มุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ศาสดาอิสลาม

ฮัจญฺตุลวะดาอฺการบำเพ็ญฮัจญฺครั้งสุดท้ายของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

ช่วงชีวิตอันจำเริญของท่านคงเหลืออีกไม่กี่เดือนเท่านั้น และในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 10 ท่านประกาศให้มุสลิมทุกคนเตรียมพร้อมเพื่อเดินทางไปบำเพ็ญฮัจญฺ ครั้งนี้มีมุสลิมมากเกินกว่า 100,000 คนเตรียมพร้อมไปบำเพ็ญฮัจญฺ ท่านศาสดาได้ครองอิฮฺรอม ณ มัสญิดชะญะเราะฮฺ ใกล้กับมะดีนะฮฺ ด้วยผ้าสีขาวสองชิ้น และมุสลิมคนอื่นก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับท่าน เสียงรำพัน ลับบัยกะ อัลลอฮุมมะ ลับบัยก์ ลับบัยกะ ลาชะรีกะละกะลับบัยก์ ดังสนั่นไปทั่วพื้นที่ และควบคุมบรรยากาศที่เงียบสงัดไว้จนหมดสิ้น นักแสวงบุญจำนวนแสนได้กล่าวตามที่ท่านศาสดากล่าว เป็นการแสดงพลังที่ยิ่งใหญ่ของ ความเป็นเอกภาพ ความเป็นพี่น้อง และความเสมอภาคในหมู่มุสลิม

ท่านศาสดาได้สอนการบำเพ็ญฮัจญฺครั้งแรกและครั้งสุดท้ายแก่มวลมุสลิม การบำเพ็ญฮัจญฺครั้งยิ่งใหญ่นี้เป็นผลพวงแห่งการเพียรพยายามหลายปีติดต่อกันของท่านศาสดา ท่านได้ทุมเทชีวิต และทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อให้อุดมการณ์ดังกล่างบรรลุผล และต้องการให้สาส์นดังกล่าวขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ ณ อะเราะฟะฮฺ หลังจากนมาซซุฮฺริ และอัซริแล้ว ท่านได้กล่าวเทศนาแก่มุสลิมทั้งหลายว่า

โอ้ ประชาชนทั้งหลาย ได้ยินเสียงของฉันหรือไม่ บางที่หลังจากนี้แล้ว ฉันอาจไม่ได้พบกับพวกท่าน ณ ที่นี้อีก โอ้ประชาชนที่รักชีวิต และทรัพย์สินของท่านนับจากวันนี้จวบจนถึงวันแห่งการฟื้นชีพ มีเกียรติและเป็นที่ต้องห้ามสำหรับคนอื่น ห้ามทำการค้าสิ่งเหล่านี้เด็ดขาดถือว่า ฮะรอม
หลังจากนั้นประชาชนท่านได้เรียกร้องให้ประชาชนเป็นพี่น้องกัน และพึงรักษาสิทธิของกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของสตรี ท่านได้แนะนำว่าพวกท่านอย่างละทิ้ง หรือมองข้ามกฎเกณฑ์การลงโทษของพระเจ้าเด็ดขาด และจงออกห่างการกดขี่ข่มเหง การเอาเปรียบ และทำลายสิทธิของบุคคลอื่น พวกท่านทั้งหลายพึงสำรวมตนจากบาปกรรม และความผิดพลาดทั้งหลาย

เหตุการณ์แห่งเฆาะดีร

ขณะที่ท่านศาสดาพร้อมกับบรรดานักแสวงบุญจำนวนแสนกว่าคนเดินทางกลับจากการบำเพ็ญฮัจญฺ เมื่อมาถึงยังสถานที่หนึ่งชือว่า เฆาะดีรคุม ญิบรออีล ผู้นำวะฮฺยูได้ลงมามาหาท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เพื่อแจ้งข่าวสารจากพระเจ้าแก่ท่านศาสดาดังนี้

