อีกเหตุผลหนึ่งแห่งความเป็นอมตะของเฆาะดีร

      การให้ความสำคัญกับรายงานประวัติศาสตร์นี้จะเห็นว่ามีนักรายงานจำนวนมากรายงานไว้ เฉพาะตำราของอะฮฺลิซซุนนะฮฺเพียงอย่างเดียวมีนักรายงานเกินกว่า 110 คน รายงานไว้ จริงอยู่ว่าท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กล่าวคำเทศนาเกี่ยวกับเฆาะดีรท่ามกลางผู้คนมากเกินกว่า 120,000 คน แต่บางกลุ่มชนที่ร่วมอยู่ในวันนั้นอยู่ห่างไกลจากฮิญาซซึ่งพวกเขามิได้รายงานเอาไว้ แต่บางกลุ่มได้รายงานความจริงนี้ไว้

      ประมาณศตวรรษที่ 2 ของอิสลาม ซึ่งตรงกับช่วงของตาบิอีน หมายถึงกลุ่มชนหลังจากบรรดาสาวกใกล้ชิดของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) จำนวน 89 คน รายงานเหตุการณ์เฆาะดีรเอาไว้

      นักรายงานเหตุการณ์เฆาะดีรในศตวรรษต่อมาทั้งหมดล้วนเป็นนักปราชญ์และเป็นผู้รู้ฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺทั้งสิ้น ซึ่งจำนวนทั้งสิ้น 360 คน พวกต่างบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับเฆาะดีรไว้ในตำราของตน แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือกระแสต่อต้านจากบุคคลอื่นก็ตาม

      ประมาณศตวรรษที่ 3 มีผู้รายงานประมาณ 92 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 4 มีผู้รายงานประมาณ 43 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 5 มีผู้รายงานประมาณ 24 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 6 มีผู้รายงานประมาณ 20 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 7 มีผู้รายงานประมาณ 21 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 8 มีผู้รายงานประมาณ 18 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 9 มีผู้รายงานประมาณ 16 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 10 มีผู้รายงานประมาณ 14 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 11 มีผู้รายงานประมาณ 12 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 12 มีผู้รายงานประมาณ 13 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 13 มีผู้รายงานประมาณ12 คน

      ประมาณศตวรรษที่ 14 มีผู้รายงานประมาณ 20 คน

      ผู้รายงานไม่ได้เล่ารายงานเพียงอย่างเดียว ทว่ากล่าวถึงสายสืบและประเด็นสำคัญของรายงานโดยเขียนเป็นตำราแยกต่างหาก นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของอิสลาม ฏ็อบรียฺ เขียนตำราเล่มหนึ่งชื่อว่า อัลวิลายะฮฺ ฟี ฏุรุกิน ฮะดีซิลเฆาะดีร เป็นตำราที่อ้างถึงสายสืบของฮะดีซเฆาะดีร โดยอ้างว่าฮะดีซดังกล่าว มีสายรายงานถึงจำนวน 75 สาย ซึ่งทั้งหมดรายงานโดยตรงมาจากท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ)

      อิบนิ อุกดะฮฺ กูฟียฺ บันทึกไว้ในริซาละฮฺ อัลวิลายะฮฺ ว่า ฮะดีซเฆาะดีรมีผู้รายงานมากถึง 105 คน

      อบูบักรฺ มุฮัมมัด บิน อุมัร บัฆดาดียฺ ซึ่งรู้จักกันในนามของ ญัมอานียฺ กล่าวว่า ฮะดีซเฆาะดีร มีสายรายงานถึง 25 สาย

