บทที่ 23 : ตอบข้อสงสัยบางประการ

-    เพราะสาเหตุใด ประชาชาติส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการชี้นำจากบรรดาศาสดา

-    เพราะสาเหตุใด ที่อัลลอฮฺจึงไม่ป้องกันความขัดแย้งหรือขัดขวางมิให้การหลงทางเกิดขึ้น

-    เพราะสาเหตุใด บรรดาศาสดาจึงไม่มีความสามารถพิเศษด้านการผลิตและเศรษฐศาสตร์

ตอบข้อสงสัยบางประการ

จากเหตุผลที่กล่าวอ้างถึงความจำเป็นในการแต่งตั้งบรรดาศาสดา (อ.) ตามที่อธิบายมาแล้ว ทำให้เกิดคำถามต่าง ๆ มากมาย ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงคำถามและคำตอบต่าง ๆ

1. ถ้าหากวิทยปัญญาของพระเจ้าเจาะจงอยู่ที่แต่งตั้งบรรดาศาสดาลงมาเพื่อชี้นำมวลมนุษย์ชาติแล้วละก็ ทำไมบรรดาศาสดาจึงถูกประทานลงมาในเขตภูมิศาสตร์เดียวกัน (ตะวันออกกลาง) อันเป็นสาเหตุทำให้เขตพื้นที่อื่น ๆ มิได้รับความโปรดปรานนี้ไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่าการติดต่อสื่อสาร หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอยู่ในขอบเขตจำกัดและเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก การส่งข่าวสารจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งกระทำไปได้ช้ามาก ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าประชาชนบางเผ่าพันธุ์ไม่เคยได้รับรู้ข่าวสารการเชิญชวนของบรรดาศาสดาเลยแม้แต่เล็กน้อย

คำตอบ : ประการที่หนึ่ง การประทานศาสดาลงมามิได้เฉพาะเจาะอยู่แค่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น โองการอัล-กุรอานหลายโองการอธิบายว่าประชาชาติทุกหมู่เหล่าต่างมีศาสดาเป็นของตนเอง ดังอัล-กุรอาน โองการที่กล่าวว่า

نَّا أَرْسَلْنَاكَ بِالْحَقِّ بَشِيرًا وَنَذِيرًا وَإِن مِّنْ أُمَّةٍ إِلَّا خلَا فِيهَا نَذِيرٌ  

แท้จริงเราได้ส่งเจ้ามาด้วยสัจธรรมเป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือน และไม่มีประชาชาติใด (ในอดีต) เว้นแต่จะต้องมีผู้ตักเตือนยังพวกเขา (อัล-กุรอาน บทฟาฏิร โองการที่ 24)

وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَّسُولاً أَنِ اعْبُدُواْ اللّهَ وَاجْتَنِبُواْ الطَّاغُوتَ

แน่นอน เราได้ส่งเราะซูลมาในทุกประชาชาติ พวกท่านจงเคารพภักดีอัลลอฮฺ และจงออกห่างจากพวกอธรรม  (อัล-กุรอาน บทอัลนะฮฺลฺ โองการที่ 36)

ถ้าหากอัล-กุรอานกล่าวถึงนามของประชาชาติหรือศาสดาบางกลุ่มไว้ มิได้หมายความว่าจำนวนของบรรดาศาสดาเฉพาะเจาะจงไว้สำหรับประชาชาตินั้นเพียงอย่างเดียว ทว่าอัล-กุรอาน ยังกล่าวว่านามชื่อของบรรดาศาสดา (อ.) อีกจำนวนมากมายที่มิได้ถูกกล่าวไว้ในอัล-กุรอาน ดังที่กล่าวว่า

وَرُسُلاً قَدْ قَصَصْنَاهُمْ عَلَيْكَ مِن قَبْلُ وَرُسُلاًلا لَّمْ نَقْصُصْهُمْ عَلَيْكَ

และมีบรรดาเราะซูลที่เรากล่าวถึงพวกเขาแก่เจ้ามาก่อนแล้ว และยังมีบรรดาเราะซูลอีกที่เรามิได้กล่าวถึง  (อัล-กุรอาน บทอัลนิซาอฺ โองการที่ 164)

