') //-->
หลังจากที่ได้ประกาศจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้าและเข้าไปถึงยังตำแหน่งของการเป็นบ่าวที่แท้จริงแล้ว สิ่งแรกที่บ่าวได้ทูลขอต่อพระผู้เป็นเจ้าคือ โปรดชี้นำพวกเราสู่ทางเที่ยงตรง ความสะอาด ความยุติธรรม แนวทางของความศรัทธา และการประพฤติคุณงามความดี เพื่อให้พระองค์ผู้ทรงประทานความโปรดปรานต่าง ๆ แก่เราได้โปรดประทานการชี้นำแก่พวกเราด้วย
แม้ว่ามวลผู้ศรัทธาจะมีความมักคุ้นกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างดี อาจเป็นไปได้ที่ว่าความโปรดปรานดังกล่าวจะถูกปฏิเสธไปจากเขาเนื่องจากมีตัวการบางอย่างนำพาให้เฉไฉออกไปจากหนทางที่เที่ยงตรง และหลงทางในที่สุด ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ว่าตลอดทั้งวันต้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์ เพื่อให้รอดพ้นจากการหลงทาง
แนวทางที่เที่ยงตรง (ซิรอฏ็อลมุซตะกีม) ก็คือศาสนาที่เที่ยงธรรมนั่นเอง ซึ่งมีระดับชั้นและฐานันดรแตกต่างกัน ประชาชาติทุกคนที่มุ่งมั่นสู่แนวทางที่เที่ยงธรรมนี้ไม่เท่าเทียมกัน และการที่จะไปถึงยังระดับชั้นที่สูงส่งนั้นจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์
คำถาม ทำไมต้องขอให้พระองค์ชี้นำพวกเราสู่หนทางที่เที่ยงธรรมด้วย พวกเราอยู่บนความหลงทางกระนั้นหรือ
คำตอบ ผู้ศรัทธาทุกคนที่อยู่บนหนทางแห่งการชี้นำมิได้หมายความว่าชีวิตจะรอดปลอดภัยแล้ว ทว่าทุกเสี้ยวนาทีมีอันตรายแอบแฝงอยู่และสามารถชักจูงให้หลงทางได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมอบตนเองให้อยู่ในความดูแลของพระองค์ และต้องวอนขอต่อพระองค์ตลอดเวลาว่าให้ชีวิตของเราวางอยู่บนหนทางที่เที่ยงธรรมด้วยความมั่นคงเสมอไป แม้ว่าภายนอกของมนุษย์มองดูว่าไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง แต่ในความเป็นจริงทุกเสี้ยวนาทีมนุษย์ได้รับสิ่งใหม่จากพระผู้ทรงสร้างตลอดเวลา ซึ่งสิ่งนั้นก็ต้องการการชี้นำใหม่ ๆ เช่นกัน แน่นอนถ้าหากมีอุปสรรคขว้างกั้นอยู่บนสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระผู้เป็นเจ้า ชีวิตของมนุษย์ก็ต้องพบกับความมืดมิด และเปรอะเปื้อนความสกปรกแน่นอน ในที่สุดสิ่งนั้นกลายเป็นตัวการตัดมนุษย์ออกจากการชี้นำของพระองค์ และนับจากวินาทีนั้นเองชีวิตได้เบี่ยงเบนสู่ความหลงทาง ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องวอนขอต่อพระองค์เสมอว่าอย่าให้อุปสรรคดังกล่าวเกิดกับเรา และให้เรามั่นคงอยู่บนหนทางที่เที่ยงตรงตลอดไป
อีกประการหนึ่ง การชี้นำก็คือการดำเนินไปสู่ความสมบูรณ์ ซึ่งโดยปกติมนุษย์จะผ่านขั้นตอนที่บกพร่องและไม่สมบูรณ์มาที่ละน้อยไปสู่ขั้นตอนที่สมบูรณ์มากกว่า แนวทางที่สมบูรณ์ไม่มีขอบเขตจำกัดประหนึ่งมนุษย์เดินทางไปสู่ความไม่สิ้นสุด มนุษย์ยิ่งเดินไปไกลเท่าใดก็ยิ่งมีความสมบูรณ์มากเท่านั้น
