สะนัดฮะดีซเฆาะ

ฮะดีซดังกล่าวหากพิจารณาที่กระแสรายงานของรอวีจะพบว่า เป็นฮะดีซที่มีความแข็งแรงมาก ซึ่งน้อยมากที่มีฮะดีซที่มีความแข็งแรงเช่นนี้

กระแสรายงานนั้นมี ศ่อฮาบะฮฺจำนวน ๑๑๐ คน[1] ที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นผู้รายงานฮะดีซดังกล่าวจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โดยไม่ได้ผ่านสื่อใดๆ ทั้งสิ้น และยังมีตาบิอีนอีก ๘๐ คนเป็นผู้รายงาน[2]

บรรดานักวิชาการฝ่ายอหฺลิซซุนนะฮฺที่ไม่มีอคติ ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ หรือนักตับซีรฺก็ตามได้บันทึกฮะดีซเฆาะดีรพร้อมด้วยหลักฐานไว้ในหนังสือของตนเอง ซึ่งมีจำนวนถึง ๓๕๐ คน และนามเหล่านั้นได้มีบันทึกอยู่ในหนังสือ อัล-เฆาะดีรฺ

นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของโลกอิสลามจำนวน ๒๖ คนได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่อง เฆาะดีรฺ ซึ่งนามของท่านถูกบันทึกอยู่ในหนังสือ อัล-เฆาะดีรฺ พร้อมประวัติและรายละเอียดของหนังสือ

ฉะนั้นจะเห็นว่า กระแสรายงานของฮะดีซเฆาะดีรฺนั้นมีจำนวนมากมาย และไม่พบว่ามีผู้ใดปฏิเสธเรื่องนี้ว่าไม่เป็นความจริง นอกเสียจากว่ามีบางคนที่ยืนอยู่ภายใต้แสงพระอาทิตย์ที่ร้อนระอุ และรู้สึกถึงความร้อนนั้น แต่เขาก็ยังพูดว่าไม่มีแสงแดดและความร้อน

วิเคราะห์เกี่ยวกับความหมายของฮะดีซเฆาะดีร

ฮะดีซเฆาะดีรมีสัญลักษณ์ทั้งภายนอกและภายในเป็นตัวบ่งบอก ถ้าหากพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมจะพบว่าในความเป็นจริงแล้ว ท่านอะลี (อ.) นั้นคือตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)และเป็นผู้นำคนแรกภายหลังจากที่ท่านศาสดาได้สิ้นพระชนม์ สัญลักษณ์สำคัญต่างๆ เหล่านั้นมีดังนี้

๑. คำว่า เมาลา ที่กล่าวในฮะดีซเป็นคำพูดที่ชัดเจนที่สุดที่บ่งบอกถึงการเป็นผู้นำของท่านอิมามอะลี (อ.)

เมาลา ตรงนี้หมายถึงบุคคลที่มีตำแหน่ง วิลายะฮฺ อิมามะฮฺ ทัศนะ และคำสั่ง ความต้องการของเขามาก่อนความต้องการทั้งหลาย ด้วยเหตุผลที่ว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ได้กล่าว

اَيّهَا النّاسُ مَنْ اَوْلى النَّاسِ بِالمُؤْمِنِيْنَ مِنْ اَنْفُسِهِمْ

“โอ้ ประชาชนเอ๋ยใครคือผู้ที่มีความประเสริฐกว่าบรรผู้ศรัทธาทั้งหลาย”

ก่อนที่ท่านจะกล่าวว่า มันกุนตุเมาลาฮุ คำว่าประเสริฐกว่า (เอาละวียะฮฺ) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)นั้นหมายถึง ความต้องการของเขาต้องมาก่อนความต้องการของประชาชน ทุกอย่างที่เขาพูดต้องปฏิบัติ เขาเป็นหุจญัติเพื่อให้ประชาชนได้ปฏิบัติตาม ในความหมายก็คือเขามีอำนาจวิลายะฮฺเหนือประชาชนทุกคน ดังนั้นในประโยคแรกท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ต้องการกล่าวถึงความประเสริฐกว่า และอำนาจวิลายะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ในประโยคที่สอง (มันกุนตุเมาลาฮุ) ก็มีความหมายเช่นเดียวกันมิเช่นนั้นแล้วประโยคทั้งสองจะไม่สัมพันธ์กัน