ประการที่สอง ความเฉพาะเจาะจงของเหตุผลที่เกี่ยวข้องคือ จะต้องมีอีกแนวทางหนึ่งที่นอกเหนือไปจากสติปัญญาและความรู้สึก ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการชี้นำประชาชน แต่การได้รับคำชี้นำของประชาชนมีเงื่อนไข 2 ประการกล่าวคือ

- ตัวตนของบุคคลนั้นต้องปรารถนาที่จะได้รับประโยชน์จากความโปรดปรานของพระเจ้าด้วยการชี้นำของบรรดาศาสดา

- ต้องไม่มีบุคคลอื่นเป็นอุปสรรคกีดขวางการชี้นำทางของท่านเหล่านั้น

ขณะที่การถูกห้ามของประชาชนจำนวนมากมายจากการชี้นำของบรรดาศาสดา เนื่องจากผลในทางไม่ดีที่เกิดจากการเลือกสรรและเจตนารมณ์เสรีของพวกเขา ประกอบกับการห้ามปรามอื่น ๆ อีกมากมายเป็นอุปสรรคขวางกั้น ซึ่งบุคคลอื่นได้นำมาขัดขวางการเชิญชวนอันกว้างไกลของบรรดาศาสดา ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าบรรดาศาสดาพยายามที่จะขจัดอุปสรรคเหล่านั้นให้พ้นไปจากแนวทาง ท่านได้ต่อสู้กับศัตรูมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาศัตรูผู้อธรรมที่กดขี่ข่มเหง จึงมีศาสดาจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียชีวิตไปในหนทางการเผยแผ่สาส์นของพระเจ้าและการชี้นำทางประชาชน แต่ถ้าศาสดามีผู้สมัครเป็นพรรคพวก พวกเหล่านั้นต้องทุ่มเทให้กับการต่อสู่และการสงครามกับฝ่ายศัตรูผู้อธรรม ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการสร้างอุปสรรคกีดขวางการขยายแนวทางของพระเจ้า

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาตรงนี้คือ ความพิเศษแห่งเจตนารมณ์เสรีในการขับเคลื่อนไปสู่ความสมบูรณ์ของมนุษย์ได้ตอบสนองว่า เหตุการณ์เหล่านี้ได้ผสมกันอยู่ซึ่งบุคคลนั้นมีสิทธิ์เลือกความดีและความชั่วหรือความจริงและความเท็จได้ตนเอง นอกเสียจากว่าผู้มีอิทธิพลได้ควบคลุมและกีดขวางจนกระทั่งหนทางแห่งทางนำได้ถูกปิดกั้นสำหรับบุคคลอื่น และเป็นเหตุทำให้รัศมีแห่งสัจธรรมและทางนำถูกดับลงไปด้วย ในกรณีนี้พระเจ้าจะทรงช่วยเหลือบุคคลที่ถวิลหาสัจธรรมด้วยวิธีการที่นอกเหนือจากวิธีธรรมชาติ

สรุปได้ว่าถ้าหากไม่มีอุปสรรคเหล่านี้กีดขวางแนวทางของบรรดาศาสดา แน่นอน คำเชิญชวนของท่านต้องขจรขจายไปทั่วสาระทิศและเข้าถึงหูของประชาชนทุกหมู่เหล่า และทั้งหมดย่อมได้รับผลประโยชน์จากความโปรดปรานของพระเจ้า โดยสื่อวะฮฺยูและนบูวัตของพระองค์ ดังนั้น ความผิดของกลุ่มชนที่ถูกกีดกันส่วนใหญ่ อยู่บนความรับผิดชอบของผู้ที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการเชิญชวนของบรรดาศาสดา

2. ถ้าหากว่าบรรดาศาสดาถูกประทานลงมาเพื่อความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ ทั้งที่มีศาสดาอยู่แล้วความเสียหายและความเสื่อมทรามทางโลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่กลายเป็นผู้ปฏิเสธและประกอบกรรมชั่ว มิหนำซ้ำประชาชนที่ยึดมั่นอยู่กับศาสนาแห่งฟากฟ้าต่างชิงดีชิงเด่น หรือไม่ก็แสดงตนเป็นศัตรูต่อกันและกัน มีการฆ่านองเลือดกันอย่างรุนแรง เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

