การโอ้อวดเป็นชิกรฺ

การโอ้อวดหมายถึง การที่มนุษย์ได้กระทำคุณงามความดีเพื่อสิ่งอื่นไม่ใช่พระเจ้า

รายงานจากอิมามท่านหนึ่งกล่าวว่า การโอ้อวดคือการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ตามหลักการอิสลาการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้ามีหลายระดับด้วยกัน กล่าวคือ

บางครั้งการตั้งภาคีเทียบเคียงก็ปรากฏรูปโฉมให้เห็นอย่างชัดเจนดังเช่น การเคารพรูปปั้นบูชา การบูชาดวงตะวัน ดวงเดือน และดวงดาว และบางครั้งก็ละเอียดอ่อนแม้กระทั่งมนุษย์ก็ไม่ทราบว่านั่นคือ การเคารพรูปปั้นบูชา การโอ้อวดเป็นการปรากฏการที่แผ่วบางและซ่อนเร้นผสมอยู่ในการกระทำและภารกิจต่างๆ ของมนุษย์ โดยที่ผู้นั้นไม่รู้ตัวว่าตนกำลังแสดงความโอ้อวด

รายงานจากบรรดาผู้นำผู้บริสุทธิ์กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการตั้งภาคีเทียบเคียงและการจำแนกสิ่งเหล่านั้นมีความละเอียดอ่อนและประณีตอย่างยิ่ง ประหนึ่งการระบุการเคลื่อนไหวของมดดำในเวลากลางคืนบนแผ่นหินสีดำ ด้วยเหตุนี้ ถ้าปราศจาการระมัดระวังอย่างดีเป็นพิเศษ ความพยายามและการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องของพระเจ้าเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะออกห่างจาก การตั้งภาคีเทียบเคียงกับพระเจ้า

เครื่องหมายของการตั้งภาคีเทียบเคียง

1. การทักท้วงกฎเกณฑ์ของพระเจ้าและผู้ปกครองของพระองค์ อัล-กุรอาน กล่าวว่า คราใดที่ได้มีเราะซูลนำสิ่งที่ไม่สบอารมณ์ของพวกเจ้ามายังพวกเจ้า พวกเจ้าก็แสดงความยโสแล้วกลุ่มหนึ่งจากพวกเจ้าได้ปฏิเสธ และอีกกลุ่มหนึ่งก็จะสังหารเสียกระนั้นหรือ (อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะฮฺ โองการที่ 87)

- พวกเขาทักท้วงการงานของพระเจ้า อัล-กุรอานกล่าวว่า เจ้ามิได้มองดูบรรดาผู้ที่ถูกกล่าวว่า จงระงับมือของพวกเจ้าเสียก่อน จงดำรงนมาซและจงบริจาคซะกาต (ทานบังคับ) ครั้นเมื่อการสงครามได้ถูกกำหนดขึ้นแก่พวกเขา ทันใดนั้นชนกลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเขาก็กลัวมนุษย์เช่นเดียวกับกลัวอัลลอฮฺ หรือกลัวยิ่งกว่า พวกเขากล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของเรา เพราะเหตุใดพระองค์จึงได้กำหนดการสงครามขึ้นแก่พวกเรา (อัล-กุรอาน บทอันนิซาอฺ โองการที่ 77)

- เมื่อพวกเขาเผชิญกับการลงโทษของพระเจ้าพวกเขาก็กล่าวว่า โอ้ มูซา เราไม่สามารถอดทนต่ออาหารชนิดเดียวอีกต่อไปได้ ดังนั้น จงวิงวอนต่อพระเจ้าของท่านเถิด (อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะฮฺ โองการที่ 61)

- ครั้นเมื่อพระเจ้าทรงยกอุทาหรณ์พวกเขาก็ทักท้วงเป็นการใหญ่ว่า นี่มันอุทาหรณ์อะำไรกันที่พระเจ้าทรงยกมา และพวกเขาก็ได้ร้องถามแบบเย้ยหยัน อัล-กุรอาน กล่าวว่า

แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงละอายในการยกอุทาหรณ์ขึ้นเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นริ้นสักตัวหนึ่งหรือสิ่งที่ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนบรรดาผู้ศรัทธาต่างรู้ว่าแท้จริงสิ่งนั้น คือ ความจริงที่มาจากพระเจ้าของพวกเขา และส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธจะพูดว่า อัลลอฮฺทรงประสงค์สิ่งใดในการยกอุทาหรณ์เหล่านี้ (อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะฮฺ โองการที่ 26)

2. ใช้ชีวิตอย่างผู้อธรรม คำวาฏอฆูต หมายถึงบุคคลที่ยืนหยัดต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าในลักษณะของการฝ่าฝืนหรือละเมิด ดังนั้น การฟังคำสั่งของผู้ละเมิดจึงว่าเป็นการตั้งภาคีเทียบเคียงกับพระเจ้า (ชิกรฺ)

3. ยึดถือสิ่งอื่นว่าดีกว่าพระเจ้า อัล-กุรอานกล่าวว่า จงกล่าวเถิดว่า หากบรรดาบิดาและบรรดาลูก ๆ ของสูเจ้า บรรดาพี่น้อง บรรดาคู่ครอง บรรดาเครือญาติ บรรดาทรัพย์สมบัติที่สูเจ้าแสวงหาไว้ สินค้าที่สูเจ้ากลัวว่าจะจำหน่ายไม่ออก และบรรดาที่เคหสถานที่สูเจ้าพึงพอใจนั้น เป็นที่รักใคร่สำหรับพวกเจ้ายิ่งไปกว่าอัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์และการต่อสู้ในทางของพระองค์แล้วไซร้ สูเจ้าจงรอคอยกันเถิดจนกว่าอัลลอฮฺจะทรงนำกำลังและการลงโทษของพระองค์มายังเจ้า (อัล-กุรอาน บทอัตเตาบะะฮฺ โองการที่ 24) ดังนั้นการรักหรือหลงใหลสิ่งเหล่านี้มากเกินไปกว่าพระเจ้าแล้วถือว่าเป็น การตั้งภาคีเทียบเคียงพระองค์ (ชิกรฺ)

ตลอดจนการบูชาพรรค บูชาแนวทาง หรือบูชาอุดมคติสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นชิกรฺ (การตั้งภาคีเทียบเคียงพระองค์) ทั้งสิ้น บางครั้งความอคติและฝ่ายสนับสนุนที่ไม่มีเหตุผลถือว่ามีรากที่มาจากการตั้งภาคีเทียบเคียงพระองค์ แน่นอน ประเด็นดังกล่าวนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการปกป้อง หรือการยืนหยัดในแนวทางแห่งสัจธรรมแม้ว่าจะกระทำไปด้วยความโง่เขลาก็ตาม

เครื่องหมายของหัวใจที่เป็นชิกรฺ

อัล-กุรอานในบทอัซซุมัรกล่าวว่า และเมื่อพระนามอัลลอฮฺถูกกล่าวเพียงพระองค์เดียว จิตใจของบรรดาผู้ไม่ศรัทธาต่อวันสุดท้ายของโลกก็รังเกียจ แต่เมื่อบรรดาเจว็ดอื่นนอกจากพระองค์ถูกกล่าวออกมา พวกเขาก็แสดงความดีใจ (อัล-กุรอาน บทอัซซุมัร โองการที 45) ประหนึ่งเมื่อมีผู้กล่าวว่าจงปฏิบัติกับกลุ่มชนนั้นด้วยกฎเกณฑ์ของพระเจ้าด้วยความเคร่งครัด เนื่องจากหน้าที่ๆ มีต่อพระเจ้าคือการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ สีหน้าของพวกเขาจะเปลี่ยนไปทันที แต่เมื่อกล่าวว่าจงปฏิบัติกับพวกเขาตามกฎของสหประชาชาติใบหน้าของพวกเขาจะยิ้มแย้มแจ่มใสทันที ดังนั้น เมื่อกล่าวว่า พระเจ้าทรงประสงค์ พวกเขาจะแสดงสีหน้าบึ้งตึงทันที่ แต่ถ้ากล่าวว่า ประชาชนเขามีความหวังและรออยู่นะ พวกเขาจะแสดงความดีใจทันที ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมดพวกเขาได้เลือกเอาตะวันตกหรืออภิมหาอำนาจเป็นแบบอย่างแทนวะฮฺยูของพระเจ้า พวกเขาได้นำเอาบุคคลอื่นขึ้นหน้าแทนพระเจ้า และนำเอากฎหมายอื่นขึ้นหน้าแทนกฎหมายของพระองค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสัญลักษณ์ของการหลงทางของประชาชาติหนึ่ง

