ มีความยำเกรงสูงท่านได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นศ่อฮาบะฮฺชั้นแนวหน้าของท่านอิมามอะลี (อ.)

นับตั้งแต่วันที่เขาได้รู้จักท่านอิมามอะลี (อ.) จนกระทั่งวันสุดท้ายที่เขาได้ทุ่มเทความรักให้กับท่านอิมามอะลี (อ.) เหมือนกับต้นไม้ที่ต้องการน้ำ มัยษัมเช่นกันอิมาม (อ.) เป็นผู้ให้อิลฮามกับเขา ให้ชีวิตใหม่ ให้อิสระภาพ เขาจึงยอมพลีเพื่ออิมาม อิมามคือนูรฺรัศมีที่ปรากฏบนดวงใจของเขา นำความอิ่มเอิบมาให้แก่เขา ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ยอมขายความสุขนั้นให้กับโลกหรือเงินตราใด ๆ ทั้งสิ้น

วันหนึ่งท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวกับเขาว่า เธอจะถูกแขวนคอหลังจากฉัน ร่างกายของเธอจะเต็มไปด้วยบาดแผล วันที่สามหหนวดเคราของเธอจะเปียกชุ่มไปด้วยเลือด ที่ไหลออกมาจากจมูก

พวกเขาจะจับเธอแขวนคอใกล้ๆ บ้าน อุมัรฺ บิน หุเรษ พร้อมกับอีก ๙ คน ซึ่งที่แขวนคอของเธอนั้นจะต่ำที่สุด มาซิฉันจะพาเธอไปดูอินทผลัมต้นนั้น และท่านอิมาม (อ.) ก็ได้พามัยษัมไปดูต้นอินทผลัมต้นดังกล่าว

ต่อมาเมื่อท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เป็นชะฮีด บนีอุมัยยะฮฺ ได้ขึ้นมาปกครอง ท่านมัยษัมได้ไปที่ต้นไม้ดังกล่าว และได้ทำนมาซใกล้ๆ ต้นไม้นั้น พร้อมกับพูดว่า โอ้ต้นไม้เอ๋ย อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ประทานนิอฺมัตกับเจ้า พระองค์ทรงสร้างฉันมาเพื่อเจ้า และเจ้าจะเติบโตเพราะฉัน

ในปีที่ท่านมัยษัมจะเป็นชะฮีดนั้น ท่านได้ไปซิยารัตบัยตุลลอฮฺ และได้พบกับท่านหญิงอุมุสะละมะฮฺ ท่านหญิงได้พูดกับมัยษัมว่า ชื่อของเธอนั้นฉันได้ยินท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวถึงเสมอและได้ฝากฝังเธอไว้กับท่านอะลี (อ.)

ท่านมัยษัมได้ถามหาท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) แต่ได้ยินว่าท่านได้ออกไปนอกเมือง ท่านมัยษัมจึงฝากสลามถึงท่านอิมามฮุซัยนฺ และพูดว่า ในไม่นานฉันกับท่านจะได้พบกัน ณ อัลลอฮฺ (ซบ.)

ท่านหญิงอุมุสะละมะฮฺ ได้สั่งให้เอาน้ำหอมชโลมหนวดเคราของท่านมัยษัม และพูดกับเขาว่า ในไม่ช้านี้หนวดเคราของเธอจะเปียกชุ่มไปด้วยเลือดของเธอบนความรักที่มีต่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)และทายาทของท่าน

เมื่อท่านมัยษัมได้กลับไปยังกูฟะฮฺ เจ้าหน้าที่ของ อิบนุซิยาดได้จับกุมตัวท่าน และนำตัวไปส่งให้ อิบนุซิยาด ทั้งได้โต้เถียงกันว่า

อิบนุซิยาด พระเจ้าของเจ้าอยู่ที่ไหน

มัยษัม อยู่ท่ามกลางพวกกดขี่ทั้งหลาย ซึ่งเจ้าคือหนึ่งในผู้กดขี่เหล่านั้น

อิบนุซิยาด นายของเจ้าได้พูดถึงฉันกับเจ้าว่าอย่างไร ?

