ปัญหาเรื่องการชูรอ

มวลมุสลิมทั้งหลายไม่มีความสงสัยในการเป็นมะอฺซูม (ผู้บริสุทธิ์) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ทุกคนเชื่อว่าทุกคำพูดของท่านนั้นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงและเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) การปฏิบัติตามคำสั่งของท่านจึงไม่มีคำถามว่าทำไม ? เพื่ออะไร ? เพราะในความเป็นจริงคำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ก็คือพระบัญชาของอัลลอฮฺ (ซบ.) อัล-กุรอานหลายโองการได้ยืนยันว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นั้นมีสิทธิ์ในการปกครองมนุษยชาติ ทัศนะของท่านศาสดา มาก่อนทัศนะทั้งหลาย คำสั่งของท่านคือภารกิจ ของสังคมและศาสนา เป็นวาญิบต้องปฏิบัติตาม

อัล-กุรอานกล่าวบทบาทที่แท้จริงของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ว่า

النَّبِيُّ أَوْلَى بِالْمُؤْمِنِينَ مِنْ أَنفُسِهِمْ

“ศาสดานั้นเป็นมีความประเสริฐกกว่าบรรดาผู้ศรัทธายิ่งกว่าตัวของพวกเขาเอง” (อะฮฺซาบ / ๖)

وَمَا كَانَ لِمُؤْمِنٍ وَلَا مُؤْمِنَةٍ إِذَا قَضَى اللَّهُ وَرَسُولُهُ أَمْرًا

ไม่สมควรสำหรับผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิง เมื่ออัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ได้กำหนดกิจการใดแล้ว สำหรับพวกเขาไม่มีทางเลือกในเรื่องของพวกเขา”  (อะฮฺซาบ / ๓๖)

คำอธิบายโองการข้างต้นเป็นที่ชัดเจนที่ว่า คำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ทุกประการ แม้ว่าจะเป็นภารกิจส่วนตัวผู้ศรัทธาก็ไม่มีสิทธ์ท้วงติงแต่อย่างไร ดังเช่นจะเห็นว่าโองการได้ประทานลงมาเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานของซัยดฺกับซัยนับ ซึ่งเป็นที่รู้จักดีว่า ซัยนับเป็นบุตรีของอาของท่านศาสดา ได้แต่งงานกับซัยดฺ ซึ่งเป็นคนรับใช้ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านศาสดา  (ซ็อล ฯ) ต้องการที่จะทำลายซุนนะฮฺญิฮิลียะฮฺที่ไม่ดีประการหนึ่งคือ เศรษฐีอาหรับ หรือคนที่มีสายตระกูลดีจะไม่ยอมแต่งงานกับคนที่ไม่มีเกียรติหรือไม่ใช่เศรษฐี ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้สั่งให้ซัยนับแต่งงานกับซัยดฺ ความจองหอง อวดดีอันเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากอาหรับสมัยดึกดำบรรพ์ ได้ครอบงำซัยนับ และเป็นตัวขวางกั้นไม่ยอมให้เธอเลือกซัยดฺเป็นสามี

แต่เมื่อพิจารณาโองการอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วจะพบว่า แม้แต่เรื่องส่วนตัวคำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ก็มีบทบาทอย่างสูง ด้วยเหตุนี้ซัยนับจึงยอมจำนนต่อคำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)[1]

فَلاَ وَرَبِّكَ لاَ يُؤْمِنُونَ حَتَّىَ يُحَكِّمُوكَ فِيمَا شَجَرَ بَيْنَهُمْ ثُمَّ لاَ يَجِدُواْ فِي أَنفُسِهِمْ حَرَجًا مِّمَّا قَضَيْتَ وَيُسَلِّمُواْ تَسْلِيمًا

“มิใช่เช่นนั้นหรอก ขอสาบานต่อพระผู้อภิบาลของเจ้า พวกเขาจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าพวกเขาจะให้เจ้าตัดสินข้อพิพาทระหว่างพวกเขา และพวกเขาก็ไม่ปวดร้าวในจิตใจของพวกเขาจากสิ่งที่เจ้าได้ตัดสิน และพวกเขายอมรับด้วยดี”  (นิซาอ์ / ๖๔)

ท่านศาสดาต้องปฏิบัติตามทรรศนะส่วนมากหรือ

อหฺลิซซุนนะฮฺบางท่านพูดว่า เสียงส่วนมากคือผู้ปกครองสังคม จนถึงขั้นที่ว่าแม้แต่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ก็ต้องปฏิบัติตามเสียงส่วนมาก

ทัศนะเช่นนี้ด้วยกับโองการต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นถือว่าไม่ถูกต้องเนื่องจากขัดแย้งอย่างรุนแรงกับอัล-กุรอาน พวกเขากล่าวอ้างจากโองการที่ว่า

فَبِمَا رَحْمَةٍ مِّنَ اللّهِ لِنتَ لَهُمْ وَلَوْ كُنتَ فَظًّا غَلِيظَ الْقَلْبِ لاَنفَضُّواْ مِنْ حَوْلِكَ فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ فِي الأَمْرِ فَإِذَا عَزَمْتَ فَتَوَكَّلْ عَلَى اللّهِ إِنَّ اللّهَ يُحِبُّ الْمُتَوَكِّلِينَ

เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮฺนั่นเอง เจ้าจึงได้สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และถ้าหากเจ้าเป็นผู้หยาบคาย หัวใจแข็งกระด้าง แน่นอนพวกเขาจะแยกย้ายไปจากเจ้า ดังนั้น จงอภัยให้แก่พวกเขา และจงวอนขอการอภัยให้แก่พวกเขา และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการต่างๆ ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มอบหมายตน” (อาลิอิมรอน / ๑๕๙)