การวอนขอให้ดำเนินอยู่บนหนทางที่เที่ยงธรรมเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน แม้แต่บรรดาศาสดา และบรรดาอิมาม (อ.) ก็ได้วอนขอสิ่งนี้กับอัลลอฮฺ (ซบ.) แน่นอนว่าความสัมบูรณ์ที่สุดคือ อัลลอฮฺ (ซบ.) และไม่เป็นที่คลางแคลงว่าบรรดาท่านเหล่านั้นดำเนินอยู่บนความสมบูรณ์ และเชื่อโดยหลักการว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากบาป แต่ทำไมท่านต้องวอนขอตำแหน่งที่สูงส่งกว่าจากอัลลอฮฺด้วย
บรรดาผู้ศรัทธาไม่ได้กล่าวประสาทพร (เซาะละวาต) ให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ดอกหรือ และความหมายของเซาะละวาตคือ การวอนขอความเมตตาใหม่ ๆ จากพระผู้อภิบาลพึงมีแด่ท่านและลูกหลานมิใช่หรือ
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มิได้กล่าวหรือว่า โอ้พระผู้อภิบาลของฉันโปรดเพิ่มพูนความรู้ (การชีนำ) แก่ฉัน อัล-กุรอานมิได้กล่าววา อัลลอฮฺจะทรงเพิ่มพูนการชี้นำให้แก่ผู้ที่อยู่ในแนวทางนั้น และการงานที่ดีที่ยั่งยืนนั้นดียิ่ง ณ พระผู้อภิบาลของเจ้า ในการตอบแทนรางวัล และดียิ่งในการกลับ (ไปสู่พระองค์) [1]
อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง พระองค์ทรงเพิ่มแนวทางที่ถูกต้องให้แก่พวกเขา และจะทรงประทานความยำเกรงให้แก่พวกเขา [2]
คำตอบ การเซาะละวาตให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) ในความเป็นจริงก็คือ การวอนขอตำแหน่งที่สูงส่งกว่าให้กับท่านเหล่านั้น
อิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวถึงโองการที่กล่าวว่า โปรดชี้นำพวกเราสู่ทางที่เที่ยงตรง ว่าโอ้อัลลอฮฺ เตาฟีกที่พระองค์ได้ประทานให้แก่พวกเราในอดีต และด้วยความจำเริญของเตาฟีกนั้นพวกเราได้เชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานเตาฟีกแก่เราต่อไป เพื่อว่าในวันข้างหน้าชีวิตของเราจะได้เชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์
อิมามซอดิก (อ.) กล่าวถึงประโยคที่ว่า โปรดชี้นำพวกเราสู่ทางที่เที่ยงตรง ว่าโอ้อัลลอฮฺโปรดนำทางเราสู่หนทางที่ไปสู่แนวทางแห่งความรักและสรวงสวรรค์ของพระองค์ โปรดนำเราออกห่างจากการภักดีกับอำนาจฝ่ายต่ำ ทัศนะที่หลงผิด และผู้คนที่นำไปสู่ความหายนะ
แนวทางที่เที่ยงตรงหมายถึง แนวทางแห่งการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ศาสนาแห่งความเที่ยงธรรม และการยึดมั่นต่อพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ดังอัล-กุรอาน กล่าวว่า จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า แท้จริงฉันได้รับการชี้นำจากพระผู้อภิบาลของฉันสู่ทางอันเที่ยงตรงคือ ศาสนาที่มั่นคงอันเป็นแนวทางของอิบรอฮีมผู้ใฝ่หาความเที่ยงธรรม [3]