บางครั้งห้ามปฏิบัติตามบิดามารดา

อัล-กุรอานกล่าวย้ำเน้นเรื่องการทำดีกับบิดามารดาถึง 5 ครั้งด้วยกัน เช่นกล่าวว่า

- สูเจ้าต้องไม่เคารพภักดีสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น และจงทำดีต่อบิดามารดา (อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 83)

- จงเคารพภักดีอัลลอฮฺ จงอย่าตั้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์ และจงทำดีต่อผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง (อัล-กุรอาน บทอันนิซาอฺ โองการที่ 36)

- สูเจ้าอย่าตั้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระเจ้าและจงทำดีต่อผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง (อัล-กุรอาน บทอัลอันอาม โองการที่ 151)

- พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระอัลลอฮฺเท่านั้นและจงทำดีต่อบิดามารดา (อัล-กุรอาน บทอัลอิสรออฺ โองการที่ 23)

- และเราได้สั่งเสียมนุษย์ให้ทำดี ต่อบิดามารดาของเขา (อัล-กุรอาน บทอัลอะฮฺก็อฟ โองการที่ 15)

ถ้าสังเกตจะเห็นว่ามีอยู่ 4 กรณีที่พระองค์เน้นย้ำให้ทำดีกับบิดามารดาเคียงคู่กับการเคารพภักดีต่อพระเจ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการบ่งบอกให้เห็นว่า มนุษย์จำเป็นต้องพี่งพาอัลลอฮฺในอันดับแรก และในอันดับที่สองมนุษย์ต้องพึ่งบิดามารดา

รายงานส่วนใหญ่แนะนำมนุษย์ให้แสดงความเคารพและการให้เกียรติบิดามารดาไว้อย่างมากมาย เช่น กล่าวว่า การจ้องมองไปยังบิดามารดาเป็นอิบาดะฮฺ (เป็นการแสดงความเคารพภักดีพระเจ้า) ขณะเดียวกันกำชับว่าถึงแม้จะสั่งให้แสดงความเคารพต่อบิดามารดาถึงเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าทั้งสองแนะนำบุตรให้หลงผิด หรือสั่งสอนให้พวกเขาหลงทางไปจากแนวทางของพระเจ้าห้ามปฏิบัติตามคำสอนของทั้งสองเด็ดขาด และจำเป็นสำหรับบุตรและธิดาต้องไม่เชื่อฟังในคำสอนเหล่านั้น อัล-กุรอาน 2 โองการ ที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน

- และเราได้สั่งเสียงมนุษย์ให้ทำดีต่อบิดามารดาของเขา แต่ถ้าทั้งสองบังคับเจ้าเพื่อให้ตั้งภาคีในสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้เจ้าก็อย่าปฏิบัติตามเขาทั้งสอง และยังข้าคือการกลับของพวกเจ้า (อัล-กุรอาน บทอัลอังกะบูต โองการที่ 8)

- ถ้าทั้งสองบังคับเจ้าให้ตั้งภาคีต่อข้าโดยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น เจ้าอย่าได้เชื่อฟังปฏิบัติตามทั้งสอง แต่จงอดทนอยู่กับทั้งสองในโลกนี้ด้วยการทำความดี (อัล-กุรอาน บทลุกมาน โองการที่ 15)

ฉะนั้น คำสั่งของบิดามารดาในลักษณะเช่นนี้ต่างหากที่อัล-กุรอาน สั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตาม แต่บางครั้งทั้งสองอาจกับบุตรด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่า โอ้ บุตรรักถ้าหากเราไม่ทำตามผู้ปกครองคนนั้นทรัพย์สินหรือเรือกสวนไร่นาของเราอาจได้รับอันตรายก็ได้ ทรัพย์สินและตำแหน่งการงานของเราขึ้นอยู่กับเขา ในกรณีนี้ถือว่ารับฟังได้

