') //-->
ชิกรฺ หมายถึง การพึ่งพาสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระเจ้า ยกฐานะของบ่าวให้เป็นพระเจ้า
ชิกรฺ หมายถึง การยึดอำนาจอื่นให้เสมอกับอำนาจของพระเจ้า
ชิกรฺ หมายถึง การยอมจำนนต่อผู้อื่นโดยไม่ขัดขืนนอกเหนือไปจากพระเจ้า
ชิกรฺ หมายถึง การจัดตั้งกลุ่มและพรรคโดยมีเป้าอื่นนอกเหนือไปจากพระเจ้า
ชิกรฺ หมายถึง การนอบน้อมต่ออภิมหาอำนาจอื่นนอกเหนือไปจากอำนาจของพระเจ้า
ถ้าหากพิจารณาเรื่องราวที่ปรากฏในอัล-กุรอาน จะพบว่ามีอยู่ 2 ประเด็นอัล-กุรอานกล่าวถึงมากที่สุด อันได้แก่
1. การฟื้นฟูพลังศรัทธาให้มีชีวิตชีวาด้วยพลังอำนาจของพระเจ้า การรำลึกถึงการช่วยเหลือและความเมตตาอันเร้นลับอย่างต่อเนื่องของพระเจ้า และการไม่ลืมเลือนความโกรธกริ้วของพรเจ้า
2. การทำลายล้างพระเจ้าจอมปลอม แนวทางที่ผิดพลาด แบบอย่างอันไม่ถูกต้อง และการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าให้สิ้นไปอย่างสิ้นเชิง
อัล-กุรอาน กล่าวถึงคำตักเตือนของศาสดานูฮฺ (Noah) (อ.) ที่มีต่อบุตรของท่าน โดยท่านได้ชี้ให้เห็นความผิดพลาดและอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบรรดาผู้ปฏิเสธซึ่งพวกเขาจะจมน้ำตายทั้งหมด เนื่องจากความโกรธกริ้วของพระเจ้า บุตรของท่านกล่าวโต้ตอบว่า กว่าความโกรธกริ้วของพระเจ้าของท่านจะมาถึงฉันก็หนีขึ้นไปอยู่บนยอดเขาแล้ว อัล-กุรอาน กล่าวว่า
(ลูกชายนูฮฺกล่าวว่า) ฉันจะไปอาศัยภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งมันจะคุ้มครองฉันจากน้ำนี้ได้ นุฮฺ กล่าวว่า ไม่มีผู้ใดคุ้มครองเจ้าในวันนั้นให้รอดพ้นจากพระบัญชาของอัลลอฮฺได้ เว้นแต่ผู้ทีพระองค์ทรงเมตตาหลังจากนั้นคลื่นได้ซัดเข้ามาระหว่างทั้งสอง และลูกชายนูฮฺได้จมน้ำ (อัล-กุรอาน บทฮูด โองการที่ 43)
จะเห็นได้ว่าเหตุผลของบุตรชายนูฮฺ (อ.) คืออะไร เขาได้นำเอาภูเขาและอำนาจของภูเขาขึ้นเทียบเคียงกับความโกรธกริ้วของพระเจ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า
ดังนั้น ถ้าหากเรานำบุคคลหรืออำนาจอื่นขึ้นเทียบเคียงกับพระเจ้าเหมือนดังที่บุตรชายของนูฮฺ (อ.) ได้กระทำก็ถือว่าเป็นการตั้งภาคีเทียบเคียงกับพระองค์
การมีอยู่ของมนุษย์เป็นแบบวัตถุสสารและมีความหลงใหลในวัตถุปัจจัยอย่างยิ่ง ในอดีตกาลที่ผ่านมาเมื่อความตายได้กล้ำกรายมาสู่เหล่าผู้นำหรือคนมีเกียรติและได้เสียชีวิตลง ประชาชนจะช่วยกันสร้างรูปปั้นแทนตัวของเขาเพราะความอาลัยรักที่มีต่อผู้จากไป และพวกเขาจะแสดงความเคารพต่อรูปปั้นเหล่านั้น ซึ่งการแสดงความเคารพดังกล่าวต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการสักการบูชา
อีกตัวการหนึ่งทีสามารถกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการของการตั้งภาคีในสังคม คือ ความกลัวในผู้อธรรม ความอยากได้ และการลอกเรียนแบบของกันและกัน
การตั้งภาคีเทียบเคียงตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้ปรากฏในรูปโฉมต่าง ๆ มากมาย เมื่อวานเราเห็นการตั้งภาคีในรูปแบบหนึ่งและวันนี้เราเห็นอีกแบบหนึ่ง
การตั้งภาคีเทียบเคียงในอดีตที่ผ่านมา คือ การเคารพสักการดวงตะวัน ดวงเดือน ดวงดาว และเจว็ดรูปปั้นต่าง ๆ
แต่การตั้งภาคีในวันนี้ คือ การหลงใหลในตำแหน่งหน้าที่ ลาภยศสรรเสริญ ความเก่งกาจ ทรัพย์สินเงินทอง และใบประกาศนียบัตรต่าง ๆ
การตั้งภาคีเมื่อวาน คือ ความอคติและการบูชาเผ่าพันธุ์ ส่วนการตั้งภาคีในวันนี้ คือ ธรรมชาตินิยมและการบูชาประเทศชาติ
คนหนึ่งกล่าวว่า ทุกวันนี้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งนมาซขอฝนแล้ว เพราะเราทำฝนเทียมได้หรือเราสามารถขุดบ่อบาดานให้ลึกเพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้แทนน้ำฝนได้
บางคนกล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาที่พระเจ้าจะมาแสดงความกริ้วโกรธต่อปวงบ่าว หรือให้ความลำบากยากแค้นจนทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพข้าวยากหมากแพง เนื่องจากเรามีเรือเดินทะเลขนาดใหญ่มหึมาสามารถขนถ่ายสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว
บางคนกล่าวว่า เราเชื่อและยอมรับกฎหมายของพระเจ้า แต่จะให้เราละเว้นกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศชาติหรือกฎของสหประชาชาติได้อย่างไร แม้ว่ากฎของพระเจ้าจะกล่าวเช่นนั้นแต่ความพึงพอใจของภรรยาและครอบครัวก็ต้องให้ความสำคัญเดียวเหมือนกัน
บางครั้งเราก็ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้า และในบางครั้งก็ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อื่น การกระทำประเภทนี้ตามหลักตรรกศาสตร์ถือว่าขัดแย้งกับการเคารพภักดีต่อพระเจ้า
นักปราชญ์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งกล่าวว่า ก่อนการปฏิวัติอิสลามฉันได้เดินทางมาเตหรานพร้อมกับท่านอิมามโคมัยนี ฉันกล่าวกับท่านว่าดีจังเลยที่รัฐบาลอีรักไม่อนุญาตให้ชาวอิหร่านเดินทางไปอีรัก มิเช่นนั้นนักปราชญ์และนักเรียนศาสนาจากเมืองกุมจะแห่ไปเรียนที่รักกันหมด เมื่อนั้นสถาบันศาสนาแห่งเมืองกุมก็จะว่างเปล่าปราศจากนักเรียนศาสนา อิมามแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งท่านได้กล่าวกับฉันตั้งแต่ออกจากกุมจนถึงเตหะรานว่า ถ้าบุคคลหนึ่งคิดถึงบางสิ่งที่นอกเหนือจากพระเจ้า คิดให้คนหนึ่งสูงกว่าอีกคนหนึ่ง คิดให้เมืองกุมสูงกว่านะญัฟ หรือคิดให้สถาบันศาสนาแห่งเมืองกุมพลุกพล่านกว่านะญัฟ หรือกลับกัน ดังนั้น ถ้าบุคคลใดคิดถึงสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากความพึงพอพระทัยของพระเจ้า เท่ากับเขาได้ทำตัวให้ห่างไกลไปจากความเป็นเอกภาพของพระองค์ เป้าหมายในการดำเนินชีวิตและการงานของเราต้องเป็นพระเจ้าเท่านั้น มิใช่สิ่งอื่นแต่อย่างใด
