ตัวแทนของท่านศาสดาหรืออิมามะฮฺ

ในที่สุดชีวิตอันจำเริญของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ก็ได้ดำเนินมาถึงบั้นปลายสุดท้ายซึ่งถือเป็นสัจธรรมยิ่งสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ไม่มีสิ่งใดสามารถดำรงอยู่เป็นนิรันดร์ได้นอกจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) เท่านั้น

เป็นธรรมดาที่การดับขันธ์ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)เป็นที่ปิติยินดีของคนกลุ่มหนึ่ง พวกเขาเฝ้ารอคอยวันนี้มานานแล้ว เพราะในความคิดของพวกเขา การจากไปของท่านศาสดา คือการจบสิ้นของอิสลามและทุกสิ่งทุกอย่างนับแต่นี้ไปพวกเขาได้รับอิสรภาพในการกระทำทุกอย่างตามที่พวกเขาปรารถนา

ส่วนอีกกลุ่มได้แสดงความเสียใจอย่างเป็นที่สุด เพราะสำหรับพวกเขา ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)คือแหล่งกำเนิดของบะระกัตและความจำเริญทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านศาสดาคือศูนย์รวมของพลังจิตด้านใน การจากไปของท่านได้สร้างความหม่นหมองใจเป็นที่สุด  ที่สำคัญไปกว่านั้นพวกเขาปรารถนาการอบรมและการสั่งสอนอย่างต่อเนื่องจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)การปราศจากผู้ให้การอบรมพวกเขาจะพบกับความสมบูรณ์ได้อย่างไร

มีคำถามว่า สังคมที่ตกอยู่ในสภาพเงื่อนไขเช่นนั้นไม่ต้องการผู้นำสักคนหรือที่จะมาทำหน้าที่แทนท่านศาสดาทั้งด้านศาสนจักรและอาณาจักร และเพื่อเป็นการสานต่อความพากเพียรและอุดมการณ์ของท่านให้ประสบความสำเร็จ  ในสภาพเช่นนั้นสังคมไม่มีความจำเป็นต้องมีผู้ที่มีความรู้ที่เป็นที่ย้อนกลับของความรู้ทั้งหลาย และการเมือง ซึ่งมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ของอัลลอฮฺ (ซบ.) และสามารถชี้นำประชาชนด้วยกับวิธีการที่ถูกต้องได้

ชีอะฮฺเชื่อว่าด้วยกับความเมตตาของพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) และฮิกมะฮฺที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์เป็นคำตอบแก่เราได้เป็นอย่างดี ว่าภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ประชาชนจะไม่อยู่อย่างปราศจากผู้นำเด็ดขาด และต้องเป็นผู้นำที่มีความบริสุทธิ์ มีความรู้ มีความเข้าใจในซุนนะฮฺของท่านศาสดาอย่างดี เป็นบุคคลที่มีความพิเศษกว่าคนอื่นทั่วไปและต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองและชี้นำประชาชาติ ด้วยกับความรู้ที่ครอบคลุม ปราศจากความผิดพลาด และได้รับการอิลฮามจากท่านศาสดา

เพราะว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงคำนึงถึงสังคมในสมัยที่ท่านศาสดามีชีวิตอยู่ และไม่มีเหตุผลอันใดที่พระองค์จะถอดถอนความเมตตาและความคิดนั้นออกไปจากสังคม และเป็นไปได้อย่างไรสำหรับพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงปกป้องรักษา และให้การเจริญเติบโตแก่ร่างกายของมนุษย์ภารกิจนับจำนวนพันประเภทที่พระองค์ได้ทรงกระทำแก่ร่างกาย พระองค์ทรงละเอียดอ่อนในการสร้างคิ้วไว้เหนือดวงตาเพื่อป้องกันไม่ให้เหงื่อที่เค็มไหลซึมเข้าตาอย่างง่ายดาย พระองค์ทรงสร้างขนตาขึ้นมาเพื่อเป็นร่มป้องกันแสงและเพิ่มความสวยงามแก่ดวงตา และอื่นๆ อีกมากมายที่พระองค์ได้สร้างแก่ร่างกายของมนุษย์ และพระองค์นี่หรือที่ไม่ได้ทำการแต่งตั้งตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) พระองค์ไม่ได้ตรัสหรอกหรือว่าอิสลามคือแนวทางที่ดีที่สุด ณ พระองค์ เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้นำที่ดีไม่มีความจำเป็นสำหรับอิสลามดอกหรือ  การแต่งตั้งผู้นำที่เป็นมะอฺซูม (ผู้บริสุทธิ์) ไม่ถือว่าเป็นรากฐานแห่งความผาสุกของสังคมหรืออย่างไร

