') //-->
ถ้าหากกลางดึกมีคนเคาะประตูบ้านโดยเราไม่รู้จักว่าเป็นใคร แน่นอน ไม่มีเจ้าของบ้านคนใดเปิดประตูให้ ถ้าหากไม่รู้ว่าสภาพภูมิอากาศของเมืองที่จะเดินทางไปเราจะไปได้อย่างไรโดยที่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมเสื้อผ้าประเภทใดบ้าง ถ้าไม่รู้ว่าเจ้าภาพเชิญไปเนื่องในงานอะไร เป็นงานมงคลสมรสหรือว่างานศพเราจะตัดสินใจเลือกเสื้อผ้าสวมใส่ได้อย่างไร สิ่งจำเป็นคือต้องรู้ว่าตนกำลังจะไปไหนเพื่อจะได้รู้แน่นอนว่าต้องตระเตรียมหรือต้องทำสิ่งใดก่อน ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อ แนวความคิด และการรู้จักหรืออีกนัยหนึ่งโลกทัศน์ของมนุษย์ มีบทบาทและมีอิทธิพลต่อความประพฤติและการเลือกสรรของมนุษย์
ดังเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าประเภทของความประพฤติ และคำพูดของเราเกี่ยวกับโลกทัศน์แห่งการรู้จักพระเจ้า เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าโลกทัศน์เองได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากการรู้จักของมนุษย์ หมายความว่าการเลือกสรรโลกทัศน์ขึ้นอยู่กับประเภทของการรู้จัก แต่การรู้จักของเราเกิดจากตัวเองซึ่งขึ้นอยู่การประเภทของการเลือกสรรอันจำเพาะเจาะจง
คำอธิบายดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า การกระทำของเราเกิดจากการตื่นขึ้นของโลกทัศน์แห่งการรู้จักพระเจ้า ส่วนโลกทัศน์แห่งการรู้จักพระเจ้าของเราขึ้นอยู่กับการรู้จักของเรา
ด้งนั้น สิ่งจำเป็นที่ต้องอธิบายตรงนี้คือ คำว่าการรู้จัก
จะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งอื่นคือ การรู้จัก หมายถึงการรู้จักความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า การให้ความสำคัญกับการรู้จักเพียงพอแล้วถ้าเราจะอ้างถึงอัล-กุรอาน เนื่องจากอัลลอฮฺเจ้าทรงแนะนำและเชิญชวนมนุษย์ไปสู่การรู้จัก หรือศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการรู้จักดังปรากฏอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานจำนวนมากมายหลายโองการ ขณะเดียวกัน อัล-กุรอานประณามบุคคลที่ไม่คิดและไม่ใช่สติปัญญาให้เป็นประโยชน์ไว้ด้วยเช่นกัน
อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสห้ามไว้ในอัล-กุรอานว่า ไม่ให้ปวงบ่าวปฏิบัติตามสิ่งที่ตนไม่รู้จักเด็ดขาด ตรัสว่า และอย่าติดตามสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แท้จริงหู และตา และหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน (อัล-กุรอาน บทอัลอิสรออฺ โองการที่ 36)
บุคคลที่ปฏิบัติตามสิ่งหนึ่งโดยที่ตนไม่มีความรู้จัก หรือไม่มีความรู้ใด ๆ ในสิ่งนั้น ประหนึ่งเป็นคนหูหนวกตาบอดและบ้าใบ้ที่ไม่รู้จักคิด หรือใช้สติปัญญาของตนให้เป็นประโยชน์
