เรื่องราวเกี่ยวกับเฆาะดีร

      เมื่อพิธีบำเพ็ญฮัจญฺสิ้นสุดลง บรรดามุสลิมต่างเรียนรู้ขั้นตอนการบำเพ็ญฮัจญฺที่ถูกต้องจากท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ในเวลานั้นท่านตัดสินใจเดินทางกลับมะดีนะฮฺ ท่านจึงสั่งให้ทุกคนออกเดินทาง เมื่อมาถึงสถานที่หนึ่งนามว่า รอบิฆ[1] ซึ่งอยู่ห่างจากญุฮฺฟะฮฺ[2]ประมาณ 3 ไมล์ อะมีนญิบรออีลได้นำวะฮียฺมาให้เราะซูล ณ สถานที่มีนามว่า เฆาะดีรคุม ซึ่งโองการที่ประทาน ณ ที่นั้น คือ

يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنزِلَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ وَإِن لَّمْ تَفْعَلْ فَمَا بَلَّغْتَ رِسَالَتَهُ وَاللّهُ يَعْصِمُكَ مِنَ النَّاسِ إِنَّ اللّهَ لاَ يَهْدِي الْقَوْمَ الْكَافِرِينَ  

      ความว่า โอ้เราะซูล จงประกาศสิ่งที่ถูกประทานลงมายังเจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้า ถ้าเจ้าไม่ปฏิบัติ เท่ากับเจ้าก็ไม่ได้ประกาศสารของพระองค์ อัลลอฮฺ ทรงคุ้มครองเจ้าจากมวลมนุษย์ แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงชี้นำพวกปฏิเสธทั้งหลาย[3]

สาเหตุของการประทานโองการ

      จากตำราทั้งฝ่ายชีอะฮฺและซุนนียฺ ต่างได้บันทึกตรงกันว่า โองการดังกล่าวถูกประทานให้กับท่านอิมามอะลี (อ.)

      รายงานดังกล่าวเหล่าสาวกจำนวนมาก เช่น อบูซะอีด คุดรียฺ ซัยดฺ บิน อัรกอม ญาบิร บินอับดุลลอฮฺ อันซอรียฺ อิบนุ อับบาซ บัรรออฺ บิน อาซิบ ฮุดัยฟะฮฺ อบูฮุรอยเราะฮฺ อิบนุ มัซอูด อามิริบนิ ลัยลา ได้รายงานไว้ ซึ่งริวายะฮฺทั้งหมดกล่าวว่า โองการดังกล่าวลงให้ท่านอิมามอะลี (อ.)

      โวหารของโองการบ่งบอกว่าพระเจ้าทรงมีบัญชาให้ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กระกำทำภารกิจที่มีความสำคัญและอันตรายอย่างยิ่ง ฉะนั้น ยังจะมีภารกิจใดอันตรายยิ่งไปกว่าการแต่งตั้งให้ท่านอะลี (อ.) เป็นเคาะลิฟะฮฺและเป็นตัวแทนของท่านท่ามกลางสายตานับจำนวน 100,000 กว่าคู่กำลังจ้องมองดูอยู่อย่างไม่ลดละ พระเจ้าทรงขู่บังคับให้ท่านประกาศสิ่งที่ประทานลงมายังท่านแก่ประชาชนว่า ถ้าท่านไม่ประกาศสิ่งนี้ พระองค์จะยกเลิกการประกาศสาส์นทั้งหมดที่ผ่านมา หลังจากนั้นพระองค์ปลอบประโลมว่า จงอย่ากลัวสิ่งใดเนื่องจาก  พระองค์ ทรงคุ้มครองเจ้าจากมวลมนุษย์ทั้งหลาย

      สิ่งที่น่าแปลใจ คือ บางรายงานมีกระแสรายงานหลายกระแสด้วยกัน เช่น

      1. รายงาน ของอบูซะอีด คุดรียฺ รายงานไว้ทั้งสิ้น 11  กระแสรายงาน

      2. รายงานของ อิบนุ อับบาซ รายงานไว้ 11 กระแสรายงาน

      3. รายงานของ บัรรออฺ บิน อาซิบ รายงานไว้ 3 กระแสรายงาน

      บุคคลที่บันทึกรายงานเหล่านี้อยู่ในตำราของตน ล้วนเป็นบุคคลทีมีชื่อเสียงทั้งสิ้นได้แก่

