') //-->
ข้าพเจ้าเดินทางไปยังเมืองอเล็กซานเดรีย วันเดียวกับที่เรืออียิปต์ออกจากท่าไปยังเมืองเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ข้าพเจ้ารู้สึกเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้น เมื่อขึ้นไปบนเรือเท่านั้นข้าพเจ้าก็ล้มตัวลงนอนทันทีและหลับไปประมาณสองสามชั่วโมง ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาเมื่อได้ยินเสียงเรียกว่า “คุณดูเหมือนจะเหนื่อยมากนะ” ข้าพเจ้าตอบเป็นเชิงรับว่า “การเดินทางจากกรุงไคโรมายังอเล็กซานเดรียทำให้ผมเหนื่อยเหลือเกิน เพราะว่าผมต้องการมาให้ทันเวลา ดังนั้น ผมจึงนอนไม่พอเมื่อคืนที่แล้ว” ข้าพเจ้ารู้สึกว่าชายนั้นมิใช่ชาวอียิปต์ เพราะสำเนียงของเขาบ่งให้ทราบเช่นนั้น ความจริงข้าพเจ้าอยากรู้จักเขา และต้องการแนะนำตัวเองต่อเขาด้วยซ้ำ แต่เขาได้แนะนำตัวเองว่า เขามาจากอิรัก เป็นนักปาฐกจากมหาวิทยาลัยแบกแดดมีชื่อว่า มุนอีม เขามายังไคโรเพื่อเสนอวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร
เราการเริ่มสนทนากันด้วยการพูดกัน เรื่องประเทศอียิปต์ก่อน และเรื่องโลกอาหรับทั้งโลกมุสลิมด้วย เรายังได้พูดคุยกันถึงความพ่ายแพ้ของอาหรับ และชัยชนะของอิสราเอลหรือยิว เรื่องที่คุยกันนั้นประกอบด้วยเรื่องหลากหลาย และมีจุดหนึ่งซึ่งข้าพเจ้ากล่าวว่า เหตุผลเบื้องหลังการพ่ายแพ้นั้น คือการแตกแยกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย ของประเทศอาหรับและมุสลิม ดังนั้นแม้ว่าประชาชนจะมีจำนวนมากก็ตาม เมื่อแบ่งออกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยแล้ว ศัตรูก็ไม่สนใจเท่าใดนัก
เราพูดกันถึงประเทศอียิปต์และชาวอียิปต์ และเราก็เห็นพ้องต้องกันถึงเหตุแห่งความพ่ายแพ้ ข้าพเจ้าเสริมว่า ข้าพเจ้านั้นไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งพวกมหาอำนาจทางอาณานิคมพยายามเน้นให้กระทำเช่นนั้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกของเขาในการปกครองเรา ข้าพเจ้าได้พูดอีกว่า เรายังแบ่งแยกกันเป็นมัซฮับ(แนวทาง) ต่าง ๆ เช่น ชาฟิอี มาลิกี ฮัมบาลี และฮานาฟี อีกด้วย และข้าพเจ้าได้เล่าให้เขาฟังถึงเรื่องเศร้า เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มัสญิดอบูฮะนีฟะฮ์ ณ กรุงไคโร คือ ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่น ข้าพเจ้าได้นมาซอัซริร่วมกันกับประชาชนที่นั่น หลังจากเสร็จการนมาซแล้ว มีชายคนหนึ่งซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ ถามข้าพเจ้าด้วยความโกรธว่า “ทำไมท่านจึงไม่กอดอกในขณะนมาซ” ข้าพเจ้าได้ตอบเขาอย่างสุภาพว่า “ชาวมาลิกีจะปล่อยมือเสมอในเวลานมาซ และผมก็เป็นมาลิกีคนหนึ่ง จึงทำเช่นนั้น” เขาตอบว่า “จงไปยังมัสญิดมาลิกีและนมาซที่นั่นซิ” ข้าพเจ้าได้ออกจากมัสญิดนั้นด้วยความขมขื่นและเกลียดชัง ข้าพเจ้ารู้สึกมึนงงยิ่งขึ้น
