') //-->
อัล-กุรอานนั้นเหมือนกับการอ่าน การท่องจำ ความเข้าใจ และการปฏิบัติที่มีผลต่อมนุษย์ ซึ่งการส่งผลของอัล-กุรอานมีทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ณ ที่นี้จะขอกล่าวบางกรณีเท่านั้น เช่น
การส่งผลในการอ่านอัล-กุรอาน
ตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อมารยาททั้งภายนอกและภายใน ของการอ่านอัล-กุรอานมีผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก กล่าวคือ
๑. เป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺ
นักอ่่านอัล-กุรอานทั้งหลายจะเริ่มอ่านด้วยการระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า โดยกล่าวว่า บิซมิลลาฮฺ ฮิรเราะฮฺมนิรเราะฮีม ซึ่งการกล่าวประโยคนี้ออกมา ถือว่าเป็นการรำลึกถึงพระองค์ที่ดีที่สุด และทำให้เรารู้จักสัจธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่ว่ามนุษย์รำลึกถึงพระองค์มากเท่าใด มนุษย์ก็จะใกล้ชิดกับพระองค์มากเท่านั้น
๒.เป็นการเปิดประตูแห่งการเคารพภักดี
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ประตูแห่งการเคารพภักดีสามารถเปิดได้ด้วยการกล่าวบิซมิลลาฮฮฺ (ซะฟีนะตุลบิฮาร เล่ม ๒ หน้า ๔๑๗)
ดังนั้น จะเห็นว่าหนึ่งในประโยชน์สำคัญของการอ่านอัล-กุรอานคือการเริ่มต้นด้วยมิซมิลลาฮฺ เท่ากับเป็นการเปิดประตูแห่งการเคารพภักดี
๓. เป็นการปิดประตูบาป
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ประตูแห่งบาปทั้งหลายสามารถปิดได้ด้วยการกล่าวขอความคุ้มครองจากพระองค์ว่า อะอูซุบิลลาฮิมินัชชัยฏอนิรเราะญีม (อ้างแล้วเล่มเดิม)
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าหนึ่งในมารยาทของการอ่านอัล-กุรอานคือ การขอความคุ้มครองจากพระองค์ ซึ่งประโยชน์คือเป็นการปิดประตูบาปต่าง ๆ
๔. ประสบความสำเร็จในการอ่านดุอาอฺก่อนและหลังการอ่านอัล-กุรอาน
ดุอาอฺหมายถึง การเรียกร้องหรือการวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าในสิ่งที่ตนปรารถนา ดังกล่าวไปแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดีก่อนและหลังการอ่านอัล-กุรอานให้ดุอาอฺ ซึ่งสามารถดุอาอฺตามที่ริวายะฮฺกล่าวไว้ หรือทุกดุอาอฺที่ต้องการสามารถกล่าวได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามทั้งสองกรณีดุอาอฺคือ เตาฟีกสำหรับผู้อ่านอัล-กุรอานเพราะเท่ากับได้สนทนาและวิงวอนในสิ่งที่ตนปรารถนาจากพระองค์ และบั้นปลายสุดท้ายเท่ากับมนุษย์มีเตาฟีกเพิ่มขึ้นในการดำเนินชีวิต ทั้งทางโลกและทางธรรม
๕. รางวัลของผู้อ่านอัล-กุรอานคือดุอาอฺถูกยอมรับ
ท่านอิมามซอดิก (อ.) รายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า บุคคลใดเปิดอัล-กุรอานและอ่านจนจบดุอาอฺของเขาจะถูกตอบรับ ณ อัลลอฮฺ (บิฮารุลอันวาร เล่ม ๘๙ หน้า ๒๐๔)
๖. อัล-กุรอานเป็นสาเหตุให้อีมานเพิ่มพูน
