กุรอานถูกเปลี่ยนแปลงหรือ

คัมภีร์ต่างที่บรรดาศาสดาก่อนหน้านั้นได้นำมาเผยแผ่ น่าเสียดายว่าหลังจากที่ท่านได้จากไปกลุ่มนักวิชาการได้ทำการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และเกี่ยวกับเรื่องนี้นอกจากอัล-กุรอานจะกล่าวถึงแล้วประวัติศาสตร์ยังได้บันทึกไว้เป็นหลักฐานสำคัญ ถ้าหากศึกษาเนื้อหาสาระของคัมภีร์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ตัวของคัมภีร์จะฟ้องว่าได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เนื่องจากเนื้อหาสาระบางตอนได้ถูกเพิ่มเติมาลงไป ซึ่งไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นวะฮฺยูสักนิดเดียว คัมภีร์อินญีลที่มีอยู่ในปัจจุบันเนื้อหาส่วนมากจะกล่าวถึงการดำรงชีวิตของท่านศาสดาอีซา (อ.) จนกระทั่งถูกนำตัวไปตึงไม้กางเขน อย่างไรก็ตามแม้ว่าคัมภีร์เหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่อัล-กุรอานยังคงสภาพเหมือนเดิมทุกประการมิได้มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง หรือไม่ได้เพิ่มให้มากหรือลดน้อยลงไป ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ถ่ายทอดอัล-กุรอานทั้งหมด ๑๑๔ ซูเราะฮฺแก่ประชาชาติ โดยมีท่านอะลีเป็นผู้จดบันทึกตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายแห่งการประทานวะฮฺยู แม้ว่าระยะเวลาจะผ่านไปถึง ๑๕ ศตวรรษแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีสิ่งใดเพิ่มหรือลดไปจากอัล-กุรอานแม้แต่นิดเดียว นั่นแสดงว่าอัล-กุรอานไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้สามารถกล่าวได้วา

๑. อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นผู้ปกป้องความบริสุทธิ์ของอัล-กุรอานพระองค์เอง เมื่อเป็นเช่นนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร อัล-กุรอานกล่าวว่า

إِنَّا نَحْنُ نَزَّلْنَا الذِّكْرَ وَإِنَّا لَهُ لَحَافِظُونَ

“แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) นี้ลงมา และแท้จริงเราเป็นผู้พิทักษ์อย่างแน่นอน” [๑]

๒.อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสว่าจะไม่มีความเท็จและสิ่งโมฆะใดเข้าก่ำกายอัล-กุรอานได้อย่างเด็ดขาด อัล-กุรอานกล่าวว่า

لَا يَأْتِيهِ الْبَاطِلُ مِن بَيْنِ يَدَيْهِ وَلَا مِنْ خَلْفِهِ تَنزِيلٌ مِّنْ حَكِيمٍ حَمِيدٍ

“จะไม่มีความเท็จจากด้านหน้าและจากด้านหลังก่ำกายเข้าสู่อัล-กุรอาน (เพราะ) เป็นการประทานจากพระผู้ทรงปรีชาญาณผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ” [๒]

ความเท็จที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงห้ามความก่ำกายเข้าสู่อัล-กุรอานหมายถึงความเท็จทุกประเภทที่เป็นการดูถูกอัล-กุรอาน ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มหรือลดจำนวนคำ โองการ และซูเราะฮฺอันเป็นสาเหตุทำให้อัล-กุรอานอ่อนแอและเป็นการดูหมิ่นอย่างใหญ่หลวง ด้วยเหตุนี้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามอัล-กุรอานจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงหรือถูกเพิ่มกรือลดจำนวนอย่างเด็ดขาด

๓. ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่ามุสลิมได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการเรียนรู้ และท่องจำอัล-กุรอาน  ในสมัยท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีชนอาหรับที่มีความจำดีเยี่ยมจำนวนมาก พวกเขาได้ฟังการเทศนาธรรมที่ยาว ๆ จากท่านเพียงครั้งเดียวก็สามารถท่องจำได้หมด ด้วยเหตุนี้เป็นไปได้อย่างไรที่อัล-กุรอาน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจอ่านและท่องจำจำนวนมากเช่นนี้จะถูกเปลียนแปลง