ด้วยเหตุนี้ความหมายที่ถูกต้องและสมบูรณ์จากสองสามประโยคที่ท่านศาสดาได้กล่าวมีดังนี้..

“ฉันนั้น ไม่ได้ดีไปกว่าตัวของพวกท่านหรอกหรือ ทั้งหมดพูดว่า ใช่ท่านนั้นดีกว่า

ท่านศาสดา กล่าวว่า “ความประเสริฐที่ฉันมีเหนือพวกเจ้า อะลีก็มีเช่นกัน ดังนั้นหลังจากฉันอะลีคือผู้ปกครองมุอฺมินทั้งมวล และเป็นตัวแทนของฉัน”

ฉะนั้น จะสังเกตเห็นว่า คำว่า เมาลา ที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวมาไม่ได้มีจุดประสงค์เป็นอย่างอื่น นอกจากความประเสริฐ วิลายะฮฺ และอิมามะฮฺเท่านั้น แต่ถ้าจะตีความเป็นอย่างอื่นที่นอกเหนือจากนี้ถือว่าไม่มีความเหมาะสม ประกอบกับถ้าหากพิจารณาดูจากเหตุการณ์ที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ประกาศท่ามกลางทะเลทรายที่มีอากาศร้อนระอุ จะสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์ได้อย่างดี ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวของเฆาะดีร จึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ และผู้มีวิจารณญาณทั้งหลาย ก็คงจะไม่คิดว่าการที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เรียกบรรดาหุจญาต (นักแสวงบุญทั้งหลาย) ให้หยุดการเดินทางและมารวมตัวกันเพียงเพื่อต้องการจะประกาศให้ทุกคนทราบว่า ท่านนั้นรักอะลี หรืออะลีเป็นมิตรที่ดีสำหรับท่าน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับอะลีนั้นเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วในหมู่มวลมุสลิมสมัยนั้น

๒. อีกเหตุผลหนึ่ง

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวในอีกประโยคหนึ่งว่า “โอ้ อัลลอฮฺ โปรดช่วยเหลือผู้ที่ช่วยเหลืออะลี และโปรดอย่าเมตตาผู้ที่ไม่ได้เมตตาอะลี

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นั้นทราบเป็นอย่างดีว่าภายหลังจากท่านแล้ว ท่านอะลีต้องมีกำลังความสามารถและประชาชนต้องให้ความช่วยเหลือเขาเพื่ออิสลามจะได้เกิดความมั่นคง เนื่องจากรัฐอิสลามต้องการผู้ปกครองที่มีความยุติธรรม และมีความรู้เพื่อประชาชนจะได้ปฏิบัติอย่างไม่มีความลังเลใจ และเป็นความจำเป็นสำหรับประชาชนทุกคนที่ต้องปฏิบัติตามตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ด้วยเหตุนี้ ท่านศาสดาจึงขอดุอาอฺว่า ขอให้อัลลอฮฺทรงช่วยเหลือผู้ที่ช่วยเหลือเขา และโปรดอย่าช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้ช่วยเหลือเขา เพื่อเป็นการประกาศให้ทุกคนได้รับทราบว่า การเป็นปรปักษ์กับท่านอะลีนั้นคือสาเหตุที่ทำให้อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงโกรธกริ้ว และถูกท่านศาสดาสาปแช่ง

๓. ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ได้กล่าวก่อนการกล่าวเทศนาว่า