เกี่ยวกับการรู้จักนี้ท่านอิมามอะลี (อ.) ผู้นำคนแรกหลังจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและลูกหลานของท่าน) ได้กล่าวเป็นข้อขบคิดและเป็นคำตักเตือนแก่โกเมล สาวกคนหนึ่งของท่านไว้อย่างน่าทึ่งว่า โอ้ โกเมลไม่มีการเคลื่อนไหวใดนอกเสียจากว่าในสิ่งที่เจ้ามีความปรารถนาในการรู้จัก
การรู้จัก เป็นเสมือนพลังพิเศษที่ทำให้การงานของมนุษย์มีคุณค่า คำสอนอิสลามสอนว่าฐานะภาพของภารกิจการงานทั้งหมดของมนุษย์ขึ้นอยู่การรู้จัก ดังนั้น ถ้ารู้จักมากเท่าไหร่คุณค่าการงานของเราก็มีค่ามากขึ้นเท่านั้น
อัล-กุรอาน และวจนะของท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและลูกหลานของท่าน) จำนวนมากกล่าวเชิญชวนและสนับสนุนให้มนุษย์ศึกษาและตักตวงความรู้จักให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้จักพระเจ้า ศาสดา อิมามผู้นำ หลักความศรัทธาและหลักการปฏิบัติ
ขณะวิงวอนขอพรถือเป็นภารกิจหลักสำหรับมนุษย์ที่ต้องวิงวอนเสมอว่า ขอพระองค์ทรงประทานการรู้จักพระองค์ ศาสดาของพระองค์ และบรรดามวลมิตรของพระองค์แก่เรา เพราะมิเช่นนั้นแล้วพวกเราจะหลงทางไปจากสัจธรรมความจริง
วจนะของท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและลูกหลานของท่าน) กล่าวว่า บุคคลใดก็ตามตายไปโดยไม่รู้จักอิมามผู้นำแห่งยุคของตน ถือว่าได้ตายเยี่ยงคนโง่เขลาที่สุด
สื่อของการรู้จัก
หลังจากรู้จักคำว่า การรู้จัก และความสำคัญในการรู้จักมาพอสมควรแล้ว สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ ปัจจัยและองค์ประกอบสำคัญในการรู้จัก
พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบสื่อเพื่อให้มนุษย์ไปถึงการรู้จักไว้ในมนุษย์ทุกคน ซึ่งสื่อสำคัญเหล่านั้นได้แก่
1. ประสาทสัมผัสทั้งห้า
เป็นสื่อแรกที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบแก่มนุษย์ผู้มีเจตนารมณ์เสรีในการเลือกสรร มนุษย์ใช้สื่อต่าง ๆ เหล่านี้รับรู้ถึงสิ่งที่อยู่รายรอบตัวเขาและรู้จักสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างดี มนุษย์มองเห็นสิ่งต่าง ๆ และทิวทัศน์อันสวยงามมากมาย ได้ยินเสียงต่าง ๆ ทั้งสมควรฟังและไม่สมควรฟัง สูดดมกลิ่นต่าง ๆ ที่หอมสดชื่นและเน่าเหม็น และได้ลิ้มรสอาหารที่เอร็ดอร่อย
อัล-กุรอานกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อัลลอฮฺ ทรงให้สูเจ้าออกจากครรภ์มารดาของสูเจ้า ซึ่งสูเจ้าไม่รู้สิ่งใดเลย และพระองค์ทรงให้หู สายตา และหัวใจ (สำหรับนึกและคิด) แก่พวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจะได้ขอบคุณ (อัล-กุร บทอันนะฮฺลิ โองการที่ 78)
2. สติปัญญา
สติปัญญาถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าและเป็นข้อสูจน์อันเร้นลับของมนุษย์ พระเจ้าทรงถือว่ามนุษย์ยิ่งใหญ่และประเสริฐกว่าสรรพสิ่งอื่นเนื่องจากมนุษย์มีสติปัญญา และเนื่องจากการช่วยเหลือของสติปัญญาทำให้มนุษย์คิดได้อย่างถูกต้อง สามารถวิเคราะห์วิจัย และจำแนกแยกแยะทุกสิ่งได้อย่าพอดี
3. วะฮฺยู หรือวิวรณ์ของพระเจ้า
วะฮฺยู ของพระเจ้าถือเป็นแหล่งและต้นกำเนิดของวิชาการทั้งหลาย เนื่องจากวะฮฺยูเป็นพระดำรัสของพระเจ้าวิชาการความรู้ที่ออกจากวะฮฺยู จึงไร้ขอบเขตจำกัด และเป็นการรู้จักที่ลุ่มลึกที่สุดที่ได้มาถึงมนุษย์โดยผ่านวะฮฺยูนั่นเอง มนุษย์รู้จักสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้โดยผ่านวะฮฺยู และยังได้รับวิชาการต่าง ๆ อันทรงคุณค่าอีกมากมาย อาทิเช่น ความเร้นลับและรหสัยในการสร้างสรรค์ อดีตและอนาคตของโลก โลกหน้า ภารกิจด้านในแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งนอกจากหนทางของวะฮฺยูแล้วมนุษย์ไม่สามารถรับรู้วิชาการเหล่านั้นได้เด็ดขาด
แหล่งอ้างอิงในการรู้จัก
พระเจ้าทรงเชิญชวนมนุษย์ไปสู่การรู้จัก การศึกษาค้นคว้า การคิดไตร่ตรองในภารกิจต่าง ๆ เช่น
1. ธรรมชาติ
อัล-กุรอาน หลายโองการเชิญชวนมนุษย์ไปสู่การพิจารณาไตร่ตรองปัญหาต่าง ๆ ของธรรมชาติ เช่น การสร้างท้องฟ้าทั้งหลาย แผ่นดิน การขับเคลื่อนและหมุนเวียนของกลางวันและกลางคืน การแล่นไปของเรือที่อยู่กลางทะเล แม่น้ำ มหาสมุทร ภูเขา ดวงดาว และกาแลกซี่ต่าง ๆ
ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของสัตว์ การขยายพันธุ์ และการดูแลเลี้ยงลูกของสัตว์เหล่านั้น
2. ประวัติศาสตร์
ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของบุคคลที่เป็นอัจฉริยะ และปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ที่พวกเขาได้แสดงให้เห็น ความพ่ายแพ้ ชัยชนะในสงครามต่าง ๆ และการเจริญเติบโตของสังคมในอดีต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าอย่างยิ่งซึ่งไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้
อัล-กุรอาน ถือว่าชีวประวัติของบุคคลสำคัญในอดีตเป็นบทเรียนและเป็นอุทาหรณ์อันสำคัญยิ่ง ดังกล่าวว่า แน่นอนยิ่ง เรื่องราวของพวกเขาเป็นบทเรียนสำหรับบรรดาผู้มีสติปัญญา มิใช่เป็นเรื่องราวที่ถูกปั้นแต่งขึ้น แต่ว่าเป็นการยืนยันความจริงที่อยู่ต่อหน้าเขา (อัล-กุรอาน บทยูซุฟ โองการที่ 111)
พระองค์ประสงค์ให้บรรดาศาสดากล่าวถึงเรื่องเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตแก่มวลมนุษย์ ดังกล่าวว่า ฉะนั้น เจ้าจงเล่าเรื่องราวเหล่านั้นเถิด เพื่อว่าพวกเขาจะไดใคร่ครวญ (อัล-กุรอาน บทอัล-อะอฺรอฟ โองการที่ 176)
3. มนุษย์
การศึกษาปัญหาเกี่ยวกับมนุษย์ในมุมมองต่าง ๆ ทั้งด้านพละกำลัง ความสามารถ ความต้องการ และอื่น ๆ เป็นสาเหตุทำให้การรู้จักของมนุษย์ลุ่มลึกขึ้น อัล-กุรอาน กล่าวว่า เราจะให้พวกเขาได้เห็นสัญญาณทั้งหลายของเราในขอบเขตอันไกลโพ้นและ ในตัวของพวกเขาเองจนกระทั่งความสัจจริงแห่งประเจ้าเป็นประจักษ์แก่พวกเขา (อัล-กุรอาน บทอัล-ฟุซซิลัต โองการที่ 53)
