') //-->
โดยปกติมุสลิมส่วนใหญ่คิดว่าคัมภีร์ไบเบิลตามหลักการของคริสเตียนมีเพียงแค่ 4 ฉบับ นับตั้งแต่เริ่มต้นคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ และคิดว่าบรรดาคริสเตียนเชื่อว่านั่นคือคัมภีร์ของศาสดาเยซู แต่บรรดานักบาทหลวงของชาวคริสต์รายงานว่า ไม่มีชาวคริสต์ตนใดเชื่อและไม่ยอมรับว่านั่นเป็นคัมภีร์ที่มาจากศาสดาเยซู ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าความเชื่อของชาวคริสต์ทั้งหลาย แตกต่างไปจากความเชื่อของมุสลิม และอัล-กุรอาน ชาวคริสต์ทุกวันนี้จะไม่กล่าวว่าเยซูนำคัมภีร์นามว่า อินญีล มาประกาศเผยแผ่ แน่นอน เยซูไม่ได้นำเอาคัมภีร์อันเป็นวะฮฺยูจากพระเจ้าเยี่ยงมูซาที่ได้นำเอาเตารอต หรือมุฮัมมัดนำเอาอัล-กุรอานมาประกาศเผยแผ่สั่งสอน เยซูอยู่คนละสถานะกับโมเสสและมุฮัมมัด
ชาวคริสต์ต่างเชื่อว่าเยซูคืออวตารแห่งวะฮฺยูของพระเจ้า ตามความเชื่อของพวกเขาเยซูมิใช่ผู้แบกรับเอาสารทว่าเยซูคือตัวสาร ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่เชื่อว่าเยซูเขียนคัมภีร์ขึ้นมา หรือบรรดาสาวกของท่านได้จดบันทึกคัมภีร์ตามคำบอกเล่าของเยซู
ความเชื่อของชาวคริสต์ที่มีต่อคัมภีร์อินญีลสามารถสรุปได้ใน 2 ประเด็น กล่าวคือ
ประการที่หนึ่ง แก่นแท้และตัวตนของคัมภีร์อินญีล
ประการที่สอง การจดบันทึกขึ้นภายหลังและเรียกชื่อว่า คัมภีร์อินญีล
แก่นแท้และตัวตนของคัมภีร์อินญีล
อินญีลในนิยามของชาวคริสต์ หมายถึงการแจ้งข่าวหรือการประกาศ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเยซู คือ ความสัจจริงที่เขาได้นำมาเผยแผ่แก่ประชาชน (E.F,193)
ข้อเขียนของพันธสัญญาใหม่ ก็เรียกว่าอินญีลเช่นกันซึ่งประกาศความสัจจริงของพระเจ้า ซึ่งเยซูได้นำมาสั่งสอนในฐานะที่เป็นสิ่งช่วยเหลือมนุษย์ ชาวคริสต์เชื่อว่าคำประกาศเผยแผ่ คือ บทสรุปความทุกข์ระทมและความเจ็บปวดรวดร้าวที่เยซูได้ประสบในฐานะที่ท่านเป็น บุตรของพระเจ้า
ชาวคริสต์บางคนเชื่อว่าความหมายที่แท้จริงของ อินญีล ก็คือการเสียสละ หมายถึงศาสดาเยซูได้เอาชีวิต ความตาย และการฟื้นคืนชีพของตนช่วยเหลือมนุษย์ให้รอดพ้นจากความโง่เขลา ความผิด และรอดพ้นจากความตายและการสูญสิ้น (Van, 7-8) ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทุกคนที่ศรัทธาต่อเยซูเขาจะได้รับการอภัยจากพระเจ้า (C.E, 6/367)
บนพื้นฐานความเชื่อดังกล่าวจะเห็นว่า คัมภีร์อินญีล อันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ คัมภีร์ 4 ฉบับแรกในพันธสัญญาใหม่ แม้ว่าชื่อของคัมภีร์จะได้รับเรียกขานเมื่อปลายคริสศตวรรษที่ 2 ด้วยการเขียนรายงานถึงวิถีชีวิต คำพูด และการกระทำของเยซู ฉะนั้น เราจะต้องไม่สับสนหรือผสมปนเปกันระหว่าง คัมภีร์อินญ๊ลที่แท้จริง กับข้อเขียนของบรรดาบาทหลวงภายหลังจากนั้น ซึ่งในความเป็นจริงตัวบทของอินญีลทั้ง 4 ฉบับ และคัมภีร์ฉบับอื่น ๆ จากพันธสัญญาใหม่มีการกล่าวถึง อินญีล ไว้ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้ใช่คำตรง ๆ ว่า อินญีล หรือมีจุดประสงค์ว่าเป็นอินญีล (N.C.E, 6/367)