ศาสนาที่มั่นคงอันเป็นแนวทางของอิบรออีม (อ.) ได้วางอยู่บนความเป็นเอกภาพของพระผู้อภิบาลของอิบรอฮีม เป็นการปฏิเสธการตั้งภาคีและการมีหุ้นส่วนในทุกรูปแบบ ซึ่งถูกแนะนำในฐานะของแนวทางที่เที่ยงธรรม อันเป็นหลักการของความศรัทธา
อัล-กุรอานกล่าวว่า ข้ามิได้บัญชาพวกเจ้าดอกหรือ โอ้ลูกหลานของอาดัม ว่าพวกเจ้าอย่าได้เคารพบูชาชัยฏอนมารร้าย แท้จริงมันเป็นศัตรูตัวฉกาจของพวกเจ้า และพวกเจ้าจงเคารพภักดีต่อข้า นี่คือแนวทางอันเที่ยงตรง[4] โองการดังกล่าวพยายามอธิบายให้เห็นหลักการปฏิบัติตามหลักการของศาสนาที่เที่ยงธรรม โดยปฏิเสธทุกภารกิจการงานของชัยฏอนมารร้ายและการกระทำที่นำไปสู่การหลงทางในทุกรูปแบบ
อัล-กุรอาน แนะนำแนวทางที่นำไปสู่แนวทางที่เที่ยงธรรมและการสร้างความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าว่า และผู้ใดยืดมั่นต่ออัลลอฮฺ แน่นอนเขาก็จะได้รับคำแนะนำไปสู่ทางอันเที่ยงตรง[5]
แน่นอนว่าแนวทางที่เที่ยงตรงไม่ได้มีมากกว่าหนึ่งแนวทาง เนื่องจากระหว่างจุดสองจุดมีเส้นตรงเพียงเส้นเดียวที่สามารถสร้างความใกล้ชิดได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้เมื่ออัล-กุรอานกล่าวถึงแนวทางที่เที่ยงตรงจึงหมายถึงศาสนาและแนวทางของพระผู้เป็นเจ้าอันครอบคลุมทั้งหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ เป็นแนวทางที่ใกล้ที่สุดสำหรับการสร้างความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า ประกอบกับศาสนาที่แท้จริงมิได้มีมากกว่าหนึ่ง อัล- กุรอาน กล่าวว่า แท้จริงศาสนา ณ อัลลอฮฺคือ อัล อิสลาม[6]
บรรดานักอธิบายอัล-กุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในความเป็นจริงทั้งหมดได้ย้อนกลับไปหาสิ่ง ๆ หนึ่ง
บางท่านกล่าวว่า แนวทางที่เที่ยงตรงหมายถึง อิสลาม
บางท่านกล่าวว่า แนวทางที่เที่ยงตรงหมายถึง ท่านศาสดาและบรรดาอิมาม (อ.)
บางท่านกล่าวว่า แนวทางที่เที่ยงตรงหมายถึง แนวทางของอัลลอฮฺ ซึ่งมิได้มีมากกว่าหนึ่ง
นักอธิบายอัล-กุรอานทั้งหลาย พยายามอธิบายว่าความหมายทั้งหมดที่กล่าวมาได้ย้อนกลับไปหาศาสนาและแนวทางของอัลลฮฺ (ซบ.) ทั้งหลักความศรัทธาและหลักการปฏิบัติ
รายงานจำนวนมากมายได้กล่าวถึงสิ่งนี้ไว้ ซึ่งทั้งหมดย้อนกลับไปหาแก่นอันเดียวกัน เช่น
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ซิรอฏ็อลมุซตะกีม หมายถึงแนวทางของบรรดาศาสดาทั้งหลาย ซึ่งท่านเหล่านั้นเองที่ได้รับและมีส่วนร่วมในความโปรดปรานของพระองค์
อิมามซอดิก (อ.) ได้อธิบายโองการ อิฮฺดินัซซิรอฏ็อลมุซตะกีม ว่าหมายถึงแนวทางในการรู้จักบรรดาอิมาม (อ.)
ฮะดีซบางบทอิมาม (อ.) กล่าวว่า ขอสาบานด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺว่า พวกเราคือแนวทางที่เที่ยงตรง
บางฮะดีซกล่าวว่า แนวทางที่เที่ยงตรงหมายถึงอะลีอะมีริลมุอฺมินีน (อ.)