เมื่อมีซูเราะฮฺถูกประทานลงมาได้มีคนหนึ่งพูดว่า อัล-กุรอานบทนี้ทำให้ผู้ใดมีอีมานเพิ่มขึ้นบ้าง อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَإِذَا مَا أُنزِلَتْ سُورَةٌ فَمِنْهُم مَّن يَقُولُ أَيُّكُمْ زَادَتْهُ هَـذِهِ إِيمَانًا فَأَمَّا الَّذِينَ آمَنُواْ فَزَادَتْهُمْ إِيمَانًا وَهُمْ يَسْتَبْشِرُونَ
และเมื่ออัล-กุรอานบทหนึ่งถูกประทานลงมา ดังนั้น ในหมู่พวกเขามีผู้กล่าวว่า มีใครบ้างจากพวกท่านที่บทนี้ทำให้เขามีศรัทธาเพิ่มขึ้น ฉะนั้น สำหรับบรรดาผู้ศรัทธา บทนี้ได้ทำให้ศรัทธาของพวกเขาเพิ่มขึ้น แล้วพวกเขาก็มีความปิติยินดี (เตาบะฮฺ ๑๒๔)
อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า
وَإِذَا تُلِيَتْ عَلَيْهِمْ آيَاتُهُ زَادَتْهُمْ إِيمَانًا
และเมื่อบรรดาโองการของพระองค์ถูกอ่านแก่พวกเขา โองการเหล่านั้นได้เพิ่มพูนความศรัทธาแก่พวกเขา (อันฟาล ๒)
๗. ความโปรดปรานของพระองค์ถูกประทานลงมากับอัล-กุรอาน
อัล-กุรอานกล่าวว่า และเราได้ประทานส่วนหนึ่งจากอัล-กุรอานลงมา ซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา (อัลอิซรออฺ ๘๒)
ดังนั้น นักอ่านอัล-กุรอานคือ บุคคลแรกที่มีส่วนร่วมในความโปรดปรานของอัล-กุรอาน
๘. อัล-กุรอานเป็นชะฟาอฺ
อัล-กุรอานเป็นโอสถที่บำบัดโรคภายในของมนุษย์ อาการป่วยใข้ทางจิตใจ และเป็นยารักษาสำหรับบุคคลที่มีอาการป่วยทางใจ ที่มนุษย์ด้วยกันไม่สามารถรักษาให้หายได้ และโดยเหตุผลแล้วบุคคลแรกที่ได้รับการรักษาโดยอัล-กุรอานคือ ผู้อ่่านอัล-กุรอานทั้งหลาย
๙.การชี้นำของพระผู้เป็นเจ้า
อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์แ่ห่งการชี้นำ บุคคลแรกที่ได้รับการชี้นำจากอัล-กุรอานคือ ผู้ศรัทธาและผู้มีความยำเกรง อัล-กุรอานกล่าวว่า จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด อัล-กุรอานเป็นทางนำและเป็นการบำบัดแก่บรรดาผู้ศรัทธา ส่วนบรรดาผู้ไม่ศรัทธานั้น (ฟุซซิลัต ๔๔)
จริงอยู่ทีว่าการชี้นำแบ่งออกเป็นหลายขั้นตอน แต่ละคนจะได้รับไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถและความพอดี แต่อย่างไรก็ตามทุกคนมีสิ่ทธิ์ได้รับประโยชน์จากการชี้นำทั้งสิ้นแต่จะมากหรือน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับอีมานและความยำเกรงของแต่ละคนว่าจะมากน้อยเพียงใด
๑๐. ทำความสะอาดภายในและสร้างสรรค์จิตวิญญาณ
ผู้อ่านอัล-กุรอานถ้าหากใส่ใจต่อมารยาทด้านในของการอ่านมากเท่าใด ความบริสุทธิ์ใจ และความสงบมั่นของจิตวิญญาณก็จะเพิ่มมากขึ้นไปตามขั้นตอน เท่ากับเป็นการขัดเกลาจิตใจและสร้างสรรค์จิตวิญญาณไปในตัว
๑๑. ความสะอาดตามชัรอียฺ
ก่อนอ่านอัล-กุรอานผู้อ่านทุกท่านต้องฆุซลฺหรือวุฎูอฺก่ิอน เพื่อขจัดความโสมมและความโสโครกของจิตวิญญาณให้หมดไป หมายถึงวุฎูอฺและฆุซลฺนั้นจะช่วยสร้างรัศมีและขจัดความโสมมภายในจิตใจให้หมดไป เรียกว่าเป็นความสะอาดตามชัรอียฺ ดุจดังเช่นที่ได้ขจัดความโสโครกให้หมดไปจากร่างกาย
๑๒. อนามัยส่วนตัว
