คำเทศนาประวัติศาสตร์ของเราะซูล (ซ็อล ฯ) ในฮัจญะตุลวะดาอฺ

   ในวันนั้นทุ่งอาเราะฟะฮฺเต็มไปด้วยผู้คนที่มาชุมนุมกันอย่างหนาแน่น ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาฮิญาซไม่เคยมีการชุมนุมยิ่งใหญ่เช่นนั้นมาก่อน เสียงเรียกร้องเชิญชวนไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียวดังไปทั่วท้องทุ่งอาเราะฟะฮฺ ซึ่งนับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาเคยเป็นสถานที่ตั้งเทวรูปเพื่อเคารพสักการะมาก่อน แต่ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่เคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปชั่วกาลนาน

   ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) นมาซซุฮรฺและอัซรฺที่อาเราะฟะฮฺพร้อมกับบรรดานักแสวงบุญจำนวนหลายหมื่นคน เมื่อนมาซเสร็จแล้วท่านได้กล่าวคำเทศนาประวัติศาสตร์ขณะอยู่บนหลังอูฐ โดยมีสาวกคนหนึ่งที่เสียงดังคอยกล่าวคำพูดของท่านซ้ำเพื่อให้ทุกคนได้ยินไปทั่ว ในวันนั้นท่านได้เริ่มคำเทศนาแก่ประชาชนว่า

   โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย ได้ยินเสียงฉันไหมบางทีฉันจะไม่ได้พบพวกเจ้า ณ ที่นี้อีกต่อไปก็ได้

   โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย ชีวิตและทรัพย์สินของพวกเจ้าแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกระทั่งถึงวันที่พวกเจ้าได้พบกับพระเจ้า จะเหมือนกับวันนี้และเดือนนี้ คือ ได้รับเกียรติและห้ามละเมิดต่อกันเด็ดขาด

   ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ต้องการสร้างทราบว่าคำพูดของท่านในเรื่องการให้เกียรติชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นจะมีผลหรือไม่ ท่านจึงสั่งให้เราะบีอะฮฺ บุตรของอุมัยยะฮฺ ถามประชาชนว่า เดือนนี้เป็นเดือนอะไร  ทั้งหมดตอบว่า เป็นเดือนฮะรอม (เดือนต้องห้าม) ห้ามทำสงครามและนองเลือดเด็ดขาด ท่านเราะซูลสั่งให้เราะบีอะฮฺ บอกกับประชาชนอีกว่า จงบอกกับพวกเขาซิว่า พระเจ้าทรงบัญชาให้พวกเจ้าจงให้เกียรติในชีวิตและทรัพย์สินของกันและกัน จนกระทั่งถึงวันที่พวกเจ้าจากโลกนี้ไป

   ท่านกล่าวอีกว่า จงถามพวกเขาซิว่าที่นี่ คือ แผ่นดินอะไร ทั้งหมดตอบว่า ที่นี่ คือ แผ่นดินที่ห้ามนองเลือดห้ามทำสงครามและห้ามละเมิดสิทธิของคนอื่นเด็ดขาด         ท่านกล่าวว่า จงบอกพวกเขาไปว่า ชีวิตและทรัพย์สินของพวกเจ้าทั้งหลายเหมือนกับพื้นแผ่นดินนี้ คือ ต้องได้รับเกียรติห้ามนองเลือดและห้ามละเมิดสิทธิของกันและกันเด็ดขาด

     ท่านกล่าวว่า จงถามพวกเขาซิว่า วันนี้เป็นวันอะไร พวกเขาตอบว่า วันนี้เป็นวันฮัจญฺอักบัร (ฮัจญฺที่ยิ่งใหญ่)  กล่าวว่า จงบอกกับพวกเขาไปว่า ชีวิตและทรัพย์สินของพวกเจ้าทั้งหลายเหมือนกับวันนี้ คือ ต้องได้รับเกียรติห้ามนองเลือดและห้ามละเมิดสิทธิของกันและกันเด็ดขาด[1]

   โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย การนองเลือดและการสังหารกันที่เกิดขึ้นในช่วงที่ยังมิได้เป็นมุสลิม วันนี้ต้องให้อภัยและลืมเรื่องเหล่านั้นให้หมด จะไม่มีการล้างแค้นกันอีกต่อไปแม้แต่เลือดของ อิบนิ เระบีอะฮฺ (สาวกคนหนึ่งของท่าน) ก็ต้องถูกลืมด้วยเช่นกัน