อาจารย์ชาวอิรักผู้นั้นยิ้มและบอกแก่ข้าพเจ้าว่า เขาเองเป็นมุสลิมชีอะฮฺคนหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกยุ่งใจเมื่อทราบเช่นนั้น จึงตอบเขาไปอย่างไม่คิดว่า “ถ้าผมรู้ว่าคุณเป็นชีอะฮฺ ผมคงไม่พูดกับคุณ”
เขาถามว่า “ทำไมหรือ”
ข้าพเจ้าตอบว่า “เพราะว่าคุณมิใช่มุสลิม ท่านเคารพสักการะอะลี อิบนิ อบีฏอลิบ ส่วนมากของพวกคุณสักการะอัลลอฮฺ แต่ไม่ศรัทธาในรายงานของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) คุณสาปแช่งญิบรออีลที่ทรยศต่อสิ่งที่มอบหมายให้ คือแทนที่จะส่งสารให้แก่อะลี กลับส่งสารให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)
ข้าพเจ้าได้พูดต่อไปถึงเกล็ดย่อยอื่น ๆ ขณะที่เพื่อนของข้าพเจ้าฟังอย่างสนใจ บางคราวเขาก็ยิ้ม และบางคราวเขาก็ประหลาดใจ เมื่อข้าพเจ้าพูดจบเขาได้ถามว่า “คุณเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาหรือ” ข้าพเจ้าตอบว่า “ถูกแล้ว” เขาจึงกล่าวว่า “ถ้าหากนั่นเป็นสิ่งที่ครูทั้งหลายคิดกันแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะไปโทษประชาชนธรรมดาได้ตามที่เขาได้รับการศึกษามา” ข้าพเจ้าตอบว่า “ท่านหมายความว่าอย่างไร” เขาตอบว่า “ขอโทษคุณได้ทราบการกล่าวหาอันเป็นเท็จนั้นมาจากไหน” ข้าพเจ้าได้บอกเขาว่า “ผมได้ทราบเรื่องนั้นมาจากหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายเล่ม และเรื่องอื่น ๆ นั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา” เขากล่าวว่า “อ้อ ขอให้เราลืมเกี่ยวกับประชาชนว่าเขาพูดกันว่าอย่างไร แต่ขอให้คุณบอกผมว่า หนังสืออะไรบ้างที่คุณอ่าน” ข้าพเจ้าได้บอกเขาถึงหนังสือสองสามเล่ม เช่น หนังสือที่แต่งโดย อะฮ์มัดอามีน ชื่อ “ฟัจรุลอิสลาม ฎุฮาอัลอิสลาม และซุฮูรุลอิสลาม” และหนังสืออื่น ๆ อีก เขาถามว่า “ตั้งแต่เมื่อใดที่อะฮ์มัด อามีน มีหลักฐานเกี่ยวกับชีอะฮฺ” เขาพูดว่า “เพื่อความยุติธรรมและตรงเป้าหมายผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามจำเป็นต้องอ้างแหล่งแรกที่เป็นที่มาของเรื่องนั้น ๆ” ข้าพเจ้ากล่าวว่า “ทำไมผมจำเป็นต้องสืบสวนเรื่องที่เป็นความรู้ธรรมดาของคนทั่วไปเล่า” เขาตอบว่า “อะฮ์มัด อามีนเองได้ไปเยี่ยมอิรักมาแล้ว และผมก็เป็นครูคนหนึ่งที่เขาพบในนะญัฟ และเมื่อเราได้ตำหนิเขาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาเขียนเรื่องชีอะฮฺ เขาบอกว่าเขาเสียใจที่เขียนไปโดยที่เขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับชีอะฮฺเลย และครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่เขาพบกับชีอะฮฺ เราจึงบอกเขาว่า การขอโทษของเขานั้นร้ายแรงยิ่งกว่าความผิดที่เขากระทำเสียอีก เขาจะสามารถเขียนเกี่ยวกับเราได้ อย่างไร ในเมื่อเขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเรามาก่อนเลย”
เขาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “นี่คุณ หากเราพิจารณาความผิดพลาดของพวกยิว และคริสต์ด้วยอัล-กุรอานแล้ว พวกเขาคงไม่ยอมรับความผิดนั้นเป็นแน่ ทั้ง ๆ ที่ความจริงมีอยู่ว่า อัล-กุรอานเป็นหลักฐานที่สมบูรณ์ของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงควรแสดงความผิดของพวกเขาด้วยคัมภีร์ของพวกเขาเอง เพราะว่าหลักฐานจะได้แข็งแรงขึ้น ตามคำกล่าวที่ว่า ได้มีคนหนึ่งในหมู่พวกเขาเป็นพยานว่าพวกเขาทำผิด”คำพูดของเพื่อนใหม่เสียดแทงเข้าไปในหัวใจของข้าพเจ้า คล้ายน้ำเย็นตกลงในลำคอของผู้หิวกระหาย ข้าพเจ้าค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากผู้ที่วิจารณ์ผู้อื่นอย่างแสบสันต์มาเป็นผู้ที่ยินดีตั้งใจฟัง และคิดพิจารณา เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่า เขามีเหตุผลที่มั่นคงและหลักฐานที่แข็งแรง ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำต้องแสดงความสุภาพและรับฟังเขา ข้าพเจ้าได้พูดกับเขาว่า “ดังนั้นคุณก็เป็นคนหนึ่งที่ศรัทธาต่อคัมภีร์ของท่านศาสดามุฮัมมมัด ใช่ไหม”เขาตอบว่า “ชาวชีอะฮฺทุกคนก็เช่นเดียวกับผม มีความเชื่อมั่นในคัมภีร์นั้น นี่คุณ คุณควรที่จะศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้นด้วยตนเอง เพื่อว่าคุณจะได้ไม่ต้องสงสัยเกี่ยวกับพี่น้องของคุณคือ ชาวชีอะฮฺ เพราะว่าการสงสัยนั้นเป็นบาปอย่างหนึ่ง เขาเสริมว่า “หากคุณต้องการรู้ความจริง และเห็นด้วยตาของคุณเองเพื่อจะได้แน่ใจแล้ว ผมขอเชิญคุณไปเยี่ยมอิรัก ณ ที่นั่นคุณจะพบกับผู้รู้ชาวชีอะฮฺ และประชาชนด้วย แล้วคุณจะพบกับความเท็จที่ประสงค์ร้ายอย่างแน่นอน”
ข้าพเจ้ากล่าวว่า “เป็นความปรารถนามานานแล้วที่จะไปเยี่ยมอิรักในวันใดวันหนึ่งข้างหน้านี้ เพื่อดูมรดกอันมีชื่อเสียงของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมรดกของอับบาซิยะฮ์ สมัยท่านฮารูน อัร รอชีด แต่ปัญหาประการแรกคือ ฐานะทางการเงินของข้าพเจ้ามีจำกัด เพราะมีทรัพย์เพียงพอ เพื่อกระทำอุมเราะฮ์เท่านั้น และประการที่สองก็คือ หนังสือเดินทางของข้าพเจ้าปัจจุบันนั้นไม่สามารถจะเดินทางเข้าอิรักได้”
เขาตอบว่า “ประการแรก เมื่อผมเชิญคุณไปเยี่ยมอิรัก นั่นย่อมหมายความว่า ผมต้องให้ค่าเดินทางแก่คุณ คือการเดินทางระหว่างเบรุตกับแบกแดดทั้งไปและกลับ และระหว่างที่คุณพักอยู่ที่อิรัก คุณจะพักอยู่กับผม เพราะคุณเป็นแขกของผม ประการที่สองเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง ซึ่งทำให้คุณไม่สามารถเข้าประเทศอิรักได้นั้น ขอให้คุณมอบเรื่องนี้ไว้กับอัลลอฮฺ (ซบ.) หากพระองค์ทรงประกาศิตว่าคุณจะไปเยี่ยมอิรักได้แล้ว คุณก็จะต้องไปได้ แม้ว่าจะไม่มีหนังสือเดินทางก็ตาม อย่างไรก็ดี ผมจะพยายามให้คุณได้รับวีซ่าเข้าเมืองเมื่อเราไปถึงเบรุต”
ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจในข้อเสนอนั้น และได้สัญญากับเพื่อนว่า จะตกลงรับคำเชิญหรือปฏิเสธคำเชิญในวันรุ่งขึ้น หากอัลลอฮฺ ทรงประสงค์ ข้าพเจ้าออกไปจากห้องนั้น และขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือ พลางหายใจเอาอากาศอันสดชื่นเข้าเต็มปอดและคิดอย่างหนัก ขณะที่หัวใจของข้าพเจ้าล่องลอยไปในทะเลซึ่งอยู่เต็มขอบฟ้า ข้าพเจ้าได้ขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างจักรวาล และทรงชี้นำข้าพเจ้าให้พ้นจากความชั่ว และความเลวร้ายและให้ทรงปกปักรักษาข้าพเจ้าให้พ้นจากความผิดพลาดทุกประการ หัวใจของข้าพเจ้าท่องเที่ยวเรื่อยไป และข้าพเจ้าก็เริ่มรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาตามลำดับที่ข้าพเจ้าได้ประสบมาในอดีต.....ข้าพเจ้ารู้สึกดุจดังว่าองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) และท่านศาสดามุฮัมมัดของพระองค์ทรงปกปักรักษาอย่างดีเป็นพิเศษ ข้าพเจ้ามองไปยังอียิปต์ซึ่งฝั่งทะเลของมันปรากฏอยู่บนขอบฟ้า เป็นบางครั้งบางคราว ข้าพเจ้ายังระลึกถึงตอนที่ข้าพเจ้าจูบเสื้อเชิ้ตของท่านศาสดามุฮัมมัดได้อย่างดี มันเป็นการรำลึกถึงอียิปต์ที่มีคุณค่ามากที่สุดของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ายังจำได้ถึงคำพูดของชีอะฮฺคนนั้น ซึ่งนำความยินดีอันยิ่งใหญ่มาสู่หัวใจข้าพเจ้า เพราะมันทำให้ความฝันอันเก่าแก่ของข้าพเจ้าเป็นจริงขึ้นมา นั่นคือการไปเยือนอิรัก ประเทศซึ่งจะทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงสำนักแห่งอัร รอซีด และอัลมะมูน ผู้ได้ทรงสร้างดารุลฮิกกมะฮ (วิทยาคาร) ซึ่งนักศึกษาตะวันตกปรารถนาจะได้เห็น ในสมัยที่อารยธรรมอิสลามขึ้นสู่ขีดสูงสุด นอกจากนั้นอิรักยังเป็นประเทศที่เชค อับดุล กอดีร อัล ญีลานี อาศัยอยู่ ซึ่งชื่อเสียงของท่านระบือสู่หลายประเทศ และแนวทางซูฟีของท่านก็เข้าถึงทุกแห่งหนตำบล...... ผู้ซึ่งความมีใจสูงส่งของท่านอยู่เหนือกว่าผู้ใดทั้งสิ้น ข้าพเจ้าคิดว่า นั่นคือการปกปักรักษาของพระเจ้าอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่จะทำให้ความฝันของข้าพเจ้าเป็นจริงขึ้นมา หัวใจของข้าพเจ้าท่องเที่ยวเรื่อยไปจนกระทั่งเสียงหวูดเครื่องขยายเสียงดังขึ้น เพื่อเรียกผู้โดยสารทุกคนไปยังห้องอาหาร เพื่อรับประทานอาหารเย็น ข้าพเจ้าจึงรีบเดินไปยังสถานที่นั้น แต่พบว่าที่นั่นมีคนแน่นไปหมด บ้างตะโกนบ้างส่งเสียงดัง ขณะที่พวกเขาพยายามจะเข้าไปยังห้องอาหารนั้น