อัล-กุรอาน ใช้คำว่า นอกจากอัลลอฮฺ หรือนอกจากพระองค์ ประมาณ 200 ครั้ง หมายถึงสิ่งอื่นใดนอกจากพระเจ้า ดังนั้น ถ้าหากจะค้นหาสัญลักษณ์ของการตั้งภาคีที่ถูกต้องและเป็นบัญญัติของอัล-กุรอานด้วย คำว่า นอกจากอัลลอฮฺ มีความเหมาะสมมากที่สุด แน่นอน สำหรับบุคคลที่ยึดถือสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากพระเจ้าเท่ากับเขาได้แสวงอำนาจและเกียรติยศจากสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระองค์ ปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่นอกเหนือไปจากกฎหมายของพระเจ้า และผูกพันจิตใจเข้ากับสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระองค์ การขับเคลื่อนของพวกเขาเป็นไปเพื่อสิ่งอื่น พวกเขาเกรงกลัวสิ่งอื่นนอกเหนือพระองค์ และที่สำคัญพวกเขากระทำการงานต่าง ๆ เพื่อบุคคลอื่นมิใช่พระองค์
หนึ่งในปัญหาสำคัญด้านจิตวิทยา คือ การวิจัยที่มาของความในใจที่สลับซับซ้อนและวิธีป้องกัน ดังนั้น บุคคลทีพันธนาการตัวเองเข้ากับความเป็นเอกภาพของพระเจ้าความคิด การกระทำ และการเคลื่อนไหวของเขาล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระเจ้า แน่นอน คำว่าพ่ายแพ้ไม่มีความหมายสำหรับเขา
บุคคลที่ดำเนินชีวิตและกระทำทุกภารกิจการงานในหนทางของพระเจ้า แน่นอน พระเจ้าคือผู้ซื้อการลงทุนที่ดีที่สุด ดังอัล-กุรอานกล่าวว่า
แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงซื้อจากบรรดาผู้ศรัทธาซึ่งชีวิตและทรัพย์สมบัติของพวกเขา โดยพวกเขาจะได้รับสรวงสวรรค์เป็นการตอบแทน พวกเขาต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺ ไม่ว่าพวกเขาเป็นผู้สังหารหรือถูกสังหาร เหล่านี้เป็นสัญญาของพระองค์ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์เตารอฮ์ อินญีล และกรุอาน และใครเล่าจะรักษาสัญญาของเขาให้ดียิ่งไปกว่าอัลลอฮฺ ดังนั้น สูเจ้าจงชื่นชมยินดีในการขายของสูเจ้าเถิดที่สูเจ้าได้ขายไปและนั่น คือ ชัยชนะอันใหญ่หลวง (อัล-กุรอาน บทอัตเตาบะฮฺ โองการที่ 111)
อัล-กุรอาน กล่าวว่า พระองค์ทรงได้ยินและทรงมองเห็นการกระทำของเขา ซึ่งอัล-กุรอานหลายโองการยืนยันถึงสิ่งนี้เอาไว้
อัล-กุรอาน เน้นย้ำว่าสูเจ้าจงอย่ากระทำการงานเพื่อใครอื่นนอกจากพระเจ้า และจงอย่าหวังการตอบแทนจากผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้น ดังเป็นที่ประจักษ์ชัดในเรื่องราวของท่านอิมามอะลี (อ.) กับครอบครัวของท่านที่ว่า ท่านกับครอบครัวถือศีลอดติดต่อกัน 3 วัน แต่ทั้งสามวันท่านได้บริจาคอาหารละศีลอดให้แก่คนจน คนอนาถา และคนเดินทางท่านกล่าวว่าสิ่งที่ฉันกระทำมิได้หวังสิ่งใดอื่น นอกจากความพึงพอพระทัยของพระเจ้า อัล-กุรอาน กล่าว สำทับเรื่องนี้ว่า
แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮฺ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด (อัล-กุรอาน บทอัลอินซาน โองการที่ 9)
