นบีอิบรอฮีม (อ.)

๑๐๕ คุณลักษณะของนบีอิบรอฮีม (อ.) ในอัล-กุรอาน

บุคลิกภาพและความยิ่งใหญ่ของนบีอิบรอฮีม (อ.) ตลอดจนนามและคุณลักษณะของท่าน กล่าวไว้ในอัล-กุรอานถึง 69 ครั้ง ใน 35 ซูเราะฮฺ ซึ่งขอนำเสนอบางส่วนดังนี้

1. เป็นมุสลิมคนแรก อัล-กุรอาน กล่าวว่า ฉันเป็นมุสลิมคนแรก (อันอาม โองการที่ ๑๖๓)

2. ท่านมิได้เป็นผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้ามาก่อน อัล-กุรอาน กล่าวว่า ฉันไม่เคยเป็นผู้ตั้งภาคี

มาก่อน (อัลนะฮฺลิ โองการที่ ๑๒๓)

3. เป็นผู้ปฏิบัติตามบัญชาของพระเจ้า อัล-กุรอาน กล่าวว่า เป็นผู้ภักดีต่ออัลลอฮฺ (อัลนะฮฺลิ โองการที่ ๑๒๐)

4. เป็นเป็นนบีที่มีความสัจจริง อัล-กุรอาน กล่าวว่า จงกล่าวถึง (เรื่องของ) อิบรอฮีมที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้ซื่อสัตย์และเป็นนบี (มัรยัม โองการที่ ๔๑)

5. เป็นผู้รักษาคำมั่นสัญญาต่อคำสั่งทั้งมวลของพระเจ้า อัล-กุรอานกล่าวว่า อิบรอฮีม ผู้ซึ่งปฏิบัติตามสัญญาอย่างครบครัน (อัลนัจญฺมุ โองการที่ ๓๗)

๖. ต้อนรับผู้มาเยือนและมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

เรื่องราวของแขกผู้มีเกียรติของอิบรอฮีม (ซาริยาต โองการที่ ๒๔ )

 แล้วได้นำลูกวัวอ้วน (ซึ่งย่างเสร็จแล้ว) ออกมา (ซาริยาต โองการที่ ๒๖)

๗. เป็นผู้กำชับแต่สิ่งดีงามและห้ามปรามความชั่วร้าย อัล-กุรอาน กล่าวว่า

โอ้ พ่อจ๋าทำไมท่านจึงเคารพบูชาสิ่งที่ไม่ได้ยินและไม่เห็น และไม่ให้ประโยชน์อันใดแก่ท่านเลย (มัรยัม โองการที่ ๔๒)

๘. เป็นผู้ขอบคุณพระองค์ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

เป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อความโปรดปรานของพระองค์ (อัลนะฮฺลิ โองการที่ ๑๒๑)

๙. เป็นผู้ไว้วางใจและเชื่อมั่นต่อพระเจ้า อัล-กุรอาน กล่าวว่า

พระองค์ผู้ทรงสร้างฉันแล้วทรงชี้นำทางแก่ฉัน ผู้ทรงประทานอาหารและน้ำดื่มแก่ฉัน เมื่อฉันป่วยพระองค์คือ ผู้ทรงเยียวยาฉันให้หายป่วย ผู้ทรงทำให้ฉันตายแล้วทรงให้ฉันมีชีวิต พระผู้ซึ่งฉันหวังว่าจะทรงอภัยในความผิดพลาดแก่ฉัน ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (ชุอะรออฺ โองการที่ ๗๘-๘๒)

๑๐. เป็นผู้ยืนหยัดนมาซและอพยพเพื่อการยืนหยัดนมาซ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

โอ้ พระผู้อภิบาลของเราแท้จริงข้าพระองค์ได้ให้ลูกหลานของข้าฯ พำนักอยู่ ณ ที่ราบลุ่มแห่งนี้โดยไม่มีพืชผลใด ๆ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านอันเป็นเขตหวงห้ามของพระองค์ โอ้ พระผู้อภิบาลของเราเพื่อให้พวกเขาดำรงนมาซ (อิบรอฮีม โองการที่ ๓๗)