แต่จะเห็นว่าการใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่จากความหมายของคำ ๆ นี้ (หรือแก่นแท้ของอินญีล) ได้จากคำพูดของปอล (Paul) ซึ่งเป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่งว่าเขาได้ใช้คำในภาษากรีกว่า อูวางก์ลิยูน ซึ่งคำว่าอินญีลได้ นำมาจากคำนี้ และเขาใช้คำนี้ถึง 60 ครั้งด้วยกัน (รูมียาน 1: 1-5, 1:9, 1- 15)
การจดบันทึกของชาวคริสต์ในนามอินญีล
หลังจากครึ่งศตวรรษแรกแห่งปีคริสตศักราชผ่านพ้นไป บรรดาอัครสาวกของเยซูและศานุษิตย์ของพวกเขาได้ลงมือเขียนคัมภีร์ตามบันทึกต่าง ๆ ซึ่งข้อเขียนฉบับนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน ดังนี้
1. กอสเปล (Gospel) หรือที่เรียกว่า พระวรสาร
2. แอคท์ (Act) หรือที่เรียกว่า พระบัญญัติ
3. อีปีสโตลารี่ (Epistolary) เป็นหมวดว่าด้วยจดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์และกิจการของเซนต์ปอล
4. อโปคาลิปติก (Apocalyptic) หรือเรียกอีกอย่างว่า หมวดเทพเจ้านิมิต
การบันทึกส่วนแรกที่เรียกว่าพระวรสารนั้นเกี่ยวข้องกับบรรดาสาวกของเยซู หรือปอล (Paul) เขาได้เขียนพระวรสารส่งให้ชาวคริสทั่วโลกพร้อมกับส่งสารของเยซูไปถึงมือของพวกเขา ซึ่งพระวรสารส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้บันทึกอยู่ในไบเบิลฉบับสัญญาใหม่
ส่วนสารของสาวกคนอื่น ๆ ของศาสดาเยซู คือ โยฮันนา ยาโกโบ บุตรชายเซเบ ยูดาย อิสการิโอด ซิมอน หรือเปโตร และมัดธายยังคงหลงเหลืออยู่และเป็นที่ยอมรับของคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ ซึ่งสารบางฉบับถูกปฏิเสธโดยโบสถ์ในช่วงศตวรรษแรกแห่งปีคริสตศักราช
สาวกคนอื่นเฉกเช่น ลูกา ได้ทำการจดบันทึกกิจกรรมการเผยแผ่ของบรรดาอัครสาวก ไว้ในคัมภีร์แอคท์ (Act) หรือที่เรียกว่า พระบัญญัติ หมวดนี้กล่าวถึงกิจการต่างๆ ที่อัครสาวกของพระัเยซูได้เผยแผ่ศาสนาภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูโดยเฉพาะเป็นเรื่องกิจการเผยแผ่ศาสนาของเซนต์ปอล
คัมภีร์บางฉบับเขียนเป็นรหัสอักษรย่อและสัญลักษณ์ต่าง ๆ โดยพยากรณ์ถึงเหตุการณ์ในยุคสุดท้ายเรียกว่า อโปคาลิปติก (Apocalyptic) หรือเรียกอีกอย่างว่า หมวดเทพเจ้านิมิต ซึ่งคัมภีร์หมวดสุดท้ายของพันธสัญญาฉบับใหม่คือ อโปคาลิปติก ของโยฮันนา
สุดท้ายแล้วบรรดาอัครสาวกบางท่านและบรรดาสานุศิษย์ได้ทำการจดบันทึกชีวประวัติของเยซู ซึ่งประกอบไปด้วย กิจกรรมและคำพูดของเยซู ซึ่งแนวทางการจดบันทึกมี 2 แบบ กล่าวคือ จดบันตามที่ตนเห็นกับตาตัวเอง กับจดบันทึกตามคำบอกเล่าของผู้ที่พบเห็น การจดบันทึกได้ดำเนินสืบต่อกันมาจนถึงครึ่งศตวรรษที่สองแห่งปีคริสตศักราชบันทึกฉบับนี้ได้มีชื่อว่า อีปีสโตลารี่ (Epistolary) เป็นหมวดว่าด้วยจดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์และกิจการของเซนต์ปอล และต่อมาในปลายศตวรรษที่สองนั้นเอง อีปีสโตลารี ก็ถูกรู้จักในนามของอินญีลหรือไบเบิล
