') //-->
สาเหตุที่บางคนไม่ใสใจต่อศาสนาอาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้ กล่าวคือ
1. เพราะไม่รู้จักศาสนา
เป็นธรรมดาที่ว่าถ้ามนุษย์รู้จักสิ่งใดมากไม่ว่าจะเป็นคุณค่าหรือความสำคัญของสิ่งนั้น มนุษย์ก็จะสนใจสิ่งนั้นมากเป็นพิเศษ การที่มนุษย์ไม่สนใจต่อศาสนาและหลักคำสอนนั้น เป็นเพราะว่ามนุษย์ไม่รู้จักศาสนาดีพอ อิมามริฎอ (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรและความสันติแด่ท่าน) กล่าวว่า ถ้าหากมนุษย์ได้รับรู้ถึงความสวยงามแห่งวจนะของเรา พวกเขาจะปฏิบัติตามเราอย่างไม่มีเงื่อนไข..
บางครั้งจะเห็นว่าบางคนไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา เช่น ไม่นมาซ เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่นมาซ จะได้รับคำตอบในเชิงว่าพวกเขาไม่รู้จักนมาซ โดยมักกล่าวว่า พระเจ้าทรงประสงค์นมาซเพื่อการใด แน่นอน พวกเขาไม่รู้ว่ามิใช่นมาซเพียงอย่างเดียวที่พระองค์ไม่ทรงปรารถนาจากเรา แม้กระทั่งตัวเราพระองค์ก็มิทรงปรารถนา ทว่าสรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหลายก็มิได้ปรารถนาเรา พื้นดินต้องการสิ่งใดจากมนุษย์หรือ ผึ้งและแมลงต่าง ๆ ต้องการสิ่งใดจากเราหรือ ออกซิเจน ดวงตะวัน และดวงเดือนต้องการสิ่งใดจากเราหรือ
ถ้าหากกล่าวว่าจงสร้างบ้านให้ตรงกับดวงตะวัน มิได้หมายความว่าดวงตะวันต้องการเราหรือบ้านของเตา ทว่ามนุษย์ต่างหากที่ต้องการแสงตะวันให้ฉายส่องเพื่อความร้อน และฆ่าเชื้อไวรัสต่าง ๆ ในบ้าน บทขอพรบทหนึ่งกล่าวว่า โอ้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าเนื่องจากความโง่เขลาเบาปัญญาของข้าฯ ข้าฯจึงมิได้ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์
ถ้าหากมนุษย์ล่วงรู้ถึงผลรับของการประกอบคุณงามความดี หรือล่วงรู้ถึงบทลงโทษการกระทำความชั่วต่าง ๆ แล้ว แน่นอน มนุษย์จะมุมานะปฏิบัติคุณงามความดีอย่างไม่ลดละแม้ว่าจะลำบากสักปรานใดก็ตาม ขณะเดียวกันเขาจะออกห่างจากความชั่วโดยสิ้นเชิง เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่และไม่นมาซนั่นเป็นเพราะว่าเขาไม่เชื่อผลที่เลวร้ายของบุหรี่ และไม่รู้ถึงผลที่เร้นลับของนมาซ
ดั้งนั้น เพื่อสร้างความดึงดูดให้ประชาชนสนใจศาสนา จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับศาสนาให้แก่ประชาชนและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตามเนื่องจากถ้าคำสอนของศาสนาหนึ่งถูกละเลยศาสนาอื่น ๆ ก็จะถูกละเลยตามไปด้วย และจำเป็นต้องมีผู้รู้ที่สามารถวิเคราะห์วิจัยสิ่งถูกต้องในศาสนาได้อย่างถูกต้องด้วย
2. การเพิ่มเติมสิ่งเหลวไหลในศาสนา
ประชาชนบางกลุ่มหลีกหนีจากศาสนา เนื่องจากการเพิ่มเติมสิ่งเหลวไหลไปในคำสอนของศาสนา โดยนักวิชาการที่ไม่ใช่ผู้รู้ทางศาสนา หรือเหล่าศาสนิกที่โง่เขลา หรือบรรดาศัตรูที่คิดร้ายต่อศาสนาได้พยายามเพิ่มเติมสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในคำสอนศาสนา
ถ้าส่งน้ำให้กับผู้ศรัทธาที่หิวกระหายน้ำอย่างหนัก 1 แก้ว แล้วบอกกับเขาว่าในน้ำนั้นมีสุราผสมอยู่หยดสองหยด ไม่ว่าเขาจะกระหายน้ำมากเพียงใดเขาก็สามารถเทน้ำทิ้งได้เนื่องจากน้ำสกปรก ทำนองเดียวกันบุคคลที่เคร่งครัดศาสนาถ้าเขารู้ว่าหลักการนั้นไม่ถูกต้อง เขาก็สามารถยอมทิ้งหลักการได้และยึดเอาเฉพาะแก่นของศาสนาเพียงประการเดียว บางครั้งเขาก็ยึดถือในลักษณะสุดโต่งที่ว่า ทำสิ่งที่อนุมัติให้กลายเป็นสิ่งไม่อนุมัติสำหรับตน และบางคนยึดถือเอาเฉพาะจากรีตประเพณีและกล่าวอ้าวว่า นั่นคือหลักการของศาสนา ด้วยเหตุนี้ บางครั้งการกระทำสุดโต่งของศาสนิกบางคนเป็นสาเหตุให้ผู้คนหันเหออกจากศาสนา ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นปัญหาสำคัญอีกเช่นกัน
3. การวิเคราะห์วิจารณ์ที่ไม่ถูกต้อง
หรือบางครั้งวิเคราะห์วิจารณ์หลักการไปในทางที่ผิด และบางครั้งได้รับข้อมูลผิดเกี่ยวกับหลักการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรงแต่กล่าวอ้างว่าสิ่งนั้นเป็นคำสอนของศาสนาและนำไปเผยแผ่แก่ผู้คน เจ้าของคำวิจารณ์ที่ได้วิเคราะห์เช่นนี้เนื่องจากเชื่อว่า ทุกคนที่มีศาสนาต้องคิดและปฏิบัติเช่นนั้น แน่นอน ว่าความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักการศาสนา ความผิดพลาดในการสอน และการเผยแผ่ในทางที่ผิดในนามของศาสนาเป็นอุปสรรคสำคัญ อันเป็นสาเหตุทำให้บุคคลอื่นไม่ใส่ใจต่อศาสนา ดังนั้น แผนการในการเผยแผ่ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การเผยแผ่ศาสนามิใช่ว่ามีความรู้เพียงอย่างเดียวก็สามารถเผยแผ่ศาสนาได้ ทว่านักเผยแผ่ยังต้องการความรู้ด้านจิตวิทยา บุคลิกภาพที่ดี และมีความรักในการเผยแผ่
4. การปฏิบัติอย่างสุดโต่งของผู้มีความสำรวมตน
บางครั้งความประพฤติและการปฏิบัติของผู้มีความสำรวมตนบางคน ก็เป็นสาเหตุทำให้ผู้อื่นเบี่ยงเบนความคิดออกจากศาสนา เช่น การแจกจ่ายอาหารที่สะอาดให้แก่ผู้หิวโหยโดยบุคคลที่สกปรก
สำหรับบุคคลที่ไม่มีความเชื่อศาสนา เช่น พวกวัตถุนิยมทั้งหลายต่างพยายามนำเสนอบทวิเคราะห์และวิจารณ์ศาสนาอีกทั้งพยายามหาค้นหาเหตุผล ซึ่งบางครั้งบทวิเคราะห์ของเขาเป็นไปในเชิงจิตวิทยา และในเชิงเศรษฐกิจซึ่งทั้งหมดห่างไกลจากความจริงตามหลักคำสอนของศาสนา ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันว่าบทวิเคราะห์วิจารณ์ของพวกเขาผิดพลาด และบรรดานักวิชาการได้ตอบข้อสงสัยเหล่านั้นด้วยเหตุผลที่ชัดเจน
บรรดาพวกวัตถุนิยมทั้งหลาย นอกจากจะสรรหาเหตุผลเพื่อวิภาษหลักคำสอนศาสนาในหมู่ประชาชนที่นับถือศาสนาโดยทั่วไปแล้ว พวกเขายังปฏิเสธเรื่องสติปัญญา และธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ และถือว่าปัจจัยอย่างอื่น เช่น ความยากจน ความโง่เขลา และความหวาดกลัว คือ ปัจจัยสำคัญทำให้มนุษย์ต้องพึ่งคำสอนของศาสนา