แต่บางครั้งคำพูดของท่านทั้งสองเป็นการดูถูกบุตรและธิดา เช่น พูดว่าพวกเจ้าไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ หรือข้าอายุมากกว่าเจ้า หรือข้าผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าเจ้า หรือถ้าเราทำตามเขาชีวิตการเป็นอยู่ของเราจะดีขึ้น หรือบรรพบุรุษหรือปู่ย่าตายายของเราก็เดินทางมาตามนี้ดังนั้นเราจะเดินตามทางของพวกเขาไป และอื่นๆ อีกมากมาย

บาปที่ไม่ได้รับการอภัย

การตั้งภาคีเทียบเคียงกับพระเจ้าเป็นบาปที่ไม่ได้รับการอภัยเด็ดขาด อัล-กุรอาน บทนิซาอฺกล่าวเน้นถึง 2 ครั้งว่า แท้จริงอัลลอฮฺ จะไม่ทรงอภัยโทษให้สำหรับการตั้งภาคีแก่พระองค์ แต่พระองค์ทรงอภัยให้แก่บาปอื่นนอกจากนี้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ (อัล-กุรอาน บทอันนิซาอฺ โองการที่ 48,116)

ในความหมายของโองการคือ พระเจ้าจะไม่อภัยผู้ที่ตั้งภาคีเทียบเคียงพระองค์เด็ดขาด แต่พระองค์จะอภัยในบาปอื่นตามคำขออภัยของปวงบ่าวตามที่พระองค์ทรงประสงค์ แน่นอน ความประสงค์ของพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญาขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเหมาะสมของปวงบ่าว

การตั้งภาคีเทียบเคียงบางประเภทมาก่อนเตาฮีด

ตามความเป็นจริงแล้วการตั้งภาคีเทียบเคียงเชิงเปรียบเทียบนั้นมาก่อนเตาฮีด เนื่องจากเป็นธรรมดาของภาชนะที่ใส่ของสกปรกไว้ ตราบที่ยังไม่ได้เทของสกปรกออกไม่สามารถเทสิ่งสะอาดใส่ไปได้ ดังนั้น สโลแกนของอิสลามที่กล่าวว่า ไม่มีพระเจ้า จึงมาก่อนคำวา นอกจากอัลลอฮฺ อัล-กุรอาน อธิบายถึงรากที่มาของการตั้งภาคีเทียบเคียงโดยกล่าวว่า โอ้ มนุษย์เจ้าได้ยึดเอาสถานที่พักพิงโดยหวังว่าสิ่งนั้นจะยังประโยชน์แก่เจ้า ซึ่งสถานที่พักพิงของเจ้าไม่ต่างอะไรไปจากใยแมงมุม อัล-กุรอาน กล่าวว่า

- อุปมาบรรดาผู้ที่ยึดถือสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺเป็นผู้คุ้มครอง อุปไมยดั่งแมงมุมที่ชักใยทำรัง แท้จริงรังที่บอบบางที่สุด คือ รังของแมงมุม (อัล-กุรอาน บทอังกะบูต โองการที่ 41)

- อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า พวกเจ้าได้ยึดถือบรรดาผู้คุ้มครองคนอื่นนอกจากอัลลอฮฺกระนั้นหรือ ซึ่งพวกเขาไม่มีอำนาจให้คุณและให้โทษแก่ตัวของพวกเขาเอง (อัล-กุรอาน บทอัรเราะอฺดฺ โองการที่ 16)

- อัล-กุรอานกล่าวอีกว่าถ้า มนุษย์และอำนาจทั้งหมดรวมกันก็ไม่สามารถสร้างได้แม้แต่แมลงวันสักตัวหนึ่ง กล่าวว่า โอ้ มนุษย์เอ๋ย  อุทาหรณ์หนึ่งถูกยกมากล่าวไว้แล้ว ดังนั้น สูเจ้าจงฟังให้ดี แท้จริงบรรดาผู้ที่พวกเจ้าวิงวอนขอความช่วยเหลือคนอื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮฺ พวกนั้นไม่สามารถบังเกิดสิ่งใดได้ หรือแม้แต่แมลงวันสักตัวหนึ่ง (อัล-กุรอาน บทอัลฮัจญฺ โองการที่ 73)

