การรู้จักมะอฺซูม

นูร (รัศมี) ความจำเป็นที่ต้องมีนูรเป็นครรลองสำหรับการดำเนินชีวิต ทั้งภายนอกและภายในจิตใจ

นูรหมายถึงอะไร มีความสำคัญอย่างไร และนูรกับมะอฺซูมเกี่ยวข้องกันอย่างไร

            ๑. ความหมายของนูร หมายถึงสิ่งหนึ่งที่ตัวตนของมันมีแสงสว่างในตัวเอง คุณสมบัติของนูรนอกจากจะมีแสงสว่างในตัวเองแล้วยังต้องให้แสงสว่างกับสิ่งอื่นหรือสิ่งที่รายรอบตัวมัน นูรแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกัน บางครั้งร้อนแรง เข็มแข็ง เบาและอ่อนไปตามสภาพ บางครั้งเป็นจริง เช่น แสงตะวัน แสงเดือน และแสงไฟทั้งสามเป็นนูรที่ให้แสงสว่างแก่สิ่งอื่น ขณะเดียวกันมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

            ดังกล่าวไปแล้วว่าไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่มีแสงสว่างในตัวเอง และให้ความสว่างแก่สิ่งคลุมเครือ คำถาม หนทางแห่งจิตใจ หรือเปิดเผยให้เห็นความสัตย์จริงเรียกสิ่งนั้นว่า นูร ซึ่งให้แสงสว่างกับสิ่งอื่นบางครั้งอาจจะไม่ชัดเจนและมีความคลุมเครือ เป็นเพียงการให้แสงสว่างในระดับหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงเรียกความรู้ว่าเป็นนูรเช่นกัน เนื่องจากความรู้ได้ขจัดความโง่เขลา และความไม่รู้ออกไปจากบุคคลพร้อมกับนำพาเขาไปสู่แสงสว่าง ฉะนั้น จึงสามารถใช้คำว่านูรกับสรรพสิ่งที่มีอยู่ได้ นูร จึงมีทั้งสัมผัสหรือมองเห็นได้ กับไม่สามารถสัมผัสและมองไม่เห็น

            ๒.อัลลอฮฺทรงเป็นนูรที่สมบูรณ์ ซึ่งจะเห็นว่านูรนั้นเป็นพระนามหนึ่งของพระองค์ หรือเป็นหนึ่งในอัสมาอุลฮุซนา เนื่องจากพระองค์ให้แสงสว่างแก่ทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่ ฉะนั้น การนำคำว่านูรไปใช้กับอัลลอฮฮฺ (ซบ.) จึงเป็นการใช้คำในความหมายที่แท้จริง ไม่ใช่เปรียบเปรยต่างไปจากสิ่งอื่น เนื่องจากการมีอยู่ของสิ่งอื่นต้องอิงอาศัยพระองค์ ดังนั้นการมีอยู่ที่แท้จริงและปราศจากความบกพร่องมีอยู่สิ่งเดียวคือพระองค์ ส่วนคุณลักษณะของสิ่งอื่นเป็นเพียงคุณสมบัติที่สัมพันธ์ไปยังสิ่งนั้นเท่านั้น ไม่ใช่คุณลักษณะที่แท้จริงและดั้งเดิมของมัน ฉะนั้น การใช้คำว่านูรกับอัลลอฮฺจึงเป็นการใช้ในลักษณะที่เป็นอมตะดั้งเดิม เนื่องจากพระองค์เป็นแหล่งกำเนิดของนูรทั้งหลาย ซึ่งนูรเหล่านั้นดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยพระองค์

อัล-กุรอานกล่าวว่า

اللَّهُ نُورُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ مَثَلُ نُورِهِ كَمِشْكَاةٍ

อัลลอฮฺ ทรงเป็นดวงประทีปแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน อุปมาดวงประทีปของพระองค์เสมือนดังช่องตามผนังที่มีตะเกียง[๑]

บางโองการกล่าวว่า พระองค์ได้ประทานนูร เพื่อสร้างประโยชน์แก่ชาวโลก ตรัสว่า

 

هُوَ الَّذِي جَعَلَ الشَّمْسَ ضِيَاءً وَالْقَمَرَ نُورًا وَقَدَّرَهُ مَنَازِلَ

พระองค์ทรงทำให้ดวงอาทิตย์มีแสงจ้าและดวงจันทร์มีแสงนวลและทรงกำหนดให้มันมีทางโคจร เพื่อพวกท่านจะได้รู้จำนวนปีและการคำนวณ[๒]