และสังคมอิสลามถ้าปราศจากการแต่งตั้งผู้นำที่มีคุณสมบัติ จากพระผู้เป็นเจ้าสามารถไปถึงความผาสุกและความจำเริญได้ไหม

ฉะนั้นถ้าผู้นำที่เป็นมะอฺซูมมีความจำเป็น และสังคมอิสลามต้องการผู้ชี้นำที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นสามารถกล่าวได้อย่างไรว่าเรื่องนี้ไม่มีอยู่ในอิสลาม ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเอง

ดังเช่นที่ ได้ยอมรับปรัชญาในการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไปแล้วสามารถตัดสินได้ทันที่ว่า พระองค์อัลลอฮฺได้ทำการแต่งตั้งตัวแทนของท่านศาสดาด้วยเช่นกัน โดยผ่านท่านศาสดา

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญของท่านว่า “โอ้ประชาชนเอ๋ย ฉันต้องการกล่าวถึงสิ่งที่นำพาพวกท่านให้เข้าใกล้สวรรค์ของอัลลอฮฺ (ความผาสุก) และสิ่งที่นำพาพวกท่านให้ออกห่างจากนรกของพระองค์ (หลงทาง)[i]  ด้วยคำพูดและสถานการณ์ดังกล่าว พูดได้อย่างไรว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่ได้ทำการแต่งตั้งตัวแทนโดยตรงของท่านเอาไว้

อัล-กุรอานอย่างเดียวไม่เพียงพอหรือ

อัล-กุรอานกะรีม อะซีซ มะญีด คือมูลฐานสำคัญของแนวความคิดทั้งหลายในอิสลาม เนื่องจากว่า อัล-กุรอานคือ แหล่งศูนย์รวมวิชาการทั้งหลาย ตลอดจนขบวนการแห่งความรู้และการพัฒนาได้วางอยู่บนพื้นฐานของอัล-กุรอาน อัล-กุรอานจึงเปรียบเสมือนตาน้ำที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ พืชพันธ์ และสัตว์ทั้งหลาย

ความหน้าเชื่อถือของศาสนาขึ้นอยู่กับอัล-กุรอาน หรืออาจกล่าวได้ว่าหลักคำสอนทั้งหมดของศาสนานั้นได้ย้อนกลับไปหาอัล- กุรอาน ถึงแม้ว่าอัล-กุรอานจะมีความรู้ครอบคลุมอยู่เหนือทุกสิ่ง แต่ด้วยกับเหตุผลที่จะกล่าวต่อไปนี้จะเห็นว่า สำหรับการเป็นผู้นำ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมอิสลาม และความต้องการทั้งหลายของมวลมุสลิม อัล-กุรอานเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอด้วยเหตุผลที่ว่า

๑. อัล-กุรอานได้บรรจุความรู้ และศาสตร์ต่างๆ ที่มีความสูงส่ง เนื้อหาสาระของอัล-กุรอานนั้นลุ่มลึก ซึ่งต้องอาศัยการอธิบาย (ตับซีรฺ) เนื่องจากว่าแต่ละโองการไม่ได้มีความหมายที่ชัดเจนเหมือนกับอีกโองการหนึ่ง นั่นหมายความว่าถ้าไม่เข้าใจ หรือไม่รู้จักอัล-กุรอานตั้งแต่แรกอาจทำให้หลงทางและไปไม่ถึงเป้าหมายที่แท้จริงของอัล-กุรอาน

ดังนั้น ต้องเป็นท่านศาสดา หรือบุคคลที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่มีพลังจิตและพลังศรัทธาที่สูงส่งทำหน้าที่อธิบายอัล-กุรอาน เพื่อสิ่งที่เป็นจุดประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺจะได้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างถูกต้อง มิเช่นนั้นแล้วถ้าบุคคลทั่วไปได้เป็นผู้อธิบาย อัล-กุรอานอาจทำให้เราห่างไกลจากเป้าหมายที่แท้จริง ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า “ผู้ใดอธิบายอัล-กุรอานตามทัศนะของตนเอง แม้ว่ามันจะถูกต้องก็ตาม สถานที่พำนักของเขาคือไฟนรก”[ii]

