อิคลาส

อิคลาส หมายถึง การทำให้ความตั้งใจของเราบริสุทธิ์ ปราศจากความโสมมทั้งหลาย (หมายถึงจะต้องไม่มีกลิ่นอายของบุคคลอื่นที่นอกเหนือจากพระเจ้าอยู่ในความตั้งใจนั้นเลย) สิ่งนี้เองที่อิสลามต้องการจากผู้ศรัทธา ไม่ว่าจะทำกิจการใดก็ตาม หากผู้ศรัทธามีสิ่งนี้ก็จะทำให้เขาได้รับชัยชนะ และหากไม่มีสิ่งนี้ก็ถือว่าเป็นการขาดทุนอย่างยิ่ง

เพราะเหตุนี้เองกุรอานจึงให้การสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องนี้โดยกล่าวไว้ในหลายโองการด้วยกัน

1. และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์  (อัล - บัยยินะฮ์ โองการที่ 5)

2.  พึงทราบเถิด การอิบาดะฮ์โดยบริสุทธิ์ใจนั้นเป็นของอัลลอฮ์องค์เดียว ”  ( อัซ - ซุมัร โองการที่ 3 )

3. นอกจากบรรดาผู้ที่สำนึกผิดกลับตัวและปรับปรุงแก้ไข และยึดมั่นต่ออัลลอฮ์ และได้มอบการอิบาดะฮ์ของพวกเขาให้แก่อัลลอฮ์โดยสิ้นเชิง” (อัล – นิซาอ์ โองการที่ 146 )

ในหนังสือ อุซูล กาฟีย์ รายงานจากท่านอิมามริฎอ ว่า : ท่านอิมามอาลี กล่าวว่า : ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ทำอิบาดะฮ์และขอดุอาด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อพระเจ้า หัวใจของพวกเขาไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่พวกเขาได้เห็นและพบเจอ สิ่งที่พวกเขาได้ยินไม่อาจทำให้พวกเขาหลงลืมพระเจ้าได้ และพวกเขาไม่อิจฉาริษยาในสิ่งที่ผู้อื่นได้รับ

ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้อรรถาธิบายโองการที่พระองค์ตรัสว่า “ เพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง ” ( อัล - มุลก์  โองการที่ 2 ) โดยกล่าวว่า : การประกอบกิจการงานมาก ๆ ไม่ใช่เป้าหมายของโองการนี้ แต่ด้วยความตั้งใจอันบริสุทธิ์ที่ต่อพระเจ้าพร้อมทั้งการยำเกรงต่อพระองค์เท่านั้นที่จะนำไปสู่เป้าหมายและชัยชนะที่แท้จริงได้  

หลังจากนั้นท่านอิมามซอดิก (อ.) ยังกล่าวอีกว่า การยืนหยัดทำกิจการใดกิจการหนึ่งเพื่อทำให้เกิดความบริสุทธิ์ใจ ย่อมมีความสำคัญกว่ากิจการนั้นเสียอีก  ดังนั้นการงานที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจจึงหมายถึง การงานที่ทำเพื่อพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวโดยไม่มุ่งหวังคำขอบคุณจากใครทั้งสิ้น และการมีเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ต่อพระเจ้า ดีกว่าตัวของงานเสียอีก ดังนั้นพึงทราบเถิด การกระทำก็คือการตั้งใจ(เหนียต) นั่นเอง   หลังจากนั้นท่านก็ได้อ่านโองการที่พระองค์ตรัสว่า “จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ทุกคนจะกระทำไปตามรูปแบบของเขา”  (ซูเราะฮ์ อิสรอ โองการที่ 84)

มีรายงานจากท่านอิมามบาเก็ร กล่าวว่า : ไม่มีบ่าวคนใดที่เขาประกอบกิจการงานด้วยความความตั้งใจอันบริสุทธิ์ต่อพระเจ้า นอกเสียจากว่า พระองค์จะทรงทำให้เขาไม่หลงใหลในโลกดุนยา  ทำให้เขาต่าสว่างรู้จักแยกแยะสิ่งถูกผิด  ประทานวิทยปัญญาในหัวใจของเขา และทำให้สิ่งที่เขาพูดออกมาเปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญา

ระดับขั้นของอิคลาส

ความอิคลาสมีระดับขั้นที่แตกต่างกันไปดังนี้ 
             1. ระดับขั้นของบรรดาชากีรีน(ผู้ขอบคุณ) : บรรดาผู้ขอบคุณหมายถึงบรรดาผู้ซึ่งกราบไหว้และเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณในความโปรดปรานที่พระองค์ทรงประทานให้ ความโปรดปรานที่พระองค์ตรัสไว้ว่า : “และหากพวกเจ้าจะนับความโปรดปรานของอัลลลอฮ์แล้ว พวกเจ้าก็ไม่อาจจะคำนวณมันได้ ”( อิบรอฮีม โองการที่ 34 ) 

  ท่านอิมามอาลี กล่าวไว้ในนะฮ์ญุลบาลาเฆาะฮ์ว่า : ประชาชนบางกลุ่มกราบไหว้และเคารพภักดีพระเจ้าเพราะปรารถนาในผลรางวัลที่พระองค์จะทรงประทานให้ การกราบไหว้ลักษณะนี้เป็นการกราบไหว้ของบรรดาพ่อค้า บางกลุ่มกราบไหว้พระเจ้าเพราะกลัวการลงโทษของพระองค์ การกราบไหว้ลักษณะเช่นนี้เป็นการกราบไหว้ของบ่าวทาส  แต่อีกบางกลุ่ม กราบไหว้พระเจ้าเพื่อเป็นการขอบคุณต่อพระองค์ การกราบไหว้ลักษณะนี้เป็นการกราบไหว้ของบรรดาอิสระชน
             2. ระดับขั้นของบรรดามุก็อรรอบีน (ผู้อยู่ใกล้ชิดพระองค์) : มุก็อรรอบีน คือกลุ่มคนที่ทำการภักดีต่อพระเจ้าเพื่อหวังเข้าใกล้ชิดพระองค์