วิทยปัญญาของพระเจ้าจะไม่ทรงกำหนดแนวทางอื่นขึ้นมาดอกหรือ เพื่อป้องกันและกีดขวางความชั่วร้ายที่จะเกิดขึ้นบนโลกนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ป้องกันมิให้ผู้ที่เชื่อฟังปฏิบัติตามบรรดาศาสดาต้องต่อต้าน หรือห้ำหั่นกันเอง

คำตอบ คำถามทำนองนี้ถ้าหากพิจารณาในประเด็นความพิเศษของเจตนารมณ์เสรีแห่งความเป็นมนุษย์ จะได้รับคำตอบที่ชัดเจนเนื่องจากว่าวิทยปัญญาของพระเจ้า กำหนดว่าเมื่อสาเหตุและเงื่อนไขสมบูรณ์แห่งการเลือกสรร (มิใช่การบังคับ) เกิดขึ้นกับมนุษย์เมื่อบุคคลนั้นต้องการรู้จักสัจธรรม หรือใช้สัจธรรมเป็นทางเลือกในการปฏิบัติตัวไปสู่ความสมบูรณ์ย่อมประสบความสำเร็จ แต่สาเหตุหรือเงื่อนไขสมบูรณ์เหล่านี้มิได้หมายความว่า มนุษย์ทุกคนเมื่อได้ใช้ประโยชน์จากความดีงามเหล่านั้นแล้ว จำเป็นต้องเลือกแนวทางที่ถูกต้องเสมอไป อัล-กุรอาน กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ว่า อัลลอฮฺทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาตามเงื่อนไขของโลกนี้อย่างมีเป้าหมาย ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า

-    พระองค์คือผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินในระยะ 6 วาระ และบัลลังก์ของพระองค์อยู่เหนือน้ำ เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดในหมู่พวกท่านมีการงานที่ดีเยี่ยม (ฮูด / 7)

-    แท้จริง เราได้ทำให้สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินเป็นที่ประดับสำหรับมนุษย์ เพื่อเราจะทดสอบพวกเขาว่า ผู้ใดในหมู่พวกเขามีผลงานที่ดีเยี่ยม  (อัล-กะฮฺฟิ / 7)

-     พระผู้ทรงให้มีความตายและชีวิตในหมู่สูเจ้า เพื่อทดสอบว่าผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง (อัล-มุลก์ / 2)

-    พระองค์คือผู้ที่ทรงตั้งให้พวกเจ้าเป็นผู้สืบแทนบนแผ่นดิน และทรงเทิดบางคนของพวกเจ้าเหนือกว่าอีกบางคนหลายขั้น เพื่อที่พระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงประทานแก่พวกเจ้า (อัล-อันอาม / 165)

อัล-กุรอาน เน้นย้ำอีกหลายครั้งว่า ถ้าหากอัลลอฮฺประสงค์พระองค์สามารถนำพามนุษย์ทุกคน ให้อยู่ในแนวทางอันถูกต้องและหักห้ามพวกเขามิให้หันเหออกจากแนวทางดังกล่าวได้ ดังอัล-กุรอาน กล่าวว่า

-          หากอัลลอฮฺทรงประสงค์แล้ว บรรดาชนหลังจากพวกเขาก็คงไม่ฆ่าฟันกัน หลังจากได้มีบรรดาหลักฐานอันชัดเจนมายังพวกเขา (อัล-บะเกาะเราะฮฺ / 253)

-          หากว่าอัลลอฮฺทรงประสงค์แล้ว แน่นอน พระองค์ก็ทรงรวบรวมพวกเขาให้อยู่บนคำแนะนำแล้วดังนั้น เจ้าจงอย่าเป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้งมงายเลย (อันอาม / 35)

-          และหากว่าอัลลอฮฺทรงประสงค์แล้ว พวกเขาก็ย่อมมิให้มีภาคีขึ้นและเราก็มิได้ให้เจ้าเป็นผู้พิทักษ์รักษาพวกเขา และเจ้าก็มิใช่เป็นผู้รับมอบหมายให้คุ้มครองรักษาพวกเขาด้วย  (อันอาม / 107)

-          หากว่าพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์แล้ว พวกเขาก็มิกระทำมันขึ้นได้เจ้าจงปล่อยพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาอุปโลกน์ขึ้นเถิด  (อันอาม / 112)