พวกวัตถุนิยมกล่าวว่า เหตุผลประการหนึ่งที่มนุษย์หันไปพึ่งศาสนาและพระเจ้า คือ ความยากจน พวกเขาอธิบายว่า บรรดาทุนนิยมต้องการปล้นสะดมสิทธิของคนยากจนพวกเขาได้สร้างแนวความคิดในนามของศาสนาขึ้นมา และใช้ความยากจนเป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจ โดยกล่าวกับชนชั้นที่สามที่กำลังพัฒนาว่า โลกและความซิวิไลซ์ของมันมิใช่สิ่งที่มีค่าแต่อย่างใด พวกท่านจงอดทนอดกลั้นต่อความยากลำบากเพื่อโลกหน้า เนื่องจากพระเจ้าทรงรักผู้ที่มีความอดทน ความยากจนและการหมดหนทางมิใช่สิ่งที่มีความสลักสำคัญแต่อย่างใด พวกท่านไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหว ไม่จำเป็นต้องลุกต่อสู้กับความยากจน และไม่จำเป็นต้องก่อกบฏแต่อย่างใด สิ่งที่มีความสำคัญ คือ โลกหน้า ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าบรรดาทุนนิยมพยายามใช้ความอ่อนแอของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจนเป็นเครื่องมือ และพวกเขาได้ให้หลักประกันต่อความเงียบสงบเหล่านั้น
ความผิดพลาดของบทวิเคราะห์ที่ห่างไกลจากเหตุผลทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลทางตรรก นั้นมีเหตุผลที่กระจ่างชัดหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ
ประการแรก ความยากจนมิได้หมายถึงการยอมจำนน หรือการกินอย่างไม่อิ่มหนำสำราญ ศาสนากล่าวกับมนุษย์ว่า
فَمَنِ اعْتَدَى عَلَيْكُمْ فَاعْتَدُواْ عَلَيْهِ بِمِثْلِ مَا اعْتَدَى عَلَيْكُمْ
ดังนั้น ผู้ใดละเมิดพวกเจ้า พวกเจ้าก็จงละเมิดต่อเขา เยี่ยงที่เขาละเมิดต่อพวกเจ้า (อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 194)
ดังนั้น พวกเขากล่าวยัดเหยียดบทวิเคราะห์ที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นหลักการของศาสนาได้อย่างไร และบุคคลใดก็ตามที่เชื่อเรื่องโลกหน้าไม่ได้หมายความว่า เขาต้องตัดขาดทุกสิ่งทุกอย่างทางโลกโดยสิ้นเชิง หรือไม่ต้องใส่ใจภารกิจทางโลกอีกต่อไป หรือไม่ต้องสนใจกับสิทธิของบุคคลอื่นที่ถูกทำลายล้างไปโดยน้ำมือของผู้กดขี่ ซึ่งท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่าพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน กล่าวเน้นถึงคำว่าอาคิเราะฮฺ (โลกหน้า) และคำว่าดุนยา (โลกนี้) ไว้หลายครั้งด้วยกัน นั่นหมายความว่าทั้งสองมีความสำคัญไม่แตกต่างกัน
อิสลาม ได้อธิบายคำต่าง ๆ ที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือถูกเปลี่ยนแปลงความหมายไปแล้วว่า คำเหล่านั้นมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการ เช่น คำว่า การรอคอย มิได้หมายถึงการนิ่งเงียบ การรอคอยดวงตะวัน มิได้หมายความว่ากลางคืนต้องซ่อนตัวอยู่ด้านในหรือไม่ได้จุดจะตะเกียง การรอคอยฤดูร้อนมิได้หมายความว่า ไม่ต้องตระเตรียมเครื่องทำความร้อนในฤดูหนาว