๑๑. เป็นผู้มีความอดทนอดกลั้น อัล-กุรอาน กล่าวว่า

แท้จริงอิบรอฮีมเป็นผู้มีความอดทนขันติและมีจิตใจอ่อนโยน (ฮูด ๗๕)

๑๒. เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจทั้งด้านการดำเนินชีวิตและภารกิจการงาน อัล-กุรอาน กล่าวว่า

จงกล่าวเถิดว่า แท้จริงการดำรงนมาซ การเคารพภักดี การมีชีวิต และความตายของฉันเพื่ออัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ไม่มีภาคีใด ๆ แก่พระองค์ และข้าพระองค์ถูกกำชับด้วยสิ่งนั้น (อันอาม โองการที่ ๑๖๒-๑๖๓)

๑๓. เป็นผู้ก่อสร้างอัลกะอฺบะฮฺ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

  และจงรำลึกถึงขณะที่อิบรอฮีมและอิสมาอีล ได้ก่อฐานของบ้านหลังนั้นให้สูงขึ้น (อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 127)

๑๔. เป็นผู้รับใช้อัล-กะอฺบะฮฺ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

 และเราได้สั่งอิบรอฮีม และอิสมาอีลว่า จงทำความสะอาดบ้านของข้า สำหรับผู้มาเวียน ผู้จำสมาธิ ผู้ที่โค้ง และผู้กราบ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๑๒๕)

๑๕. เป็นผู้เชิญชวนประชาชาติไปสู่การบำเพ็ญฮัจญฺ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

และจงประกาศแก่มนุษย์ทั่วไปเพื่อการบำเพ็ญฮัจญฺ  (อัล-ฮัจญฺ โองการที่ ๒๗)

๑๖. เป็นผู้มีตำแหน่งที่ยืนอยู่ ณ มัสยิด อัลฮะรอม อัล-กุรอาน กล่าวว่า

จงยึดที่ยืนของอิบรอฮีมเป็นที่นมาซ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๑๒๕)

๑๗. เป็นผู้ต่อต้านการกราบบูชารูปปั้น

และขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า แท้จริง ฉันจะวางแผนต่อต้านรูปปั้นทั้งหลายของพวกท่าน และคงเหลือไว้เพียงรูปปั้นตัวใหญ่สำหรับพวกเขา (อันบิยาอฺ โองการที่ ๕๗-๕๘)

๑๘. เป็นบุคคลแรกที่ประณามการตั้งภาคีกับพระเจ้า อัล-กุรอาน กล่าวว่า 

แท้จริงฉันขอปลีกตัวออกจากสิ่งที่พวกท่านตั้งเป็นภาคีขึ้น (แก่อัลลอฮฺ) (อันอาม โองการที่ ๗๘)

๑๙. เป็นผู้ยอมรับการทดสอบ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

และจงรำลึกถึง เมื่อพระผู้อภิบาล ทรงทดสอบอิบรอฮีม ด้วยถ้อยคำบางประการ แล้วเขาได้ปฏิบัติโดยครบถ้วน พระองค์ตรัสว่า แท้จริงฉันแต่งตั้งเจ้าให้เป็นผู้นำมนุษย์ชาติ (อัล-บะเกราะเราะฮฺ โองการที่ ๑๒๔)