   พวกเจ้าทั้งหลายจะได้กลับคืนสู่พระเจ้าในไม่ช้านี้ในโลกหน้านั้น ฉะนั้น การงานทั้งดีและไม่ดีของพวกเจ้าจะถูกตรวจสอบ ฉันขอแจ้งให้พวกเจ้าทั้งหลายรู้ว่า บุคคลใดก็ตามทีมีสิ่งของ ๆ คนอื่นอยู่ในครอบครองจงส่งคืนของสิ่งนั้นให้กับเจ้าของเสีย

   โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย จงรู้ไว้เถิดว่าดอกเบี้ยในอิสลามเป็นสิ่งต้องห้ามชนิดรุนแรง บุคคลใดออกเงินกู้หรือลงทุนเพื่อตักตวงดอกเบี้ย จงรู้ไว้ว่าท่านสามารถเอาเงินทุนคืนได้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำดอกส่วนเกินมาบริโภคได้เด็ดขาด จงอย่ายอมถูกกดขี่และจงอย่ากดขี่บุคคลอื่น ผลกำไรที่อับบาซเคยเรียกเก็บจากลูกหนี้ก่อนอิสลาม บัดนี้มันยุติลงแล้วเจ้าไม่มีสิทธิเรียกเก็บสิ่งนั้นอีกต่อไป        

   โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย ชัยฏอนมารร้ายตั้งใจว่าจะได้รับการเคารพภักดีบนพื้นแผ่นดินของพวกเจ้า แต่บัดนี้ความหวังเหล่านั้นดับสลายลงหมดแล้ว แต่จงรู้ไว้ว่าถ้าหากพวกเจ้าปฏิบัติตามชัยฏอนเพียงเล็กน้อยมันจะดีใจอย่างยิ่ง ดังนั้น จงหลีกห่างการปฏิบัติตามชัยฏอนอย่างสิ้นเชิง

   การทำลายความศักดิ์สิทธิ์[2] ของเดือนต้องห้ามเกิดจากความสุดโต่งในการปฏิเสธของตน และเป็นสาเหตุให้พวกเขาไม่เข้าใจเรื่องเดือนต้องห้าม ผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้พวกเขายิ่งหลงทางออกไป และทำให้เดือนต้องห้ามปีนี้กลายเป็นเดือนอนุมัติ และปีหน้ากลับมาเป็นเดือนต้องห้ามเหมือนเดิม พวกเขาจงรู้ไว้ว่าการกระทำของพวกเขาเท่ากับทำให้สิ่งต้องห้ามของพระเจ้ากลายเป็นสิ่งอนุมัติ และสิ่งอนุมัติของพระองค์กลายเป็นสิ่งต้องห้าม

   เดือนต้องห้ามและเดือนอนุมัติของทุกปีจำเป็นเรียงตามลำดับ เนื่องจากพระเจ้าทรงสร้างท้องฟ้า แผ่นดิน ดวงจันทน์ และดวงตะวันในช่วงเวลาเหล่นั้น จำนวนเดือน ณ พระเจ้ามี 12 เดือน 4  ใน 12 เดือน เป็นเดือนต้องห้ามซึ่งประกอบด้วยเดือนซิลเกาะอิดะฮฺ ซิลฮิจญะฮฺ มุฮัรรอม และเดือนเราะญับ

   โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย ภรรยาของพวกเจ้ามีสิทธิเหนือพวกเจ้า และพวกเจ้าก็มีสิทธิเหนือพวกนาง ซึ่งสิทธิของพวกเจ้า คือ นางไม่มีสิทธิ์นำบุคคลอื่นเข้ามาในบ้านโดยมิได้รับอนุญาตจากสามี แม้ว่าจะไม่ได้กระทำผิดก็ตาม ถ้ามิเช่นนั้นแล้วพระเจ้าทรงอนุญาตให้พวกเจ้ามิต้องหลับนอนกับนางและลงโทษนาง ถ้าหากพวกนางกลับตัวกลับใจมาสู่สัจธรรม พวกเจ้าจงอภัยและอยู่กินกับนางและจงสรรหาปัจจัยยังชีพเพื่อการดำเนินชีวิตคู่ต่อไป

