') //-->
อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ ๑๕-๑๗ ว่า : จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า จะให้ฉันบอกแก่พวกท่านถึงสิ่งที่ดียิ่งกว่านั้นไหม คือบรรดาผู้สำรวมตนนั้น ณ พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา พวกเขาจะได้รับสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในสรวงสวรรค์เหล่านั้นตลอดกาล และจะได้รับบรรดาคู่ครองที่บริสุทธิ์และความพึงใจจากอัลลอฮฺด้วย อัลลอฮฺทรงเห็นบรรดาบ่าวทั้งหลาย ซึ่งคือบรรดาผู้ที่กล่าวว่า โอ้องค์อภิบาลของเรา แท้จริงพวกพวกเราได้ศรัทธาแล้ว โปรดทรงอภัยโทษความผิดของพวกเราด้วยเถิดและโปรดได้ทรงปกป้องพวกเราให้พ้นจากการลงโทษแห่งไฟรกด้วย (พวกเขาคือ) บรรดาผู้ที่อดทน ผู้ที่สัตย์จริง ผู้ที่ภักดี ผู้ที่บริจาคและผู้ที่ขออภัยโทษในยามใกล้รุ่ง
ในช่วงท้ายของโองการที่ ๑๕ พระองค์ได้กล่าวถึงบ่าวของพระองค์และในสองโองการถัดมาได้กล่าวถึงคุณสมบัติ ๖ ประการของบ่าวที่แท้จริงไว้ดังนี้
บ่าวที่แท้จริงคือผู้ที่มุ่งจิตใจของเขาสู่พระผู้อภิบาลแต่เพียงผู้เดียว ความศรัทธาจะทำให้จิตใจของเขาได้รับแสงสว่างแห่งทางนำและจะมีความรู้สึกผิดชอบในการกระทำของเขา
คุณสมบัติของบ่าวที่แท้จริงอีกอย่างคือ ความอดทน หมายถึงบ่าวของอัลลอฮฺจะต้องเป็นคนที่มีความอดทนและการยืนหยัด ซึ่งในโองการข้างต้นกล่าวถึงการมีความอดทนอย่างสิ้นเชิง หมายถึงทุกๆความอดทนรวมถึงการอดทนและยืนหยัดในการเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์ , การยืนหยัดอดทนในการละทิ้งความชั่ว
ท่านอิมามซอดิก (อ.) อธิบายโองการดังกล่าวไว้ว่า : ใครก็ตามที่กล่าว อัซตัฆฟิรุลลอฮ์ วะ อาตูบุอิลัยฮ์ (ข้าขออภัยโทษต่อองค์อัลลอฮฺผู้ทรงเป็นองค์อภิบาลของข้า และขอน้อมกลับไปสู่พระองค์) เจ็ดสิบครั้งในนมาซ วิตร์ (เราะกะอัตสุดท้ายของนมาซ ตะฮัดญุด) ติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งปีอัลลอฮฺจะทรงให้เขาได้อยู่ในตำแหน่ง ผู้ที่ขออภัยโทษในยามใกล้รุ่ง และให้อภัยโทษต่อความผิดบาปของเขา
บ่าวที่แท้จริงคือผู้ที่ซื่อสัตย์และปฏิบัติดี สิ่งที่เขามีความเชื่อและศรัทธาจะต้องถูกแสดงออกมาทางการกระทำของเขาและจะต้องออกห่างการหน้าไหว้หลังหลอกและการคดโกง
บ่าวที่แท้จริงจะต้องเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และจะต้องยืนหยัดในสิ่งนี้อย่างจริงจัง
บ่าวที่แท้จริงคือผู้ที่บริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ การบริจาคในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการบริจาคทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการให้ทานในทุกสิ่งที่มีอยู่ในครอบครองของตนไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรือจิตใจบ่าวที่แท้จริงคือผู้ที่ขออภัยโทษในยามใกล้รุ่ง
รากศัพท์คำว่า ซะฮัร หมายถึงการปกปิด การปกคลุม เพราะว่าในเวลากลางคืนถูกปกคลุมไปด้วยความมืด กุรอานจึงเรียกช่วงสุดท้ายของกลางคืนว่า ซะฮัร
ช่วงดึกเป็นเวลาที่ผู้หลงลืมอยู่ในความหลับใหล ความวุ่นวายแห่งโลกวัตถุสงบลง เวลานี้เองเป็นช่วงเวลาที่บ่าวที่แท้จริงของอัลลอฮฺตื่นขึ้นและมุ่งจิตใจของพวกเขาสู่พระองค์เพียงผู้เดียว ก้มลงกราบด้วยความนอบน้อมต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์ขออภัยโทษต่อความผิดบาป พวกเขาดื่มด่ำในความเป็นเอกานุภาพของพระองค์ โดยที่คร่ำครวญพรรณนาต่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียว พร้อมกับมุ่งหวังในความเมตาของพระองค์