๔.ไม่เป็นที่สงสัยว่าท่านอิมามอะลี (อ.) มีความคิดขัดแย้งอย่างรุนแรงกับบรรดาเคาะลิฟะฮฺทั้งหลาย และท่านได้แสดงเหตุผลอย่างเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ประจักษ์ชัดอยู่ทุกวันนี้คือ คุฏบะฮฺชักชะกียะฮฺ แต่อย่างไรก็ตามตลอดอายุขัย ท่านอิมามไม่เคยกล่าวว่าอัล-กุรอานถูกเปลี่ยนแปลง สมมติว่าอัล-กุรอานถูกเปลี่ยนแปลงจริง (ขออัลลอฮฺทรงปกป้องเราให้ออกห่างจากความคิดเหล่านี้) ท่านอิมามคงจะไม่นิ่งเฉยอย่างแน่นอน ในทางกลับกันท่านเป็นผู้เชิญชวนให้ประชาชนทำการใคร่ครวญอัล-กุรอานให้มากขึ้น ท่านอิมามกล่าวว่า

“โอ้ประชาชนเอ๋ย บุคคลใดปฏิบัติตามอัล-กุรอานเขาจะไม่ยากจนขัดสน และบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามอัล-กุรอานเขาจะไม่ร่ำรวยละจะไม่ไร้ซึ่งความต้องการ ฉะนั้นท่านจงเป็นเมล็ดพันธ์ที่ดี และเป็นผู้ปฏิบัติตามอัล-กุรอานเถิด” [๓]

จากสิ่งที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าอัล-กุรอานมิได้รับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น และเป็นความเห็นพร้องต้องกันของนักปราชญ์ทั้งฝ่ายซุนีย์และชีอะฮฺ ณ ที่นี้จะนำเสนอทัศนะของนักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺผู้ปฏิบัติตามแนวทางของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่กล่าวว่า อัล-กุรอานบริสุทธิ์จากการเปลี่ยนแปลง เช่น

๑. ท่านฟัฎลิบนิชาซาน เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๒๖๐ ได้อยู่ร่วมสมัยกับท่านอิมามฮะซันอัซการียฺ (อ.) หนังสือ อัลอีฎอห์ หน้าที่ ๒๑๗

๒. เชคซะดูก เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๓๘๑ หนังสืออัล-อิอฺติกอดาต หน้าที่ ๙๓

๓.เชคมุฟีด เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๔๑๓ หนังสืออัจวะบะตุลมะซาอิลิลซัรวียะฮฺ พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ อัรระซาอิล หน้าที่ ๒๖๖

๔. ซัยยิดมุรตะฎอ เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๔๓๖ หนังสือ ญะวาบุลมะซาอิล ซึ่งคำพูดของท่านเชคฏะบัรเราะซียฺ ได้นำมากล่าวอ้างอิงไว้ในคำนำหนังสือตัฟซีรมัจมะอุลบะยาน

๕. เชคฏูซีย์ รู้จักกันในนามของเชคฏออิฟะฮฺ เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๔๖๐ หนังสืออัลฏิบยาน ๑/๓

๖.เชคเฏาะบัรเราะซียฺ  เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๕๔๘ ได้บันทึกไว้ในคำนำหนังสือของท่าน มัจมะอุลบะยาน ได้กล่าวย้ำว่า อัล-กุรอานไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง

๗. ซัยยิด อิบนิ ฏอวูซ เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๖๖๔ บันทึกไว้ในหนังสือ ซะอฺดุซซุอูด หน้าที่ ๑๔๔ ว่า ทัศนะของชีอะฮฺคือ อัล-กุรอานไม่ถูกเปลี่ยนแปลง

๘. อัลลามะฮฺ ฮิลลียิ เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๗๒๖ บันทึกในหนังสือ อัจวะบะตุลมะซาอิล อัลมะฮฺนาวียะฮฺ หน้าที่ ๑๒๓ ว่า ในความเป็นจริงแล้วไม่มีการเพิ่มหรือลดในอัล-กุรอานแต่อย่างใด และฉันขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ให้ออกห่างจากความคิดเช่นนี้ เพราะมันทำให้เกิดสงสัยคลางแคลงใจกับมุอฺญิซะฮฺ (ปาฏิหาริย์) ที่เป็นอมตะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

