') //-->
ความเข้าใจผิดประการหนึ่งที่มุสลิมบางกลุ่มเชื่อว่า ฃีอะฮฺมีความเชื่อว่าญิบรออีลผิดพลาดในการนำวะฮฺยูลงมา ซึ่งแทนที่จะนำมาให้ท่านอะลี กับนำไปให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โดยหลักการแล้วชีอะฮฺถือว่าเป็นการใส่ร้ายอย่างรุนแรง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นจริงแต่อย่างใด แต่ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาที่เกิดจากพวกโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้ หรือพวกที่มีอคติกับชีอะฮฺ เป็นการดีถ้าหากจะพูดถึงสาเหตุที่มาของการใส่ร้ายเสียก่อน
ที่มาของการใส่ร้ายอัล-กุรอานและฮะดีซที่กล่าวถึงเรื่องราวของชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าพวกนั้นคือ พวกยะฮูดี ซึ่งมีความเชื่อว่า ญิบรออีลผิดพลาดในการนำวะฮฺยูลงมา เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าได้มีบัญชาให้ญิบรออีลนำวะฮฺยูลงมาให้เฉพาะวงศ์วานของบะนีอิซรออีลเท่านั้น แต่ว่าญิบรออีลไม่เชื่อและได้นำวะฮฺยูไปให้ลูกหลานของอิซมาอีล
ด้วยเหตุนี้ ยะฮูดีจึงถือว่า ญิบรออีลเป็นศัตรูกับพวกตน[๑] และได้นำประโยคที่ว่า (คอนัลอามีน) หมายถึงญิบรออีลทรยศเป็นคำขวัญของพวกตน แต่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงปกป้องทูตของพระองค์และประสงค์ที่จะแจ้งว่าความคิดและคำใส่ร้ายของพวกเขาไม่เป็นความจริง โดยกล่าวว่า
نَزَلَ بِهِ الرُّوحُ الْأَمِينُ عَلَى قَلْبِكَ لِتَكُونَ مِنَ الْمُنذِرِينَ
อัรรูฮฺ ผู้ซื่อสัตย์ ได้นำลงมา ยังหัวใจของเจ้าเพื่อเจ้าจักได้เป็นผู้ตักเตือน[๒]
อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า
قُلْ مَن كَانَ عَدُوًّا لِّجِبْرِيلَ فَإِنَّهُ نَزَّلَهُ عَلَى قَلْبِكَ بِإِذْنِاللّهِ
จงบอกซิว่า ใครจะเป็นศัตรูกับญิบรีล ผู้ที่ได้นำอัล-กุรอานทยอยลงมายังหัวใจของเจ้าโดยอนุมัติของอัลลอฮฺ[๓]
จากโองการที่กล่าวมาเป็นที่ชัดเจนว่าพวกยะฮูดี ถือว่าญิบรออีลเป็นศัตรูกับพวกตน เป็นมะลาอิกะฮฺที่ต้องถูกลงโทษทัณฑ์ เนื่องจากผิดพลาดในการนำวะฮฺยูลงมา ด้วยเหตุนี้ คำขวัญที่ว่า คอนัลอามีน จึงมาจากบรรดายะฮูดีทั้งหลาย แต่น่าเสียดายที่ว่านักเขียนบางคนที่มีอคติกับชีอะฮฺ ได้นำเอาคำพูดของยะฮูดีมาใส่ร้ายป้ายสีให้กับชีอะฮฺ
นะบูวัตในทัศนะของชีอะฮฺชีอะฮฺเป็นนิกายที่ปฏิบัติตามอัล-กุรอานและซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อย่างเคร่งครัด ฮะดีซของบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ท่านมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ไม่ได้เป็นศาสนทูต หรือศาสดาแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าท่านเป็นผู้นำเอาสาส์นแห่งพระผู้เป็นเจ้า (อัล-กุรอาน) มาประกาศเผยแผ่แก่สังคม ท่านเป็นบรมศาสดาและเป็นศาสดาองค์สุดท้าย ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่บรรดาศาสนทูตทั้งหลายแห่งอัลลอฮฺ (ซบ.)
