') //-->
เมื่อกล่าวถึงบ้านหรือที่พักอาศัยทุกคนก็จะเล็งเห็นความปลอดภัยเป็นสำคัญ ความน่าอยู่ และความสงบเมื่อได้เข้าไปพักอาศัย แต่จะมีบ้านสักกี่หลังบนโลกนี้ที่ยังความปลอดภัยและความสงบนั้นให้แก่เรา ดังนั้น เรามาลองพิจารณาดูซิว่าพระเจ้าและศาสนากล่าวถึงบ้านไว้อย่างไรบ้าง อัล-กุรอานกล่าวว่า
แท้จริง บ้านหลังแรกที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์ (เพื่อการเคารพภักดีพระเจ้า) คือที่แผ่นดินมักกะฮฺ เป็นที่จำเริญ และเป็นทางนำสำหรับประชาชาติทั้งหลาย (อาลิอิมรอน/96)
ในนั้นมีสัญญาณต่าง ๆ อันชัดแจ้ง เช่น มะกอม (ที่ยืน) อิบรอฮีม และผู้ใดเข้าไปในบ้านนั้น ย่อมได้รับความปลอดภัย และสิทธิของอัลลอฮฺ ต่อมนุษย์คือ การมุ่งสู่บ้านหลังนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้สามารถหาทางไปยังบ้านนั้น และผู้ใดปฏิเสธ (การหัจญ์ เท่ากับสร้างความเสียหายแก่ตน) แท้จริงอัลลอฮฺ ไม่ทรงพึ่งประชาชาติทั้งหลาย (อาลิอิมรอน/97)
ดังที่กล่าวไปแล้วในโองการก่อนหน้านี้ว่า ยะฮูดีย์ ได้โต้แย้งท่านศาสดา เรื่องอาหาร ซึ่งท่านได้ตอบข้อสงสัยแก่เขา ส่วนข้อโต้แย้งประการที่สองที่พวกเขาอ้างว่า บัยตุลมุก็อดดัซ มีความประเสริฐกว่า กะอฺบะฮฺ โองการที่กำลังกล่าวถึงได้ตอบพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่ากะอฺบะฮฺ ในฐานะที่ถูกเลือกให้เป็นกิบละฮฺสำหรับมวลมุสลิม จึงไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดแต่อย่างใด เนื่องจาก กะอฺบะฮฺ เป็นบ้านหลังแรกของพระเจ้าที่ทรงตั้งขึ้นเพื่อมนุษย์
ประวัติศาสตร์ และแหล่งอ้างอิงอื่นของอิสลามกล่าวว่า กะอฺบะฮฺ สร้างโดยอาดัม (อ.) แต่ช่วงเกิดน้ำท่วมโลกในสมัยศาสดานูฮฺได้รับความเสียหายอย่างหนัก ต่อมาศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เป็นผู้ซ่อมแซมให้สมบูรณ์ใหม่อีกครั้ง ฉะนั้น การเลือกกะอฺบะฮฺ เป็นที่แสดงความเคารพภักดี เนื่องจากมีมาก่อนบ้านหลังใดทั้งสิ้น จึงมีความประเสริฐกว่า
สิ่งที่น่าสนใจคือ พระเจ้าทรงแนะนำกะอฺบะฮฺว่า เป็นบ้านของปวงชน ชี้ให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า สิ่งใดก็ตามสร้างในนามของพระเจ้า และเพื่อพระเจ้า สิ่งนั้นต้องเป็นสารณสถานเพื่อรับใช้ประชาชาติ และสิ่งใดที่รับใช้ประชาชาติและปวงบ่าวของพระเจ้า สิ่งนั้นถือว่าเป็นสมบัติของพระเจ้า
โองการข้างต้น อันดับแรกกล่าวถึงความประเสริฐของกะอฺบะฮฺ ความเก่าแก่ที่ยาวนานที่สุด ซึ่งเป็นคำตอบที่ชัดเจนสำหรับผู้โต้แย้งเกี่ยวกับหินดำ (ฮะญะรุลอัซวัด) เนื่องจากมีบางกลุ่มกล่าวว่า หินเพียงก้อนเดียว จะมีความสำคัญอะไรหนักหนา ทำไมทุกปีต้องมีผู้คนจำนวนหลายล้านเดินทางไปสัมผัสด้วย นอกจากนั้นยังเป็นแบบฉบับของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่ถูกเน้นไว้อย่างมาก
เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์จะพบว่าไม่มีหินก้อนใดบนโลกนี้จะมีค่า และมีประวัติที่ยืนยาวนานเหมือนกับหินดำ ซึ่งถือเป็นความพิเศษที่เหนือหินทั่ว ๆ ไป สถานที่ประกอบศาสนกิจบนโลกนี้ล้วนได้รับการซ่อมแซม กะอฺบะฮฺก็เข่นกัน ถูกซ่อมแซมเหมือนกับสถานที่อื่น ซึ่งหินอื่นบนวิหารกะอฺบะฮฺล้วนถูกเปลี่ยนใหม่ทั้งสิ้น แต่หินดำยังคงเป็นหินก้อนเดิม แม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายพันปีแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ความสำคัญของหินดำ เป็นหินที่อยู่ในหนทางของพระเจ้า และรับใช้ประชาชนมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามโองการนี้ นอกจากจะให้ความเป็นพิเศษแก่กะอฺบะฮฺ โดยกล่าวว่า เป็นสถานที่แสดงความเคารพภักดีแรกแล้ว ยังกล่าวว่า กะอฺบะฮฺเป็นที่จำเริญ และเป็นทางนำสำหรับประชาชาติทั้งหลาย
โองการถัดมากล่าวถึงความเป็นพิเศษอีก 2 ประการแก่กะอฺบะฮฺกล่าวคือ ในนั้นมีสัญญาณต่าง ๆ อันชัดแจ้ง เช่น มะกอม (ที่ยืน) อิบรอฮีม และอีกสัญลักษณ์หนึ่งในนั้นมีความสงบ ปลอดภัยปกครองเมืองอยู่กล่าวว่า และผู้ใดเข้าไปในบ้านนั้น ย่อมได้รับความปลอดภัย
ประโยคถัดมา พระองค์บัญชาการหัจญ์แก่มวลมุสลิมทั้งหลาย คำว่า หัจญ์ ตามรากศัพท์หมายถึง การตั้งใจ ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวถึง เส้นทางหลัก หรือทางว่า มะฮฺญัต เนื่องจากสามารถพานมนุษย์ไปถึงยังจุดหมายปลายทางได้ เรียกข้อพิสูจน์หรือเหตุผลว่า ฮุจญัติ เนื่องจากทำให้เป้าหมายที่กำลังกล่าวถึงเกิดความกระแจ้ง แต่พิธีกรรมเฉพาะที่กำหนดเป็นข้อบังคับแก่มวลมุสลิม เพราะเหตุใดจึงเรียกว่าหัจญ์ เนื่องจากเวลาเคลื่อนตัวไปเพื่อเข้าร่วมพิธีกรรม ได้ตั้งเจตนาเพื่อเยี่ยมบ้านของพระเจ้า ฉะนั้น จะเห็นว่าโองการข้างต้นเสริมคำว่า บัยต์ (บ้าน) ด้วยคำว่า กะอฺบะฮฺ
คำสั่งในการหัจญ์ถือเป็นคำสั่งของศาสนาแห่งพระเจ้า ซึ่งเป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับมวลมุสลิมทั้งหลายที่ต้องปฏิบัติ อัล-กุรอานกล่าวว่า สิทธิของอัลลอฮฺ ต่อมนุษย์คือ การมุ่งสู่บ้านหลังนั้น