แน่นอน การรอคอยการปรากฏกายของผู้นำ (อิมาม) ท่านที่ 12 เพื่อปรับปรุงแก้ไขสังคมโลก มิได้หมายความว่าต้องนิ่งเงียบหรือยอมจำนนต่อผู้กดขี้ข่มเหง
ความหมายของคำว่า อดทน มิได้หมายความว่าต้องทนต่อสภาวะการกดขี่ ทว่าความอดทนหมายถึง การยืนหยัดต่อหน้าบรรดาผู้กดขี้ทั้งหลายเพื่อนำสิทธิของตนกลับคืนมา
อิสลามกล่าวว่า ผู้ที่ทวงทรัพย์สินของตนจากบรรดาผู้กดขี่ หรือปกป้องทรัพย์สินเหล่านั้นและตนถูกสังหารถือว่า ชะฮีด หมายถึงสิ้นชีพในหนทางของพระเจ้านั่นหมายความว่า เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนต้องขวนขวายและยืนหยัดจนถึงแม้ว่าจะเข้าสู่พรมแดนแห่งความตายก็ตาม
ความหมายของ การตีความที่ว่าโลกไม่มีคุณค่า มิได้หมายความว่าปล่อยให้โลกหลุดลอยมือไป หรือปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโลก ทว่าจุดประสงค์หมายถึง ความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นตัวแทนของพระเจ้าบนหน้าแผ่นดินมีค่าและมีความหมายมากกว่าโลก ดังนั้น มนุษย์ต้องไม่นำเอาโลกมาเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินชีวิต
นอกจากนั้น อิสลาม ยังได้มีหลักการในการยึดทรัพย์สินของนายทุนที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อส่งคืนกลับให้แก่เจ้าของ และยังได้กล่าวถึงบรรดาผู้ถูกต้องห้ามและถูกกีดกันทั้งหลายว่า
การยอมจำนนหรือการถ่อมตนต่อหน้านายทุนเป็นสิ่งต้องห้าม
ไม่ว่าบุคคลใดก็ตามถ่อมตนต่อหน้าบุคคลอื่น เนื่องจากทรัพย์สินถือว่าศาสนาของเขา 1 / 3 ได้ถูกทำลายลงแล้ว
บุคคลใดก็ตามกล่าวสลามกับบุคคลอื่นด้วยความนอบน้อมถ่อมตน เนื่องจากความร่ำรวยของเขา ในวันกิยามะฮฺพระเจ้าจะทรงกริ้วเขา
บุคคลใดก็ตามมิได้ให้เกียรติบุคคลอื่น เนื่องจากความร่ำรวยของเขา ต้องไม่นั่งร่วมสำรับอาหารกับผู้ที่มีฐานร่ำรวย ดังที่อิมามริฏอ (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรและความสันติแด่ท่าน) ได้นั่งร่วมสำรับกับคนยากจน ศาสดาสุลัยมานเป็นผู้ร่ำรวยและมีสมบัติมากมายมหาศาลใช้ชีวิตร่วมกับคนจน อิมามอะลี (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรและความสันติแด่ท่าน) นั่งกับพื้นดิน
ประการที่สอง ถ้าหากนายทุนเป็นผู้นำศาสนามาสั่งสอนแล้วละก็ บรรดาศาสดาคงไม่เชิญชวนประชาชนให้ลุกต่อต้านพวกเขา
ประการที่สาม ศาสนาได้กำหนดขอบเขตให้บรรดานายทุน ยกเลิกและห้ามแหล่งที่มาของผลประโยชน์เหล่านั้นโดยสิ้นเชิง เช่น การติดสินบน การโกงตราชั่ง การขายของแพง การกินดอกเบี้ย การหลอกลวงด้วยเล่ห์เพทุบาย ซึ่งอิสลามสั่งห้ามอย่างรุนแรง แน่นอน ไม่มีนายทุนกลุ่มใดต้องการสนับสนุนกลุ่มชนที่ถวิลหาศาสนา เพื่อให้นักการศาสนาเหล่านั้นมาสั่งห้ามพวกตนจากการสั่งสมทรัพย์สินเงินทอง หรือหาข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ นา ๆ เพื่อให้ทรัพย์สินไหลออกจากกระเป๋าของตนไปสู่กระเป๋าของคนยากจน หรือบางครั้งทำการตรวจสอบทรัพย์สินของตน