จะเห็นว่าโองการได้บอกอย่างชัดเจนว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเสียงส่วนมาก สิทธิ์ในการปกครอง และตัดสินปัญหาสังคมเป็นของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านมีหน้าที่ต้องตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียวภายหลังจากที่ปรึกษาหารือเรียบร้อยแล้ว มิใช่ทำตามทัศนะของคนอื่น อัล-กุรอานย้ำเน้นว่า “จงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการต่างๆ ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮฺ”

ดังนั้นถ้าทัศนะของคนอื่นจำเป็นต้องปฏิบัติตามอัล-กุรอานต้องกล่าวว่า “จงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการต่างๆ และเจ้าต้องปฏิบัติไปตามนั้น” แต่เมื่อพิจารณาโองการแล้วอัล-กุรอานไม่ได้กล่าวเช่นนั้น

นอกเหนือจากนี้แล้วประวัติศาสตร์ยังได้ยืนยันถึงสิ่งที่พูดได้อย่างดีซึ่งขัดแย้งกับทัศนะของอหฺลิซซุนนะฮฺ อย่างเช่น การทำสัญญาหุดัยบียะฮฺ[2] ท่านศาสดาได้ออกจากมะดีนะฮฺเพื่อไปทำหัจญ์ เมื่อใกล้จะถึงมักกะฮฺ กลุ่มผู้ปฏิเสธได้ส่งตัวแทนมาหาท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และได้บอกว่า พวกกุเรชทั้งหลายไม่ต้องการให้ท่านเข้ามักกะฮฺ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า พวกเราไม่ได้มาทำสงคราม พวกเรามาซิยารัตบัยตุลลอฮฺเพียงอย่างเดียว

หลังจากพูดคุยกันแล้ว ได้มีพวกกุเรชจำนวนมากมายขอทำสนธิสัญญาสงบศึกกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งท่านศาสดาได้ทำสัญญาบนเงื่อนไขสำคัญหลายประการ ขณะที่ฝ่ายมุสลิมส่วนมากแสดงความไม่พอใจต่อการทำสนธิสัญญาดังกล่าว และได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมุ่งหน้าเข้ามักกะฮฺเพียงอย่างเดียว[3]

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ได้กล่าวกับพวกมุสลิมว่า “ฉันเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ ต้องปฏิบัติไปตามพระประสงค์ของพระองค์ ถ้ามิเช่นนั้นแล้วพระองค์ก็จะไม่ละเว้นฉันเช่นกัน”[4]

คำถาม จุดประสงค์ของท่านศาสดาในการปรึกษาหารือกับประชาชนคืออะไร

การปรึกษาหารือของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)เป็นหนึ่งในวิธีการบริหารของท่านศาสดา เพราะด้วยวิธีการดังกล่าวนอกจากเป็นการเคารพความคิดเห็นของคนอื่นแล้วยังทำให้รู้อีกว่าประชาชนมีความคิดอย่างไร เพื่อนำไปพัฒนาอิสลามให้เจริญรุ่งเรือง และเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีแก่ผู้คนเพราะทำให้เขาคิดว่าในกิจการเหล่านั้นเขามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการดีกว่าการละเลยไม่เห็นความสำคัญของพวกเขา แต่การปรึกษาในทำนองเช่นนี้ ไม่จำเป็นที่ท่านศาสดาต้องปฏิบัติตาม ซึ่งในบางครั้งเท่านั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ปฏิบัติตามแต่นั้นหมายความว่าทัศนะของท่านก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ขณะที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ บ่งบอกว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ทำการปฏิบัติตามทัศนะของคนส่วนใหญ่

ภายหลังจากศาสดาได้มีการจัดตั้งชูรอหรือ

เป็นที่ประจักษ์ว่าทัศนะของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นั้นมาก่อนและดีกว่าทัศนะของคนอื่น หรือแม้แต่ทัศนะของคนส่วนมากก็ตาม แต่ถ้าจะพิจารณาถึงความเชื่อมั่นในตัวบุคคลท่านศาสดาได้เลือกท่านอะลีให้เป็นตัวแทนของท่าน ในวันเฆาะดีรคุมโดยได้ประกาศต่อหน้าสาธารณชนจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ คน

ดังนั้นการประชุมและปรึกษาหารือกันเพื่อเลือกตัวแทนหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)จึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง และขัดแย้งกับอัลลอฮฺ (ซบ.) และท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งถือว่าไม่มีคุณค่าอันใดทั้งสิ้น และตามความเป็นจริงภายหลังจากท่านศาสดาได้จากไป สังคมมุสลิมมีการจัดตั้งชูรอขึ้นมาหรือไม่  และถ้ามีการจัดตั้งจริง ประชาชนส่วนมากยอมรับชูรอหรือไม่

เพื่อความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะขอยกตัวอย่างของ สะกีฟะฮฺ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของมวลมุสลิมทั้งหลาย


 

[1] ตับซีรฺนูรุษษะก่อลัยนฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๘๐

[2] การทำสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้น ณ สถานที่ นามว่า หุดัยบียะฮฺ สนธิสัญญาดังกล่าวจึงถูกรู้จักในนามของหุดัยบียะฮฺ

[3] ซีเราะฮฺอิบนิฮิชาม เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๓๒๑ เป็นต้นไป

[4] ตารีคฏ็อบรีย์ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๕๔๖ พิมพ์ที่ลอนดอน