โองการซัจดะฮฺ

อัล-กุรอานคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่ ๑๕ โองการเรียกว่า โองการซัจดะฮฺ เมื่ออ่านโองการเหล่านี้ผู้ที่อ่านและผู้ที่ได้ยินต้องซัจดะฮฺเพื่อเป็นการสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ (ซบ.)

โองการซัจดะฮฺทั้ง ๑๕ โองการนั้นมี ๔ โองการเป็นวาญิบต้องซัจดะฮฺ ซึ่งถูกเรียกว่า อัล-อะซาอิม หมายถึง ความประสงค์ หรือความตั้งใจมั่นคง ดังนั้นซูเราะฮฺต่าง ๆ ที่มีซัจดะฮฺวาญิบ เมื่ออ่านหรือได้ยินโองการเหล่านั้นจำเป็นต้องซัจดะฮฺด้วยเจตนาและความตั้งใจ และเหตุที่เรียกโองการเหล่านี้ว่า อัล-อะซาอิมนั้นเป็นเพราะว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงวางข้อกำหนดที่แน่นอน และเป็นการบังคับในซัจดะฮฺนั่นเอง ส่วนโองการที่เหลือเมื่ออ่านหรือได้ยินผู้อื่นอ่าน เป็นมุซตะฮับให้ซัจดะฮฺ ซึ่งเรียกว่า ซัจดะฮฺมุซตะฮับ หรือซัจดะฮฺมัมดูบะฮฺ

บรรดาโองการซัจดะฮฺวาญิบของอัล-กุรอาน

๑. ซูเราะฮฺที่ ๓๒ อัซ-ซัจดะฮฺ โองการที่ ๑๕

๒. ซูเราะฮฺที่ ๔๑ อัล-ฟุซซิลัต โองการที่ ๓๗

๓. ซูเราะฮฺที่ ๕๓ อัน-นัจมุ โองการสุดท้่าย

๔. ซูเราะฮฺที่ ๙๖ อัล-อะลัก โองการสุดท้าย

บรรดาโองการซัจดะฮฺมุซตะฮับของอัล-กุรอาน

๑.ซูเราะฮฺที่ ๗ อัล-อะอฺรอฟ โองการสุดท้าย

๒.ซูเราะฮฺที่ ๑๓ อัร-เราะอฺดุ โองการที่ี ๑๕

๓.ซูเราะฮฺที่ ๑๖ อัน-นะฮฺลุ โองการที่ ๕๐

๔. ซูเราะฮฺที่ ๑๗ อัล-อิซรออฺ โองการที่ ๑๐๙

๕. ซูเราะฮฺที่ ๑๙ มัรยัม โองการที่ ๕๘

๖. ซูเราะฮฺที่ ๒๒ อัล-ฮัจญ์ โองการที่ ๑๘

๗. ซูเราะฮฺที่ ๒๒ อัล-ฮัจญ์ โองการที่ ๗๗

๘.ซูเราะฮฺที่ ๒๕ อัล-ฟุรกอน โองการที่ ๖๐

๙. ซูเราะฮฺที่ ๒๗ อัน-นัมลุุ โองการที่ ๒๖

๑๐. ซูเราะฮฺที่ ๓๘ ซ็อด โองการที่ ๒๔

๑๑. ซูเราะฮฺที่ ๘๔ อัล-อินชิก้อก โองการที่ ๒๑

เงื่อนไขต่าง ๆ ของโองการซัจดะฮฺวาญิบ

๑.บุคคลใดที่อ่านหรือได้รับฟังโองการหนึ่งที่มีซัจดะฮฺวาญิบ หลังจากที่โองการจบแล้ว จำเป็นต้องซัจดะฮฺทันที แต่ถ้าลืมและนึกขึ้นได้เมื่อใดก็ตาม จำเป็นต้องซัจดะฮฺ

๒.การซัจดะฮฺวาญิบอัล-กุรอาน สามารถซัจดะฮฺลงบนสิ่งใดก็ได้ ยกเว้นอาหารและเครื่องดื่ม ไม่จำเป็นต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ หรือมีวุฎูอฺ บริเวณที่ลงซัจดะฮฺไม่จำเป็นต้องสะอาด และไม่จำเป็นต้องปกปิดเอาเราะฮฺ (อวัยวะพึงสงวน)

