ฟิฏรัตที่คลุมเครือ

ฟิฏรัต (ธรรมชาติ) บางครั้งเปิดเผยเห็นได้อย่างชัดเจนแต่บางครั้งก็คลุมเครือและไม่ใสสะอาด ตรงนี้จะกล่าวสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเปล่งประกายของธรรมชาติ เนื่องจากหมู่มวลเมฆและฝุ่นละอองต่างได้ครอบคลุมอยู่เหนือธรรมชาติของมนุษย์ เช่น

1.การปฏิบัติตามผู้อื่นเยี่ยงคนตาบอด

2. มุ่งหวังความเป็นอยู่ที่ดีและความเติบโตด้านวัตถุ

3. การตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ศาสดามูซา (อ.) พร้อมกับประชาชาติของท่านเข้าไปยังสถานที่แห่งหนึ่งที่ยังเคารพรูปปั้นบูชา ประชาชาติของมูซา (อ.) ได้มองไปยังประชนเหล่านั้น ทำให้เทวรูปต่าง ๆ ที่ซ่อนไว้ล่วงหล่นลงมา พวกเขากล่าวแก่ศาสดามูซา ว่า

يَا مُوسَى اجْعَل لَّنَا إِلَهًا كَمَا لَهُمْ آلِهَةٌ قَالَ إِنَّكُمْ قَوْمٌ تَجْهَلُونَ 

โอ้ มูซาจงประดิษฐ์พระเจ้าแก่พวกเราสักองค์หนึ่ง เช่นเดียวกับที่พวกเขามีสิ่งเคารพสักการะ (อัล-กุรอาน บท อัลอะอฺรอฟ โองการที่ 138)

4. มิตรไม่ดี ตั้งมากน้อยเพียงใดที่บุคคลหนึ่งเข้าใจว่าความดีและความชั่วเป็นอย่างไร แต่ว่ามิตรไม่ดีได้ชักจูงให้หลงผิดออกไป อัล-กุรอาน กล่าวถึงมนุษย์ที่หลงทางและผิดว่า ในวันแห่งการตัดสินพวกเขาจะโอดครวญว่า

يَا وَيْلَتَى لَيْتَنِي لَمْ أَتَّخِذْ فُلَانًا خَلِيلًا  لَقَدْ أَضَلَّنِي عَنِ الذِّكْرِ

โอ้ความวิบัติพึงมีแก่ฉัน หากฉันไม่คบกับ (คนหลงผิด) เป็นมิตร แน่นอน เขาได้ทำให้ฉันหลงผิดจากการตักเตือน (อัล-กุรอาน บท อัลฟุรกอน โองการที่ 28 - 29)

5. การเผยแผ่เชิญชวนที่ในทางผิด อาจเป็นไปได้ที่บุคคลหนึ่งอาจหลงผิดไปเนื่องจากการเชิญชวนที่เลวร้าย ทำให้สิ่งผิดกลายเป็นสิ่งถูก หรือทำสิ่งถูกให้กลายเป็นความผิด เช่น การการเผยแผ่ของฟาโรห์ที่อ้างตนเองว่าเป็นพระเจ้า โดยกล่าวว่า ข้าคือพระเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันของประชาชาติในยุคนั้น

6. การขู่บังคับและสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น จนกระทั่งเบี่ยงเบนจิตใจออกไปจากคำสอนของศาสนา

7. ตนเองพ่ายแพ้ต่อแนวความคิดของแนวทางอื่น

8. การปฏิบัติตามนักนักมายกลหรือนักแสดงที่หลงทาง เช่น ขณะที่ท่านศาสดามูซา (อ.) เดินทางไปยังเขาซิไน เพื่อวิงวอนขอพรและรอรับวิวรณ์จากพระผู้เป็นเจ้า ซามิรีย์ ซึ่งเป็นนักมายากล เขาหยิบฉวยโอกาสในตอนนั้นปั้นลูกวัวขึ้นมาเพื่อเคารพบูชา อัล-กุรอาน กล่าวว่า ซามิรีย์ได้ปั้นลูกวัวขึ้นมาเป็นรูปร่างมีเสียงร้อง พวกเขาจึงกล่าวว่านี่ คือ พระเจ้าของพวกท่านและพระเจ้าของมูซา แต่เขาลืมหมดสิ้น

9. การยอมรับชนส่วนมาก บางครั้งรู้ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด แต่เนื่องจากชนส่วนใหญ่ยอมรับ และเพื่อให้เข้ากับคนอื่นได้โดยไม่ต้องการให้ตนเป็นแกะดำแต่เพียงผู้เดียว จึงได้ทำตามชนส่วนใหญ่

10. การยุแหย่ของชาตาน

11. การได้ยินคำร่ำลือ บางครั้งเสียงร่ำลือของบุคคลอื่นก็มีอิทธิพลกับตนเองถึงขนาดที่ว่ายอมละทิ้งการรับข้อมูลที่ถูกต้อง

12. อำนาจใฝ่ต่ำ การตกอยู่ภายใต้อำนาจใฝ่ต่ำและการปฏิบัติตามอารมณ์ของตนเอง ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญทีขัดขวางการยอมรับสิ่งที่เป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์