และนี่เป็นคัวอย่างนักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺที่เชื่อว่าอัล –กุรอานไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง และข้าพเจ้าขอย้ำว่าสิ่งนี้เป็นความเชื่อของนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของชีอะฮฺ เป็นความเชื่อที่มีในทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ในปัจจุบันบรรดานักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อิสลาม (มะรอญิอฺตักลีด) ทุกท่านก็มีความเห็นพร้องต้องกันในความเชื่อนี้

ในตำราฮะดีซ และตัฟซีร ริวายาตี บางเล่มเชื่อว่าอัล-กุรอานได้ถูกเปลี่ยนแปลง แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาตรงนี้คือ

ประการแรก ริวายะฮฺที่ยอมรับว่าอัล-กุรอานได้ถูกเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่รายงานมาจากบุคคลหรือตำราที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ เช่น กิตาบกะรออาต อะฮฺมะดิบนิ มุฮัมมัด ซัยยารียฺ เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ. ที่ ๒๘๖ นักริญาล (ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสายรายงานและผู้รายงานฮะดีซ) ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ริวายะฮฺของเขาอ่อนเชื่อถือไม่ได้ และฟาซิดุลมัซฮับ (แนวทางของเขาโมฆะ) [๔]

หนังสืออะลี บิน อะฮฺมัดกูฟียฺ เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ.ที่ ๓๕๒ นักริญาลส่วนใหญ่พูดถึงเขาว่า บั้นปลายชีวิตได้กลายเป็นผู้มีความประพฤติที่เกินขอบเขตทั้งความเชื่อและการปฏิบัติ [๕]

ประการที่สอง บางส่วนของริวายะฮฺที่ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอัล-กุรอานสามารถอธิบายในความหมายอื่นได้ อีกนัยหนึ่งได้นำเอาโองการต่าง ๆ ไปเทียบกับตัวอย่างที่เป็นจริงตามริวายะฮฺ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้บางคนคิดว่าการอธิบายความที่ตรงกับตัวอย่างเป็นส่วนหนึ่งของอัล-กุรอาน จึงได้ตัดส่วนนั้นออกไป เช่น อัล-กุรอานกล่าวว่า ซิรอฏ็อลมุซตะกีม (หนทางที่เที่ยงธรรม) ในซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ ซึ่งริวายะฮฺกล่าวว่า ซิรอฏ็อลมุซตะกีม หมายถึง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และลูกหลานที่สนิทของท่าน จะเห็นว่าการอธิบายเช่นนี้เป็นการเทียบความหมายทั้งหมดกับบุคคลที่มีฐานะภาพและเกียรติยศสูงส่ง [๖]

ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ได้แบ่งริวายะฮฺที่กล่าวว่าอัล-กุรอานถูกเปลี่ยนแปลงออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้

๑. ริวายะฮฺที่อ่อน (ทั้งสายรายงานและตัวบท) ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลในการพิสูจน์หาความจริงได้

๒. ริวายะฮฺอุปโลกน์ ซึ่งเห็นภาพลักษณ์ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นอย่างชัดเจน

๓. ริวายะฮฺเซาะฮียฺ (เชื่อถือได้)  ถ้าหากใคร่ครวญในความหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจุดประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงอัล-กุรอานคือ การเปลี่ยนแปลงด้านความหมายไม่ใช่คำหรือประโยค[๗]

๓. บุคคลที่ต้องการทราบถึงหลักความเชื่อที่แท้จริงของมัซฮับ (นิกาย) และผู้ปฏิบัติตามสมควรศึกษาจากตำราที่กล่าวถึงหลักความเชื่อและการปฏิบัติ ไม่ใช่ศึกษาจากตำราฮะดีซที่ผู้เขียนได้แสดงทัศนะของตนส่วนใหญ่และปล่อยให้การวิจัยเป็นหน้าที่ของคนอื่น หรือศึกษาทัศนะส่วนน้อยของนิกายเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักความเชื่อ ย่อมไม่เพียงพอและเป็นไปไม่ได้ โดยหลักการแล้วการยึดถือคำพูดของคนเพียงคนเดียว หรือสองคนโดยปล่อยทัศนะที่เชื่อถือได้ของนัปราชญ์ส่วนใหญ่ไม่ใช่ความถูกต้อง และไม่สามารถนำมาเป็นมาตรการในการตัดสิน

ประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องกล่าวในช่วงท้ายของเรื่องการเปลี่ยนแปลงอัล-กุรอาน กล่าวคือ

๑. การว่าร้ายเรื่องการเปลี่ยนแปลงอัล-กุรอานระหว่างมัซฮับต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ย่อมไม่เป็นผลดีกับอิสลามแม้แต่นิดเดียว นอกเสียจากเป็นประโยชน์กับศัตรู

๒. แม้ว่าจะมีนักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺบางท่านเขียนหนังสือเรื่องการเปลี่ยนแปลงอัล-กุรอาน แต่สิ่งนั้นเป็นเพียงทัศนะส่วนตัว ไม่ใช่ทัศนะส่วนใหญ่ของนักปราชญ์ที่เชื่อถือได้ฝ่ายชีอะฮฺ ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่า ภายหลังจากที่หนังสือเล่มดังกล่าวได้พิมพ์ออกจำหน่าย มีนักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺจำนวนมากทั้งทำการวิพากอย่างรุนแรง และเขียนหนังสือต่อต้าน  เหมือนกับเหตุการณ์ในช่วงปี ฮ.ศ. ที่ ๑๓๔๕ มีนักปราชญ์ฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺท่านหนึ่งในประเทศอียิปต์เขียนหนังสือชื่อ อัล-ฟุรกอน โดยนำริวายะฮฺเกี่ยวกับเรื่องการนัซคฺ (ยกเลิก) การอ่านโองการอัล-กุรอานที่บันทึกไว้ในตำราฮะดีซของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ มาเป็นประเด็นเพื่อพิสูจน์การเปลี่ยนแปลงอัล-กุรอาน หลังจากนั้นได้มีนักปราชญ์จากหลายสำนักออกมาต่อต้านและเขียนหนังสือเพื่อหักล้าง

๓.อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์สำหรับมุสลิมทั้งโลก ทีทั้งสิ้น ๑๑๔ บท (ซูเราะฮฺ) บทแรกคือ อัล-ฟาติหะฮฺ และบทสุดท้ายคือ อัน-นาซ ทั้งหมดเป็นพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าเรียกว่า อัล-กุรอาน ซึ่งถูกอธิบายด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น มะญีด กะรีม และฮะกีม อัล-กุรอาน

ق وَالْقُرْآنِ الْمَجِيدِ

“ก็อฟขอสาบานด้วยอัลกุรอานอันทรงเกียรติ” [๘]

إِنَّهُ لَقُرْآنٌ كَرِيمٌ

“นั่นคือ กุรอานอันทรงเกียรติ ซึ่งอยู่ในบันทึกที่ถูกพิทักษ์ไว้”[๙]

وَالْقُرْآنِ الْحَكِيمِ

“ยาซีน ขอสาบานด้วยอัลกุรอานที่ยิ่งดัวยวิทยญาณ”[๑๐]

บางครั้งมุสลิมเรียกอัล-กุรอานว่า มุซฮับ คำว่า มุซฮับ ในภาษาอาหรับหมายถึงต้นฉบับต่าง ๆ ที่เขียนด้วยใบไม้และนำมารวมไว้ที่เดียวกัน มีคำกล่าวว่าภายหลังจากที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) สิ้นชีวิตลงต้นฉบับของบทต่าง ๆ (ซูเราะฮฺ) ได้ถูกนำมารวมไว้ที่เดียวกัน  และมีสาวกบางท่านได้เสนอให้ตั้งชื่อว่า มุซฮับ [๑๑]

ด้วยเหตุนี้ มุซฮับจึงหมายถึง ต้นฉบับที่บันทึกด้วยใบไม้และถูกนำมารวมเป็นเล่มเดียวกัน ซึ่งบางครั้งอาจหมายถึง อัล-กุรอาน หรือคัมภีร์อื่นก็ได้ และมุซฮับยังถูกนำไปใช้ในความหมายที่แตกต่างกัน เช่น บางครั้งอัล-กุรอานเรียกบัญชีอะอฺมาลว่า ซุฮุบ กล่าวว่า

وَإِذَا الصُّحُفُ نُشِرَتْ

“และเมื่อบันทึกทั้งหลายถูกกางแผ่”(อัตตักวีร/๑๐)

บางครั้งคัมภีร์แห่งฟากฟ้าเล่มอื่นถูกเรียกว่า ซุฮุบ เช่นกัน อัล-กุรอานกล่าวว่า

صُحُفِ إِبْرَاهِيمَ وَمُوسَى

“คือคัมภีร์ของอิบรอฮีมและมูซา”[๑๒]

โองการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคำว่า เซาะฮีฟะฮฺ หรือ มุซฮับ มีความหมายกว้าง แม้ว่าภายหลังจากการสิ้นชีพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะถูกนับว่าเป็นนามหนึ่งของอัล-กุรอานก็ตาม

ไม่เป็นที่สงสัยว่า ทำไมการบันทึกของบุตรีสุดที่รักยิ่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงถูกเรียกว่าเป็นมุซฮับ ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

“นับจากวันสิ้นชีพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) บุตรีสุดที่รักยิ่งของท่านก็มีชีวิตอยู่ได้เพียง ๗๕ วันเท่านั้น และระยะเวลาระหว่าง ๗๕ วัน ท่านได้เผชิญกับอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ มากมายที่สาดซัดอย่างบ้าคลั่งเข้ามาในชีวิต สภาพชีวิตในช่วงนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสมัยที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ยังมีชีวิตอยู่ ญิบรออีลจึงได้ถูกบัญชาให้ลงมา เพื่อแจ้งสถานะภาพของท่านศาสดา และของท่านหญิง ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงทำให้ท่านหญิงได้สงบลงบ้าง และญิบรออีลได้แจ้งเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นให้ท่านหญิงทราบ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้บันการรายงานของญิบรออีลตามคำบอกเล่าของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) และสิ่งนี้คือมุซฮับของฟาฏิมะฮฺ (อ.) นั่นเอง”[๑๓]

ท่านอบูญะอฺฟัรได้รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “มุซฮับของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) ไม่มีสิ่งใดจากอัล-กุรอาน (อย่าคิดว่าเป็นอัล-กุรอาน) เพราะว่าสิ่งนั้นได้ถูกดลให้กับท่านหญิงภายหลังจากบิดาของท่านได้สิ้นชีวิตลง” [๑๔]

ในบทต่อ ๆ ไปจะกล่าวถึงบุคคลที่ไม่ได้เป็นศาสดา เพียงแต่เป็นบุคคลที่มีเกียรติยศ และมีความสูงส่ง  บรรดามะลาอิกะฮฺได้ลงมาและพูดกับเขา ซึ่งเรียกพวกเขาว่า มุฮัดดิซ และนามหนึ่งของท่านหญิงคือ มุฮัดดะซะฮฺ


[๑](อัล-ฮิจร์/๙)

[๒](ฟุซซิลัด/๔๒)

[๓](นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คุฎบะฮฺที่ ๑๗๑)

[๔](ริญาล นะญาชียฺ ๑/๒๑๑ ลำดับฮะดีษแปล ๑๙๐)

[๕](ริญาล นะญาชียฺ ๑/๙๖ ลำดับฮะดีษแปล ๖๘๙)

[๖](เฏาะบัรเราะซียฺ มัจมะอุลบะบาย ๑/๒๘)

[๗] (ตะฮฺซีบุลอุซูล ๒/๙๖)

[๘](อัล-กอฟ/๑)

[๙] (อัล-วากิอะฮฺ/๗๗)

[๑๐] (ยาซีน/๒)

[๑๑](อัลอิตติกอน ๑๑/๘๕)

[๑๒] (อะอฺลา/๑๙)

[๑๓] (อัล-กาฟียฺ ๑/๑๙๕)

[๑๔](บะซออิรุลดะเราะญาต หน้าที่ ๑๙๕)