๒๐. เป็นผู้ถูกทดสอบเรื่องบุตร อัล-กุรอาน กล่าวว่า

 ครั้นเมื่อเขาเติบโตและร่วมไปไหนมาไหนด้วยกันแล้ว กล่าวว่า โอ้ ลูกเอ๋ย พ่อฝันว่าพ่อได้เชือดเจ้า เจ้าคิดอย่างไรหรือ กล่าวว่า โอ้ พ่อจ๋า พ่อจงปฏิบัติตามคำบัญชาเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ พ่อจะเห็นว่าฉันเป็นผู้หนึ่งมีความอดทน ครั้นเมื่อทั้งสองยอมจำนน อิบรอฮีมได้ให้อีสมาอีลนอนคว่ำลงกับพื้น (อัซซอฟาต โองการที่ ๑๐๒-๑๐๓)

๒๑. ถูกทดสอบด้วยชีวิต อัล-กุรอาน กล่าวว่า

  เรา (อัลลอฮฺ) กล่าวว่า โอ้ ไฟเอ๋ย  จงเย็นลงและให้ความปลอดภัยแก่อิบรอฮีมเถิด (อันบิยาอฺ โองการที่ ๖๙)

๒๒. เป็นผู้นำมวลมนุษยชาติ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

พระองค์ตรัสว่า แท้จริงฉันแต่งตั้งเจ้าให้เป็นผู้นำมนุษย์ชาติ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๑๒๔)

๒๓. เป็นที่รักของพระเจ้า อัล-กุรอาน กล่าวว่า

และอัลลอฮฺ ทรงถือเอาอิบรอฮีมเป็นสหาย (นิซาอฺ โองการที่ ๑๒๕)

๒๔. เป็นสวามิภักดิ์ต่อพระองค์โดยดุษณี อัล-กุรอาน กล่าวว่า

 จงรำลึกถึง เมื่อพระผู้อภิบาลของเขาตรัสแก่เขาว่า เจ้าจงสวามิภักดิ์เถิด (ยอมจำนนต่อสัจธรรม และเขายอมรับบัญชาของพระผู้อภิบาลด้วยหัวใจ) เขากล่าวว่า ฉันขอสวามิภักดิ์แด่พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก (อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๑๓๑)

๒๕. เป็นผู้ถูกเลือกโดยพระเจ้าบนโลกนี้ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

แน่นอน เราได้คัดเลือกเขาในโลกนี้ และในปรโลกเขาจะอยู่ในหมู่กัลญาณชนแน่นอน  (อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๑๓๐)

๒๖. เป็นผู้อยู่ร่วมกับกัลญาณชนในปรโลก อัล-กุรอาน กล่าวว่า

และในปรโลกเขาจะอยู่ในหมู่กัลญาณชนแน่นอน  (อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๑๓๐)

๒๗. เป็นผู้ที่นบีท่านอื่น ๆ ต้องเจริญรอยตามท่าน อัล-กุรอาน กล่าวว่า

แล้วเราได้วะฮียูแก่เจ้าว่า จงปฏิบัติตามแนวทางของอิบรอฮีมผู้เที่ยงธรรม (อัล-นะฮลิ โองการที่ ๑๒๓)

อิบรอฮีมและยะอฺกูบได้สั่งเสียลูก ๆ ของเขา ให้ปฏิบัติตามแนวทางนี้ (และทั้งสองได้สั่งบุตรของตนว่า) โอ้ลูก ๆ ของฉัน แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงเลือกศาสนานี้แก่พวกเจ้า  ดังนั้น จงอย่าตาย เว้นเสียแต่ว่าพวกเจ้าจะเป็นผู้สวามิภักดิ์ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๑๓๒)

๒๘. เป็นแบบอย่างอันดีงาม อัล-กุรอาน กล่าวว่า

แน่นอน ได้มีแบบอย่างอันดีงามสำหรับสูเจ้าแล้วในตัวของอิบรอฮีม  (มุมตะฮินะฮฺ โองการที่ ๔)

๒๙. เป็นผู้บรรลุถึงหลักความเชื่อมั่น อัล-กุรอาน กล่าวว่า

และเช่นนั้น เราจะให้อิบรอฮีมเห็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน เพื่อเขาจะได้เป็นหนึ่งในผู้เชื่อมั่นทั้งหลาย (อันอาม โองการที่ ๗๕)

