') //-->
การตะอฺวีล หมายถึงการตัฟซีรหรือการอธธิบายอัล-กุรอานนั่นเอง หรืออีกนั้ยหนึ่งคือการให้ความกระจ่างที่แท้จริงเกี่ยวกับโองการอัล-กุรอานที่มีความหมายคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือโองการมุตะชาบิฮาตนั้นเอง โดยปรกติแล้วอัล-กุรอานจะมีความหมายทั้งด้านนอก (ซอเฮร) และด้านใน (บาฏิน) สำหรับโองการที่ไม่สามารถแปลไปตามความหมายด้านนอกของโองการได้ จำเป็นต้องใช้การตะอฺวีล หรือการตีความไปตามความหมายเดิมของอัล-กุรอาน เนื่องจากคำว่า ตะอฺวีล มาจากรากศัพท์เดิมว่า อัล-เอาวัล หมายถึง อันดับแรก เดิม ดังนั้นการตะอฺวีลจึงหมายถึงการย้อนกลับไปยังความหมายเดิมของอัล-กุรอาน ด้วยเหตุนี้ โองการต่าง ๆ ที่เป็นมุตะชาบิฮาต (โองการที่มีความหมายคลุมเคลือ) เมื่อทำการตะอฺวีล จึงหมายถึงการนำเอาโองการเหล่านั้นย้อนไปสู่ความหมายเดิมที่แท้จริง ซึ่งก่อนหน้านั้นมีความชัดเจนแต่คนส่วนมากไม่รู้ อัล-กุรอานยืนยันว่าโองการต่าง ๆ นั้นมี ๒ ประเภทด้วยกัน ซึ่งทั้งสองประเภทเป็นองค์ประกอบสำคัญของอัล-กุรอาน และที่สำคัญโองการทั้งสองต้องได้รับการยอมรับ อัล-กุรอานกล่าวถึงการตะอฺวีลว่า
هُوَ الَّذِي أَنزَلَ عَلَيْكَ الْكِتَابَ مِنْهُ آيَاتٌ مُّحْكَمَاتٌ هُنَّ أُمُّ الْكِتَابِ وَأُخَرُ مُتَشَابِهَاتٌ فَأَمَّا الَّذِينَ فِي قُلُوبِهِمْ زَيْغٌفَيَتَّبِعُونَ مَا تَشَابَهَ مِنْهُ ابْتِغَاءَ الْفِتْنَةِ وَابْتِغَاءَ تَأْوِيلِهِ وَمَا يَعْلَمُ تَأْوِيلَهُ إِلاَّ اللّهُ وَالرَّاسِخُونَ فِيالْعِلْمِ يَقُولُونَ آمَنَّا بِهِ كُلٌّ مِّنْ عِندِ رَبِّنَا وَمَا يَذَّكَّرُإِلاَّ أُولُوا الألْبَابِ
พระองค์คือผู้ทรงประทานคัมภีร์ลงมาแก่เจ้า โดยที่ส่วนหนึ่งเป็นโองการที่มีความหมายชัดแจ้ง โองการเหล่านี้เป็นหลักของคัมภีร์ และมีโองการอื่น ๆ ที่มีข้อความเป็นนัย ดังนั้น ส่วนบรรดาผู้ที่ในหัวใจของพวกเขามีการปรวนแปร พวกเขาปฏิบัติตามโองการที่มีข้อความเป็นนัยทั้งนี้ เพื่อหวังก่อการปั่นป่วน และเพื่อตีความโองการเอง แลไม่มีผู้ใดรู้การตีความโองการได้นอกจากอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่มั่นคงในความรู้เท่านั้น พวกเขาทั้งหลายกล่าวว่า พวกเราศรัทธาในม้น ทั้งหมดมาจากพระผู้อภิบาลของเรา และไม่มีผู้ใดใคร่ครวญเว้นแต่ปวงผู้ที่มีสติ[๑]
ตัวอย่างโองการที่เป็นมุตะชาบิฮาต เช่น
ثُمَّ اسْتَوَى عَلَى الْعَرْشِ
ทรงประทับอยู่บนบังลังก์อั่นมั่นคง[๒]
كُلُّ شَيْءٍ هَالِكٌ إِلَّا وَجْهَهُ
ทุกสิ่งต้องพินาศหมด ยกเว้นใบหน้าของพระองค์เท่านั้น[๓]
สามารถเข้าใจได้ทันที่ว่าบางครั้งไม่อาจตีความตามความหมายภายนอก (ซอเฮร) ของโองการได้จากโองการทั้งนี้เป็นเพราะว่า
๑. อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงไม่มีเรือนร่างหรือหน้าตา พระองค์ทรงสูงส่งกว่าสิ่งเหล่านี้
๒. ซาต (อาตมัน) สากลของพระองค์ทรงครอบคลุมเหนือทุกสรรสิ่ง ไม่ใช่ที่ใดที่หนึ่ง