เป็นที่แน่นอนว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อิมามอะลี (อ.) และบรรดาอิมามทั้งหมดได้เชิญชวนประชาชนไปสู่แนวทางแห่งการเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว อันเป็นการเชิญชวนที่ครอบคลุมทั้งหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ และเนื่องจากการสั่งสอนของบรรดาอิมาม (อ.) นั่นเองมวลมุสลิมทั้งหลายจึงสามารถดำเนินชีวิตไปสู่แนวทางที่เที่ยงตรงได้
อัล-กุรอาน กล่าวว่า ผู้ใดที่เชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะซูล ดังนั้นชนเหล่านี้จะได้อยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงโปรดปรานแก่พวกเขา ได้แก่บรรดาศาสดาทั้งหลาย บรรดาผู้สัจจริง บรรดาชะฮีด(ผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม) และบรรดากัลยาณชน และชนเหล่านี้เป็นเพื่อนที่ดี[7] จากโองการเข้าใจได้ว่าผู้ที่ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ (ซบ.) มี 4 กลุ่มด้วยกันได้แก่
1.บรรดาศาสดา ผู้สัจจริง ชุฮะดา และเหล่ากัลยาณชน ซึ่งสิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าการสร้างสังคมที่มีความสมบูรณ์มั่นคงอันดับแรกบรรดาศาสดา และผู้นำที่สัจจริงต้องดำเนินการก่อน
2.สำหรับผู้ที่เจริญรอยตามแนวทางของท่านเหล่านั้น ด้วยการร่วมมือของพวกเขาทำให้เป้าหมายของบรรดาศาสดาแผ่ขยายกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว
3.เพื่อส่งเสริมยุคสมัยแห่งการสร้างแนวความคิดและอุดมการณ์ และเพื่อขจัดอุปสรรคปัญหาให้หมดไปจากแนวทาง จำเป็นต้องมีชนกลุ่มหนึ่งยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูและสัญญาชะฮีด เพื่อนำเลือดบริสุทธิ์ของพวกเขาราดลดต้นไม้แห่งเตาฮีด (ความเป็นเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า) ให้เจริญงอกงาม
4.ผลิตผลที่ไร้รับจากความเพียรพยายามคือ บ่าวผู้บริสุทธิ์ สังคมที่สะอาดปราศจากความเลวร้าย
ด้วยเหตุนี้ บทฟาติฮะฮฺเราจึงวอนขอต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) เสมอว่าให้เราได้อยู่ร่วมกับชน 4 กลุ่มได้แก่บรรดาศาสดา บรรดาผู้มีความสัจจริง ชุฮะดา และบรรดากัลยาณชน ในทุกยุคทุกสมัยขอให้เราได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางของบุคคลทั้งสี่
ความแตกต่างระหว่างคน 2 กลุ่มคืออะไร นักอธิบายอัล-กุรอานได้แบ่งความคิดออกเป็น 3 ทัศนะดังนี้
1.วิธีการใข้สำนวนของอัล-กุรอานเข้าใจได้ว่า บรรดาผู้ที่ถูกโกรธกริ้วนั้นยากลำบาก และเลวกว่าพวกที่หลงทาง พวกฎ็อลลีน นั้นเป็นพวกที่หลงทางธรรมดา ส่วนพวกที่ได้รับความกริ้วเป็นพวกหลงทางที่ลองดีแสดงความกักขฬะ หรือเป็นพวกกลับกลอก (มุนาฟิกีน) ด้วยเหตุนี้เอง อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงกริ้วและสาปแช่งพวกเขา อัล-กุรอาน ได้กล่าวสำทับเรื่องนี้ว่า ผู้ใดปฏิเสธอัลลอฮฺหลังจากที่เขาได้ศรัทธาต่อพระองค์แล้ว เว้นแต่ผู้ที่ถูกบังคับทั้งที่หัวใจของเขาเปี่ยมไปด้วยศรัทธา แต่ผู้ใดเปิดหัวอกของเขาด้วยการปฏิเสธ พวกเขาก็จะได้รับความกริ้วจากอัลลอฮฺ และสำหรับพวกเขาจะได้รับการลงโทษอย่างมหันต์[8]
อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า และพระองค์จะทรงลงโทษพวกมุนาฟิกีนทั้งชายและหญิง และบรรดาผู้ตั้งภาคีทั้งชายและหญิง โดยพวกเขาคิดร้ายต่ออัลลอฮฺ และความคิดร้ายเหล่านั้นจงประสพแก่พวกเขาเถิด อัลลอฮฺทรงกริ้วพวกเขาและทรงสาปแช่งพวกเขา อีกทั้งทรงเตรียมนรกไว้สำหรับพวกเขา [9]
อย่างไรก็ตามบรรดาผู้ที่ได้รับความโกรธกริ้วคือ กลุ่มชนที่นอกจากจะเป็นผู้ปฏิเสธ อวดดี อคติ และเป็นปรปักษ์กับสัจธรรมแล้วยังกลั่นแกล้งบรรดาศาสดาอีกต่างหาก อัล-กุรอาน กล่าวว่า ความต่ำช้าได้ถูกฟาดลงบนพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเขาถูกพบ นอกจากด้วยสายเชือกจากอัลลอฮฺ และสายเชือกจากมนุษย์ และพวกเขานำความกริ้วโกรธจากอัลลอฮฺกลับไป และความขัดสนก็จะถูกฟาดลงบนพวกเขา นั่นก็เพราะว่าพวกเขาเคยปฏิเสธบรรดาโองการของอัลลฮฺ และสังหารบรรดาศาสดาโดยปราศจากความเป็นธรรม นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขาดื้อดึง และเคยทำการละเมิด[10]
2.นักอธิบายอัล-กุรอานอีกกลุ่มเชื่อว่าจุดประสงค์ของ ฎ็อลลีน นั้นหมายถึงบรรดาพวกที่หลงผิด ซึ่งได้แก่พวกนัซรอนียฺ ส่วนกลุ่มชนที่ได้รับความกริ้วได้แก่พวกยะฮูดีย์ เนื่องจากพวกเขาทั้งสองกลุ่มเป็นปรปักษ์ต่อการเผยแผ่อิสลาม อัล-กุรอานหลายโองการกล่าวว่า พวกยะฮูดีย์แสดงตนเป็นศัตรูที่เจาะจงพิเศษกับอิสลาม ดังนั้น การที่กล่าวว่าพวกเขาได้รับความกริ้วจากอัลลอฮฺ (ซบ.) จึงเหมาะสมที่สุดซึ่งเป็นการตีความในลักษณะของการนำเอาจำนวนมาบ่งบอกความเป็นส่วน มิใช่เป็นการตีความในลักษณะเฉพาะเจาะจงว่าความโกรธกริ้วมีเฉพาะพวกยะฮูดีย์เท่านั้น
ส่วนพวกนัซรอนียฺได้แสดงตนเป็นปรปักษ์กับอิสลามเช่นกัน แต่ไม่ถึงขั้นของพวกยะฮูดีย์ พวกนัซรอนียฺประสพปัญหากับการรู้จักสัจธรรมพวกเขาจึงหลงทางออกไป อัล-กุรอานจึงเรียกพวกเขาว่าเป็นพวกหลงทาง (ฎ็อลลีล) ซึ่งเป็นการตีความในลักษณะของการนำเอาจำนวนมาบ่งบอกความเป็นส่วนเช่นกัน
ฮะดีซมากมายได้อธิบายไว้เช่นกันว่าบรรดาพวกที่ได้รับความโกรกริ้วคือพวกยะฮูดีย์ ส่วนบรรดาพวกที่หลงทางคือ พวกนัซรอนียฺ
3.บางที่อาจเป็นไปได้ว่าบรรดาพวกที่หลงทางนั้นไม่มีเจตนาทำให้ผู้อื่นหลงทาง ขณะที่บรรดาพวกที่ได้รับความโกรธกริ้วนอกจากตนเองจะหลงทางแล้ว ยังทำให้คนอื่นหลงทางตามไปอีกต่างหาก และเพียรพยายามทุกอย่างเพื่อให้คนอื่นเหมือนกับตน เหตุผลสำหรับคำกล่าวอ้างคือ อัล-กุรอานโองการได้กล่าวถึง บุคคลที่เป็นอุปสรรคต่อการฮิดายะฮฺไปสู่แนวทางที่เที่ยงตรงของคนอื่นโดยกล่าวว่าเป็นอุปสรรคต่อแนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) อัล-กุรอาน กล่าวว่า