- อัล-กุรอาน กล่าวถามมนุษย์ด้วยความฉงนว่า พวกเจ้าจะแสวงหาอำนาจอื่นที่นอกเหนือไปจากอำนาจของพระเจ้ากระนั้นหรือ กล่าวว่า พวกที่ยึดเอาบรรดาผู้ปฏิเสธเป็นมิตรนอกเหนือไปจากผู้ศรัทธา พวกเขาจะแสวงหาอำนาจจากพวกเขากระนั้นหรือ แท้จริงกำลังอำนาจนั้นเป็นกรรมสิทธิของอัลลอฮฺ (อัล-กุรอาน บทอันนิซาอฺ โองการที่ 139)

ท่านผู้อ่านมิได้พิจารณาประวัติศาสตร์หรือว่า กองทัพของกอรูน ฟาโรห์ และพลพรรครายรอบเขา ไร้อำนาจในการต้านทานความกริ้วของพระเจ้าอย่างไร ประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันคือสักขีพยานอันชัดแจ้งสำหรับประเด็นที่เรากำลังกล่าวถึง ท่านผู้อ่านมิได้ประจักษ์กับสายตาตนเองดอกหรือว่าพลพรรคของกษัตริย์ชาห์ช่วยกันปกป้องและรักษาบัลลังก์ของชาห์อย่างไร ขณะที่พลังศรัทธาของอิมามโคมัยนีได้ปลุกระดมให้เยาวชนเป็นอาสาสมัครร่วมกันต่อสู้และขับไล่ชาห์ออกนอกประเทศไปได้อย่างไร

พวกเขาได้ยึดถือเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึงพานอกเหนือไปจากอัลลอฮฺได้อย่างไร ทั้งที่เป็นที่ประจักษ์ว่าพวกเขามิได้รับความช่วยเหลืออันใดจากพระเจ้าจอมปลอมเหล่านั้น ทว่าอัล-กุรอานจากรึกว่าอัลลอฮฺ พระเจ้าผู้ทรงเกีรยงไกรได้ปกป้องศาสดาอิบรอฮีม (อับราฮัม) ซึ่งถูกบรรดาพวกตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าจับโยนเข้ากองไฟ ศาสดายูซุฟถูกพี่น้องโยนลงบ่อ ศาสดายูนุสถูกปลาวาฬกลืนลงไปในท้อง ศาสดามุฮัมมัดถูกบรรดาผู้ปฏิเสธล้อมบ้านเพื่อเอาชีวิต แต่ท่านเหล่านั้นได้รับการพิทักษ์ปกป้องให้รอดชีวิตมาได้อย่างไร รวมทั้งท่านอิมามโคมัยนีที่ต่อสู้กับอภิมหาอำนาจทั้งหลายทั่วโลกท่านประสบความสำเร็จได้อย่างไร

หนึ่งในแนวทางของการตั้งภาคีในเชิงเปรียบเทียบ คือ การเปรียบเทียบของอัล-กุรอาน ระหว่างพระเจ้ากับสิ่งที่ไม่ใช่พระเจ้า ด้วยเหตุนี้ อัล-กุรอาน จึงเตือนสติมนุษย์ว่าเจ้าจะยอมรับสิ่งหนึ่งเพื่อทดแทนอีกสิ่งหนึ่งจงพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ดังตัวอย่างที่อัล-กุรอาน กล่าวถึงต่อไปนี้

1. ดังนั้น ผู้ทรงสร้างย่อมไม่เหมือนกับผู้ที่ถูกสร้าง พวกเจ้าไม่ใคร่ครวญดอกหรือ (อัล-กุรอาน บทอันนะฮฺลิ โองการที่ 17)

2. พวกท่านเคารพสักการบะอฺลฺ (เจว็ด) ซึ่งไร้ความสามารถในการสร้างสรรค์ โดยละทิ้งพระผู้อภิบาลผู้ทรงสร้างสรรค์ที่ประเสริฐที่สุด (อัล-กุรอาน บทอัซซอฟาต โองการที่ 125)

