บทที่ 30 ประชาชาติกับศาสดา

·         บทนำ

·         ปฏิกิริยาของประชาชนกับบรรดาศาสดา

·         สาเหตุและแนวความคิดที่ขัดแย้งกับบรรดาศาสดา

·         แนวทางการเผชิญหน้าบรรดาศาสดา

·         แบบฉบับของพระเจ้าในการปกครองสังคม

บทนำ

เมื่ออัล-กุรอานกล่าวถึงบรรดาศาสดาก่อนหน้านั้น จะอธิบายชีวประวัติอันจำเริญของท่าน การเสริมเติมแต่งทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจถือว่าเป็นความสว่างไสวแห่งชีวประวัติของท่าน อาจเป็นไปได้ว่าประชาชนอาจแสดงปฏิกิริยาต่อต้านบรรดาศาสดา (อ.) อีกด้านหนึ่งเป็นการอธิบายสถานภาพของประชาชนเมื่อเผชิญหน้ากับบรรดาศาสดา และเหตุผลที่พวกเขาตั้งตนเป็นปรปักษ์ อีกด้านหนึ่งเป็นการอธิบายให้เห็นถึงแนวทางการชี้นำ การอบรมสั่งสอน และการต่อต้านปัจจัยอันเป็นตัวการที่นำไปสู่การหลงทาง การปฏิเสธ และการตั้งภาคีขึ้นเทียบเคียง ตลอดจนกล่าวถึงแบบฉบับของพระเจ้าในการปกครองดูแลสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับบรรดาศาสดา ซึ่งทั้งหมดครอบคลุมประเด็นสำคัญต่าง ๆ และบทเรียนจำนวนมากมาย

ประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาหลักความเชื่อ หรือหลักวิภาษวิทยาโดยตรงก็ตาม แต่เนื่องจากมีความชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับนบูวัต อีกทั้งยังสามารถขจัดความสงสัยต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไปได้ และในทัศนะที่บ่งบอกให้เห็นถึงความสำคัญของการอบรมสั่งสอน และการสร้างสรรค์ของมนุษย์ การตักเตือน และการได้รับบทเรียนหรืออุทาหรณ์จากเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงถือได้ว่ามีความจำเป็น ด้วยเหตุนี้ จะขอกล่าวถึงความสำคัญบางประการของสิ่งเหล่านั้น

ปฏิกิริยาของประชาชนกับบรรดาศาสดา

ขณะที่บรรดาศาสดาทั้งหลายต่างยืนหยัดขึ้น เพื่อเรียกร้องเชิญชวนให้ประชาชนหันมาเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَّسُولاً أَنِ اعْبُدُواْ اللّهَ وَاجْتَنِبُواْ الطَّاغُوتَ  

แน่นอน เราได้ส่งเราะซูลมาในทุกประชาชาติ พวกเจ้าจงเคารพภักดีอัลลอฮฺ และจงหลีกหนีพวกอธรรม (อัล-กุรอาน บทอันนะฮฺลิ / 36) (1)

และเชิญชวนให้เชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งของบรรดาศาสดา หลีกห่างจากบรรดาผู้อธรรม เทวรูป และพระเจ้าจอมปลอมทั้งหลาย หลีกเลี่ยงจากบรรดาชัยฏอนมารร้าย ละเว้นการกดขี่ข่มเหงและการก่อความเสียหาย ก่อบาปกรรมและความผิดต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วท่านศาสดามักเผชิญหน้ากับการต่อต้าน และการปฏิเสธของประชาชน อัล-กุรอาน กล่าวว่า

أَلَمْ يَأْتِكُمْ نَبَأُ الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ قَوْمِ نُوحٍ وَعَادٍ وَثَمُودَ وَالَّذِينَ مِن بَعْدِهِمْ لاَ يَعْلَمُهُمْ إِلاَّ اللّهُ جَاءَتْهُمْ رُسُلُهُم بِالْبَيِّنَاتِ فَرَدُّواْ أَيْدِيَهُمْ فِي أَفْوَاهِهِمْ وَقَالُواْ إِنَّا كَفَرْنَا بِمَا أُرْسِلْتُم بِهِ وَإِنَّا لَفِي شَكٍّ مِّمَّا تَدْعُونَنَا إِلَيْهِ مُرِيبٍ  

เรื่องราวของบรรดาผู้ทีมาก่อนหน้าพวกเจ้า เช่น กลุ่มชนของนูฮฺ อาด และษะมูด และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขามิได้มาถึงพวกเจ้าดอกหรือ ไม่มีผู้ใดรู้เรื่องของพวกเขานอกจากอัลลอฮ บรรดาเราะซูลของพวกเขาได้มายังพวกเขาพร้อมด้วยหลักฐานอันชัดแจ้ง พวกเขาได้เอามือปิดปากของพวกเขาไว้ และกล่าวว่า แท้จริงเราได้ปฏิเสธในสิ่งที่พวกท่านถูกส่งมา แท้จริง พวกเราสงสัยต่อสิ่งที่ท่านเรียกร้องเราไปสู่ (อัล-กุรอาน บทอิบรอฮีม / 9)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิเสธของเหล่าบรรดาผู้นำเผ่า และผู้มีหน้าตาทางสังคมซึ่งพวกเขาต่างมีความสุขอยู่กับการดื่มกิน อัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَمَا أَرْسَلْنَا فِي قَرْيَةٍ مِّن نَّذِيرٍ إِلَّا قَالَ مُتْرَفُوهَا إِنَّا بِمَا أُرْسِلْتُم بِهِ كَافِرُونَ

พวกเขาหลงระเริงอยู่กับทรัพย์สมบัติและความรู้ด้านวัตถุของพวกเขา อัล-กุรอาน บทอัลเกาะซ็อซ ดองการที่ 78, บทอัซซุมัร โองการที่ 49 และบทอัลฆอฟิร โองการที่ 83 กล่าวว่า