๓๐. เป็นผู้ได้รับสลามจากพระเจ้า อัล-กุรอาน กล่าวว่า

ศานติจงมีแด่อิบรอฮีม (อัซ-ซอฟาต โองการที่ ๑๐๙)

๓๑. เป็นผู้วิงวอนให้แต่งตั้งนบีมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) อัล-กุรอาน กล่าวว่า

พระผู้อภิบาลของเรา ได้ทรงโปรดอุบัติเราะซูลจากพวกเขา ขึ้นในหมู่พวกเขา เพื่อจะได้สาธยายโองการทั้งหลายของพระองค์แก่พวกเขา  (อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๑๒๙)

๓๒. เป็นผู้วิงวอนขอให้บุตรหลาน อัล-กุรอาน กล่าวว่า

โอ้ พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้ข้าฯ และจากลูกหลานของข้าฯ เป็นผู้ดำรงนมาซเถิด (อิบรอฮีม โองการที่ ๔๐)

พระองค์ตรัสว่า แท้จริงฉันแต่งตั้งเจ้าให้เป็นผู้นำมนุษย์ชาติ เขากล่าวว่า และลูกหลานของข้าพระองค์ด้วยไหม พระองค์ตรัสว่า สัญญาของฉันไม่แผ่รวมถึงผู้อธรรม (เฉพาะลูกหลานของเจ้าที่สะอาดบริสุทธิ์เท่านั้นเหมาะสม) (อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๑๒๔)

๑๐๖. ความซื่อสัตย์ของนบีอิบรอฮีม (อ.)

อัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَاذْكُرْ فِي الْكِتَابِ إِبْرَاهِيمَ إِنَّهُ كَانَ صِدِّيقًا نَّبِيًّا  

และจงกล่าวถึง (เรื่องของ) อิบรอฮีมที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้ซื่อสัตย์เป็นนบี (มัรยัม โองการที่ ๔๑)

ปกติแล้วคำว่า ซิดดีก (ซื่อสัตย์) หมายถึงความมากมายในความซื่อสัตย์ ซึ่งจะกล่าวกับบุคคลที่มีความซื่อสัตย์มากมาย หมายถึงบุคคลที่พูดสิ่งใดก็จะกระทำเช่นนั้น หรือบุคคลที่กระทำสิ่งใดก็คือสิ่งที่เขาพูดไว้ ระหว่างคำพูดและการกระทำของเขาไม่ขัดแย้งกัน ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวนี้มีอยู่ในตัวของท่านอิบรอฮีม (อ.) เนื่องจากขณะประชาชาติในยุคท่านเคารพรูปปั้นบูชา แต่อิบรอฮีมกับพูดถึงเรื่องความเป็นเอกภาพของพระเจ้า หรือขณะที่ลุงของท่านต่อสู้กับคนในสมัยของตน แต่อิบรอฮีมต่อสู้กับกษัตริย์นิมรูดแห่งบาบิโลน ท่านทำลายเจว็ดรูปปั้นพระเจ้าจอมปลอมเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง ท่านยืนหยัดในสิ่งที่ท่านพูดอย่างมั่นคงจนกระทั่งถูกจับโยนเข้ากองไฟ

ในที่สุดท่านได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาตามที่ให้ไว้กับลุง โดยยอมลดราวาศอกลงพระเจ้าทรงมอบอิสฮากและยะอฺกูบเป็นรางวัลเตอบแทนการยืนหยัดของท่าน และทรงสัญญาอย่างอื่นแก่อิบรอฮีมอีก ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติตามสัญญาเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด (อัลมีซาน เล่มที่ ๑๔ หน้า ๕๖)

๑๐๗. มารยาทของนบีอิบรอฮีม (อ.)