ข้ออ้างอีกประการหนึ่งของพวกวัตถุนิยมคือ ศาสนาเป็นตัวการสร้างความยากจน และคนจนจัดตั้งศาสนามาเพื่อหาทางสงบจิตใจ พวกเขากล่าวว่า ถ้าหากพวกเราไม่มีโลกก็ถือว่าไม่มีความสลักสำคัญแต่อย่างใด เพราะเรามีโลกหน้าเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนซึ่งดีกว่าหลายเท่านัก ดังนั้น แทนที่พวกเขาจะไปหางานทำเพื่อสรรหาปัจจัยยังชีพ พวกเขาได้หันหน้าเข้ามัสยิดเพื่อประกอบอิบาดะฮฺ (แสดงความเคารพภักดี)
การวิเคราะห์เช่นนี้ถือว่าผิดพลาดอีกเช่นกัน เนื่องจากไม่มีศาสนาใดบนโลกนี้สอนให้ศาสนิกเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ประกอบสัมมาอาชีพ มีผู้ถาม ท่านอิมามอะลี (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรและความสันติแด่ท่าน) ว่าสัมภาระของอูฐคืออะไร ท่านอิมาม ตอบว่า ต้นอินทผลัม 100,000 ต้น
ผู้ถามประหลาดใจมากหลังจากนั้นเพิ่งเข้าใจว่า อิมามหมายถึงเม็ดอินทผลัม 100,000 เม็ด คือ สัมภาระของอูฐ วิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ ท่านอิมามอะลี ต้องการบอกว่าเม็ดอินทผลัมแต่ละเม็ดสามารถเพราะเป็นต้นอินทผลัมได้ 1 ต้น
ท่านอิมามอะลี (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรและความสันติแดท่าน) กล่าวถึงจำนวนต้นอินทผลัม พร้อมทั้งการสร้างขวายส่งน้ำเพื่อไปล่อเลี้ยงต้นสวนอินทผลัม ขณะที่ท่านศาสดาส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร หรือเป็นเขยของเกษตรกร หรือเป็นช่างไม้ และอื่น ๆ จุดประสงค์ที่ต้องการกล่าว ณ ที่นี้ คือ บรรดาศาสดาแห่งอิสลามมิได้เป็นผู้ว่างงานโดยปราศจากอาชีพการงานใด ๆ นั่งเฝ้าแต่จะประกาศสั่งสอนเพียงอย่างเดียว
ความหวาดกลัวของบรรดาพวกวัตถุนิยม กลายเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาไม่กล้าหันมาศึกษาเรื่องโลกทัศน์ของพระเจ้า ไม่ยอมรับเรื่องสติปัญญาและการค้นหาเหตุผลอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ พวกเขาอ้างว่า รากที่มาของความศรัทธา คือ ความกลัว กล่าวคือ มนุษย์ก็คือทารกน้อยที่มีสถานที่หลบภยันตรายต่าง ๆ ในนามของบิดามารดา เมื่อโตขึ้นก็มีสถานที่หลบภัยอื่นนามว่า พระเจ้า ซึ่งพวกเขาได้สร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง เนื่องจากมนุษย์นั้นมีอำนาจและปัจจัยยังชีพอยู่ในขอบเขตจำกัด ขณะที่รายรอบด้านเขามีแต่ภยันตรายมากมาย
มนุษย์ นั้นครั้งแรกที่เผชิญกับภยันตรายต่าง ๆ เหตุการณ์อันไม่คาดฝัน เช่น แผ่นดินไหว ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เขาก็จะรีบวิ่งไปหลบภัยยังสถานที่ ๆ ได้ตระเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว และทุกครั้งที่เกิดความหวาดกลัวเขาก็จะรีบวิ่งไปหาพระเจ้าที่พวกเขาสร้างขึ้นมา เพื่อให้ความหวาดกลัวและความประมาทถูกขจัดไปจากเขาและนำเอาความสงบมั่นเข้ามาแทนที่ ด้วยเหตุนี้ รากที่มาของความศรัทธา คือ ความกลัว