      นักฮะดีซที่มีชื่อเสียงกล่าวถึงสายรายงาน ฮะดีซเฆาะดีรไว้ เช่น

      1. อะฮฺมัด บิน ฮันบัล ชัยบานียฺ บันทึกสายรายงานไว้จำนวน 40 สายรายงาน

      2. อิบนิ ฮะญัร อัซเกาะลานียฺ บันทึกสายรายงานไว้จำนวน 25 สายรายงาน

      3. ญะซะรียฺ ชาฟิอียฺ บันทึกสายรายงานไว้จำนวน 80 สายรายงาน

      4. อบูซะอีด ซะญิซตานียฺ บันทึกสายรายงานไว้จำนวน 120 สายรายงาน

      5. อะมีร มุฮัมมัด เยมันนียฺ บันทึกสายรายงานไว้จำนวน 40 สายรายงาน

      6. นะซาอียฺ บันทึกสายรายงานไว้จำนวน 250 สายรายงาน

      7. อบุล อะอฺลาอฺ ฮิมดานียฺ บันทึกสายรายงานไว้จำนวน 100 สายรายงาน

      8. อบุล อิรฟาน ฮับบาน บันทึกสายรายงานไว้จำนวน 30 สายรายงาน

      นักเขียน ที่เขียนถึงเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ เฆาะดีร ความจริงแห่งประวัติศาสตร์ไว้มีจำนวนถึง 26 คน และบางที่อาจเป็นไปได้ว่ายังมีนักเขียนอีกมากมายที่เขียนถึง เหตุการณ์ของเฆาะดีรไว้แต่ประวัติศาสตร์มิได้บันทึกชื่อของเขาเหล่านั้นเอาไว้ ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลเพิมเติมได้จากหนังสือ อัลเฆาะดีร เล่ม 1 อัลลามะฮฺอามีนียฺ

      นักวิชาการฝ่ายชีอะฮฺ เขียนหนังสืออันมีค่ายิ่งไว้เป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องราวของเฆาะดีร ซึ่งหนึ่งในตำราที่ครอบคลุมมากที่สุด คือ อัล-เฆาะดีร เป็นตำราที่แสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะอย่างสูงของนักเขียนอิสลาม อัลลามะฮฺ นักต่อสู้ มัรฮูม อายะตุลลอฮฺ อามีนียฺ

      หลังจากนั้นท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า            โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย บัดนี้มะลาอิกะฮฺ ได้นำวะฮียฺโองการหนึ่งมาให้ฉันว่า

اَلْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الإِسْلاَمَ دِينًا

      ความว่า วันนี้ข้าทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ข้าให้ความกรุณาเมตตาของข้าครบบริบูรณ์แล้ว และข้าได้เลือกอิสลามเป็นศาสนาสำหรับพวกเจ้า[1]

      ในเวลานั้นเสียงตักบีร อัลลอฮุอักบัร ได้ดังกึกก้องไปทั่วท้องทุ่งทะเลทราย หลังจานั้นท่านกล่าวว่า ฉันขอขอบคุณต่อพระเจ้าที่พระองค์ทรงประทานให้ศาสนาของพระองค์สมบูรณ์ และประทานให้ความเมตตาของพระองค์ครบบริบูรณ์ และพระองค์ทรงพึงพระทัยต่อการแต่งตั้งให้อะลีเป็นตัวแทนของฉัน หลังจากนั้นท่านได้ก้าวลงมาข้างล่างและกล่าวกับอะลีว่า เจ้าจงเข้าไปนั่งในค่ายที่พัก เพื่อว่าบรรดาผู้นำเผ่าต่าง ๆ จะได้เข้ามากล่าวแสดงความยินดีและให้สัตยาบันกับเจ้า และพวกเขาเป็นกลุ่มชนแรกที่ให้สัตยาบันกับท่านอะลีก่อนบุคคลใดทั้งหมด

      ฮัซซษน บิน ซาบิต นักกวีเอกที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นได้ฉวยโอกาส โดยขออนุญาตท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กล่าวบทกลอนเกี่ยวกับเหตุการณ์เฆาะดีร และเขาได้กล่าวต่อหน้าท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ว่า

يناديهم يوم الغديرنبيهم                بخمّ واسمع بالرسول مناديا

فقال فمن مولاكم و نبيكم              فقالو و لم يبدوا هناك التعاميا

الهك مولانا و انت نبينا                و لم تلق منا فى الولاية عاصيا

فقال له قم يا على فاننى               رضيتك من بعدى اماما و هاديا

فمن كنت مولاه فهذا وليه              فكونوا له اتباع صدق مواليا

هناك دعا اللهم و ال وليه              و كن للذى عادا عليا معاديا

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯป ได้เรียกพวกเขาให้มารวมกันในวันเฆาะดีร ณ คุม เพื่อฟังสิ่งที่เราะซูลได้เรียกมา

ท่านกล่าวว่า ใครเป็นนายและเป็นนบีของพวกท่าน พวกเขาตอบอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่อ้อมค้อมทันทีว่า

