การชี้นำด้านในของท่านอิมาม

วิถีการดำเนินชีวิตของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)คือภาพลักษณ์ที่ถือว่าเป็นมูลฐานหลักของอิสลาม ท่านศาสดาเป็นผู้นำด้านการเมือง และเป็นผู้นำสังคมมุสลิม ขณะเดียวกันท่านยังเป็นผู้รับวะฮีย์จากพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) มาสอนสั่งประชาชาติ ด้วยกับความอุตสาหพยายามจนกระทั่งบรรลุสู่เป้าหมายตามที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประสงค์และในที่สุดท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้สถาปนารัฐอิสลามขึ้นปกครองบนพื้นฐานของอัล-กุรอาน ความยุติธรรมและความถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดาจึงมีความสมบูรณ์ในการเป็นผู้นำทั้งด้านศาสนจักรและอาณาจักรดังเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่คนทั่วไป

เนื่องจากว่าคำสอนของอิสลามเป็นแรงสนับสนุนความเจริญผาสุกของสังคม และเพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา ฉะนั้นการลงโทษผู้ทำลายความมั่นคงของสังคมจึงมีทั้งโลกนี้และโลกหน้า

แน่นอนการปกครองในระบอบอิสลามนั้นมีความพิเศษเหนือการปกครองในระบอบอื่นๆ เนื่องจากว่าอิสลามพยายามทำให้ทุกคนมีโลกทัศน์เป็นของตัวเอง ฉะนั้นส่วนมากของบัญญัติอิสลามได้ถูกร่างขึ้นเพื่อการแสวงหาเกียรติยศของจิตวิญญาณ และความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง

วันนี้อารยธรรมของมนุษย์ได้ถูกลืมเลือนไปจากสังคม และยิ่งนานวันเข้าสังคมมนุษย์ยิ่งมีแต่ความตกต่ำลง ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ตัดคนเราออกจากความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง การมีพลังจิตด้านในที่สูงส่ง และโลกหน้าที่ถาวร

อิสลามได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับสิ่งสำคัญเหล่านี้ดังจะเห็นได้ว่าบรรดาอิมามผู้นำของอิสลามพยายามถ่ายทอดพลังความคิดและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของท่านเพื่อการสร้างจิตวิญญาณ และการขัดเกลาพร้อมกับการยกระดับจิตใจของมนุษย์

มนุษย์ส่วนมากได้ลืมธาตุแท้ความเป็นมนุษย์ของตนเอง ซึ่งมันเป็นความละเอียดอ่อนมากในการสร้างความเข้าใจ เหมือนกับการที่คนทั่วไปได้เห็นทุ่งหญ้าสีเขียวขจีพร้อมกับมนุษย์ที่มีความฉลาด มีโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทำให้เขามองเห็นตัวเองว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถ และจะนับประสาอะไรกับการที่มนุษย์จะขึ้นมาเป็นผู้นำ

ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา มนุษย์ได้ทำการค้นคว้า ทำการวิจัย และทดลองต่าง ๆ เกี่ยวกับสรีระของมนุษย์ จนกระทั่งบัดนี้มนุษย์ก็ยังไม่รู้จักตัวของมนุษย์เอง และจะนับประสาอะไรกับการที่มนุษย์จะไปรู้จักสิ่งที่อยู่พ้นญาณวิสัย และอยู่นอกระบบของธรรมชาติ ซึ่งการไปถึงยังสถานะภาพดังกล่าว มนุษย์ได้มีการวางแผนหรือเตรียมการอะไรไว้บ้าง

มนุษย์ต้องมีการพัฒนาทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กันขณะที่สรีระและร่างกายของเขาต้องการพลังงานเพื่อสร้างความเจริญเติบโต จิตวิญญาณของเขาก็ต้องการพลังเพื่อทำให้มันแข็งแรงเช่นกัน