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า
وأشهد أن لا إله إلا الله وحده لاشريك له و أشهد أن محمداً عبده و رسوله، و خاتم النبيين و حجة الله على العالمين
ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งใดร่วมปนเสมอเหมือน และฉันขอปฏิญาณว่าท่านมุฮัมมัด เป็นบ่าวและเป็นศาสดาของพระองค์ อีกทั้งเป็นศาสดาองค์สุดท้าย และเป็นเหตุผลของอัลลอฮฺสำหรับประชาโลกทั้งหลาย[๔]
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
لم يُبعث الله عزّوجلّ من العرب إلاّ خمسة أنبياء : هودا و صالحا و إسماعيل و شعيبا و محمدا خاتم النبيين
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเลือกศาสนทูต ๕ องค์จากชนเผ่าอาหรับได้แก่ นะบีฮูด ซอลิฮฺ อิซมาอีล ชุอัยบฺ และนะบีมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ผู้เป็นศาสดาองค์สุดท้าย[๕]
ฮะดีซทั้งสองได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า คำกล่าวอ้างเหล่านั้นเป็นคำใส่ร้ายชีอะฮฺที่อธรรมที่สุด อีกทั้งยืนยันว่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) บุตรของท่านอับดุลลอฮฺเป็นศาสดาองค์สุดท้าย ด้วยเหตุนี้ชีอะฮฺทั้งโลกจึงเชื่อโดยหลักการว่าญิบรออีลเป็นผู้นำวะฮฺยูลงมา และท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) บรมศาสดาและเป็นศาสดาองค์สุดท้ายเป็นผู้รับวะฮฺยู และนำมาเผยแผ่แก่ประชาโลกทั้งหลาย และท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นตัวแทนของท่านภายหลังจากท่านได้จากไป
เป็นการดีขอนำเสนอริวายะฮฺที่อะฮฺลิซซุนนะฮฺและชีอะฮฺต่างมีความเห็นพ้องต้องกัน และบันทึกไว้ในตำราต่าง ๆ ของตน ได้แก่ริวายะฮฺ มันซิลัต ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ประกาศว่าท่านคือ ศาสดาองค์สุดท้ายแห่งพระผู้เป็นเจ้า หลังจากนั้นได้แนะนำว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) คือตัวแทนของท่าน
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า
أما ترضى أن تكون منّى بمنزلة هارون من موسى إلاّ أنّه لا نبى بعدى
เจ้าไม่พอใจหรอกหรือ ที่ฐานะของเจ้ากับฉัน เหมือนกับฐานะของมูซาและฮารูน เว้นเสียแต่ว่าจะไม่มีนะบีภายหลังจากฉัน[๖]
สายรายงานริวายะฮฺดังกล่าว เป็นที่ยอมรับของนักฮะดีซทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นอะฮฺลิซซุนนะฮฺหรือชีอะฮฺ ซึ่งเป็นการยืนยันหลักการของชีอะฮฺที่ว่า
๑. มุฮัมมัด บิน อับดุลลอฮฺ (ซ็อล ฯ) เป็นศาสดาที่มีเกียรติที่สุด เป็นบรมศาสดาและเป็นศาสดาองค์สุดท้ายแห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ที่ได้นำเอาสาส์นแห่งพระผู้เป็นเจ้า (อัล-กุรอาน) อันเป็นสาส์นที่มีความเป็นอมตะมาประกาศเผยแผ่แก่ประชาโลก และหลังจากท่านจะไม่มีศาสดาองค์ใดถูกประทานลงมาอีก
๒. อิมามอะลี (อ.) เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และเป็นเคาะลิฟะฮฺปกครองมุสลิมภายหลังจากท่าน
[๑] ตัฟซีร ฟัครุรอซียฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๓๖-๔๓๗ พิมพ์ที่อียิปต์ ปี ฮ.ศ. ๑๓๐๘
[๒] อัชชุอะรออฺ / ๑๙๔
[๓] บะเกาะเราะฮฺ / ๙๗
[๔] นะฮฺญุซ เซาะอาดะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๘๘ พิมพ์ที่เบรุต , กาฟียฺ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๖๗ พิทพ์ครั้งที่ ๒ ปี ฮ.ศ. ๑๓๙๘ เตหราน
[๕] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๔๒ พิมพ์ครั้งที่ ๒ เบรุต ฮ.ศ. ๑๔๐๓
[๖] เซาะฮียฺบุคอรียฺ เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๓ พิมพ์ที่อียิปต์ หมวดสงครามตะบูก, เซาะฮียฺมุสลิม เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๒๐ พิมพ์ที่อียิปต์ หมวด ฟะฎออิลอะลี, ซุนันอิบนิมาญะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๕๕ พิมพ์ที่อียิปต์ หมวด ฟะฎออิลอัซฮาบนะบี, มุซตัดร็อก ฮากิม เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๐๙ เบรุต, มุซนัดอฺมัด เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๗๐,๑๗๗,๑๗๙,๑๘๔,๑๘๕, เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๓๒, เซาะฮียฺติรมีซียฺ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๒๑ เบรุต บาบมะนากิบอะลี, มะนากิบ อิบนุ มะฆอซิลียฺ หน้าที่ ๒๗ เบรุต ปี ฮ.ศ. ๑๔๐๓, บิฮารุลอันวาร เล่มที่ ๓๗ หน้าที่ ๒๕๔ พิมพ์ครั้งที่ ๒ เบรุต , มะอานิลอัคบาร เล่มที่ ๗๔ เบรุต ปี ฮ.ศ. ๑๓๙๙ , กันซุลฟะวาอิด เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๖๘ เบรุต ปี ฮ.ศ. ๑๔๐๕