ข้อบังคับของหัจญ์ ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่สมัยของอาดัม (อ.) แต่รู้จักและปฏิบัติกันอย่างเป็นทางการในสมัยของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เงื่อนไขสำคัญประการเดียวของหัจญ์ที่ระบุไว้ในโองการคือ ความสามารถ (อิซติฏออัต) หมายถึงมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งไปและกลับ ค่าที่พักอาศัย ความสามารถทางด้านร่างกายและจิตใจ วจนะท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) บรรดาอิมาม (อ.) และตำรานิศาสตร์อิสลาม ก็ให้ความหมายเช่นเดียวกัน เพียงแต่เสริมไว้อีกประโยคหนึ่งว่า เมื่อกลับจากหัจญ์ต้องมีค่าใช้จ่ายประจำวันด้วย ซึ่งในความเป็นจริงความหมายเหล่านี้รวมอยู่ในโองการข้างต้นทั้งสิ้น เพราะคำว่า อิซติฏออัต นั้นหมายถึง ความสามารถ ซึ่งครอบคลุมสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดอยู่แล้ว
คำว่า กุฟร์ ตามรากศัพท์หมายถึง การปกปิด การซ่อนไว้ด้านใน แต่ในทางศาสนาคำนี้มีความหมายกว้างเป็นพิเศษ หมายถึงสิ่งทั้งหลายที่ขัดแย้งกับสัจธรรมความจริง ทั้งเรื่องการศรัทธา และการปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ โองการข้างต้นจึงกล่าวเรียกผู้ที่ละทิ้งการบำเพ็ญหัจญ์ กุฟร์
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวถึงความสำคัญของหัจญ์แก่ท่านอะลีว่า โอ้ อะลีผู้ที่ละทิ้งการหัจญ์ ทั้งที่มีความสามารถถือว่าเป็น การฟิร เนื่องจากพระเจ้าตรัสว่า เป็นหน้าที่ของผู้สามารถต้องหาทางไปยังบ้านนั้น หมายถึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องเดินทางไปบำเพ็ญหัจญ์ ส่วนผู้ที่ละทิ้งหัจญ์โดยตั้งใจถือว่าเป็นการฟิร และได้สร้างความเสียหายแก่ตนเอง พระเจ้ามิทรงต้องการสิ่งใดจากเขา โอ้ อะลีเอ๋ยบุคคลที่ปล่อยการหัจญ์ให้ล่าช้า จนกระทั่งเสียชีวิตในวันฟื้นคืนชีพ พระเจ้าทรงจัดให้พวกเขาอยู่ร่วมกับยะฮูดีย์และคริสเตียน
อีกด้านหนึ่ง การปฏิบัติข้อบัญญัติดังกล่าวของพระเจ้า เหมือนกับการปฏิบัติตามหลักการอื่น ๆ ที่ประทานให้กับมนุษย์ เพื่ออบรมสั่งสอน ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่มีผลอันใดเกี่ยวกับพระเจ้า เนื่องจากพระองค์ ไม่ทรงพึ่งประชาชาติทั้งหลาย
คำว่า บักกะตะ มาจากรากศัพท์ของคำว่า บักกะ หมายถึง ความวุ่นวาย หรือการชุมนุนของผู้คน ดังนั้น การที่เรียกกะอ์บะฮฺ หรือแผ่นดินที่ก่อสร้างวิหารกะอ์บะฮฺว่า บักกะฮฺ เนื่องจากการชุนมุนของผู้คนจำนวนมาก ณ ที่นั้น และเป็นไปได้ว่า บักกะฮฺอาจไม่ได้เรียกสถานที่นั้นตั้งแต่แรก แต่หลังจากรู้จักเป็นทางการว่าเป็นสถานที่บำเพ็ญหัจญ์ จึงเรียกที่นั้นว่า บักกะฮฺ
อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า มักกะฮฺ คือชื่อเมือง ส่วนบักกะฮฺ คือชื่อสถานที่ ซึ่งวิหารกะอ์บะฮฺได้สร้างบริเวณนั้น