ปัจจัยที่ทำให้ธรรมชาติเปล่งบาน

สิ่งสำคัญที่อยู่ตรงกันข้ามกับปัจจัยที่ทำให้ธรรมชาติของมนุษย์สูญสิ้นไป คือ ปัจจัยหนึ่งที่เสริมสร้างให้ธรรมชาติของมนุษย์เปล่งบาน สิ่งนั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้ประทานแก่มนุษย์ ทรงสร้างสรรค์มันให้มีความบรรเจิด ซึ่งจะขอนำเสนอบางประการ เช่น

1. ความหยั่งรู้ถึงภยันตราย บางครั้งมนุษย์เราตราบที่ยังสัมพันธ์อยู่กับมวลมิตร อำนาจ บารมี ทรัพย์สินและลาภยศต่าง ๆ หรือได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงเสมอ เขาจะไม่ใส่ใจต่อการรำลึกถึงพระเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของตน แต่ถ้าเมื่อใดที่เขาถูกตัดขาดจากสิ่งเหล่านี้ หรือสิ้นหวังจากการช่วยเหลือของมวลมิตร เขาจะหยั่งรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนทันที่ และเมื่อนั้นเขาจะย้อนกลับไปหาธรรมชาติดั้งเดิมทันที่

2. อุปสรรคต่าง ๆ การเผชิญหน้ากับอุปสรรคปัญหาอย่างต่อเนื่อง คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์ย้อนกลับไปสู่ธรรมชาติดั้งเดิมของตน

3. การรำลึกถึงความโปรดปรานของพระเจ้า การเอาใจใส่ การคิดใคร่ครวญ และพิจารณาในความโปรดปรานของพระเจ้าก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ธรรมชาติของมนุษย์เปล่งบาน

ความพิเศษของศาสนา

แน่นอน บัดนี้มนุษย์ผู้มีสติปัญญาทุกคนทราบดีถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการมีศาสนา แต่จะขอกล่าวสรุปเป็นประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

1. ศาสนามีความศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากศาสนาเป็นหลักคำสอนของพระเจ้า และหลักตำสอนของพระเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์

2. ศาสนาต้องสอดคล้องและเข้ากันได้กับธรรมชาติของมนุษย์ตามกล่าวไปแล้ว

3. ศาสนาต้องสอดคล้องและไม่ขัดกับสติปัญญา

4. ศาสนาต้องต้องครอบคลุมสมบูรณ์ หมายถึงหลักคำสอนของศาสนาต้องครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมของชีวิต นับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งหลังความตาย คำสอนของศาสนาต้องกล่าวตักเตือนมนุษย์ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ การงานต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องปฏิบัติ และละทิ้ง

อัล-กุรอาน หลายร้อยโองการ พร้อมทั้งรายงานอีกจำนวนมากจากบรรดาอิมามผู้นำผู้บริสุทธิ์ ได้กำหนดภารกิจหน้าที่ของมนุษย์ทีมีต่อพระเจ้า สังคม ครอบครัว มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน สิ่งแวดล้อม และหน้าที่ของตนกับสรรพสัตว์ เช่น มารยาทในการเลือกภรรยาหรือคู่ครอง พิธีแต่งงาน ช่วงเวลาขณะตั้งครรภ์มารดาสมควรรับประทานหรืองดเว้นอาหารประเภทใด ช่วงเวลาขณะคลอด การเลือกชื่อให้บุตรธิดา การจัดพิธีโกนผมไฟ การสวมใส่ประเภทเสื้อผ้า อาหารของทารก การนอพักผ่อน ร้องไห้ หน้าที่ของบิดามารดา ความเอ็นดูต่อทารก การอบรมสั่งสอน ช่วงเวลาที่ย่างเข้าสู่การเป็นวัยรุ่น เยาวชน ผู้ใหญ่ แก่ชรา ป่วยไข้ และตายจากไป

อิมามอะลี (อ.) เขียนจดหมายสั่งเจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่รวบรวมทานบังคับ (ซะกาต) เป็นจดหมายฉบับที่ 25 ซึ่งบันทึกไว้ในนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺความว่า เมื่อเจ้าเดินทางกลับจากการเก็บรวบรวมทานบังคับ และต้องการขี่หลังสัตว์พาหนะ เจ้าจงใส่ใจและให้ความยุติธรรมแก่สัตว์ด้วย แน่นอน ศาสนาที่ครอบคลุมสมบูรณ์นั้นย่อมให้ความยุติธรรมแม้กรทั่งการขี่สัตว์เดรัจฉานที่เป็นพาหนะ

รายงานหนึ่งกล่าวว่า ขณะที่สูเจ้ารีดน้ำนมจากแม่วัวเจ้าจงให้ความยุติธรรมและจงเหลือน้ำนมไว้ให้ลูกวัวด้วย

เฉพาะเรื่องเสื้อผ้ามีรายงานจำนวนมากจากบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ที่กล่าวถึงการเลือกเสื้อผ้า สีสัน เนื้อผ้า ความสะอาดตามหลักอานามัย การทอ ตัดเย็บ และ อื่น ๆ

5. ศาสนาต้องมีแหล่งกำเนิดมาจากวะฮฺยู (วิวรณ์) มิใช่มาจากอำนาจใฝ่ต่ำ อารมณ์ มีการกำหนด หรือปล่อยเสรีตามอำเภอใจ หรือมาจากพรรค หรือกลุ่มชนที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งโดยหลักการแล้วหลักคำสอนของศาสนาต้องมาจากวิวรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว