พินัยกรรมที่มิได้ถูกบันทึก

เหตุการณ์ในปีฮิจญฺเราะฮฺที่ 11

ช่วงบั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) เป็นช่วงที่มีความละเอียดอ่อน และสำหรับอิสลามและมุสลิมแล้วถือว่าเป็นช่วงที่มีความเจ็บปวดที่สุด เสาวกบางคนแสดงการฝ่าฝืนพวกเขาดื้อรั้นไม่ยอมออกทัพกับอุซาามะฮฺ ตามคำสั่งของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) พวกเขาวางแผนมาอย่างยาวนาน และรอเวลาที่จะยึดอำนาจการปกครองอิสลามทันทีเมื่อท่านเราะซูลจากไป โดยไม่ใส่ใจการแต่งตั้งท่านอะลี (อ.) ที่เฆาะดีรคุม

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ทราบแผนการของพวกเขาคร่าว ๆ และต้องการทำลายแผนการนั้น ท่านจึงสั่งให้สาวกและผู้นำเผ่าทุกคนออกสงครามกับอุซามะฮฺ และรีบเคลื่อนทัพออกจากมะดีนะฮฺไปทำสงครามกับโรมให้เร็วที่สุด แต่พวกเขาได้ใช้การเมืองแทรกแซงโดยบ่ายเบี่ยงและหาข้ออ้างต่าง ๆ นา ๆ ที่จะไม่ยอมออกทัพกับอุซามะฮฺ อันเป็นสาเหตุทำให้การเคลื่อนทัพของอุซามะฮฺต้องล่าออกไปถึง 16 วัน จนถึงวันที่ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กำลังจะสิ้นใจเมื่อออกไปแล้วพวกเขาก็ย้อนกลับเข้ามะดีนะฮฺมาอีกสองครั้งสองครา โดยอ้างว่าเป็นห่วงอาการของท่าน จุดประสงค์ของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ไม่ต้องการให้มีปัญหาการเมืองเข้ามาแทรกแซงในวันที่ท่านจะจากไป ไม่ต้องการให้มีนักหยิบฉวยโอกาสทางการเมืองเข้ามาก่อกวน หรือแสดงท่าที่ต่อต้านตัวแทนที่ท่านแต่งตั้งไว้ พวกเขาไม่ใช่ว่าจะไม่ออกจากมะดีนะฮฺเท่านั้น ทว่าพวกเขาพยายามกระทำการขัดขวางทุกภารกิจที่จะเสริมสร้าง ให้การเป็นตัวแทนของอะลี (อ.) มีความมั่นคงแข็งแรง หรือกีดขวางมิให้เขาขึ้นปกครอง พวกเขาพยายามขัดขวางมิให้ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กล่าวหรือเบี่ยงเบนการพูดถึงเรื่องแต่งตั้งอิมามอะลี (อ.)

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ล่วงรู้แผนการอันเร้นลับของพวกเขาจากภรรยาของท่าน ผู้เป็นบุตรสาวของพวกเขา ท่านไปมัสยิดขณะที่มีอาการไข้สูงและตัวร้อนจัด ท่านยืนอยู่ข้าง ๆ มิมบัรพร้อมกับกล่าวด้วยเสียงดังฟังชัดจนได้ยินออกมากมัสยิดว่า

โอ้ ประชาชนเอ๋ย ไฟแห่งการใส่ร้ายได้ลุกขึ้นแล้ว ซึ่งการใส่ร้ายนั้นประหนึ่งความมืดมิดแห่งยามค่ำคืนที่ได้กร่ำกายเข้ามา พวกเจ้าอย่าได้คิดต่อต้านฉันเป็นอันขาด  ฉันไม่เคยอนุมัติสิ่งใดเว้นเสียแต่ว่า อัล-กุรอานได้อนุมัติสิ่งนั้น และฉันไม่เคยห้ามสิ่งใดเว้นเสียแต่ว่า อัล-กุรอานได้ห้ามสิ่งนั้น

ประโยคดังกล่าวบ่งบอกว่าท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) มีความเป็นห่วงสถานการณ์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเป็นผู้นำภายหลังจากท่าน จุดประสงค์ที่ท่านกล่าวว่า บัดนี้เปลวไฟแห่งการใส่ร้ายได้ลุกขึ้นแล้ว ท่านหมายถึงเปลวไฟใด มันมิใช่เปลวไฟแห่งความแตกแยกและความดื้อรั้นที่ประทุอยู่ในหมู่มุสลิมมาอย่างช้านานดอกหรือ ซึ่งหลังจากท่านจากไปแล้วมันต้องลุกโชติช่วงขึ้นมาอย่างแน่นอน