การที่เรากล่าวว่าท่านได้งานจากคนนั้นหรือไม่ พ่ายแพ้หรือชนะ หรือนักจิตวิทยามักจะกล่าวเสมอว่า บุคคลนั้นไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดเป็นปมด้อยในใจเรื่อยมา ความสำเร็จและไม่สำเร็จเหล่าอยู่นอกวงจรของความเป็นเอกะของพระเจ้า เนืองจากในสาระบบของความเป็นเอกภาพของพระเจ้าจะไม่มีคำว่าไม่ประสบความสำเร็จ ดังที่ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า พระศาสดามุฮัมมัด (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัว) ครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นคนเลี่ยงแกะ ท่านเคยอพยพจากมักกะฮฺไปยังมะดีนะฮฺ เคยขึ้นไปตั้งจิตภาวนาบนยอดเขา เคยเข้าร่วมสงคราม กล่าวเทศนาบนอาสน์เทศนา เดินเวียนรอบวิหารกะอฺบะฮฺ ผสมดินเลนเพื่อสร้า่งมัสญิด หรือถูกห้อมล้อมด้วยผู้คน สิ่งเหล่านี้ไม่มีความแตกต่างหรือมีอิทธิพลเหนือจิตใจท่านศาสดาเลยแม้แต่เล็กน้อย แน่นอน หน้าที่ความรับผิดชอบของคนเราไม่เหมือนกันเราไม่อาจทำตามใจปรารถนาได้ ซึ่งตัวเราต่างหากเป็นผู้เปลี่ยนอาชีพการงาน เสื้อผ้า ห้องทำงาน หรือข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ตามความต้องการ เราคือผู้แสวงหาความโศกเศร้าและมุ่งหน้าไปสู่ดินแดนของของการฆ่าตัวตาย ซึ่งสิ่งทั้งหมดเหล่านี้เราได้นำมาเป็นหลักสำหรับตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราได้สร้างเจว็ดให้แก่ตัวเอง
คำว่า ชิกรฺ มีความหมายกว้าง ดังนั้น ถ้าเราพิจารณาสักเล็กน้อยเราจะพบทันที่ว่ากลุ่มชนที่มีความบริสุทธิ์ใจนั้นมีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้บริสุทธิ์ใจหมายถึง กลุ่มชนที่มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตและภารกิจการงานของตนคือพระเจ้า เขาไม่เคยมุ่งหวังคำขอบคุณหรือรางวัลตอบแทนจากบุคคลอื่นที่นอกเหนือไปจากพระเจ้า ไม่เคยกระทำกิจการงานใดเพื่อการโอ้อวด ยอมจำนนและมอบหมายตัวเองต่อพระบัญญัติของพระเจ้า ไม่เคยกล่าวอธิบายกฎเกณฑ์อื่นใดนอกเหนือไปจากกฎเกณฑ์ของพระองค์ อัลกุรอาน กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ศรัทธาต่อพระเจ้า นอกเสียจากเคียงข้างความศรัทธาของตนคือการตั้งภาคีเทียบเคียง และพึ่งพาสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระองค์
การตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้านั้นมีผลในทางลบอย่างมากมาย ซึ่งจะขอกล่าวพอสังเขปดังนี้
1. ยกเลิกการกระทำ
การตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าเป็นสาเหตุทำให้การงานต่าง ๆ เป็นโมฆะ อัล-กุรอาน กล่าวว่า คุณงามความดีทั้งหลายของมนุษย์จะถูกยกเลิกทั้งหมดเนื่องจากการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า
บางครั้งการกระทำเพียงเล็กน้อยในชีวิตจะทำให้สิ่งที่ตนขวนขวายมาทั้งหมด ถูกทำลายทิ้งจนหมดสิ้นโปรดพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้
ก. บางครั้งนักเรียนคนหนึ่งขยันเรียนตั้งแต่ต้นเทอม แต่พอถึงปลายปีกลับขาดสอบจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่ได้รับใบประกาศนียบัตรและแม้ว่าความรู้ของเขาจะคงที่เหมือนเดิม แต่ปราศจากความเชื่อถือทางสังคม
ข. สมมุติว่าบุคคลหนึ่งดูแลรักษาสุขภาพพลานามัยตลอดเวลา แต่ชั่วขณะหนึ่งเขาพลาดกินพิษเข้าไป ซึ่งการกระทำเพียงเล็กน้อยนั้นทำให้สุขภาพอนามัยที่เขาเฝ้าดูแลมาตลอดทั้งปี ถูกทำลายทิ้งอย่างสิ้นเชิง
ค. นักศึกษาคนหนึ่งตลอดอายุขัยของตนได้รับใช้และปฏิบัติแต่สิ่งดีงาม อีกทั้งยังเป็นลูกศิษย์คนโปรดของอาจารย์ แต่ในบั้นปลายเขาผิดพลาดโดยสังหารบุตรชายของอาจารย์เสียชีวิต ดังนั้น สิ่งที่เขากระทำไว้จึงสูญเสียไปทั้งหมด
แน่นอน การตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าเหมือนกับการดื่มยาพิษ หรือการสังหารบุตรชายอาจารย์ที่ทำลายคุณงามความดีที่ตนกระทำไว้จนหมดสิ้น ลำดับต่อไปลองพิจารณาสิ่งที่อัล-กุรอานถึง
ถ้าหากพวกเขาได้ตั้งภาคีเทียบเคียงขึ้น แน่นอน สิ่งที่พวกเขาเคยกระทำกันมาก็จะสูญสิ้นไปจากพวกเขา (อัล-กุรอาน บทอัล-อันอาม โองการที่ 88)
ฉะนั้น จะเห็นว่าถ้าพวกเขาตั้งภาคีกับพระเจ้าการงานของพวกเขาจะสูญเปล่าทันที ซึ่งการตั้งภาคีถือว่าเป็นประเด็นใหญ่ เพราะแม้แต่พระศาสดามุฮัมมัดพระองค์ทรงเน้นย้ำไว้เช่นกัน อัล-กุรอาน กล่าวว่า
แน่นอน ได้มีวะฮียฺมายังเจ้า (มุฮัมมัด) และบรรดานบีก่อนหน้าเจ้าแล้ว ดังนั้น หากเจ้าตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ การงานของเจ้าก็จะไร้ผลทันที และเจ้าจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุนแน่นอน (อัล-กุรอาน บทอัซซุมัร โองการที่ 65)
2. ความประหม่าและกังวลใจ
ไม่เป็นที่สงสัยว่าตนไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจตนได้เพราะมีคนจำนวนมากมาย และแต่ละคนก็มีความหวังอันยิ่งใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น แน่นอน เมื่อมนุษย์ตกอยู่ท่ามกลางการคาดหวังและการขอร้องอันหลากหลายย่อมมีความประหม่าและความกังวลใจ เนื่องจากความพึงพอใจของบุคคลหรือคนกลุ่มหนึ่ง มีค่าเท่ากับความไม่พอใจของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ตรงนี้เองที่ปัญหาความเป็นเอกะของพระเจ้ากับการตั้งภาคีกับพระองค์จะมีความหมายทันที่ เนื่องจากบุคคลที่เคารพภักดีต่อพระเจ้าจะคิดหรือกระทำแต่สิ่งที่พระเจ้าพึ่งพอพระทัยเท่านั้น โดยจะไม่ใส่ใจว่าฝ่ายใดจะประสงค์สิ่งใดจะโกรธหรือไม่ชอบตนก็ตาม แต่ตนก็จะมีความสงบอันเฉพาะเจาะจงพิเศษ
อัล-กุรอาน กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า