โอ้ ศาสดาแห่งพระเจ้า สิ่งที่ถูกประทานลงมายังท่าน โปรดประกาศให้ประชาชนทราบ ถ้าหากท่านไม่ประกาศ เท่ากับท่านไม่เคยเผยแผ่สาส์นของพระองค์เลย และพระองค์จะปกป้องท่านจากความเลวร้ายทั้งหลาย

ประชาชนต่างถามกันว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ศาสนาสมบูรณ์ และถ้าปราศจากสิ่งนั้นแล้วศาสนาจะไม่สมบูรณ์หรือ... สิ่งนั้นเป็นการประกาศครั้งสุดท้ายของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คือการกำหนดแนวทาง ตัวแทน และผู้เป็นอิมามภายหลังจากท่าน ศาสดาต้องทำให้หน้าที่ของประชาชนภายหลังจากท่านกระจ่างชัด และไม่เป็นที่คลางแคลงอีกต่อไป ภายใต้แสงแดดที่ร้อนแผดเผา และบนพื้นทรายและก้อนกรวดที่ร้อนระอุ ท่านศาสดาได้กล่าวคำเทศนาด้วยเสียงดังได้ยินไปทั่วท้องทะเลทราย ในที่นั้นท่านประกาศให้ทุกคนทราบว่า อะลี คือผู้ปกครอง (วะลี) และเป็นตัวแทนของท่านในหมู่ประชาชนภายหลังจากที่ท่านจากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านกล่าวประโยคหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งฝ่ายซุนียฺและชีอะฮฺ กล่าวว่า ใครก็ตามที่ฉันเป็นผู้ปกครองเขา อะลีก็เป็นผู้ปกครองเขาด้วย (من‌ كنت‌ مولاه‌ فعلى‌ مولاه‌) และในวันนั้นเอง (18 ซุลฮิจญะฮฺ ฮิจเราะฮฺศักราชที่ 10) ประชาชนได้ให้สัตยาบันกับท่านอะลี แต่หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน ช่วงปลายเดือนเซาะฟัร ฮิจเราะฮฺศักราชที่ 11 ท่านศาสดาได้อำลาจากโลกไป โดยฝังร่างบริสุทธิ์ของท่านไ้ว้ที่มัสญิด อันนบี มัสญิดหลังแรกของโลกอิสลาม ที่ท่านและประชาชนร่วมกันสร้างขึ้น สถานฝังศพของท่านปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นสถานที่ซิยาเราะฮฺ (เยี่ยมคารวะ) ของบรรดามุสลิมทั่วทั้งโลก
อัล-กุรอานกับอิตรัต (ทายาท)

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวถึงความสำคัญของลูกหลานของท่าน และอัล-กุรอานว่า

แท้จริงฉ้นฝากสิ่งหนักสองสิ่งไว้ในหมู่พวกท่าน ถ้าหากพวกท่านยึดมั่นกับทั้งสองแล้ว จะไม่มีวันหลงทางเด็ดขาดได้แก่ คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ (กิตาบุลลอฮฺ) และลูกหลานแห่งครอบครัวของฉัน (อิตเราะตี อะฮฺลุบัยตีย)