ฉะนั้น จะเห็นว่าการมีอยู่ของนูรที่สมบูรณ์ (อัลลอฮฺ) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากพระองค์เป็นแหล่งอิงอาศัยของสรรพสิ่งอื่นทั้งมวล การมีอยู่ของสรรพสิ่งอื่นต้องอาศัยพระองค์เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายมีได้ ด้วยการแฝงอยู่ในการมีอยู่แห่งนูรของพระองค์ ตลอดจนการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งเหล่านั้นล้วนได้รับความเมตตาจากพระองค์ ด้วยเหตุนี้การดำรงอยู่ของมนุษย์จึงมีความต้องการที่เป็นรากฐานหลัก และด้วยการปรากฏแห่งนูรของพระองค์บนสรรพสิ่งที่มี จึงเป็นสาเหตุทำให้มีมนุษย์ที่สมบูรณ์เพื่อชี้นำมวลมนุษยชาติ

๓. นูรในอัล-กุรอาน คำนี้ถูกใช้ในอัล-กุรอานหลายครั้ง แต่ละครั้งมีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมของการใช้ เช่น

 บางครั้งอัล-กุรอานกล่าวเปรียบเทียบเสมอว่าแสงสว่างกับความมืดนั้นไม่เหมือนกัน แสงสว่างนั้นดีกว่าความมืดเสมอ ดังเช่นที่กล่าวว่า

قُلْ هَلْ يَسْتَوِي الأَعْمَى وَالْبَصِيرُ أَمْ هَلْ تَسْتَوِي الظُّلُمَاتُ وَالنُّورُ

จงกล่าวเถิด “คนตาบอดกับคนตาดีจะเหมือนกันหรือ หรือความมืดจะเหมือนกับแสงสว่างหรือ[๓]

อัล-กุรอานกล่าวว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นนูร

اللَّهُ نُورُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ مَثَلُ نُورِهِ كَمِشْكَاةٍ

อัลลอฮฺ ทรงเป็นดวงประทีปแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน อุปมาดวงประทีปของพระองค์เสมือนดังช่องตามผนังที่มีตะเกียง

บางครั้งกล่าวว่าพระองค์เป็นผู้สร้างนูรทั้งที่มองเห็นและซ่อนเร้น

وَجَعَلْنَا سِرَاجًا وَهَّاجًا 

และเราได้ทำให้มีดวงประทีปหนึ่งที่มีแสงสว่างจ้า[๔]

บางครั้งพระองค์หรือนูรของพระองค์จะชี้นำทางบุคคลที่พระองค์ประสงค์

نُّورٌ عَلَى نُورٍ يَهْدِي اللَّهُ لِنُورِهِ مَن يَشَاءُ

ดวงประทีปซ้อนดวงประทีป อัลลอฮฺ ทรงนำทางด้วยดวงประทีปของพระองค์แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์[๕]

บางครั้งตรัสว่าพระจะนำมวลผู้ศรัทธาออกจากความมืดมิดไปสู่ความสว่างไสว

اللّهُ وَلِيُّ الَّذِينَ آمَنُواْ يُخْرِجُهُم مِّنَ الظُّلُمَاتِ إِلَى النُّوُرِ

และอัลลอฮฺนั้นคือผู้คุ้มครองบรรดาผู้ศรัทธา ทรงนำพวกเขาออกจากความมืดสู่แสงสว่าง[๖]

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นผู้ทำให้นูรของพระองค์สมบูรณ์ อัล-กุรอานกล่าวว่า

يُرِيدُونَ لِيُطْفِئُوا نُورَ اللَّهِ بِأَفْوَاهِهِمْ وَاللَّهُ مُتِمُّ نُورِهِ وَلَوْ كَرِهَ الْكَافِرُونَ  

พวกเขาปรารถนาที่จะดับรัศมีของอัลลอฮฺด้วยปากของพวกเขา แต่อัลลอฮฺเป็นผู้ทำให้รัศมีของพระองค์สมบูรณ์ แม้ว่าพวกปฏิเสธศรัทธาจะเกลียดชังก็ตาม[๗]

            บางโองการกล่าวว่า การชี้นำของพระองค์นั่นเอง เท่ากับเป็นการประดับประดาผู้ศรัทธาให้พบกับความสว่างไสวและได้เคลื่อนไหวไปด้วยนูรนั้นเอง อีกทั้งเป็นการรู้จักแนวทางที่หลงผิด อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَ مَن كَانَ مَيْتًا فَأَحْيَيْنَاهُ وَجَعَلْنَا لَهُ نُورًا يَمْشِي بِهِ فِي النَّاسِ كَمَن مَّثَلُهُ فِي الظُّلُمَاتِ لَيْسَ بِخَارِجٍ مِّنْهَا كَذَلِكَ زُيِّنَ لِلْكَافِرِينَ مَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ

และผู้ที่ตายแล้วเราได้ให้เขามีชีวิตขึ้น และเราได้ให้แสงสว่างแก่เขา ซึ่งเขาใช้แสงสว่างนั้นเดินไปในหมู่มนุษย์ จะเหมือนกับผู้ที่อยู่ท่ามกลางความมืดโดยไม่สามารถออกมาจากบรรดาความมืดได้กระนั้นหรือ ในทำนองนั้นแหละได้ถูกประดับให้สวยงามแก่ผู้ปฏิเสธทั้งหลายในสิ่งที่พวกเขากระทำกันอยู่ [๘]

            ดำรัสของอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นนูรไม่ว่าจะเป็นอัล-กุรอาน หรือเตารอตหรืออินญีลก็ตาม อัล-กุรอานกล่าวว่า

قَدْ جَاءكُم مِّنَ اللّهِ نُورٌ وَكِتَابٌ مُّبِينٌ

แท้จริงแสงสว่างจากอัลลอฮฺ และคัมภีร์อันชัดแจ้งนั้นได้มายังพวกเจ้าแล้ว [๙]

الر كِتَابٌ أَنزَلْنَاهُ إِلَيْكَ لِتُخْرِجَ النَّاسَ مِنَ الظُّلُمَاتِ إِلَىالنُّورِ بِإِذْنِ رَبِّهِمْ إِلَى صِرَاطِ الْعَزِيزِ الْحَمِيدِ  

อะลิฟ ลาม รอ คัมภีร์ที่เราได้ประทานลงมาแก่เจ้า เพื่อให้เจ้านำมนุษย์ออกจากความมืดมนสู่ความสว่าง ด้วยอนุมัติของพระผู้อภิบาลของพวกเขา สู่ทางของพระผู้เดชานุภาพ ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ[๑๐]

            บางโองการพระองค์ตรัสให้ศรัทธากับนูรที่พระองค์ประทางลงมา

فَآمِنُوا بِاللَّهِ وَرَسُولِهِ وَالنُّورِ الَّذِي أَنزَلْنَا

ดังนั้น จงศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เราะซูลของพระองค์ และแสงสว่าง (อัลกุรอาน) ซึ่งเราได้ประทานลงมา [๑๑]

            ซึ่งยังมีโองการอีกจำนวนมากมายได้กล่าวถึงนูรในความหมายที่แตกต่างกัน ที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อเป็นตัวอย่างเท่านั้น บางคนกล่าวว่าการนำคำว่านูรมาใช้กับวะฮฺยู หรือกุรอาน หรือแนวทางของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เทียบเคียงกับอัลลอฮฺนั้นไม่ได้หมายความว่าพระองค์ทรงเป็นนูรให้ความสว่างแก่สิ่งอื่น ขณะเดียวกันสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากพระองค์ก็เป็นนูรด้วย เพราะไม่อาจตั้งสมมุติฐานขึ้นได้ว่าสิ่งที่เป็นนูรที่มีขอบเขตจำกัด เมื่อไปอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งที่เป็นนูรที่ไร้ขอบเขต (อัลลอฮฺ) จะทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นนูรถาวรไปด้วย เนื่องจากว่าสิ่งที่เป็นนูรที่ไร้ขอบเขตนอกจากพระองค์แล้วไม่มีสิ่งใดดำอยู่ได้โดยไม่สูญสลาย ดังนั้น ถ้าพูดว่า นะบีเป็นนูรที่แจ่มจรัส จึงไม่ได้หมายความว่าท่านมีนูรไร้ขอบเขตเหมือนกับพระองค์อัล-กรอานกล่าวว่า

يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ إِنَّا أَرْسَلْنَاكَ شَاهِدًا وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا  وَدَاعِيًا إِلَى اللَّهِ بِإِذْنِهِ وَسِرَاجًا مُّنِيرًا  

โอ้ นะบีเอ๋ย แท้จริง เราได้ส่งเจ้ามาเพื่อให้เป็นพยาน เป็นผู้แจ้งข่าวดี เป็นผู้ตักเตือน และเป็นผู้เรียกร้องเชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺ ตามพระบัญชาของพระองค์และเป็นดวงประทีปอันแจ่มจรัส[๑๒]

            อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสว่าการเป็นประทีปที่แจ่มจรัสของของท่านนะบี เนื่องจากนูรของพระองค์ ดังที่โองการกล่าวว่า (اللَّهُ نُورُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ)อัลลอฮฺทรงเป็นประทีปแห่งฟากฟ้าและแผ่นดิน ไม่ได้หมายความว่าท่านศาสดามีนูรเป็นของตนเองโดยเอกเทศ

๔. บางครั้งมะอฺซูมเป็นภาพปรากฏแห่งนูรของอัลลอฮฺ (ซบ) ริวายะฮฺจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า บรรดาอะอิมมะฮฺ (อ.) ผู้บริสุทธิ์ในมิติต่าง ๆ ถูกอธิบายว่าเป็นนูรของอัลลอฮฺ (ซบ.) เช่น

- บรรดามะอฺซูมเป็นนุร ท่านอิมามฮาดียฺ (อ.) กล่าวไว้ในซิยาเราะฮฺญามิอฺอัลกะบีรว่า อัลลอฮฺ ทรงสร้างพวกเจ้าขึ้นมาจากนูร ( خلقكم الله انوارا )

อิมามซอดิก (อ.) อธิบายโองการ   (اللَّهُ نُورُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ)ว่าเราะซูลและบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺเป็นนูรของอัลลอฮฺท่ามกลางมวลสรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย

อีกฮะดีซหนึ่งท่านอิมามกล่าวอธิบายอัล-กุรอานประโยคหนึ่งในซูเราะฮฺนูร โองการที่ ๓๕ ที่ว่า (مَثَلُ نُورِهِ)หมายถึงท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ส่วนประโยคที่ว่า ( نُّورٌ عَلَى نُورٍ يَهْدِي اللَّهُ لِنُورِهِ ) นั้นหมายถึงอิมามผู้บริสุทธิ์ที่ปรากฏตามกันมาคนหนึ่งหลังจากอีกคนหนึ่ง

จุดประสงค์ของคำว่านูรตามโองการ  (فَآمِنُوا بِاللَّهِ وَرَسُولِهِ وَالنُّورِ الَّذِي أَنزَلْنَا) อิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า นูร นั้นหมายถึงอิมามมะฮฺซูมที่มาจากอาลิมุฮัมมัดตราบจนถึงวันกิยามะฮฺ ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า พวกเขาคือนูรของพระองค์ที่ถูกประทานลงมา ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า พวกเขาเป็นนูรของอัลลอฮฺที่อยู่ในฟากฟ้าและแผ่นดิน[๑๓]

จุดประสงค์ของคำว่านูรตามโองการที่กล่าวว่า

 وَاتَّبَعُواْ النُّورَ الَّذِيَ أُنزِلَ مَعَهُ أُوْلَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ 

และปฏิบัติตามแสงสว่างที่ถูกประทานลงมาแก่เขา ชนเหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ที่สำเร็จ[๑๔]

อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า นูรนั้นหมายถึง ท่านอิมามอะลี (อ.) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์

๕. นูรของมะอฺซูมมาจากนูรของอัลลอฮฺ (ซบ) ซิยาเราะฮฺญามิอฺดอัล กะบีรกล่าวว่า

( وانتجبكم لنوره ) หมายถึง อัลลอฮฺทรงเลือกพวกท่านเพื่อนุรของพระองค์

            บางครั้งกล่าวว่า ( ونوره و برهانه عندكم )พวกเขาเป็นนูรและเป็นเหตุผลของพระองค์ท่ามกลางพวกเจ้า

            บางตอนของซิยาเราะฮฺกล่าวว่า ( السلام على الائمة الدّعات وصراطه ونوره وبرهانه )ขอความสันติพึงมีแด่อะอิมมะฮฺผู้ทำการเชิญชวน เป็นทางแห่งพระองค์ เป็นนูรและเป็นเหตุผลของพระองค์)

            ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า นูรของท่าน นูรของอิมามอะลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อิมามฮะซัน และอิมามฮุซัยนฺมาจากอัลลอฮฺ

            ๖. นูรของมะฮฺซูมเป็นสิ่งแรกถูกสร้าง ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ( اول ما خلق الله نوري )หมายถึงสิ่งแรกที่อัลลอฮฺ ทรงสร้างคือนุรของฉัน[๑๕] อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมีบัญชาแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่าให้บอกกับพวกเขาไปซิว่า  (وَأَنَاْ أَوَّلُ الْمُسْلِمِينَ) และฉันเป็นมุสลิมคนแรกในหมู่ผู้สวามิภักดิ์ทั้งหลาย[๑๖] จุดประสงค์ของคำว่ามุสลิมคนแรกหมายถึง ฐานันดร ไม่ใช่กาลเวลาเพราะถ้าเป็นกาลเวลาศาสดาทุกองค์เป็นมุสลิมคนแรกเมื่อเทียบกับประชาชาติของท่าน นอกจากนั้นศาสดาทุกองค์ยังสามารถเป็นตัวอย่างตามที่อัล-กุรอานกล่าวถึง แต่ ณ ที่นี้อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตรัสแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) แต่เพียงท่านเดียวว่าให้บอกกับพวกเขา ท่านเป็นมุสลิมคนแรก

