') //-->
ไม่ว่าที่สถานที่สำคัญ หรือศาสนา หรือประเทศใดก็ตามบนโลกนี้ย่อมมีสัญลักษณ์เป็นของตนเองทั้งสิ้น เช่น บรรดายะฮูดีจะใช้เสียงแตร บรรดาคริสเตียนจะใช้เสียงระฆัง พวกบูชาไฟจะใช้วิธีการจุดไฟเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกประชาชนให้มาจัดพิธีทางศาสนา หรือชุมนุม หรือเป็นการแจ้งข่าวสำคัญแก่ประชาชน ขณะนั้นได้มีมุสลิมกลุ่มหนึ่งมาหาท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และกล่าวว่า โอ้ยาเราะซูลลัลลอฮฺโปรดกำหนดสัญลักษณ์ใดสัญลักษณ์หนึ่งเพื่อกำหนดเวลาการเคารพภักดีแก่พวกเราด้วยเถิด ท่านศาสดาได้ปรึกษากับเซาะฮาบะฮฺกลุ่มหนึ่งว่าจะเอาสัญลักษณ์อันใด บางคนเสนอให้ใช้เสียงแตร บางคนเสนอให้ใช้เสียงที่คล้ายกับเสียงแตร บางคนเสนอให้ใช้วิธีการจุดไฟ
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เสนอมาไม่ใช่สัญลักษณ์ของอิสลาม สัญลักษณ์ของอิสลามต้องมีความเกียวข้องกับวิถีชีวิตของมุสลิม ฉะนั้น ฉันเสนอให้ใช้วิธีอะซาน ด้วยเหตุนี้นับตั้งแต่ปีแรกของการอพยพเป็นต้นมา อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ประทานอะซานให้มลาอิกะฮฺญิบรออีลนำมาแจ้งกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ขณะที่ท่านกำลังนอนหนุนตักของท่านอะลี (อ.) ญิบรออีลได้ลงมาและอิลฮามประโยคต่าง ๆ ที่ต้องกล่าวในอะซานให้กับท่านศาสดา เมื่อท่านตื่นขึ้นมา
ท่านได้กล่าวกับท่านอะลีว่า เจ้าได้ยินเสียงอะำไรหรือไม่
อะลี กล่าวว่า ใช่ ฉันได้ยิน
ท่านศาสดา กล่าวว่า แล้วเจ้าจดจำเสียงเหล่านั้นไว้หรือไม่
อะลี กล่าวว่า ใช่ ฉันจำได้ทั้งหมด
ท่านศาสดา กล่าวว่า เจ้าจงไปตามบิลาลมาและสอนสิ่งที่เจ้าได้ยินแก่บิลาล
หลังจากนั้นท่านอะลี ได้ไปตามบิลาล และสอนประโยคต่าง ๆ ของอะซานแก่ท่านบิลาล ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กำชับว่า บิลาลเอ๋ยเจ้าต้องอะซานทุก ๆ เวลานมาซทั้งกลางวันและกลางคืน ท่านบิลาลจึงเป็นคนอะซานคนแรกประจำตัวท่านศาสดา[๑] ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยมีผู้ใดอะซานมาก่อน และไม่เคยมีการอะซานมาก่อนหน้านั้นเลย อะซานของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงเป็นอะซานแรกและอะซานเดียวของอิสลาม และท่านบิลาลก็เป็นผู้อะซานเพียงคนเดียวของอิสลามในยุคนั้นตราบที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เพราะท่่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่ได้อนุญาตให้บุคคลอื่นอะซานนอกจากบิลาล
วันที่ท่่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ยึดมักกะฮฺได้ท่านบิลาลได้ขึ้นไปอะซานบนหลังคากะอฺบะฮฺ พวกมุนาฟีกีนกลุ่มหนึ่งได้ประท้วงว่าท่านบิลาลอะซานไม่ชัดเพราะออกเสียงตัว ชีน ไม่ได้ฉะนั้น เวลากล่าวว่า อัชฮะดุ ท่านออกเสียงเป็น อัซฮะดุ ในเวลานั้นได้มีมุสลิมบางคนมาเสนอท่านศาสดาว่า ให้เปลียนคนอะซานใหม่ ท่านศาสดาไม่ต้องการให้มีความขัดแย้ง จึงได้บอกให้เปลี่ยนคนอะซานแทนท่านบิลาล ทำให้ท่านบิลาลเสียใจมากที่ได้ถูกถอดถอนจากการเป็นผู้อะซาน ในเวลานั้นญิบรออีลได้ลงมาหาท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และกล่าวกับท่านว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสว่า นอกจากบิลาลแล้ว ไม่อนุญาตให้คนอื่นขึ้นไปอะซานบนกะอฺบะฮฺเด็ดขาด