   ฉันขอแนะนำพวกเจ้าบนพื้นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า พวกเจ้าจงทำดีกับภรรยาของตน เนื่องจากพวกนาง คือ อามานะฮฺ (ของฝาก) ของพระเจ้าที่อยู่ในมือของพวกเจ้าพวกนางถูกอนุมัติสำหรับพวกเจ้าด้วยกฎเกณฑ์ของพระองค์

   โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย พวกเจ้าจงตั้งใจฟังคำพูดของฉันให้ดี ฉันขอฝากสิ่งหนักสองสิ่งอันมีค่ายิ่งไว้ในหมู่พวกเจ้า ถ้าหากพวกเจ้ายึดมั่นกับทั้งสองพวกเจ้าจะไม่หลงทางตลอดไป สิ่งหนึ่งคือ อัล-กุรอาน คัมภีร์แห่งพระเจ้า และอีกสิ่งหนึ่ง คือ แบบฉบับของฉัน[3]

   โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย โปรดฟังคำพูดของฉันให้ดีและคิดใคร่ครวญประเด็นดังกล่าวให้รอบคอบ มุสลิมคนหนึ่งเป็นพี่น้องกับมุสลิมอีกคน และมุสลิมทั้งโลกล้วนเป็นพี่น้องกัน ทรัพย์สินของมุสลิมคนหนึ่งมิได้เป็นที่อนุมัติสำหรับอีกคนหนึ่ง เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับอนุญาต และได้รับมาอย่างถูกต้อง[4]

   โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย พวกที่อยู่ ณ ที่นี่จงแจ้งข่าวให้พวกที่ไม่ได้มาทราบกันอย่างถ้วนหน้าด้วยว่า หลังจากฉันแล้วจะไม่มีนบีคนใดถูกประทานลงมา และหลังจากพวกเจ้าแล้วจะไม่มีประชาชาติใดอีก[5]

   โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย จงรู้ไว้เถิดว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปฉันขอประกาศว่าพิธีกรรมทั้งหมดตลอดจนความศรัทธาในสมัยที่เป็นผู้ปฏิเสธ ต้องถูกโยนทิ้งไว้ใต้ฝ่าเท้าทั้งสิ้น ฉันขอประกาศว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกต้อง[6]

   ในเวลานั้นท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) หยุดเทศนาชั่วครู่หลังจากนั้นท่านได้ชี้ไปบนท้องฟ้า พร้อมกับกล่าวว่า โอ้ พระเจ้าของฉัน ฉันเผยแผ่สาส์นของพระองค์แล้ว หลังจากนั้นท่านกล่าว 3 ครั้งว่า โอ้ อัลลอฮฺโปรดเป็นพยาน เพื่อเป็นการจบคำเทศนา

   ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ได้วุกูฟอยู่ที่ อาเราะฟะฮฺตั้งแต่เที่ยงวันของวันที่ 9 ซิลฮิจญะฮฺไปจนถึงมัฆริบ เมื่อดวงตะวันลับขอบฟ้าความมืดมิดค่อย ๆ เลื่อมล้ำเข้ามาแทนที่ท่านได้ขึ้นอูฐออกจากทุ่งอาเราะฟะฮฺ มุ่งหน้าไปสู่มุซดะละฟะฮฺ ท่านท่องอยู่มัชอัรตลอดทั้งคืน และหยุดวุกูฟเมื่อแสงสีเงินจับขอบฟ้าจนกระทั่งดวงตะวันขึ้น หลังจากนั้น และในตอนเช้าของวันที่ 10 ซิลฮิจญะฮฺ ท่านได้เคลื่อนขบวนไปยังทุ่งมินา เพื่อทำญุมเราะฮฺอะเกาะบะฮฺ (ขว้างเสาหินต้นสุดท้าย) ทำกุรบาน (เชือดพลีสัตว์) และตักซีร (ตัดหรือโกนผมหรือตัดเล็บ) หลังจากนั้นท่านเดินทางเข้ามักกะฮฺเพื่อปฏิบัติขั้นตอนอื่นของฮัจญฺ ดังนั้น จะสังเกตเห็นว่าท่านได้สอนประชาชนให้รู้จักขั้นตอนการบำเพ็ญที่ถูกต้อง