พระผู้เป็นเจ้าของท่านคือนายของพวกเรา และท่าน คือ นบีของพวกเรา การที่เรายอมรับวิลายะฮฺของท่านจะไม่ทำให้เราระหกระเหิน

ท่านกล่าวกับอะลีว่า ลุกขึ้นเถิดฉันได้เลือกให้เจ้าเป็นอิมามและผู้ชี้นำภายหลังจากฉันแล้ว

หลังจากนั้นกล่าวว่า ใครก็ตามที่ฉันเป็นผู้ปกครองเขา อะลีก็เป็นผู้ปกครองเขาด้วย ดังนั้น พวกท่านจงปฏิบัติตามเขาด้วยความจริงใจ

เวลานั้น ท่านกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺ โปรดเป็นมิตรกับผู้ที่เป็นมิตรกับเขา โปรดเป็นศัตรูกับผู้ที่เป็นศัตรูกับอะลี

ถ้าพิจารณาจะเห็นว่า ฮะดีซเฆาะดีร เป็นฮะดีซเดียวในประวัติศาสตร์ที่เป็นหลักฐานอันยิ่งใหญ่ยืนยันถึงความดีและความประเสริฐกว่าของท่านอะลีที่มีเหนือบรรดาสาวกทั้งหมด ซึ่งท่านเคยกล่าวถึงสิ่งนี้ถึงสองครั้งสองคราวในการประชุมเลือกอุมมัรและอุซมานเป็นเคาะลิฟะฮฺ

หลังจากพิธีแต่งตั้งท่านอะลี (อ.) ให้เป็นเคาะลิฟะฮฺ เสร็จเรียบร้อยแล้วบรรดานักแสวงบุญที่เดินทางมาจากซีเรีย และอิยิปต์ได้ขออนุญาตแยกทางกับท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ตรงญุฮฺฟะฮฺเพื่อเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตน ส่วนนักแสวงบุญที่เดินทางมาจาก คุซูมัต และเยเมน บางกลุ่มได้แยกทางกับท่านก่อนหน้านั้นและบางกลุ่มขอแยกทางกับท่านตรงญุฮฺฟะฮฺนั่นเอง ส่วนนักแสวงบุญกลุ่มใหญ่จำนวนหลายหมื่นคน ที่เดินทางมาพร้อมกับท่านได้ร่วมเดินทางกลับมะดีนะฮฺพร้อมกัน ยังไม่ทันสิ้นปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 10 กองคาราวานของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ก็ได้มาถึงมะดีนะฮฺ

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) มั่นใจว่ารัฐบาลที่เข็มแข็งแห่งโรม ซึ่งพวกเขาได้เห็นการเติบโตของอิสลามอยู่ทุกวัน พวกเขาต้องไม่พอใจอิสลามอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ท่านได้สั่งให้พวกยะฮูดียฺออกไปจากซาอุดีอาระเบีย ส่วนพวกคริสเตียนนั้นไม่พอใจรัฐบาลอิสลามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พวกเขาต้องวางแผนร้ายกับอิสลามอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ ในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 8 ท่านจึงได้ส่งกองทัพภายใต้การนำทัพของท่านญะอฺฟัร บุตราของอบีฏอลิบ ซัยดฺ บุตรของฮาริซ และอับดุลลอฮฺ เราะวาฮะฮฺ เดินทางไปยังดินแดนโรม ในสงครามนี้แม่ทัพทั้งสามท่านถูกสังหารจนหมดสิ้น สุดท้ายกองทัพอิสลามต้องตกอยู่ภายใต้การบัญชาของคอลิด ไม่มีฝ่ายใดแพ้หรือชนะ คอลิดจึงนำทัพกลับมะดีนะฮฺ

เมื่อย่างเข้าปีฮิจญฺเราะฮฺศักราชที่  9 ข่าวการบุกโจมตีฮิญาซโดยกองทัพของโรมแพร่สะบัดไปทั่วเมืองมะดีนะฮฺ ท่านเราะซูลได้นำทัพพร้อมจำนวนทหาร 30,000 คน เคลื่อนไปยังแผ่นดินตะบูก แต่มิได้มีการปะทะกับทหารฝ่ายศัตรูแต่อย่างใด เนื่องจากพวกเขาหวาดกลัวท่านจึงยกทัพกลับมะดีนะฮฺ ดังรายละเอียดที่กล่าวไปแล้วตอนอธิบายสงครามตะบูก

