การนมาซ   

โองการต่าง ๆ ที่บ่งชี้ถึงวาญิบ (จำเป็น) และการนอบน้อมถ่อมตนในนมาซ เช่น กล่าวว่า

   إِنَّ الصَّلاةَ كَانَتْ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ كِتَابًا مَوْقُوتًا        

คำว่า “กิตาบ” หรือ “มักตูบ” หมายถึงวาญิบ เช่นเดียวกับโองการที่ว่า 

   كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ

“ การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว”  (ซูเราะฮฺ บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 183)

คำว่า “เมากูต” หมายถึง กำหนดที่เฉพาะเจาะจง (จากหนังสือกันซุลอิรฟาน และฆอรีบุลกุรอาน)

โองการจึงหมายถึง “แท้จริงนมาซเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดไว้แก่บรรดาผู้ศรัทธา”  (ซูเราะฮฺ นิซาอฺ โองการที่ 103)

บทบัญญัติ

           1. การนมาซ วาญิบสำหรับมุสลิมทุกคน

            2. วาญิบนี้มีเวลาในการปฏิบัติอันเฉพาะเจาะจงพิเศษ

           3. ตอนแรกของโองการบ่งชี้ว่าการรำลึกถึงอัลลอฮ (ซบ.) ในทุก ๆ สภาพนั้นคือเป้าหมายแท้จริง

ข้อสังเกต

 ผู้รู้บางท่าน (เช่นท่าน อิมามอะบูฮะนีฟะฮ์) ถือว่า คำว่า “บรรดาผู้ศรัทธา” บ่งบอกถึงว่านมาซเป็นวาญิบสำหรับผู้ที่เข้ารับอิสลามแล้ว ทว่าอันที่จริงการยกเหตุผลดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานความหมายของ วัศฟ์ (คำลักษณะนาม) ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่านักค้นคว้า และเป็นที่รู้กันแพร่หลายในประโยคคำกล่าวที่ว่า การพิสูจน์สิ่งใดสิ่งหนึ่งมิได้หมายความว่าจะปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่งได้ ด้วยเหตุนี้ ทัศนะของผู้ที่เชื่อว่าบรรดาผู้ปฏิเสธก็มีภาระหน้าที่ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาก็ถือว่าถูกยอมรับเช่นกัน

            حَافِظُوا عَلَى الصَّلَوَاتِ وَالصَّلاةِ الْوُسْطَى وَقُومُوا لِلَّهِ قَانِتِينَ فَإِنْ خِفْتُمْ فَرِجَالا أَوْ رُكْبَانًا فَإِذَا أَمِنْتُمْ فَاذْكُرُوا اللَّهَ كَمَا عَلَّمَكُمْ مَا لَمْ تَكُونُوا تَعْلَمُونَ (

เป้าหมายของ “ฮาฟิซูอะลัซเซาะละวาต” คือ การให้ความสำคัญต่อนมาซ และความเพียรพยายามในการนมาซตรงต่อเวลาที่กำหนดไว้ คำว่า “ซอลาติลวุซฏอ” หมายถึงนมาซที่อยู่ตรงกลางของนมาซต่าง ๆ หรือหมายถึงนมาซที่เปี่ยมด้วยความประเสริฐ เพราะบางท่านเชื่อว่า “วุซฏอ” ให้ความหมายของความประเสริฐที่เปี่ยมล้น คำว่า “กอนิตีน” เป็นพหุพจน์ของคำว่า “กอนัต” มาจากรากศัพท์ของคำว่า “กุนูต” ซึ่งหมายถึงการวิงวอน (ดุอาอฺ) กล่าวคือ จงวิงวอนในขณะที่ยืน บางท่านก็กล่าวว่า “กุนูต”  หมายถึงการยืนหยัดในการทำงานใดงานหนึ่ง และก็มีการกล่าวอีกเช่นกันว่า หมายถึงการภักดี และการนอบน้อม และโดยปกติแล้วการภักดีย่อมควบคู่กับการมีความนอบน้อมถ่อมตน (จากหนังสือมุฟรอดาต รอฆิบ)

 คำว่า “ริญาล” เป็นพหูพจน์ของคำว่า “รอญิล” หมายถึงผู้ที่เดินเท้า ส่วนคำว่า “ รุกบานัน” เป็นพหูพจน์ของคำว่า “รอกิบ” หมายถึงผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะ

โองการจึงมีความหมายว่า พวกเจ้าจงรักษานมาซทั้งหลายไว้ และนมาซที่อยู่กึ่งกลาง (นมาซซุฮร์)และจงยืนนมาซเพื่ออัลลอฮฺโดยนอบน้อม ถ้าพวกเจ้ากลัวก็จงนมาซพลางเดินหรือขี่ ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัยแล้วก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺดังที่พระองค์ได้ทรงสอนพวกเจ้าซึ่งสิ่งที่พวกเจ้ามิเคยรู้มาก่อน (ซูเราะฮฺ บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 238-239)

บทบัญญัติ

1.กล่าวกันว่าเป้าหมายของ การเป็นวาญิบในการรักษานมาซ คือ การรักษาเวลา, ขอบเขตและเงื่อนไขต่าง ๆ ของนมาซ หรือเป้าหมายของการรักษานมาซที่เป็นวาญิบ และยืนหยัดในการนมาซ นะวาฟิล ซึ่งเป็นรายงานจาก ท่านอิมามมุฮัมมัด บาเกร (อ.) (จากหนังสือกันซุลอิรฟาน)

 2. บางท่านเชื่อว่าคำสั่งให้รักษานมาซทั้งหลายบ่งชี้ถึงการเป็นวาญิบของทุก ๆ นมาซประจำวัน, นมาซญุมอะฮ์, นมาซอีดทั้งสอง, นมาซอายาต, นมาซฏอวาฟ, นมาซมัยยิตและนมาซบนบาน