อัล-กุรอาน กล่าวถึงมารยาทของนบีอิบรอฮีม (อ.) ไว้หลายโองการด้วยกันแต่จะกล่าวสักสองประเด็นเพื่อเป็นตัวอย่าง

๑. มารยาทกับพระเจ้า อัล-กุรอาน กล่าวว่า

الَّذِي خَلَقَنِي فَهُوَ يَهْدِينِ وَالَّذِي هُوَ يُطْعِمُنِي وَيَسْقِينِ

พระองค์ทรงสร้างฉัน ทรงชี้นำทาง ทรงประทานอาหารและน้ำดื่มแก่ฉัน และเมื่อฉันป่วยพระองค์ทรงเยียวยาให้ฉันหายป่วย (อัชชุอะรออฺ โองการที่ 78-80)

นบีอิบรอฮีม (อ.) อยู่ท่ามกลางประชาชาติของท่าน ท่านพึงระวังตนเองโดยนำความโปรดปรานทั้งหมด เช่น การสร้างสรรค์ การชี้นำทาง การประทานอาหาร เครื่องดื่ม และความเจ็บป่วยสัมพันธ์ไปยังพระเจ้า ท่านกล่าวว่า เมื่อฉันป่วยพระองค์ทรงเยียวยารักษาฉันให้หายป่วย เนื่องจากในตำแหน่งของการสรรเสริญไม่เหมาะสมที่จะนำเอาอาการป่วยไข้สัมพันธ์ไปยังพระองค์ ทว่าท่านได้นำการเยียวยารักษาอาการป่วยสัมพันธ์ไปยังพระองค์ และนี่คือส่วนหนึ่งของมารยาทของท่านนบีอิบรอฮีม (อ.)    

๒. มารยาทกับประชาชน

เมื่อท่านนบีอิบรอฮีม (อ.) ห้ามปรามอาซัรลุงของท่านให้เลิกเคารพรูปปั้นบูชา ลุงของท่านเอะอะโวยวายใส่นบีอย่างรุนแรงและขู่กรรโชกว่า ถ้าหากเจ้าไม่ยอมเลิกราฉันจะขว้างเจ้าด้วยก้อนหิน ท่านนบีอิบรอฮีมได้อดทนอดกลั้นต่อความใจร้อนของลุง และกล่าวด้วยมารยาทอันดีงามแก่ลุงว่า ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน ในไม่ช้านี้ฉันจะขอให้พระเจ้าทรงอภัยโทษแก่ท่าน เนื่องจากพระองค์ทรงเมตตาฉัน อัล-กุรอานกล่าวว่า      

قَالَ سَلَامٌ عَلَيْكَ سَأَسْتَغْفِرُ لَكَ رَبِّي إِنَّهُ كَانَ بِي حَفِيًّا    

เขา (อิบรอฮีม) กล่าวว่า “ขอความศานติจงมีแด่ท่าน ฉันจะขออภัยโทษจากพระเจ้าของฉันให้แก่ท่าน แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงเมตตากรุณาแก่ฉันมาก (มัรยัม โองการที่ ๔๗)

๑๐๘. ท่านอิบรอฮืมกับการเรียกร้องความสงบ

อัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَإِذْ قَالَ إِبْرَاهِيمُ رَبِّ اجْعَلْ هَذَا الْبَلَدَ آمِنًا وَاجْنُبْنِي وَبَنِيَّ أَن نَّعْبُدَ الأَصْنَامَ  

และจงรำลึกเมื่ออิบรอฮีมกล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของฉันขอพระองค์ทรงให้เมืองนี้ (มักกะฮ) ปลอดภัย และทรงให้ข้าพระองค์และลูกหลานของข้าฯพ้นจากการบูชาเจว็ด (อิบรอฮีม ๓๕)

จากโองการดังกล่าวจะเห็นว่า นบีอิบรอฮีม (อ.) วอนขอ 2 สิ่งจากพระเจ้า กล่าวคือ

๑. ท่านขอความปลอดภัยให้แก่นครมักกะฮฺจากการครอบครองของศัตรู กล่าวว่า พระผู้อภิบาลของฉันขอพระองค์ทรงให้เมืองนี้ (มักกะฮ) ปลอดภัย