ผู้อ่านอัล-กุรอานควรจะแปรงฟัน อาบน้ำ มีวุฎูอฺ หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ซึ่งการกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการรักษาความสะอาดส่วนตัว ทำให้เป็นคนมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง
๑๓. กลายเป็นชาวกุรอาน
การอ่านและการสร้างความคุ้นเคยกับอัล-กุรอาน จะทำให้มนุษย์ได้รับรัศมีและอยู่ภายใต้คำสอนของอัล-กุรอานไปโดยปริยายที่ละน้อย และเขาจะกลายเป็นมนุษย์กุรอานไปในที่สุด หมายถึงจะปฏิบัติตัวและไม่กระทำสิ่งใดขัดกับอัล-กุรอานเด็ดขาด กิริยามารยาทจะกลายเป็นกิริยาของอัล-กุรอาน ความเชื่อก็อัล-กุรอาน ความสะอาดก็อัล-กุรอาน อีกนัยหนึ่งเท่ากับเขาได้ย้อมตัวเองดัวยสีสันของอัล-กุรอาน ฐานันดรของเขาจะสูงส่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นภาพลักษณ์และคำพูดของอัล-กุรอาน
๑๔. ความคิดจะเติบโต
ขณะที่อ่านอัล-กุรอาน ถ้าตรึกตรองตามไปที่ละน้อย จะเป็นสาเหตุทำให้ความคิดอ่านของตนเติบโตตามไปด้วย แน่นอนเมื่อความคิดเติบโตก็จะทำให้การดำเนินชีวิตประสบแต่ความสำเร็จ
๑๕. เป็นการอิบาดะฮฺทางสายตา
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า การมองไปที่หน้ากระดาษของอัล-กุรอานเป็นอิบาดะฮฺ (บิฮารุลอันวาร เล่มที่ ๘๙ หน้า ๑๙๙)
แน่นอนพระวัจนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เหมาะสมสำหรับบุคคลที่อ่านอัล-กุรอานเป็นประจำ ท่าน (ซ็อล ฯ) กล่าวอีกว่า สายตาได้รับประโยชน์จากการอิบาดะฮฺก็เมื่อยามที่มองไปยังอัล-กุรอาน (มะฮัจญะตุลบัยฎอ เล่ม ๒ หน้า ๒๓๑)
๑๖. ส่งผลต่อการเลี้ยงดูบุตร
เมื่อบิดามารดาอ่านอัล-กุรอานในบ้าน แน่นอนย่อมส่งผลในทางบวก แก่บุตรและธิดาของตน เท่ากับเป็นการอบรมสั่งสอนบุตรในทางอ้อม และเป็นสาเหตุทำให้บุตรของตนมีความรักต่ออัล-กุรอาน
๑๗. เป็นการชำระล้างบาปต่าง ๆ
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า การอ่านอัล-กุรอานเป็นการลุแก่โทษบาปกรรม (บิฮารุลอันวาร เล่มที่ ๙๒ หน้า ๑๗)
๑๘. ทำให้ปลอดภัยจากไฟนรก
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า การอ่านอัล-กุรอานคืออุปสรรคขวางกั้นไฟนรก และเป็นสาเหตุให้ปลอดภัยจากการลงโทษของพระองค์
๑๙. เป็นการสนทนากับพระผู้เป็นเจ้า
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า เมื่อใดก้ตามหากพวกท่านต้องการสนทนากับพระผู้อภิบาลละก็จงอ่านอัล-กุรอาน (บิฮารุลอันวาร เล่ม ๙๒ หน้า ๑๗)
๒๐. การอ่านอัล-กุรอานทำให้จิตใจมีชีวิตชีวา (อ้างแล้วเล่มเดิม)
๒๑. การอ่านอัล-กุรอานเป็นอุปสรรคในการทำอนาจารทั้งหลาย
แน่นอนถ้าหากเราเป็นนักอ่านอัล-กุรอานที่แท้จริง และรู้จักไตร่ตรองโองการต่าง ๆ วิถีชีวิตและความคิดอ่านของเราย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และนอกเหนือจากการอ่านแล้ว ยังได้ปฏิบัติตามอัล-กุรอานอีกต่างหาก ความชั่วและความอนาจารทั้งหลายจะเกิดในสังคมได้อย่างไร
ผลการอ่านอัล-กุรอานที่เกิดกับชีวิตทางสังคม
ประเด็นที่กล่าวถึงมารยาททั้งภายนอกและภายใน เกี่ยวกับการอ่านอัล-กุรอาน สามารถกล่าวได้ว่าสิ่งนี้มีบทบาทมากกับวิถีชีวิตทางสังคม เช่น