อัล-กุรอาน

คัมภีร์อัล-กุรอานประกอบด้วย 6,000 กว่าโองการ 114 บททั้งสั้นและยาว หรือ 30 ภาค ถูกทยอยประทานลงมาแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตลอด 23 ปีเต็ม อัล-กุรอานทุกบทเริ่มต้นด้วย บิซมิลลาฮฺ ยกเว้นบทอัตเตาบะฮฺเพียงบทเดียวที่ไม่มีบิซมิลลาฮฺ การจัดวางโองการหรือบทโดยความเห็นชอบและเป็นคำสั่งของท่านศาสดาทั้งสิ้น โองการที่ถูกประทานลงมาที่มักกะฮฺ เรียกว่า มักกียะฮฺ ส่วนโองการที่ถูกประทานลงมาที่มะดีนะฮฺ เรียกว่า มะดะนียะฮฺ อัล-กุรอานทุกบทมีชื่อเรียก ซึ่งชื่อของแต่ละบทจะปรากฏอยู่ในตอนต้นของแต่ละบท เช่น อันนะฮฺลิ อัลบะเกาะเราะฮฺ อัลมาอิดะัฮฺ อันนิซาอฺ อัลอะลัก และอื่น ๆ เมื่ออัล-กุรอานถูกประทานลงมาหนึ่งบท หรือ 2-3 โองการ ท่านศาสดาจะสั่งให้บุคคลที่่มีความมั่นใจได้จดบันทึกโองการเหล่านั้น ซึ่งเรียกว่าผู้บันทึกอัล-กุรอาน และบุคคลที่มีชื่อเสียงในการจดบันทึกได้แก่ ท่านอะลี (อ.) อับดุลลอฮฺ บุตรของมัซอูด ซัยดฺ บุตรของซาบิต มุอาซ บุตรของญุบัล อุบัย บุตรของกะอับ และคนอื่นๆ


ความพิเศษของอัล-กุรอานทีี่มีต่อคัมภีร์อื่น ๆ คืออัล-กุรอานมิได้ถูกต่อเติม หรือถูกเปลี่ยนแปลงแม้แต่นิดเดียว เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เป็นอมตะของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่ยังคงเหลืออยู่ อัล-กุรอานหลายโองการกล่าวท้าทายว่า ถ้าหากพวกเจ้ามีความคลางแคลงใจ ก็จงนำสิ่่งที่คล้ายกับอัล-กุรอานมาสักสิบบท หรือหนึ่งบทสั้น ๆ ตราบจนถึงปัจจุบัน ไม่มีศัตรูอิสลามคนใดสามารถนำสิ่งที่คล้ายเหมือนมาได้แม้แต่คนเดียว และจะไม่มีวันทำได้เด็ดขาด

อัล-กุรอานมิได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์เฉพาะเรื่อง สำนวนโวหาร หรือลีลาการใช้ภาษาเท่านั้น แต่ด้านความหมาย อะฺฮฺกาม กฎระเบียบที่มีความมั่นคง และบัญญัติที่เป็นอมตะนิรันดรกาล ก็ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ด้วย ทุกครั้งที่ความรู้ของมนุษย์ก้าวหน้าและพัฒนาไปมากเพียงใด หรือม่านแห่งความเร้นลับของโลกถูกเปิดออก มนุษย์ก็ได้เห็นรหัสยะแห่งความหัศจรรย์อันเป็นอมตะของอิสลามและอัล-กุรอาน ปัจจุบันอัล-กุรอานถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกเกินกว่า 100 ภาษา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือภาษาไทย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ฟารซีย์ และฝร่งเศส ถูกแปลซ้ำกันหลายต่อหลายครั้ง สาระที่อัล-กุรอานกล่าวถึงมากที่สุดคือ การเชิญชวนไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว คุณลักษณะของพระเจ้าทั้งที่เป็นคุณลักษณะที่สูงส่ง และสง่างาม ความยิ่งใหญ่ในการสร้าง ความเร้นลับแห่งฟากฟ้า และในธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ทั้งปัจเจกบุคคลและส่วนรวม กฎหมาย และบทบัญญัติว่าด้วย การเคารพภักดี สังคมศาสตร์ การตุลาการ และการค้า กล่าวถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ วิถีชีวิตของบรรดาศาสดา บทเรียนและอุทาหรณ์ จากประชาชาติก่อนหน้านี้

สำหรับการเข้าถึงความเมตตาทั้งภายนอกและภายในที่ลุ่มลึกของอัล-กุรอาน สิ่งสำคัญประการแรกคือ ต้องรู้จักและเข้าใจถ้อยคำ สำนวน และลีลาของอัล-กุรอานเสียก่อน

อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์แห่งการชี้นำ สัตย์จริง มั่นคง และมุ่งหวังแต่สิ่งที่ดีสำหรับมนุษยชาติ