وَالَّذِينَ يُحَاجُّونَ فِي اللَّهِ مِن بَعْدِ مَا اسْتُجِيبَ لَهُ حُجَّتُهُمْ دَاحِضَةٌ عِندَ رَبِّهِمْ وَعَلَيْهِمْ غَضَبٌ وَلَهُمْ عَذَابٌ شَدِيدٌ
ส่วนบรรดาผู้ (ทะลึ่งและอวดดี) ได้โต้แย้งเกี่ยวกับ อัลลอฮฺหลังจากได้ยอมรับ (มีอีมาน) พระองค์ เหตุผลของพวกเขาโมฆะและไม่มีรากฐานในทัศนะของพระผู้อภิบาลของพวกเขา พวกเขาจะได้รับความกริ้วโกรธ และจะได้รับการลงโทษอย่างสาหัส[11]
คำว่า ฮิดายะฮฺ ในอัล-กุรอานมี 2 ความหมายดังนี้
- ฮิดายะฮฺตักวีนีย์ หมายถึงการชี้นำมวลสรรพสิ่งที่มีทั้งหลายโดยพระผู้อภิบาล เนื่องพระองค์คือผู้ทรงสร้างทุกสรรรพสิ่งและทรงเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ครอบคลุมจักวาล อัล-กุรอานกล่าวว่า พระผู้อภิบาลของเราคือ ผู้ทรงประทานทุกอย่างแก่สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างแล้วพระองค์ก็ทรงชี้นำ [12]
- ฮิดายะฮฺตัชรีอีย์ การชี้นำโดยผ่านบรรดาศาสดาและคัมภีร์ต่าง ๆ ของพระองค์ซึ่งมวลมนุษย์ได้เจริญเติบโตไปพบกับความสมบูรณ์ได้ด้วยการอบรมสั่งสอนของบรรดาศาสดาเหล่านั้น อัล-กุรอานกล่าวว่า และเราได้แต่งตั้งพวกเขาให้เป็นอิมามชี้นำไปตามคำสั่งของเรา
5.ทำไมการชี้นำของอัล-กุรอานพิเศษเฉพาะผู้ยำเกรง
เป็นที่แน่ชัดว่าอัล-กุรอานถูกประทางลงมาเพื่อชี้นำประชาโลก แต่ทำไมโองการข้างต้นจึงกล่าวว่า อัล-กุรอานเป็นทางนำสำหรับผู้ยำเกรงเท่านั้น
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากว่าถ้าหากบุคคลใดไม่มีความยำเกรงในระดับหนึ่ง (ยอมรับในพระผู้เป็นเจ้าและสิ่งที่เข้ากับสติปัญญาและธรรมชาติของมนุษย์) แล้วละก็เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะได้รับประโยชน์จากการคัมภีร์แห่งฟากฟ้าและเชิญชวนของบรรดาศาสดา
โดยทั่วไปบุคคลที่ไม่มีอีมาน (ศรัทธา) นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท กล่าวคือ บางคนเป็นผู้ไม่มีศรัทธาแต่พยายามศึกษาหาความจริงเรียกว่าเป็นผู้มีความยำเกรงอยู่บ้างเล็กน้อย ดังนั้น เมื่อพบความจริงเมื่อใดเขาสามารถยอมรับได้
บางคนนอกจากจะไม่มีศรัทธาแล้วยังเป็นคนอคติเอาแต่ใจตนเองถืออารมณ์ตนใหญ่ คนจำพวกนี้นอกจากจะไม่ศึกษาหาความจริงแล้ว ที่ใดก็ตามมีการพูดถึงความจริงเขาจะพยายามขัดขวางและทำลายให้สิ้นซาก ดังนั้น บนพื้นแผ่นดินถ้าหากยังมีมนุษย์เช่นนี้อยู่ แน่นอนการยอมรับความจริงและการชี้นำก็จะไม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้อัล-กุรอานจึงกล่าวว่า เป็นทางนำสำหรับผู้ยำเกรง
[1] มัรยัม 76
[2] มุฮัมมัด 17
[3] อันอาม 161
[4] ยาซีน 61-62
[5] อาลิอิมรอน 101
[6] อาลิอิมรอน 19
[7] อันนิซาอฺ 69
[8] อันนะฮฺลิ 106
[9] อัลฟัตฮฺ 6
[10] อาลิอิมรอน 112
[11] อัชซูรอ 16
[12] ฏอฮา 50