ในมุมมองหนึ่งท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) เห็นว่าอันตรายครั้งนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก ด้วยเหตุนี้ หลังจากกลับจากฮัจญะตุลวะดาอฺ เมื่อถึงมะดีนะฮฺท่านจึงได้จัดทันที่ ซึ่งมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมทัพกันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอบูบักรฺ อุมมัร อบีอุบัยดะฮฺ ซะอฺดฺ วะกอซ และคนอื่น ๆ อีกมากมายที่เข้าร่วมทัพ ท่านยังได้กำชับอีกว่าพวกมุฮาญิรีน ที่อพยพมามะดีนะฮฺรุ่นแรก พวกท่านทุกคนต้องเข้ารวมสงครามครั้งนี้[2]

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ต้องการปลุกความรู้ด้านศาสนาและการเป็นนักต่อสู้ของพวกเขา ท่านจึงได้นำธงมาผู้ติดไว้ที่แขนของ อุซามะฮฺ และกล่าวกับเขาว่า

 ด้วยพระนามแห่งพระเจ้า เจ้าจงต่อสู้ในนามของพระองค์ จงฟาดฟันศัตรูของพระองค์ และพรุ่งนี้เช้าจงเข้าโจมตีอุมบา[3] จงรีบผ่านดินแดนนี้ไปให้เร็วที่สุด ก่อนที่พวกเขาจะรู้ว่าเจ้ายกทัพมาเจ้าจงพาทหารไปให้ถึงก่อนที่พวกเขาจะรู้

อุซามะฮฺ ได้ให้ธงแก่บุรีดะฮฺ และตั้งค่ายพักที่ ญุรฟุน[4] เพื่อรอให้ทหารแต่ละกลุ่มเดินทางมาถึงและรอเคลื่อนทัพไปพร้อมกัน

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ได้แต่งตั้งให้เด็กหนุ่มเฉกเช่น อุซามะฮฺ  เป็นแม่ทัพโดยให้ผู้อาวุโสทั้งจากมุฮาญีรีนและอันซอรอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเขา โดยมีจุดประสงค์ 2 ประการดังนี้

1. ต้องการให้อุซามะฮฺ ลบล้างความโศกเศร้าและยกระดับตนเองให้สูงส่งขึ้นมา อุซามะฮฺเข้าใจดีถึงสิ่งนั้นดี เนื่องจากเขาได้สูญเสียบิดาไปในการทำสงครามกับโรมครั้งก่อน

2. ท่านต้องการจัดแบ่งภารกิจและหน้าที่ไปตามความเหมาะสมและความสามารถของแต่ละคน และต้องการให้สิ่งนี้มีชีวิตชีวาตลอดเวลา อีกอย่างท่านต้องการให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมว่าตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมมิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใด นอกจากความสามารถและความเหมาะสม มิได้ขึ้นอยู่กับอายุหรือความอาวุโสหรือความใกล้ชิดที่มีต่อท่าน และเพื่อประกาศแก่เด็กหนุ่มทั้งหลายว่าถ้าหากเจ้ามีความสามารถจงเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมอบหน้าที่เพื่อรับใช้สังคม และจงรู้ด้วยว่าตามหลักการอิสลาม ตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมขึ้นโดยตรงกับความรู้และความสามารถ มิได้ขึ้นอยู่กับความอาวุโส

อิสลามที่แท้จริง คือ ความเคร่งครัดต่อหลักการอันสูงส่งของพระเจ้า และมุสลิมที่แท้จริง คือ บุคคลที่ยอมเชื่อฟังคำสั่งและปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ ดุจดังเช่นที่กองทัพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาในสนามรบ และต้องเป็นการเชื่อฟังจากใจจริงไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับตนหรือให้โทษ หรือตรงกับความต้องการของตนหรือไม่ก็ตาม

อะมีริลมุอฺมินีน อะลี (อ.) กล่าวอธิบายอิสลามด้วยประโยคสั้น ๆ แต่มีความลึกซึ้งว่า อิสลาม ฮุวัลตัซลีม[5] หมายถึง อิสลาม คือ การยอมจำนนต่ออำนาจและพระบัญชาของพระองค์เท่านั้น