-          พระองค์ตรัสว่านรกนั้นคือที่อยู่ของพวกเจ้าโดยที่เจ้าจะอยู่ในนั้นตลอดกาล นอกจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์เท่านั้น (อันอาม / 128)

-          หากพระเจ้าของเจ้าจงประสงค์ แน่นอน ผู้ที่อยู่ในแผ่นดินทั้งมวลจะศรัทธา เจ้าจะบังคับมวลชนจนกว่าพวกเจ้าจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ (ยูนุส / 99)

-          หากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอน พระองค์จะทรงทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน (ฮูด / 118)

-          หากพระองค์ทรงประสงค์ แน่นอน พระองค์จะทรงชี้นำทางแก่พวกเจ้าทั้งหมด (อันนะฮฺลิ / 9)

-          หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ แน่นอน พระองค์จะทรงทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกัน พระองค์จะให้ผู้ที่พระองค์ประสงค์หลงทาง และจะทรงชี้แนะทางแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์  (อันนะฮฺลิ / 93)

-          หากเราประสงค์ เราจะให้มีสัญญาณหนึ่งจากฟากฟ้ามายังพวกเขา แล้วคอของพวกเขาก็ยอมก้มลมต่อมัน (ชุอฺรอ / 4)

แต่ในกรณีนี้จะเห็นว่าโอกาสสำหรับการเลือกสรรจะถูกปิดกั้นลง ความประพฤติในรูปแบบของมนุษย์ผู้มีความสมบูรณ์ที่สูงส่งไปด้วยคุณค่าจะตายไปจากเขา เมื่อนั้นเป้าหมายของพระเจ้าในการอุบัติมนุษย์ถือว่าบกพร่อง

สรุป การที่มนุษย์เลือกกระทำความผิด หรือบาปกรรม การปฏิเสธและหลงลืมนั้นขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์เสรีของตนเอง การมีพลังอำนาจที่จะประพฤติปฏิบัติทำนองนี้ ได้ถูกผสมไว้กับพวกเขานับตั้งแต่เริ่มสร้าง ซึ่งการไปถึงยังความจำเป็นและการปฏิบัติตามเป็นเป้าหมายโดยการตามอยู่แล้ว แม้ว่ารากแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าจะย้อนกลับไปยังความสมบูรณ์ของมนุษย์ก็ตาม แต่ว่าการย้อนกลับดังกล่าวขึ้นอยู่กับการเลือกสรรของมนุษย์เป็นเกณฑ์ การหยุดนิ่งและความล้าหลังมิได้เป็นตัวปฏิเสธว่ามิได้เกิดจากการเลือกสรรที่ไม่ดี ขณะที่วิทยปัญญาของพระเจ้าก็มิได้เป็นเช่นนั้นกล่าวคือ พระองค์จะทรงบังคับให้พวกเขาเคลื่อนไปในวิถีทางที่ถูกต้องไม่ว่ามนุษย์จะต้องการหรือไม่ก็ตาม แม้ว่าสิ่งนั้นจะขัดกับความรู้สึกและความต้องการของพวกเขาก็ตาม

3. วิทยปัญญาของพระเจ้ากำหนดว่ามนุษย์ต้องไปถึงยังความสมบูรณ์ผาสุกให้มากและสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น จะไม่เป็นการดีกว่าหรือถ้าหากพระเจ้าทรงปล่อยให้ความเร้นลับของธรรมชาติ ถูกค้นพบโดยประชาชนโดยผ่านวะฮฺยูของพระองค์ จนกระทั่งได้รับประโยชน์จากความโปรดปรานต่าง ๆ เหล่านั้น เพื่อจะได้สามารถไปถึงความสมบูรณ์ของพวกเขาได้โดยเร็ว ดังที่จะเห็นว่าการค้นพบจากพลังธรรมชาติส่วนมากในสองสามศตวรรษที่ผ่านมา ส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตและความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษย์อย่างหน้าทึ่งใจ มีผลต่อการรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงและการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ อีกทั้งยังได้พัฒนาด้านการสื่อสารให้กว้างไกลและรวดเร็วเป็นพิเศษอีกด้วย และสิ่งอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันอีกมากมายที่ได้พัฒนาด้วยวิธีดังกล่าว เป็นที่แน่ชัดว่าถ้าหากบรรดาศาสดาช่วยเหลือประชาชาติ ด้วยการนำเสนอข้อมูลด้านวิชาการและการอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อีกทั้งสร้างสื่อที่นำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยแก่สังคม แน่นอนว่าท่านเหล่านั้นต้องมีบทบาทต่อสังคมและเท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจทางการเมืองของพวกเขาให้แข็งแรง อีกทั้งพวกเขาจะไปถึงยังเป้าหมายได้อย่างรวมเร็ว

