ความเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้า

แก่นแท้และมุมมองเกี่ยวกับความเป็นหนึ่ง

ความว่า ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) ในวิสัยทัศน์ของอิสลามมีความหมายสูงส่งและกว้างมาก ซึ่งรวมไปถึงความเป็นหนึ่งเดียวในอาตมันสากล ความเป็นหนึ่งเดียวในคุณลักษณะ ความเป็นหนึ่งเดียวในการกระทำ ความเป็นหนึ่งเดียวในการแสดงความเคารพภักดี

คำว่า ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง ความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าองค์เดียว

ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง การปฏิเสธอำนาจฝ่ายต่ำทั้งหลาย ดังนั้น ผู้ที่ตกเป็นทาสของอำนาจใฝ่ต่ำจึงออกนอกวงจำกัดของความเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้า ดังกล่าวว่า เจ้าเห็นผู้ที่ยึดถือเอาอำนาจฝ่ายต่ำของเขาเป็นพระเจ้าบ้างไหม และอัลลอฮฺ จะทรงให้เขาหลงทางด้วยการรอบรู้ของพระองค์ (อัล-กุรอาน บทอัลญาซียะฮฺ โองการที่ 23) แน่นอน บุคคลที่ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำของตน เท่ากับพระเจ้าของเขาคืออารมณ์หรือฝ่ายต่ำนั้นเอง

ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง การปฏิเสธพระเจ้าจอมปลอมและอำนาจการกดขี่ทั้งหลาย ดังนั้น เป้าหมายหลักของบรรดาศาสดาที่ถูกประทานลงมาก็เพื่อเชิญชวนไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียวและออกห่างจากผู้อธรรมทั้งหลาย ดังกล่าวว่า แน่นอน เราได้ส่งเราะซูลมาในทุกประชาชาติ เพื่อเชิญชวนไปสู่การเคารพภักดีอัลลอฮฺ และออกห่างจากพวกอธรรมทั้งหลาย (อัล-กุรอาน อันนะฮฺลฺ โองการที่ 36) ดังนั้น ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) จึงหมายถึงการปฏิเสธระบบอธรรมทั้งหมด อิมามริฎอ (ขอพระเจ้าทรงประทานความสันติแด่ท่าน) หลังจากจำใจต้องยอมรับตำแหน่งผู้สืบอำนาจแทนผู้ปกครองในสมัยนั้น ท่านกล่าวกลางที่ประชุมต่อหน้าประชาชนทันที่ว่า ฉันไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับอำนาจการปกครองของมะอฺมูน (ผู้ปกครองในสมัยนั้น)

ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง การขีดเส้นแดงขั้นระหว่างแนวความคิดโมฆะ แนวความคิดที่หลงผิด และแนวทางทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการวางแผนของมนุษย์

ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง การตัดสายสัมพันธ์ทั้งหมดอันเป็นสาเหตุทำให้การปกครองที่หลากหลาย

ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง การปฏิเสธคำสั่งของบุคคลผู้มีอำนาจ ซึ่งคำสั่งของเขาขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับพระบัญชาของพระเจ้า

ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง การยอมรับการเป็นผู้นำของบุคคล ผู้ซึ่งพระเจ้าทรงยอมรับการเป็นผู้นำของเขา

ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง การยอมรับพระบัญชาของพระองค์ การยอจำนนต่ออำนาจของพระองค์ และการแสดงความเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงผู้เดียว

สรุป ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง การทำลายเจว็ดที่อยู่ในจิตใจและเจว็ดที่อยู่ข้างนอก เจว็ดที่เป็นฐานันดร เจว็ดที่เป็นใบประกาศ เจว็ดที่เป็นตำแหน่งหน้าที่ เจว็ดที่เป็นทรัพย์สินเงินทอง เพื่อป้องกันมิให้เจว็ดอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านั้นลากจูงเราออกไปจากสัจธรรม หรือขัดขวางเรามิให้ปฏิบัติตามสัจธรรมความจริง

ความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง การให้หลักประกันต่อการยืนหยัดของเรา ซึ่งหมายถึงพระเจ้า และสิ่งที่เรียกร้องเราไปสู่การสงบนิ่งนั่นคือ ความพึงพอพระทัยของพระองค์

เศรษฐกิจบนความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง โครงการผลิตทั้งหมด การจำหน่ายจ่ายแจก การบริโภค และอำนาจบริหาร ซึ่งทั้งหมดปฏิบัติไปตามพระบัญชาของพระเจ้า

กองทหารบนความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง จะต้องไม่มีวิสัยทัศน์ในการล่าอาณานิคม ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่คิดล้างแค้น ทว่ามีหน้าที่ในการประกาศสัจธรรมและขยายกฎเกณฑ์ของพระเจ้าให้กว้างไกล มีเป้าหมายเพื่อการทำลายล้างผู้กดขี่ ช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่ ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พยายามพิทักษ์พรหมแดนของประเทศชาติ

สังคมบนความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด) หมายถึง ผู้นำของสังคมนั้นได้รับการเลือกตั้งตามครรลองของพระผู้เป็นเจ้า หมายถึงบนพื้นฐานความรู้ ความยำเกรง การต่อสู้ขวนขวาย อิมาม อำนาจ และการบริหารตามแบบฉบับของอิสลาม มิใช่เป็นสังคมที่วางอยู่บนพื้นฐานของตำแหน่งลาภยศ พรรคพวกเพื่อนพ้อง หรือสัมพันธ์อยู่กับอภิมหาอำนาจต่าง ๆ และการกดขี่

สังคมบนความเป็นหนึ่งเดียว หมายถึง สังคมที่ปกครองด้วยกฎหมายของพระเจ้า และประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความเสมอภาคกันเมื่ออยู่ต่อหน้ากฎหมายนั้น ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก หรือเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ สังคมบนความเป็นหนึ่งเดียวตามความหมายของอิสลาม แตกต่างไปจากสังคมที่มีความเป็นหนึ่งเดียวในตามความหมายของคอมมิวนิสต์ เนื่องจากสังคมอิสลามมีพระเจ้าเป็นผู้ปกครอง มิใช่ประชาชน

ฉะนั้น เมื่อท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแดท่านและครอบครัว) กล่าวว่า จงกล่าวว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และสูเจ้าจะได้รับชัยชนะ นั่นหมายถึงว่าเราไม่สมควรมองสังคมแบบผิวเผินจนเกินไป เนื่องจากบทสรุปของความเป็นหนึ่งเดียวในความหมายของศาสดา คือ ชัยชนะและความถูกต้องเที่ยงธรรม

เป้าหมายสุดท้ายของ อัล-กุรอาน คือ ชัยชนะและการประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้า ฉะนั้น เมื่ออัล-กุรอานแนะนำให้มีความยำเกรงต่อพระเจ้าจะกล่าวว่า โอ้ มนุษย์เอ๋ย จงเคารพภักดีต่อพระผู้อภิบาลของสูเจ้า ผู้ทรงบังเกิดสูเจ้าและบรรดาผู้ที่มาก่อนหน้าสูเจ้า เพื่อว่าสูเจ้าจะสำรวมตน (อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 21)

ความสำรวมตนในโองการมิใช่เป้าหมายสุดท้ายของอัล-กุรอาน ทว่าเป็นบทนำเบื้องต้นสำหรับการไปถึงยังชัยชนะและความสำเร็จ ดังที่อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า จงสำรวมตนต่ออัลลอฮฺ โอ้ ผู้มีสติปัญญาทั้งหลายเพื่อว่าสูเจ้าจะได้รับความสำเร็จ (อัล-กุรอาน บทอัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 100)

คำว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ถ้าเราสมมุติเมล็ดพันธ์ขึ้นมาสักหนึ่งเมล็ด หลังจากนั้นนำเอาเมล็ดไปฝังดิน ไม่นานนักจะเห็นต้นสีเขียวงอกขึ้นมา การที่ต้นสีเขียวงอกพ้นดินออกมามีปัจจัย 3 ประการเป็นองค์ประกอบสำคัญ กล่าวคือ