3. แท้จริงบรรดาผู้ที่พวกเจ้าวิงวอนขอที่นอกเหนือไปจากอัลลอฮ์ คือ ผู้ที่เป็นบ่าวเยี่ยงพวกเจ้า เจ้าจงวิงวอนขอต่อพวกเขาเถิด แล้วจงให้พวกเขาตอบรับพวกเจ้าด้วยหากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง (อัล-กุรอาน บทอัลอะอฺรอฟ โองการที่ 194)

ประเด็นที่กล่าวถึงนั้นบางครั้งท่านผู้อ่านทราบเป็นอย่างดีแต่ท่านก็ยังวิงวอนขอต่อสิ่งเหล่านั้น ทั้งที่พวกนั้นก็เป็นบ่าวเหมือนกับท่าน มีการมีอยู่เฉกเช่นท่าน มีความอ่อนแอและไร้ความสามารถเหมือนกับตัวท่าน ท่านลองถามตัวเองหรือยังว่าท่านทำลายเกียรติยศของตัวเอง แล้วหันไปพึงบุคคลที่ไร้อำนาจไร้อำนาจเหมือนกับท่านทำไม แน่นอน การศรัทธาต่อสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระเจ้าจะทำให้จิตใจของท่านตกต่ำและตัวของท่านก็ต่ำตามไปด้วย อัล-กุรอาน กล่าวว่า

4. แท้จริงบรรดาผู้ที่พวกเจ้าวิงวอนขอความช่วยเหลือคนอื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮฺ พวกนั้นไม่สามารถบังเกิดสิ่งใดได้หรือแม้แต่แมลงวันสักตัวหนึ่ง (อัล-กุรอาน บทอัลฮัจญฺ โองการที่ 73)

5. จงกล่าวเถิดว่า สูเจ้าจงเรียกร้องบรรดาสิ่งที่สูเจ้ากล่าวอ้างนอกเหนือไปจากอัลลอฮฺ พวกมันไม่มีอำนาจที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ยากและเปลี่ยนแปลงสิ่งใดไปจากพวกท่านได้ (อัล-กุรอาน บทอัลอิสรออฺ โองการที่ 56)

6. แท้จริงบรรดาพวกที่บูชาสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ สิ่งนั้นไม่มีอำนาจที่จะให้เครื่องยังชีพอันใดแก่สูเจ้า (อัล-กุรอาน บทอังกะบูต โองการที่ 17)

7. หากสูเจ้าวิงวอนขอพวกมันจะไม่ได้ยินการวิงวอนของสูเจ้า และถึงแม้ว่าจะได้ยินพวกมันก็จะไม่ตอบรับสูเจ้า (อัล-กุรอาน บทฟาฏิร โองการที่ 14)

8. บรรดาผู้ที่ยึดถือผู้ปฏิเสธเป็นมิตรนอกเหนือไปจากผู้ศรัทธา พวกเขาจะแสวงหาพลังอำนาจจากพวกนั้นกระนั้นหรือ แท้จริงกำลังอำนาจเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเท่านั้น (อัล-กุรอาน บทอันนิซาอฺ โองการที 139)

9. เขาวิงวอนต่อผู้ที่ให้โทษเร็วยิ่งกว่าคุณประโยชน์ แน่นอน สิ่งนั้นเป็นผู้คุ้มครองที่ชั่วช้าแท้ๆ และเป็นสหายที่ชั่วช้าจริง (อัล-กุรอาน บทอัลฮัจญฺ โองการที่ 13)

10. ดังนั้น ผู้ที่ชี้นำทางสู่สัจธรรมสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติตาม(อิบาดะฮ์) ยิ่งกว่า หรือผู้ที่ไม่อาจจะชี้แนะผู้อื่นได้เว้นแต่จะถูกชี้แนะแล้วทำไมพวกท่านจึงตัดสินใจเช่นนั้น (อัล-กุรอาน บทยูนุซ โองการที่ 35)

ในความหมายของโองการก็คือ มีภาคีเทียบเคียงพระเจ้าสิ่งใดบ้างที่สามารถชี้นำสูเจ้าไปสู่สัจธรรมได้บ้าง