ดังที่ได้ปรากฏแล้วบนหน้าประวัติศาสตร์ ครั้งหนึ่งในที่ประชุมของ มุอฺตะซิม (หนึ่งในผู้ปกครองจากสายอับบาซีย์) ได้นำตัวขโมยเข้ามา เพื่อจะตัดสินลงโทษไปตามกฎเกณฑ์ที่อัล-กุรอานได้กำหนดไว้

อัล-กุรอานได้กล่าวถึงบทลงโทษดังกล่าวว่า “จงตัดมือของขโมย” แต่มุอฺตะซิมไม่รู้ว่าจะตัดส่วนไหนของมือ จึงได้ถามอุละมาอ์ ฝ่ายอหฺลิซซุนนะฮฺว่าควรตัดมือของเขาแค่ไหน 

บางคนตอบว่าให้ตัดตั้งแต่ข้อมือ,

อีกบางคนตอบว่า ให้ตัดตั้งแต่ข้อศอก

มุอฺตะซิมตัดสินใจไม่ได้ว่าจะตัดแค่ไหนดี เขาจึงเชิญท่านอิมามญะวาด (อ.) อิมามท่านที่ ๙ ของชีอะฮฺเข้าไป และถามว่าควรจะตัดมือขโมยแค่ไหน 

ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่าให้ตัดแค่สี่นิ้วมือเท่านั้น

 เขาถามว่ามีเหตุผลอะไร ถึงตัดแค่นั้น

อิมาม (อ.) ตอบว่า เพราะอัลลอฮฺ ทรงตรัสไว้ในอัล-กุรอานว่า (อินนะมะซาญิดะฮฺ ลิลลาฮิ)  “สถานที่ๆ ลงสัจดะฮฺเป็นของอัลลอฮฺ” (ญิน /๑๘) หมายถึงในตัวมนุษย์มีอยู่ ๗ แห่งได้แก่ ฝ่ามือทั้งสอง หน้าผาก หัวเข่าทั้งสอง และหัวแม่โป้งเท้าทั้งสอง ฝ่ามือนั้นต้องใช้วางแนบกับพื้นเวลาลงสัจดะฮฺ  ซึ่งถือว่าเป็นของพระองค์ดังนั้นต้องไม่ตัดทิ้ง ทั้งหมดในที่ประชุมต่างยอมรับข้อพิสูจน์ของท่านอิมาม (อ.)[iii]

การตับซีรฺเช่นนี้ เป็นการตับซีรฺอัล-กุรอานด้วยกับอัล-กุรอาน เป็นหน้าที่ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)และอิมามเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของทุกคน หรือไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำหน้าที่นี้ได้ และถึงแม้ว่าทำได้ก็ไม่สมบูรณ์นอกเสียจากว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรดาอิมาม หรือนำเอาแบบอย่างและวิธีการของอิมามมาใช้

๒. สิ่งที่กล่าวผ่านมาเป็นเพียงเปลือกนอก และอหฺกามของอัล-กุรอานเท่านั้น ยังมีสิ่งที่เป็นความด้านในของอัล-กุรอาน อันมีเป้าหมายที่ลึกซึ้ง และกว้างกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง หลักความศรัทธา จริยธรรม และความรู้อื่นๆ

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)กล่าวว่า “ภายนอกของอัล-กุรอานนั้นสวยงาม แต่ภายในนั้นลุ่มลึก”[iv] ท่านได้กล่าวอีกว่า “อัล-กุรอานมีความหมายด้านใน และด้านในนั้นยังมีความหมายด้านในอีก ๗ ชั้น”[v]

โดยปกติแล้วนักอธิบายอัล-กุรอานจะพูดว่า อัล-กุรอานทั้งหมดนั้นจะมี ตะอฺวีล และบาติน  (ความด้านใน) ซึ่งการเข้าใจความหมายดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดจากการคิดและการค้นคว้าเพียงอย่างเดียว หรือด้วยกับการตีความหมายของคำ ก็ไม่อาจเป็นไปได้เพราะมีบางกลุ่มของประชาชนไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

 ดังนั้นเฉพาะหมู่มวลมิตรของอัลลอฮฺ และผู้ที่มีความบริสุทธิ์เท่านั้น จึงจะสามารถเข้าใจความหมายนั้นได้ และถ้าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประชาชนโดยใช้ประโยชน์จากทัศนะส่วนตัว หรือด้วยกับการเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้ถูกรับรองจากพระผู้เป็นเจ้าว่าเขาจะปราศจากความผิดพลาด แน่นอนสิ่งที่ประชาชนได้รับก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความผิดพลาดไปได้