๓. การมีอยู่ของพระองค์สัมบูรณ์ยิ่ง ไม่ต้องอิงอาศัยเวลา และสถานที่
๔. ซาต (อาตมันสากล) ของพระผู้เป็นเจ้าไม่วันสูญสลายหรือพินาศอย่างแน่นอน
ดังนั้น โองการเหล่านี้ถือเป็นมุชาบิฮาต เนื่องจากมีความหมายน่าสงสัย คลุมเครือไม่ชัดเจน ต้องอาศัยการตะอฺวีล หมายถึงนำกลับไปสู่ความหมายเดิมตามที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอิมามมะอฺซูมได้ตะอฺวีลไว้ เนื่องจากไม่มีผู้ใดสามารถรู้การตะอฺวีลได้ นอกจากอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่มั่นคงในความรู้เท่านั้น
ฉะนั้น โองการที่หนึ่งจึงไม่ได้หมายถึงซาตของพระองค์ประทับอยู่บนบังลังก์ แต่หมายถึงการปกครอง หรืออำนาจของพระองค์ต่างหากที่อยู่เหนือทุกสรรพสิ่ง ไม่ใช่ซาตของพระองค์ มิเช่นนั้นแล้วการมีอยู่และซาตของพระองค์จะถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตซึ่งขัดกับความเป็นจริง
โองการที่สอง คำว่า วัจฮุน ณ ที่นี้ไม่อาจตีความว่าเป็นใบหน้าได้ ถึงแม้ว่า วัจฮุน จะหมายถึงใบหน้าก็ตาม ดังนั้น วัจฮุน ในโองการข้างต้นจึงต้องตีความตามความหมายเดิมอันได้แก่ ซาต ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ โองการจึงหมายถึง วันกิยามะฮฺ ทุกสิ่งต้องพินาศหมด ยกเว้น ซาต ของพระองค์เท่านั้นทีคงอยู่
ใครคือรอซิคุนะฟิลอิลมฺ (บรรดาผู้ที่มั่นคงในความรู้)
บรรดาอฮฺลิซซุนนะฮฺ ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับการตะอฺวีลอัล-กุรอานว่า มีเพียงอัลลอฮฺ (ซบ.) เท่านั้นที่ทรงรอบรู้เรื่องการตะอฺวีล ส่วนบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามไม่มีความรู้เรื่องการตะอฺวีล
๑. ท่านซุยูฏียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัล-อิตกอน ของท่านว่า ท่านอับดุรเราะซาก ได้รายงานไว้ในหนังสือตัฟซีรของท่าน และท่านฮากิมได้รายงานไว้ในหนังสือ อัล-มุสตัดร็อกของท่าน โดยรายงานมาจากท่านอิบนุอับบาซว่า แท้จริงเมื่อท่านอิบนุอับบาซได้อ่านโองการที่ว่า วะมายะอฺละมุ ตะอฺวีละฮู อิลลัลลอฮฺ แล้วหยุดไปครู่หนึ่ง หลังจากนั้นท่านอ่านต่อว่า วัรรอซิคูนะ ฟิลอิลมิ ยะกูลูนะ อามันนาบิฮี ท่านซุยูฏียฺกล่าววว่า การที่ท่านอิบนุอับบาซ อ่านแล้วหยุดไป แสดงว่า อักษรวาว ในโองการเป็นวาวอิสตินาฟียะฮฺ หมายถึงวาวเริ่มต้นประโยคไม่ใช่วาวเชื่อมต่อประโยค นั่นหมายถึงว่า รอซิคูนะฟิลอิลมฺ ไม่มีความรู้เรื่องการตะอฺวีลอัล-กุรอาน
๒. ท่านมุญาฮิด ได้รายงานฮะดีซที่ตรงกันข้ามกับฮะดีซแรกจากท่านอิบนุอับบาซ เกี่ยวกับโองการที่ว่า มายะอฺละมุ ตะอฺวีละฮู อิลลัลลอฮฺ วัรรอซิคูนะ ฟิลอิลมิ ท่านอิบนุอับบาซกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความรู้เรื่องการตะอฺวีล [๔]