อีกแนวทางหนึ่งที่ถูกกำหนดมาให้ต่อต้านหรือต่อสู้กับการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า คือ การตั้งเจตนาบริสุทธิ์ โดยปกติแล้วคุณค่าของการกระทำและการตอบรับนั้นขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนาของผู้กระทำ ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพจะมีชนกลุ่มหนึ่งอ้างว่า พวกเราได้ใช้จ่ายหรือบริจาคเงินในหนทางของคุณงามความดี บางกลุ่มอ้างว่าพวกเราได้กระทำเช่นนั้นเช่นนี้ และแล้วจะมีเสียงตอบพวกเขาว่า เจ้าใช้จ่ายเงินทองไปเพื่อให้ประชาชนกล่าวกับเจ้าว่า เจ้าเป็นคนใจบุญเสียนี่กระไร เจ้าเจริญพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน เพื่อให้คนอื่นชมว่าเจ้ามีน้ำเสียงไพเราะจับใจ

ด้วยเหตุนี้ แนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือเราให้รอดพ้นจากการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าได้ นั่นคือมนุษย์ต้องตั้งเจตนาบริสุทธิ์ก่อนที่จะกระทำ และต้องกระทำเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระองค์ การกระทำเช่นนี้เท่ากับว่าการงานทั้งหมดของเขาอยู่ในหนทางของพระเจ้า

อีกหนทางหนึ่งที่ใช้ต่อสู้กับการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า คือ นมาซ การวิงวอนขอพร และการกล่าวรำลึกต่างๆ ซึ่งทุกคำพูดและทุกวรรคตอนของคำกล่าวเหล่านั้น ถ้ากล่าวด้วยการพิจารณาแน่นอนจิตวิญญาณแห่งความเป็นเอกะของพระเจ้าจะเปล่งบานในหัวใจตน

ดังนั้น ถ้าท่านผู้อ่านพิจารณาความหมายของประโยคที่กล่าวว่า อัลลอฮุอักบัร (อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่) บิเฮาลิลลาฮฺ (การเคลื่อนไหวด้วยอำนาจของอัลลอฮฺ) อิยากะนะอฺบุดุ (เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี) ท่านจะพบว่าอัลลอฮุอักบัร นั้นหมายถึงอัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่กว่าคุณลักษณะที่ท่านจินตนาการ ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่ท่านนึกคิด ยิ่งใหญ่กว่าการมองเห็น การได้ยิน คำพูด การเขียนทั้งหลายแหล่ ยิ่งใหญ่กว่าแผนการทั้งหลายที่ศัตรูได้วางไว้ ยิ่งใหญ่กว่าอภิมหาอำนาจและผู้อธรรมทั้งหลายบนโลกนี้

บิเฮาลิลลาฮฺ (การเคลื่อนไหวด้วยอำนาจของอัลลอฮฺ) หมายถึงไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่ง การยืน การพูดคุยและอื่นๆ ล้วนมาจากอำนาจของพระองค์ทั้งสิ้น

อิยากะนะอฺบุดุ (เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี) หมายถึง ความเป็นบ่าวและการเคารพภักดีของเรานั้นเฉพาะพระองค์แต่เพียงผู้เดียว เรามิได้เป็นบ่าวของตะวันตกหรือตะวันออก เรามิได้ขอความช่วยเหลือจากสิ่งอื่นใดนอกจากพระองค์เท่านั้น เนื่องจากอำนาจของพระองค์ไม่มีที่สิ้นสุด ขบวนการอำนาจทั้งหลายบนโลกนี้ล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น พระองค์สามารถช่วยเหลือมนุษย์ด้วยมวลเมฆ ลม น้ำ ดวงเดือน ดิน หิน และทราย พระองค์สามารถประทานมวลมลาอิกะฮฺให้จุดประกายความหวาดกลัวในหัวใจของผู้ปฏิเสธได้เสมอ พระองค์สามารถทำให้เม็ดหินร่วงหล่นจากท้องฟ้าทับถมบนศีรษะของศัตรู ทำให้ฝนตกหนักผิดฤดูกาล ให้ความสงบแก่มวลผู้ศรัทธา และให้การช่วยเหลือปวงบ่าวของพระองค์