อิตรัตหรืออะฮฺลุลบัยตฺ

ทายาทหรือลูกหลานสนิทของท่านศาสดาตามที่โองการกล่าวถึงได้แก่ ท่านอะลี (อ.) พร้อมลูกหลานผู้บริสุทธิ์ของท่าน และท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) ธิดาผู้เสียสละ และเป็นที่รักยิ่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จนได้รับฉายานามจากท่านศาสดาว่า อุมมิอบีฮา หมายถึงมารดาแห่งบิดาของนาง

อะลี (อ.) คือตัวแทนและเป็นอิมามหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งท่านกล่าวถึงหลายครั้งเกี่ยวกับตัวแทนของท่านว่าอยู่ในเงื่อนเดี่ยวกันกับมูซาและฮารูน และบรรดาบุตรหลานของฉันที่เกิดจากไขสันหลังของอะลี กับฟาฏิมะฮฺ อัซซะฮฺรอ (อ.) ซึ่งบุตรคนสุดท้ายนามของเขาเหมือนกับนามของฉัน มุฮัมมัด อัล-มะฮฺีดียฺ ผู้ได้รับการสัญญา และทั้งหมดเป็นมะอฺซูม หมายถึง บริสุทธิ์ปราศจากบาปและสิ่งโสโครกทั้งหลาย ยังมีลูกหลานคนอื่น ๆ อีกมากมายที่เกิดจากต้นไม้ประเสริฐ และไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ ณ ที่ใดหรือเวลาใดก็ตามจะเป็นแหล่งกำเนิดความดีงาม ความจำเริญ และความประเสริฐทั้งหลาย

ภรรยาของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีภรรยาทั้งสิ้น 9 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่บนเงื่อนไขและความจำเป็นของสังคมในสมัยนั้น ก่อนการมาของอิสลาม ในสมัยนั้นถือว่าการมีภรรยาหลายคน โดยไม่จำกัดจำนวนเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่ง และเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่หลังจากอิสลามปรากฏแล้ว อนุญาตให้ชายมีภรรยาได้ 4 คน แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขของความยุติธรรมในหมู่พวกนาง

เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สมรสขณะที่ท่านมีอายุได้ 25 ปี กับเศรษฐีนีแห่งคาบสมุทรอาหรับ ท่านหญิงเคาะดิญะฮฺ (อ.) ซึ่งท่านหญิงมีอายุมากกว่าท่านศาสดาถึง 15 ปี ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ท่านอยู่กับท่านหญิงเคาะดิญะฮฺเพียงคนเดียว แต่หลังจากท่านหญิงจากไปแล้ว ท่านศาสดาแต่งงานใหม่กับหญิง พรมจรรย์ ที่มีนามว่า เซาดะฮฺ หลังจากนั้นแต่งงานกับอาอิชะฮฺ ส่วนมากหญิงที่ ท่่านศาสดาแต่งงานด้วยหลังจากท่านหญิงคอดิญะฮฺ เป็นหญิงหม้ายที่สามีเสียชีวิตในสงคราม หรือเป็นหญิงที่ไม่มีผู้ดูแล หรืออย่างน้อยที่สุดเพื่อให้นางได้รับเกียรติจากสังคม การแต่งงานของท่านศาสดาในช่วง 10 ปีก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ส่วนใหญ่เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างเผ่าต่าง ๆ ระหว่างครอบครัว และระหว่างสังคม ทั้งหมดเป็นไปเพื่อสังคมและความแข็งแกร่งของอิสลาม มิใช่เป็นความต้องการทางกามรมย์เยี่ยงคนทั่ว ๆ ไป แตกต่างจากความเข้าใจของนักวิชาการอิสลามบางท่าน หรือนักบูรพาคดีทั้งหลายที่กล่าวกัน ท่านศาสดามิเคยคิดถึงเรื่องความสุขทางเพศ ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า ท่านศาสดาจะแสดงความเคารพภักดี อ่านอัล-กุรอาน และอ่านดุอาอฺ หนึ่งในสาม หรือสองในสามของยามค่ำคืนเสมอ ส่วนตอนกลางวันท่านจะคอยแก้ปัญหาสังคม หรือไม่ก็ทำสงคราม และมีภารกิจอื่น ๆ อีกมากที่ต้องปฏิบัติ ที่สำคัญการแต่งงานในช่วงหลังมิได้อยู่ในวันหนุ่มที่หมกมุ่นอยู่กับเรืองความสุขทางเพศ