ทันใดนั้นเอง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าชาวชีอะฮฺผู้นั้นมาดึงแขนเสื้อข้าพเจ้า และพูดว่า “มานี่เถิดคุณ อย่าไปลำบากอยู่เลย เราไปรับประทานตอนที่ไม่มีคนก็แล้วกัน ความจริงผมมองหาคุณทุกหนทุกแห่ง แต่ไม่พบ” แล้วเขาได้ถามข้าพเจ้าว่า “คุณนมาซแล้วหรือยัง” ข้าพเจ้าตอบว่า “ยังเลย” ดังนั้น เขาจึงขอร้องให้ข้าพเจ้าไปนมาซร่วมกับเขา และจะได้รับประทานอาหารหลังจากเสียงเอะอะและความวุ่นวายได้สงบลงแล้ว
ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับความคิดของเขา ดังนั้นข้าพเจ้าจึงตามเขาไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อเราได้ทำน้ำนมาซ แล้ว ข้าพเจ้าขอร้องเขาให้เป็นผู้นำนมาซเพื่อทดสอบเขา และจะดูว่าเขาทำอย่างไร เพื่อข้าพเจ้าจะได้ทำตามทีหลัง หลังจากเราได้นมาซมัฆริบ (หลังตะวันตก) แล้ว เขาก็อ่านอัล-กุรอาน และขอพรต่าง ๆ ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความคิดใหม่ขึ้นมา ข้าพเจ้ารู้สึกดังว่าได้ถูกนำนมาซโดยสาวกของท่านศาสดามุฮัมมัดคนหนึ่ง ที่เคร่งครัดต่อศาสนา และเกรงกลัวอัลลอฮฺอย่างที่สุด หลังจากเสร็จการนมาซแล้ว เขาได้ขอพรอย่างยืดยาว ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินมาก่อนในประเทศของข้าพเจ้าหรือนอกประเทศเลย ข้าพเจ้ารู้สึกสบายใจเมื่อได้ยินเขาสรรเสริญท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และเครือญาติของท่าน เขาขอพรให้ท่านศาสดามุฮัมมัด และลูกหลานของท่านในสิ่งที่พวกเขาสมควรจะได้รับอย่างแท้จริง
หลังจากนมาซแล้ว ข้าพเจ้าสังเกตเห็นน้ำตาที่เบ้าตาของเขา และข้าพเจ้ายังได้ยินเขาขอพรต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ให้ทรงเปิดตาของข้าพเจ้า และให้ทรงนำข้าพเจ้าสู่ทางอันเที่ยงธรรม
เราไปยังห้องอาหารซึ่งแทบว่างเปล่า และเขาก็มิได้นั่งลงจนกว่าข้าพเจ้าจะนั่งลงก่อน และเมื่อเขานำอาหารมาให้ เขาก็ได้เปลี่ยนจานอาหารของเขาให้ข้าพเจ้า เพราะจานอาหารของเขามีเนื้อมากกว่า
เขาปฏิบัติต่อข้าพเจ้าดุจดังว่าข้าพเจ้าเป็นแขกของเขา และคอยเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินมาก่อนเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม และการรักษามารยาทเวลากินอาหาร ข้าพเจ้าชอบมารยาทของเขามาก ตอนค่ำ เขาก็นำนมาซอีก และอ่านบทขอพรอย่างยืดยาวจนกระทั่ง ข้าพเจ้ารู้สึกน้ำตาคลอเบ้า ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ขอต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ให้ทรงเปลี่ยนความสงสัยของข้าพเจ้าต่อชายผู้นี้ เพราะ “ความสงสัยบางอย่างอาจเป็นบาปก็ได้” ใครจะรู้
