คุณสมบัติของความศรัทธาที่ถูกยอมรับ

ความศรัทธาที่ถูกยอมรับและถือว่ามีคุณค่าต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. ต้องเป็นความศรัทธาที่ควบคู่กับเหตุผล

 ดังจะเห็นว่าอัล-กุรอาน กล่าวเรียกร้องเหตุผลจากพวกปฏิเสธเสมอดังกล่าวว่า

บรรดาเราะซูลได้กล่าวว่า ยังมีความสงสัยในอัลลอฮฺพระผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินอีกกระนั้นหรือ พระองค์ทรงเชิญชวนพวกท่านเพื่อยกโทษในความผิดของพวกท่าน และทรงผ่อนผันพวกท่านจนกระทั่งถึงวาระที่ถูกกำหนดไว้ แต่พวกเขากลับกล่าวว่า (เราไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น) พวกท่านมิได้เป็นอื่นใดนอกจากเป็นปุถุชนเยี่ยงเรา พวกท่านประสงค์ที่จะกีดกันพวกเราออกจากสิ่งที่บรรพบุรุษของพวกเราเคยเคารพบูชา ดังนั้น พวกท่านจงนำหลักฐานและสิ่งมหัศจรรย์อันชัดแจ้งมาให้พวกเราซิ (อัล-กุรอาน บทอาอิบรอฮีม โองการที่ 10)

ในความหมายคือ ถ้าท่านมีเหตุผลจงมานำให้เราดูซิ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเสียเหลือเกินสำหรับมุสลิมคนหนึ่งที่จะต้องจัดเตรียมเหตุผลไว้สำหรับตน เพื่อเป็นคำตอบในการปกป้องความศรัทธาเมื่อมีผู้ซักถาม

2. ต้องเป็นความศรัทธาที่ควบคู่กับการปฏิบัติ

 จะเห็นว่าอัล-กุรอานหลายโองการ เมื่อกล่าวถึงบรรดาผู้ศรัทธาจะกล่าวต่อเช่นนี้ว่า โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติคุณงามความดีทั้งหลาย ซึ่งประโยคดังกล่าวให้ความหมายถึง การปฏิบัติคุณงามความดีทั้งหมด เหมือนกับคำว่า มัสญิด หมายถึง มัสญิดหรือสุเหร่า ส่วนคำว่า มะซาญิด หมายถึงมัสญิดหลายหลัง แต่เมื่อกล่าวว่า อัลมะซาญิด หมายถึง มัสญิดทั้งหมดที่มีอยู่

 ฉะนั้น คำว่า ซอลิฮฺ เพียงคำเดียวหมายถึง ความดีเพยงอย่างเดียว ส่วนคำว่า ซอลิฮาต หมายถึง ความดีงามหลายประการ ส่วนคำว่า อัซซอลิฮาต หมายถึง ความดีงามทั้งหลาย อัล-กุรอาน จึงกล่าวว่า อามะนูวะอะมิลุซซอลิฮาต หมายถึง บรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติคุณงามความดีทั้งหลาย หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงภารกิจการงานทั้งหมดของพวกเขา คือ คุณงามความดี ด้วยเหตุนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่การงานทั้งหมดของผู้ศรัทธาต้องเป็นความดีงาม มิใช่การงานบางส่วนของพวกเขา

3. ต้องเป็นความศรัทธาที่มั่นคงถาวร

 จะเห็นว่าอัล-กุรอาน กล่าวสรรเสริญบรรดาผู้ศรัทธาที่มีความมั่นคงในความศรัทธา และแจ้งพวกเขาให้ทราบถึงรางวัลอันได้แก่สรวงสวรรค์และความโปรดปรานอื่น ๆ ดังอัล-กุรอาน กล่าวว่า แท้จริงบรรดาผู้ที่กล่าวว่าอัลลอฮฺ คือ พระเจ้าของพวกเราแล้วพวกเขาก็ยืนหยัดตามคำกล่าวนั้น มลากิกะฮฺจะลงมาหาพวกเขา (โดยกล่าวกับพวกเขาว่า) พวกท่านอย่าหวาดกลัวและอย่าเศร้าสลดใจแต่จงรอรับข่าวดี คือ สรวงสวรรค์ซึ่งได้ถูกสัญญาไว้สำหรับพวกเจ้า (อัล-กุรอาน บทฟุซซิลัต โองการที่ 30)

4. ต้องเป็นความศรัทธาสมบูรณ์

รายงานกล่าวว่าความศรัทธานั้นมี 10 ขั้นด้วยกัน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ว่าผู้ศรัทธาทุกคนจะปฏิบัติตัวตามความเหมาะสมของความศรัทธาที่ตนมี และเชื่อมั่นไปตามขั้นของความศรัทธา

มีชายคนหนึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่จากท่านอิมามซอดิก (ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน) ให้เดินทางไปยังที่หนึ่ง หลังจากเดินทางกลับมาแล้วเขาได้เข้าพบท่านอิมามเพื่อรายงาน เขาได้เริ่มท้วงติงและกล่าวตำหนิประชาชน ณ ที่นั้นโดยกล่าวหาว่าพวกเขาไม่มีศรัทธาแม้แต่น้อย อิมาม จึงกล่าวตอบเขาว่า ความศรัทธานั้นมี 10 ขั้นด้วยกัน บางคนอาจมีเพียง 2 ขั้น บางคนอาจมี 4 ขั้น บางคนอาจมี 6 ขั้น และบางกลุ่มชนอาจมีครบทั้ง 10 ขั้นก็ได้

รายงานกล่าวว่าถ้าต้องการทราบว่าบุคคลนั้นมีความศรัทธามากน้อยเพียงใด ให้ดูว่ายามที่เขาสรรหารายได้เขาจะทำบาปหรือไม่ อิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า ข้าขอสาบานต่อพระเจ้าว่า ถ้าหากให้สรรพสิ่งทั้งหมดที่มีอยู่แก่ข้าโดยมีเงื่อนไขว่า ข้าต้องไปแย่งเปลือกข้าวสาลีจากปากมดมา แน่นอน ข้าจะไม่เอาและไม่กระทำเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด เรื่องนีบ่งบอกให้เห็นถึงระดับความศรัทธาของท่านอิมามอะลี (อ.) นั่นหมายถึงว่าความศรัทธาของท่านอิมามอะลี (อ.) มีค่ามากกว่าสิ่งใดทั้งหมดบนโลกนี้

คำวิงวอนขอพรในบทดุอาอฺมะการิมุลอัคลากวรรคนึ่งพรรณนาว่า โอ้ พระเจ้าของข้าโปรดทำให้ความศรัทธาของข้าเป็นความศรัทธาสมบูรณ์ขั้นสูงสุดด้วยเถิด

5. ต้องเป็นความศรัทธาบริสุทธิ์

ในความเป็นจริงแล้วคุณค่าของความศรัทธาและการปฏิบัติของเรา ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจที่มีอยู่ ถ้าหากมีความบริสุทธิ์ใจมากเท่าใดการยอมรับก็มีมากตามไปด้วย อัล-กุราอน กล่าวสรรเสริญยกย่องบรรดาผู้ศรัทธาที่มิได้นำเอาความศรัทธาของตนไปเกลือกกลั้วกับความอธรรมว่า

บรรดาผู้ศรัทธาที่มิได้นำเอาความศรัทธาของตนเข้าปะปนกับการอธรรม พวกเขาจะได้รับความปลอดภัยและพวกเขา คือ ผู้ที่ได้รับการชี้นำแล้ว (อัล-กุรอาน บทอัลอันอาม โองการที่ 82)

6. ต้องเป็นความศรัทธาที่เกิดบนพื้นฐานของการมีเจตนารมณ์เสรีและการล่วงรู้ของตน

 เนื่องจากมนุษย์ทุกคนนั้นมีเจตนารมณ์เสรี มีความเคลือบแคลงสงสัย มีการสำนึก มีข้อทักท้วง มีข้อบกพร่องและมีเหตุผลในการเลือกสรรเป็นของตน ดังนั้น ความศรัทธาที่มีคุณค่า คือ ความศรัทธาที่วางอยู่บนพื้นฐานของความรอบรู้ ไม่มีการบีบบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น ดังที่อัล-กุรอาน กล่าวว่า ไม่มีการบีบบังคับใด ๆ ในศาสนา (อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 256)

7. ต้องเป็นความศรัทธาที่ควบคู่กับการใคร่ครวญตริตรอง

 ในมุมมองของอัล-กุรอานกล่าวว่าความศรัทธาที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง คือ ความศรัทธาที่มีการใคร่ครวญและตระหนักคิดตลอดอยู่ตลอดเวลา ดังอัล-กุรอาน กล่าวว่า

แท้จริงในการสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และการที่กลางวันและกลางคืนติดตามกันอยู่นั้น แน่นอนย่อมมีสัญญาณต่าง ๆ สำหรับผู้มีปัญญา กล่าวคือบรรดาผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮฺ ทั้งในยามยืน นั่ง และในยามนอนตะแคง พวกเขาพินิจพิจารณากันในการสร้างบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดิน (โดยกล่าวว่า) โอ้ พระเจ้าของพวกเรา พระองค์มิได้ทรงสร้างสิ่งเหล่านี้มาโดยไร้สาระ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ โปรดทรงคุ้มครองพวกเราให้พ้นจากการลงโทษในไฟนรกด้วยเถิด (อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 190-191)

ในตอนแรกพวกเขาได้ใคร่ครวญถึงการสร้างสรรค์ของพระเจ้าหลังจากนั้น พวกเขาจึงกล่าวว่า พระองค์มิไดสร้างสิ่งเหล่านี้มาอย่างไร้สาระ