๒. ท่านขอให้ปลอดภัยจากอำนาจใฝ่ต่ำ กล่าวว่า และทรงให้ข้าพระองค์และลูกหลานของข้าฯพ้นจากการบูชาเจว็ด

อัล-กุรอาน กล่าวถึง อำนาจใฝ่ต่ำว่า

أَفَرَأَيْتَ مَنِ اتَّخَذَ إِلَهَهُ هَوَاهُ

เจ้าเคยเห็นผู้ที่ยึดถือเอาอำนาจใฝ่ต่ำของเขาเป็นพระเจ้าของเขาบ้างไหม

๑๐๙. อิบรอฮีมกับการไปถึงยังตำแหน่งความเชื่อมั่น

อัล-กุรอาน เมื่อกล่าวสรรเสริญท่านนบีอิบรอฮีม (อ.) กล่าวว่า

وَكَذَلِكَ نُرِي إِبْرَاهِيمَ مَلَكُوتَ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ وَلِيَكُونَ مِنَ الْمُوقِنِينَ  

และเช่นนั้นที่เราจะให้อิบรอฮีมเห็นอำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน เพื่อเขาจะได้เป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้เชื่อมั่นทั้งหลาย (อันอาม โองการที่ ๗๕)

เราจะแสดงความเร้นลับของโลกให้อิบรอฮีมได้เห็น เพื่อเขาจะได้ไปถึงยังตำแหน่งการเชื่อมั่น การเห็นความเร้นลับถือเป็นประโยชน์อันทรงคุณค่ายิ่งต่อการไปถึงตำแหน่งการเชื่อมั่น อัลลอฮฺ (ซบ.) มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ พระองค์ทรงสนับสนุนให้มนุษย์ค้นหาแนวทางเพื่อไปสู่ความจริงของโลก อัล-กุรอาน กล่าวว่า เจ้าไม่พิจารณาความเร้นลับแห่งฟากฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินดอกหรือ ซึ่งจะเห็นว่าโองการดังกล่าวพระเจ้าทรงสนับสนุนให้ประชาชาติบางกลุ่ม และกล่าวตำหนิบางกลุ่มว่าเพราะเหตุสูเจ้าจึงไม่ใคร่ครวญในความเร้นลับของโลกและจักรวาล ทำไมไม่พิจารณาความเร้นลับที่ซ่อนอยู่ แน่นอน ถ้าหากการค้นพบสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้พระเจ้าคงจะไม่เชิญชวนมนุษย์ไปสู่การศึกษาค้นคว้าเด็ดขาด

คำว่า มะละกูต หมายถึง อำนาจและความเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในอีกมิติหนึ่ง ส่วนคำว่า มุลกฺ หมายถึง การเปิดเผย ดังนั้น สำหรับพระเจ้าคือ มะละกูต ดังที่ อัล-กุรอานกล่าวว่า

فَسُبْحَانَ الَّذِي بِيَدِهِ مَلَكُوتُ كُلِّ شَيْءٍ وَإِلَيْهِ تُرْجَعُونَ 

ดังนั้น มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระผู้ทรงอำนาจเหนือทุกสิ่งทั้งหลายอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และยังพระองค์เท่านั้นที่พวกเจ้าจะถูกนำกลับ (ยาซีน โองการที่ ๘๓)

ส่วนตรงที่ตรัสถึงมุลกฺ พระองค์จะแทนที่ด้วยคำว่า ตะบาร็อก (ความจำเริญ) ดังอัล-กุรอาน กล่าวว่า

تَبَارَكَ الَّذِي بِيَدِهِ الْمُلْكُ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ  

ความจำเริญ จงมีแด่พระผู้ซึ่งอำนาจอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และพระองค์คือผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง (อัล-มุลกฺ โองการที่ ๑)

ระหว่างคำว่า มุลก์ กับ มะละกูต เปรียบเสมือนสิ่งที่เปิดเผยกับสิ่งที่ซ่อนเร้น ซึ่งทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง จริงอยู่แม้ว่าทั้งสองจะให้ความหมายว่าอำนาจ แต่เป็นอำนาจในคนละมิติ

๑๑๐. การตอบรับคำวิงวอนของนบีอิบรอฮีม (อ.)