“พวกท่านจะไม่ยืนยันความเป็นเอกะของอัลลอฮฺ และการเป็นศาสดาของฉันหรือ

พวกเขาพูดว่า   พวกเราขอยืนยันถึงสิ่งนี้

ท่านกล่าวต่ออีกว่า  “ใครคือผู้ปกครองของพวกเจ้า  หลังจากนั้น ท่านกล่าวว่า ใครก็ตามที่ฉันเป็นผู้ปกครองเขา อะลีก็เป็นผู้ปกครองเขาด้วย”

เป็นที่ประจักษ์ว่า จุดประสงค์ของวิลายะฮฺอะลี (อ.) ที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวหลังจากคำยืนยันถึงความเป็นเอกะของอัลลอฮฺ และยืนยันถึงการเป็นศาสดาของท่านก็คือ อิมามะฮฺ นั่นเองเนื่องจากถ้ามีจุดประสงค์เป็นอย่างอื่น ประโยคเหล่านั้นจะไม่มีความสัมพันธ์กัน ขณะที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นั้นเป็นผู้มีวาทศิลป์เป็นเลิศที่สุดในหมู่อาหรับ

๔. หลังจากที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ประกาศการแต่งตั้งท่านอะลีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซาะฮาบะฮฺอย่างท่านอบูบักรฺและท่านอุมัรฺได้เข้ามาแสดงความยินดีกับท่านอะลี เป็นที่ชัดเจนว่าการแสดงความดีใจจะเกิดขึ้นกับเรื่องที่ถูกต้องเท่านั้น และสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าในวันนั้น ท่านอะลี (อ.) ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ถ้ามิเช่นนั้นแล้วพวกเขาจะเข้าไปกล่าวแสดงความยินดีด้วยทำไม

๕. โองการที่กล่าวว่า

يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنزِلَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ وَإِن لَّمْ تَفْعَلْ فَمَا بَلَّغْتَ رِسَالَتَهُ وَاللّهُ يَعْصِمُكَ مِنَ النَّاسِ إِنَّ اللّهَ لاَ يَهْدِي الْقَوْمَ الْكَافِرِينَ

“โอ้ เราะซูลเอ๋ย  จงประกาศสิ่งที่ถูกประทานลงมายังเจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้า และถ้าเจ้ามิได้ปฏิบัติ เท่ากับเจ้าไม่เคยประกาศสาส์นของพระองค์เลย และอัลลอฮฺจะทรงคุ้มครองเจ้าจากมนุษย์ แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงชี้นำกลุ่มชนที่ปฏิเสธ” (มาอิดะฮฺ / ๖๗)[3]

ขอนำเสนอตัวอย่างของนักตับซีรฺที่มีชื่อเสียงฝ่ายอหฺลิซซุนนะฮฺบางท่าน อาทิเช่น ท่านฮาฟิซ อบูญะอฺฟัรฺ มุฮัมมัด บิน ญะรีรฺ ฏ็อบรีย์..ท่านได้พูดว่า “หลังจากที่โองการดังกล่าวได้ถูกประทานที่เฆาะดีรคุมแล้ว  ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า ญิบรออีลได้นำคำสั่งจากพระองค์อัลลอฮฺมายังฉัน และให้ประกาศกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผิวขาวหรือผิวดำว่า อะลี บุตรของอบีฏอลิบ เป็นลูกพี่ลูกน้องของฉัน เป็นวะซีย์ของฉัน เป็นตัวแทนของฉัน และเป็นอิมามภายหลังจากฉัน[4]

๖.ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) ได้ประกาศให้วันที่ ๑๘ ซุลหิจญะฮฺ เป็นวันอีดสำหรับมวลมุสลิมทั้งหลาย เพื่อเป็นการเตือนสำทับไม่ให้บรรดามุสลิมลืมวันสำคัญดังกล่าว

อบูมันศูรฺ ษุอฺละบีย์ นักวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงได้บันทึกไว้ในหนังสือ ษะมารุลกุลูบ ว่า ค่ำคืนเฆาะดีรเป็นค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่คืนหนึ่งของอิสลาม