คำตอบ รากเหง้าของความต้องการในการมีอยู่ของวะฮฺยูและนบูวัต เนื่องจากภารกิจการงานที่มนุษย์ไม่สามารถรู้จักสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยสื่อธรรมดาทั่วไป และในกรณีที่มนุษย์ไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้นเขาก็ไม่อาจกำหนดแนวทางการเคลื่อนไปสู่ความสมบูรณ์แท้จริงได้ หรือไม่อาจก้าวเดินไปบนแนวทางดังกล่าวได้นั่นเอง อีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่าหน้าที่หลักของบรรดาศาสดาคือ การช่วยเหลือมนุษย์ในการสร้างวิสัยทัศน์เพื่อการดำเนินชีวิตและการเคลื่อนไปสู่ความสมบูรณ์ เพื่อมนุษย์จะได้รู้จักหน้าที่ของตนในทุกสภาพและทุกเงื่อนไข และขับเคลื่อนนพลังของตนไปในหนทางที่จะก้าวไปถึงเป้าหมายอันเป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพวกเร่ร่วน เป็นชาวชนบท หรือชาวเมืองที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจก็ตาม เพื่อให้พวกเขาได้รู้จักคุณค่าอันแท้จริงของความเป็นมนุษย์ และรู้จักหน้าที่ในการแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้าที่เป็นปัจเจกบุคคลและสังคมส่วนรวม หรือหน้าที่ ๆ สัมพันธ์ไปยังบุคคลหรือสรรพสิ่งถูกสร้างอื่น ๆ เพื่อว่าหากมนุษย์ได้ปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้แล้วจะทำให้มนุษย์พบกับความสมบูรณ์ที่แท้จริงอันเป็นนิรันดร แต่ความแตกต่างทางด้านความสามารถและความเป็นไปได้ทางธรรมชาติและอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือในเวลาแตกต่างกันถือว่าเป็นประกฎการหนึ่งที่เกิดขึ้นบนเงื่อนไข โดยมีสาเหตุอันเฉพาะเจาะจง ไม่มีตัวกำหนดโครงสร้างในความสมบูรณ์หรือกำหนดชะตากรรมที่แท้จริงอันเป็นนิรันดรได้ ดังจะเห็นว่าวิวัฒนาการด้านวิชาการและอุตสาหกรรมปัจจุบันนี้ ส่งเสริมให้ผลประโยชน์ทางด้านวัตถุปัจจัยและทางโลกเติบโต แต่มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ด้านศีลธรรมและจิตวิญญาณของมนุษย์ ทว่าสามารถกล่าวได้ว่าทั้งสองคือผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

วิทยปัญญาของพระเจ้ากำหนดว่า มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากความโปรดปรานต่าง ๆ ทางด้านวัตถุเพื่อเป็นสื่อเอื้ออำนวยชีวิตทางโลกของพวกเขา พร้อมกับใช้ประโยชน์จากสติปัญญาและวะฮฺยูกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวไปสู่ความสมบูรณ์อันแท้จริงและความผาสุกนิรันดร แต่จะมีความแตกต่างกันตรงความสามารถ สรีระ และจิตวิญญาณ หรือแตกต่างกันที่เงื่อนไขทางธรรมชาติและสังคม ทำนองเดียวกันมีแตกต่างกันตรงการใช้ประโยชน์ด้านวิชาการและอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามสาเหตุและเงื่อนไขแห่งกฎเกณฑ์ในการสร้างสรรค์อันเฉพาะเจาะจงบนระบบของเหตุและผล ซึ่งความแตกต่างนี้มิได้มีบทบาทต่อการกำหนดชะตากรรมของมนุษย์แต่อย่างใด เนื่องจากมีประชาชนมากมายทั้งตามลำพังคนเดียว หรือเป็นหมู่คณะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้บนความเรียบง่ายที่สุด โดยใช้ประโยชน์จากความโปรดปรานทั้งจากโลกและวัตถุปัจจัยขั้นน้อยที่สุด ขณะเดี่ยวกันพวกเขาก็ไปถึงขั้นสูงสุดของความสมบูรณ์และความผาสุก ในมุมกลับก็มีประชาชนไม่น้อยที่มีชีวิตอยู่กับวิวัฒนาการขั้นสูงสุดทางด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรม วิชาการ และใช้สื่อที่ดีที่สุดในการดำรงชีวิต แต่พวกเขากับตกต่ำและจมดิ่งไปสู่ก้นบึ้งของนรกแห่งการลงโทษ เนื่องจากการไม่ขอบคุณ ความยโสโอหัง ความดื้อดึง และการเอารัดเอาเปรียบบุคคลอื่น