1. ต้นไม้ได้หยั่งรากลึกลงดิน

2. รากได้ดูดซับธาตุอาหารจากดิน

3. ต้นไม้ได้ต่อสู้กับการรบกวนของเศษดินที่ทับอยู่บนเมล็ด จนกระทั่งสามารถงอกเงยพ้นดินขึ้นมาได้
ในทำนองเดียวกันนี้มนุษย์ถ้าต้องการให้ตัวเองหลุดพ้นจากความโง่เขลาเบาปัญญา การกระทำความผิด และปลดปล่อยตนเองให้รอดพ้นจากบ่วงและพันธนาการของซาตานมารร้าย จำเป็นต้องปฏิบัติ 3 ประการเช่นเดียวกับตันไม้ กล่าวคือ

1. อันดับแรกต้องวางหลักความเชื่อของตนไว้บนความอิสระและมีเสรีในการคิด

2. เพื่อความก้าวหน้าจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากสื่อและสิ่งอำนวยความสะดวก และปัจจัยอันเป็นสาเหตุให้รากฐานมีความมั่นคงถาวร

3. จำเป็นต้องขจัดอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ที่ขวางกั้นแนวทางจนกระทั่งสามารถแหวกว่ายตนเองไปจนถึงบรรยากาศของความเป็นหนึ่งเดียว (เตาฮีด)

แต่ถ้าเพิกเฉยกับขั้นตอนทั้งสามประการดังกล่าวมา ท่านก็จะหยุดอยู่กับที่บนความโง่เขลา ประหนึ่งคนบ้าใบ้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากหลักความเชื่อของตนไม่มั่นคงแข้งแรงและไม่ได้วางอยู่พื้นฐานของความรู้ หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายที่มีอยู่ ไม่ได้ขจัดอุปสรรคปัญหาที่ขวางกั้นอยู่บนแนวทางตัวท่านก็รังแต่จะผุสลายไป ดั่งเมล็ดพันธ์ที่ฝังอยู่ใต้ดินถ้าไม่ได้ต่อสู้ตามขั้นตอนสามประการมันย่อมผุสลายเช่นกันฉันใดก็ฉันนั้น

รากเหง้าความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า

เมื่อกล่าวถึงรากเหง้าของความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า บ่งบอกให้เห็นว่าสิ่งนี้มิได้มีรากเหง้ามาจากความโง่เขลาเบาปัญญาหรือความกลัวต่อความยากจนแต่อย่างใด ดังนั้น หากจะถามว่าแหล่งที่มาของความศรัทธามาจากที่ใด อะไรคือแรงดึงดูดให้มนุษย์ต้องขับเคลื่อนตัวเองไปสู่พระเจ้า
คำตอบสามารถกล่าวได้ว่า รากเหง้าของความศรัทธาก็คือ สติปัญญาและธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของมนุษย์นั้นเอง

สติปัญญา

สติปัญญากล่าวกับเราว่า ทุก ๆ ร่องรอยที่พบเห็นย่อมมีผู้ทำให้เกิดร่องรอยเหล่านั้น ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้เป็นที่ชัดเจนสำหรับทุกคน ถ้าหากท่านเป่าลมเบา ๆ ไปที่ใบหน้าของทารกเขาจะลืมตาขึ้นและมองไปรอบ ๆ ตัวเขาเพื่อตามหาที่มาของสายลมที่มากระทบเขา ทารกเข้าใจได้ทันที่ว่าลมที่มากระทบเขามาจากแหล่งที่หนึ่ง ดังนั้น กฎเกณฑ์ของร่องรอยและผู้ที่ก่อให้เกิดร่องรอยเป็นความชัดเจนที่สุดสำหรับชีวิตในทุกวันนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นจะให้เชื่อได้อย่างไรว่าเมื่อเราเห็นภาพวาดไก่หรือนกยูงปรากฏอยู่ทำให้เข้าใจทันทีว่าต้องมีนักถ่ายหรือนักวาดรูปแน่นอน แต่สำหรับไก่และนกยูงไม่ต้องการผู้สร้างหรือผู้ออกแบบตัวเอง