            มีผู้ถามอิมามซอดิก (อ.) ว่าก่อนสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดินพวกท่านอยู่ที่ไหน ท่านกล่าวว่า

كنّا انواراً حول العرش نسبح لله و نقدسه حتي خلق الله سبحانه الملائكة

พวกเราเป็นนูร อยู่รายรอบบัลลังก์ของอัลลอฮฺ ทำการสรรเสริญสดุดีพระองค์ จนกระทั่งพระองค์สร้างมลาอิกะฮฺ[๑๗]

            ท่านญาบิร อับดุลลอฮฺ อันซอรียฺ กล่าวว่า ฉันถามท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า อัลลอฮฺทรงสร้างอะไรเป็นสิ่งแรก ท่านตอบว่า ทรงสร้างนูรนะบีของท่านก่อนเป็นสิ่งแรก[๑๘]

            ท่านญาบิร รายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ว่าท่านอิมามกล่าวว่า ก่อนสร้างอาดัม ๑๔,๐๐๐ ปี อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ทรงสร้างนูรของ ๑๔ มะอฺซูมจากนูรอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งนูรทั้ง ๑๔ นั้นคือพวกเรา

ท่านญาบิรถามอิมามถึงนามของพวกเขาเหล่านั้นว่าเป็นใคร ท่านตอบว่า พวกเขาคือ มุฮัมมัด อะลี ฟาฏิมะฮฺ ฮะซัน ฮุซัยนฺ และบุตรอีก ๙ คนของฮุซัยนฺ ซึ่งคนที่ ๙ ของพวกเขาคือกออิม อาลิมุฮัมมัด[๑๙]

ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า โอ้ญาบิรเอ๋ย สิ่งแรกที่อัลลอฮฺได้สร้างขึ้นมาคือมุฮัมมัดและอิตรัตผู้ชี้นำทางของท่าน พวกเขาเป็นภาพปรากฏของนูรแห่งอัลลอฮฺเมื่ออยู่กับพระองค์ ญาบิรถามว่า ภาพปรากฏแห่งนูรของพระองค์หมายถึงอะไร ท่านอิมามตอบว่า เป็นเสมือนร่มเงาแห่งนูรร่างกายเป็นนูรที่ไม่มีวิญญาณ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งและการเป็นเอกเทศของอาตมันสากลอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

ริวายะฮฺข้างต้นได้แสดงให้เห็นถึงความสัจจริงของสิ่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นมา ขณะที่สิ่งนั้นเป็นแก่นแท้แห่งความเป็นจริงที่มีอยู่หนึ่งเดียว และหนึ่งเดียวนั้นคือแก่นของการมีอยู่ของ ๑๔ มะอฺซูม หมายถึงนอกจากจะบ่งบอกถึงการมีอยู่ของท่านศาสดาแล้ว ยังได้บ่งบอกถึงการมีอยู่ของของอิตรัต (ลูกหลาน) ทั้ง ๑๓ ท่านของท่านศาสดา พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันขณะเดียวกันก็มีหลายคน ซึ่งทั้งหมดเหล่านั้นเป็นภาพปรากฏของแก่นสารและจิตวิญญาณเดี่ยวกัน (รูฮฺเดี่ยว)

อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่าความหมายของริวายะฮฺคือ พวกเขามีร่างกายเป็นนูรที่ไม่ได้มีหลายจิตวิญญาณ ทว่าได้บ่งบอกถึงการมีอยู่ของรูฮฺเดี่ยว ซึ่งรูฮฺนั้นคือ รูฮุลกุดุซ และชัดเจนยิ่งขึ้นสิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของรูฮฺทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่มีภาพปรากฏที่หลากหลาย

ซิยาเราะฮฺญามิอฺกะบีร ได้ยืนยันสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งประโยคหนึ่งของซิยาเราะฮฺกล่าวว่า  (و ان ارواخكم و طينتكم واحدة) รูฮฺของพวกท่านและร่างกายของพวกท่านเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นหมายความว่า ๑๔ มะอฺซูมเป็นนูรเดียวกัน และมีความเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ใช่เฉพาะเรื่องการสร้างที่ว่าทั้งหมดถูกสร้างเป็นสิ่งแรก ทว่าเรื่องของโลกและการใช้ชีวิตทางโลกทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน

๗. นูรของมะอฺซูมอยู่บนร่างกายที่แตกต่างกัน แม้ว่ามะอฺซูมจะมาจากนูรเดียวกันแต่ได้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่ละคนจึงถูกประทานลงมาต่างวาระกันเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ ดังที่กล่าวไปแล้วว่านูรของมะอฺซูมเป็นสิ่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นมา และมีอยู่ก่อนสรรพสิ่งใดทั้งหมดดังนั้นเมื่อใดก็ตามถ้าร่างกายที่เปรียบเสมือนวัตถุพร้อม (ถูกผนวกด้วยความสามารถพิเศษ) นูรมะอฺซูมก็จะฉายส่องมายังร่างและปรากฏบนเรือนร่างนั้น

การกำเนิดร่างกายพิเศษนี้ต้องมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวตามกาลเวลาและสถานที่ ที่ได้กำหนดไว้อย่างแน่นอนแล้วเพื่อเป็นภาพปรากฏของนูรแรกที่ถูกสร้างมา กาลเวลาที่เจาะจงหมายถึง ช่วงเวลาที่นูรได้ฉายส่องโดยเฉพาะพิเศษ อันเป็นการฉายส่องจากนูรมะอฺซูมสิ่งแรกที่ถูกสร้าง ไม่ใช่ช่วงเวลาของการปรากฏนูร

แก่นแท้ของความจริงเป็นสิ่งยืนยันถึงการกำเนิดเรือนร่างพิเศษ ตามกาลเวลาที่กำหนดไว้เฉพาะเจาะจง ซึ่งสิ่งนี้ได้ถูกสร้างมาก่อนสรรพสิ่งอื่นทั้งหมด และอยู่เหนือกาลเวลาและสถานที่ ดังนั้นแน่นอนว่าการปรากฏนูรจึงต้องปรากฏตามกาลเวลาที่ถูกกำหนดไว้เป็นพิเศษ

ด้วยเหตุนี้ร่างกายของบุคคลที่เป็นมะอฺซูมจึงเป็นเรือนร่างที่พิเศษไปกว่าเรือนร่างธรรมดาทั่วไป เพื่อที่จะได้สามารถรองรับนูรที่เป็นสิ่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นมาและเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ฉะนั้นเรือนร่างนั้นต้องมีความพร้อม และมีความสามารถเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจพร้อมกับการอิบาดะฮฺที่หนักหน่วง บนพื้นฐานดังกล่าวเรือนร่างของมะอฺจึงต้องเป็นนูรเหมือนกับจิตวิญญาณ

๘. นูรมะอฺซูมเป็นสื่อในการสร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย เนื่องจากมะอฺซูมเป็นนูรและเป็นสิ่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นมาดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งสิ่งนี้ได้บ่งบอกว่าพระองค์ได้สร้างสิ่งที่สมบูรณ์ขึ้นจากนูรของพวกเขา หมายถึงการมีอยู่ของสรรพสิ่งซึ่งพิจารณาที่การดำรงอยู่ของสิ่งนั้น โดยไม่คำนึงว่าสิ่งมันจะสมบูรณ์หรือบกพร่องถือว่าเป็นสิ่งที่ดี บนพื้นฐานดังกล่าวจะพบว่าสรรพสิ่งที่มีทั้งหมด ซึ่งการมีอยู่ทั้งหมดของมันตลอดจนความสมบูรณ์ของการมีอยู่เป็นภาพปรากฏของสิ่งถูกสร้างแรกหรือนูรของมะอฺซูมนั่นเอง ดังนั้น การมีอยู่ของมวลสรรพสิ่งทั้งหลาย จึงเป็นภาพปรากฏที่แตกต่างกันของนูรมะอฺซูม

อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า นูรมะอฺซูมคือสาเหตุของการมีและการเกิดมวลสรรพสิ่งอื่นที่ดีงาม ซึ่งสรรพสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงภาพปรากฏที่แตกต่างกันของบรรดาสิ่งถูกสร้างแรก (มะอฺซูม) ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวถึงความจริงเรื่องนี้ไว้อย่างมากมายแต่จะขอนำเสนอเฉพาะสิ่งจำเป็น โดยกล่วาว่า  