ข้าพเจ้านอนหลับในคืนนั้น ฝันถึงอิรักอาหรับราตรี และถูกปลุกจากเพื่อนของข้าพเจ้า ที่ร้องเรียกให้นมาซยามรุ่งอรุณ เราได้นมาซร่วมกัน จากนั้นจึงนั่งคุยกันถึงความโปรดปรานที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ประทานให้มุสลิม เรากลับไปนอนต่อ และเมื่อข้าพเจ้าตื่น ก็พบเขานั่งอยู่บนเตียงของเขา พร้อมด้วยพวงตัสบีฮ์ในมือ เพื่อระลึกถึงนามแห่งอัลลอฮฺ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกผ่อนคลายกับเขามากขึ้น และขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้อภัยข้าพเจ้าด้วย
ขณะที่เรากำลังรับประทานอาหารกลางวันกันอยู่นั้น เราได้ยินเครื่องขยายเสียงประกาศว่า เรือของเรากำลังเข้าใกล้ฝั่งเลบานอนแล้ว และด้วยความปราณีจากอัลลอฮฺ เราคงจะถึงท่าเรือกรุงเบรุตในสองชั่งโมงข้างหน้า เพื่อนของข้าพเจ้าได้ถามข้าพเจ้าว่า ตัดสินเรื่องการับเชิญแล้วหรือยัง ข้าพเจ้าจึงตอบเขาว่า หากอัลลอฮฺ(ซบ.) ทรงประสงค์ และข้าพเจ้าได้มีวีซ่าเข้าเมืองแล้ว คงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แล้วข้าพเจ้าได้ขอบใจในการเชิญของเขา
เราได้มาถึงกรุงเบรุตในที่สุด และได้พักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหนึ่งคืน จากนั้นจึงเดินทางไปยังกรุงดามัสกัส เมื่อถึงกรุงดามัสกัส เรารีบไปยังสถานเอกอัครราชทูตอิรักทันที ณ ที่นั่นเราได้รับวีซ่าเข้าเมืองด้วยความรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเราออกจากสถานเอกอัครราชทูตแล้ว เขาแสดงความยินดีกับข้าพเจ้า เราได้ขอบคุณอัลลอฮฺ(ซบ.) ต่อการช่วยเหลือของพระองค์
การเยี่ยมเยียนอีรักครั้งแรกของข้าพเจ้า
เราเดินทางจากดามัสกัสไปยังแบกแดดโดยรถของบริษัท นะญัฟอินเตอร์แนชั่นแนล เมื่อเราไปถึงนครแบกแดดปรากฏว่าอากาศที่นั่นมีอุณหภูมิสูงถึง ๔๐ องศา เราไปยังถิ่นที่เรียกว่า ยะมีละฮ์ ในเขตอำเภออุมมาล และเข้าไปยังบ้านของเพื่อนของข้าพเจ้าซึ่งเป็นบ้านปรับอากาศ เราพักผ่อนครู่หนึ่งแล้วเพื่อของข้าพเจ้าก็นำเสื้อยาวซึ่งเรียกว่า ดิชดาชะฮ์มาให้ตัวหนึ่งพร้อมกับผลไม้และอาหาร จากนั้นสมาชิกของครอบครัวจึงมาแสดงการต้อนรับข้าพเจ้าอย่างสุภาพ บิดาของเขาได้กอดข้าพเจ้าดุจดังว่าได้รู้จักกันมาเป็นเวลานานแล้ว สำหรับมารดาของเขานั้น นางยืนอยู่ที่ประตูสวมเสื้อยาวสีดำแสดงการต้อนรับข้าพเจ้า เพื่อของข้าพเจ้าขอโทษแทนมารดาของเขาที่ไม่สามารถจับมือของข้าพเจ้าได้ เพราะไม่เป็นการอนุญาตที่จะกระทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าชอบมารยาทของพวกเขาและรำพึงแก่ตนเองว่า “ประชาชนเหล่านี้ซึ่งเรากล่าวหาว่าพวกเขาหลงผิด ดูเหมือนเขาจะปฏิบัติศาสนาดีกว่าเราเสียอีก” ระหว่างทางที่เราเดินทางมาด้วยกัน ข้าพเจ้ารู้สึกถึงมารยาทอันดีงามของเพื่อนของข้าพเจ้า เช่นการนับถือตนเอง ความเมตตาอารี ข้าพเจ้ายังรู้สึกถึงความสุภาพและความเคร่งครัดทางศาสนาซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็นในคนอื่นมาก่อน ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวข้าพเจ้าเองไม่ใช่คนแปลกหน้าต่อพวกเขาเลย และดูเหมือนว่าข้าพเจ้าอยู่ในบ้านของตนเอง เช่นนั้น