فَلَمَّا جَاءَتْهُمْ رُسُلُهُم بِالْبَيِّنَاتِ فَرِحُوا بِمَا عِندَهُم مِّنَ الْعِلْمِ وَحَاقَ بِهِم مَّا كَانُوا بِهِ يَسْتَهْزِؤُون  

ดังนั้น เมื่อบรรดาเราะซูลของพวกเขาได้มายังพวกเขาพร้อมด้วยหลักฐานต่าง ๆ อันชัดแจ้ง พวกเขาก็ดีใจกับความรู้ (ทางด้านวัตถุ) ที่มีอยู่กับพวกเขา และสิ่งที่พวกเขาเคยเยาะเย้ยไว้นั้นก็ห้อมล้อมพวกเขา (อัล-กุรอานบท อัลฆอฟิร 83)

พวกเขาได้ร่วมกันต่อต้านแนวทางของบรรดาศาสดาอย่างรุนแรง อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้ชนกลุ่มอื่นเข้าเป็นพวกอีกมากมาย พวกเขาได้หันหลังให้กับแนวทางแห่งสัจธรรม อัล-กุรอานกล่าวว่า และพวกเขากล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา แท้จริงเราได้เชื่อฟังปฏิบัติตามบรรดาหัวหน้าของเรา และบรรดาผู้นำของเรา ดังนั้น พวกเขาได้ทำให้พวกเราหลงทาง (อัล-กุรอาน บทอัล-อะฮฺซาบ / 67) (2)

ขณะเดียวกันกลุ่มชนที่ถูกกดขี่ทางสังคมกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยได้ทยอยกันเข้ารับอิสลาม และศรัทธาเลื่อมใสต่อบรรดาศาสดา ซึ่งเป็นเรื่องปกติว่าส่วนน้อยเท่านั้นที่จะยอมรับหลักความเชื่อที่ถูกต้อง ยอมรับความยุติธรรมทางสังคม เชื่อฟังปฏิบัติตามคำบัญชาของพระเจ้าและเราะซูล เช่น ในสมัยของศาสดาสุลัยมาน (อ.) เป็นต้น และแม้ว่าการอบรมสั่งสอนของเหล่าบรรดาศาสดาจะ มีอิทธิพลต่อสังคมไปที่ละน้อย และขยายจากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่งก็ตาม แต่เป็นการขยายตัวไปอย่างมั่นคงจนเป็นที่ฉงนสงสัยของเหล่าบรรดาผู้ปฏิเสธที่อธรรมทั้งหลาย ซึ่งจะพบว่าระบบกฎหมายสากลมากมายได้นำเอาเงื่อนไข และบทบัญญัติแห่งฟากฟ้าไปใช้ในระบบของตน โดยมิได้กล่าวอ้างถึงแหล่งที่มามิหนำซ้ำยังได้เปลี่ยนเป็นนามชื่อทางความคิดของตนและเอาสิ่งนั้นเสนอต่อชาวโลกอย่างน่าไม่อาย

สาเหตุและแนวความคิดที่ขัดแย้งกับบรรดาศาสดา

การเป็นปรปักษ์กับบรรดาศาสดาทั้งหลาย นอกจากแนวความคิดที่ว่าต้องการเป็นอิสระโดยปราศจากเงื่อนไขและการปฏิบัติตามอำนาจฝ่ายต่ำ ดังอัล-กุรอานกล่าวว่า เมื่อเราได้เอาสัญญาแก่วงศ์วานอิสราอีล และเราได้ส่งบรรดาเราะซูลมายังพวกเขา (แต่) ทุกครั้งที่เราะซูลคนใดนำสิ่งที่ขัดกับจิตใจของพวกเขามายังพวกเขา กลุ่มหนึ่งก็จะปฏิเสธ และอีกกลุ่มหนึ่งก็สังเสีย (อัล-กุรอานบทอัล-มาอิดะฮฺ / 70)

แล้วยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่น ความเห็นแก่ตัว และความดื้อรั้นอวดดีที่ว่าตนเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มของผู้มีฐานะและหน้าตาทางสังคม อัล-กุรอาน บทอัลอะอฺรอฟ โองการที่ 76 หรือในบทฆอฟิรได้เน้นย้ำเรื่องนี้ว่า แท้จริง บรรดาผู้โต้เถียงในเรื่องอโองการต่าง ๆ ของอัลลอฮฺที่มีมายังพวกเขาโดยปราศจากเหตุผล ไม่มีอะไรในทรวงอกของพวกเขานอกจากความดื้อรั้นอวดดี ซึ่งพวกเขาจะไม่บรรลุถึงสิ่งนั้นได้เด็ดขาด ดังนั้น จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงมองเห็น (อัล-กุรอานบทฆอฟิร  / 56)

อีกประเด็นหนึ่ง เนื่องจากความอคติและความหลงงมงายอยู่กับแบบฉบับเดิมของบรรดาบรรพบุรุษ และเกียรติยศจอมปลอมอันผิดพลาดทั้งหลายซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่อย่างดาษดื่นทั่วไปทุกสังคม อัล-กุอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 170, บทอัล-มาอิดะฮฺ โองการที่ 104, บทอัล-อะอฺรอฟ โองการที่ 28, บทยูนุส โองการที่ 78, บทอัล-อัมบิยาอฺ โองการที่ 53, บทอัชชุอะรอ โองการที่ 74, บทลุกมาน โองการที่ 21, และบทอัซซุครุฟ โองการที่ 22,23 กล่าวเน้นถึงเรื่องนี้ว่า

 พวกเขากล่าวว่า เปล่าเลยแท้จริงเราได้พบเห็นบรรพบุรุษของเราอยู่ในแนวทางนี้ และเราได้รับทางนำให้เจริญรอยตามแนวทางของพวกเขา เช่นนั้นแหละ เรามิได้ส่งผู้ตักเตือนคนใดก่อนหน้าเจ้าไปยังเมืองใด เว้นแต่บรรดาผู้ฟุ่มเฟือย บรรดาผู้ดื้อรั้นกล่าวว่า แท้จริงเราได้พบเห็นบรรพบุรุษของเราอยู่ในแนวทางนี้ ดังนั้น เราจะดำเนินตามแนวทางของพวกเขา (อัล-กุรอานบทอัซซุครุฟ โองการที่ 22,23)