แน่นอน บรรดาศาสดา (อ.) แห่งพระเจ้านอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่หลักแล้ว – กล่าวคือการชี้นำประชาชาติไปสู่ความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์และความผาสุกที่แท้จริงแล้ว- ท่านยังช่วยเหลือประชาชาติอย่างมากมายเพื่อให้มีชีวิตทางโลกที่ดีที่สุด และทุกที่ ๆ หากเป็นวิทยปัญญาของพระเจ้าท่านจะปลดม่านที่ปิดบังความจริงที่ไม่มีผู้ใดรู้จักหรือความเร้นลับทางธรรมชาติออก เพื่อช่วยพัฒนาอารยธรรมของมนุษย์ให้ก้าวหน้า ดังตัวอย่างการช่วยเหลือที่พบได้จากวิถีชีวิตของบรรดาศาสดา เช่น ศาสดาดาวูด สุลัยมาน หรือซุลก็อรนัยนฺเป็นต้น ศึกษาเพิ่มเติมจากอัล-กุรอาน ที่กล่าวว่า

และจงรำลึกถึงเรื่องราวของดาวูดและสุลัยมาน เมื่อเขาทั้งสองได้ตัดสินใจเรื่องไร่นาเมื่อฝูงแกะของชนหมู่หนึ่งได้หลบเข้าไปกินพืชในเวลากลางคืน และเราเป็นพยานต่อการตัดสินของพวกเขา

ดังนั้น เราได้ดลใจให้สุลัยมานเข้าใจการตัดสิน เราได้ให้ความเฉลียวฉลาดและวิชาความรู้ที่หลักแหลมแก่แต่ละคน เราได้ทำให้ภูเขาและนกแซ่ซ้องสดุดีร่วมกับดาวูด และเราเป็นผู้กระทำสิ่งเหล่านี้

เราได้สอนเขาให้รู้การทำเสื้อเกราะแก่พวกเจ้า เพื่อป้องกันเจ้าจากการรบพุ่งกัน แล้วพวกเจ้าจะเป็นผู้กตัญญูขอบคุณบ้างไหม

สำหรับสุลัยมาน เราได้ทำให้ลมกลายเป็นพายุ ตามคำบัญชาของเขา ไปยังดินแดนซึ่งเราได้ให้ความจำเริญ ณ ที่นั้น และเราเป็นผู้รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง (บทอันบิยาอฺ โองการที่ 78-82)

หรือบรรดาศาสดา (อ.) พยายามที่จะบริหารสังคมและกิจการต่าง ๆ ให้ดีที่สุด ดังที่ศาสดายูซุบ (อ.)ได้พัฒนามิซรฺ หรือประเทศอียิปต์ในปัจจุบัน ดังอัล-กุรอานกล่าวว่า เขากล่าวว่า ได้โปรดแต่งตั้งฉันให้ควบคุมการคลังของประเทศ แท้จริงฉันเป็นผู้ชื่อสัตย์ผู้รู้ (บทยูซุบ / 55)