- โอ้ เพื่อนร่วมคุกทั้งสองของฉันเอ๋ย พระเจ้าหลายองค์ดีกว่า หรือว่าเฉพาะอัลลอฮฺ ผู้ทรงอานุภาพเท่านั้น (อัล-กุรอาน บทยูซุฟ โองการที่ 39)
มนุษย์คิดถึงความพึงพอใจของพระเจ้าองค์เดียวมีความสงบสุขมากกว่า หรือการคิดถึงพระเจ้าหลายองค์ที่มีรสยมแตกต่างกัน
- อัลลอฮฺทรงยกอุทาหรณ์ชายคนหนึ่งเป็นหุ้นส่วนของหลายคน พวกเขาขัดแย้งไม่ลงรอยกัน และชายอีกคนหนึ่งเป็นของชายคนหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งสองนี้จะเป็นอุทาหรณ์ที่เท่าเทียมกันหรือ การสรรเสริญทั้งมวลเป็นของอัลลอฮฺ แต่ว่าส่วนมากของพวกเขาไม่รู้ (อัล-กุรอาน บทอัซซุมัร โองการที่ 29)
ตัวอย่างข้างต้นชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่กำลังกล่าวถึง คือ ถ้าบุคคลหนึ่งยอมจำนนต่อคนเพียงคนเดียวเขาจะมีความสงบ หรือว่าบุคคลที่ยอมจำนนต่อคนหลายคนจะมีความสงบมากกว่า นอกจากนี้แล้วจะเห็นว่าการทำให้คนอื่นพอใจเป็นเรื่องยุ่งยากอย่างยิ่ง แต่การทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัยเป็นเรื่องง่ายดาย บรรพหนึ่งของดุอาอฺโกเมลกกล่าวว่า โอ้ พระผู้ทรงพอใจอย่างรวดเร็ว
โดยหลักการแล้วความพึงพอใจของประชาชน ถ้ามิได้อยู่ในแนวทางแห่งความพอใจของพระเจ้าแล้วจะมีค่าอันใดอีก ประชาชนจะทำสิ่งใดให้แก่เราได้พวกเขาอาจจะปรบมือพร้อมกันจนดังสนั่นเพื่อแสดงความขอบคุณ หรืออาจตัดถนนสักเส้นหนึ่งแล้วนำชื่อเราไปตั้งเป็นชื่อถนนเพื่อเป็นการให้เกียรติ ซึ่งการให้เกียรติและการขอบคุณทำนองนี้จะผ่านไปและถูกลืมเลือนอย่างรวดเร็ว และพวกเขาก็ไม่สามารถทำสิ่งใดได้มากไปกว่านี้
อดีตที่ผ่านมาครั้นเมื่อมนุษย์อยู่ในครรภ์มารดานอกจากพระเจ้าแล้วยังมีผู้ใดให้การปกป้องพวกเขาอีกหรือ
ปัจจุบันทุกเสี้ยวนาทีมนุษย์มิได้อยู่ภายใต้การมองเห็นของพระองค์ดอกหรือ
วันพรุ่งนี้เมื่อมนุษย์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาผู้ตรวจสอบการงานของเขามิใช่พระเจ้าดอกหรือ
คุณงามความดีต่างๆ และความสมบูรณ์มิได้มาจากพระองค์ดอกหรือ
หัวใจของมนุษย์ทุกดวงมิได้อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ดอกหรือ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมมนุษย์ต้องปล่อยแหล่งที่มาแห่งความโปรดปราน แล้วหันไปเอาใจบุคคลนั้นบุคคลนี้ให้เกิดความยุ่งยากแก่ตนเองด้วย
อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า การทำให้พระเจ้าผู้ทรงเอกะพึงพอพระทัย ซึ่งพระองค์ทรงพึงพอพระทัยอย่างรวดเร็ว และสามารถทำให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงได้อีกเมื่อสัมพันธ์มายังเรา อีกทั้งสิ่งที่เราได้กระทำผ่านมาแล้วและจะกระทำต่อไปในอนาคตล้วนเกี่ยวข้องกับพระองค์ทั้งสิ้น ดังนั้น การทำให้พระองค์พึงพอพระทัยไม่ดีกว่าการทำให้ประชาชนทั้งหมดที่มีรสนิยมแตกต่างพอใจดอกหรือ
อัล-กุรอาน กล่าวว่า เจ้าอย่าตั้งพระเจ้าอื่นเคียงคู่อัลลอฮ มิฉะนั้นเจ้าจะกลายเป็นผู้ถูกเหยียดหยามถูกทอดทิ้ง (อัล-กุรอาน บทอัลอิสรออฺ โองการที่ 22)