ดังนั้นจะเห็นว่าผู้นำคือสิ่งนำคือสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ และต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติที่เพียบพร้อม มีจิตวิญญาณที่แนบแน่นกับพระผู้เป็นเจ้าหรือธรรมชาติที่พ้นญาณวิสัยของมนุษย์ และต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเป็นผู้นำนั้นมิได้นำเฉพาะเรื่องภายนอกอย่างเดียว แต่ทว่าต้องชี้นำเรื่องจิตวิญญาณด้วย หรืออาจมีผู้กล่าวว่าเรื่องจิตวิญญาณไม่มีความสำคัญและไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วมนุษย์จะแตกต่างอะไรกับปศุสัตว์ทั่วๆ ไปที่วิถีชีวิตของพวกมันหมกมุ่นอยู่กับการกิน การดื่มและเสพสุขตัณหา แน่นอนสิ่งนี้ย่อมไม่ใช่ความสูงส่งของมนุษย์ เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าได้สร้างมนุษย์มาในอีกลักษณะหนึ่ง มนุษย์นั้นมีจิตวิญญาณที่สูงส่ง และมีสติปัญญาในการคิดซึ่งถือว่าเป็นความพิเศษที่แตกต่างไปจากสรรพสิ่งอื่นๆ นอกจากนั้นแล้ว อัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้ทรงสร้างยังทรงเอาใจมนุษย์เป็นพิเศษ โดยการประทานคัมภีร์ และศาสดาต่างๆ ลงมาเพื่อชี้นำมนุษย์ สรรพสิ่งทั้งหลายบนหน้าแผ่นดิน และในฟากฟ้าพระองค์ได้บันดาลมาเพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากมัน ซึ่งความสมบูรณ์ของสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดอยู่ที่การได้บริการมนุษย์ อัลลอฮฺมิได้ทรงเมตตามนุษย์เฉพาะเรื่องปัจจัยยังชีพเท่านั้น ความเมตตาของพระองค์ได้ครอบคลุมแม้แต่เรื่องจิตวิญญาณของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้ประทานศาสดาต่างๆ ลงมาเพื่อทำหน้าที่ชี้นำจิตวิญญาณของมนุษย์ให้พบกับความสมบูรณ์สูงส่ง อันเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระองค์

อัล-กุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในหลายโองการด้วยกัน อย่างเช่นเรื่องราวของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวกับพระองค์ว่า

رَبَّنَا وَابْعَثْ فِيهِمْ رَسُولاً مِّنْهُمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِكَ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَيُزَكِّيهِمْ إِنَّكَ أَنتَ العَزِيزُ الحَكِيمُ

“ข้าแต่พระผู้อภิบาลของพวกเรา โปรดส่งรอซูลคนหนึ่งคนใดจากพวกเขาไปในหมู่พวกเขา เพื่อท่านจะได้อ่านโองการต่างๆ ของพระองค์ให้พวกเขาฟัง และจะได้สอนคัมภีร์ และความมุ่งหมายแห่งบัญญัติให้พวกเขาทราบ และชำระขัดเกลาพวกเขาให้สะอาด แท้จริงพระองค์ทรงไว้ซึ่งเดชานุภาพและปรีชาญาณยิ่ง” (บะเกาะเราะฮฺ / ๑๒๙)

จากโองการดังกล่าวข้างต้นเป็นที่ประจักษ์ว่า นอกจากความรู้ วิทยปัญญา และการชี้นำแล้วยังมีการขัดเกลาจิตใจ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการประกาศคำสั่งสอนของบรรดาศาสดาทั้งหลาย (อ.)

บนแนวทางที่ทรงเกียรติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ได้มีผู้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาจิตวิญญาณและยกระดับจิตใจของพวกเขา อาทิเช่นท่านซัลมาน ฟารซี ท่านอบูซัรฺ ท่านมิกดารฺ ท่านอัมมารฺ ท่านมัยษัม ท่านอุเวส และท่านอื่นๆ อีกมากมาย การมีอยู่ของพวกเขาได้บ่งบอกถึงความถูกต้องและความบริสุทธิ์จากความชั่วช้าทั้งหลาย บรรดาท่านเหล่านั้นไม่พึงปรารถนาสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ไม่เห็นสิ่งใดนอกจากอาตมันสากลของพระองค์ ไม่มีสิ่งใดสามารถควบคุมจิตวิญญาณและหัวใจของพวกเขาได้นอกจากพระองค์แต่เพียงผู้เดียว

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าแต่ละท่านที่ได้กล่าวนามมานั้นประสบความสำเร็จอย่างสูง และเป็นแบบอย่างของมนุษย์ผู้สมบูรณ์ ท่านได้รับใช้อิสลามไว้อย่างยิ่งใหญ่

ฉะนั้น เรื่องจริยธรรมและการขัดเกลาจิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องล้อเล่น หรือเป็นเรื่องที่กล่าวโคมลอยโดยไม่มีความสำคัญใดๆ ซึ่งไม่มีความแตกต่างและมนุษย์สามารถทำตัวเพิกเฉย ไม่จำเป็นต้องใส่ใจและดำเนินชีวิตไปตามใจปรารถนาของตนเอง ชีวิตมนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีจริยธรรมก็ได้กระนั้นหรือ  หรือว่าในความเป็นจริงจริยธรรมคือตัวสร้างวิถีชีวิตที่ดีให้กับมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สำคัญไปกว่านั้นการมีจริยธรรมที่ดีได้นำพาให้ชีวิตมนุษย์ได้พบกับความสูงส่ง มีจิตวิญญาณที่สะอาดบริสุทธิ์ และได้พบกับความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง

อัล-กุรอานได้กล่าวถึงชีวิตที่เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรม

 مَنْ عَمِلَ صَالِحًا مِّن ذَكَرٍ أَوْ أُنثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً

“ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตแบบมีชีวิตที่ดี” (อัล-นะฮฺลิ / ๙๗)