      1.ฮาฟิซ อบูนะอีม เอซฟาฮานียฺ บันทึกไว้ในหนังสือ มานะซะละ มินัล กุรอานิ ฟี อะลี คัดลอกมาจาก อัลเคาะซออิซ หน้า 29

      2. อบุลฮะซัน วาฮิดียฺ นีชาบูรียฺ บันทึกไว้ใน อัซบาบุลนุซูล หน้า 150

      3. อิบนุ อะซากิร ชาฟาอียฺ คัดลอกมาจาก อัรดุรุลมันซูร เล่ม 2 หน้า 298

      4. ฟัครุรรอซียฺ บันทึกไว้ในตัฟซีรกะบีร เล่ม 3 หน้า 636

      5. อบูอิซฮาก ฮุมูวัยนียฺ บันทึกไว้ใน ฟะรออิด อัซซิมตัยนฺ

      6. อิบนุ ซิบาฆ มาลิกียฺ บันทึกไว้ใน ฟุฟูลุลมุฮิมมะฮฺ หน้า 27

      7. ญะลาลุดดีน ซุยูฏีย์ บันทึกไว้ใน อัรดุรุลมันซูร เล่ม 3 หน้า 298

      8. กอฎียฺ เชากานียฺ บันทึกไว้ใน ฟัตฮุลเฆาะดีร เล่ม 3 หน้า 57

      9. ชะฮาบุดดีน อาลูซียฺ ชาฟิอียฺ บันทึกไว้ในเราฮุลมะอานียฺ เล่ม 6 หน้า 172

      10. ชัยคฺ สุลัยมาน กันดูซียฺ ฮะนะฟียฺ บันทึกไว้ใน ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 120

      11. บัดรุดดีน ฮะนะฟียฺ บันทึกไว้ใน อุมดะตุล กอรียฺ ฟี ชัรฮิล บุคอรียฺ เล่ม 6 หน้า 584

      12. ชัยคฺ มุฮัมมัด อับดุ มิซรียฺ บันทึกไว้ใน อัลมินาร เล่ม 6 หน้า 463

      13. ฮาฟิซ อิบนุมัรดะวียะฮฺ เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ. ที่ 418 คัดลอกมาจากซุยูฏียฺ จากอัดดุรุลมัสซูร และยังมีการบันทึกรายงานเหล่านี้ในตำราอื่น ๆ อีกมากมาย

      ดังที่กล่าวไปแล้วว่าโองการข้างต้นถูกประทานให้กับท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งรายงานจำนวนมากกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ ซึ่งบันทึกอยู่ในตำราของชีอะฮฺและซุนนียฺ จนอยากที่จะปฏิเสธความจริงเหล่านี้ได้ นอกเสียจากอคติหรือทิฐิที่ฝังแน่นอยู่ในใจของบางคนเท่านั้น และนอกจากรายงานที่กล่าวมาแล้ว ยังมีรายงานอีกจำนวนมากกล่าวถึงเหตุการณ์ของเฆาะดีรไว้ เช่น กล่าวว่า โองการดังกล่าว (5/67) ถูกประทานลงมาหลังจากเหตุการณ์เฆาะดีร หลังคำเทศนาของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) และหลังจากที่ท่านได้แนะนำท่านอะลีเป็นอิมาม เป็นวะซียฺ และเป็นตัวแทนของท่านแก่ประชาชาติ ซึ่งจำนวนรายงานเหล่านี้มีมากกว่ารายงานที่ได้กล่าวมาข้างต้น จนกระทั่งว่าท่านอัลลามะฮฺ อามีนียฺ ได้รวบรวมไว้ในหนังสื่อ อัลเฆาะดีร ของท่าน โดยรายงานมาจากเหล่าบรรดาสาวกถึง 110 ท่าน พร้อมกับหลักฐานและกระแสรายงาน รวมทั้งรายงานจากบรรดาตาบิอีนอีก 85ท่าน และจากบรรดานักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงของอิสลามอีก 360 ท่าน