ทำนองเดียวกันการปกป้องรายได้ทางเศรษฐกิจ และฐานภาพทางสังคมทำให้แนวความคิดของผู้มีอำนาจทั้งหลายมุ่งอยู่กับการระวังรักษาทรัพย์สิน ชื่อเสียง อำนาจบารมีและกลุ่มนักปราชญ์ผู้รู้ อัล-กุรอานในบทฮูด โองการที่ 84-86, เกาะซ็อซ โองการที่ 76-79, และเตาบะฮฺ โองการที่ 24 กล่าวเน้นย้ำว่า

จงกล่าวเถิดว่า หากบรรดาบิดาของพวกเจ้า บรรดาลูก ๆ ของพวกเจ้า บรรดาพี่น้องของพวกเจ้า บรรดาคู่ครองของพวกเจ้า บรรดาญาติของพวกเจ้า บรรดาทรัพย์สมบัติที่พวกเจ้าแสวงหาไว้ สินค้าที่พวกเจ้ากลัวว่าจะจำหน่ายมันไม่ออก และบรรดาที่อยู่อาศัยที่พวกเจ้าพึงพอใจเป็นที่รักใคร่แก่พวกเจ้ายิ่งกว่าอัลลอฮฺ เราะซูลของพระองค์ และการต่อสู้ในทางของพระองค์แล้วก็จงรอคอยกันเถิด อัลลอฮฺจะทรงนำมาซึ่งกำลังของพระองค์ และอัลลอฮฺจะไม่ทรงนำทางแก่กลุ่มชนที่ละเมิด (อัล-กุรอานเตาบะฮฺ โองการที่ 24)

อีกด้านหนึ่งความโง่เขลาและความไม่เข้าใจต่าง ๆ ประกอบกับความดันทุรังของประชาชน เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของเหล่าบรรดาผู้นำที่ปฏิเสธ และทำให้สังคมส่วนใหญ่ปฏิบัติตามแนวทางของบรรพบุรุษ อันเป็นสาเหตุทำให้หัวใจและความคิดอ่านของพวกเขามืดบอด เฉพาะชนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีศรัทธาต่อศาสนาหรือแนวทางอันถูกต้อง ส่วนผู้คนส่วนใหญ่ต่างแย่งชิงกันเพื่อหยิบฉวยโอกาสทางสังคมที่เหล่าบรรดาผู้นำได้หยิบยื่นให้เท่านั้น และต้องไม่ลืมการบีบบังคับจากฝ่ายผู้นำด้วย อัล-กุรอาน กล่าว บทอิบรอฮีม โองการที่ 21, บทฟาฏิร โองการที่ 47, บทฮูด โองการที่ 27, และบทอัชชุอะรอ โองการที่ 111 กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

 และพวกเขาได้ออกมาพร้อมกันต่อหน้าอัลลอฮ พวกอ่อนแอกล่าวกับพวกหัวหน้าว่า แท้จริงพวกเราเป็นผู้ตามพวกท่าน พวกท่านจะช่วยพวกเราให้พ้นจากการลงโทษของอัลลอฮได้อย่างไร พวกเขากล่าวว่า หากอัลลอฮ ทรงชี้แนะทางแก่เรา แน่นอน เราก็จะชี้แนะทางแก่พวกท่านซึ่งมีผลเท่ากันสำหรับเรา ถึงแม้ว่าเรากระวนกระวายหรือเราอดทน สำหรับพวกเรานั้นไม่มีทางรอดไปได้ (อัล-กุรอาน บทอิบรอฮีม โองการที่ 21)

แนวทางการเผชิญหน้ากับบรรดาศาสดา

บรรดาพวกที่ต่อต้านบรรดาศาสดาพวกเขาพยายามใช้วิธีการต่าง ๆ ต่อสู้เพื่อขัดขวางความก้าวหน้า และความสำเร็จในการเผยแพร่ของศาสดา เช่น

1. การดูถูกเหยียดหยามและให้การเย้ยหยัน ชนกลุ่มแรกจะพยายามทำลายบุคลิกภาพของบรรดาศาสดาแห่งพระเจ้า โดยการพูดจาดูถูกดูแคลน เยาะเย้ย และพูดเสียดสีล้อเล่นต่าง ๆ นานา เพื่อให้ประชาชนเบื่อหน่ายบรรดาศาสดาและไม่ต้องสนใจอีกต่อไป อัล-กุรอาน หลายโองการ เช่น บทอัลฮิจญฺริ โองการที่ 11, บทยาซีน โองการที่ 30, บทซุครุฟ โองการที่ 7, และบทอัล-มุฏ็อฟฟิฟีน โองการที่ 29-32  กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

แท้จริงบรรดาผู้กระทำผิดนั้น เคยหัวเราะเยาะบรรดาผู้ศรัทธา เมื่อบรรดาผู้ศรัทธาเดินผ่านพวกเขาไป พวกเขาจะหลิ่วตาเย้ยหยัน เมื่อพวกเขากลับไปยังพวกพ้องของพวกเขา พวกเขาก็กลับไปอย่างตลกคะนอง เมื่อพวกเขาเห็นบรรดาผู้ศรัทธาพวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงชนเหล่านี้เป็นผู้หลงทาง (อัล-กุรอาน บทอัล-มุฏ็อฟฟิฟีน โองการที่ 29-32)

2. โกหกและใส่ร้ายบรรดาศาสดาอย่างน่ารังเกียรติที่สุด เมื่อพวกเขาเริ่มโกหกพวกเขาก็เริ่มใส่ร้ายป้ายสีบรรดาศาสดาอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กล่าวหาว่าบรรดาศาสดาเป็นบ้าเสียสติหรือวิกลจริตต่าง ๆ นานา อัล-กุรอาน บทอัล-อะอฺรอฟ โองการที่ 66, บทอัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 13, และบทอัล-มุอฺมินูน โองการที่ 25 กล่าวถึงคำใส่ร้ายป้ายสีของพวกเขาโดยบรรดาพวกปฏิเสธกล่าวว่า