อัล-กุรอาน กล่าวถึงการตอบรับคำวิงวอนของนบีอิบรอฮีม (อ.) ว่า

رَبِّ هَبْ لِي مِنَ الصَّالِحِينَ

โอ้ พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ โปรดประทานบุตรที่ดีแก่ข้าฯ (ซอฟาต โองการที่ ๑๐๐)

โองการข้างต้นยืนยันว่า พระเจ้าทรงตอบรับคำวิงวอนของนบีอิบรอฮีม (อ.) ซึ่งท่านได้วิงวอนของบุตรที่ดีสะอาดบริสุทธิ์จากพระองค์ และพระองค์ทรงตอบรับคำวิงวอนของท่านโดยการมอบบุตรที่ดี คือ อิสมาอีล และอิสฮาก ให้แก่ท่าน ดังที่อัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَبَشَّرْنَاهُ بِإِسْحَقَ نَبِيًّا مِّنَ الصَّالِحِينَ  

เราได้แจ้งข่าวดี ด้วยการให้อิสฮาก นบีผู้ทรงคุณความดีแก่เขา (ซอฟาต โองการที่ ๑๑๒)

ส่วนอิสมาอีลอัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَإِسْمَاعِيلَ وَإِدْرِيسَ وَذَا الْكِفْلِ كُلٌّ مِّنَ الصَّابِرِينَ  وَأَدْخَلْنَاهُمْ فِي رَحْمَتِنَا إِنَّهُم مِّنَ الصَّالِحِينَ  

และจงรำลึกถึงเรื่องราวของอิสมาอีล อิดรีส และซัลกิฟลิ ซึ่งทุกคนล้วนเป็นผู้อดทนขันติ และเราได้ให้พวกเขาเข้าอยู่ในความเมตตาของเราเนื่องจากพวกเขาเป็นคนดีมีคุณธรรม (อัลอัมบิยาอฺ  โองการที่ ๘๕-๘๖)

๑๑๑. แนะนำบุตรหลานให้นับถืออิสลาม

อัล-กุรอาน กล่าวถึงคำแนะนำของนบีอิบรอฮีม (อ.) ที่มีต่อบุตรหลานของท่านว่า

وَوَصَّى بِهَا إِبْرَاهِيمُ بَنِيهِ وَيَعْقُوبُ يَا بَنِيَّ إِنَّ اللّهَ اصْطَفَى لَكُمُ الدِّينَ فَلاَ تَمُوتُنَّ إَلاَّ وَأَنتُم مُّسْلِمُونَ  

อิบรอฮีมและยะอฺกูบ (ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต) ได้สั่งเสียแก่ลูกของเขาให้ปฏิบัติตามแนวทางนั้น (ต่างคนต่างกล่าวแก่ลูก ๆ ของตนว่า) โอ้ ลูก ๆ ของฉัน แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงเลือกศาสนาบริสุทธิ์แก่พวกเจ้าแล้ว ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่าตามเป็นอันขาด นอกจากพวกเจ้ายอมรับอิสลาม (ยอมจำนนต่อบัญชาของพระองค์) เท่านั้น (บะเกาะเราะฮฺ ๑๓๒)