ความประพฤติและจริยธรรมของศาสดา

พระผู้เป็นเจ้าตรัสถึงจริยธรรมอันสูงส่งของท่านศาสดาว่า และแท้จริง เจ้าอยู่บนคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ (เกาะลัม 4) มนุษย์ที่ไร้ความสามารถเขามีความรู้ และเข้าถึงมารยาทอันสูงส่ง ความประเสริฐ ความเมตตา และเป็นแหล่งกำเนิดความดีงามทั้งหลายของท่านศาสดาได้อย่างไร สิ่งที่เขาพูด เป็นเพียงน้ำหยดหนึ่งในมหาสมุทรเท่านั้น

มารยาทและความประพฤติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คือแบบอย่างอันจำเริญสำหรับมวลมนุษยชาติทั้งหลาย หรือกล่าวได้ว่านั่นคือ รูปลักษณ์ที่แท้จริงของอิสลาม ท่านศาสดาปฏิบัติกับมุสลิมทุกคนอย่างเสมอภาค ด้วยความเป็นพี่น้อง และด้วยความรักเอ็นดูอย่างยิ่ง ท่านสวมใส่เสื้อผ้าที่เรียบง่าย นั่งกับพื้น และเข้ากลุ่มกับบรรดาสาวก ถ้ามีคนอื่นที่ไม่รู้จักเข้ามาในที่ประชุมนั้น เขาจะไม่รู้เลยว่าใครคือศาสดา บนความเรียบง่ายนั้นแฝงไว้ด้วยความสะอาดหมดจดทั้งร่างกายและเสื้อผ้า ท่านศาสดาจะแปรงฟันก่อนวุฎูอ์เสมอ ประพรมน้ำหอม และจะแสดงมารยาทที่ดีงามทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ ท่านจะกล่าวสลามก่อนคนอื่น ใบหน้าของท่านจะพกพารอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา ท่านจะไม่หัวเราะเสียงดัง เยี่ยมเยือนคนป่วย เข้าร่วมงานศพของคนอื่น ให้การต้อนรับแขก ให้ความเมตตากับเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกำพร้าท่านจะเอ็นดูเป็นพิเศษ ท่านมักเอามือลูบศีรษะเด็กเหล่านั้น หลีกเลี่ยงการนอนบนที่นอนอ่อนนุ่ม ท่านกล่าวว่า ชีิวิตของฉันบนโลกนี้ เหมือนกับพาหนะที่มักจอดใต้ร่มเงาไม้เพื่อพักผ่อน หลังจากนั้นก็จะเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง แม้ว่าท่านจะมีมารยาทที่นิ่มนวลเพียงใด แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าศัตรู หรือกลุ่มชนที่หน้าไหว้หลังหลอก ท่านจะแสดงความเข็มแข็งดุจดังราชสีห์ สงครามต่าง ๆ ท่านไม่เคยปล่อยให้ความหวาดกลัวเข้าครอบงำจิตใจ ท่านจะอยู่ประชิดติดกับศัตรูมากกว่ามุสลิมคนใดทั้งสิ้น ท่านมิเคยแสดงความอาฆาตมาตรร้ายแม้แต่ศัตรูที่แสดงความร้ายกาจกับท่าน เช่น บรรดาผู้ปฏิเสธชาวกุเรช ครั้นเมื่อท่านสามารถยึดมักกะฮฺได้แทนที่ท่านจะสังหารพวกเขา แต่ท่านกลับอภัยให้พวกเขาจนหมดสิ้น จนเป็นที่ประหลาดใจของพวกเขา และเป็นสาเหตุให้พวกเขารับอิสลามกันเป็นกลุ่ม ๆ ท่านศาสดาแสดงตนให้เห็นว่า ท่านห่างไกลจากกิเลสทางโลก ทรัพย์สินส่วนรวมท่านจะคืนให้เจ้าของโดยด่วน ขณะที่ท่านเป็นศาสดา และเป็นนายของพวกเขาแต่ท่านไม่เคยรับส่วนแบ่งที่มากกว่าคนอื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว แน่นอนท่านคือแบบอย่างที่ดีงามสำหรับประชาโลกทั้งหลาย