บางครั้งคนๆ หนึ่งตลอดอายุขัยของเขาได้แต่กระทำบางสิ่งตามคนโน้นคนนี้ สุดท้ายก็เข้าใจว่าอันที่จริงแล้วพวกเขาต้องการตนเพื่อพวกเขา มีเฉพาะพระเจ้าเท่านั้นที่ทรงต้องการพวกเราเพื่อตัวของพวกเราเอง ประชาชนคนอื่นก็เช่นเดียวกันพวกเขาพร้อมทีจะทอดทิ้งเราไปเพื่อมิตรคนอื่น หรือเพื่อตำแหน่งหน้าที่การงานใหม่ อัล-กุรอาน มิได้ย้ำเตือนกับมนุษย์ดอกหรือว่า บางครั้งภรรยาและบุตรคือศัตรูสำคัญสำหรับมนุษย์ ดังกล่าวว่า
โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงในหมู่คู่ครองของสูเจ้าและลูกหลานของสูเจ้าบางคนเป็นศัตรูของสูเจ้า ฉะนั้น จงระวังพวกเขาให้ดี (อัล-กุรอาน บทอัตตะฆอบุน โองการที่ 14)
ในความหมายดังกล่าวจะเห็นว่าภรรยาและบุตรบางคน ได้แต่บีบบังคับให้สามีสรรหาเฉพาะความสะดวกสบายมาให้ครอบครัว แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะจบลงด้วยความอัปยศก็ตาม
3. เกิดความสั่นคอนในบุคลิก
อัล-กุรอาน กล่าวว่า ผู้ใดตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ เสมือนว่าเขาร่วงลงมาจากชั้นฟ้า แล้วนกก็บินเฉี่ยวเอาเขาไป หรือลมได้พัดพาเขาไปยังดินแดนอันไกลโพ้น (อัล-กุรอาน บทอัลฮัจญฺ โองการที่ 31)
แต่บุคคลที่เคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียวและยืนหยัดอยู่บนคำปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ตามรายงานของท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัว) ที่กล่าวว่า ประโยคที่ว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ คือความปลอดภัยของข้า ดังนั้น บุคคลใดเข้ามาสู่ความปลอดภัยของข้า เขาจะปลอดภัยจากการลงโทษของข้า ในความหมายคือ เขาจะได้อยู่ในที่ๆ มั่นคงและปลอดภัยที่สุดของพระเจ้า
4. ความแตกแยกในสังคม
ในสังคมแห่งการเคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียวนั้น จะมีกฎเกณฑ์บทบัญญัติและแนวทางอยู่เพียงอย่างเดียวนั่นคือ แนวทางและกฎเกณฑ์ของพระเจ้าเท่านั้นและประชาชนทั้งหมดจะมีนายเพียงคนเดียว ส่วนในสังคมที่ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าแทนที่จะมีแนวทางหรือกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่กลับมีหลายแนวทางหรือหลายกฎเกณฑ์และทุกคนก็พยายามคิดและทำเพื่อแนวทางของตนเอง อัล-กุรอาน กล่าวว่า
ไม่มีพระเจ้าอื่นใดคู่เคียงกับพระองค์ ถ้าเช่นนั้นพระเจ้าแต่ละองค์ก็จะเอาสิ่งที่ตนสร้างไปเสียหมด (อัล-กุรอาน บทอัลมุอฺมินูน โองการที่ 91)
ในสังคมเช่นนั้นจะไม่มีการกล่าวถึงการเคารพภักดีพระเจ้า ทว่าทุกคนจะนอบน้อมให้แก่กันเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ดังอัล-กุรอาน กล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริงเราได้เชื่อฟังปฏิบัติตามบรรดาหัวหน้าของเรา และบรรดาผู้นำของเรา ดังนั้นพวกเขาได้ทำให้พวกเราหลงทาง (อัล-กุรอาน บทอัลอะฮฺซาบ โองการที่ 67)