จงนำปากกาและกระดาษมาฉันจะบันทึกบางอย่าง

ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ล่วงรู้แผนการที่พวกเขาต้องการช่วงชิงตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺที่ท่านได้แต่งตั้งขึ้น ท่านต้องการยกเลิกแผนการของพวกเขา และต้องการปกป้องมิให้มีความแตกแยกเกิดขึ้นในสังคม ที่สำคัญที่สุดท่านไม่ต้องการให้ประชาชนสับสนหรือหลงประเด็นออกไป ท่านต้องการรักษาสถานภาพการเป็นเคาะลิฟะฮฺของอิมามอะลี (อ.) และอะฮฺลุบัยตฺของท่านให้มีความมั่นคงแข็งแรง ท่านจึงต้องการบันทึกเป็นพินัยกรรม เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญแก่สังคมต่อไปในวันข้างหน้า

ด้วยเหตุนี้ วันหนึ่งเมื่อบรรดาผู้นำเผ่าต่าง ๆ  ของกุเรชได้มาเยี่ยมอาการป่วยของท่าน ท่านนั่งก้มหน้าครุ่นคิดอยู่สักพักหนึ่ง หลังจากนั้นท่านได้จ้องมองไปยังพวกเขาและสั่งว่า จงนำปากกาและกระดาษมาให้ฉัน ฉันจะบันทึกสิ่งสำคัญบางอย่างแก่พวกท่าน ซึ่งจะไม่ทำให้พวกท่านหลงทางภายหลัง[1] ในเวลานั้น อุมัร อิบนิ เคาะฏ็อบ เคาะลิฟะฮฺที่สอง ได้ทำลายความเงียบของที่ประชุมพร้อมกับกล่าวว่า อาการไข้ขึ้นสูงได้ทำให้ เราะซูลเพ้อ ไปเสียแล้ว พวกท่านมีอัล-กุรอาน ซึ่งอัล-กุรอานอย่างเดียวในหมู่พวกเราก็เพียงพอแล้ว

ทัศนะของเคาะลิฟะฮฺที่สอง กลายเป็นประเด็นวิภาษกันอย่างกว้างขวาง กลุ่มที่ต่อต้านอุมัร กล่าวว่า จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน จงรีบไปนำปากกาและกระดาษมาให้ท่าน เพื่อท่านจะได้บันทึกสิ่งที่ท่านต้องการ บางกลุ่มเข้าข้างอุมัร พวกเขาขัดขวางมิให้นำเอาปากกาและกระดาษมาให้ท่าน เสียงโต้เถียงกันดังขึ้นเรื่อย ๆ ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) เสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมาก ท่านโกรธมากและไล่พวกเขาออกไปจากบ้าน

อิบนิอับบาซ หลังจากเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วกล่าวว่า โศกสลดที่สุดสำหรับอิสลามก็คือ การโต้เถียงและวิภาษกันระหว่างเหล่าบรรดาสาวก อันเป็นสาเหตุทำให้ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) มิได้บันทึกสิ่งที่ท่านต้องการจะบันทึก[2]

จุดประสงค์ของพินัยกรรรมคือสิ่งใด

อาจมีคำถามว่า พินัยกรรมที่ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ต้องการจะเขียนนั้น เกี่ยวกับเรื่องอะไร คำตอบสำหรับคำถามนี้ชัดเจน เนื่องจากเป้าหมายของท่านเราซูล (ซ็อล ฯ) การทำให้ตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺของท่านอะลี (อ.) มีความมั่นคงแข็งแรง และเป็นความจำเป็นสำหรับสังคมที่ต้องเจริญรอยตามบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ซึ่งสองประเด็นดังกล่าวท่านสามารถสร้างความเข้าใจได้จาก ฮะดีซซะเกาะลัยนฺ ซึ่งนักรายงานฮะดีซทั้งชีอะฮฺ และซุนนียฺที่มีความเห็นพร้องต้องกันในเรื่องความถูกต้องของฮะดีซ และสายรายงานแม้ว่าบางรายงานจะกล่าวขัดแย้งกัน ระหว่างอะฮฺลุบัยตีกับซุนนะตียฺ ซึ่งทั้งสองมิได้มีความขัดแย้งกันดังที่อธิบายผ่านมาแล้ว

อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับพินัยกรรมที่ท่านต้องการจะบันทึกนั้นท่านกล่าวว่า เจ้าจงบันทึกตามที่ฉันบอก ซึ่งจะทำให้พวกเจ้าไม่หลงภายหลังจากนี้ ฮะดีซซะเกาะลัยนฺ กับประโยคที่ท่านสั่งในช่วงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญของท่านเป็นประโยคเดียวกัน กล่าวคือ ท่านกล่าวถึงสาเหตุของการปฏิบัติตามอัล-กุรอานและอะฮฺลุบัยตฺ สิ่งหนักสองสิ่งอันมีค่ายิ่ง คือ การไม่หลงทางตลอดไปหลังจากนี้ ตัวบทของฮะดีซซะเกาะลัยนฺกล่าวว่า