๗. การพิสูจน์ของท่านอิมามอะลี (อ.) และอิมามท่านอื่น ๆ ทุกครั้งที่เจอกับบรรดาพวกปฏิเสธท่านอิมาม (อ.) จะทำการพิสูจน์ถึงการเป็นอิมามของท่านภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถปฏิเสธได้

ครั้งหนึ่งท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวคุฏบะฮฺที่มัสญิดกูฟะฮฺ ขณะที่กำลังเทศนาอยู่นั้นท่านได้กล่าวว่า “ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ว่าใครก็ตามที่ได้อยู่ในวันเฆาะดีร และได้ยินกับหูของเขาว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ทำการแต่งตั้งฉันให้เป็นตัวแทน โปรดยืนขึ้น เฉพาะคนที่ได้ยินกับหูของเขาเท่านั้น ไม่ใช่คนที่ได้ยินจากปากของคนอื่น”

ท่านอหฺมัด หันบัล พูดว่าพวกเขา ๓๐ คนได้ยืนขึ้นและยืนยันว่าเขาได้ยินฮะดีซเฆาะดีรจากปากของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษคือเวลาได้ผ่านไป ๒๕ ปี ความเข็มข้นของเฆาะดีรนั้นย่อมจืดจางลงไปตามกาลเวลา ประกอบกับในวันนั้น (ที่กูฟะฮฺ) เซาะฮาบะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ม่ได้อยู่ทุกคน และก่อนหน้านั้นได้มีศ่อฮาบะฮฺตายไปเป็นจำนวนไม่น้อย และพวกที่อยู่บางคนก็มีอคติกับท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นการส่วนตัว

ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ขณะที่กล่าวเทศนาอยู่ที่มักกะฮฺท่ามกลางฝูงชนจำนวน ๗๐๐ คนเศษมีทั้งคนที่เป็นศ่อฮาบะฮฺ และเป็นตาบิอิด ตาบิอีน บางรายงานกล่าวว่า ในจำนวนนั้นมีศ่อฮาบะฮฺถึ ง ๒๐๐ คนด้วยกัน ท่านอิมามได้กล่าวกับพวกเขาว่า “ฉันขอสาบานในนามของอัลลอฮฺ แท้จริงพวกท่านได้ยินใช่ไหมว่าในวันเฆาะดีรท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ทำการแต่งตั้งให้ท่านอิมามอะลีเป็นค่อลิฟะฮฺ และเป็นตัวแทนของท่าน ? และกล่าวอีกว่า ผู้ที่อยู่ที่นี้ต้องแจ้งข่าวให้กับผู้ที่ไม่ได้อยู่ทราบด้วย

ผู้คนที่อยู่ที่นั้นได้ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า    พวกเราขอสาบาน ว่าได้เห็นเหตุการณ์เช่นนั้นจริง[5]


 

[1] อัล-เฆาะดีรฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๔-๑๖

[2] อัล-เฆาะดีรฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๖๒-๗๒ ตาบิอีนหมายถึงผู้ที่ไม่เคยเห็นท่านศาสดา แต่ได้เห็นบรรดาศ่อฮาบะฮฺหนึ่งคนหรือมากกว่านั้น

[3] อัลลามะฮฺ อามีนี ได้บันทึกผู้รู้และชื่อฝ่ายอหฺลิซซุนนะฮฺ จำนวน ๓๐ คนไว้ในหนังสือ อัล-ฆ่อดีร ซึ่งทั้งหมดยอมรับว่า โองการดังกล่าวได้ลงให้กับท่านอะลี (อ.)

[4] อัล-เฆาะดีร เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๑๔ คัดลอกมาจากหนังสือ อัลวิลายะฏ็อบรีย์

[5] อัล-เฆาะดีร เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๒/๑๕๙/๒๑๓