เราบอกให้สติปัญญายอมรับว่าสำหรับกล้องตัวหนึ่งจำเป็นต้องมีผู้ผลิตมันขึ้นมา แต่สำหรับดวงตามนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีผู้สร้างที่มีความปรีชาญาณ ทั้งที่การถ่ายรูปนั้นสายตามีความสำคัญมากกว่ากล้องหลายเท่า เนื่องจากกล้องต้องกดชัดเตอร์ใหม่ทุกครั้งเมื่อต้องการรูปใหม่ แต่สายตามนุษย์ไม่จำเป็นเนื่องจากดวงตาถ่ายภาพอยู่ตลอดเวลา
สติปัญญายอมรับได้อย่างไรว่า หูฟังจำเป็นต้องมีผู้ประดิษฐ์ขึ้นมา แต่สำหรับหูมนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีผู้สร้างแต่อย่างใด

สติปัญญายอมรับได้อย่างไรว่า การจัดระบบชีวิตและเปลี่ยนแปลงความประพฤติไปในทางที่ดีเป็นการบ่งบอกให้เห็นว่าบุคคลนั้นมีสติปัญญา แต่สำหรับความเป็นระบบระเบียบของโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลมิได้บ่งบอกให้เห็นถึงพระผู้สร้างผู้มีสติปัญญา

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ดีที่สุดของโลกทัศน์แห่งการรู้จักพระเจ้า คือ การยอมรับและเข้ากันได้กับสติปัญญาของมนุษย์ เนื่องจากสติปัญญามีความละเอียดอ่อนในการพิจารณาถึงระบบระเบียบต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบตัว ซึ่งสามารถนำพามนุษย์ไปสู่การรู้จักพระเจ้าได้อย่างดีเยี่ยม

ธรรมชาติดั้งเดิม

ถ้าถามมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ในทุกยุคทุกสมัยว่า คุณมีความรู้สึกอย่างไรที่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้ คุณรู้สึกว่าตนมีความอิสรเสรีหรือไม่ หรือมีความรู้สึกว่าต้องพึ่งพาสิ่งอื่นตลอดเวลา แน่นอน จะไม่มีผู้ใดตอบว่า ฉันมีความรู้สึกเป็นอิสรเสรีที่สุดบนโลกนี้ ทุกคนจะมีความรู้สึกเหมือนกัน คือ ตนจำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งอื่น ซึ่งว่าความรู้สึกดังกล่าวนี้มี 2 ประเภท กล่าวคือบางครั้งเป็นจริงและบางครั้งโกหก

ทารกที่มีความรู้สึกหิวโหยเป็นความรู้สึกที่เป็นจริง เพราะบางครั้งทารกจะดึงและดูดอกของมารดาที่เปี่ยมไปด้วยน้ำนม ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เป็นจริงแต่ผิดพลาด บางครั้งจะดูดหัวนมหลอกซึ่งเป็นความรู้สึกโกหกที่ผิดพลาด มนุษย์โดยทั่วไปก็เหมือนกันความรู้สึกดั่งเดิม คือ ต้องอยู่ร่วมและพึ่งพากันอันเป็นความรู้สึกที่เป็นจริงแท้แน่นอน แต่มนุษย์ต้องสัมพันธ์และพึงพากับสิ่งใด

1. อำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

2. อำนาจของธรรมชาติ

ทั้งที่ธรรมชาติเองต้องพึ่งพาเงื่อนไขอื่นอีกมากมาย ดังนั้น มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจของสิ่งหนึ่ง ซึ่งอำนาจนั้นต้องไม่พึ่งพาอำนาจอื่นใดเหมือนมนุษย์ เป็นอำนาจที่เป็นอิสระจากทุกอำนาจ