คำตอบ .. ถ้าหากรากที่มาของความศรัทธาในพระเจ้า คือ ความกลัว นั่นหมายความว่าถ้าบุคคลใดกลัวมากเท่าไหร่ ความศรัทธาของเขาก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และสถานที่ ๆ มีความกลัวมากศรัทธาในพระเจ้าย่อมมากเป็นทวีคูณ ถ้ารากที่มาของความศรัทธาคือ ความกลัว ดังนั้น บุคคลที่ไม่มีความกลัวก็คือบุคคลที่ไม่มีศาสนา ขณะเดียวกันถ้ามนุษย์ไม่มีความรู้สึกกลัว ก็ไม่จำเป็นต้องรำลึกถึงพระเจ้า ขณะที่ความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น
บางทีอาจมีคำถามอีกว่า ถ้าหากแหล่งที่มาของความศรัทธาและการยึดมั่นศาสนาไม่ใช่ความกลัว ดังนั้น เมื่อเกิดความหวาดกลัวทำไมต้องต้องรำลึกถึงพระเจ้าด้วย หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือไม่สบายอย่างหนักทำไมต้องรำลึกถึงพระองค์ด้วย
คำตอบ ถูกต้องเมื่อมนุษย์เกิดความหวาดกลัว หรือไม่สบายอย่างหนักจะรำลึกถึงพระเจ้า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารากที่มาของความศรัทธา หรือการยึดมั่นในศาสนาเกิดจากความกลัว เพราะเมื่อมนุษย์กระหายน้ำ และตามหาน้ำมิได้หมายความว่าน้ำสร้างจินตนาการให้มนุษย์ ทว่าในทางกลับกันน้ำ คือ ปรากฏการที่เป็นจริงและมีอยู่จริง ความกระหายต่างหากที่นำพาเราไปหาน้ำ
สติปัญญาของมนุษย์ สามารถมองเห็นร่องรอยที่ละเอียดอ่อนอันถูกคำนวณนับแล้วได้ ถ้าหากมนุษย์นำเอาสติปัญญาของตนไปขบคิดเรื่องพระเจ้าและคิดว่า ขณะนี้ตัวตนมีอยู่ การมีอยู่ของตนเองตนมิได้สร้างมันขึ้นมา มิเช่นนั้นแล้วตนต้องสร้างให้ตัวเองมีความสวยงามเป็นเลิศ มีความแข็งแรง หรือเปลี่ยนแปลงตนเองตามความประสงค์และบุคคลอื่นก็เหมือนกันฉัน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ยืนยันให้เห็นว่าต้องมีผู้มีอำนาจเหนือและยิ่งใหญ่เกินตัวเราได้สร้างมนุษย์ขึ้นมา ผลจากการคิดดังกล่าวได้บทสรุป คือ จิตใจของมนุษย์ไม่มีความหวาดกลัว สติปัญญาอันเป็นพลังธรรมชาติในมนุษย์ได้ปลุกเขาให้ตื้นและขับเคลื่อนเขาไปยังการรู้จักพระเจ้า
ผู้ปฏิเสธศาสนาบางกลุ่ม ปฏิเสธธาตุแท้แห่งความจริงในการรู้จักพระเจ้าบนพื้นฐานของสติปัญญาและธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ พวกเขากล่าวว่า รากที่มาของความศรัทธาในพระเจ้า คือ ความโง่เขลา พวกเขาเชื่อว่า สำหรับมนุษย์ย่อมมีเหตุการณ์ต่าง ๆ อันไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งพวกเราไม่รู้เหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และทุกปัญหาที่นักวิชาการไม่สามารถค้นหาเหตุผลได้ พวกเขาก็จะยกยอดไปให้พระเจ้าที่สมมติขึ้น และกล่าวว่า นี่ไม่ใช่งานของเรามันเป็นภารกิจของพระเจ้า เช่น ไม่รู้ว่าเพราะสาเหตุใดจึงเกิดสุริยุปราคา หรือจันทรุปราคา หรือแผ่นดินไหว และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ไม่คาดฝันอีกมากมายที่ได้เกิดขึ้นและมนุษย์ไม่รู้ถึงสาเหตุ ดังนั้น พวกเขาได้ยกมูลเหตุเหล่านั้นให้พระเจ้าที่สมมติฐานขึ้นมา และกล่าวว่าเหล่านี้เป็นภารกิจของพระเจ้า ขณะนั้นเองปัญหาเรื่องพระเจ้าจึงได้ถูกเอ่ยออกมา
ตามความเป็นจริงแล้วคำพูดเหล่านี้มีการพูดกันมานานแล้ว และนับตั้งแต่วันแรกที่คำพูดเหล่านี้ได้ถูกกล่าวออกมาก็ไม่มีบุคคลใดให้ความสนใจ อาจเป็นเพราะว่า
1. ถ้ารากที่มาของความศรัทธาในพระเจ้า คือ ความโง่เขลาในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ดังนั้น บุคคลใดโง่เขลามากเท่าใดความศรัทธาของเขาก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น
2. ถ้รากที่มาของความศรัทธาในพระเจ้า คือ ความโง่เขลาแล้วละก็บรรดาคัมภีร์แห่งฟากฟ้าต้องส่งเสริมให้มนุษย์โง่เขลามากขึ้น ขณะที่พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน กล่าวไว้ในหลายโองการเกี่ยวกับเรื่องการใคร่ครวญ ความประเสริฐของความรู้ และวิชาการในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญกล่าวยืนยันไว้ว่าผู้รู้กับผู้ไม่รู้นั้นไม่เท่าเทียมกัน เช่น กล่าวว่า
อัลลอฮฺ ทรงยกย่องเทิดเกียรติแก่บรรดาผู้ศรัทธาในหมู่สูเจ้า และบรรดาผู้ได้รับความรู้หลายชั้นว่า
يَرْفَعِ اللَّهُ الَّذِينَ آمَنُوا مِنكُمْ وَالَّذِينَ أُوتُوا الْعِلْمَ دَرَجَاتٍ
(อัล-กุราอาน บทอัลมุญาดะละฮฺ โองการที่ 11)
จงกล่าวเถิด บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ
(อัล-กุราอาน บทอัซซุมัร โองการที่ 9)
3. ถ้าหากรากที่มาของความศรัทธาในพระเจ้า คือ ความโง่เขลา จำเป็นอย่างยิ่งที่เหล่าบรรดาศาสดา และเหล่าผู้นำที่พระเจ้าทรงประทานลงมาต้องเป็นคนโง่เขลา ขณะที่ท่านเหล่านั้นฉลาดกว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกนี้
4. ถ้าหากรากที่มาของความศรัทธาในพระเจ้า คือ ความโง่เขลา บุคคลใดที่ถอดถอนความโง่เขลาไปจากตนเองเท่ากับเป็นผู้ที่ปราศจากความศรัทธา ยิ่งทวีความฉลาดมากเท่าใดความศรัทธาของเขาก็จะลดน้อยลงไป และถ้ามนุษย์เหล่านี้ค้นหาเหตุผลของการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากเท่าใด ความศรัทธาในพระเจ้าก็จะทดถอยไปเรื่อย ๆ ขณะที่นักวิชาการอย่าง อบูอะลีซินา ซึ่งได้ค้นพบสาเหตุบางประการทางธรรมชาติเป็นผู้มีศรัทธามั่นคงในพระเจ้า
แน่นอน การค้นพบสาเหตุทางธรรมชาติจะมากหรือน้อยก็ตาม เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ปราศจากความต้องการไปยังผู้วางกฎเกณฑ์เหล่านั้นหรือ มิใช่เช่นนั้นแน่นอน เนื่องจากการค้นพบกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติเป็นเพียงการได้รับรู้ความเร้นลับบางประการที่มีอยู่ อันมีผลต่อความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าอย่างยิ่ง