อย่างไรก็ตามทั้งหมดเหล่านี้ถือว่าเป็นการบริการที่นอกเหนือไปจากหน้าที่หลักของท่าน

แต่ในประเด็นที่กล่าวว่าเพราะสาเหตุอันใดบรรดาศาสดา (อ.) จึงไม่ใช้อำนาจทางด้านเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมพัฒนาสังคมไปให้ถึงยังเป้าหมายของท่าน จำเป็นต้องกล่าวว่า เป้าหมายของบรรดาศาสดา (อ.) ดังที่กล่าวผ่านไปแล้วหลายครั้งคือ ท่านมีหน้าที่สร้างบรรยากาศสำหรับการเลือกสรรและการใช้เจตนารมณ์เสรี ดังนั้น ถ้าท่านต้องการยืนหยัดโดยการตะวัซซุลกับอำนาจต่าง ๆ ที่มิใช่อำนาจทั่วไปตามธรรมชาติแล้วละก็ ศีลธรรมและความสมบูรณ์โดยอิสระก็ไม่อาจเกิดขึ้นกับตนได้ ทว่าจะเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนตกอยู่ภายใต้การบีบบังคับ และต้องยอมจำนนหรือปฏิบัติตามโดยปริยาย มิใช่เกิดบนวิสัยทัศน์ของพระเจ้าหรือบนพื้นฐานของการเลือกสรรโดยเสรี

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ถ้าหากพระเจ้าทรงประสงค์ขณะแต่งตั้งบรรดาศาสดา พระองค์คงมอบกรุสมบัติ แร่ธาตุ เพชรนิลจินดา ไร่นา และสวนทีเต็มไปด้วยผลไม้นานาพันธุ์แก่บรรดาท่านเหล่านั้น และคงกำชับให้หมู่มวลวิหค ลม และสรรพสิ่งอื่นบนผ้าแผ่นดินคอยรับใช้ท่านเหล่านั้นแล้ว และถ้าพระองค์ทรงทำเช่นนั้นจริง การทดลองและทดสอบต่าง ๆ ตลอดจนผลรางวัลบนหน้าแผ่นดินก็จะสูญสลายไป

ถ้าหากพระเจ้าทรงประสงค์ พระองค์จะประทานให้บรรดาศาสดามีอำนาจ มีเกียรติยศที่ไม่รู้จักการปราชัยเป็นเจ้าของปราสาทราชวังมากมาย ซึ่งบุคคลอื่นจะต้องนอบน้อมแก่ท่านอย่างเดียวเนื่องจากความเกรงกลัวและความอยากได้ทรัพย์สินเหล่านั้น พวกเขาจะละทิ้งความยโสโอหังและความดื้อรั้นต่าง ๆ จนหมดสิ้น ในเวลานั้นแนวความคิดและคุณค่าของทุกคนก็จะเสมอภาคกัน ทว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้ประชาชนยอมจำนนต่อศาสดา และยอมรับในคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ท่านประกาศโดยมีวิสัยทัศน์เพียงเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้นมิใช่สิ่งอื่น ดังนั้น ไม่ว่าการทดสอบและการทดลองยิ่งใหญ่มากเท่าใด ผลรางวัลและผลบุญของพระเจ้าก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาอัลกอซิอะฮฺ)

อัล-กุรอาน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

พวกเขากล่าวว่า อะไรกันเราะซูลคนนี้  เขากินอาหารและเดินในตลาด ทำไมจึงไม่มีมะลักถูกส่งมากับเขา เพื่อจะได้เป็นผู้ตักเตือนร่วมกับเขา หรือมีคลังสมบัติถูกโยนลงมาให้เขา หรือให้เขามีสวนสักแห่งหนึ่ง เพื่อเขาจะได้กินสิ่งที่มีอยู่ในสวนนั้น และบรรดาผู้อธรรมกล่าวขึ้นว่า พวกท่านมิได้ปฏิบัติตามผู้ใด นอกจากชายผู้ถูกอาคมเท่านั้น จงดูเถิด พวกเขาได้เปรียบเปรยตัวอย่างต่าง ๆ แก่เจ้า (มุฮัมมัด) อย่างไร พวกเขาจึงหลงทาง แล้วพวกเขาก็ไม่สามารถจะพบทางแห่งความจริงได้ ความจำเริญยิ่งแด่พระองค์ ผู้ซึ่งหากพระองค์ทรงประสงค์จะให้เจ้ามีดียิ่งกว่านั้นคือ มีสวนกลากหลาย ณ เบื้องล่างมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน และทรงให้เจ้ามีวังหลายหลัง (อัลฟุรกอน / 7-10)