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ اسْتَجِيبُواْ لِلّهِ وَلِلرَّسُولِ إِذَا دَعَاكُم لِمَا يُحْيِيكُمْ

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย  จงตอบรับอัลลอฮฺและเราะซูลเถิด เมื่อเขาได้เชิญชวนพวกเจ้าสู่สิ่งที่ทำให้พวกเจ้ามีชีวิตชีวาขึ้น” ( อันฟาล / ๒๔)

เป็นที่ชัดเจนว่าชีวิตที่โองการได้กล่าวถึงนั้นเป็นชีวิตที่นอกเหนือไปจากชีวิตทั่วไป เป็นชีวิตด้านในเป็นการทำให้แก่นแท้ของมนุษย์นั้นมีชีวิตขึ้นมา และรวมไปถึงการขัดเกลาจิตวิญญาณ

ไม่มีสิ่งใดนอกจากชีวิตที่เป็นคุณธรรม และการทำให้แก่นแท้ของมนุษย์นั้นมีคุณค่า ซึ่งมันไม่อาจเป็นไปได้นอกจากการสั่งสมความดีและการขัดเกลาจิตวิญญาณเท่านั้น

ชีวิตแห่งคุณธรรมนั้นจะพบได้อย่างไร

สำหรับการค้นหาชีวิตแห่งคุณธรรมนั้นก็เหมือนกับความเร้นลับอื่นๆ ที่ต้องมีเงื่อนไขเป็นกฎเกณฑ์สำคัญ

ชีวิตแห่งคุณธรรมคือ ผลของความประพฤติที่บุคคลนั้นได้ขวนขวายเอาไว้ด้วยตนเอง แน่นอนความประพฤติดังกล่าวนั้นต้องได้รับการอบรมที่ถูกต้อง จากวิทยากรพิเศษแห่งฟากฟ้า

คำสั่งห้ามและคำสั่งใช้ของพระผู้เป็นเจ้าตามหลักวิชาการเรียกว่า ตัชรีอีย์  มีความสอดคล้องกับความจริง และสภาวะที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆ หรือที่เรียกว่า ตักวีนีย์ นั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วมนุษย์นั้นไม่อาจล่วงรู้ถึงเหตุการณ์ความจริง สิ่งที่ดีและไม่ดี และแก่นแท้ของโลกได้ เนื่องจากความรู้ของมนุษย์นั้นมีน้อยและอยู่ในขอบเขตจำกัด ดังนั้นมนุษย์จึงไม่รู้ถึงความประพฤติที่เป็นตัวสร้างจิตวิญญาณและชีวิตที่มีคุณธรรมได้ แต่ทว่าบรรดาอิมาม (อ.) นั้นล่วงรู้ถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างดี เนื่องจากท่านได้รับวิชาการและการดลใจจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

เมื่อเป็นเช่นนั้นเราควรเรียนรู้และปฏิบัติตามบุคคลทั่วไป หรือว่าเราจะเลือกปฏิบัติตามบุคคลที่คำพูดของพวกเขาสามารถมั่นใจได้ การกระทำและความประพฤติของพวกเขาปราศจากความผิดพลาดและบาปทั้งปวง

อัลลอฮฺ (ซบ.) จะไม่ทรงมอบหน้าที่ใดแก่บุคคลที่เขายังไม่ได้รับทางนำให้ไปทำหน้าที่ชี้นำคนอื่นเด็ดขาดอัล-กุรอานกล่าวว่า

أَفَمَن يَهْدِي إِلَى الْحَقِّ أَحَقُّ أَن يُتَّبَعَ أَمَّن لاَّ يَهِدِّيَ إِلاَّ أَن يُهْدَى فَمَا لَكُمْ كَيْفَ تَحْكُمُونَ

“ดังนั้น ผู้ที่นำทางสู่สัจธรรมสมควรกว่าที่จะได้รับการปฏิบัติตาม หรือว่าผู้ที่ไม่ได้รับทางนำ นอกเสียจากว่าเขาจะถูกชี้นำ เป็นอันใดแก่พวกท่านหรือ ทำไมพวกท่านจึงตัดสินเช่นนั้น” (ยูนุส/ ๓๕)    

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิมาม นั้นไม่ได้หมายถึงการชี้นำธรรมดา เนื่องจากว่าสิ่งนี้เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ไม่ได้เฉพาะเจาะจงอยู่ที่อิมามเท่านั้น

จุดประสงค์ของ ฮิดายะฮฺ (การชี้นำ) คือการชี้นำไปสู่คำสั่ง ถ้าพวกเขายังไม่ได้พบกับชีวิตแห่งคุณธรรม และแก่นแท้ของความจริง พวกเขาจะไม่มีวันชี้นำเช่นนั้นได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้นถ้าหากพิจารณาโองการที่เกี่ยวกับอิมามและการชี้นำจะพบว่า หลังจากคำว่า อิมาม จะมีคำว่า ฮิดายะฮฺไปสู่คำสั่งตามมาเสมอ