ชาวคริสต์กล่าวว่าเราได้รับนามอินญีลเหล่านี้มาถึง 50 นามด้วยกัน แต่จนปัจจุบันเรามีข้อมูลแค่ 20 นามเท่านั้น ซึ่งอินญีลเหล่านั้นประกอบไปด้วย ซิมอน หรือเปโตร อันดรอง น้องชายของเปโตร ยาโกโบ บุตรชายเซเบดาย โยฮัน น้องชายของยาโกโบ ฟิลิป ปาร์โธโลมาย ซึ่งทั้งหมดจัดว่าเป็นอัครสาวกทั้งสิ้น (I.S.B.E, 1/183)
โบสถ์ของชาวคริสต์ในช่วงสุดท้ายของศตวรรษที่สองแห่งปีคริสตศักราช ได้นำเอาการจดบันทึกต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่นำมาจากบันทึกสี่ฉบับดังที่กล่าวไปข้างต้นมาเป็นคัมภีร์ว่าด้วยเรื่อง ศาสนบัญญัติ (Canon) หรือเรียกว่า พันธสัญญาใหม่ (New Testament) อยู่คู่กับพันธสัญญาเดิม (Old Testament) เป็นหมวดที่สองของคัมภีร์ไบเบิล
ปี ค.ศ. ที่ 382 ได้มีการตรวจสอบคัมภีร์อีกครั้งโดยสมาคมที่เชื่อถือได้ ซึ่งในการตรวจสอบครั้งนี้มีการนำเสนอคัมภีร์ถึง 27 ฉบับด้วยกัน ต่อมารายชื่อคัมภีร์เหล่านั้นถูกส่งไปยังองค์กร เทรนทฺ (Trent) ซึ่งราว ปี ประมาณ 1545-7 ได้รับการรับรองโดยองค์กรดังกล่าวอันเป็นระยะเวลาที่ห่างไกลกันมาก (27, Lofmark) เป็นอีกบันทึกหนึ่งซึ่งไม่ได้รับการรับรองจากโบสถ์ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นการบันทึกที่เคลือบแคลงสงสัย และไม่ได้รับการเชื่อถือ ซึ่งส่วนใหญ่สูญหายไปแล้วแต่ยังคงเหลืออีกบางส่วนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องน่าใจว่าว่าบางส่วนที่ไม่ได้รับการรับรองที่ยังคงเหลืออยู่นี้ สามารถอ่านได้จากคัมภีร์ทั้งสี่เล่มคือ (กอสเปล (Gospel) แอคท์ (Act)อีปีสโตลารี่ (Epistolary)อโปคาลิปติก (Apocalyptic) (I.S.B.E., 1/165)
ชาวคริสต์ไม่ยอมรับว่าผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ (New Testament) กล่าวคือ อินญีลหรือไบเบิลทั้ง 4 ฉบับเป็นอัครสาวก แต่เชื่อว่าทั้งหมดได้รับการดลใจจากพระเจ้า จึงสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้
อย่างไรก็ตามพันธะสัญญาใหม่นั้น เป็นหัวใจของศาสนาคริสต์ ประกอบด้วย
1.พระกิตติคุณ หรือพระวรสาร 4 ฉบับ กล่าวถึงประวัติและคำสั่งสอนของพระเยซูอย่างสมบูรณ์
2. กิจการของสาวก 1 ฉบับ
3. จดหมายและคำสอนของสาวกปอล (Paul) 14 ฉบับ
4. จดหมายของอัครสาวกยาโคโบ 1 ฉบับ
5. คำสอนของอัครสาวกปิเตอร์ (piter) 2 ฉบับ
6. คำสอนของอัครสาวกโยฮัน 3 ฉบับ
7. คำสอนของอัครสาวกยูดา 1 ฉบับ
8. บทพยากรณ์ของอัครสาวก 1 ฉบับ
รวมทั้งสิ้น 27 ฉบับ และเหตุที่เรียกว่าพระคัมภีร์ว่า พันธะสัญญา นั้น เพราะถือว่าพระวจนะของพระเจ้าเป็นพันธะสัญญาที่พระเจ้าได้มีต่อมนุษย์ผู้มีศรัทธาในพระองค์ เป็นข้อผูกพันระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ สัญญาฉบับใหม่ ทรงทำกับมนุษย์โลกทั้งหมดว่าผู้ใดศรัทธาในพระเยซู พระบุตรของพระเจ้าจะโปรดให้รอดจากบาป และมีชีวิตนิรันดร ทรงกล่าวว่า ผู้ใดทรงวางใจในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร ผู้ที่ไม่เชื่อฟังพระบุตรก็จะไม่ได้เห็นชีวิต และพระพิโรธของพระเจ้าก็จะตกอยู่กับพวกเขา
