การให้อภัยแก่สังคม

การให้อภัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมที่มีกลิ่นอายอายของศาสนาหรือไม่ หรือเป็นสังคมอิสลามหรือไม่ใช่ก็ตามถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ผู้มีการศึกษาแล้วจำเป็นต้องรู้จักการอภัย การอภัยประหนึ่งเป็นกงล้อที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ดังที่ท่านทั้งหลายสามารถพบสังคมที่มีการอภัยกับสังคมที่ไม่รู้จักการอภัยต่อกันว่ามีความแตกต่างกันสักเท่าใด โดยเฉาะอย่างยิ่งสังคมที่อยู่ในกลิ่นอายของอิสลามทุกคนปาวนาตนว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามแนวทางของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แต่น้อยคนนักที่นำเอาแบบอย่างของท่านศาสดามาเป็นครรลองในการดำเนินชีวิตของตน อัล-กุรอาน กล่าวถึงวิถีชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮฺ เจ้าจึงได้สุภาพอ่อนโยนแก่พวกเขา (ประชาชน) ถ้าเจ้าประพฤติหยาบช้าและมีใจแข็งกระด้าง  แน่นอน พวกเขาต้องเตลิดออกไปรอบ ๆ เจ้า ดังนั้น จงยกโทษแก่พวกเขาและจงขอการอภัยสำหรับพวกเขา และจงปรึกษาพวกเขาในกิจการต่าง ๆ ครั้นเมื่อเจ้าตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮฺ  เนื่องจากอัลลอฮฺ ทรงรักผู้มอบหมาย  ถ้าอัลลอฮฺ ทรงช่วยเหลือสูเจ้าไม่มีผู้ใดชนะสูเจ้าได้ และถ้าพระองค์ทรงทอดทิ้งสูเจ้า ดังนั้น ผู้ใดเล่าจะช่วยเหลือสูเจ้าได้หลังจากพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธาต้องมอบหมายแด่อัลลอฮฺ [1]

แม้ว่าโองการจะเป็นคำสั่งทั่ว ๆ ไป ที่ประทานแก่ท่านศาสดา ซึ่งครอบคลุมหลักการทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาสาเหตุของการประทานจะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ สงครามอุฮุด เนื่องจากเมื่อมุสลิมที่หนีทัพกลับจากอุฮุด ได้มารายล้อมท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สำนึกผิดและวอนขอการอภัยจากท่านศาสดา พระเจ้าจึงมีบัญชาแก่ท่านศาสดา ให้อภัยแก่พวกเขาทั้งหมด ซึ่งท่านศาสดาได้ปฏิบัติตามนั้น

โองการข้างต้นตอนแรกกล่าวว่า จริยธรรมที่สูงส่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮฺที่ เจ้าจึงได้สุภาพอ่อนโยนแก่พวกเขา (ประชาชน) ถ้าเจ้าพฤติหยาบช้าและมีใจแข็งกระด้าง  แน่นอน พวกเขาต้องเตลิดออกไปรอบ ๆ เจ้า

คำว่า ฟัฎฎอน หมายถึง บุคคลที่พูดจาหยาบคาย ก้าวร้าว หรือเสียงแข็งกร้าว ส่วนคำว่า เฆาะลีซอลก็อลบิ หมายถึงบุคคลที่หัวใจแข็งการด้าง ไม่เคยแสดงความรักหรือความเมตตาต่อผู้ใด ด้วยเหตุนี้ คำทั้งสองแม้ว่าจะให้ความหมายว่าป่าเถื่อน หรือหยาบกระด้างแต่แตกต่างกันตรงที่ว่าคำหนึ่งหมายถึงความป่าเถื่อนทางคำพูด ส่วนอีกคำเป็นความป่าเถื่อนทางการกระทำ ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าทรงชี้ให้เห็นความอ่อนโยนของท่านศาสดาทั้งการกระทำ และคำพูด ท่านได้แสดงเมตตากับบุคคลที่โง่เขลา