จากฮะดีซบทนี้แสดงให้เห็นว่า รอซิคูนฟิลอิลมิ มีความรู้เรื่องการตะอฺวีลอัล-กุรอาน ประกอบกับโองข้างต้นได้กล่าวตำหนิผู้ที่ชอบปฏิบัติตามโองการที่มีความหมายคลุมเครืออย่างรุนแรงว่า ดังนั้น ส่วนบรรดาผู้ที่ในหัวใจของพวกเขามีการปรวนแปร พวกเขาปฏิบัติตามโองการที่มีข้อความเป็นนัยทั้งนี้ เพื่อหวังก่อการปั่นป่วน และเพื่อตีความโองการเอง โองการมุ่งตำหนิบุคคลที่มุ่งปฏิบัติตามโองการที่มีความหมายคลุมเครือ ก่อนที่จะทำความรู้จัก หรือทำความเข้าใจความหมายที่แท้จริงของมัน แต่หลังจากที่มีความรู้อันชัดแจ้งแล้วจากคำอธิบายของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมามมะอฺซูม (อ.) และได้ยึดถือปฏิบัติไปตามนั้น ดังนั้นเขาจะไม่ถูกตำหนิอย่างเด็ดขาด
ชีอะฮฺมีความเชื่ออย่างไรเกี่ยวกับการตะอฺวีลอัล-กุรอาน
ฝ่ายชีอะฮฺเชื่อโดยหลักการว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเปิดเผยการตะอฺวีลอัล-กุรอานให้แก่บรรดา รอซิคูนะฟิลอิลมิ ด้วยเหตุผลที่ว่า
๑. รายงานฮะดีษจากท่านอิบนุอับบาซ ฮะดีซที่ ๒ ที่กล่าวไว้ข้างต้น
๒. ตัฟซีรนุอฺมานีจากท่านอิมามอะลี (อ.) บันทึกว่าเมื่อบรรดาชีอะฮฺเสร็จจากภารกิจการงานจะถามท่านอิมามเกี่ยวกับอัล-กุรอานในแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโองการที่เป็นมุฮฺกัม (มีความหมายชัดเจน) กับโองการที่เป็นมุตะชาบิฮฺ (มีความหมายน่าสงสัย) ท่านได้ตอบพวกเขา และตอนหนึ่งของคำตอบท่านได้กล่าวกับพวกเคาะวาริจว่า พวกเจ้ากล้ายืนยันกับอัลลอฮฺ (ซบ.) ไหมว่าฉันเป็นผู้รู้เรื่องการนาซิค (ตัวยกเลิก) มันซูค (ถูกยกเลิก) มุฮฺกัม (ชัดเจน) มุตะชาบิฮฺ (น่าสงสัย) อาม (ทั่วไป) และคอซ (เฉพาะเจาะจง) พวกเขาตอบว่า โอ้อัลลอฮฺ ใช่แล้วท่านมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้[๕]
ฮะดีซดังกล่าวยืนยันให้เห็นว่าท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้เกี่ยวกับการตะอฺวีลอัล-กุรอาน
๓. อัล-กุลัยนียฺ (รฎ.) ได้รายงานมาจากท่านอบูบะซีร จากท่านอบีอับดิลลาอฮฺ (อ.) โดยสายสืบที่เชื่อถือได้ท่านอิมามกล่าวว่า พวกเราคือ รอซิคูนะฟิลอิลมิ และพวกเรามีความรู้เรื่องการตะอฺวีลอัล-กุรอาน[๖]
สรุป
๑. จุดประสงค์ของการตะอฺวีลอัล-กุรอาน หมายถึงตัฟซีร (อรรถธิบาย) วัตถุประสงค์ความรู้ และความเร้นลับที่ซ่อนอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งคือการตีความให้ถูกต้องและการนำเอาคำนั้นย้อนกลับไปสู่ความหมายเดิม
๒.ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการตะอฺวีลอัล-กุรอานคือท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์
๓.ชีอะฮฺเชื่อโดยหลักการว่า บรรดารอซิคูนะฟิลอิลมิ หมายถึงท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และอิมาม (อ.) ผุ้บริสุทธิ์เท่านั้น
[๑] อาลิอิมรอน/๖
[๒] อะอฺรอฟ/๕๔
[๓] อัลเกาะซ็อด/๘๘
[๔] อัลอิตกอน เล่ม ๒ หน้ที่ ๓
[๕] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ ๙๓ หน้าที่ ๑๕
[๖] อุซูลุดการฟียฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๐๕