เมื่อนบีอิบรอฮีม (อ.) และนบียะอฺกูบ (อ.) ได้สั่งเสียให้บุตรหลานของตนเป็นมุสลิมก่อนที่ท่านทั้งสองจะจากโลกไป นั่นย่อมเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับพวกเราที่ว่าสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องคิดหาทางแก้ไขหลักความเชื่อศรัทธาของบุตรหลานของเรา ก่อนที่จะอำลาจากโลกไปอย่างไม่วันกลับ เครื่องหมายที่บ่งบอกว่าบิดาเป็นผู้มีเมตตามิได้อยู่แค่การสะสมทรัพย์สฤงคารเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของบุตรหลานเท่านั้น ทว่าสิ่งจำเป็นคือ ต้องคิดถึงความปลอดภัยทางความเชื่อ และความศรัทธาของบุตรหลานในวันข้างหน้าด้วย พินัยกรรมไม่สมควรบันทึกเฉพาะเรื่องทางโลกเท่านั้น แต่ควรมีเรื่องความเชื่อศรัทธาเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย

๑๑๒. การทดสอบนบีอิบรอฮีม (อ.)

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงทดสอบนบีอิบรอฮีม (อ.) ทั้ง ๓ ทาง กล่าวคือ ทดสอบด้วยสิ่งอื่น ทดสอบเฉพาะตัวท่าน และทดสอบท่านทั้งหมด

๑. ทดสอบด้วยสิ่งอื่น พระเจ้าตรัสกับนบีอิบรอฮีมว่า เจ้าจงตัดใจจากแกะจำนวนพันกว่าตัวนั้นเสีย และจงบริจาคในหนทางของข้า ท่านได้ปฏิบัติโดยดุษณี

๒. ทดสอบเฉพาะตัวท่าน เมื่อนบีอิบรอฮีม (อ.) จ้องใบหน้าอันงมงามของอิสมาอีล ผู้เป็นบุตรชายด้วยความอาลัยรักอย่างยิ่ง ทันใดนั้นได้มีวะฮฺยูมายังท่านว่า โอ้ มิตรของข้า จงอย่างเอาความรักที่มีต่อข้า ไปผสมปนเปกับสิ่งอื่น หลังจากนั้นตรัสว่า เจ้าจงเอาอิสมาอีลบุตรชายของเจ้าไปเชือดพลีเสียเถิด

فَلَمَّا بَلَغَ مَعَهُ السَّعْيَ قَالَ يَا بُنَيَّ إِنِّي أَرَى فِي الْمَنَامِ أَنِّي أَذْبَحُكَ فَانظُرْ مَاذَا تَرَى قَالَ يَا أَبَتِ افْعَلْ مَا تُؤْمَرُ سَتَجِدُنِي إِن شَاءَ اللَّهُ مِنَ الصَّابِرِينَ

ครั้นเมื่อเขา (อิสมาอีล) เติบโตขึ้นไปไหนมาไหนกับเขาได้แล้ว  อิบรอฮีมกล่าวขึ้นว่า โอ้ลูกเอ๋ย พ่อฝันว่าพ่อได้เชือดเจ้า จงคิดอย่างไร กล่าวว่า โอ่ พ่อจ๋า พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่าเป็นผู้มีความอดทน (ซอฟาต โองการที่ ๑๐๒)

๓. ทดสอบท่านทั้งหมด กล่าวคือครั้นเมื่อนบีอิบรอฮีม (อ.) ต่อสู้กับบรรดาผู้ตั้งภาคีและกษัตริย์นิมรูดจนกระทั่งท่านถูกจับโยนเข้ากองไฟ เวลานั้นวะฮฺยูได้มายังท่านว่า

قُلْنَا يَا نَارُ كُونِي بَرْدًا وَسَلَامًا عَلَى إِبْرَاهِيمَ

  อัลลอฮฺ ตรัสว่าโอ้ ไฟเอ๋ย จงเย็นลง และให้ความปลอดภัยแก่อิบรอฮีมเถิด (อัลอัมบิยาอฺ โองการที่ ๖๙)