๑. เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมอัล-กุรอานแก่สังคม
เมื่อทุกคนอ่านอัล-กุรอานจากเล่มผลที่จะตามมาคือ การพิมพ์อัล-กุรอานให้พอดีกับจำนวนคน เมื่ออัล-กุรอานถูกพิมพ์มาก และการอ่านได้รับความนิยมมากเท่าใดวัฒนธรรมของอัล-กุรอานก็จะเติบโตมากเท่านั้น และเป็นการเีรียกร้องให้ประชาชนให้สนใจอัล-กุรอานมากยิ่งขึ้น เช่น ในอิหร่านปัจจุบันเมื่อเทียบกับอิหร่านก่อนการปฏิวัติจะแตกต่างกันลิบลิ่ว สมัยก่อนไม่มีคนสนใจอัล-กุรอานเท่าที่ควร จะมีเฉพากผู้ใหญ่ คนสูงอายุ และนักเีรียนศาสนาเท่านั้น อิหร่านไม่เคยมีชื่อเสียงเรื่องการอ่าน และการท่องจำอัล-กุรอาน แต่ปัจจุบันนี้อิหร่านสามารถพัฒนาการอ่าน และการท่องจำอัล-กุรอานเป็นอันดับหนึ่งในเอเซียหรือในโลกก็ว่าได้ ทุกสาขาอาชีพในอิหร่านมีนักกอรียฺและนักท่องจำส่งเข้าแข่งขันเสมอ มีนักท่องจำอัล-กุรอานรุ่นจิ๋วตั้งแต่อายุ ๓ ขวบขึ้นไปจำนวนมากมาย สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของวัฒธรรมอัล-กุรอานและความสนใจของประชาชน
๒. การพบวิชาการสมัยใหม่และแนวทาง
ภายใต้ร่มเงาของการอ่านอัล-กุรอานทำให้พบวิชาการใหม่ ๆ เช่น หลักการอ่านอัล-กุรอาน ความรู้เกี่ยวกับอัล-กุรอาน และการอธิบายอัล-กุรอาน
๓. การประกวดประขันอัล-กุรอานอย่างต่อเนื่ีอง
เมื่อสังคมต้อนรับการอ่านอัล-กุรอานมากขึ้น การแข่งขันในเชิงวิชาการทั้งการอ่าน การท่องจำ และการอธิบายอัล-กุรอานตามหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ และระดับประเทศก็มีมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งผลที่ตามมาคือ ประชาชนส่วนใหญ่รักการฝึกฝนความศรัทธาของตนไปโดยปริยาย
๔. ทำให้ภาษาอัล-กุรอานเติบโตมากขึ้น
เมื่อสัึงคมมีการอ่านอัล-กุรอานกันมากยิ่งขึ้นภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาอัล-กุรอานก็ได้รับความสนใจมากขึ้นตามลำดับ อีกด้านหนึ่งภาษาอาหรับถือเป็นภาษากลางสำหรับชาวมุสลิมทุกคน เมื่อทุกคนเข้าใจภาษาอัลกุรอานมากขึ้น การโจมตีทางด้านวัฒนธรรมก็จะลดน้อยลงไปตามลำดับ ประกอบกับทำให้มีการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
๕.ผลของการยอมรับการเรียนรู้อัล-กุรอาน
การเติบโตด้านการอ่านอัล-กุรอานเป็นสาเหตุทำให้วัฒนธรรม ความรู้ และจริยธํรรมอิสลามเติบโตตามไปด้วย และเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนลำรึกถึงอัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ดีวิธีหนึ่ง อีกทั้งเป็นการสอนให้ประชาชนรำลึกถึงพระองค์ในทางอ้อม
๖. อัล-กุรอานเป็นยาบำบัดอาการป่วยไข้ของสังคม
ดังที่ทราบแล้วว่าอัล-กุรอานเป็นยารักษาอาการป่วยไข้ภายในดีที่สุด ซึ่งเป็นสาเหตุในการบำบัดสังคมไปในตัว อัล-กุรอานกล่าวว่า
قُلْ هُوَ لِلَّذِينَ آمَنُوا هُدًى وَشِفَاءٌ
อัลกุรอานเป็นแนวทางที่เที่ยงธรรม เป็นทางนำและเป็นการบำบัดบรรดาผู้ศรัทธา [๑]
الْقُرْآنِ مَا هُوَ شِفَاءٌ وَرَحْمَةٌ لِّلْمُؤْمِنِينَ
อัลกุรอานเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา[๒]
อัล-กุรอานย้ำเน้นเสมอเรื่องการต่อสู้กับสิ่งอานาจารและความชั่วร้าย และเป็นยาบำบัดความป่วยไข้ของสังคมที่ดีที่สุด อัล-กุรอานปลุกจิตวิญญาณของสังคมให้ตื่นขึ้น และสอนประชาชาติให้รู้จักการเสียสละทั้งเลือดเนื้อและทรัพย์สิน เพื่อปกป้องมาตุภูมิและศาสนาของตน
แน่นอนการที่อัล-กุรอานสอนเช่นนี้เนื่องจากสิ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่สามารถทำให้สังคมมนุษย์รอดพ้นความวิบัด มีความจำเริญ และมีความสมบูรณ์ บนพื้นฐานดังกล่าวทำให้ประชาชาติแสดงความเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่คิดร้าย หรืออคติ หรือนินทาว่าร้ายกันและกัน ในอีกด้านหนึ่งถ้าสังคมใดปราศจากสิ่งเหล่านี้ สังคมนั้นก็จะกลายเป็นสังคมที่สะอาดบริสุทธิ์ และมีความสงบเรียบร้อย
ผลสะท้อนของการท่องจำอัล-กุรอานที่มีต่อมนุษย์และสังคม
ประโยชน์ทั้งหลายที่มีต่อการอ่านอัล-กุรอานได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งสิ่งนั้นเป็นสัจจะสำหรับการท่องจำอัล-กุรอานเช่นกัน ก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงมารยาทและเงื่อนไขของการท่องจำอัล-กุรอาน พร้อมทั้งกล่าวถึงริวายะฮฺและโองการที่เกี่ยวข้องกับการท่องจำมาแล้ว ในบทนี้จะขอย้ำเน้นถึงโองการต่าง ๆ เหล่านั้น เช่น
๑. การท่องจำอัล-กุรอานเป็นสาเหตุให้อัลลอฮฺ (ซบ.) อภัยในความผิดต่าง ๆ[๓]
บางริวายะฮฺกล่าวว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ไม่ทรงลงโทษหัวใจที่เป็นแหล่งรวบรวมโองการต่าง ๆ ของพระองค์[๔]
๒. นักท่องจำอัล-กุรอาน ถ้าปฏิบัติตามสิ่งที่ตนได้ท่องจำเขาคือพลพรรคของอัลลอฮฺ [๕]
๓. การท่องจำหนึ่งโองการเทียบเท่าสวรรค์หนึ่งชั้น[๖]
๔. การท่องจำอัล-กุรอานเป็นความโปรดปรานของอัลลอฮฺ (ซบ.) ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวสิ่งนี้ไว้ในบทดุอาอฺของท่าน[๗]
๕.การท่องจำอัล-กุรอาน การอ่านโองการซ้ำไปซ้ำมาเป็นการรำลึกอัลลอฮฺ (ซบ.) ที่ดีทีสุด ซึ่งสิ่งนี้เป้นเตาฟีกอย่างหนึ่งของพระองค์
๖.เป็นการเก็บข้อมูลหลายประการจากอัล-กุรอาน นักท่องจำได้พยายามเก็บรายละเอียดทั้งหมดของอัล-กุรอานทั้งซูเราะฮฺ โองการ การเแปล การตัฟซีร และสาเหตุของการประทานโองการ เพื่อเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีที่สุดระหว่างสติปัญญากับอัล-กุรอาน และเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ท่องจำได้เร็วที่สุด
๗. การท่องจำเป็นบทนำของการปฏิับัติตามอัล-กุรอาน นักท่องจำอัล-กุรอานเมื่อเทียบกับนักอ่านอัล-กุรอานจะมีการปฏิบัติตามอัล-กุรอานมากว่า
๘. นักท่องจำอัล-กุรอานตามความเป้นจริงแล้วเขาคืออัล-กุรอานพูดได้
[๑] ฟุซซิลัต ๔๔
[๒] อัซรอ ๘๒
[๓] มุซตัดร็อก อัลวะซาอิล เล่ม ๔ หมวด ๑๗ หน้า ๒๖๙ ฮะดีซที่ ๔๖๖๙
[๔] มีซานุลฮิกมะฮฺ เล่ม ๘ หน้า ๗๖
[๕] อุซูลกาฟียฺ เล่ม ๒ หน้า ๔๔๑
[๖] บิอารุลอนวาร เล่ม ๘๙ หน้า ๒๒
[๗] อุซูลกาฟียฺ เล่ม ๒ หน้า ๔๑๗