ในสังคมเช่นนั้นทุกคนจะคิดแต่การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันและกัน อัล-กุรอาน กล่าวว่า พวกเขาบางกลุ่มพยายามทำให้ดีกว่าอีกบากกลุ่ม ซึ่งจะเห็นว่าชนแต่กลุ่มพยายามทำเพื่อเพื่อนพ้องและคนใกล้ชิดของตนเองเท่านั้น ไม่มีน้ำใจต่อกันที่สำคัญไปกว่านั้นสิ่งถูกหรือสิ่งผิดไม่มีความสำคัญอันใดสำหรับพวกเขา ยึดถือเฉพาะผลประโยชน์และแนวทางของตนเท่านั้นเป็นหลักการสำคัญ ส่วนฝ่ายตรงข้ามแม้ว่าจะมีเหตุผลหนักแน่นเพียงใดไม่สำคัญและไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา อัล-กุรอาน กล่าวว่า พวกเขาได้แตกแยกกันระหว่างพวกเขากันเอง และแต่ละฝ่ายก็พอใจในสิ่งที่ตนเองยึดถือ (อัล-กุรอาน บทอัลมุอฺมินูน โองการที่ 53)
ความวุ่นวายและความแตกแยกเป็นผลมาจากสังคมที่ที่ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ดังที่อัล-กุรอาน กล่ววว่า และจงอย่าอยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคีผู้แบ่งแยกศาสนาของพวกเขาออกเป็นนิกายต่าง ๆ (อัล-กุรอาน บทอัรโรม โองการที่ 31-32)
อัล-กุรอานเตือนสำทับว่าจงอย่าเป็นเหมือนผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า และจงอย่าคิดว่าพวกตั้งภาคีเทียบเคียงมีแค่เพียงการเคารพรูปปั้นบูชาเท่านั้น ทว่าการนำเอารสนิยมส่วนตัวตลอดจนทัศนะคติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับศาสนาและกลายเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางศาสนา ก็เรียกว่า ชิกรฺ หรือผู้ตั้งภาคีเช่นกัน ดังนั้น สาเหตุหลักที่ประชาชนและประเทศชาติส่วนใหญ่พังพินาศล่มจมตลอดหน้าประวัติศาสตร์เป็นเพราะการพึ่งพาสิ่งอื่นนอกจากพระเจ้า
5. ความตกต่ำในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ
ความตกต่ำและการลงโทษเป็นผลมาจากการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า อัล-กุรอานกล่าวเน้นย้ำหลายครั้ง ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพบรรดาพวกที่ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าจะถูกสอบสวนอย่างหนัก และจะถูกประณามว่าขณะที่มีชีวิตอยู่บนโลกพวกเจ้าสรรหาพระเจ้าอื่นนอกเหนือไปจากอัลลอฮฺ โดยพวกเจ้าคิดว่าพระเจ้าเหล่านั้นสามารถช่วยเหลือเจ้าได้ วันนี้เป็นวันที่พวกเจ้าต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหาอย่างรุนแรงพวกเจ้าจงเรียกพวกเขามาซิ เพื่อว่าบางที่พวกเขาจะช่วยพวกเจ้าได้บ้าง อัล-กุรอาน กล่าวว่า
นั่นคือส่วนหนึ่งจากที่พระเจ้าของเจ้าทรงประทานแก่เจ้า และจงอย่าตั้งพระเจ้าอื่นใดเคียงคู่กับอัลลอฮ มิฉะนั้นเจ้าจะถูกโยนลงในนรกญะฮันนัม เป็นผู้ถูกครหาและถูกขับไล่ (อัล-กุรอาน บทอัลอิสรออฺ โองการที่ 38)