ความจำเป็นในการรู้จักศาสนา

 การรู้จักศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง อัล-กุรอานกล่าวว่า เพราะเหตุใดประชาชนบางกลุ่มจึงไม่อพยพออกนอกประเทศเพื่อการเรียนรู้ศาสนาของตน การเรียนรู้ในที่นี้หมายถึงการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นข้อบังคับสำหรับบางคนที่ต้องกระทำ เพื่อว่าเขาจะได้ไปถึงระดับของผู้วินิจฉัยปัญหาศาสนา ขณะเดียวกันก็เป็นข้อบังคับสำหรับบุคคลอื่นเช่นกันที่ต้องเรียนรู้ปัญหาศาสนา หรือปฏิบัติตามผู้ที่มีความรู้

 อิสลาม ถือว่าการศึกษาศาสนาเป็นข้อบังคับและเป็นหน้าที่สำหรับทุกคน ที่ต้องรู้จักศาสนาตามความเป็นจริงที่กล่าวไว้ ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่าการศึกษารายละเอียดของศาสนามิได้เฉพาะเจาะจงอยู่แค่หลักการปฏิบัติ เช่น หลักการนมาซ ศีลอด บริจาคทานบังคับ และการบำเพ็ญฮัจญฺเท่านั้น ทว่าจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของหลักความเชื่อ ประวัติศาสตร์ และปรัชญาอย่างท่องแท้ เนื่องจากโองอัล-กุรอานที่มีมากกว่า 6,000 กว่าโองการ มีเพียง 500 กว่าโองการเท่านั้นที่กล่าวถึงเรื่องหลักปฏิบัติ ส่วนที่เหลือเป็นวิชาการแขนงอื่น

 วิชาการแน่นอนของศาสนา

 เนื่องจากว่าศาสนาที่ถูกประทานลงมาโดยพระเจ้านั้นมีจุดคล้ายคลึงกันหลายจุด ซึ่งจะขอนำเสนอบางประเด็นเท่านั้น เช่น

 เตาฮีด

 หมายถึงความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทุกศาสนาจะกล่าวถึงความเป็นเอกะของพระองค์ และเชิญชวนให้มนุษย์ไปเคารพภักดีต่อพระองค์ อัล-กุรอาน กล่าวว่า และแท้จริงเราได้ส่งนูฮ์ไปยังประชาชาติของเขา แล้วเขาได้กล่าวว่า จงเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺเถิด ไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีกแล้วสำหรับพวกเจ้า (อัล-กุรอาน บทอัล-อะอฺรอฟ โองการที่ 59)

 ศาสนาทั้งหลายต่างต่อสู้ความอธรรม ผู้กดขี่ และการเคารพรูปปั้นบูชา อัล-กุรอาน กล่าวว่า สูเจ้าจงเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ และจงห่างไกลจากพวกเจว็ดอธรรมทั้งหลาย (อัล-กุรอาน บทอัล-นะฮฺลิ โองการที่ 36)

 นบูวัต

ศาสนาต่าง ๆ พยายามเชิญชวนให้ประชาชาติปฏิบัติตามบรรดาศาสนทูต ที่ได้รับการประทานลงมาจากพระเจ้า ซึ่งเทวโองการได้พิสูจน์ความสัจจริงของท่านเหล่านั้นแล้ว

 มะอาด วันแห่งอวสานโลก

 บรรดาศาสนาแห่งฟากฟ้า ได้สอนให้มนุษย์เชื่อเรืองวันสิ้นโลกและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันนั้นอย่างละเอียด และพยายามชักจูงมนุษย์เพื่อให้รอดพ้นจากการลงโทษของวันนั้น

 นมาซ

 ศาสนาแห่งฟากฟ้าทุกศาสนาถือว่า นมาซ คือข้อบังคับเหนือตัวสำหรับผู้ปฏิบัติตามทุกคน ซึ่งมีความชัดเจนประหนึ่งดวงอาทิตย์ในตอนกลางวัน ท่านศาสดาอับราฮัม (อิบรอฮีม) กล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของข้าฯ โปรดให้ข้าฯได้ยืนหยัดนมาซเถิด

 ประชาชาติที่หลงทางของศาสดาชุอัยบฺ กล่าวกับท่านว่า โอ้ ชุอัยบฺเอ๋ย นมาซของท่านสั่งสอนท่านว่าให้พวกเราละทิ้งสิ่งที่บรรพบุรุษของเราเคารพบูชา หรือว่าให้เรากระทำต่อทรัพย์สินของเราตามที่เราต้องการกระนั้นหรือ (อัล-กุรอาน บทฮูด โองการที่ 87)

 ศาสดาอีซา (เยซู) กล่าวขณะนอนอยู่ในเปลว่า พระองค์ทรงให้ฉันได้รับความจำเริญ ไม่ว่าฉันจะอยู่ ณ ที่ใด และทรงสั่งเสียให้ฉันนมาซและจ่ายบริจาคทานบังคับตราบที่ฉันมีชีวิตอยู่ (อัล-กุรอาน บทมัรยัม โองการที่ 31)

