วินัยในกองทหารและผู้บัญชาการ

ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) คือแบบอย่างของการมีวินัยในกองทัพ และเป็นผู้บัญชาการด้วยเหตุนี้จะพบว่ามีบทเรียนจำนวนมากมายสำหรับผู้จงรักภักดีกับท่านอิมาม (อ.) ดังตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้

1. อิมาม (อ.) ได้แต่งตั้งผู้ถือธงชัยแห่งกองทัพหรือผู้ถือสัญลักษณ์แห่งกองทัพไว้หนึ่งคน ซึ่งผู้ถือธงแห่งกองทัพได้แก่น้องชายของท่านเอง ท่านอับบาส[1] การกระทำของท่านอิมาม (อ.) ได้สร้างวินัยแก่กองคาราวานของท่าน อีกทั้งยังได้รวบรวมกองคาราวานให้เป็นหนึ่งเดียวและเดินไปในแนวทางเดียวกัน

2. ท่านอิมาม (อ.) ได้สร้างวินัยให้แก่กองคาราวานของท่าน โดยวางกองกำลังไว้ทั้งด้านขวา ด้านซ้าย และตรงกลาง[2]

3. การจัดวินัยและขั้นตอนในกองคาราวานของท่านอิมาม (อ.) เช่น ในตอนบ่ายของวันที่ 9 มุฮัรรอม เมื่อฝ่ายศัตรูตัดสินใจเข้าจู่โจมกองคาราวานของท่านอิมาม (อ.) ท่านจึงได้ส่งอับบาสน้องชายของท่านออกไปเจรจาต่อรองกับฝ่ายศัตรู และซักถามถึงเจตนาของพวกเขาด้วยว่าต้องการอะไร

ท่านอับบาสได้นำคำถามของท่านไปถามฝ่ายศัตรูโดยไม่ต้องการคำตอบจากพวกเขา ทว่าเพื่อเป็นการประวิงเวลาสักเล็กน้อย หลังจากนั้นท่านอับบาสได้นำคำพูดของฝ่ายศัตรูมาถ่ายทอดให้ท่านอิมาม (อ.) และเพื่อนำคำตอบของท่านอิมามไปเสนอแก่พวกเขา[3]

4. อิมามฮุซัยนฺ (อ.) มีความละเอียดอ่อนในการบัญชากองคาราวาน ซึ่งท่านประณีตและมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เช่น ครั้งที่ท่านได้ส่งมุสลิมบุตรของอะกีล ให้เป็นผู้ถือจดหมายไปส่งให้ชาวกูฟะฮฺ แต่ระหว่างทางท่านมุสลิมได้หลงทาง หลังจากนั้นท่านได้ส่งจดหมายมาถึงอิมาม (อ.) เพื่อถอดถอนคำสั่งและให้ส่งบุคคลอื่นไปแทน ท่านอิมาม (อ.) ตอบกลับไปว่าข้าจะไม่อนุญาตให้เจ้าลาออกจากหน้าที่ ข้าเกรงว่าเจ้าจะกลัวใช่ไหม[4]

ความเด็ดเดี่ยวของท่านอิมาม (อ.) ที่ได้ปฏิบัติกับกองคาราวานของท่านนั้น ปัจจุบันในหน่วยทหารต่างๆ ก็ได้นำมาใช้ ดังจะเห็นว่าทุกวันนี้ถ้าอยู่ในภาวะสงครามทางกรมกองจะไม่ยอมรับการลาออกของนายทหารหรือทหารชั้นผู้น้อยอย่างเด็ดขาด

5. กองทหารของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ประหนึ่งว่าได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ดังจะเห็นว่าหน่วยข่าวกรอง ของท่านอิมามได้รายงานความเคลื่อนไหวของฝ่ายศัตรูอย่างฉับพลัน

หมายถึงทุกคนที่อยู่ในกองคาราวานต่างมีหน้าที่สอดแนมและหาข่าวเพื่อรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร่งด่วน ฉะนั้น จะเห็นว่าในตอนบ่ายของวันที่ 9 มุฮัรรอม ได้มีการเคลื่อนพล และโยกย้ายทหารไปมา พวกเขาได้เคลือนทัพมาใกล้กองคาราวานของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้รีบไปรายงานให้ท่านอิมามทราบทันที[5] อีกด้านหนึ่งท่านอับบาสก็ได้กล่าวรายงานต่อท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) เช่นกัน[6] พวกเขาจะไม่ตัดสินใจเองเด็ดขาด

6. สาวกของท่านอิมาม (อ.) จะไม่ออกสู่สนามรบโดยมิได้รับคำสั่งจากท่านอิมาม เช่น ในค่ำวันอาชูรอฮะบีบบุตรของมะซอเฮรได้กล่าวแก่บิลาลว่า ฉันขอสาบานด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺว่า ถ้ามิใช่การรอคำสั่งจากท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) แล้วละก็ ในคืนนี้ฉันจะดาบมุ่งหน้าไปยังศัตรูเพื่อสังหารและทำลายแผนการของพวกเขาแล้ว[7]