จากสิ่งที่กล่าวมาจะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนระหว่างมุมมองของอิสลามที่มีต่ออินญีล (ไบเบิล) กับมุมมองของชาวคริสทึ่มีต่ออินญีล อิสลามนั้นเชื่อมั่นว่าอินญีลคือ วะฮฺยูของพระเจ้าที่ทรงประทานแก่ศาสดาอีซา (เยซู) แน่นอน ด้วยเหตุผลที่ว่าอีซา (อ.) หรือเยซู คือ ศาสดาองค์หนึ่งที่พระเจ้าทรงประทานลงมาเพื่อให้เผยแผ่คำสอนของพระองค์แก่ประชากร และอีซายังเป็นหนึ่งในบรรดาศาสนทูตที่เป็นเจ้าของบทบัญญัติ ซึ่งบทบัญญัติที่อีซาได้รับ คือ วะฮฺยูหรืออินญีลนั่นเอง เป็นบทบัญญัติที่ท่านได้รับในสมัยที่ท่านทำการประกาศเผยแผ่นั่นเอง ซึ่งหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวยืนยันว่าอีซาเป็นศาสนทูตคนหนึ่ง และเป็นเจ้าของบทบัญญัติ คือ พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ซึ่งเป็นหนึ่งในพระดำรัสของพระเจ้า
แต่ชาวคริสต์ทั้งหลายมิได้มีความเชื่อดังเช่นที่อิสลามเชื่อ ไบเบิลหรืออินญีล คือ คัมภีร์ที่ได้รับการรวบรวมโดยอัครสาวกของเยซูที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า ชาวคริสต์ไม่เชื่อว่าอินญีลหรือไบเบิลเป็นวะฮฺยูของพระเจ้า
ผลของการเชื่อว่าไบเบิลไม่ใช่วะฮฺยูของพระเจ้า คือ คำสอนศาสนาจะกลายเป็นประสบการของบุคคลที่เคร่งครัด หลังจากทดสอบตนเองแล้วทำให้บรรลุมองเห็นทางที่จะแก้ไขสิ่งผิดพลาดด้วยตัวเอง และนำสิ่งเหล่านั้นมาบันทึกเป็นคัมภีร์ที่เกิดจากประสบการณ์ของตนเอง เพื่อเป็นคำสอนแก่พสกนิกรในรุ่นต่อไป และเมื่อเป็นเช่นนั้นความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอนกับหลักการ และคำสอนดั้งเดิมของศาสนาดังที่เราจะพบว่าจากรายงานของชาวิคริสต์เองว่า ความเชื่อในปัจจุบันที่ชาวคริสต์เชื่ออยู่นั้น ต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิมที่บรรดาอัครสาวกได้วางไว้ในศตวรรษแรก ซึ่งสามารถเห็นความแตกต่างได้ดังนี้
หลักความเชื่อดั้งเดิม
หลักความเชื่อดั้งเดิมที่พวกอัครสาวกได้วางไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 เพื่อให้ศาสนิกชนท่องเมื่อนมัสการพระเจ้า หรือเมื่อทำพิธีรับศีลและยึดถือเป็นรากฐานแห่งความเชื่อถือของคริสตร์ศาสนิกชนต่อมา เรียกว่า ภาษาละติน เครโด (Credo) ซึ่งยังคงใช้อยู่ในศาสนาจักรคาทอลิก แยกได้ 6 ประการดังนี้
1. เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ เนรมิตฟ้าดินทั้งสิ่งที่เห็นได้และเห็นไม่ได้
2. เชื่อในพระเยซูพระบุตรแต่องค์เดียวของพระเป็นเจ้าทรงบังเกิดทรงบังเกิดจากพระบิดา ก่อนกับก่อนกัลป์เป็นพระเจ้า จากพระเป็นเจ้าเป็นองค์ความสว่าง จากองค์ความสว่างเป็นพระเป็นเจ้าแท้ จากพระเป็นเจ้าแท้มิได้ถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดา พระองค์พระบุตรนี้ได้ทรงเนรมิตทุกสิ่งขึ้นมา เพราะเห็นแก่เรามนุษย์เพื่อช่วยให้รอด พระองค์จึงเสด็จจากสวรรค์
