บทที่ 36 อิมามะฮฺ

บทนำ

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) หลังจากอพยพไปสู่นครมะดีนะฮฺ ซึ่งประชาชนชาวมะดีนะฮฺได้ให้การสนับสนุนท่านและประชาชนที่อพยพร่วมไปด้วย อันเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาได้รับฉายานามอันทรงเกียรติว่า อันซอร (ผู้ช่วยเหลือ) ซึ่งจากการช่วยเหลือของพวกเขานั่นเองทำให้ศาสดาประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐอิสลาม และท่านได้บริหารภารกิจเหล่านั้น ต่อมาได้มีการสร้างมัสญิดหลังหนึ่งนามว่า มัสญิดนะบี นอกจากจะเป็นสถานที่แสดงความเคารพภักดีแล้วยังเป็นสถานที่เผยแผ่สาส์นของพระเจ้า ยังเป็นสถานที่พักพิงของเหล่าบรรดาผู้อพยพและผู้ที่ได้รับการกีดกันทางสังคม อีกทั้งท่านยังใช้มัสญิดเป็นสถานที่วิเคราะห์วิจัยปัญหาเศรษฐกิจ ตัดสินคดีความ และเป็นที่ว่าการของรัฐบาลในยุคนั้น อีกทั้งยังเป็นหน่วยกองกำลังที่ใช้จัดตั้งกองทัพและการตัดสินใจส่งทหารไปร่วมสงคราม เป็นหน่วยเสริมที่ให้การสนับสนุนกำลังพลและอาวุธยุโทปกรณ์เพื่อลำเรียงไปสู่สนามรบ และยังเป็นสถานที่ใช้บริหารจัดการดูแลของรัฐบาล ซึ่งสามารถกล่าวในประโยคเดียวว่า การจัดการดูแลเรื่องอาณาจักรและศาสนจักรนั้นอยู่ในการดูแลของท่านศาสดาแต่เพียงผู้เดียว บรรดามุสลิมทั้งหลายต่างรู้หน้าที่ตัวของเองเป็นอย่างดีว่าในช่วงนั้นตนมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านศาสดาเท่านั้น ดังคำยืนยันของอัล-กุรอานที่กล่าวว่า

 จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า พวกเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะซูลเถิด ถ้าพวกเขาหันหลังให้ แน่นอนอัลลอฮฺไม่ทรงชอบผู้ปฏิเสธทั้งหลาย, และพวกเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา (1) โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ การปกครองทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลควบคลุมของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คำสั่งเกี่ยวกับภารกิจต่าง ๆ ออกมาจากท่านศาสดาแต่เพียงผู้เดียว ดังที่อัล-กุรอาน กล่าวว่า

แน่นอนอัลลอฮฺทรงให้สัญญาของพระองค์ (ชัยชนะเหนือบรรดาศัตรูในสงครามอุฮุด) สมจริงแก่พวกเจ้าแล้ว ขณะที่เริ่ม (สงคราม) พวกเจ้าสังหารพวกเขาโดยอนุมัติของเขา (ชัยชนะดำเนินต่อไป) จนกระทั่งพวกเจ้าขลาด (ละทิ้งกำบังฐานตั้งมั่น) และขัดแย้งกันในคำสั่ง หลังจากที่พระองค์ได้ทรงให้พวกเจ้าเห็นสิ่งที่พวกเจ้าชอบแล้ว (ชัยชนะเหนือศัตรู) พวกเจ้าก็ได้ฝ่าฝืน บางคนในหมู่พวกเจ้าปรารถนาชีวิตในโลกนี้และบางคนปรารถนาในปรโลก พระองค์จึงให้พวกเจ้าหันออกจากพวกเขา (เปลี่ยนชัยชนะเป็นความพ่ายแพ้) เพื่อทรงทดสอบพวกเจ้า แน่นอน พระองค์ทรงอภัยโทษแก่พวกเจ้าและทรงมีพระคุณแก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย (2)

อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่าท่านศาสดานอกจากจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบีและเราะซูลแล้ว ท่านยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อธิบายบทบัญญัติและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อีกทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารสังคมอิสลาม ซึ่งในการบริหารนั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างอื่น เช่น เป็นผู้พิพากษาคดีความ เป็นผู้บัญชากองทัพ และอีน ๆ อีกมากมาย ดังที่ศาสนาอิลามกล่าวว่าศาสนิกนอกจากจะมีหน้าที่แสดงความเคารพภักดีและแสดงความประพฤติอันดีงามแล้ว ยังต้องรับผิดชอบด้านการเมือง เศรษฐกิจ สิทธิและอื่น ๆ อีกหลายประการ ทำนองเดียวกันท่านศาสดานอกจากจะทำหน้าที่เผยแผ่และให้การอบรมสั่งสอนอันเป็นหน้าที่ ๆ ได้สัญญาต่อพระเจ้าแล้ว ยังต้องนำเอาบทบัญญัติอันเป็นธรรมนูญของพระเจ้ามาปฏิบัติต่อสังคม และต้องรับผิดชอบด้านการปกครองอีกด้วย

เป็นที่ประจักษ์ว่าศาสนาที่กล่าวถึงการเป็นผู้นำสังคมมนุษย์ในทุก ๆ ด้านจนกระทั่งการอวสานของโลก จะไม่สามารถให้ความแตกต่างในปัญหาดังกล่าวได้ ประกอบกับสังคมที่วางอยู่บนพื้นฐานของศาสนาก็ไม่อาจนิ่งเฉยต่อความรับผิดชอบด้านการเมืองและการปกครองได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การแต่งตั้งผู้ปกครองภายใต้หัวข้อ อิมามะฮฺ จึงอุบัติขึ้นมา

แต่สิ่งที่จะกล่าวคือภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้อำลาจากโลกไปใครคือบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบตำแหน่งดังกล่าว และเขาได้รับมอบหมายตำแหน่งจากผู้ใด

หรือเป็นเหมือนที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงแต่งตั้งให้ท่านศาสดาดำรงตำแหน่งศาสดา แล้วพระองค์ทรงมอบตำแหน่งนั้นให้แก่ประชาชนคนอื่นด้วยหรือ แน่นอน การได้รับตำแหน่งนี้อยู่ที่การแต่งตั้งของพระเจ้าและถือเป็นบัญญัติทางศาสนา หรือว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมอบตำแหน่งดังกล่าวนี้ให้แก่ท่านศาสดาเท่านั้น ซึ่งหลังจากศาสดาจากไปเป็นหน้าที่ของประชาชนต้องเลือกอิมามด้วยตนเอง และมอบให้เขาทำหน้าที่บริหารดูแลพวกตน และจริง ๆ ประชาชนมีสิทธิ์กระทำเช่นนั้นได้หรือไม่

และประเด็นดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างซุนนียฺและชีอะฮฺ ซึ่งฝ่ายชีอะฮฺเชื่อโดยหลักการว่าอิมามะฮฺต้องได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺ (ซบ.) การแต่งตั้งเป็นภารกิจของพระองค์ที่ทรงมอบหมายตำแหน่งดังกล่าวแก่ผู้ที่มีความเหมาะสม ซึ่งพระองค์ทรงมอบให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นผู้จัดการโดยแต่งตั้งให้ท่านอะมีรุลมุอฺมินีน อะลี บุตรของอบูฏอลิบ (อ.) ขึ้นดำรงตำแหน่งอิมามและเป็นตัวแทนของท่านทันที หลังจากนั้นท่านศาสดาได้แต่งตั้งตัวแทนอีก 11 ท่าน ขึ้นเป็นอิมามต่อหลังจากท่านอะลีและทั้งหมดเป็นบุตรหลานของท่านศาสดา

ส่วนซุนนียฺเชื่อว่าอิมามะฮฺของพระเจ้าอยู่ในฐานะเดียวกันกับนบี ซึ่งทั้งหมดจบสิ้นลงพร้อมกับการจากไปของท่านศาสดา ดังนั้น อิมามหลังจากนั้นตกเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องช่วยกันจัดการดูแล นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของอะฮฺลุซซุนนะฮฺบางท่านแสดงทัศนะว่า ถ้าหากมีบุคคลหนึ่งเอาอาวุธข่มขู่ประชาชนเพื่อยึดอำนาจและยึดอำนาจได้แล้วเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามเขา (3) เป็นที่ชัดเจนว่าวิถีทางดังกล่าวได้เปิดสำหรับบุคคลที่กดขี่ข่มเหง หรือผู้ที่ใช้เลห์เพทุบายนำไปใช้ในทางที่ผิดอันเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความแตกแยกและความล้าหลังสำหรับสังคมอิสลาม