สรุปก็คือทุกวรรคตอนของคำวิงวอนที่ถูกเอื้อนเอ่ยออกไปนั้น เพื่อทำให้จิตวิญญาณแห่งเตาฮีดในหัวใจมีชีวิตชีวา และเท่ากับเป็นการตัดสัมพันธ์กับสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากพระเจ้า แน่นอน ในความหมายดังกล่าวมิได้หมายความว่ามนุษย์มิได้ใช่สื่อเครื่องมือที่มีอยู่ช่วยในการวิงวอนของตน

สัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ใจ

1. ไม่รอคอยคำขอบคุณ

อัล-กุรอาน กล่าวถึงตัวอย่างของผู้มีความบริสุทธิ์ใจได้แก่บุคคลที่แจกจ่ายอาหาร อันเป็นความต้องการของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากละศีลอดที่ถือติดต่อกันมาสองสามวัน ให้แก่คนยากจน เด็กกำพร้า และเชลยศึก และกล่าวกับพวกรับบริจาคว่าเราไม่ต้องการรางวัลตอบแทนหรือคำขอบคุณใดๆ จากพวกท่าน อัล-กุรอาน กล่าวว่า

และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้า และเชลยศึก พวกเขากล่าวว่า แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่านโดยหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด (อัล-กุรอาน บทอัลอินซาน โองการ 8-9)

ด้วยเหตุนี้ ถ้าบุคคลหนึ่งได้กระทำการบางอย่างและรอให้ประชาชนกล่าวขอบคุณหรือกล่าวยกย่องสรรเสริญเขา และถ้าบุคคลใดไม่กล่าวขอบคุณเขาต้องสำนึกผิดภายหลังอย่างแน่นอน การกระทำเช่นนี้ถือว่าไม่มีความบริสุทธิ์ใจ จำเป็นต้องตั้งเจตนาใหม่

2. ได้รับการพิทักษ์ปกป้องจากพายุแห่งกิเลส

สัญลักษณ์อีกประการหนึ่งของความบริสุทธิ์ใจคือ กิเลสและความอำนาจฝ่ายต่ำที่ขับเคลื่อนมนุษย์ ในสงครามหนึ่งท่านอิมามอะลี (อ.) สามารถจับศัตรูคว่ำหน้าลงกับพื้นได้ ขณะที่ท่านกำลังจะสังหารศัตรูๆ ได้ถ่มน้ำลายใส่หน้าท่าน ท่านรู้สึกโกรธเขามากด้วยเหตุนี้เองท่านจึงอดทนจนกระทั่งกลับคืนสู่สภาพเดิม (คลายโกรธ) หลังจากนั้นท่านจึงสังหารศัตรู ท่านกล่าวว่า การที่ฉันอดทนไม่สังหารเขาตอนนั้นเพราะการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมีความโมหะหรือกิเลสส่วนตัว โดยเฉพาะโมหะที่เกิดจากการดูถูกเหยียดหยามของศัตรูที่มีต่อฉันโดยตรง

3. การไม่สำนึกผิด

บุคคลที่มีความบริสุทธิ์ใจจะไม่มีวันสำนึกในความผิดพลาดของตน แม้ว่าภารกิจของตนจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม และเขาจะไม่รู้สึกว่าผิดหวังแต่อย่างใด เนื่องจากภารกิจนั้นตนกระทำเพื่อพระเจ้า ดังนั้นรางวัลของเขาจึงถูกพิทักษ์รักษาไว้อย่างดี ด้วยเหตุนี้ ตนจึงไม่ใส่ใจต่อความสำเร็จหรือชัยชนะแต่อย่างใด เนื่องจาก ไม่ร้องอุทานด้วยความระทมใจเนื่องจากการอุทานด้วยความระทมใจเป็นของบุคคลที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งบุคคลที่มีความบริสุทธิ์ใจจะไม่มีวันที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จของตน คือ ความพึงพอใจของพระเจ้าและการตอบรับการกระทำของตน ณ พระองค์ ดังนั้น ผู้ที่มีความบริสุทธิ์ใจจึงใช้ชีวิตอย่างราบรื่นและมีความสุขอย่างยิ่ง