มัยษัม ท่านกล่าวกับฉันว่า เจ้าจะจับฉันไปแขวนคอร่วมกับคนอื่นอีก ๙ คนและต้นไม้ที่จะใช้แขวนคอฉันนั้นเตี้ยที่สุด

อิบนุซิยาด ฉันจะไม่ทำตามที่นายของเจ้าพูดไว้ แต่ฉันจะฆ่าเจ้าอีกวิธีหนึ่ง

มัยษัม เจ้าไม่ทีวันทำเช่นนั้นได้เด็ดขาดเพราะท่านอิมามได้ยินมาจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)และท่านศาสดาได้ยินมา จากอัลลอฮฺ เจ้าสามารถขัดแย้งกับอัลลอฮฺได้หรือ ? และฉันได้ไปดูสถานที่ ๆ ฉันจะถูกแขวนคอมาแล้ว และฉันเป็นมุสลิมคนแรกที่จะถูกเกือกม้ายัดปาก

อับดุลลอฮฺ อิบนิ ซิยาด โกรธมากเขาได้สั่งจับมัยษัม และให้นำตัวไปขังคุก ในคุกนั้นท่านได้พบกับ มุคตารฺ ษะกะฟีย์ท่านได้พูดกับเขาว่า เจ้าจะเป็นผู้ล้างหนี้เลือดให้กับท่านซัยยิดุชชุฮะดา อิมามฮุซัยนฺ (อ.) และเจ้าจะเป็นผู้ฆ่าอิบนิซิยาด และได้เป็นเช่นนั้นจริง

ในที่สุดท่านมัยษัม ได้ถูกจับตัวไปยังสถานที่แขวนคอ ท่านได้นิ่งทำการสงบจิตใจ ณ สถานที่อันทรงเกียรติ และในที่สุดท่านได้ถูกพาตัวไปยังต้นไม้ดังกล่าวที่อยู่ใกล้บ้าน อุมัรฺ บิน หุเรษ มีประชาชนมาชุมนุมอยู่ที่บริเวณนั้นมากมาย ท่านมัยษัมได้มีโอกาสพูดถึงความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) ทำให้ประชาชนที่ชุมนุมอยู่นั้นมีความตะลึงงังไปหมด ได้มีผู้ส่งข่าวไปยังอิบนิซิยาดว่า ท่านมัยษัมได้ประณามท่านอย่างรุนแรง อิบนิซิยาดโกรธมากได้สั่งให้เอาเกือกม้าอุดปาก เพื่อเขาจะได้พูดต่อไม่ได้ และให้เฆี่ยนตีเขาจนร่างกายเต็มไปด้วยบาดแผล ตรงตามที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้แจ้งข่าวให้ทราบล่วงหน้า ท่านมัยษัมได้กล่าวว่า อัลลอฮุอักบัรฺก่อนที่จะถูกอุดปากและในวันที่สามซึ่งเป็นวันสุดท้ายเลือดได้ไหลออกจากปากและจมูกจนเปียกชุ่มหนวดเคราไปทั่ว....ขอความสุขสันติพึงมีแด่ท่านโอ้มัยษัมผู้ซื่อสัตย์ (๑.) อิรฺชาดมุฟีด หน้าที่ ๑๕๒-๑๕๔)

๓. อะเวส กะระนีย์

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)กล่าวว่า “ฉันได้กลิ่นอายสวรรค์จากกะระนีย์ โอ้ อะเวส กะระนีย์เอ๋ยฉันขอแสดงความยินดีกับท่านด้วย และหากใครได้เห็นเขาบอกเขาด้วยว่า ฉันฝากสลามมายังเขาด้วย”[2]