อัลลอฮฺ ได้นำนูรของท่านศาสดา ไปสร้างบัลลังก์ของพระองค์

นำนูรของอะลีไปสร้าง มลาอิกะฮฺ

นำนูรของฟาฏิมะฮฺไปสร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน

นำนูรของฮะซันไปสร้างดวงตะวันและดวงเดือน

 และนำนูรของฮุซัยนฺไปสร้างสวรรค์และนางฟ้า[๒๐]

๙. นูรมะอฺซูมได้ปรากฏอยู่ในจิตใจของผู้ศรัทธา จากริวายะฮฺที่กล่าวว่านูรของมะอฺซูมเป็นสื่อในการสร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย นูรของมะอฺซูมจึงเป็นสื่อทำให้เกิดมนุษย์ อีกด้านหนึ่งจากรูฮฺของนูรแรกที่ถูกสร้างได้ถูกเป่าไปบนร่างของมนุษย์ทุกคน เนื่องจากรูฮฺของพระผู้เป็นเจ้าที่โองการได้กล่าวถึง หมายถึงรูฮฺของมนุษย์ได้เกิดจากรูฮฺนั้น และนั่นหมายถึงรูฮฺแรกที่ได้ถูกสร้าง หรือนูรของมะอฺซูมนั้นเอง

นูรที่เป็นนูรที่ดีกว่าที่อยู่บนตัวมนุษย์ทุกคนถือว่าเป็นนูรที่อ่อนแอและมีแสงสว่างน้อย อีกทั้งยังแฝงไว้ด้วยความสกปรกและความโง่เขลา ฉะนั้น ถ้าบุคคลใดสามารถขจัดความสกปรกและความโง่เขลาให้ออกไปจากตนได้มากเทาไหร่ ตนก็จะพบตัวตนแห่งตนและเข้าใกล้กับแหล่งกำเนิดของรูฮฺ (อัลลอฮฺ) มากเท่านั้น นูรที่อยู่ในตัวก็จะเปล่งประกายตามไปด้วย และจะหลุดพ้นจากความอ่อนแอพร้อมกับเคลื่อนตนไปสู่ใกล้ความแข็งแรง ซึ่งนูรดังกล่าวจะมีความเข็มแข็งและมั่นคงได้ด้วยการกระทำอะมัลซอลิฮฺ (ความดี) และถ้าหากบุคคลใดได้พบกับนูรที่สมบูรณ์ที่ไม่มีความอ่อนแอหรือความบกพร่องแม้แต่น้อยนั้น หรือได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกับนูรนั้น แน่นอนความอ่อนแอและความโง่เขลาจะถูกขจัดออกไปอย่างหมดสิ้น และจะคงไว้ซึ่งความสมบูรณ์อีกทั้งทำให้เขาเข้าใกล้นูรนั้นมากยิ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งเมื่อมีความเป็นหนึ่งเดียวกับนูรนั้นมากเท่าไหร่ก็จะทำให้เกิดการดับสลายมากเท่านั้น ในชั้นนี้นูรทีอ่อนแอโดยธรรมชาติของมันจะดับสลายด้วยนูรที่สมบูรณ์

ซิยาเราะฮฺญามิอฺกะบีรกล่าวถึงความจริงข้อนี้ว่า  (انتم نور الاخيار )หมายถึงพวกท่านเป็นนูรที่ดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า นูรของอิมามบนจิตใจของผู้ศรัทธานั้นสว่างไสวยิ่งกว่าแสงตะวันในตอนกลางวัน[๒๑]

๑๐. นูรของมะอฺซูมเป็นนูรแห่งฮิดายะฮฺ (ชี้นำ) อัล-กุรอานกล่าวว่า

الر كِتَابٌ أَنزَلْنَاهُ إِلَيْكَ لِتُخْرِجَ النَّاسَ مِنَ الظُّلُمَاتِ إِلَى النُّورِ بِإِذْنِ رَبِّهِمْ إِلَى صِرَاطِ الْعَزِيزِ الْحَمِيدِ  

อะลิฟ ลาม รอ คัมภีร์ที่เราได้ประทานแก่เจ้า เพื่อให้เจ้านำมนุษย์ออกจากความมืดมนทั้งหลาย สู่ความสว่างด้วยอนุมัติของพระผู้อภิบาลของพวกเขา สู่ทางของพระผู้เดชานุภาพ ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ[๒๒]

