กำเนิดสุริยคราส

1.จุดประสงค์ส่วนใหญ่ของอัล-กุรอาน

         คือการเน้นให้รู้ว่ามีพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ทรงบันดาลบริหารและทรงเอกะ ซึ่งเรียกว่า วะหดานียะฮฺ – เอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ได้ทรงส่ง รสูลแก่ทุกชาติ เพื่อจะได้เผยแผ่หลักธรรมของพระองค์

10:47 “ และสำหรับทุก ๆ ชาติมีรสูล ” หลักธรรมของบรรดารสูลนั้นเป็นอันเดียวกัน คือ

11:61 “ เขากล่าวว่า หมู่ชนของฉันเอ๋ย ! จงเคารพภักดีอัลลอฮฺ พวกท่านไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์”

         ในการที่จะให้มนุษย์รู้จักการมีและเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้านั้น อัล-กุรอานได้ให้ข้อแนะมากมายเกี่ยวกับความเป็นไปของจักรวาล โลกและเรื่องอื่นๆ เพื่อให้มนุษย์ได้พินิจพิจารณา เพราะเหตุนี้อัลลอฮฺจึงได้ตรัสถามมนุษย์เสมอๆ ว่า

          สูเจ้าไม่รู้หรือ  สูเจ้าไม่ไตร่ตรองหรือ  สูเจ้าไม่ใช้ปัญญาหรือ  “ บรรดาผู้รำลึกถึงอัลลอฮฺยามยืน ยามนั่ง และยามพวกเขานอนตะแคง (ทุกอิริยาบถ) และพวกเขาใคร่ครวญในการบันดาลชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา ! พระองค์มิได้ทรงสร้างสิ่ง (เหล่านี้) โดยไร้สาระ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ ดังนั้น ได้ทรงโปรดช่วยเราให้พ้นจาการลงโทษของไฟ (นรก) เถิด !”

           ตามโองการนี้ อัลลอฮฺทรงเตือนมนุษย์ให้ศึกษาความเป็นไปของจักรวาล และการหมุนเวียนของกลางคืนและกลางวันว่า มีเครื่องหมายอย่างแน่นอน ที่จะให้รู้ว่า มีผู้สร้างและบริหารมัน พระองค์ทรงยกย่องมนุษย์ว่า เป็น อุลุลอัลบาบ – ปวงผู้มีสติ บรรดาเหล่านี้เมื่อได้พินิจพิจารณาแล้ว พวกเขาจะอุทานเนื่องด้วยความจริงอันเป็นที่ประจักษ์แก่เขาทั้งหลายว่า ทุกสิ่งเหล่านี้มิได้ถูกบันดาลขึ้นเป็นเครื่องเล่น แต่มีอุดมการณ์และจุดประสงค์อันใหญ่หลวงลึกล้ำ

           30:8 “ พวกเขามิได้พิจารณาดูตัวของพวกเขาเองหรือ  อัลลอฮฺมิได้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินและที่อยู่ในระหว่างทั้งสอง (เพื่ออื่นใด) นอกจากเพื่อความจริง (คือมีจุดมุ่งหมาย) และสำหรับวาระที่ได้ถูกกำหนดไว้ (คือมีวันพินาศ) และแท้จริง ส่วนมากของมนุษย์เป็นผู้ปฏิเสธแท้ ๆ ต่อการพบพระผู้อภิบาลของพวกเขา (คือไม่เชื่อว่ามีปรโลก)”

          ตามโองการนี้ นอกจากกล่าวถึงการให้พิจารณาเรื่องจักรราศี ได้เตือนมนุษย์ให้พิจารณาร่างกายของตนเองด้วยว่า น่าอัศจรรย์เพียงใด  แท้จริง ร่างกายของมนุษย์นั้นน่าอัศจรรย์ยิ่ง เพียงแต่ระบบการย่อยอาหารของมนุษย์เท่านั้นก็เป็นโรงงานอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมนุษย์มิสามารถจะทำเทียมได้เลย มิพักต้องกล่าวถึงการทำงานของหัวใจ การหมุนเวียนของโลหิต การบังคับจากสมอง ฯลฯ

2. เมื่อกล่าวถึงการปฏิสนธิของมนุษย์ อัล-กุรอานได้บรรยายไว้จนครบถ้วน

          22:5 “ มนุษย์เอ๋ย ! ถ้าสูเจ้ายังอยู่ในการคลางแคลงเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีพ (ในวันปรโลก) ดังนั้น จงพิจารณาเถิดว่า เราได้บังเกิดสูเจ้าจากธุลี แล้วจากเชื้ออสุจิ (ซึ่งไปผสมกับไข่ในรังมดลูก) แล้วจากก้อนเลือด แล้วจากก้อนเนื้อ ทั้งที่เป็นรูปร่างโดยบริบูรณ์และที่ไม่เป็นรูปร่างโดยบริบูรณ์เพื่อเราจะทำให้กระจ่างแก่สูเจ้า (ว่าได้ถือกำเนิดมาอย่างธรรมดายิ่งโดยลำดับอย่างไร) และเราให้ที่เราประสงค์อยู่ในมดลูก (คือปฏิสนธิ) จนถึงเวลาที่กำหนดไว้ (คือเติบโตในครรภ์อย่างละเอียดอ่อนและลึกซึ้งจนครบกำหนดคลอด) แล้วเราให้สูเจ้าคลอดออกมาเป็นทารก แล้วเพื่อสูเจ้าจะได้ (เติบโต) บรรลุการเป็นผู้ใหญ่ของสูเจ้า และในหมู่สูเจ้ามีผู้วายชีวิต และในหมู่สูเจ้ามีผู้ที่ถูกนำกลับยังส่วนที่เลวที่สุดของชีวิต จนว่าเขาไม่รู้อะไรหลังจาก (มี) ความรู้ และ (หลักฐานอีกข้อหนึ่งก็คือ) เจ้าเห็นแผ่นดินแห้งแล้ง ครั้นเมื่อเราได้หลั่งน้ำ (ฝน) ลงมาบนมัน มัน (หมายถึงน้ำ) เคล้าและมันซุย (ทำให้แผ่นดินที่แห้งแล้งชุ่มชื้นซุยขึ้น) และเราได้ให้งอกเงย (จากแผ่นดินนั้น) ซึ่ง (พืช) ทุกชนิด (เป็นคู่ ๆ) งามอร่าม”

          ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลฯ มิใช่เป็นแพทย์ ท่านไม่ได้มาจากครอบครัวที่เป็นแพทย์ แต่โองการข้างต้นนั้นบรรยายการกำเนิดของกุมารตามลำดับโดยครบถ้วน โดยเหตุนี้แหละอัล-กุรอานจึงเป็นวะหี้ยฺ ไม่ใช่วิทยานิพนธ์

3. อัล-กุรอานให้เราสนใจในปศุสัตว์ และได้ยกตัวอย่างเรื่องธรรมดาที่สุดให้เราพิจารณา

           23:21-22 “ และแท้จริง ในเรื่องปศุสัตว์นั้นมีบทเรียนสำหรับสูเจ้า เราให้สูเจ้าดื่ม (น้ำนมที่กลั่นออกมาจาก) ที่อยู่ในท้องของมัน และสูเจ้าได้รับประโยชน์มากมายจากตัวมัน (เช่น จากหนัง, เขา,ขน,กระดูก,ไข,เนื้อและใช้เป็นพาหนะ) และบางชนิดสูเจ้าบริโภคมัน และสูเจ้า (พร้อมทั้งสัมภาระ) ถูกบรรทุกบน (หลังของ) มัน และในเรือ” จะเห็นได้ว่าโองการนี้แนะให้เรียนเรื่องสัตวศาสตร์ว่ามนุษย์จะได้รับความรู้และประโยชน์มากมาย แม้แต่น้ำนมของมันก็มีกล่าวไว้ว่า ได้ถูกกลั่นออกมาอย่างไร  

           16:66 “ และแท้จริง มีบทเรียนแน่นอนสำหรับสูเจ้าในเรื่องปศุสัตว์ เราให้สูเจ้าดื่มจากที่อยู่ในท้อง (แยกแตกต่างออกไป) ระหว่างมูล (ในลำไส้) และเลือด (คือ) น้ำนมบริสุทธิ์ เป็นที่คล่องคอแก่ผู้ดื่ม”

           สมัยนี้เรามีนมกระป๋อง นมผง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากนมธรรมชาติที่ได้แปรรูป แต่ไม่มีใครสามารถผลิตนมให้มีคุณค่าเท่านมมารดาได้ และน้ำนมที่ออกจากเต้านมของมารดาหรือนมของสัตว์นั้นได้ผ่านระบบต่าง ๆ ในร่างกายซับซ้อนเพียงใดจนเป็นอาหารอันมีค่ายิ่ง

4. อัล-กุรอาน กล่าวถึงลมว่า มีลมพาฝนมาตก, มีลมพาเกสรจากดอกไม้ต้นหนึ่งไปผสมกับอีกต้นหนึ่ง, มีลมพัดให้เรือแล่น และมีทั้งพายุ ให้เราศึกษาลมเหล่านี้

          24:43 “ เจ้าไม่พิจารณาดอกหรือ  (ในพระ เดชานุภาพของพระองค์) ว่าอัลลอฮฺทรงให้เมฆ (บาง ๆ) ลอย แล้วทรงทำให้มันประสานกัน แล้วทรงทำให้มันรวมกัน (เป็นก้อนโต) ดังนั้น เจ้าเห็นฝนโปรยออกจากท่ามกลางมัน (คือ จากกลุ่มเมฆ) และพระองค์ทรงประทานลงมาจากฟากฟ้าซึ่งฝนห่าใหญ่หลายห่า (ตามศัพท์แปลว่า ภูเขาหลายลูก เป็นอุปมาถึงฝนลูกเห็บตกอย่างหินร่วงลงมา) ในนั้นมีลูกเห็บซึ่ง (ตกลงมา) ถูกผู้พระองค์ทรงประสงค์ และทรงให้มันพ้นไปจากผู้พระองค์ทรงประสงค์ แสงฟ้าแลบแห่งสายฟ้าของพระองค์แทบเฉี่ยวสายตา (ของพวกเขา)” เมื่อเทียบกับวิชาว่าด้วยดินฟ้าอากาศ อุณหภูมิของโลก และการที่ไอน้ำลอยไปรวมตัวจนเป็นน้ำฝนตกลงมา เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่อัล-กุรอานกล่าวไว้ชัดเพียงไร แน่นอนมนุษย์ในสมัยนั้นไม่มีความรู้ในเรื่องนี้โดยละเอียด แต่อัล-กุรอานได้กล่าวแนะไว้เมื่อเกือบ 1400 ปีก่อนโน้น

          15:22 “ และเราได้ส่งลมเกสร (ซึ่งนำเกสรตัวผู้ตัวเมียและให้ปุ๋ยด้วย) แล้วเราได้ประทานน้ำลงมาจากฟากฟ้า ดังนั้น เราให้สูเจ้าดื่มมัน และสูเจ้ามิใช่ผู้สะสมมัน”