เป็นทั้งศาสดาและกาลิบ

เมื่อท่านนบีมุฮัมมัดได้ประสบความสำเร็จในการประกาศาสนา ได้ชาวเมืองมักกะฮฺไว้ในศรัทธาของตนแล้ว กิตติศัพท์ของพระองค์ก็ขจรขจายไปอย่างเลื่องลือทั่วทะเลทรายอาหรับอันกว้างไกล บรรดาชาวอาหรับในเมืองอื่นๆ ก็พากันมาอ่อนน้อมนับถือท่านศาสดาเป็นผู้ปกครองอาหรับทั้งหมด ให้เป็นอาณาจักรอิสลามขึ้นในโลก พวกชาวอาหรับทั้งปวงได้ยกท่านศาสดาขึ้นเป็นกาลิบ หมายถึงทายาทผู้สืบต่อ แม้พระองค์จะมีบุญญาธิการเป็นทั้งศาสดาและกาลิบยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่พระองค์ก็มีจรรยาวัตรเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง วังก็ไม่สร้างอย่างกษัตริย์ทั่วๆ ไป ทรงประทับอยู่ในเรือนน้อยๆ อย่างสามัญชน ผ้าคลุมศีรษะซึ่งเคยใช้มาแต่เดิม ก็คงใช้แทนมงกุฎ การรับแขกบ้านแขกเมืองก็ทรงใช้มัสญิดเป็นที่ต้อนรับ การที่ท่านนบีมุฮัมมัดทรงถือสันโดษและมีจรรยาวัตรเช่นนี้ ทำให้ชาวมุสลิมอาหรับทั้งปวงต่างยิ่งเพิ่มความจงรักภักดีมากขึ้นเป็นอนันต์ ทำให้ชาวอาหรับได้รับความเป็นปึกแผ่นและมีสังคมที่สงบสุขมาโดยตลอด

บั้นปลายชีวิต

ท่านศาสดามุฮัมมัดทรงได้เป็นกาลิบผู้ปกครองประเทศอาหรับ และเป็นศาสดาสอนศาสนาจนกระทั่งพระชนมายุได้ 64 พรรษา ดูเหมือนว่าจะทรงรู้สึกพระองค์อยู่บ้างว่าจะทนต่อความลำบากแห่งสังขารร่างกายได้อีกไม่นานนัก จึงได้ออกเดินทางไปเมืองมักกะฮฺกับบรรดาสาวก เพื่อนมัสการครั้งสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลับจากการบำเพ็ญฮัจญฺครั้งสุดท้ายแล้ว แม้ว่าร่างกายจะยังแข็งแรงสมบูรณ์อยู่ก็ตามไม่กี่เดือนต่อมาก็ประชวรเป็นไข้กระเสาะกระแสะ มีโรคแทรกซ้อน ทำให้อ่อนเพลียมากยิ่งขึ้นตามลำดับ จนในที่สุดไม่สามารถออกไปนำนมาซและสั่งสอนศาสนาได้อีกต่อไป จึงได้แต่พักรักษาตัวโดยได้รับการพยาบาลรักษาเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีผู้คนได้ไปประชุมนมาซขอพรต่อพระเจ้าให้ทรงช่วยเยียวยารักษา แต่พระอาการไม่ดีขึ้นเลยใกล้วาระอวสานจริงๆ และในที่สุดท่านได้อำลาจากโลกไปด้วยพระจิตที่สงบมั่น