เขามิได้เป็นอะไรนอกจากเป็นคนบ้า ดังนั้น พวกท่านจงอดทนคอยเขาสักระยะเวลาหนึ่ง (อัล-กุรอานบทบทอัล-มุอฺมินูน โองการที่ 25)  

เมื่อบรรดาศาสดาได้แสดงปาฏิหาริย์ (มุอฺญิซะฮฺ) ให้ประชาชนได้รับรู้ พวกเขาก็ยิ่งใส่ร้ายป้ายสีมากกว่าเดิมว่า จิตใจของพวกเขาเผอเรอ บรรดาผู้อธรรมต่างกระซิบกระซาบระหว่างกันว่า เขา (มุฮัมมัด) นี้มิใช่ใครอื่น นอกจากเป็นสามัญชนเยี่ยงพวกเจ้า พวกเจ้าจะยอมรับมายากล ทั้ง ๆ ที่เจ้าก็รู้เห็นอยู่ว่ามันเป็นมายากลกระนั้นหรือ (อัล-กุรอานบทอัลอัมบิยาอฺ / 3)

หรือในบทอัซซาริยาต โองการที่ 39, 52, 53, บทอัลเกาะมัร โองการที่ 2 ก็กล่าวไว้ในทำนองเดียวกันนี้

หรือบางครั้งก็กล่าวหาว่าคัมภีร์เป็นเพียงนิยายที่เคยเล่าขานกันมาแล้วในอดีต อัล-กุรอานกล่าวเน้นคำพูดของพวกเขาว่า

ในหมู่พวกเขามีบางคนสดับฟัง (คำพูด) เจ้าอยู่บ้าง แต่เราได้เอาม่านปิดกั้นหัวใจของพวกเขาเพื่อจะได้ไม่เข้าใจ เราได้ให้หูของพวกเขาตึงหนวก (เนื่องจากความดื้อรั้น) แม้พวกเขาจะเห็นสัญญาณทั้งหมดพวกเขาก็จะไม่ศรัทธา จนกระทั่งพวกเขาได้มาหาเจ้าแล้วโต้เถียงกับเจ้า บรรดาผู้ที่ปฏิเสธกล่าวว่า นี่มิใช่อะไรอื่น นอกจากบรรดาสิ่งขีดเขียนอันไร้สาระของคนก่อน ๆ เท่านั้น (นิยายโบราณ) (อัล-กุรอาน บทอัลอันอาม / 25)

เมื่อบรรดาโองการของเราถูกอ่านให้แก่พวกเขาฟัง พวกเขาก็กล่าวว่า เราได้ยินแล้วหากเราประสงค์ เราก็จะพูดเช่นนี้เช่นนั้นแน่นอน สิ่งนี้ใช่อื่นใดไม่ นอกจากถ้อยคำที่ถูกขีดเขียนไว้ของคนก่อน ๆ เท่านั้น (อัล-กุรอาน บทออันฟาล / 31)

เมื่อได้ถูกกล่าวแก่พวกเขาว่า พระเจ้าของพวกเจ้าได้ประทานอะไรลงมา พวกเขาก็กล่าวว่า นิยายสมัยก่อน (อัล-กุรอาน บทอัลนะฮฺลิ / 24)

แท้จริงเราและบรรพบุรุษของเราได้ถูกสัญญามาก่อนแล้วในเรื่องนี้ มันมิใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นนิยายเหลวไหลสมัยก่อนเท่านั้น (อัล-กุรอาน บทอัลมุอฺมินูน / 83)

และพวกเขากล่าวว่า อัล-กุรอานเป็นนิยายของประชาชาติสมัยก่อนที่เขียนกันขึ้นแล้วถูกนำมาอ่านให้ขึ้นใจ ทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น (อัล-กุรอาน บทอัลฟุรกอน / 5)

โดยแน่นอน เราได้ถูกสัญญาในเรื่องนี้มาก่อน ทั้งเราและบรรพบุรุษของเรา เรื่องนี้มิใช่อะไรอื่น นอกจากเป็นนิทานโกหกสมัยก่อน (อัล-กุรอาน บทอัลนัมลิ /68)

ผู้ที่กล่าวแก่บิดามารดาของเขา ว่า อุฟ แก่ท่านทั้งสอง ท่านทั้งสองขู่ฉันว่าฉันจะถูกให้ออกมาฟื้นคืนชีพอีกกระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่หลายศตวรรษก่อนหน้าฉันได้ล่วงลับไปแล้ว และเขาทั้งสองร้องขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺ พลางกล่าวแก่ลูกว่า ความหายนะ จงประสบแก่เจ้า จงศรัทธาเถิด แท้จริงสัญญาของอัลลอฮฺนั้นเป็นความจริง แล้วเขาก็พูดว่า เรื่องนี้มิใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นนิยายเหลวไหลสมัยก่อนเท่านั้น (อัล-กุรอาน บทอัลอะฮฺกอฟ / 17)

เมื่ออายาต (อัลกุรอาน) ทั้งหลายของเราถูกสาธยายแก่เขา เขากล่าวว่าเป็นนิยายเหลวไหลสมัยก่อน (อัล-กุรอาน บทอัลเกาะลัม / 15)

เมื่ออายาต (อัลกุรอาน) ทั้งหลายของเราถูกสาธยายแก่เขา เขากล่าวว่าเป็นนิยายเหลวไหลสมัยก่อน (อัล-กุรอาน บทอัลมุฏ็อฟฟิฟีน / 13)

