หลักการในการอรรถาธิบายอัลกุรอานเบื้องต้น

ก่อนที่จะทำการอรรถาธิบาย(ตัฟซีร)กุรอาน จำเป็นที่จะต้องรู้ถึงกฏเกณฑ์หรือสิ่งที่ส่งผลในการตัฟซีรอัลกุรอานก่อนเป็นอันดับแรก  เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงเป้าหมายของกุรอานอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ หลักการและกฏเกณฑ์ต่างๆ เบื้องต้นมีดังนี้เช่น

1. หลักการของรูปประโยค  หมายถึงต้องคำนึงถึงโองการก่อนหน้าและโองการต่าง ๆ ที่จะกล่าวต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลต่อการทำความเข้าใจและการอรรถาธิบายโองการนั้น ๆ 

2. หลักการของกฏไวยากรณ์ภาษาอาหรับ ซึ่งถูกชี้แจงไว้แล้วในสาขาวิชา ศอรฟ์ , นะฮว์ , มะอานีและบะยาน

 3. หลักการของวิชา อุศูลุลฟิกฮ์ เช่น หลักการของการให้ความหมายที่ครอบคลุม (อาม) ,หลักการของการที่จะให้ความหมายเฉพาะ (คอส) , หลักการว่าด้วยเรื่องความคลุมเคลือ (มุจมัล) , หลักการว่าด้วยเรื่องของสิ่งที่มาอธิบาย (มุบัยยิน) , หลักการที่ไม่สิ่งใดมาจำกัดความ (มุฏลัก) , หลักการที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาจำกัดความ (มุกอยยัด) และ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกชี้แจงไว้แล้วในสาขาวิชา อุศูลุลฟิกฮ์

4. หลักการของวิชา ฟิกฮ์ (นิติศาสตร์อิสลาม) และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิชาฟิกฮ์เพื่อจะได้เข้าใจในโองการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบทบัญญัติ

5. หลักการว่าด้วยเรื่องของการไม่นำเรื่องเล่าที่บิดเบือน(อิสรออีลียาต)เข้ามาในการอรรถาธิบาย

 6. หลักการว่าด้วยเรื่องของการไม่อนุญาติให้อรรรถาธิบายโดยความรู้ทั่วไป เพราะการตัฟซีรนั้นคือการอรรถาธิบายถึงพระวจนของพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นการตัฟซีรที่ปราศจากความรู้อย่างแท้จริงที่ไม่ได้เชื่อมโยงว่ามาจากพระองค์นั้น   ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาติ    ด้วยเหตุนี้เองจึงเห็นได้ว่านักอรรถาธิบายบางท่าน  ไม่กล้าที่จะยอมรับฮะดิษที่ไม่ถึงขั้นที่น่าเชื่อถือ (คอบัรวาฮิด) มาใช้ในการตัฟซีรกุรอาน

7. หลักการว่าด้วยเรื่องการเข้าใจแนวทางการตัฟซีรที่น่าเชื่อถือ เช่น การตัฟซีรกุรอานที่ไม่ขัดแย้งกับโองการอื่น ๆ , การตัฟซีรที่ไม่ขัดแย้งกับซุนนะฮ์ที่แน่นอนของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) , การตัฟซีรที่ไม่ขัดแย้งกับสติปัญญาและการตัฟซีรที่ไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ที่ได้ผ่านการพิสูจน์อย่างแน่นอนจนได้รับความมั่นใจ 100 % เหล่านี้เป็นต้น

หากนักอรรถาธิบายไม่เข้าใจถึงหลักการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น  เขาก็ไม่สามารถที่จะอรรถาธิบายกุรอานได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ

 และเช่นกัน หากนักอรรถาธิบายไม่ยึดมั่นในหลักการที่ 5 หรือไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับหลักการนี้ เป็นไปได้ที่เขาอาจจะรับเอาฮะดีษเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านนบีอาดัม (อ.) และท่านหญิงเฮาวา ที่มีว่า : สตรีเกิดมาจากซี่โครงด้านซ้ายของนบีอาดัม(อ.)  ทั้งๆ ที่เรื่องเล่านี้เป็นรายงานที่บิดเบือน(อิสรออิลี) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์เตารอต

และอีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น หากนักอรรถาธิบายไม่รู้หลักไวยากรณ์ภาษาอาหรับ , หลักการอุศูลุลฟิกฮ์และหลักการของฟิกฮ์ เขาก็จะประสบกับปัญหาอย่างมากมายในการอรรถาธิบายอับกุรอาน     หรือแม้กระทั่งในเรื่องการแปลกุรอานเขาก็จะประสบกับความปัญหาต่างๆ มากมายเช่นกัน