หลังจากนั้นพระองค์ทรงมีบัญชาว่า จงยกโทษแก่พวกเขา และจงขอการอภัยสำหรับพวกเขา หมายถึงบุคคลที่ทรยศ ไม่ซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญา และบุคคลทีนำความเศร้าสลดในสงครามอุฮุดมาสู่เจ้า จงยกโทษให้พวกเขา และฉันจะอภัยแก่พวกเขา ส่วนการที่พวกเขาฝ่าฝืนคำสั่งของฉัน เจ้าจงยกโทษและวิงวอนการอภัยแก่พวกเขา

อีกประเด็นหนึ่งที่โองการกล่าวถึงคือ คุณสมบัติที่ผู้นำทั้งหลายจำเป็นต้องมีกล่าวคือ การอภัย ความสุภาพ และความเมตตา ซึ่งการฝ่าฝืนสิ่งเหล่านี้ต้องเสียใจและสำนึกผิดภายหลังแน่นอน อิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า อาวุธสำคัญสำหรับผู้นำคือ การเป็นคนใจกว้าง

หลังจากที่พระองค์มีบัญชาให้ยกโทษแก่สังคมส่วนรวมแล้ว พระองค์ทรงให้ชีวิตใหม่แก่พวกเขาตรัสว่า จงปรึกษาพวกเขาในกิจการต่าง ๆ การที่พระองค์มีบัญชาเช่นนี้เนื่องจาก ก่อนเริ่มสงครามอุฮุด ท่านศาสดาเผชิญหน้ากับศัตรูอย่างไร  ท่านปรึกษากับเหล่าสาวก ท่านยึดถือความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ที่กล่าวว่า ให้ตั้งฐานที่มั่น ณ เนินเขาอุฮุด แต่ท่านเห็นว่าไม่สมควร มีคนหนึ่งกล่าวว่า คราวหน้าท่านศาสดาอย่ามาปรึกษาพวกเราอีก อัล-กุรอานจึงประทานลงมา และกำชับว่า ให้ปรึกษากับพวกเขาแม้ว่าจะไม่มีประโยชน์อันใดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วมีประโยชน์มากกว่ามีผลเสีย ที่สำคัญประโยชน์ในการการอบรมบุคลากรของสังคม ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ปรึกษาสิ่งใดกับประชาชน แม้คำว่า อัลอัมรุ ในประโยคที่กล่าวว่า และจงปรึกษาพวกเขาในกิจการต่าง ๆ จะมีความกว้าง และครอบคลุมทุกกิจการงาน แต่แน่นอนว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะไม่ปรึกษาบทบัญญัติของพระเจ้ากับพวกเขา แต่ท่านจะปฏิบัติไปตามวะฮฺยูของพระองค์

ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ปรึกษากับประชาชนคือ วิธีปฏิบัติคำสั่ง และการดำเนินบทบัญญัติในสังคม แต่ท่านจะไม่ปรึกษาการกำหนดกฎเกณฑ์เด็ดขาด

การให้ความสำคัญต่อการปรึกษาหารือ รายงานจำนานมากกล่าวให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้ ท่านศาสดา (ซ็อล  ฯ) กล่าวว่า ไม่มีบุคคลใดอับโชคเนื่องจากการปรึกษาหารือ และไม่มีบุคคลใดโชคดีเนื่องจากการถือทัศนะตนเป็นใหญ่

ผู้ใดคือบุคคลที่สมควรปรึกษาหารือ

แน่นอน ไม่สามารถปรึกษาหารือกับทุกคนได้ เพราะบางคนอาจมีจุดอ่อนแอการปรึกษาหารือกับเขาเป็นสาเหตุนำไปสู่ความอับโชค และความล้าหลัง ดังทีอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า จงอย่าปรึกษาหารือกับคน 3 กลุ่ม ได้แก่

1. จงอย่าปรึกษาหารือ กับบุคคลที่ตระหนี่ถี่เหนียว เนื่องจากเขาจะห้ามปรามเจ้ามิให้ช่วยเหลือ และเมตตาต่อบุคคลอื่น และกลัวความยากจน