3. โต้เถียง เมื่อบรรดาศาสดาใช้วาทศิลป์และเหตุผลอันชัดแจ้งมากด้วยวิทยปัญญาพูดกับพวกเขา บางครั้งก็ใช้วิธีโต้แย้งแบบสร้างสรรค์ หรือทำการตักเตือนประชาชนด้วยแบบอย่างอันดีงาม ท่านเตือนพวกเขาถึงปรากฏการณ์ที่อาจเกิดจากการปฏิเสธ หรือการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า และการอธรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังได้กล่าวถึงผลสรุปอันเป็นประโยชน์กับชีวิตอันบรมสุขยิ่ง ที่เกิดจากการเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว ผลรางวัลตอบแทนแก่บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบคุณงามความดี ทั้งโลกนี้และโลกหน้า แต่น่าเสียดายว่าบรรดาผู้ปฏิเสธที่อธรรมขัดขวางประชาชน และกีดกันมิให้พวกเขาได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ หลังจากนั้นได้อ้างเหตุผลอันอ่อนแอแก่ประชาชน และพยายามที่จะยัดเหยียดสิ่งผิดให้ประชาชนได้รับรู้ อัล-กุรอาน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

บรรดาผู้ปฏิเสธกล่าวว่า พวกท่านอย่าฟังอัล-กุรอาน แต่จงทำเสียงอึกทึกในขณะนั้น หวังว่าพวกท่านจะมีชัยชนะ (อัล-กุรอานบทฟุซซิลัต / 23)

ในทำนองนั้นเราได้ให้มีศัตรูขึ้นแก่นบีทุกคนทั้งบรรดาชัยฏอนมนุษย์และญิน โดยที่พวกเขาจะกระซิบกระซาบด้วยคำพูดหลอกลวงไร้แก่นสาน พวกเขาจะกล่าวแก่อีกบางคนว่า ถ้าหากพระผู้อภิบาลของเจ้าทรงประสงค์พวกเขาก็จะไม่กระทำเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ เจ้าจงปล่อยพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาอุปโลกน์ไว้เช่นนั้น (อัล-กุรอาน บทอัลอันอาม / 112)

พวกเจ้าจงอย่าบริโภคสิ่งที่พระนามของอัลลอฮ์มิได้ถูกกล่าวการกระทำเช่นนั้นเป็นบาป บรรดาชัยฏอนจะกระซิบกระซาบแก่บรรดาสหายของตน เพื่อพวกเขาจะได้โต้เถียงกับพวกเจ้าถ้าหากพวกเจ้าเชื่อฟังพวกเขา พวกเจ้าก็จะเป็นตั้งภาคีคนหนึ่ง (อัล-กุรอาน บทอัลอันอาม / 121)

เมื่อพวกเขารู้สึกว่าพ่ายแพ้ต่อบรรดาศาสดา พวกเขาจะอ้างและถือเอาเฉพาะแบบอย่างของบรรพบุรุษเป็นแนวทางยึดมั่นสำหรับพวกตน อัล-กุรอาน กล่าวว่า

เมื่อกล่าวแก่พวกเขาว่าจงปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาเถิด พวกเขาก็กล่าวว่า มิได้ เราจะปฏิบัติเฉพาะสิ่งที่เราได้พบบรรดาบรรพบุรุษของเราเคยปฏิบัติมาเท่านั้น และถึงแม้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาไม่เข้าใจสิ่งใด และทั้งไม่ได้รับแนวทางอันถูกต้องก็ตามกระนั้นหรือ (อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ / 170)

พวกเขาจะกล่าวอ้างว่าความร่ำรวยและทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากมายของพวกเขา เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความเจริญรุ่งเรืองของบรรดาบรรพบุรุษ ส่วนความอ่อนแอความยากจนและความล้าหลังเป็นของกลุ่มชนที่ปฏิบัติตามบรรดาศาสดา อันเป็นเหตุผลทางความเชื่อและการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง อัล-กุรอาน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

มูซาได้กล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของเราพระองค์ทรงประทานทรัพย์สินและความสำราญแห่งชีวิตทางโลก แก่ฟิรเอาน์และพลพรรคของเขา โอ้ พระผู้อภิบาลของเราพวกเขาจะทำให้ (ปวงบ่าว) หลงออกไปจากแนวทางของพระองค์ โอ้ พระผู้อภิบาลของเราโปรดทำลายทรัพย์สินของพวกเขา โปรดทำให้หัวใจของพวกเขาแข็งกระด้างเพื่อจะได้ไม่ต้องศรัทธา จนกว่าพวกเขาจะเห็นการลงโทษอันเจ็บปวด (อัล-กุรอาน บทยูนุส / 88) (3)

พวกเขายังใช้ข้อแอบอ้างต่าง ๆ นานาเท่าที่จะสรรหามาได้เพื่อเป็นข้อโต้เถียงกับบรรดาศาสดา เช่น กล่าวว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าจึงไม่แต่งตั้งศาสดาที่เป็นมะลักลงมา ทำไมพระเจ้าไม่ส่งมะลักลงมาพร้อมกับศาสดา ทำไม่พระเจ้าไม่ให้พวกเขาร่ำรวยมีทรัพย์สินเงินทองมากมายเหมือนกับพวกเรา ซึ่งความดื้อดึงของพวกเขาไปไกลสุดโต่งจนกระทั่งพวกเขากล่าวว่า ถ้าหากพวกเราศรัทธาวะฮฺยูต้องประทานลงมาที่พวกเราแน่นอน หรือไม่พวกเราก็คงได้เห็นพระเจ้าและได้ยินคำพูดของพระองค์ด้วยตัวเอง อัล-กุรอาน บทอัล-อันอาม โองการที่ 124 บทอันนิซาอฺ โองการที่ 153 และบทอัล-บะเกาะเราะฮฺ กล่าวว่า บรรดาผู้ที่ไม่รู้กล่าวว่า ไฉนอัลลอฮจึงไม่ตรัสแก่พวกเรา หรือไม่มีโองการมายังพวกเรา ในทำนองเดียวกันบรรดาชนรุ่นก่อนพวกเขา ก็กล่าวเช่นเดียวกับคำพูดของพวกเขา โดยที่หัวใจของพวกเขาคล้ายคลึงกัน แท้จริงเราได้แจกแจงสัญญาณต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจนแล้ว แก่พวกที่ศรัทธามั่น (อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ / 118)