3. เป้าหมายของ นมาซที่อยู่กึ่งกลางบ้างก็กล่าวว่าหมายถึงนมาซซุบฮฺ  เพราะอยู่ระหว่างนมาซกลางคืนและนมาซกลางวัน ซึ่งคำกล่าวนี้เป็นของท่านชาฟิอี  และบ้างก็กล่าวว่าหมายถึงนมาซซุฮร์ โดยยกรายงานบทหนึ่งจากท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร และอิมามซอดิก (อ.)  เพราะนมาซซุฮร์เป็นนมาซที่อยู่ช่วงตรงกลางของกลางวัน และบ้างก็กล่าวว่าหมายถึง นมาซอัซร์ เพราะเป็นนมาซที่อยู่ระหว่างนมาซกลางวันและนมาซกลางคืน โดยยกรายงานบทหนึ่งจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)  (จากหนังสือสุนัน อะบูดาวูด)

 4. บางท่าน (เช่นท่าน ฟาฎิล มิกดาด) เข้าใจจากประโยคที่ว่า “จงยืนนมาซเพื่ออัลลอฮฺ” ว่าบ่งบอกถึงการเป็นวาญิบที่ต้องยืนนมาซ

 5. การ “กุนูต” ถือเป็นบทบัญญัติในทุก ๆ นมาซ (ตามทัศนะของท่านฟาฎิล มิกดาด และท่านอิรดิบิลี) เพราะให้ความหมายที่เหมาะสมกับการวิงวอน (ดุอาอฺ) (เพราะอิมามชาฟิอี ถือว่าการกุนูตเป็นบัญญัติสำหรับในนมาซซุบฮฺเท่านั้น ส่วนมัซฮับอื่น ๆ ก็จะไม่กล่าวกุนูตในนมาซ)

 6. การอนุญาตให้นมาซในสภาพที่กลัว, ขับขี่ยานพาหนะหรือในสภาพที่เดินเท้า

وَأْمُرْ أَهْلَكَ بِالصَّلاةِ وَاصْطَبِرْ عَلَيْهَا لا نَسْأَلُكَ رِزْقًا نَحْنُ نَرْزُقُكَ وَالْعَاقِبَةُ لِلتَّقْوَى

คำว่า “อิซเฏาะบิร” เป็นคำสั่งที่มาจากคำว่า “อิซฏิบาร” หมายถึงความอดทน ถึงแม้ว่าคำนี้จะมีความหมายว่า เป็นการอดทนอย่างมากก็ตาม

ความหมายของโองการ เจ้าจงให้ครอบครัวของเจ้านมาซ และจงอดทนในการปฏิบัติ เรามิได้ขอเครื่องยังชีพจากเจ้า เราต่างหากเป็นผู้ให้เครื่องยังชีพแก่เจ้าและบั้นปลายนั้นเป็นของผู้ที่มีความสำรวมตน
(ซูเราะฮฺฏอฮา โองการที่ 132)

บทบัญญัติ

โองการนี้ชี้ให้เห็นว่าคำสั่งให้ทำนมาซ ไม่ใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากปวงบ่าวของพระองค์ (ดังที่พระองค์ตรัสว่า เราสั่งให้เจ้าทำสิ่งนี้โดยไม่ได้ขอเครื่องยังชีพจากเจ้า) ทว่านมาซเป็นเหตุให้บ่าวเกิดความสำรวมตน และบั้นปลายชีวิตที่ดีงามย่อมเป็นของบรรดาผู้มีความสำรวมตน

قَدْ أَفْلَحَ الْمُؤْمِنُون الَّذِينَ هُمْ فِي صَلاتِهِمْ خَاشِعُونَ

คำว่า “อัฟละฮเ” หมายถึงชัยชนะ (จากหนังสือ มิศบาฮฺ อัลมุนีร) คำว่า “ คุชูอ์” หมายถึงความกลัวที่เกิดขึ้นภายใน (จากหนังสือ กันซุลอิรฟาน) ท่านตัฟลีซี ให้ความหมายของคำว่า “คุชูอ์” ไว้สองประการดังนี้ คือ การนอบน้อมและการลดเสียงเนื่องจากความกลัวต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยผิวเผินแล้วความหมายของคำว่า “คุชูอ์” คือ ความกลัวผู้ที่มีความยิ่งใหญ่ จนเป็นเหตุให้เขาต้องนอบน้อม เมื่ออยู่ต่อหน้าเขาผู้นั้น และเช่นกันในความหมายของคำว่า “คุชูอ์” ก็คือ การนอบน้อมและการก้มมองลงเบื้องล่าง ซึ่งบ่งบอกถึงความกลัวจากความยิ่งใหญ่

ความหมายของโองการ แน่นอน บรรดาผู้ศรัทธาย่อมได้ประสบความสำเร็จ  บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในนมาซของพวกเขา   (ซูเราะฮฺ มุอฺมินูน โองการที่ 1-2)

บทบัญญัติ

 โองการนี้มีคำสั่งอย่างชัดเจนให้นอบน้อมถ่อมตนในขณะนมาซ และเช่นกันบ่งชี้ให้เห็นว่าการมีศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่นี้ ทำให้เกิดการนอบน้อมถ่อมตน ท่านบัยฎอวี และท่าน ฟาฎิล มิกดาด ได้บันทึกไว้ว่า หลังจากที่โองการที่ถูกประทานลงมาท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กำลังนมาซอยู่ ท่านจึงก้มมองไปยังที่ทำสุญูด (กราบ) ด้วยเหตุนี้การก้มมองที่สุญูด (กราบ) ในขณะนมาซจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการมีความนอบน้อมถ่อมตน