ท่านอิมามอะลี (อ.) ขณะที่ประชาชนได้มาให้บัยอัตกับท่านที่ ซีกอรฺ ท่านกล่าวว่า “จะมีหน่วยทหารจากกูฟะฮฺจำนวน ๑,๐๐๐ คนมาให้บัยอัตกับฉัน ซึ่งจะไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้ เมื่อทหารเหล่านั้นมาถึง ท่านอิบนุอับบาสได้นับจำนวนทหารดูปรากฏว่าได้ ๙๙๙ นายขาดไปหนึ่งนายทำให้ท่านกระวนกระวายใจว่าเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร ? ไม่นานนักได้มีชายคนหนึ่งแต่งด้วยเครื่องแบบทหารมีดาบ และมีอุปกรณ์สงครามอย่างอื่นด้วย เข้าไปหาท่านอิมามอะลี (อ.) และพูดกับท่านอิมามว่า ฉันต้องการให้บัยอัตกับท่านและขอเป็นทหารรับใช้ท่านจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ท่านอิมาม (อ.) ถามว่าเจ้าชื่ออะไร

ตอบ ฉันชื่อว่าอะเวส

อิมาม (อ) เจ้าคืออะเวสกะระนีย์ใช่ไหม

ตอบ ใช่ฉันคืออะเวสกะระนีย์

อิมาม (อ.) กล่าวว่า อัลลอฮุอักบัรฺ ท่านศาสดา(ซ็อล ฯ)ผู้ที่รักยิ่งของฉันได้แจ้งกับฉันว่า ฉันจะได้เห็นผู้ภักดีกับท่านคนหนึ่ง นามว่าอะเวส กะระนีย์เขาเป็นผู้ที่จงรักภักดีกับอัลลอฮฺ และรอซูล เขาจะเป็นชะฮีด และเขาจะเป็นผู้ให้ชะฟาอะฮฺแก่กลุ่มชนจำนวนมากมาย” [3]

และในที่สุดเขาได้ช่วยเหลือท่านอิมามอะลี (อ.) จนได้รับชะฮีด[4]

ท่านอะเวส กะระนีย์ หากจะพิจารณาด้านจิตวิญญาณแล้ว ท่านเป็นผู้มีตำแหน่งที่สูงส่ง และมีชื่อเสียงมาก ท่านมีความสุขกับการทำอิบาดะฮฺอย่างยิ่ง และเป็นผู้ที่ไม่มีความลุ่มหลงต่อโลก[5]

จากคำพูดบางตอนของอะเวส ทำให้รู้ว่าท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่มีพลังจิต และอีมานสูงส่ง จิตวิญญาณด้านในมีความมั่นคง และสงบอยู่กับคำสอนของศาสนา เช่นคำพูดที่ว่า “เมื่อเราได้ทำการเชิญชวนไปสู่ความดี และห้ามปรามความชั่วทั้งหลาย พวกเขาได้ด่าทอและใส่ร้ายพวกเรา แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามเราได้ยืนหยัดอยู่บนสัจธรรมของอัลลอฮฺเสมอมา”[6]

๔. กัมบัรฺ

กัมบัรฺเป็นอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นสุภาพบุรุษของโลกอิสลาม ท่านได้รับการฟูมฟักด้านจิตใจ และอีมานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และท่านอิมาอะลี (อ.) จนไปถึงยังตำแหน่งอันทรงเกียรติ ณ อัลลอฮฺ (ซบ.)

ท่านเป็นผู้ที่ถวิลหาสัจธรรม และดำเนินชีวิตอยู่บนหนทางดังกล่าวจนวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต ท่านไม่ใช่คนทะเยอทะยานไม่เคยลุ่มหลงต่อโลก ไม่เคยล่วงละเมิดสิทธิของผู้ใด และมีความซื่อสัตย์กตัญญูอย่างไม่มีที่ติ ทั้งที่สภาพชีวิตจริงของท่านคือคนรับใช้ ของท่านอิมามอะลี (อ.) แต่สิ่งนี้สำหรับกัมบัรฺแล้วมันคือเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่อาจหาสิ่งใดมาเปรียบเปรยได้ ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่มีจิตวิญญาณสูงส่ง การยกระดับจิตใจและการขัดเกลาของท่านไปถึงขั้นที่ว่า ท่านคือผู้เก็บความลับของท่านอิมามอะลี (อ.)