ในความเป็นจริงซุนนียฺยอมรับว่าตำแหน่งอิมามะฮฺไม่มีการแต่งตั้งจากพระเจ้านั้น ถือว่าเป็นก้าวแรกของการแยกศาสนาออกจากการเมืองโดยสิ้นเชิง ซึ่งตามหลักการของชีอะฮฺถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการหันเหออกจากแนวทางที่ถูกต้องของอิสลาม และการแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้าในทุกมุมมองอันเป็นเกียรติยศแห่งชีวิต และยังเป็นแหล่งกำเนิดของความหันเหอีกมากมาย ซึ่งนับจากการสิ้นชีพของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นท่ามกลางสังคมมุสลิมและจะดำเนินต่อไปในอนาคตกาล

ด้วยเหตุนี้เอง เป็นความจำเป็นสำหรับมุสลิมที่ต้องศึกษาและวิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าวอย่างท่องแท้ ด้วยความตั้งใจจริงโดยปราศจากความอคติในใจและการเชื่อปฏิบัติตามผู้อื่น เพื่อจะได้สามารถจำแนกที่ต้องและปกป้องต่อไปในอนาคต

แต่สิ่งที่จะลืมไม่ได้คือ จำเป็นที่เราจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของโลกอิสลาม และการจัดหาแนวทางอีกทั้งต้องสร้างบรรยากาศเพื่อการใช้ประโยชน์อันถูกต้อง และควรระวังศัตรูอิสลามที่จะหยิบฉวยโอกาสและใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหมู่มุสลิม หรือใช้ประโยชน์จากกลุ่มชนที่วางเฉยเรื่องนิกาย และการห่างไกลจากคำสอนศาสนา เราต้องไม่กระทำในสิ่งที่เป็นสาเหตุให้เกิดความพ่ายแพ้และความอ่อนแอในสังคมอิสลาม อีกทั้งต้องให้ความร่วมมือต่อกันเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ปฏิเสธ หรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งอันก่อให้เกิดความอ่อนแอ เนื่องจากความขัดแย้งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงอันเป็นผลที่จะย้อนกลับมาสู่สังคมอิสลามต่อไป สุดท้ายสิ่งที่จะได้รับคือความอ่อนแอของสังคม

อีกด้านหนึ่งอย่าปล่อยให้การสร้างความเป็นเอกภาพและความร่วมมือกันในหมู่มุสลิม เป็นอุปสรรคต่อการค้นคว้าวิจัยเพื่อสรรหาความจริง และเพื่อการรู้จักนิกายอันเป็นสัจธรรมอีกทั้งต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อศึกษาปัญหาอิมามะฮฺ อันเป็นปัญหาที่หากได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องแล้ว แน่นอน จะมีผลต่อชะตากรรมของมุสลิมอย่างมาก อันเป็นผลต่อความจำเริญผาสุกของมวลมุสลิมทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

ความเข้าใจเกี่ยวกับอิมามะฮฺ

อิมามะฮฺ ในเชิงภาษาหมายถึงผู้นำ หรือบุคคลที่ยืนอยู่ข้างหน้าดังนั้นบุคคลที่ได้รับผิดชอบการนำกลุ่มจึงได้ถูกเรียกว่าเป็น อิมาม ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องหรือแนวทางที่หลงผิดก็ตาม ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า บรรดาผู้นำแห่งมวลผู้ปฏิเสธ (4) จะเห็นว่าอัล-กุรอาน นำคำว่า อิมาม ใช้กับผู้นำที่เป็นผู้ปฏิเสธ ส่วนบุคคลที่บรรดาผู้นมาซทั้งหลายได้นมาซตามหลังเขาจะถูกเรียกว่า อิมามญะมาอะฮฺ

ส่วนในทัศนะของนักศาสนศาสตร์ อิมามมะฮฺ หมายถึง ผู้นำที่มีหน้าที่จัดการดูแลทั้งด้านอาณาจักรและศาสนจักร

ส่วนการใช้คำว่า อาณาจักร นั้นต้องการเน้นถึงความหมายที่ครอบคลุมกว้างของคำว่าอิมามะฮฺ มิฉะนั้นแล้ว การควบคลุมดูแลภารกิจทางโลกของสังคมอิสลาม ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาอิสลาม

ในทัศนะของชีอะฮฺ ตำแหน่งดังกล่าวจะถือว่าถูกต้องตามหลักการก็ต่อ เมื่อได้รับการแต่งตั้งโดยอัลลอฮฺ (ซบ.) เท่านั้น และถ้าบุคคลใดมีหน้าที่รับผิดชอบตำแหน่งดังกล่าวโดยแท้จริง (มิได้เป็นตัวแทน) เขาจะต้องบริสุทธิ์จากความผิดพลาดในการอธิบายบทบัญญัติ และวิชาการของอิสลาม และจะต้องบริสุทธิ์จากความผิดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วอิมามมะอฺซูม (อ.) ทุกท่านก็คือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นั่นเอง เพียงแต่ว่าท่านมิได้เป็นนบีหรือเราะซูลเท่านั้น ซึ่งคำพูดและการอธิบายสัจธรรมความจริง บทบัญญัติ และวิชาการของอิสลามของท่าน ถือเป็นข้อพิสูจน์และเหตุผลเช่นกัน ตลอดจนคำสั่งของท่านครอบคลุมเหนือภารกิจทั้งมวล ซึ่งเป็นวาญิบ (ข้อบังคับ) สำหรับมุสลิมทุกคนที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามท่าน

ด้วยเหตุนี้ ความขัดแย้งระหว่างซุนนียฺกับชีอะฮฺจึงอยู่ที่ประเด็นของอิมามะฮฺ ซึ่งสามารถกล่าวสรุปได้ใน 3 ประเด็นดังนี้คือ

1. อิมามต้องได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺ (ซบ.)

2. อิมามต้องมีความรู้ที่พระเจ้าทรงประทานให้ และต้องบริสุทธิ์จากความผิดพลาด

3. อิมามต้องบริสุทธิ์จากความผิดและบาปทั้งหลาย

แน่นอน ความเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้จำกัดวงอยู่แค่อิมามะฮฺเท่านั้น เนื่องจากตามความเชื่อของฝ่ายชีอะฮฺยังมีบุคคลอื่นเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าระดับชั้นของความบริสุทธิ์จะแตกต่างกัน เช่น ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) แม้ว่าท่านหญิงจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งอิมามะฮฺก็ตาม หรือแม้แต่ท่านหญิงมัรยัม (อ.) มารดาของศาสดาอีซา (อ.) ก็เป็นผู้บริสุทธิ์เช่นกัน และบางทีในหมู่มวลมิตรบางคนของอัลลอฮฺ อาจจะมีผู้บริสุทธิ์มากมายหลายท่าน เพียงแต่ว่าเราไม่มีข้อมูลและไม่ทราบถึงฐานภาพอันแท้จริงของท่านเหล่านั้น  แต่อย่างไรก็ตามพื้นฐานการรู้จักผู้บริสุทธิ์นอกจากการแนะนำของพระเจ้าแล้ว ไม่มีแนวทางอื่นใดอีก


[1] อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 32, 132, และนอกจากนั้นอัล-กุรอานในบท อันนิซาอฺ / 12, 14, 69, 80, บทอัลมาอิดะฮฺ /92, บทอันฟาล /1, 20, 46, อัตเตาบะฮฺ /71, บทอันนูร ,51, 54, 56, อัลอะฮฺซาบ /66, 71, อัลฮุจญฺรอต /14, บทอัลฟัตฮฺ /16, 17, บทมุฮัมมัด ,32, บทอัลมุญาดะละฮฺ ,12, บทอัลมุมตะฮินะฮฺ ,12, บทอัลตะฆอบุน /12, และบทญิน /23 กล่าวยืนยันถึงประเด็นดังกล่าวไว้
[2] อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน / 152, และบทอันนิซาอฺ /42, 59, 65, 105, บทอัลมาอิดะฮฺ / 48, อัลฮัจญฺ / 67, อัลอะฮฺซาบ / 6, 36, อัลมุญาดะละฮฺ / 8-9, อัลฮัชรฺ / 7
[3] อะฮฺกามุล ซุลฏอนียะฮฺ จากอลูยะอฺลา, และคำแปล อัซซะวาดุลอะอฺซอม จากอบุลกอซิม ซะมัรกันดียฺ หน้า 40-41
[4] อัล-กุรอาน บทอัตเตาบะฮฺ โองการที่ 12