3. เชื่อในพระจิตเจ้า ผู้ประทานชีวิตทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร พระองค์ดำรัสทางประกาศ
4. เชื่อในพระศาสนจักร (หนึ่งเดียว) ศักดิ์สิทธิ์ และสืบจากอัครสาวก
5. เชื่อในการยกบาป ยอมรับว่าพิธีล้างที่ยกบาปมีแต่พิธีเดียว
6. เชื่อในการคืนชีพของร่างกาย และรอคอยวันพิพากษาโลก
หลักความเชื่อดั้งเดิมนี้ แต่ละนิกายก็ได้ตีความหมายไปต่าง ๆ กัน และทำให้เกิดทฤษฎีศาสนา ที่ชัดแจ้งและซับซ้อนอำนาจขึ้นมากมาย นิกายคาทอลิกถือว่าศาสนจักรคาทอลิกเท่านั้นมีอำนาจสิทธิตีความหมายที่ถูกต้องได้แต่ผู้เดียว ฝ่ายนิกายอื่นถือเสรีภาพเท่าเทียมกันต่างก็อ้างว่า หลักความเชื่อของตนใกล้เคียงกับที่พระเยซูทรงสอนไว้มากที่สุด
หลักความเชื่อต่อมา
1. พระบิดา พระบุตร และพระจิต เป็น 3 บุคคลแต่ละบุคคลเป็นพระเจ้าสมบูรณ์ในตนเองเสมอกัน แต่เนื่องมาจากกันพระบิดาทำให้บังเกิดพระบุตร และพระจิตเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร ทั้ง 3 บุคคลรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า ตรีเอกภาพ (Trinity)
2. พระเยซูทรงมี 2 สภาวะ คือ สภาวะพระเจ้า และสภาวะมนุษย์ 3 วันหลังจากพระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขน ได้ฟื้นคืนพระชนม์ พระองค์ได้เสด็จไปสู่สวรรค์ หลังจากได้ประทับอยู่กับสาวกเป็นเวลา 40 วัน
3. ยกย่องพระนางมาเรีย เป็นพระมารดาของพระเจ้า เรียกโดยทั่วไปว่า แม่พระ และถือว่าเมื่อก่อนที่พระเยซูจะเสด็จสู่สวรรค์ได้ทรงสถาปนาพระนางให้เป็นแม่พระของของคริสต์ศาสนิกชนทุกคน และพระนางได้ถูกยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่าง ทรงเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับคริสต์ศาสนิกชน
4. ยกย่องโยเซฟเป็นนักบุญ และยกย่องนับถือสหพันธ์นักบุญ นักบุญคือคริสต์ศาสนิกชนที่ได้อุทิศตนให้แก่ศาสนจักร และพระเจ้าโปรดให้วิญญาณขึ้นสวรรค์ในวันสิ้นโลกแล้วมารวมกับวิญญาณ ส่วนวิญญาณจะถูกพิพากษาทันทีเป็นรายบุคคลไป ถ้าทำดีจะได้ไปอยู่รวบกับพระเจ้าในสวรรค์นิรันดร และถ้าทำชั่วจะถูกพิพากษาให้ลงนรกนิรันดรเช่นเดียวกัน
6.พระเยซูได้ทรงสัญญาจะประทานพระจิตเจ้าก่อนเสด็จสู่สวรรค์ และเมื่อได้รับพระจิตเจ้าแล้วบรรดาสาวกจะได้เข้าใจภารกิจของพระคริสต์ และประชากรใหม่แห่งพันธะสัญญาใหม่คือ พระศาสนจักรของพระคริสต์
เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็จะพบว่าทั้งสองความเชื่อ มิใช่ความเชื่อที่มาจากพระเยซู แต่เป็นความเชื่อที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิตของอัครสาวก ทั้งสองจึงมีความผิดพลาดและต้องมาสังคยานาความเชื่อกันใหม่อีก
ในลำดับต่อไปจะนำเสนอการปกป้องคำกล่าวอ้างของพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อและข้อกล่าวอ้างของชาวคริสต์โดยทั่วไปดังที่กล่าวผ่านมาแล้ว