คำพูดที่หาญกล้าของท่านซึ่งบ่งบอกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)และอหฺลุลบัยตฺ (อ.) คือคราวที่ท่านได้โต้ตอบกับหัจญาด บิน ยูสุฟ

หัจญาด เจ้าเป็นคนรับใช้ของอะลี เจ้าทำอะไรบ้าง

กัมบัรฺ ฉันเป็นผู้เตรียมน้ำทำวุฎูให้กับท่าน

หัจญาด เมื่อทำวุฎเสร็จ เขาพูดว่าอะไร

กัมบัรฺ ท่านจะอ่านโองการนี้...

فَلَمَّا نَسُواْ مَا ذُكِّرُواْ بِهِ فَتَحْنَا عَلَيْهِمْ أَبْوَابَ كُلِّ شَيْءٍ حَتَّى إِذَا فَرِحُواْ بِمَا أُوتُواْ أَخَذْنَاهُم بَغْتَةً فَإِذَا هُم مُّبْلِسُونَفَقُطِعَ دَابِرُ الْقَوْمِ الَّذِينَ ظَلَمُواْ وَالْحَمْدُ لِلّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ

“ครั้นเมื่อพวกเขาลืมสิ่งที่ถูกเตือนให้รำลึก เราก็เปิดประตู (แห่งความโปรดปราน) ของทุกสิ่งแก่พวกเขา จนกระทั่งเมื่อพวกเขาดีใจในสิ่งที่พวกเขาได้รับ เราก็ได้ยึดสิ่งนั้นจากพวกเขาโดยฉับพลัน ทันใดนั้นพวกเขาก็กลายเป็นผู้สิ้นหวัง เผ่าพันธุ์ของกลุ่มชนที่อธรรมถูกตัดขาดสิ้น และการสรรเสริญทั้งมวลนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก” (อันอาม / ๔๔-๔๕)

หัจญาด ฉันคิดว่าโองการดังกล่าวหน้าจะพูดถึงฉัน

กัมบัรฺ ได้ตอบอย่างกล้าหาญว่า แน่นอนโองการได้พูดถึงเจ้า

หัจญาด ถ้าฉันจะฆ่าเจ้า เจ้าจะทำอย่างไร

กัมบัรฺ ฉันจะได้รับความผาสุก ส่วนเจ้าจะได้รับความตกต่ำ[7]

หัจญาด เจ้าจงประณามอะลีซิ

กัมบัรฺ ถ้าฉันออกจากศาสนาที่อะลีได้สั่งสอน เจ้าจะแนะนำฉันให้พบกับศาสนาที่ดีกว่าได้ไหม

หัจญาดไม่ตอบคำถามของกัมบัรฺ เขาได้พูดว่า ข้าจะเป็นคนฆ่าเจ้า เจ้าบอกมาซิอยากตายแบบไหน ข้าจะฆ่าเจ้าแบบนั้นให้สมใจ

กัมบัรฺ ฉันให้เป็นสิทธิ์ของเจ้า

หัจญาด ทำไมถึงให้เป็นสิทธิ์แก่ข้า

กัมบัรฺ เพราะไม่ว่าเจ้าจะฆ่าฉันอย่างไรในวันกิยามะฮฺเจ้าก็จะถูกฆ่าอย่างนั้น นายของฉันอิมามอะลี (อ.) ได้แจ้งแก่ฉันว่า ฉันจะถูกกดขี่ และถูกฆ่าตายอย่างไร้มนุษยธรรม

ในที่สุดหัจญาด ได้สั่งให้เอากัมบัรฺไปตัดคอ[8]



[1] อิรฺชาด มุฟีด หน้าที่ ๓๐๕-๓๐๔

[2] สะฟีนะตุลบิฮารฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๕๓

[3] อิรฺชาดมุฟีด หน้าที่ ๑๔๙

[4] อะสะดุลฆอบะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๕๒

[5] อะอฺยานุชชีอะฮฺ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๘๑-๙๓ พิมพ์ครั้งที่สอง

[6] สะฟีนะตุลบิฮารฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๕๓

[7] สะฟีนะตุลบิฮารฺ เล่มที่ ๔๒ หน้าที่ ๑๓๕-๑๓๖

[8] อิรฺชาดมุฟีด หน้าที่ ๑๕๕