4. การขู่บังคับกรรโชก เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อัล-กุรอานกล่าวว่าบรรดาพวกปฏิเสธได้ใช้เผชิญหน้ากับบรรดาศาสดาและผู้เจริญรอยตาม ซึ่งพวกเขาได้ขู่บังคับ ทรมาน หรือบางครั้งขับไล่ออกจากบ้านเมือง ขว้างปาด้วยก้อนหิน หนักที่สุดคือการไล่สังหาร ดังปรากฏคำยืนยันไว้ในบทอิบรอฮีม โองการที่ 13 บท บทฮูด โองการที่ 91 บทมัรยัม โองการ 46 บทยูนุส โองการ 18 และบทอัลฆอฟิร โองการที่ 26 โดยกล่าวว่า ฟิรเอานฺ กล่าวว่า จงปล่อยข้า ข้าจะฆ่ามูซา และให้เขาวิงวอนขอต่อพระเจ้าของเขา แท้จริงฉันเกรงว่าเขาจะมาเปลี่ยนศาสนาของพวกเจ้า หรือจะก่อการร้ายให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน (บทอัลฆอฟิร / 26)

อีกด้านหนึ่งพวกเขาจะใช้วิธีการบริจาคทรัพย์สินเป็นการขัดขวางการเผยแผ่ของบรรดาศาสดา โดยบริจาคทรัพย์สินแล้วนั้นแก่ประชาชนเพื่อให้พวกเขาหันเหออกจากแนวทาง อัล-กุรอาน กล่าวว่า

แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธ พวกเขาจะบริจาคทรัพย์สินของพวกเขาเพื่อขัดขวางให้ผู้คนออกจากการงานของอัลลอฮฺ แล้วพวกเขาก็จะบริจาคต่อไป ภายหลังทรัพย์สินนั้นจะกลายเป็นความเสียใจแก่พวกเขา แล้วพวกเขาจะได้รับความปราชัย และบรรดาผู้ปฏิเสธจะถูกต้อนไปสู่นรกญะฮันนัม (อัล-กุรอานบทอัลฟาล / 36)

5. การใช้ความป่าเถื่อนโหดร้ายและการสังหาร ในที่สุดเพื่อพวกเขาเห็นว่าความอดทนอดกลั้น และการยืนหยัดของบรรดาศาสดานานวันจะยิ่งเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ความเสียหายได้เกิดแด่พวกเขา อัล-กุรอาน กล่าวว่า ทำไมเล่าเราจึงไม่มอบความไว้วางใจแด่อัลลิอฮ แน่นอน พระองค์ทรงชี้นำทางทั้งหลายแก่เรา และเราจะอดทนต่อการที่พวกเจ้าทำร้ายเรา ซึ่งบรรดาผู้มอบความไว้วางใจ พึงไว้วางใจแด่อัลลอฮเท่านั้น (บทอิบรอฮีม / 12) พวกเขาเล็งเห็นว่านานวันเข้าบรรดาผู้ศรัทธายิ่งมากขึ้น การโฆษณาชวนเชื่อและการงานต่าง ๆ ของพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาจึงใช้แผนการสุดท้ายเพื่อจัดการขบวนการของศาสดาให้สิ้นซาก โดยเริ่มต้นด้วยการขู่บังคับ การใช้ความป่าเถื่อนเข้าทำร้ายจนกระทั่งการฆ่าสังหารชีวิตบรรดาศาสดา ซึ่งมีศาสดาจำนวนไม่น้อยที่พวกเขาสังหารชีวิตไป ทำให้สังคมมนุษย์ส่วนใหญ่ถูกกีดกันจากการปฏิบัติตามมนุษย์ที่ดีที่สุด อันเป็นความเมตตาอันใหญ่หลวงจากพระเจ้า อัล-กุรอานกล่าวว่า

พวกเขาจึงถูกหวดด้วยความอัปยศและความขัดสน และพวกเขาถูกอัลลอฮฺกริ้วโกรธ นั่นเป็นเพราะพวกเขาปฏิเสธสัญญาณต่างๆ ของอัลลอฮฺ และสังหารบรรดาศาสดาโดยอยุติธรรม นั่นเป็นบาปที่พวกเขาละเมิด (อัล-กุรอานบทอัล-บะเกาะเราะฮฺ / 61)

คราวใดที่ศาสดานำสิ่งที่ไม่สบอารมณ์ของสูเจ้ามา สูเจ้าได้แสดงความยโสโอหัง พร้อมกับปฏิเสธบางกลุ่มและสังหารอีกบางกลุ่มกระนั้นหรือ (อัล-กุรอานบทอัล-บะเกาะเราะฮฺ / 87)

จงกล่าวเถิด ถ้าหากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธาจริงไฉนก่อนหน้านี้พวกเจ้าจึงสังหารบรรดาศาสนทูตของอัลลอฮฺ (อัล-กุรอานบทอัล-บะเกาะเราะฮฺ / 91)

แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธโองการทั้งหลายของอัลลอฮฺ สังหารบรรดานบีโดยอยุติธรรม และสังหารบรรดาผู้ที่กำชับให้มีความยุติธรรมในหมู่ประชาชน ดังนั้น จงแจ้งข่าวการลงโทษอันเจ็บปวด (ของพระเจ้า) แก่พวกเขาเถิด (อัล-กุรอานบทอัลอาลิอิมรอน / 21)

ความขัดสนจะถูกฟาดลงบนพวกเขา นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขาเคยปฏิเสธบรรดาโองการของอัลลอฮฺ และสังหารบรรดานบีโดยอยุติธรรม (อัล-กุรอานบทอัลอาลิอิมรอน / 112)

การที่พวกเขาสังหารบรรดานบีโดยอยุติธรรม (เราจะบันทึกไว้) และเราจะกล่าวว่าพวกเจ้าจงลิ้มการลงโทษแห่งเปลวเพลิงเถิด (อัล-กุรอานบทอัลอาลิอิมรอน / 181)

นอกจากโองการเหล่านี้แล้วยังมีโองการในบทอัล-มาอิดะฮฺ โองการทีท 70 บทอันนิซาอฺ โองการที่ 155 กล่าวถึงเรื่องการลงโทษอัน เนื่องจากบาปกรรมที่พวกเขาได้สังหารบรรดานบีของพระเจ้า