2. จงอย่าปรึกษาหารือ กับบุคคลที่ขี้ขลาดตาขาว เนื่องจากพวกเขาจะห้ามปรามสูเจ้าจากภารกิจการงานที่สำคัญ

3. จงอย่างปรึกษาหารือ กับบุคคลที่มีความลุ่มหลงโลก เนื่องจากเขาจะปลูกฝังเจ้าให้รวบรวมทรัพย์สินเงินทอง ตำแหน่ง ลาภยศสรรเสริญ และเอารัดเอาเปรียบบุคคลอื่น

อย่างไรก็ตามอัล-กุรอานกำชับให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ปรึกษาหารือกับประชาชน แต่การตัดสินใจเด็ดขาดเป็นหน้าที่ของท่านศาสดา สังเกตคำสั่งที่พระองค์ใช้ว่า ชาวิรฮุม (จงปรึกษาพวกเขา) แต่เมื่อถึงเวลาตัดสินใจเด็ดขาดสุดท้ายพระองค์ตรัสว่า อะซัมตะ (ครั้นเมื่อเจ้าตัดสินใน) การใช้คำต่างกันบ่งชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า การพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ทางสังคมสมควรกระทำเป็นหมู่คณะ แต่เมื่อถึงเวลาตัดสินใจและดำเนินการควรกระทำคนเดียว เนื่องจากเป็นการป้องมิให้มีความเสียเกิดขึ้น ถ้าหากโครงการหนึ่งมีผู้นำหลายคนเป็นผู้ดำเนินการ และมิได้รับการดลใจจากพระเจ้า ความเสียหาย และความขัดแย้งจำนวนมากมายต้องเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าสังคมโลกมีการปรึกษาหารือ และขอความคิดเห็นจากประชาชน แต่เมื่อถึงเวลาดำเนินการรัฐบาลจะเป็นฝ่ายดำเนินการ ภายใต้การชี้นำของหัวหน้ารัฐบาล

ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ตะวักกัล (มอบหมาย ไว้วางใจ)

อัล-กุรอาน กล่าวว่า ครั้นเมื่อเจ้าตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮฺ  หมายถึง เมื่อปัจจัยต่าง ๆ ตลอดจนสื่อและเครื่องมืออื่น ๆ พร้อมสำหรับการดำเนินการ แต่สุดท้ายจะต้องไม่ลืมพระผู้อภิบาลผู้บริหารแห่งสากลโลก แต่ความหมายของ การมอบหมาย มิได้หมายความว่า ให้ปล่อยวางสื่อเครื่องมือ และปัจจัยต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงประทานลงมา ดังที่มีรายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า มีชายอาหรับคนหนึ่งไม่ได้ผู้อูฐของตน เขาปล่อยอูฐให้เป็นอิสระ โดยบอกว่าการทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการมอบหมายต่อพระเจ้า ท่านศาสดา กล่าวกับเขาว่า จงผูกอูฐเสียหลังจากนั้นจึงมอบหมายต่อพระเจ้า

ผลของการมอบหมาย

 โองการข้างต้นสร้างความสมบูรณ์ให้แก่โองการก่อนหน้านี้ ซึ่งกล่าวถึงการมอบหมายว่า พระเจ้าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มาตรว่าพระองค์ทรงช่วยเหลือผู้ใด จะไม่บุคคลใดสามารถเอาชนะเขาได้ แต่ถ้าพระองค์ทรงทอดทิ้งเขา ดังนั้น ผู้ใดเล่าจะช่วยเหลือเขาได้ บุคคลที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการช่วยเหลือของพระองค์ จำเป็นต้องอิงอาศัย และวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์เสมอ โองการนี้กำชับแด่ผู้มีศรัทธาทั้งหลายว่า แม้ว่าจะมีสื่อปัจจัยสมบูรณ์ภายนอกคอยให้การสนับสนุน กระนั้นต้องอิงอาศัยอำนาจไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์

โองการก่อนหน้านี้ อัล-กุรอาน กล่าวแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ส่วนโองการนี้กล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธา โดยกล่าวว่า บรรดาผู้ศรัทธาต้องมอบหมายแด่อัลลอฮฺ


[1] อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 159-160