      ฉะนั้น  เมื่อพิจารณารายงานเหล่านั้นอย่างละเอียดแล้ว สามารถเชื่อได้อย่างมั่นใจว่า ฮะดีซเฆาะดีร เป็นฮะดีซที่เชื่อถือได้อย่างไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นรายงานที่มั่นคงที่สุด

มาตรฐานของรายงานเฆาะดีร

      ช่วงบั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) และหลังจากการบำเพ็ญฮัจญฺครั้งสุดท้าย (ฮัจญะตุลวะดา) ซึ่งขณะนั้นหัวใจทุกดวงยังอิ่มเอิบกับผลบุญที่ได้รับจากการบำเพ็ญฮัจญฺ จำนวนนักแสวงบุญครั้งนี้มีมากเกินกว่า 120,000 คน      

      พิธีการดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะมุสลิมชาวมะดีนะฮฺเท่านั้น แต่มีมุสลิมมาจากทั่วสารทิศเข้าร่วมในพิธีการดังกล่าว แม้ว่าแสงแดดจะร้อนระอุสักปานใดก็ตามแต่เมื่อเทียบกับความหวานชื่นของพิธีกรรมแล้วไม่อาจเทียบกันได้เด็ดขาด ทุกสิ่งทุกอย่างแลดูง่ายดายไปเสียหมด

      เมื่อกองคาราวานได้เดินทางมาถึงทางแยก ซึ่งแยกหนึ่งมุ่งหน้าไปสู่มะดีนะฮฺ ทางตอนเหนือ ของมักกะฮฺ แยกหนึ่งมุ่งหน้าไปสู่อีรักทางทิศตะวันออก แยกหนึ่งมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกและอียิปต์ ส่วนอีกแยกหนึ่งมุ่งหน้าไปสู่เยเมนซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ทุกคนที่เดินทางมาต่างรอคำสั่งสุดท้ายจากท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ว่าท่านจะสั่งเสียสิ่งใดอีก

      วันพฤหัส ปี ฮิจญฺเราะฮฺศักราชที่ 10 แปดวันหลังอีดกุรบาน ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) สั่งให้กองคาราวานทั้งหมดหยุดลงโดยกะทันหัน พวกที่ล่วงหน้าไปแล้วท่านได้สั่งให้กลับมา และสั่งให้รอพวกที่ยังเดินทางมาไม่ถึงตะวันได้คล้อยผ่านไปบ่งบอกว่าถึงเวลาซุฮฺริแล้ว เสียงอะซาน อัลลอฮุอักบัร จากผู้อะซานบอกเวลานมาซได้ดังขึ้นเพื่อเชิญชวนประชาชนไปสู่นมาซซุฮฺริ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนแดดแผดเผา กลางทะเลทรายที่ไม่มีพื้นสีเขียว ไม่มีต้นไม้ และไม่มีร่มเงาบังแดด บางคนต้องเอาอะบาอฺบางส่วนรองไว้ใต้ฝ่าเท้า และเอาอีกด้านหนึ่งปิดศีรษะเพื่อกันความร้อนทุกคนได้ต่อสู้กับความร้อนด้วยความยากลำบาก

คำเทศนาของเราะซูล (ซ็อล ฯ) ในเฆาะดีรคุมหลังนมาซซุฮฺริ

      มุสลิมบางกลุ่มกำลังจะเข้าไปหลบแดดใต้เต็นท์ที่ตนได้พามา แต่ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ได้ประกาศให้ทุกคนเตรียมตัวรอรบฟังข่าวอันยิ่งใหญ่จากพระผู้อภิบาล เนื่องจากประชาชนหนาแน่นบางกลุ่มมองไม่เห็นท่าน จึงได้สร้างมิมบัร (อาสนเทศนา) ขึ้นโดยใช้อานม้าและอูจเรียงทับกัน หลังจากนั้นสาวกได้เชิญท่านขึ้นไปบนนั้น ท่านกล่าวสรรเสริญพระเจ้า วิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ศรัทธามั่นต่อพระองค์ และมอบหมายทุกภารกิจต่อพระองค์ และขอพระองค์ทรงปกป้องการงานทั้งดีและไม่ดีของท่าน พระผู้ซึ่งนอกจากพระองค์แล้วไม่มีผู้ชี้นำอื่นใดอีก และบุคคลใดที่ได้รับทางนำจากพระองค์ เขาจะไม่หลงทางตลอดไป ฉัน ขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ และมุฮัมมัด คือ บ่าวและเป็นนบีของพระองค์        

      โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย ฉันได้ตอบรับคำเชิญของพระผู้อภิบาลเรียบร้อยแล้ว และในไม่ช้านี้ฉันคงต้องจากพวกเจ้าไปอย่างถาวร  ฉันและพวกเจ้าทั้งหลายต่างมีหน้าที่รับผิดชอบด้วยกันทั้งสิ้น พวกท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับตัวฉัน ในเวลานั้น ประชาชนทั้งหมดต่างตะโกนด้วยเสียงดังว่า  พวกเราขอยืนยันว่าท่านได้ทำหน้าที่ประกาศสารของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ทำการอบรมและปรับปรุงสังคมแล้ว และสุดท้ายท่านได้ทำการชี้นำพวกเราเข้าสู่หนทางที่เที่ยงธรรม ขอพระองค์โปรดประทานรางวัลอันดีงามแก่ท่าน

      ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า พวกเจ้ายืนยันไหมว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ   มุฮัมมัดเป็นบ่าวและเป็นนบีของพระองค์ วันแห่งการฟื้นคืนชีพเพื่อรอการสอบสวน สรวงสวรรค์และนรกนั้นมีจริง

      ทั้งหมดกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า แน่นอน พวกเราขอยืนยันเช่นนั้น ท่านกล่าวว่า ขอให้อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นพยานต่อคำยืนยัน

      ท่านกล่าวว่า โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย พวกเจ้าได้ยินเสียงฉันไหม พวกเขาตอบว่า พวกเราได้ยิน หลังจากนั้นทุกคนได้นิ่งเงียบไม่มีเสียงอันใดนอกจากเสียงกระแสลมร้อนที่กรรโชกเข้ามา

      หลังจากนั้นท่าน กล่าวว่า โอ้ ประชาชนเอ๋ย ฉันขอฝากสิ่งหนักที่สำคัญสองสิ่งอันมีค่ายิ่งไว้ในหมู่พวกเจ้า พวกเจ้าลองพิจารณาดูซิว่า พวกเจ้าจะทำอย่างไรกับของสองสิ่งภายหลังจากฉัน เวลานั้นมีคนหนึ่งยืนขึ้นและ ตะโกนว่าสิ่งสำคัญสองสิ่งนั้นคืออะไร

      ท่านตอบว่า สิ่งแรกเป็นสิ่งหนักอันยิ่งใหญ่ได้แก่ คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ ซึ่งด้านหนึ่งของคัมภีร์อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ส่วนอีกด้านหนึ่งอยู่ในมือของพวกเจ้า และพวกเจ้าจงยึดสิ่งนี้ไว้ให้มั่นเพื่อจะได้ไม่หลงทาง ส่วนสิ่งหนักอีกสิ่งที่ฉันขอฝากไว้ให้หมู่พวกเจ้า คือ อิตรัตและอะฮฺลุบัยตฺของฉัน (ทายาทที่ใกล้ชิดของฉัน)  อัลลอฮฺ  (ซบ.) ผู้ทรงเมตตาได้ส่งข่าวให้ฉันทราบว่า สิ่งหนักสองสิ่งนี้จะไม่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำแห่งสรวงสวรรค์ พวกเจ้าทั้งหลายจงอย่าล้ำหน้าทั้งสองเพราะจะเป็นสาเหตุให้พวกเจ้าพบกับความหายนะ และพวกเจ้าจงอย่าล้าหลังจากทั้งสองเพราะจะเป็นสาเหตุให้พวกเจ้าพบกับความหายนะเช่นกัน