๓. หากได้ยินโองการซัจดะฮฺวาญิบจากวิทยุ หรือโทรทัศน์ (ถ้าไม่ได้อ่านสด) ไม่เป็นวาญิบต้องซัจดะฮฺ แต่ถ้าเป็นการถ่ายทอดสด หรืออ่านสด เป็นวาญิบต้องซัจดะฮฺ

๔.การซัจดะฮฺนั้นต้องมีเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) โดยให้วางหน้าผากลงบนพื้น ถือว่าใช้ได้ ส่วนการกล่าวซิกรฺในซัจดะฮฺวาญิบเป็นมุซตะฮับ และกล่าวซิกรฺใดก็ได้ถือว่าถูกต้อง แต่ดีกว่าให้กล่าวว่า

“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ แน่นอนไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ข้าพระองค์ขอศรัทธามั่น และขอยืนยันว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ข้าพระองค์ขอเคารพภักดี และขอยอมมอบตนเป็นข้าทาส ข้าพระองค์ขอก้มกราบต่อพระองค์ โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ โดยการยอมตนเป็นข้าทาสบริวาร โดยไม่ขอแสดงตนเป็นผู้ทรนงตน และเป็นผู้ดื้อดึง หากแต่ว่าข้าพระองค์คือบ่าวผู้ตำ่ต้อย ผู้เกรงกลัว ผู้ขอความคุ้มครองต่อพระองค์”

การหลีกเลี่ยงการอ่านโองการซัจดะฮฺ

เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขต่าง ๆ แล้ว สมควรอย่างยิ่งที่บรรดาผู้อ่านต้องซัจดะฮฺไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะเช่นไรก็ตาม แต่ในบางคั้งจะพบว่าบางที่ประชุมได้อ่านโองการอัล-กุรอาน แต่เมื่อมาถึงโองการซัจดะฮฺวาญิบ พวกเขากลับหลีกเลี่ยงที่จะไม่อ่่าน สิ่งนี้นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง สมควรได้รับการตำหนิ

คำแนะนำคือ บรรดาผู้ที่อ่านอัล-กุรอาน เมื่ออ่านถึงโองการซัจดะฮฺไม่ว่าจะเป็นวาญิบหรือมุซตะฮับก็ตาม จำเป็นต้องซัจดะฮฺเพราะไม่มีความยุ่งยากใด ๆ ทั้งสิ้น บรรดาโองการซัจดะฮฺถูกประทานลงมาเพื่อให้มุสลิมได้อ่านเหมือนกับโองการอื่น ๆ เพื่อรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าและซัจดะฮฺต่อพระองค์ และเป็นที่ทราบกันดีว่าการซัจดะฮฺต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นหนึ่งในอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่และดีทีสุด ดังฮะดีซบทหนึ่งกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้า จะไม่ถูกเคารพภักดีด้วยสิ่งใดที่ดีเลิศไปกว่าการซัจดะฮฺ

ฮะดีซยังกล่าวอีกว่า สภาพที่บ่าวเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากที่สุด คือช่วงเวลาที่เขาทำการซัจดะฮฺ

ช่างเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน เมื่้อถึงโองการซัจดะฮฺแล้วเราไม่อ่าน เท่ากับเราไม่ได้ซัจดะฮฺต่อพระผู้อภิบาลผู้ทรงยิ่งใหญ่ เป็นการริดรอนอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่ไปจากตนเอง ด้วยเหตุนี้ สมควรอย่างยิ่งที่บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับโองการซัจดะฮฺวาญิบ ไม่ว่าจะเป็นวาญิบหรือมุซตะฮับกํตาม

ขอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกียรติ ได้โปรดบันดาลให้มุสลิมผู้อ่านอัล-กุรอานทุกคน เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้รุกูอฺและซัจดะฮฺโดยแท้จริงด้วยเถิด