   บางครั้งรายงานและประวัติศาสตร์เรียกการบำเพ็ญฮัจญฺประวัติศาสตร์นี้ว่า ฮัจญะตุลวะดาอฺ และบางครั้งเรียกว่า ฮัจญะตุลบะลาฆ หรือฮัจญะตุลอิสลาม ซึ่งชื่อแต่ละชื่อล้วนมีความหมายและมีความสลักสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งความเหมาะสมของแต่ละชื่อเป็นที่ชัดเจนสำหรับมวลผู้ถวิลหาความจริง

   สุดท้ายประเด็นที่ขอกล่าว ณ ที่นี้ คือ เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักรายงานทั้งหลายว่า ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กล่าวคำเทศนานี้ที่ทุ่งอาเราะฟะฮฺ แต่นักวิชาการบ่างท่าน[7] เชื่อว่าคำเทศนานี้ท่านกล่าวในวันที่ 10 ซิลฮิจญะฮฺ ณ ทุ่งมินา



[1] ซีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม เล่ม 2 หน้า 605
[2] เนื่องจากผู้ดูแลกะอฺบะฮฺเคยเก็บสตางค์จากชนเผ่าต่าง ๆ  ที่มีความคิดเรื่องการทำสงครามในเดือนต้องห้าม ให้เป็นเดือนอื่นหรือประกาศเดือนอื่นให้เป็นเดือนต้องห้ามแทน
[3] ในคำเทศนานี้ ท่านได้กล่าวถึงอัล-กุรอานและแบบฉบับ (ซุนนะฮฺ) ของท่าน ส่วนในคำเทศนาเฆาะดีรและวันที่ท่านใกล้จะสิ้นใจ ท่านกล่าวถึง อัล-กุรอานและอิตเราะตียฺอะฮฺลุบัยตียฺ (ทายาทของท่าน) ซึ่งทั้งสองรายงานคือความสัจจริงที่ไม่มีบุคคลใดสามารถปฏิเสธได้เป็นอันขาด และทั้งสองรายงานก็มิได้มีความขัดแย้งกันแต่ประการใด เนื่องจากไม่มีปัญหาอันใดทั้งสิ้น ถ้าหากท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) จะนำเอาแบบฉบับของท่านมาเทียบเคียงกับอัล-กุรอาน และให้อยู่ในความทรงจำของบุคคลทั้งหลายตลอดไป ในอีกรายงานหนึ่งท่านได้นำเอาอะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาท) ของท่านซึ่งในความเป็นจริงก็คือ แบบฉบับที่แท้จริงของท่านนั่นเองเทียบเคียงกับอัล-กุรอาน เพื่อให้อยู่ในความทรงจำของผู้ศรัทธาทั้งหลายตลอดไป บางรายงานท่านได้เน้นและอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของทายาท (อะฮฺลุลบัยตฺ) ในฐานะที่เป็นตัวแทนของท่านภายหลังจากท่านให้ประชาชนได้รับรู้ และการปฏิบัติตามทายาทของท่านในความเป็นจริงก็คือ การปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านนั่นเอง

นักปราชญ์ของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ (ซุนนียฺ) บางท่าน เช่น เชคชัลตูต กล่าวไว้ในตัฟซีรของตน โดยคิดว่าท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) คงจะเทศนาเพียงรายงานเดียว คือ อัล-กุรอานและซุนนะฮฺของท่าน โดยอธิบายต่อในเชิงอรรถว่าอิตเราะตียฺนั้นเป็นสิ่งทดแทนซุนนะฮฺของท่านเราะซูล ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่จำเป็นต้องระบุเจาะจงพิเศษแต่อย่างใด เนื่องจากรายงานทั้งสองมิได้มีความขัดแย้งกันดังที่กล่าวมาแล้ว
[4] ซีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม เล่ม 2 หน้า 605
[5] คิซอบ ซะดูก เล่ม 2 หน้า 84
[6] บิฮารุลอันวาร เล่ม 21 หน้า 405
[7] เฏาะบะกอต อิบนิ ซะอฺดฺ เล่ม 2 หน้า 184