บุคคลที่แบ่งระดับชั้นในการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้า จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อใดหรือเรื่องใดที่ขัดแย้งกับความต้องการของตนเขาจะทักท้วงทันทีทันใด หรือหาข้ออ้างต่าง ๆ นา ๆ มาหักล้าง ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ถือว่าไม่มีความเคร่งครัดต่อหลักการอิสลาม ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขามิใช่ผู้ยอมจำนนที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นรากเหง้าสำคัญของอิสลาม

แม่ทัพคนใหม่เป็นเด็กหนุ่มนามว่า อุซามะฮฺ บุตรของ ซัยดฺ เพิ่งจะมีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์[6] ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับคำกล่าวอ้างข้างตนของเราที่ว่า ตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมขึ้นโดยตรงกับความรู้และความสามารถ ดังนั้น การเป็นแม่ทัพของอุซามะฮฺ สร้างความลำบากใจแก่ผู้อาวุโสหลายคน เนื่องจากเมื่อเทียบอายุกันแล้วพวกเขามีอายุมากกว่าอุซามะฮฺเท่าตัว พวกเขาจึงทักท้วงท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ทันที ซึ่งสาเหตุการทักท้วงของพวกเขามิได้เกิดจากสิ่งใด นอกจากจิตวิญญาณเบื้องลึกที่ไม่ยอมรับท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ในฐานะผู้บัญชาสูงสุดแห่งกองทัพอิสลาม คำทักท้วงของพวกเขา คือ ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) แต่งตั้งเด็กหนุ่มที่มีอายุน้อยกว่าบรรดาสาวกเป็นแม่ทัพแทน[7]

ตามความเป็นจริงแล้วพวกเขาลืมเลือนประเด็นสำคัญอันมีค่ายิ่งไป ซึ่งได้กล่าวอธิบายไปก่อนหน้านั้นแล้ว พวกเขาได้เอาสติปัญญาอันเล็กน้อยและบุคลิกภาพของพวกเขามาวัดเจตจำนงของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ซึ่งโดยหลักการแล้วมิใช่สิ่งถูกต้อง

ทั้งที่ในความรู้สึกลึก ๆ ของพวกเขาก็ทราบดีว่าท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) พยายามอย่างยิ่งที่จะให้กองทัพเคลื่อนออกไป แต่พวกเขาพยายามบ่ายเบี่ยงต่าง ๆ นา ๆ จนกระทั่งต้องล่าช้าในการเคลื่อนทัพและต้องมาหยุดคอยพวกเขาอยู่ที่ ญุรฟุน พวกเขาแอบที่จะทำลายแผนการของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) อย่างเงียบ ๆ

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) หลังจากมอบธงให้อุซามะฮฺนำทัพออกไป ในวันรุ่งขึ้นท่านก็ล้มป่วยลงและป่วยหนักติดต่อกันนานหลายวันจนในที่สุดท่านได้อำลาจากโลกไป

ระหว่างที่นอนป่วยอยู่นั้นท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ได้ยินข่าวว่าเกิดปัญหาในการเคลื่อนทัพของอุซามะฮฺ มีบางกลุ่มดูถูกเหยียดหยามการนำทัพของเขา ท่านรู้สึกเสียใจมากที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ท่านลุกขึ้นขณะที่มีผ้าเช็ดตัวพันกายอยู่และรีบตรงไปยังมัสยิดเพื่อพูดกับบรรดามุสลิมที่แสดงท่าทีกระด้างกระเดื่องกับอุซามะฮฺ ท่านกล่าวถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนของพวกเขา ท่านต้องขึ้นกล่าวเทศนาขณะที่มีไข้ขึ้นสูงและตัวร้อนจัดมาก หลังจากกล่าวสรรเสริญพระเจ้าแล้วท่านกล่าวว่า

โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย ฉันรู้สึกเสียใจมากที่พวกท่านล่าช้าในการเคลื่อนทัพ แม่ทัพอุซามะฮฺเขาไม่ได้มาจากพวกเจ้าดอกหรือ พวกเจ้าจึงพูดจาบ่ายเบี่ยงและทักท้วงกันอย่างมากมาย ซึ่งการทักท้วงของพวกเจ้าชัดเจน และไม่ต่างอะไรไปจากอดีตที่ครั้งหนึ่งพวกเจ้าก็เคยทักทวงบิดาของเขา ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า ทั้งบิดาของเขาและตัวเขามีความเหมาะสมกับตำแหน่งนี้มากกว่าบุคคลอื่นทั้งหมด ฉันรักเขามาก พวกเจ้าจงกระทำดีกับเขาและแนะนำบุคคลอื่นให้กระทำดีกับเขาด้วย เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในคนดีจากหมู่พวกเจ้า