7. ท่านอบัลฟัลฺฎฺ (อ.) ถือเป็นต้นกำเนิดแห่งการแสดงความจงรักภักดีต่อท่านอิมาม (อ.) เช่น เมื่อได้มีคำสังมาถึงท่านอับบาสว่าให้ไปหาน้ำมาให้เด็กๆ ท่านอับบาสได้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นด้วยชีวิต ทั้งที่คำสั่งดังกล่าวได้นำชีวิตท่านไปสู่การเป็นชะฮีดก็ตาม จนกระทั่งมือของท่านถูกตัดขาดทั้งสองข้างท่านยังได้พยายามใช้ฟันคาบถุงน้ำชูขึ้น เพื่อที่จะนำน้ำกลับมายังค่ายที่พักให้จงได้

และนี้คืออบุลฟัลฎฺ ทหารผู้กล้าหาญชาญชัยของท่านอิมาม (อ.) ขณะที่จะออกไปรบยังต้องรอคำสั่งของท่านอิมาม (อ.) [8]

8. บรรดาสหายทุกคนของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ต่างกระหายที่จะออกไปสู่สนามรบด้วยกันทั้งสิ้น เพื่อจะได้สู้รบกับศัตรู พวกเขาได้เข้าไปขออนุญาตจากท่านอิมาม ซึ่งคำขออนุญาตของพวกเขาเป็นไปอย่างน่าทึ่งและมีมารยาทอย่างยิ่ง ดังที่หนังสือประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ว่า

كان ياتي الحسين الرجل بعد الرجل فيقول : السلام عليك يابن رسول الله «صل الله علیه وآله وسلم» فیجیبه الحسین : و علیک السلام و نحن خلفک

สหายคนแล้วคนเล่าได้เข้ามาท่านอิมาม (อ.) พร้อมกับกล่าวว่า ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน โอ้ บุตรของเราะซูลุลลอฮฺ ท่านอิมามกล่าวรับสลามของพวกเขาว่า ขอความสันติพึงมีแด่พวกท่าน พวกเราขอสนับสนุนพวกท่าน

การให้กำลังใจในกองทัพ

หนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับกองทัพที่จะนำไปสู่ชัยชนะได้นั้นก็คือ การให้กำลังใจแก่กองกำลังและกองทัพที่กำลังสู้รบ ซึ่งถ้ากองทหารมีกำลังใจมากเท่าใดชัยชนะย่อมเกิดขึ้นมากเป็นทวีคูณ ดังนั้น กองทหารที่สิ้นหวัง หมดกำลังใจ ไร้เป้าหมาย และไร้ความคิดจะไม่สามารถทำการสู้รบได้อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้เองท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) จึงใช้วิธีการต่างๆ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่เหล่าทหาร ซึ่งจะขอกล่าวพอสังเขปดังนี้

1. ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ส่งเสริมพลังศรัทธาแก่กองทัพ

ถ้าหากว่าความศรัทธาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความศรัทธาเกี่ยวกับวันแห่งการสิ้นโลก (มะอาด) เกิดขึ้นในจิตใจของทหารนักต่อสู้คนหนึ่งในหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) พวกเขาย่อมยอมเสียสละชีวิตมากกว่าที่จะกลัวความตายที่รออยู่ตรงหน้า

ในการยืนหยัดต่อสู้ในวันอาชูรอ ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ได้พยายามใช้วิธีปลุกระดมความรู้ประจักษ์แสดงให้สหายของท่านได้เห็นสถานพำนักของพวกเขาในสรวงสวรรค์ และท่านยังได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านพลังศรัทธาแก่พวกเขา ด้วยเหตุนี้เอง จึงเห็นว่าเหล่าบรรดาสหายของท่านอิมาม (อ.) แอ่นอกรับลูกธนูได้อย่างกล้าหาญชาญชัยโดยไม่หวั่นเกรงความตาย หรือฟันฝ่าเข้าไปในหมู่คมดาบโดยมิได้หวั่นวิตกหรือเกรงกลัวต่อความเจ็บปวดแต่อย่างใด

انَّهم كشف لهم الغطاء حتىّ رأوا منازلهم من الجنة[9]

ทำนองเดียวกันมีรายงานว่า ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ได้อ้างถึงฮะดีซของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แก่บรรดาสาวกของท่าน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและส่งเสริมพลังศรัทธาของพวกเขาให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น[10]

2. เมื่อท่านอิมาม (อ.) อยู่ระหว่างมักกะฮฺกับกรับะลาอฺ ท่านได้รับข่าวการเป็นชะฮีดของท่านมุสลิมบุตรของอะกีลและท่านฮานี ท่านอิมามได้กล่าวแสดงความเสียใจด้วยประโยคที่ว่า แท้จริงแล้วเราเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และเราจะต้องกลับคืนสู่พระองค์  แต่ท่านมิได้แสดงความโศกเศร้าอย่างออกหน้าออกตาเพื่อทำลายขวัญกำลังใจของเหล่าบรรดาสาวกแต่อย่างใด[11]

3. การยืนหยัดของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) เป็นสาเหตุให้เหล่ากองคาราวานมิได้ย่อท้อหรือหวาดกลัว

แน่นอน สิ่งนี้ถือว่าเป็นกฎเกณฑ์โดยทั่วไปทีว่าหากแม่ทัพหรือผู้บัญชาการมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ยืนหยัดและมีความอดทนไม่ว่าจะเผชิญต่อความยากลำบากมากน้อยเพียงใด เขาก็ยังสามารถรักษาจุดยืนของเขาต่อไปได้ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นความโชคดีสำหรับเหล่าทหารทั้งหลาย

เมื่อการสงครามยากลำบากยิ่งขึ้นเหล่าบรรดาสาวกของท่านอิมามได้มองมายังท่านอิมาม (อ.) พวกเขาเห็นว่าท่านอิมาม (อ.) มีท่าทางแตกต่างไปจากคนอื่นที่บางคนใบหน้าถอดสีเนื่องจากความหวาดกลัว และบางคนหัวใจเต้นสั่นรัวเพราะเกรงขามอำนาจของศัตรู แต่ท่านอิมามกับสหายที่ใกล้ชิดกับไม่มีความหวั่นวิตกหรือแสดงความวิตกกังวลหรือกลัวแต่อย่างใด ความกล้าหาญของท่านอิมาม (อ.) เป็นขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าบรรดาสาวกได้เป็นอย่างดี พวกเขาได้ถือปฏิบัติตามท่านอิมามอย่างเคร่งครัด ถึงกับบางคนได้กล่าวแก่อีกบางคนว่า เจ้าจงมองดูท่านอิมามซิ ท่านมิได้หวาดกลัวต่อความตายแต่อย่างใด[12]

4. การวิเคราะห์ปัญหาความตายแก่กองคาราวานนักต่อสู้ โดยท่านอิมาม (อ.)

เป็นเรื่องปกติถ้าหากว่าเหล่าบรรดากองคาราวานของท่านอิมาม (อ.) มองเห็นความตายว่าเป็นความสูญเสียหรือสูญสลายเพียงอย่างเดียว แน่นอน พวกเขาย่อมมีความหวาดกลัว แต่ถ้าสามารถสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความตายแก่พวกเขาได้ ในทางกลับกันพวกเขาจะออกไปสู้รบกับศัตรูด้วยความกล้าหาญชาญชัย โดยไม่หวั่นวิตกต่อความตายที่อยู่ตรงหน้า ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) จึงได้ทำการวิเคราะห์ความตายแก่เหล่าทหารว่า

ความตายเปรียบเสมือนสะพานที่ทอดให้พวกเราเดินไปอย่างสบาย ไปสู่สรวงสวรรค์ที่มีความกว้างใหญ่ไพศาล มากไปด้วยความโปรดปรานนิรันดร มีใครในหมู่พวกเจ้าที่ปรารถนาออกจากสถานคุมขังไปสู่ประสาทราชวังที่มีความสวยงามบ้าง

แต่ความตายสำหรับบรรดาศัตรูของเจ้าเปรียบเสมือนบุคคลที่เดินทางออกจากพระราชวัง ไปสู่สถานคุมขังและสถานลงโทษอันแสนสาหัส[13]

ในอีกที่หนึ่งท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า ความตายในหนทางที่นำไปสู่เกียรติยศนอกมิได้แตกต่างไปจากกำดำรงชีวิตอันถาวร ส่วนการดำรงชีวิตด้วยความตกต่ำมิได้มีสิ่งใดเกินเลยไปจากความตายและการสูญสิ้นอันอัปยศที่สุด[14]

ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) กล่าวอีกว่า บิดาของฉันได้ยินท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า โลกนี้คือสถานคุมขังสำหรับผู้ศรัทธาแต่เป็นสวรรค์ของเหล่าบรรดาผู้ปฏิเสธ[15]

สุนทรพจน์ของท่านอิมาม (อ.) บังเกิดผลอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านถามท่านกอซิมว่าความตายในทัศนะของเจ้าเป็นอย่างไร กอซิมตอบว่า มันหวานยิ่งกว่าน้ำผึ้งเสียอีก[16] (احلی من العسل)

วิธีการการสุทรพจน์ของท่านอิมามเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับผู้บัญชากองทัพทั้งหลาย ที่เขาจะต้องอธิบายความตายให้เป็นที่ชัดเจนสำหรับเหล่าบรรดาทหารทั้งหลาย



[1] เมาซูอะฮฺ หน้า 298, 471
[2] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 422
[3] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า  391
[4] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 314
[5] เมาซูอะฮฺ หน้าที่ 390
[6] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 391
[7] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 407
[8]  อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 471, 472
[9] บิฮารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 297
[10] อ้างแล้วเล่มเดิม
[11] เมาซูอะฮฺ  หน้า 344
[12] บิอารุลอันวาร เล่ม 44 หน้า 298
[13] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 298
[14]  เมาซูอะฮฺ หน้า 360
[15]  อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 297
[16] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 402