สองโองการที่กำลังกล่าวถึง นอกจากกล่าวว่า มักกะฮฺ เป็นสถานที่แสดงความเคารพภักดีอันดับแรกแล้ว ยังกล่าวถึงความเป็นพิเศษของกะอ์บะฮฺไว้อีก 4 ประการดังนี้
2.1.มุบาเราะกัน หมายถึง ความจำเริญ หรือมากไปด้วยผลประโยชน์ กะอ์บะฮฺ พิจารณาทั้งด้านจิตวิญญาณและวัตถุ เป็นแผ่นดินที่มีความจำเริญมากที่สุดบนโลกนี้ ความจำเริญด้านจิตวิญญาณ เนื่องจากเป็นสถานที่ดึงดูดใจที่สุดของพระเจ้า มีการเปลี่ยนแปลง และสร้างความเป็นเอกภาพแก่สังคม โดยเฉพาะพิธีหัจญ์
ความจำเริญด้านวัตถุ เนื่องจากมักกะฮฺเป็นแผ่นดินที่แห้งแล้ง ไม่มีน้ำและต้นไม้ ถ้าหากพิจารณาธรรมชาติแล้วไม่มีความเหมาะสมที่จะดำรงชีวิตที่นั้น แต่กลับกลายเป็นเมืองที่พลุกพล่าน มีผู้คนมากมายดำรงชีวิตที่นั้น
2.2.เป็นทางนำสำหรับประชาชาติทั้งหลาย กะอ์บะฮฺเป็นศูนย์กลางของการชี้นำทางมวลมนุษยชาติ ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกต่างมุ่งหน้ามายังกะอ์บะฮฺ เพื่อเข้าร่วมพิธีหัจญ์อันยิ่งใหญ่ในทุกปี นับตั้งแต่สมัยศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน แม้แต่อาหรับในยุคโฉดเขลาก็ให้เกียรติกะอ์บะฮฺมาตลอด และถือว่าพิธีหัจญ์ เป็นหลักการของศาสนาอิบรอฮีม
2.3.ในนั้นมีสัญญาณต่าง ๆ อันชัดแจ้ง เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของการเคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียว และยังคงอยู่ตราบจนปัจจุบัน แม้ว่าในประวัติศาสตร์จะบันทึกว่า บรรดาศัตรูต่างมุ่งโจมตีกะอ์บะฮฺ เพื่อมุ่งหวังทำลายกะอ์บะฮฺแต่ไม่ประสพความสำเร็จ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือร่องรอยของศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ มะกอม (ที่ยืน) อิบรอฮีม เป็นสถานที่ ๆ อิบรอฮีมยืนมองดูการซ่อมแซมกะอ์บะฮฺ หรือประกอบพิธี หรือเชิญชวนประชาชนให้ประกอบพิธีหัจญ์ อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ เนื่องจากบ่งบอกถึงการเสียสละ ที่ไม่อาจหาสิ่งใดเปรียบเทียบได้ เป็นการให้ชีวิตแก่สังคม และความบริสุทธิ์ใจ นอกจากนั้นยังมี บ่อน้ำซัมซัม เนินเขาเซาะฟา มัรวะฮฺ ฮะญะรุลอัซวัด ฮะญะรุลอิสมาอีล
2.4.ผู้ที่เข้าไปในนั้นจะได้รับความปลอดภัย หลังจากอิบรอฮีมสร้างกะอ์บะฮฺเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้วอนขอความสงบ และความปลอดภัยจากพระเจ้าว่า โปรดทำให้แผ่นดินนี้ เป็นแผ่นดินปลอดภัย ดังกล่าวในบทอิบรอฮีม โองการที่ 35 พระเจ้าทรงตอบรับคำวิงวอนของอิบรอฮีม และทรงทำให้สถานที่นั้นเป็นสถานทีปลอดภัยที่สุดบนโลก สร้างความสงบแก่จิตใจ และสร้างปลอดภัยแก่สังคม การทะเลาะวิวาท การโต้เถียง และการนองเลือดถูกห้ามอย่างสิ้นเชิงในมักกะฮฺ