 ศีลอด

 ศีลอด เป็นหลักการร่วมอีกประการหนึ่งของศาสนาแห่งฟากฟ้า อัล-กุรอาน กล่าวว่า บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกำหนดแก่สูเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้คนก่อนหน้าสูจ้ามาแล้ว เพื่อว่าสูเจ้าจะได้ยำเกรง (อัล-กุรอาน บทอัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 183)

 ญิฮาด

 อัล-กุรอาน กล่าวถึงเรื่องการญิฮาด ของบรรดาศาสดาไว้ว่า และนะบีกี่มากน้อยแล้ว ที่กลุ่มชนอันมากมายได้ต่อสู้ร่วมกับเขา แล้วพวกเขาหาได้ท้อแท้ไม่ต่อสิ่งที่ได้ประสบแก่พวกเขาในทางของอัลลอฮฺ และพวกเขาหาได้อ่อนกำลังลง และหาได้สยบไม่ (อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 146)

 ฮัจญฺ

 การบำเพ็ญฮัจญฺมิใช่หลักการเฉพาะเพียงแค่ศาสนาอิสลามเท่านั้น หมายถึงเป็นหลักการที่กล่าวไว้ศาสนาแห่งฟากฟ้าก่อนหน้านี้เช่นกัน พระเจ้าตรัสกับศาสดาอิบรอฮีมว่า และจงประกาศการบำเพ็ญฮัจญฺแก่มนุษย์ทั่วไปเถิด พวกเขาจะมาหาเจ้าโดยทางเท้า และทางอูฐเพรียวทุกตัวซึ่งพวกเขาจะมาจากแดนไกลทั่วทุกสารทิศ (อัล-กุรอาน บทอัล-ฮัจญฺ โองการที่ 27)

 ซะกาต (ทานบังคับ)

 ซะกาตเช่นกันมิใช่หลักการเฉพาะเจาะจงสำหรับศาสนาอิสลาม ศาสดาอีซา กล่าวว่า พระองค์ทรงให้ฉันได้รับความจำเริญ ไม่ว่าฉันจะอยู่ ณ ที่ใด และทรงสั่งเสียให้ฉันนมาซและจ่ายซะกาต (ทานบังคับ) ตราบที่ฉันมีชีวิตอยู่ (อัล-กุรอาน บทมัรยัม โองการที่ 31)

 การเชิญชวนไปสู่ความดีและห้ามปรามความชั่ว

 ลุกมานกล่าวเตือนบุตรชายของตนว่า โอ้ ลูกเอ๋ย เจ้าจงดำรงนมาซ และจงกำชับให้กระทำความดี และจงห้ามปรามความชั่วร้าย และจงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า (อัล-กุรอาน บทลุกมาน โองการที่ 17)

 นี่เป็นส่วนหนึ่งของหลักการร่วมกันระหว่างศาสนาแห่งฟากฟ้า ดังนั้น ตามหลักคำสอนของศาสนาเหล่านั้นมีทั้งจุดร่วมและจุดแตกต่าง ด้านการปฏิบัติเช่นกันย่อมมีเงื่อนไขที่ตายตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เงื่อนไขที่ตายตัวของศาสนาจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเด็ดขาด แต่เงื่อนไขที่ไม่ตายตัวย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการและความเหมาะสม เช่น สงคราม และการทำสัญญาสงบศึก เป็นต้น

 ท่านอิมามอะลี (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรและความสันติแด่ท่าน) กล่าวไว้ตอนหนึ่งในช่วงที่ท่านปกครองอาณาจักรอิสลามว่า ม้าจัดว่าเป็นหนึ่งในทรัพย์สมบัติที่ต้องจ่ายซะกาต (ทานบังคับ) ท่านได้ตอบข้อท้วงติงของสาวกบางคนว่า เนื่องจากปีนี้แห้งแล้งและคนจนได้ทวีจำนวนเพิ่มขึ้น กองคลังอิสลามมีรายได้น้อย ด้วยเหตุนี้ เจ้าของม้าทุกคนจึงต้องจ่ายซะกาตด้วย

 ท่านอิมามมูซากาซิม (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรและความสันติแด่ท่าน) ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำท่านได้ประกาศยกเลิกการจ่ายคุมซฺ (ภาษีศาสนา) แก่บรรดาชีอะฮฺของท่าน เนื่องจากพวกเขาได้รับการกลั่นแกล้งจากบรรดาผู้ปกครอง หลังจากอิมามชะฮีดไปแล้วบรรดาชีอะฮฺได้ขอร้องอิมามริฎอ (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรและความสันติแด่ท่าน) ให้ยกเลิกการจ่ายคุมซฺ เหมือนเช่นดิม อิมาม ตอบว่า คุมซฺ ไม่สามารถยกเลิกหรืออนุโลมได้ การที่บิดาของฉันอนุโลมให้นั้นเป็นเพราะว่าท่านต้องการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของพวกท่านต่างหาก