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ได้ยุติเทศนาเพียงเท่านั้น ท่านได้ก้าวลงจากมิมบัรด้วยความยากลำบากเนื่องจากมีอาการไข้สูงและตัวร้อนจัดมาก หลังจากนั้นท่านได้กลับบ้านและล้มป่วยลงอีก ท่านกล่าวกับบรรดาสาวกชั้นใกล้ชิดที่มาเยี่ยมเยือนท่านที่บ้านว่า พวกเจ้าจงเข้าร่วมทัพไปกลับอุซามะฮฺเถิด[8]

ท่านเราะซูลขอร้องพวกเขาให้เข้าร่วมทัพกับอุซามะฮฺทั้งที่ท่านยังนอนป่วยอยู่ และทุกครั้งที่ท่านสั่งให้บรรดาสาวกเข้าร่วมทัพท่านจะกล่าวกับพวกเขาว่า จงเตรียมการเคลื่อนทัพไปกับอุซามะฮฺ และจงสาปแช่งบรรดาผู้ที่ไม่ยอมร่วมทัพและต้องการอยู่ในมะดีนะฮฺต่อไป[9]

คำขอร้องของท่านเป็นสาเหตุให้กลุ่มมุฮาญิรีนและอันซอรต้องมาชี้แจงกับท่าน และถึงแม้ว่าพวกเขาจะปรารถนาหรือไม่ก็ต้องออกออกจากมะดีนะฮฺ เพื่อไปเข้าร่วมทัพกับอุซามะฮฺที่ ญุรฟุน

สองสามวันที่ผ่านมาอุซามะฮฺยุ่งอยู่กับการจัดระบบทัพ และการจัดเตรียมสิ่งของสำคัญเบื้องต้นสำหรับการออกทัพ มีรายงานมาจากมะดีนะฮฺว่าท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ไม่พอใจบางกลุ่มที่ขัดขืนไม่ยอมที่จะออกทัพกับอุซามะฮฺ พวกเขาลังเลใจจึงทำให้การเคลื่อนทัพของอุซามะฮฺล่าช้าจนกระทั่งวันจันทร์อุซามะฮฺ ในฐานะแม่ทัพได้เดินทางมาพบท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) และเห็นสีหน้าไม่สบายใจของท่าน

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) สั่งกำชับว่าจงเคลื่อนทัพออกไปยังเป้าหมายให้เร็วที่สุด เมื่ออุซามะฮฺกลับมายังกองทัพเขาสั่งให้เคลื่อนทัพทันที ขณะนั้นกองทัพยังไม่ทันเคลื่อนออกจากญุรฟุน (ที่ตั้งกองทัพ) มีรายงานมาจากมะดีนะฮฺว่าท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กำลังจะสิ้นใจ ทำให้บางคนที่พยายามหาข้ออ้างที่จะไม่ออกทัพ ซึ่งเป็นเพราะพวกเขาทำให้การเคลื่อนทัพล่าช้าไปถึง 16 วัน ได้ใช้โอกาสนั้นเป็นข้อต่อรองว่าพวกเขาเป็นห่วงสุขภาพและอาการของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) จึงได้ออกจากทัพและกลับมามะดีนะฮฺ และทหารบางกลุ่มตามพวกเขากลับมาด้วย ซึ่งพวกเขาลืมไปว่าอาการทรุดหนักของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ตามความจริงเกิดจากความไม่มีระเบียบวินัยของพวกเขา เนื่องจากพวกเขาพยายามฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน[10]