      ประชาชนเห็นว่าท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ได้หันมองรอบ ๆ ราวกับว่าท่านกำลังมองหาใครบางคน และแล้วสายตาของท่านก็จับจ้องไปที่ท่านอะลี ท่านได้ก้มไปจับมือของท่านอะลีชูขึ้นจนเห็นรอยขาวนวลใต้รักแร้ของทั้งสอง ท่านแนะนำให้ทุกคนรู้จักอะลี ซึ่งประชาชนทั้งหมดเห็นและจำได้ว่าบุคคลนั่น คือ ราชสีห์แห่งอิสลามผู้ไม่เคยพ่ายแพ้

       ตรงนี้เสียงของท่านดังกว่าเดิม ท่านกล่าวว่า โอ้ ประชาชนที่รักทั้งหลาย ใครคือผู้ที่มีความประเสริฐกว่าชีวิตของบรรดาผู้ศรัทธา ทั้งหมดกล่าวว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) และเราะซูลของพระองค์ เท่านั้นที่รู้ดี

      ท่าน กล่าวว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นผู้คุ้มครองและเป็นนายของฉัน ส่วนฉันคือ ผู้ปกครองมวลผู้ศรัทธาทั้งหลาย และฉันมีความประเสริฐยิ่งกว่าชีวิตของพวกเขา (หมายถึงความต้องการของเราะซูลย่อมมาก่อนความต้องการของพวกเขา)

      หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า   فَمَنْ كُنْتُ مَوْلَاهُ فَعَلِىٌّ مَوْلَاهُ   ใครก็ตามที่ฉันเป็นผู้ปกครองเขา อะลีก็เป็นผู้ปกครองเขาด้วย

      ท่านได้ตอกย้ำประโยคนี้ถึง 3  ครั้ง บางรายงานกล่าวว่า ท่านได้เน้นย้ำถึง 4 ครั้ง และบางรายงานกล่าวว่า มากกว่านั้น

      หลังจากนั้นท่านได้แหงนหน้ามองท้องฟ้าและกล่าวว่า

اَللَّهُمَّ وَالِ مَنْ وَالَاهُ وَعَادِ مَنْ عَادَاهُ وَاُحِبُّ مَنْ اُحِبُّهُ وَ اُبْغِضُ مَنْ اَبْغَضَهُ وَانْصُرْ مَنْ نَصَرَهُ وَاخْذُلْ مَنْ خَذَلَهُ وَاَدِرِ الحَقَّ مَعَهُ حَيْثُ دَارَ

      โอ้ อัลลอฮฺ โปรดเป็นมิตรกับบุคคลที่เป็นมิตรกับเขา โปรดเป็นศัตรูกับบุคคลที่เป็นศัตรูกับเขา โปรดรักบุคคลที่รักเขา โปรดเกลียดชังบุคคลที่เกลียดชังเขา โปรดช่วยเหลือบุคคลที่ช่วยเหลือเขา โปรดทอดทิ้งบุคคลที่ทอดทิ้งเขา โปรดให้สัจธรรมอยู่กับเขาตราบที่เขามียังมีชีวิต และโปรดอย่าแยกเขาออกสัจธรรม

      หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า พวกเจ้าจงจำไว้ให้ดีว่าเป็นหน้าที่ของผู้ที่อยู่ที่นี่ทุกคน ที่ต้องแจ้งข่าวให้กับผู้ที่ไม่ได้มาในวันนี้รับทราบ

      เมื่อท่าน กล่าวเทศนาจบและก้าวเท้าลงมาจากอาสนธรรม ประชาชนได้แห่เข้ามาหาท่านกับอะลีอย่างล้นหลาม และไม่ทันที่ประชาชนจะแตกแถวออกไป ญิบรออีล ได้นำเอา  อัล-กุรอาน โองการนี้มาให้ท่าน

اَلْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الإِسْلاَمَ دِينًا

      ความว่า วันนี้ข้าทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ข้าให้ความกรุณาเมตตาของข้าครบบริบูรณ์แล้ว และข้าได้เลือกอิสลามเป็นศาสนาสำหรับพวกเจ้า[4]

      ท่านกล่าวว่า อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร แท้จริง พระองค์ทรงทำให้ศาสนาของพระองค์สมบูรณ์  ทรงประทานความโปรดปรานแก่พวกเราอย่างครบถ้วน และทรงพึงพอพระทัยกับสภาวะการเป็นนบีของฉัน และวิลายะฮฺของอะลีภายหลังจากฉัน