และพวกเขากล่าวว่า ทำไมอัล-กุรอาน จึงไม่ถูกประทานลงมาให้แก่ชายผู้มีความสำคัญแห่งสองเมืองนี้ พวกเขาเป็นผู้แบ่งปันความเมตตาของพระเจ้าของเจ้ากระนั้นหรือ เราต่างหากที่เป็นผู้จัดสรรการทำมาหากินของพวกเขาระหว่างพวกเขาในการมีชีวิตอยู่ในบนโลกนี้ และเราได้เชิดชูบางคนในหมู่พวกเขาเหนือกว่าอีกบางคนหลายชั้น เพื่อบางคนในหมู่พวกเขาจะเอาอีกบางคนมาใช้งาน และความเมตตาของพระเจ้าของเจ้านั้นดียิ่งกว่า (ทรัพย์) ที่พวกเขาสะสมไว้ หากมิใช่มนุษย์ทั้งหลายจะได้เป็นประชาชาติหนึ่งเดียวกันแล้ว แน่นอน เราจะให้ผู้ปฏิเสธพระผู้ทรงกรุณาปรานีมีบ้านของพวกเขาหลังคา และบันไดที่พวกเขาขึ้นทำด้วยเงิน บ้านของพวกเขามีประตูและเตียงนอน (ทำด้วยเงิน) ซึ่งพวกเขาจะนอนเอกเขนกบนนั้น และ (เราจะให้เครื่องประดับแก่พวกเขาที่ทำด้วย ) ทองคำ แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวแห่งชีวิตในโลกนี้เท่านั้น ส่วนในปรโลก ณ พระผู้อภิบาลของเจ้าเป็นของบรรดาผู้ยำเกรง (บทอัซซุครุฟ / 31-35)  

แน่นอน ถ้าหากประชาชนยอมรับศาสนาที่เป็นสัจธรรมยิ่งนี้ ด้วยความต้องการอันเป็นอิสระแล้วละก็ สังคมของการยอมรับพระเจ้าจะต้องถูกจัดตั้งขึ้นอย่างแน่นอน ต้องมีการใช้ประโยชน์จากอำนาจต่าง ๆ เพื่อความก้าวหน้าในอุดมการณ์แห่งพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามพวกกบฏ พวกรุกราน และพวกอธรรมสิทธิของบุคคลอื่น อีกทั้งการปกป้องสิทธิของมวลผู้ศรัทธาถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ดังตัวอย่างการปกครองของท่านศาสดาสุลัยมาน (อ.) อัล-กุรอานกล่าวว่า

สำหรับสุลัยมาน เราได้ทำให้ลมกลายเป็นพายุตามคำบัญชาของเขา ไปยังดินแดนซึ่งเราได้ให้ความจำเริญ ณ ที่นั้น และเราเป็นผู้รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เราได้ให้ชัยฎอนบางตัวดำน้ำให้สุลัยมาน และพวกเขาทำงานอื่นด้วย และเราเป็นผู้คุ้มกันรักษาพวกเขาเหล่านั้น (อัล-อันบิยาอฺ / 81-82)

ศึกษาเรื่องราวของศาสดาสุลัยมาน (อ.) เพิ่มเติมได้จากอัล-กุรอาน บทอัล-นัมลฺ โองการ 15- 44   

คำถาม

1. บรรดาศาสดาทั้งหลายถูกแต่งตั้งขึ้นในเขตภูมิศาสตร์เดียวกันหรือ ด้วยเหตุผลอันใด

2. เพราะสาเหตุใด คำเชิญชวนของบรรดาศาสดาจะไม่กว้างไกลไปทั่วโลก

3. เพราะสาเหตุใด พระเจ้าจึงไม่กำหนดมาตรการขึ้นมาเพื่อป้องกันการเข่นฆ่าและการนองเลือด

4. เพราะสาเหตุใด บรรดาศาสดาจึงไม่เปิดเผยสิ่งเร้นลับทางธรรมชาติแก่ประชาชน เพื่อว่าผู้ปฏิบัติตามท่านจะได้รับความโปรดปรานอันมากมาย

5. เพราะสาเหตุใด บรรดาศาสดาจึงไม่ใช้อำนาจทางด้านอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาให้เป้าหมายของตนก้าวหน้า