การขออภัยโทษให้ชาวบะกีอฺ

วันที่ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) เริ่มรู้สึกว่ามีอาการป่วยไข้ท่านได้จับมือของอะลี พร้อมกับชนบางกลุ่มเดินไปยังสุสานบะกีอฺ ท่านบอกกับพวกเขาว่า ฉันได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้วิงวอนและอภัยโทษให้พวกเขา เมื่อท่านย่างเท้าเข้าสุสานบะกีอฺ ท่านได้กล่าวสลามแก่ชาวกุบูร (หมายถึงขอความสันติให้แก่ผู้ตายในสุสาน) โดยเริ่มต้นว่า โอ้ บรรดาผู้ที่ถูกฝังเรือนร่างอยู่ใต้ดิน สภาพที่ได้ประสบกับพวกเจ้า คือ ความสงบสุข การทดสอบประหนึ่งความมืดมิดแห่งค่ำคืนที่ย่ำกายเข้ามาโดยที่อันหนึ่งได้ไปรวมกับอีกอันหนึ่ง หลังจากนั้นท่านขออภัยให้แก่ชาวสุสานบะกีอฺ และหันมากล่าวกับอะลี (อ.) ว่า กุญแจแห่งกรุสมบัติของโลกและชีวิตที่สุขสบายได้ถูกเสนอแก่ฉัน พร้อมกับการได้พบกับพระผู้อภิบาลและการเข้าสวรรค์ ฉันเลือกการได้พบกับพระเจ้าและเข้าสวรรค์แทนชีวิตที่สุขสบายทางโลก

มลาอิกะฮฺ ผู้นำวะฮียฺได้นำวะฮียฺมาให้ฉันปีละหนึ่งครั้ง แต่ปีนี้ได้นำมาให้ฉัน 2 ครั้ง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ มิได้มีสิ่งใดแอบแฝงนอกเสียจากเป็นการบ่งบอกว่าความตายของฉันใกล้เข้ามาแล้ว[11]

สำหรับบุคคลที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า เป็นพวกวัติถุนิยมพวกเขาจะมองไม่เห็นสิ่งใดนอกจากวัตถุ พวกเขาอาจลังเลใจและไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้ พวกเขาอาจสงสัยว่ามนุษย์จะพูดกับจิตวิญญาณ สร้างความสัมพันธ์กับญาณ และรู้ความตายของตนได้อย่างไร แต่ประเด็นเหล่านี้สำหรับผู้ที่มิได้หลงใหลอยู่กับวัตถุ และเชื่อว่าวิญญาณกับสังขารเป็นคนละองค์ประกอบกัน อีกทั้งมิได้ปฏิเสธเรื่องการติดต่อกับวิญญาณ ในความคิดของเขาสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้อย่างแน่นอน

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับโลกของวะฮฺยู และโลกในอีมิติหนึ่งที่มิได้เป็นวัตถุธาตุและปราศจากความผิดพลาด ดังนั้น มิใช่เรื่อแปลกที่ท่านเข้าใจความตายโดยการแจ้งข่าวของพระเจ้า



[1] อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล มาอิดะฮฺ โองการที่ 3
[2] ซีเราะฮฺ อิบนิฮิชาม เล่ม 2 หน้า 642, อันนัซ วัลอิจญฺติฮาด หน้า 12
[3] อุมบา เป็นเขตพื้นที่หนึ่งจากดินแดน บุลกออฺ อยู่ในซีเรีย
[4] ดินแดนที่กว้างขวางห่างจากมะดีนะฮฺประมาณ 3 ไมล์ ไปทางซีเรีย
[5] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ สุภาษิตที่ 125
[6] นักประวัติศาสตร์ บางคนเช่น ฮะละบียฺ กล่าวว่า อุซามะฮฺ มีอายุเพียง 17 ปี เท่านั้น บางคนกล่าวว่า 18 ปี แต่ทั้งหมดมีความคิดเห็นตรงกันว่า อุซามะฮฺ มีอายุไม่เกิน 20 ปี อย่างแน่นอน
[7] เฏาะบะกอต อิบนิ ซะอฺดฺ เล่ม 2 หน้า 120
[8] เฏาะบะกอต อิบนิ ซะอฺดฺ เล่ม 2 หน้า 190
[9] มิลาล วะนิฮัล ชะฮฺริซตานียฺ บทนำที่ 4 หน้า 29 ,ชัรฮฺนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ อิบนิ อบิลฮะดีด เล่ม 2 หน้า 20
[10] เฏาะบะกอต เล่ม 2 หน้า 190 
[11] อ้างแล้ว หน้า 204, บิฮารุลอันวาร เล่ม 22 หน้า 466