      ในเวลานั้นประชาชนเริ่มวุ่นวาย  เนื่องจากทุกคนต่างคนต่างแย่งกันเข้ามาแสดงความดีใจกับท่านอะลี (อ.) แม้แต่บุคคลในชั้นแนวหน้าอย่าง อบูบักรฺ หรืออุมมัร เองต่างก็เข้ามาแสดงความดีใจกับท่านอะลีทั้งสิ้น ทั้งสองได้กล่าวต่อหน้าประชาจำนวนมากมายในวันนั้นว่า

بخ بخ لك ياابن ابی طالب اصبحت و امسيت مولاى و مولا كل مؤمن و مؤمنة

      ขอแสดงความยินดีกับท่าน โอ้ บุตรของอบูฏอลิบ บัดนี้ท่านได้เป็นผู้ปกครองและเป็นผู้นำของฉัน และของผู้ศรัทธาชนทั้งชายและหญิงแล้ว

      ท่านอิบนุอับบาซกกล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า คำมั่นสัญญานี้จะยืนหยัดตลอดไป

วิเคราะห์อายะฮฺตับลีฆ

      ถ้าหากไม่คิดถึงสาเหตุของการลงโองการและรายงานต่าง ๆ ที่บันทึกไว้เพียงแค่พิจารณาถึงสาระและมาตรฐานของโองการ และโองการหลังจากนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน จะทำให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองเกี่ยวกับผู้นำผู้เป็นตัวแทนของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ได้อย่างชัดเจน

      โองการข้างต้นพร้อมกับคำอธิบายในมุมมองต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้ ถ้าใคร่ครวญอย่างละเอียดจะเห็นว่ามีประเด็นสำคัญ 3  ประการ ดังสรุปได้ดังนี้

      1. ปัญหาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในอิสลาม ถึงขนาดที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมีบัญชาให้ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ประกาศสิ่งนั้นออกไป ถ้าไม่ประกาศพระองค์จะยกเลิกการเผยแผ่ที่ท่านได้กระทำมาตลอด 23 ปี ซึ่งเท่ากับว่าท่านไม่เคยประกาศสารของพระองค์ อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า สิ่งนี้มีความสำคัญเท่าเทียมกับการเป็นนบี เนื่องจากถ้าท่านศาสดาไม่ประกาศออกไปเท่ากับการเป็นศาสดาของท่านไม่สมบูรณ์หรือถูกยกเลิก ดังที่ อัล-กุรอาน กล่าวว่า ถ้าเจ้ามิได้ปฏิบัติ ดังนั้น เจ้าก็มิได้ประกาศสารของพระองค์ 

      แน่นอน สิ่งสำคัญประการนั้นต้องไม่ใช่คำสั่งธรรมดาทั่วไป เนื่องจากพระองค์กำชับว่า ถ้าไม่กระทำเท่ากับไม่เคยประกาศสารมาเลย ซึ่งคำพูดนี้ชัดเจนมากไม่ต้องการคำอธิบายแต่อย่างใด เนื่องจากโองการได้ยกความสำคัญของประเด็นดังกล่าวเทียบเท่าริซาละฮฺของนบี

      2. ประเด็นสำคัญดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับนมาซ ศีลอด ฮัจญฺ ญิฮาด ซะกาต และสิ่งคล้ายคลึงกันอย่างแน่นอน เนื่องจากว่าโองการดังกล่าวอยู่ใน ซูเราะฮฺมาอิดะฮฺ ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ซูเราะฮฺมาอัล-อิดะฮฺ เป็นซูเราะฮฺสุดท้ายที่ถูกประทานลงมาให้ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) หมายถึงในช่วงบั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญของท่าน นั่นหมายความว่า ท่านได้สอนสั่งเกี่ยวกับหลักการอิสลามไปเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้

      3. คำอธิบายของโองการบ่งบอกว่าภารกิจนี้มีความลำบากใจอย่างยิ่ง เนื่องจากด้านหนึ่งเป็นสาเหตุนำพาให้ชีวิตของท่านไม่ปลอดภัยและตกอยู่ในอันตราย ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงรับปากท่านว่า พระองค์จะปกป้องท่านเอง พระองค์ตรัสว่า อัลลอฮฺทรงคุ้มครองเจ้าจากมวลมนุษย์