แบบฉบับของพระเจ้าในการปกครองสังคม

แม้ว่าเป้าจุดประสงค์อันแท้จริงของการแต่งตั้งบรรดาศาสดาลงมา เพื่อสั่งสอนให้ประชาชนได้เรียนรู้และรู้จักสิ่งที่จำเป็นสำหรับความเจริญผาสุกทั้งโลกนี้และโลกหน้า อีกทั้งยังต่อเติมความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสติปัญญาอันน้อยนิด และประสบการณ์ของเขาให้สมบูรณ์โดยผ่านกระบวนการวะฮฺยู อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ข้อพิสูจน์และเหตุผลสำหรับเขาสมบูรณ์แล้ว ดังอัล-กุรอาน กล่าวว่า

 มิใช่เช่นนั้นดอก ข้าขอสาบานด้วยพระเจ้าของเจ้าว่า เขาเหล่านั้นจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าพวกเขาจะให้เจ้าตัดสินในสิ่งที่ขัดแย้งกันระหว่างพวกเขา พวกเขาไม่ลำบากใจแต่อย่างใดในสิ่งที่เจ้าได้ตัดสินใจ และพวกเขายอมจำนนด้วยดี (อัล-กุรอาน บทอันนิซาอฺ / 65)

อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า หากเราทำลายพวกเขาด้วยการลงโทษก่อนการให้อัล-กุรอานลงมา พวกเขาจะกล่าวอย่างแน่นอนว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเราทำไมพระองค์ไม่ส่งเราะซูลมายังพวกเราก่อน เพื่อเราจะได้ปฏิบัติตามโองการของพระองค์ ก่อนที่เราจะได้รับความต่ำต้อยและความอัปยศ (อัล-กุรอาน บทฏอฮา / 134)

แต่ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ (ซบ.) ขณะที่ทรงประทานบรรดาศาสดาลงมา พระองค์ทรงเตรียมพื้นที่ไว้เบ็ดเสร็จด้วยอำนาจการบริหารของพระองค์ เพื่อให้ประชาชนยอมรับคำเชิญชวนของบรรดาศาสดาและก้าวไปสู่ความสมบูรณ์ในการเป็นมนุษย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากการปฏิเสธพระเจ้าและศาสดาเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าไม่ต้องการศาสดา อัล-กุรอาน กล่าวเน้นย้ำว่า มิใช่เช่นนั้นแท้จริงมนุษย์นั้น ย่อมจะละเมิดขอบเขต (อัลอะลัก / 6) ซึ่งความลืมเลือนจากความไม่ต้องการได้ครอบงำมนุษย์ในทุกด้าน แต่พระผู้อภิบาลยังทรงสร้างเงื่อนไขขึ้นมา เพื่อให้มนุษย์ได้หวนคิดถึงความต้องการของตนเอง และก้าวลงจากหลังของความดื้อรั้น ความลืมเลือน และความอคติทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงเผชิญหน้ากับการทดสอบต่าง ๆ มนุษย์จะต้องการหรือไม่ต้องการเขาจะสำนึกถึงความไร้ความสามารถของตน เมื่อนั้นเขาจะก้าวไปสู่พระเจ้าของตน อัล-กุรอาน กล่าวว่า

แน่นอน เราได้ส่ง (ศาสดา) ไปยังประชาชาติก่อนหน้าเจ้าแล้ว (เมื่อพวกเขาปฏิเสธศาสดาอย่างรุนแรง) เราได้ทดลองพวกเขาด้วยความแร้นแค้นและความลำบาก เพื่อว่าพวกเขาจะได้นอบน้อม (อัล-กุรอาน บทอัล-อันอาม /42)

อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า เรามิได้ส่งนบีคนใดไปในเมืองหนึ่งเมืองใด นอกจากเราได้ลงโทษชาวเมืองนั้นด้วยความแร้นแค้นและความยากลำบาก เพื่อว่าพวกเขาจะได้นอบน้อม (อัล-กุรอาน บทอัล-อะอฺรอฟ / 94)

แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวไม่มีครอบคลุมประชาชาติทั้งหมด เนื่องจากยังมีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนที่มีความสะดวกสบายด้านวัตถุปัจจัยทางโลก มีอำนาจบารมีและใช้อำนาจนั้นกดขี่ประชาชนมาอย่างช้านาน พวกเขาได้รวบรวมทรัพย์สฤงคารไว้มากมายทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค (4) พวกเขายังคงหลับใหลไปกับความลืมเลือนและดำเนินชีวิตไปตามแนวทางของความละโมบต่อไป ดังนั้น คำว่ากล่าวตักเตือนและคำเชิญชวนของบรรดาศาสดาจะไม่บังเกิดผลใด ๆ ทั้งสิ้นแก่พวกเขา เมื่อพระเจ้าทรงขจัดการลงโทษและการทดสอบต่าง ๆ ไปจากสังคม และทรงทดแทนสิ่งเหล่านั้นด้วยความเมตตาของพระองค์ พวกเขาก็จะกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้น การสลับหมุนเวียนระหว่างความสะดวกสบายกับความยากลำบากเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตการเป็นอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เคยเกิดกับบรรพชนในยุคก่อนมาแล้ว อัล-กุรอาน กล่าวเน้นย้ำว่า

ثُمَّ بَدَّلْنَا مَكَانَ السَّيِّئَةِ الْحَسَنَةَ حَتَّى عَفَواْ وَّقَالُواْ قَدْ مَسَّ آبَاءَنَا الضَّرَّاءُ وَالسَّرَّاءُ فَأَخَذْنَاهُم بَغْتَةً وَهُمْ لاَ يَشْعُرُونَ  

หลังจากนั้น (เมื่อคำเตือนไม่บังเกิดผล) เราได้เปลี่ยนความดีแทนที่ความชั่ว (ความแร้นแค้น) จนกระทั่งพวกเขามีมากขึ้น พวกเขากล่าวว่า แท้จริง (มิได้เฉพาะพวกเราที่ประสบ) บรรพบุรุษของเราต่างได้ประสบความเดือดร้อนและความสุขสบายมาแล้ว เมื่อเป็นดังนั้น เราจึงได้ลงโทษพวกเขาโดยฉับพลันขณะที่พวกเขาไม่รู้ตัว (อัล-กุรอานบทอัล-อะอฺรอฟ / 95)

ต่อมาพวกเขาได้เริ่มกดขี่ข่มเหงประชาชนสั่งสมทรัพย์สมบัติและกองกำลังอีกครั้ง โดยลืมเลือนไปว่าทรัพย์สมบัติจำนวนมากมายเหล่านั้นคือ การทดสอบและเป็นกับดักที่พระเจ้าทรงประทานให้เพื่อดักจับเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อัล-กุรอาน เน้นย้ำว่า บรรดาผู้ปฏิเสธโองการต่าง ๆ ของเรา เราจะจัดการพวกเขาที่ละน้อยโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว ข้าจะประวิงเวลาแก่พวกเขา แท้จริงแผนการของข้าเฉียบคมยิ่งกว่า (อัล-กุรอานบทอัล-อะอฺรอฟ / 182-183) (5)

อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ปฏิบัติตามบรรดาศาสดามีจำนวนมากพอสมควร มีความเข็มแข็งเพียงพอในการสร้างสังคม สามารถจัดตั้งการปกครองเป็นของตนเอง และสามารถปกป้องตนเองจากการคุกคามของอริยศัตรูได้แล้ว เมื่อนั้นพระองค์จะมีบัญชาให้ญิฮาด อัล-กุรอาน กล่าวว่า

นบีตั้งเท่าไหร่แล้วที่กลุ่มชนจำนวนมากมายได้ต่อสู้ร่วมกับเขา แล้วพวกเขาไม่เคยท้อแท้ต่อสิ่งที่ได้ประสบแก่พวกเขาในทางของอัลลอฮฺ พวกเขาไม่เคยอ่อนกำลัง (ไม่ก้มหัวให้) และอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่อดทนทั้งหลาย (อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน / 146)

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงลงโทษบรรดาผู้ปฏิเสธและพวกอธรรมทั้งหลาย ด้วยน้ำมือของพวกเขา อัล-กุรอานกล่าวว่า พวกเจ้าจงต่อสู้พวกกับเขาเถิด อัลลอฮ จะทรงลงโทษพวกเขาด้วยน้ำมือของพวกเจ้า ทรงหยามพวกเขา และทรงช่วยเหลือพวกเจ้าให้ได้รับชัยชนะเหนือพวกเขา (อัล-กุรอาน บทอัตเตาบะฮฺ /14)

หากมิใช่เช่นนี้แล้วศาสดาจะสั่งให้บรรดาผู้ศรัทธาหลีกห่างออกไป เพื่อปล่อยให้พระเจ้าทรงลงโทษสังคมที่ไม่มีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ อัล-กุรอาน กล่าวว่า แต่ละคนเราได้ลงโทษตามความผิดของเข เช่น บางคนในหมู่พวกเขาเราได้ส่งลมพายุร้ายทำลายเขา บางคนเราได้ลงโทษเขาด้วยเสียงกัมปนาท บางคนเราได้ให้แผ่นดินสูบเขาไป และบางคนเราได้ให้เขาจมน้ำตาย อัลลอฮฺมิได้ทรงอธรรมแก่พวกเขา แต่พวกเขาต่างหากที่อธรรมต่อตัวเอง (อัล-กุรอาน บทอังกะบูต / 40)

และนี้คือแบบอย่างของพระเจ้าในการปกครองสังคม ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อัล-กุรอาน กล่าวว่า

ทั้งหมดคือความหยิ่งยโสโอหังบนหน้าแผ่นดินและแผนการแผนชั่วร้ายของพวกเขา แต่แผนชั่วนั้นจะเป็นกักดักเฉพาะเจ้าของเท่านั้น พวกเขาจะคอยอะไรอีกเล่านอกจากแนวทางของบรรพชน ดังนั้น เจ้าจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงในแนวทางของอัลลอฮฺ และเจ้าจะไม่พบการบิดเบือนในแนวทางของอัลลอฮฺแต่อย่างใด (อัล-กุรอาน บทฟาฏิร / 43) (6)



[1] นอกจากโองการข้างต้นแล้วยังมีโองการที่ 25 บทอันบิยาอฺ โองการที่ 14 บทฟุซซิลัต โองการที่21 บทอัลอะฮฺกอฟ
[2] และบทอัซซะบาอฺ โองการที่ 31 -33 ก็กล่าวยืนยันในลักษณะเดียวกัน
[3] นอกจากโองการข้างต้นแล้วยังมีโองการในบทอื่นอีก เช่น สะบาอฺ โองการที่ 35, บทเกาะลัม โองการที่ 14, บทมัยยัม โองการที่ 77, บทมุดัรซิร โองการที่ 12, บทมุซัมมิล โองการที่ 11, บทอะฮฺกอฟ โองการที่ 11 ได้กล่าวถึงคำอ้างและเหตุผลในทำนองเดียวกันไว้
[4] ดังคำกล่าวของอัล-กุรอานที่ว่า จิตใจของพวกเขาแข็งกระด้างจนหมดสิ้นยากที่พวกเขาจะหันเข้าหาสัจธรรมความจริง (อัล-กุรอาน บทอัล-อันอาม /43)
[5] นอกจากโองการดังกล่าวแล้วอัล-กุรอานในบทอาลิอิมรอน โองการที่ 178 บทอัตเตาบะฮฺ โองการที่ 55, 85 และบทมุอฺมินูน โองการที่ 54-56 ได้กล่าวไว้เช่นกัน
[6] นอกจากโองการดังกล่าวแล้วอัล-กุรอานในบท อัลฆอฟิร โองการที่ 85, บทอัลอิสรออฺ โองการที่ 77 ได้กล่าวไว้เช่นกัน