เมื่อยามค่ำคืนย่างกรายเข้ามา เราก็ขึ้นไปยังชั้นบนซึ่งมีเตียงนอนเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วสำหรับข้าพเจ้า ไม่สามารถนอนหลับได้ง่ายดายนักเพราะอยู่ในสภาพปลื้มติยินดี ข้าพเจ้ารำพึงรำพันกับตัวเอง “เอ เรานี้อยู่ในนครแบกแดดใกล้ชิดกับเชค อัลดุลกอดีร ญีลานี จริงหรือนี่” เพื่อนของข้าพเจ้าได้ยินเข้าจึงหัวเราะและถามข้าพเจ้าว่า “ชาวตูนิเซียคิดอย่างไรกับอัลดุล กอดีร ญีลานี”
ข้าพเจ้าเริ่มบอกให้เขาทราบถึงอภินิหารที่เกี่ยวกับอัลดุล กอดีร ญีลานี ถึงสถานที่ที่ถูกตั้งขึ้น ถึงชื่อที่ตั้งตามชื่อของท่าน ข้าพเจ้าได้บอกเขาว่า “ท่านเป็นศูนย์กลางของวงกลม” อย่างเดียวกับที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ และเป็นนายของบรรดาศาสดาทั้งมวล อับดุล กอดีร เป็นนายของบรรดาวะลีย์ (ผู้มีความรู้และความเคร่งครัดสูง) ทั้งหลาย เท้าของท่านอยู่เหนือคอของบรรดาวะลีย์ทั้งหลาย และคำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวของท่านคือ “ทุก ๆ คนเดินเวียนรอบบัยตุลลอฮฺ ๗ รอบ แต่ข้าพเจ้าเดินเวียนรอบบัยตุลลอฮฺโดยพักอยู่ในที่พักของข้าพเจ้า”
ข้าพเจ้าพยายามที่จะทำให้เขาเชื่อว่า เชคอับดุล กอดีร ญีลานี ได้มาเยี่ยมพวกพ้องของท่าน และบำบัดพวกเขาเมื่อได้รับความเจ็บป่วย ท่านจะปลอบใจพวกเขาเมื่อได้รับความทุกข์ ข้าพเจ้าอาจจะลืมอิทธิพล ความคิดของพวกวะฮะบีที่มีต่อข้าพเจ้าซึ่งกล่าวว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการตั้งภาคี แต่เมื่อข้าพเจ้าสังเกตว่าเพื่อนของข้าพเจ้าไม่สนใจ ข้าพเจ้าก็ได้แต่ปลอบใจตนเองว่า ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าพูดไป นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และข้าพเจ้ายังได้ถามเขาถึงความเห็นของเขาด้วย
เพื่อนของข้าพเจ้าหัวเราะและพูดว่า “คืนนี้ขอให้เรานอนกันก่อนเถิด จงพักผ่อนร่างกายอันเหนื่อยเมื่อยล้าของคุณไว้ และพรุ่งนี้ หากอัลลอฮฺ ทรงประสงค์ เราจะได้ไปเยี่ยมหลุมฝังศพของเชคอับดุล กอดีร ญีลานีกัน”
ข้าพเจ้าดีใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับข่าวดังกล่าว และอยากให้ตอนนั้นเป็นเวลาเช้ามืดเหลือเกิน ข้าพเจ้าเหนื่อยมาก จนหลับสนิทและตื่นขึ้นมา จนกระทั่งแสงดวงอาทิตย์ส่องมาบนตัวข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าไม่ได้นมาซยามรุ่งอรุณอย่างเคย และเมื่อได้พบเพื่อนข้าพเจ้า เขาบอกว่า พยายามมาปลุกข้าพเจ้าหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จเลยปล่อยให้ข้าพเจ้านอนตามสบาย