      ท้ายสุดของโองการสำทับอีกว่า  แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงชี้นำพวกปฏิเสธทั้งหลาย

      แน่นอน คำอธิบายนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าต้องมีบุคคลไม่มากก็น้อย ปฏิเสธและต้องแสดงความขัดแย้งออกมาอย่างแน่นอน ฉะนั้น สิ่งสำคัญ 3 ประการที่กล่าวมาทำให้เห็นว่าสิ่งที่โองการต้องการประกาศมิสามารถเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากการประกาศแต่งตั้งให้ท่านอะลีเป็นเคาะลิฟะฮฺและเป็นตัวแทนของท่าน

      แน่นอน ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญของท่านคงจะไม่มีสิ่งใดสำคัญเกินไปกว่า การแต่งตั้งตัวแทน มิใช่ปัญหาเรื่องหลักการปฏิบัติแต่อย่างใด เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต ถ้าจนถึงเวลานั้นยังไม่ได้ประกาศหลักการอิสลามแล้ว มุสลิมจะปฏิบัติตัวกันอย่างไร และภารกิจต่าง ๆ ที่กระทำมาก่อนหน้านั้นจะเป็นอย่างไร สำคัญไปกว่านั้น สิ่งนี้ต้องเท่าเทียมกับ ริซาละฮฺ ของท่านด้วย  เนื่องจากถ้าไม่ประกาศออกไป ริซาละฮฺ  (การเผยแผ่) ของท่านต้องถูกยกเลิก

      ฉะนั้น ทุกตัฟซีรที่อธิบายโองการดังกล่าวให้นอกเหนือไปจากการแต่งตั้งท่านอะลีแล้ว ถือว่าไม่ถูกต้องทั้งสิ้น และไม่มีความเหมาะสมกับโองการและสถานการณ์แต่อย่างใด

สัจธรรมของเฆาะดีรเป็นอมตนิรันกาล

      พระเจ้าทรงประสงค์ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกล่าวคือ ทรงประสงค์ให้ประวัติศาสตร์อันเป็นความจริงแห่งเฆาะดีรดำรงอยู่ในทุกยุคสมัย ในรูปของประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตซึ่งดึงดูดดวงใจทุกดวงให้เข้าไปหา จึงจะเห็นได้ว่านักเขียนมุสลิมในทุกยุคสมัยมีการกล่าวถึง เฆาะดีร เอาไว้ทั้งในหนังสืออรรถาธิบายอัล-กุรอาน ประวัติศาสตร์ ศาสนศาสตร์ และรายงานฮะดีซ ตลอดจนนักบรรยายทั้งหลายต่างก็กล่าวถึงเรื่องราวของเฆาะดีร และคำเทศนาเฆาะดีร ในมุมมองต่าง ๆ ตามวาระโอกาสที่มีความเหมาะสม สำคัญที่สุด คือ กล่าวถึงความประเสริฐของอะลี (อ.) ในฐานะของอิมามที่ไม่บุคคลใดสามารถปฏิเสธได้นอกเสียจากความอคติ มิใช่เพียงนักบรรยายเท่านั้นทว่าบรรดานักกวีภาษาต่าง ๆ ได้ถ่ายถอดความจริงแห่งการดลใจในเรื่องราวของเฆาะดีร เป็นโวหารและลีลาของภาษาที่งดงามโดยยกย่องเหตุการณ์บริสุทธิ์นี้สัมพันธ์ไปยังเจ้าของ ๆ มัน

      ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าไม่มีเหตุการณ์ใดบนหน้าประวัติศาสตร์เกิดขึ้นแล้วจะได้รับการถ่ายทอด และกล่าวขานถึงจากชนชั้นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักรายงาน นักอรรถาธิบายอัล-กุรอาน นักภาษาศาสตร์ นักศาสนวิทยา นักปรัชญา นักกล่าวปาฐกถา นักกวี นักเขียน และนักประวัติศาสตร์มากเหมือนกับเรื่องราวของเฆาะดีร

      หนึ่งในเสาเหตุของความเป็นอมตะนิรันกาลของเหตุการณ์เฆาะดีร คือ การประทานอัล-กุรอาน 2 โองการ  ลงมาเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้น ตราบเท่าที่อัล-กุรอานเป็นอมตะ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์แห่งเฆาะดีรก็เป็นอมตะด้วย

      อีกด้านหนึ่งในสังคมอิสลามนับตั้งแต่อดีตผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมชีอะฮฺถือว่าเฆาะดีรเป็นหนึ่งในวันตรุษ (อีด) สำคัญของอิสลามและในวันนี้จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองพิเศษเหมือนกับวันตรุษอื่น ๆ และเนื่องจากเฆาะดีรเป็นความจริงแห่งประวัติศาสตร์ได้ถูกย้อมสีสันแห่งความเป็นอมตะด้วยตัวเอง ดังนั้น เฆาะดีรจึงไม่ถูกลืมเลือนไปจากความคิดของผู้ศรัทธา

      เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจะเป็นที่ประจักษ์ว่าวันที่ 18 ซิลฮิจญะฮฺอัลฮะรอมเป็นวันอีดสำคัญในหมู่มุสลิมมาโดยตลอด จนถึงขั้นที่ว่า อิบนิ คุลกาน กล่าวถึงเรื่องราวของ อัลมุซตะอะลี อิบนิ อัลมุซตันซิรว่า ในปีฮิจญฺเราะฮฺศักราชที่ 487 ตรงกับวันที่ 18 ซิลฮิจญะฮฺ ซึ่งเป็นอีดเฆาะดีรคุมประชาชนได้แห่มาให้สัตยาบันกับเขา 

      อิบนิ คุลกานเขียนถึง อัลมุซตันซิรบิลลาฮฺ อัลอะบีดียฺว่า ในปีฮิจญฺเราะฮฺศักราชที่ 487 เหลือเวลาอีก 12 คืน จะสิ้นเดือนซิลฮิจญะฮฺเขาได้สิ้นใจจากไป และคืนนั้น คือ ค่ำที่ 18 ของเดือนซิลฮิจญะฮฺ ซึ่งตรงกับอีดเฆาะดีร

      อบูร็อยฮาน บีรูนียฺ บันทึกไว้ในหนังสือ อัลอาซารุลบากียะฮฺ ว่า เฆาะดีร เป็นหนึ่งในวันอีดสำคัญของอิสลาม ซึ่งมุสลิมจะจัดให้มีการเฉลิมฉลองกันในวันนี้

      มิใช่เฉพาะอิบนิคุลกานและอบูร็อยฮาน บีรูนียฺ เท่านั้นที่กล่าวถึงความสำคัญของเฆาะดีร ซะอาลุบบียฺ ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า คำคืนนี้เป็นหนึ่งในค่ำคืนสำคัญในหมู่มุสลิมทั้งหลาย

      เมื่อพิจารณารากที่มาของวันอีดในอิสลามจะเห็นว่าอีดเหล่านั้นย้อนกลับไปยัง วันเฆาะดีรคุม  เนื่องจากในวันนั้นท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) สั่งให้บรรดามุฮาญิรีน อันซอร และภรรยาของท่านเข้าไปแสดงความยินดีกับท่านอะลี ในฐานะที่เป็นผู้ครอบครองความประเสริฐของวันนี้

      ซัยดฺ บุตรของ อัรกอม กล่าวว่า ในหมู่บรรดามุฮาญิรีนอบูบักรฺ อุมมัร อุซมาน ฏ็อลฮะฮฺ และซุบัยรฺ เป็นกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันกับท่านอะลี การเฉลิมฉลองและการให้สัตยาบันดำเนินต่อไปจนถึงมัฆริบ



[1] รอบิฆ ปัจจุบันคือต้นทางของมักกะฮฺที่จะดินทางไปยังมะดีนะฮฺ
[2] ญุฮฺฟะฮฺ คือ หนึ่งในมีกอตสำหรับครองอิฮฺรอมเพื่อเข้ามักกะฮฺ
[3] อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ โองการที  67
[4] อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล มาอิดะฮฺ โองการที่