انّي تارك فيكم ما ان تمسّكتم به لن تضلّوا بعدى احدهما اعظم من الآخر كتاب الله حبل ممدود من السماء الى الارض وعترتي اهل بيتي لن يفترقا حتى يردا عليَّ الحوض فانظروا تختلفوني فيها

แท้ที่จริงฉันขอฝากสิ่งสำคัญไว้ในหมู่พวกท่าน หากพวกท่านได้ยึดมั่นกับสิ่งนั้นจะไม่หลงทางอย่างเด็ดขาด สิ่งหนึ่งมีความยิ่งใหญ่กว่าอีกสิ่ง ได้แก่คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺอันเป็นสายเชือกที่ทอดตรงมาจากฟากฟ้าสู่แดนดิน และอีกสิ่ง คือ อะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาท) ของฉัน ทั้งสองจะไม่แยกออกจากกันเด็ดขาด จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ บ่อน้ำ พวกท่านจงพิจารณาเถิดว่า จะปฏิบัติกับของฝากของฉันอย่างไร[3]

ซะนัดของตัวบทที่ว่า  سنتي  (แบบฉบับของฉัน)

รายงานที่ได้ใช้คำว่า แบบฉบับของฉัน (ซุนนะตียฺ) แทนคำว่า ทายาทของฉัน (อะฮฺลุบัยตียฺ) นั้น เป็นฮะดีซที่อุปโลกน์ขึ้นมา ซึ่งนอกเหนือจากจะมีสายรายงานที่อ่อนแล้ว ยังมีสิ่งอื่นอีก คือความสัมพันธ์กับราชวงศ์ อะมะวียฺ เป็นตัวการที่บ่งบอกว่าพวกเขาได้อุปโลกน์ฮะดีซนี้ขึ้นมา.

ฮากิม นิชาบูรียฺ บันทึกตัวบทไว้ในมุซตัดร็อก ของท่าน โดยมีกระแสรายงานดังต่อไปนี้ อับบาซ บิน อะบีอุเวซ รายงานจาก อะบีอุเวซ จาก เซารฺ บิน ซัยดฺ อัดดัยละมียฺ จาก อิกเราะมะฮฺ จาก จาก อิบนุอับบาซ ว่า ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า

ياايها الناس انّي قد تركت فيكم ان اعتصمتم به فلن تضلّوا ابدا كتاب الله وسنّة نبيه

โอ้ ประชาชนเอ๋ย ฉันได้ฝากสิ่งสำคัญไว้ในหมู่พวกท่าน หากพวกท่านได้ยึดมั่นกับมันจะไม่หลงทางอย่างเด็ดขาด ได้แก่คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และแบบฉบับของเราะซูลแห่งพระองค์”[4]

จะสังเกตเห็นว่ากระแสรายงานตัวบทฮะดีซดังกล่าวนั้น คือบิดากับบุตร ซึ่งถือว่าเป็นกระแสรายงานที่น่าเกลียด และไม่เป็นที่เชื่อถือในหมู่นักรายงานด้วยกัน กล่าวคือ อิซมาอีลบินอะบีอุเวซ และอะบูอุเวซ ทั้งสองพ่อลูกคู่นี้มิใช่แค่ไม่เป็นที่เชื่อถือเท่านั้น แต่ยังถูกกล่าวหาว่า โกหก เป็นผู้อุปโลกน์และปลอมแปลงฮะดีซอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ต้องการกล่าว ณ ที่นี้ คือ ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาคำพูดของทั้งสองฮะดีซ (ฮะดีซซะเกาะลัยนฺ กับ ฮะดีซสั่งให้นำเอาปากกาและกระดาษ) เหมือนกันตรงที่ว่าทั้งสอง คือคำสั่ง ดังนั้น ไม่สามารถคิดเป็นอย่างอื่นได้เด็ดว่าเป้าหมายของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ที่ขอกระดาษและปากกาก็คือ ต้องการให้จดบันทึกสิ่งที่กล่าวไว้ในฮะดีซซะเกาะลัยนฺ เพื่อยืนยันถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น กล่าวคือ การบันทึกพินัยกรรมที่ท่านได้แต่งตั้งให้อะลีเป็นผู้แทนของท่านภายหลังจากท่าน เมื่อวันที่ 18 เดือน ซิลฮิจญะฮฺ ปี ฮ.ศ. ที่ 10  ณ เฆาะดีรคุม และการสนับสนุนอำนาจวิลายะฮฺ (อำนาจปกครอง) ของอะลี (อ.)ให้มั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น

การอำลาสุดท้ายกับสวกสนิท

ตลอดระยะเวลาที่ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ป่วยอยู่นั้น บางครั้งท่านก็มามัสยิดเพื่อนำนมาซประชาชน หรือกล่าวเทศนาแก่ประชาชน

มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ป่วยหนัก ถึงขนาดที่อะลีและฟัฏลิอับบาซ ต้องหิ้วปีกแขนคนละข้างเข้ามาในมัสยิด เท้าทั้งสองของท่านไม่สามารถก้าวเดินได้  และศีรษะพันด้วยผ้าเพื่อบรรเทาอาการปวด เมื่อมาถึงมัสยิดท่านได้ขึ้นมิมบัรเพื่อเทศนา กล่าวว่า

โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย ถึงเวลาแล้วที่ฉันต้องอำลาจากพวกท่านไป ถ้าฉันเคยสัญญาสิ่งใดไว้กับใครขอให้ท่านมารับสัญญานั้นจากฉัน ถ้าฉันเป็นหนี้ใครขอให้บอกมาฉันจะได้ใช้หนี้คืนได้อย่างถูกต้อง

ในเวลานั้นมีชายคนหนึ่งยืนขึ้นและกล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ท่านสัญญากับฉันว่า ถ้าฉันแต่งงานท่านจะช่วยเหลือเงินฉันจำนวนหนึ่ง ท่านสั่งให้ฟัฎลิ อับบาซ จ่ายเงินให้เขาทันที เมื่อท่านก้าวลงจากมิมบัรท่านได้มุ่งตรงกลับบ้านทันที หลังจากนั้นอีก 3 วัน ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ท่านได้ไปมัสยิดอีกครั้ง เพื่อกล่าวคำเทศนาและระหว่างกล่าวเทศนาอยู่นั้น ท่านกล่าวว่าใครก็ตามที่ฉันติดหนี้ขอให้มารับหนี้คืน เนื่องจากการตัดสินบนโลกนี้ง่ายดายกว่าการตัดสินในโลกหน้า

ขณะนั้น ซะวาดะฮฺ บิน กิซได้ยืนขึ้นพร้อมกับกล่าวว่า เมื่อเรากลับจากสงครามฏออิฟ ขณะที่ท่านอยู่บนหลังอูฐท่านได้ตีอูฐเพื่อให้เดินเร็ว แต่ปลายแซ่โดนที่ท้องฉันตอนนี้ฉันขอทวงคืน

คำกล่าวของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) มิได้กล่าวเพราะเกรงใจ หรือเพื่อเป็นมารยาทเท่านั้น แต่ทว่าท่านกล่าวด้วยความจริงใจ เนื่องจากท่านทราบดีว่าสิทธิเหล่านี้แม้ว่าจะเป็นสิทธิเพียงเล็กน้อยซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มองข้าม แต่นั่นเป็นหน้าที่ ๆ ต้องรับผิดชอบ ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) สั่งให้เขาไปเอาแซ่ที่บ้านมา หลังจากนั้นท่านได้ถกเสื้อของท่านขึ้นมาเพื่อให้ซะวาดะฮฺล้างแค้น บรรดาสาวกเสียใจมากบางคนถึงกับกั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ปล่อยให้ไหลอาบหน้า พวกเขาคอยดูว่าซะวาดะฮฺจะกระทำจริงหรือไม่ ทันใดพวกเขาก็ได้เห็นซะวาดะฮฺก้มลงจูบท้องและหัวไหล่ของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ในเวลานั้นท่านได้วิงวอนว่า โอ้ อัลลอฮฺ โปรดอภัยโทษแก่ซะวาดะฮฺดุจดังเช่นที่เขาได้ให้อภัยแก่บรรดานบี[5]



[1] จุดประสงค์ของท่านคือ นำปากกาและกระดาษมา และเขียนตามที่ฉันบอกหลังจากนั้น ฉันจะเซ็นชื่อกำกับไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากว่าท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ไม่เคยเขียนหนังสือจนกระทั่งวันที่ท่านจากไป
[2] เซาะฮียฺ บุคอรียฺ กิตาบ อัลอิลมฺ เล่ม 1 หน้า 22 ฮะดีซที่ 14, เซาะฮียฺมุสลิม เล่ม 2 หน้า 14, มุซนัดอะฮฺมัด เล่ม 1 หน้า 325, เฏาะบะกอต กุบรอ เล่ม 2 หน้า 244
[3] ซุนันติรมีซียฺ เล่ม 5 หน้าที่ 663  ลำดับที่ 37788
[4] มุซตัดร็อก อัล-ฮากิม เล่มที่ 1 หน้าที่ 93
[5] มะนากิบ อาลิ อบีฏอลิบ