บทที่ ๕ สระต่าง ๆ

สระเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญของหลักการอ่านอัล-กุรอาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้อ่านทุกท่านที่ต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างท่องแท้สระในภาษาอาหรับแบ่งออกเป็น สระเสียงสั้น เสียงยาว และสระที่ใช้สะกดมีทั้งสิ้น ๑๑ ตัวได้แก่ اْ اّ اَ اِ اُ اً اٍ اٌ ئَا اِيْ اُوْ

สระทั้ง ๑๑ ตัวถูกแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดดังนี้

๑. สระที่ตายตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงมี ๓ สระได้แก่ اَ اِ اُ

๒. สระที่ไม่ตายตัว หมายถึงสระที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะของมันมี ๘ สระดังนี้

اْ اّ اً اٍ اٌ ئَا اِيْ اُوْ

รายละเอียดของสระแต่ละตัว

๑. ฟัตฮะฮฺ หรือ สระอะ หมายถึง เปิด หมายถึงเปิดปากอย่างเดียวเมื่อสระดังกล่าวไปตกอยู่บนอักษรใดก็ตาม เช่น اَ بَ تَ خَ صَ ضَ طَ ظَ قَ رَ อะ บะ ตะ เคาะ เซาะ เฎาะ เฏาะ เซาะ เกาะ เราะ เป็นต้น

ข้อสังเกต การอ่านอักษรและสระแต่ละตัวให้อ่านตามฐานเสียงของอักษรเหล่านั้นเช่น

كَسَبَ وَوَجَدَكَ عَائِلاً فَاَغْنِا أَوَلَمْ يَرَوْا أَنَّاخَلَقْنَا لَهُمْ فَكَذَّبُوْ هُمَا فَعَزَّزْنَا بِثَالِثٍ

๒. กัซซะเราะฮฺ หรือ สระอิ หมายถึง แตก หรือแบะออก ในที่นี้หมายถึงอักษรที่มีกัซซะเราะฮฺ เวลาอ่านให้แยกหรือแบะริมฝีปากล่างพร้อมทั้งหย่อนปากลิ้นลงมาสู่โคนฟัน ไม่ว่าจะเป็นอักษรใดก็ตาม เช่น بِنِعْمَةِอ่านว่า บินิอฺมะติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการอ่านเนื่องจากเป็นกัซซะเราะฮฺ เป็นสระตายตัว ฉะนั้น จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเสียง

ข้อสังเกตุ กัซซะเราะฮฺเมื่อปรากฏบนอักษรใดก็ตามจะอ่านออกเสียง อิ เสมอ ซึ่งเสียงจะเปลี่ยนไปตามอักษรนั้น เช่น اِ بِ تِ ثِ جِ حِ خِ دِ ذِ رِ อิ บิ ติ ซิ ญิ ฮิ คิ ดิ ซิ ริ เป็นต้น

๓. ฎอมมะฮฺ หรือสระอุ หมายถึงการรวม กล่าวคือเมื่อสระตัวนี้ไปปรากฏบนอักษรใดก็ตามเวลาอ่านต้องห่อริมฝีปากทั้งสองข้างแล้วจึงออกเสียง เช่น يَدُعٌّ الْيَتِيْمَ อ่านว่า ยะดุอฺอุลยะตีมะ เช่น وَلَسَوْفَ يُعْطِيكَ رَبُّكَ فَتَرْضَى

ข้อสังเกต ฎอมมะฮฺเมื่อปรากฏบนอักษรใดก็ตามอักษรนั้นจะอ่านออกเสียงอุเสมอ ซึ่งเสียงจะผันไปตามอักษรนั้น เช่น اُ بُ تُ ثُ جُ حُ خُ دُ อุ บุ ตุ ซุ ญุ ฮุ คุ ดุ เป็นต้น

สระตัวต่อไปที่จะกล่าวถึงคือ ตันวีน (หมายถึงฟัตฮะฮฺ หรือกัซซะเราะฮฺ หรือฎอมมะฮฺบวกกับนูนซากินหรือนูนตาย) ซึ่งมีอยู่ ๓ ประเภทได้แก่

๔.ฟัตฮะตัยนฺ หมายถึง เปิดทั้งสองกล่าวคือเปิดทั้งและให้เสียงขึ้นที่โพรงจมูก เช่น

جًا (جَنْ) حًا(حَنْ) فًا(فَنْ) شًا(شَنْ) صًا(صَنْ) ضًا(ضَنْ)

อ่านว่า ญัน ฮัน ฟัน ชัน ซอน ฎอน

๕. กัซเราะฮฺตัยนฺ หมายถึง แบะสอง หรือแยกสอง กล่าวคือให้แบะริมฝีปากและให้เสียงออกทางโพรงจมูก เช่น

حٍ (حِنْ) بٍٍ (بِنْ) فٍ (فِنْ) جٍ (جِنْ) صٍ (صٍنْ)

อ่านว่า ฮิน บิน ฟิน ญิน ซิน

๖. ฎอมมะตัยนิ หมายถึง หู่ทั้งสอง หรือการหู่ริมฝีปากทั้งสองพร้อมทั้งให้เสียงขึ้นโพรงจมูก เช่น

جٌ (جُنْ) فٌ (فُنْ) بٌ (بُنْ) رٌ (رُنْ) طٌ (طُن)

อ่านว่า ญุน ฟุน บุน รุน ฏุน

أَزْوَاجٌ مُطَهَّرَةٌ وَزَرَابِيَُّ مَبْثُوثَةٌ

สระตัวต่อไปที่จะกล่าวถึงคือ มัด (สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าให้มีการอ่านลากเสียงยาว) มี ๓ ประเภทได้แก่

๗.มัดฟัตฮะฮฺ หมายถึงการเปิดยาว ฉะนั้นเมื่อเครื่องหมายดังกล่าวปรากฏบนอักษรใด เวลาอ่านให้ลากเสียงยาวจาก อะ เป็น อา เช่น

إِله سموات امن يقوم

อ่านว่า อิลาฮุน ซะมาวาติ อามะนะ ยะกูมุ เหมือนกับว่าฟัตฮะฮฺได้ผสมรวมกับอลีฟ ดังนั้นเสียงที่ออกคือ อา ตลอด

๘.มัดกัซซะเราะฮฺ หมายถึงแยกยาว ฉะนั้นเวลาอ่านให้แยกริมฝีปาก และให้เสียงยาวออกมา เช่น (عَمَلِهِ) อ่านว่า อะมะลิฮี เหมือนกับว่า กัซซะเราะฮฺได้ผสมรวมกับยา ดังนั้น เสียงที่ออกคือ อี เสมอ

๙.มัดฎอมมะฮฺ หมายถึงรวมยาว หมายถึงรวมริมฝีปากและให้เสียงยาวออกมา เหมือนกับว่า เป็นการผสมกันระหว่างฎอมมะฮฺกับวาว ดังนั้นเสียงที่ออกคือ อู เสมอ เช่น (إنَّهُ لَهُ)

อ่านว่า อินนะฮู ละฮู

๑๐.อัซซุกูน ( ْ ) แปลว่า หยุดนิ่งหรือตาย หมายถึงอัซซุกูนไปปรากฏบนอักษรใดก็ตามอักษรนั้นจะหยุดนิ่งไม่มีเสียงขึ้นมาอีก ยกเว้นอักษรที่เป็น กอลเกาะละฮฺ (เสียงสะท้อน) เพราะเมื่อเป็นซุกูนจะมีเสียงสะท้อนขึ้นมาเล็กน้อย

๑๑.อัชชิดดะฮฺ หรือตัชดีด หมายถึงการเน้นหนัก ดังนั้นเมื่อชิดดะฮฺปรากฏบนอักษรใดก็ตาม จะมีการเน้นหนักจนกลายเป็นเสียงขึ้นมา แต่น่าสังเกตตรงที่ว่าการเน้นหนักแต่ละที่นั้นไม่เหมือนกัน ชิดดะฮฺแบ่งออกเป็น ๔ ชนิดได้แก่

-อัชชิดดะตุลอัมกะนุ หมายถึงการเน้นหนักมาก ดังนั้นเมื่อชิดดะฮฺปรากฏบนอักษร ลาม หรือ รอ ต้องอ่านออกเสียงเน้นหนักเป็นพิเศษ เช่น

للهِ الله الرَّحمن من رَّبِّكُم لَضَالُّون

- อัชชิดดะตุต ตะรอคี หมายถึงการเน้นช้า ๆ ดังนั้นเมื่อชิดดะฮฺปรากฏบนอักษร นูน หรือ มีม ไม่ต้องรีบออกเสียงให้ออกเสียงช้า ๆ เช่น إِنَّ أَنَّ أمَّا مِمَّا

- อัชชิดดะตุ ฆอยรุมุมกิน หมายถึงไม่มีการเน้นมีไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการอิดฆอม ดังนั้นถ้าชิดดะฮฺปรากฏบนอักษร ยา วาว มีม นูน ให้รู้ว่าที่นั้นเป็นฮุกุมของอิดฆอมมะอัลฆุนนะฮฺ ไม่จำเป็นต้องเน้นเสียง เช่น

مِنْ وَّاقٍ مَنْ يَّقُولُ مِنْ نِّعْمَةٍ مِنْ مِّثْلِهِ

- อัชชิดดะตุลมุมกิน หมายถึงการเน้นหนักธรรมดา ดังนั้นถ้าชิดดะฮฺปรากฏบนอักษรต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ ลาม รอ นูน มีม หรือในรูปของอิดฆอมมะอัลฆุนนะฮฺ จะมีการอ่านเน้นเสียงปานกลาง หรือระหว่างเน้นมากกับเน้นน้อย เช่น

فَسَوَّى إيَّاك وَالسَّمَاءِ قجَقَّ عَلَيْنَا قَوْلُ رَبَّنَا تُكَذِّبُوْنَ وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ مُتَّكِئُوْنَ