หมู่มวลมิตรที่บริสุทธิ์จากความผิดพลาดนั้น ได้แก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)และอะฮฺลุบัยตฺ (อ.) ของท่านเท่านั้น ซึ่งอัล-กุรอานได้กล่าวถึงพวกเขาว่า

إِنَّمَا يُرِيدُ اللَّهُ لِيُذْهِبَ عَنكُمُ الرِّجْسَ أَهْلَ الْبَيْتِ وَيُطَهِّرَكُمْ تَطْهِيرًا

“อันที่จริงอัลลอฮฺพึงประสงค์ที่จะขจัดมลทินให้ออกไปจากพวกเจ้า โอ้อะฮฺลุบัยตฺ และทรงประสงค์ที่จะขัดเกลาพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์” (อะอฺซาบ / ๓๓)

ฮะดีซได้กล่าวว่า

انّما يَعْرِفُ الْقُرْآنَ مَنْ خُوْطِبَ بِهِ   

“ผู้ที่เข้าใจอัล-กุรอานคือผู้ที่อัล-กุรอานได้กล่าวถึงเขา”[vi]

หากพิจารณาจะพบว่า เฉพาะท่านศาสดา กับ อะฮฺลุลบัยตฺเท่านั้นที่เป็นคู่สนทนาที่แท้จริงของอัล-กุรอาน และสามารถเข้าใจแก่นแท้และความจริงทั้งหมดของอัล-กุรอานได้ (๑.) หมายถึง ญิบรออีลคือผู้นำวะฮีย์ลงมาให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ยังบ้านของท่าน และอะฮฺลุบัยตฺในฐานะลูกหลานชั้นใกล้ชิดของท่านย่อมเป็นผู้เข้าใจอัล-กุรอานได้ดีกว่าคนอื่น”

ด้วยกับความสัมพันธ์ที่อะฮฺลุบัยตฺ (อ.) มีกับอัล-กุรอานนั้นเอง ในบั้นปลายชีวิตอันจำเริญของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)ท่านจึงได้กล่าวกับประชาชนว่า .....

انَى تارك فيكم الثقلين : كتاب الله عزَوجل و عترتى

   “ฉันขอฝากสิ่งหนักสองสิ่งไว้ในหมู่ของพวกท่าน ได้แก่คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และทายาทของฉัน ถ้าผู้ใดยึดมั่นกับทั้งสองเขาจะไม่หลงทางอย่างเด็ดขาด”[vii]

๓. อัล-กุรอานต้องการผู้นำไปสั่งสอนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากอัล-กุรอานเป็นธรรมนูญสูงสุดในการปกครอง และการดำเนินชีวิต ดังเช่นที่ผู้บริหารต้องการอำนาจในการบริหาร ฉะนั้นอัล-กุรอานก็เช่นกันต้องการผู้ปกครองที่มีความรู้ความสามารถเหมือนกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ปราศจากความผิดพลาดและเข้าใจอัล-กุรอานอย่างดีเป็นผู้อธิบาย

คุณสมบัติเหล่านี้ไม่อาจพบในตัวบุคคลอื่นได้นอกจากบรรดาอิมามผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย (อ.) สักขีพยานที่ชัดเจนที่สุดคือช่วงการปกครองเพียงไม่กี่ปีของท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งประสบกับปัญหาและอุปสรรคนานาประการ และในช่วงเวลาที่น้อยนิดนั้นท่านต้องเผชิญกับสงครามใหญ่ๆ ถึงสามครั้งด้วยกัน แต่ท่านอิมามอะลี (อ.) สามารถนำเอาอัล-กุรอานขึ้นปกครองได้อย่างสมบูรณ์



[i] อุศูลกาฟีย์ พิมพ์ที่อาคูนดีย์ เล่มที่ ๒ หน้าที่    ๗๔

[ii] ตับซีรฺซอฟีย์ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๑

[iii] ตับซีรฺนูรฺษะก่อลัยนฺ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๔๓๙

[iv] อัล-กาฟีย์ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๙๙

[v] ตับซีรฺซอฟีย์ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๙

[vi] บทนำ ของตับซีรฺ มัรฺอะตุนอันวารฺ หน้าที่ ๑๖

[vii] มุสนัด อิบนิหันบัล เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๗ พิมพ์เบรูต , อัลฆ่อดีรฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๙-๕๕ , ฆอยะตุลมะรอม หน้าที่ ๒๑๒