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับพวกเขาว่า ซีน ของท่านบิลาลคือ ชีน ณ เอกองค์อัลลอฮฺ[๒]
ฮะดีซบางบทกล่าวว่า คืนที่ท่านศาสดาขึ้นมิอฺรอจญฺ เมื่อถึงเวลานมาซญิบรออีลได้อะซาน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มลาอิกะฮฺองค์อื่นประท้วงว่า อะซานเป็นหน้าที่ของบิลาล
ปรัชญาของอะซาน
อะซานนมาซ คือภาพสะท้อนของความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า และความเป็นเอกภาพของมุสลิม เมื่ออะซานได้ถูกประกาศขึ้น ความต่างของสีผิว เชื้อชาติ และวรรณะ ได้ถูกสลัดทิ้งลงทันที เพราะ อะซานได้เรียกร้องให้ทุกคนมาสู่นมาซ ยืนอยู่ในแถวเดียวกันหลังอิมามที่มีความยุติธรรม
อะซาน คือ เสียงกู่ร้องที่บ่งบอกความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญประการหนึ่งของมวลมุสลิม เป็นรากหลักของความเชื่อศรัทธา และเป็นทิศทางในการปฏิบัติและดำเนินชีวิตของบรรดามุสลิม
อะซาน เป็นการประกาศการมีอยู่ของอิสลาม แนะนำหลักความเชื่อและการการปฏิบัติของมุสลิม เป็นการประกาศการเป็นปรปักษ์กับพระเจ้าจอมปลอมทั้งหลาย
อะซาน เป็นการประกาศอุดมการณ์และแนวคิดของบรรดามุสลิม
อะซาน เป็นประโยคแรกที่ทารกแรกเกิดทั้งหลายต้องได้รับฟังจากบิดา
อะซาน เป็นเสียงกู่ร้องเีดียวที่ได้ยินไปถึงชั้นฟ้า้เบื้องบน[๓]
อะซาน เป็นเีสียงเดียวที่ชัยฏอนต่างวิ่งหนี แต่สร้างสงบมั่นให้กับจิตใจของผู้ศรัทธา[๔]
เนื้อความของอะซาน บ่งบอกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของพระผู้เป็นเจ้า ยืนยันการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ยืนยันการเป็นผู้นำที่ถูต้องของท่านอิมามอะลี (อ.) ภายหลังจากท่านศาสดา ยืนยันความถูกต้องของนมาซ และความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ (ซบ.)
อะ มัรฮุมชะฮี นะวาฟ เศาะฟะวีย์ ได้กล่าว แก่พรรคพวกของตนว่า เมื่อถึงเวลาซุฮริและมัฆริบไม่ว่าพวกท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตามจงตะโกนอะซานให้ดังที่สุด เพราะเสียงอะซานจะสร้างความหวาดกลัวแก่บรรดาทหารและบรรดาทรราชทั้งหลาย
ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่นักการเมืองผู้โด่งดังของอังกฤษคนหนึ่งได้ยืนขึ้นและกล่าวกลางสภา ฯลฯ ว่า...ตราบเท่าที่นามของมุฮัมมัดยังถูกประกาศอยู่ตามยอดหออะซาน กะอฺบะฮฺยังถูกเดินเวียนรอบและอัล-กุรอานยังเป็นคัมภีร์เพื่อการชี้นำในหมู่มุสลิม เป็นไปไม่ได้เลยที่การเมืองของเราจะเข้าไปมีอิทธิพลเหนือคาบสมุทรอาหรับ [๕]
[๑] ซะฟีนะตุลบิฮาร เล่มที่ ๑ คำว่า บิลาล
[๒] มุสตัดร๊อกวะซาอิล ฮะดีซที่ ๔๖๙๖
[๓] กันซุลอุมาล เล่ม ๗ หน้า ๖๘๙
[๔] อ้างแล้ว หน้า ๖๙๒
[๕] ตัฟซีรเนะมูเนะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๓๘