ท่านอิมามอะลี (อะลัยฮิสสลาม) กล่าวว่า โอ้ มนุษย์เอ๋ยเจ้าคิดหรือว่าเจ้าตัวเล็กเพียงนิดเดียว ขณะที่โลกอันกว้างใหญ่ไพศาลซ่อนอยู่ในตัวเจ้า
การรู้จักที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์
แน่นอน ถ้าหากมนุษย์ใช้สื่อให้เป็นประโยชน์มากเท่าใด เขาก็จะได้รับความรู้มากเท่านั้น ตลอดจนการรู้จักของเขาจะสมบูรณ์และลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามการไม่ใช่สื่อที่มีอยู่หรือใช้อย่างไม่สมบูรณ์การรู้จักของเขาก็จะไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย
ความแตกต่างระหว่างโลกทัศน์แห่งการรู้จักพระเจ้ากับโลกทัศน์ของวัตถุนิยมเริ่มที่จุดนี้ เนื่องจากลัทธิวัตถุนิยมไม่ใช่สื่อทั้งหมดของพระเจ้าให้สมบูรณ์ แม้ว่าพวกเขาจะอวดอ้างว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการพัฒนาด้านวิชาการและเทคโนโลยี แต่การรู้จักของพวกเขาบกพร่องและไม่สมบูรณ์ เหมือนกับคนขายเนื้อ พวกเขารู้จักการใช้มีดโดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์หรือเครื่องมืออย่างอื่นในการรู้จักอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของสัตว์
อุปสรรคของการรู้จัก
การรู้จักอุปสรรคในการทำความรู้จักเป็นสิ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง
ทว่าเป็นความจำเป็นเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากสามารถเป็นตอบที่ดีสำหรับคำถามที่ว่า
ทั้งที่มีสื่อในการรู้จักมากมายแต่ทำไมมนุษย์ยังหลงทาง
และทำไมการรู้จักของพวกเขาไม่สมบูรณ์
นั่นเป็นเพราะว่ายังมีอุปสรรคในการรู้จักอีกมากมาย
ซึ่งจะขอนำเสนออุปสรรคเหล่านั้นบางประการ เช่น
1. อำนาจใฝ่ต่ำ
อัล-กุรอาน กล่าวว่า พึงรู้เถิดว่า แท้จริงพวกเขาปฏิบัติตามอำนาจใฝ่ต่ำของพวกเขา และผู้ใดเล่าจะหลงผิดยิ่งไปกว่าผู้ปฏิบัติตามอำนาจใฝ่ต่ำของเขา (อัล-กุรอาน บทอัล เกาะซ็อซ โองการที่ 50)
2. แบบอย่างอันผิดพลาด
อัล-กุรอาน กล่าวว่า พวกเขากล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของเรา แท้จริง เราได้เชื่อฟังปฏิบัติตามบรรดาหัวหน้าของเรา และบรรดาผู้นำของเรา ดังนั้น พวกเขาได้ทำให้พวกเราหลงทาง (อัล-กุรอาน บทอัล อะฮฺซาบ โองการที่ 67)
3. การควบคุมความคิดและความอคติ
อัล-กุรอาน กล่าวว่า กลุ่มชนที่หลงผิดกล่าวเยอะเย้ยท่านศาสดาว่า หัวใจของเราอยู่ในม่านแห่งความลืมเลือนต่อสิ่งที่พวกท่านเชิญชวนเราไปสู่ และในหูของเราก็หนวก และระหว่างเรากับท่านก็มีม่านกั้นอยู่ ดังนั้น ท่านจงทำสิ่งที่ท่านพึงกระทำเถิด สำหรับพวกเราก็จะทำตามที่เราต้องการจะกระทำ (อัล-กุรอาน บทอัล ฟุซซิลัต โองการที่ 5)