ตามโองการอัล-กุรอานท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อยู่ในฐานะของกระจกเงาที่ส่องให้กับบรรดาผู้ศรัทธาทุกคน ด้วยเหตุที่ท่านเป็นผู้ส่องประกายนูร และเมื่อนำสิ่งนี้ไปเปรียบกับโองการที่กล่าวว่า อัลลอฮฺ ทรงเป็นดวงประทีปแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน หมายถึงพระองค์ให้แสงสว่างแก่ทุกสรรพสิ่ง นั่นหมายถึงท่านศาสดาในฐานะของผู้ส่องประกายแสงแก่ทุกสิ่งและให้แสงสว่างแก่สรรพสิ่งเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า เราได้ประทานอัล-กุรอานลงมายังเจ้า เพื่อให้เจ้านำทางประชาชนให้พบกับหนทางที่สว่างไสว ท่านจึงเป็นแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของวิลายะฮฺแห่งอัลลอฮฺ และด้วยการส่องประกายแสงของท่านศ่าสดา (ซ็อล ฯ) เป็นเหตุทำให้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายรอดพ้นจากหนทางที่มืดมิดไปสู่หนทางที่สว่าง ฉะนั้น นูรของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตามความหมายของโองการในซูเราะฮฺอิบรอฮีม / ๑ ไม่ใช่แค่เพียงนำทางประชาชาติให้พบกับทางนำเท่านั้น แต่ท่านยังมีหน้าที่จูงพวกเขาให้ออกไปจากหนทางที่มืดมิดไปสู่หนทางที่สว่างไสวอีกต่างหาก

มะอฺซูมท่านอื่นก็มีหน้าที่เช่นเดียวกันกับท่านศาสดา ดังนั้นเมื่ออ่านประโยคนี้ ( ونوره عندكم ) ในซิยาเราะฮฺญามิอฺกะบีร จะพบว่าวิชาการ แก่นสารของความจริง การชี้นำทางที่ถูกต้อง และนูรของอัล-กุรอานอยู่ท่ามกลางพวกท่าน และด้วยนูรนี้เองที่ชี้นำมนุษย์ไปสู่อีกนูรหนึ่งและทำให้พวกเขามีความสว่างไสวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากนูรของอิมามและนูรของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺเป็นนูรเดียวกันกับนูรของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งในความเป็นจริงนูรของอิมามะฮฺเป็นด้านในของนูรแห่งนบูวัต[๒๓]

พวกเขาคือผู้อรรถธิบายอัล-กุรอานที่แท้จริง มีผู้ถามท่านอิมามบากิร (อ.) ว่าใครเป็นผู้รุ้ในคัมภีร์แห่งฟากฟ้า (وَمَنْ عِندَهُ عِلْمُ الْكِتَابِ ) ท่านอิมามตอบว่า จุดประสงค์หมายถึงพวกเรา[๒๔]

อย่างไรก็ตามเมื่อพวกเขาเป็นนูร มีหน้าที่แบกรับภาระแห่งนูร และต้องนำทางประชาชาติไปสู่นูร เนื่องจากว่าบุคคลที่ไม่มีนูรแห่งการชี้นำเขาจึงไม่มีสิทธิ์เป็นผู้นำ ฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้หนึ่งที่เรียกร้องหาการปรากฏนูรแห่งสัจธรรม นูรแห่งอัล-กุรอาน และนูรของมะอฺซูมแล้วละก็ท่านจงพยายามปฏิบัติตนเพื่อจะได้สามารถสร้างนูรให้เกิดขึ้น


[๑] อัน นูร ๓๕

[๒] ยูนุซ ๕

[๓] อัร เราะอฺดุ ๑๖

[๔] อัล นะบะอฺ ๑๓

[๕] อัน นูร ๓๕

[๖] บะเกาะเราะฮฺ ๒๕๗

[๗] ซ็อฟ ๘

[๘] อันอาม ๑๒๒

[๙] มาอิดะฮฺ ๑๕

[๑๐] อิบรอฮีม ๑

[๑๑] ตะฆอบุน ๖๔

[๑๒] อะฮฺซาบ ๔๕/๔๖

[๑๓] บิฮารุลอันวาร  เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๐๘

[๑๔] อะอฺรอฟ ๑๕๗

[๑๕] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๙๗ ฮะดีซที่ ๗

[๑๖] อันอาม ๑๖๓

[๑๗] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ ๕๗ หน้าที ๑๗๐

[๑๘] ตัฟซีรมีซาน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๒๑

[๑๙] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๔

[๒๐] อัล อันวารุซซาฏิอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๕๙

[๒๑] บิฮารุนอันวาร เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๐๘

[๒๒] อิบรอฮีม ๑

[๒๓] ฟาลซะฟะฮฺอิมามมัต หน้าที่ ๖๒-๖๕

[๒๔] อุซูล อัลกาฟียฺ ฮะดีซที่ ๑๐๗